“เมื่อก่อนตอนมีบ้านใหม่ๆ จัดแบบมินิมอล วางเก้าอี้สวยๆ ตัวเดียวก็นิ่งแล้ว”

คุณพ่อ ทินกร รุจิณรงค์ เล่าย้อนถึงอดีตขณะที่ลูกชาย บิ๊ก-มีรัชต รุจิณรงค์ นำเราเข้าสู่บ้านสีขาวสูงโปร่งที่ดูยังไงก็คงเป็นบ้านของสถาปนิกแน่ๆ

นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

บ้านของครอบครัวรุจิณรงค์ในวันนี้ห่างไกลจากการมี ‘เก้าอี้ตัวเดียว’ ไปมาก เพราะตรงหน้าคือเก้าอี้จำนวนหลายสิบ (นับดีๆ อาจถึงหลักร้อย) เรียงรายอยู่ด้วยกันในห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฟิลิปส์ สตาร์ก (Philippe Starck), เกตาโน เปสเซ (Gaetano Pesce), เกอร์ริต รีตเวลด์ (Gerrit Rietveld), ชาร์ลส์และเรย์ อีมส์ (Charles and Ray Eames), ทอม ดิกซัน (Tom Dixon) และ มาร์ค นิวซัน (Marc Newson) คือชื่อดีไซเนอร์แบบคร่าวที่สุดที่มีในบ้านหลังนี้

ถ้าพูดให้เห็นภาพมากขึ้น ที่นี่คงเหมือนโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ที่รวบรวมผลงานดีไซเนอร์จากหลายยุคและหลายมุมโลกเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อบิ๊กเอ่ยถามว่านั่งคุยตรงไหนดี เราก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน

ด้วยความที่บิ๊กเติบโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยงานดีไซน์และมีคุณพ่อเป็นสถาปนิก เลือดนักออกแบบจึงอยู่ในตัวเขามาตลอด จนทำให้ตัดสินใจเรียนปริญญาตรีสาขา Communication Design จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มิลาน ประเทศอิตาลี และก็เป็นที่นั่นเองที่ทำให้เขาตามรอยพ่อในการเป็นนักสะสมเก้าอี้ ด้วยการซื้อเก้าอี้ตัวแรกของตัวเอง

นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“สมัยสี่สิบกว่าปีที่แล้ว พ่อไปเรียนปริญญาโทด้านการออกแบบภายในที่อเมริกา แล้วก็ได้ทำงานในนิวยอร์ก”

คุณพ่อทินกรเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของคอลเลกชันเก้าอี้หลากหลายสไตล์ที่วางอยู่รอบๆ บ้าน สมัยนั้นเขาก็เหมือนดีไซเนอร์คนอื่นๆ ที่ฝันอยากจะมีบ้านสวยๆ ของตัวเองสักหลัง เขาเลือกที่จะซื้อเก้าอี้ ตั้งใจเอามาตกแต่งบ้าน แต่ก็กลายเป็นของสะสมไปในที่สุด

“ที่ทำงานพ่ออยู่ในแมนฮัตตัน ทำงานเสร็จก็เดินเล่นดูเก้าอี้ทุกวันไม่ทำอะไรเลย จินตนาการตั้งแต่แรกแล้วว่าถ้ามีบ้าน ตัวนี้จะวางตรงนี้ ตัวนี้จะวางตรงนั้น คนเป็นดีไซเนอร์มันฝันไว้หมดแล้ว เราอยากได้เก้าอี้ Hill House ของ ชาร์ล เรนนี แม็กอินทอช (Charles Rennie Mackintosh) มากเลย เพราะเคยเห็นบ้านของนักออกแบบภายในคนหนึ่งมีเก้าอี้ตัวนี้ สวยมาก เราก็เล็งไว้ หรืออย่าง Fledermaus ของ โจเซฟ ฮอฟแมนน์ (Josef Hoffmann) ก็อยากได้ บางตัวเดินไปเจอตามร้านก็ซื้อเลย”

นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

ในยุคที่ภาพเขียนของศิลปินป๊อปอาร์ตอย่างแอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ราคาสูงถึงหลักหมื่นเหรียญฯ คุณพ่อเลือกสะสมเก้าอี้ที่ราคาตอนนั้นยังไม่สูงเหมือนทุกวันนี้ เขาบอกด้วยเสียงหัวเราะว่า Painting ศิลปินรูปหนึ่งได้เก้าอี้ตั้งหลายตัว และบางตัวจากยุคนั้นราคาแพงมากในยุคนี้ ถ้ารู้แบบนี้คงยอมซื้อมากกว่านี้

หลังเรียนจบ คุณพ่อทินกรเดินทางกลับมาเมืองไทยพร้อมเก้าอี้ประมาณ 60 ตัวที่ขนส่งมาโดยใช้สิทธิ์นักเรียน ได้สร้างบ้านที่ตัวเองฝันถึงตั้งแต่ตอนนั้น สร้างครอบครัว มีลูก แล้วก็เป็นบิ๊กนี่แหละที่มารับช่วงต่อเก้าอี้ที่เคยสะสมไว้ รวมถึงบทสนทนากับเราในวันนี้ด้วย

นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“เราโตมากับการมีพ่อเป็นสถาปนิกและนักออกแบบภายใน เขาชอบของสวยของงาม สะสมตั้งแต่แก้วเอสเพรสโซ่ แจกัน ไปจนถึงเก้าอี้ พ่อชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับดีไซน์เพราะเป็นแพสชัน เราเลยเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพื่อนมาตั้งแต่เด็ก”

เก้าอี้บ้านบิ๊กเลยไม่เหมือนเก้าอี้บ้านเพื่อน ในขณะที่บ้านส่วนใหญ่มีเก้าอี้หน้าตาเหมือนกันเป็นชุดๆ บ้านของเขากลับมีเก้าอี้หน้าตาประหลาด รูปทรงแปลกๆ มากมาย

“แต่เก้าอี้บ้านเราก็ไม่ธรรมดาดี แต่ละดีไซน์สวยของมันอยู่แล้ว กว่าดีไซเนอร์จะออกแบบมาได้ มันผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว บางตัวนั่งสบาย บางตัวก็ไม่สบายเลย อยู่ที่ผู้ใช้ว่าเขาให้คุณค่ากับเรื่องอะไร ชอบเห็นมากกว่านั่ง หรือชอบนั่งมากกว่า”

แม้จะมีพ่อเป็นสถาปนิก แต่บิ๊กกลับไม่อยากเรียนสถาปัตย์ฯ เพราะกว่าจะเสร็จงานหนึ่งงานต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เขาเลือกเรียนด้าน Communication Design เพราะสำหรับเขามันสนุก แถมยังใช้เวลาน้อยกว่า แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจไปเรียน Product Design ที่มิลาน ประเทศอิตาลี เมืองแห่งศิลปะการออกแบบที่เปลี่ยนมุมมองบิ๊กในหลายๆ ด้าน เขามีโอกาสได้ไปเจอดีไซเนอร์ที่ออกแบบเก้าอี้ที่อยู่บ้าน ได้เจอกับเพื่อนของพ่อที่เป็นดีไซเนอร์หลายคน ทำให้บิ๊กยิ่งอินกับสิ่งนี้เข้าไปอีก

นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“ทำเลอพาร์ตเมนต์เราที่โน่น ลงจากบ้านมาคือเจอตลาดขายของเก่าเลย ทุกเสาร์-อาทิตย์เลยเหมือนการไปจตุจักร ออกจากบ้านก็ได้เดินดู อัปเดตดีไซน์แปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”

บิ๊กเจอเก้าอี้ตัวแรกของเขาก็ที่ตลาดแห่งนี้ เก้าอี้ Made in Italy ที่ทำจากวัสดุไม้และหนัง ซึ่งตั้งอยู่ในมุมเล็กๆ ของอพาร์ตเมนต์เขาในมิลานมาเป็นปี ก่อนจะถอดชิ้นส่วนและขนส่งกลับประเทศไทยมาในกล่องพัสดุขนาดกลาง เพราะทำใจทิ้งไว้ที่โน่นไม่ได้

“ตัวนี้ราคาประมาณสามสี่ร้อยยูโร ซึ่งถือว่าไม่แพงมากเพราะมันผลิตมาหลายๆ ตัว เราชอบดีไซน์เรียบๆ หนาๆ ชอบหนัง มันให้ความรู้สึกเหมือนไบเกอร์ นั่งสบายเพราะฐานมันใหญ่ ตัดสินใจขนตัวนี้กลับมาเมืองไทยด้วย บางอย่างก็ต้องทิ้งไว้โน่น อย่างเคยซื้อหีบ หีบใหญ่ๆ เหมือนหีบ Louis Vuitton ซื้อมาห้าสิบยูโร แต่กูจะขนกลับยังไงวะ ค่าส่งแพงกว่าหีบอีก”

บิ๊กเล่าต่อว่า ถ้าเทโลกไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง สิ่งที่จะกองไปอยู่รวมกันคือ Product เพราะ Product บนโลกนี้มีจำนวนมหาศาล การสนใจในเรื่องนี้เลยเป็นความเพลิดเพลินไม่รู้จบ และยังเป็นการเรียนรู้ที่จะมีสิ่งใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ยิ่งเขามีพื้นฐานทางด้านการออกแบบ การสะสมก็เลยสนุกมากขึ้นไปอีกเท่าตัว

“เคยเป็นไหม เวลาอยู่กับเพื่อนที่เป็นสถาปนิก เวลาไปไหน เจออะไร มันจะชอบเดินไปจับ Material ซึ่งเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เฮ้ย อันนี้เข้ามุมเนี้ยบว่ะ ขาเหล็กกี่มิลวะ แต่ละตัวรับน้ำหนักยังไง บางตัวใช้สปริงรับน้ำหนัก บางตัวใช้เหล็กท่อนเดียว มันก็มีลูกเล่นของมัน ยิ่งตอนอยู่อิตาลียิ่งสนุก เพราะงานช่างฝีมือดีมาก”

เราใช้เวลาอีกเกือบหนึ่งชั่วโมงเพื่อเดินดูเก้าอี้ของทั้งคู่ที่ตั้งอยู่รอบๆ บ้าน ชั้นล่าง ชั้นบน ในสตูดิโอ หรือแม้แต่ในห้องน้ำ และขอให้บิ๊กเลือกตัวที่ชอบเป็นพิเศษมาให้สักหน่อย กลายเป็นว่าทุกตัวมีความพิเศษของมันทั้งหมด เลยขอยกตัวอย่างเพียงสิบตัวนี้เท่านั้น

01 Stools

Designed by Philippe Starck
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“เป็นเก้าอี้สตูลพลาสติก คอลเลกชันใกล้ๆ กันสามตัว สามสิบปีที่แล้วพ่ออยู่อิตาลี แล้ว ฟิลิปส์ สตาร์ก เป็นอาจารย์พ่อ จริงๆ อายุห่างกันแค่ปีสองปี แต่เขามาเป็นครูสอนแล้ว ดีไซน์เขาจะเป็นสไตล์ฝรั่งเศส บ้าๆ ปั่นๆ กวนๆ ถ้ารู้จักอุปนิสัยเขาจะเข้าใจดีไซน์เขามากขึ้น เขาโด่งดังมากในช่วงหนึ่ง เขามาออกแบบคอนโดฯ โปรเจกต์ KHUN by YOO ที่กรุงเทพฯ ด้วย”

02 Felt

Designed by Gaetano Pesce
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“เกตาโน เปสเซ เป็นดีไซเนอร์กึ่งอาร์ทิสต์ชาวอิตาลี เขาย้ายไปอยู่นิวยอร์กเพราะสนใจเรื่องศิลปะด้วย เก้าอี้ตัวนี้ดังมากเพราะวัสดุมันคือผ้าหนาๆ แล้วเขานำไปจุ่มเรซิ่น ทำให้มันแข็งจนเป็นส่วนขาเก้าอี้ได้ เขาเป็นคนที่ออกแบบเก้าอี้ Mamma ที่มีลูกกลม แล้วก็เคยเป็นอาจารย์พ่อด้วยเหมือนกัน”

03 Zig-Zag Chair

Designed by Gerrit Rietveld
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“ตัวนี้อาจจะเคยเห็นบ่อยแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการออกแบบการรับน้ำหนักของเขา ซึ่งจริงๆ มันเป็นการเข้าสันไม้เฉยๆ แต่ต้องผ่านการคำนวณให้มันไม่หัก สำหรับเราถือเป็น Good Design ที่ไม่ตกยุค”

04 Fledermaus

Designed by Josef Hoffmann
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“ตัวนี้เป็นตัวโปรดพ่อ ออกแบบโดย โจเซฟ ฮอฟแมนน์ ให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อ Thonet เขาจะใส่ความเก่า มีรูเล็กๆ ใส่รูปทรงเรขาคณิตเข้าไป สวยมากและก็แพงมากด้วย”

05 Seconda Chair

Designed by Mario Botta
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“ตอนเด็กๆ เราชอบเล่นตัวนี้ รู้สึกว่านี่เก้าอี้อะไรวะ ประหลาดที่สุดเลย มันหมุนได้ ล้ำ ตัวนี้เป็นของ มาริโอ บอตตา (Mario Botta) ดีไซเนอร์ชาวสวิส เท่มากนะ ตอนนี้เกาหลีชอบ ชอบเอาไปวางในคาเฟ่”

06 Hill House Chair

Designed by Charles Rennie Mackintosh
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“ตัวนี้ใครเห็นก็ชอบหมด ตอนนั้นเขาออกแบบให้ร้านอาหาร ถือว่าเป็นตัวเอกของแบรนด์ Cassina เลย”

07 Gluon Chair

Designed by Marc Newson
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“คนนี้เป็นดีไซเนอร์ชาวออสเตรเลียที่ดังมาก เขาเป็นคนออกแบบกระเป๋าเดินทางให้ Louis Vuitton เขาชอบเรื่อง Aerodynamics ซึ่งแสดงออกมาในงานดีไซน์ของเขาด้วย”

08 Red and Blue Chair

Designed by Gerrit Rietveld
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“ตัวนี้ถือว่าโหดสุด ของเราเป็นเวอร์ชันไม่มีสี พ่อเคยเรียนกับอาจารย์คนหนึ่งซึ่งเป็นลูกของเจ้าของบ้านหนึ่งที่ให้เกอร์ริต รีตเวลด์ ออกแบบ พ่อชอบเก้าอี้ตัวนี้ก็เลยไปขอซื้อกับเขา”

09 LCW

Designed by Charles and Ray Eames
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“แต่ก่อนเป็นแบรนด์ Herman Miller ตอนนี้รู้สึกจะเป็นของ Vitra แล้ว ตัวนี้เราขัดหน้าไม้ใหม่ เพราะแลกเกอร์มันพัง เราอยากให้มันดูใหม่ ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ กูขัดเองเลยแล้วกัน”

10 Spun Chair

Designed by Thomas Heatherwick
นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

“เราเคยเจอดีไซเนอร์คนนี้ที่ตลาด อ.ต.ก. เดินเจอเขาแล้วก็แบบ เชี่ย ใช่เปล่าวะ เลยเดินเข้าไปถามว่า Are you Thomas?’ ปรากฏใช่ ตัวนี้เป็นเก้าอี้เอาต์ดอร์ เป็นพลาสติก มีรูปให้น้ำไหล การดีไซน์มันเหมือนลูกข่าง นั่งยังไงก็ไม่มีทางล้ม”

สมัยนี้ราคาเก้าอี้ดีไซเนอร์สูงกว่าเมื่อก่อนมาก ยุคคุณพ่อทินกรเก้าอี้หาง่าย ราคายังพอจับต้องได้ แต่วันนี้ไม่ใช่แบบนั้น เพราะหลายๆ คนสนใจซื้อขายมากขึ้น หากดีไซเนอร์ดังๆ เสียชีวิต ก็ทำให้ราคางานของเขาสูงขึ้นไปอีก เมื่อเราถามถึงการดูแลรักษาของสะสมจากรุ่นพ่อที่มูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัว บิ๊กกลับยิ้มแล้วตอบว่า

“ก็มีเสื่อมตามอายุไปบ้างแหละ เราไม่ได้ดูแลมันเหมือนสะสมงานศิลปะ Painting เราเป็นดีไซเนอร์ เรารู้ว่ามันทำมาเพื่อให้คนใช้งาน แต่บางตัวก็อาจต้องการการดูแลมากกว่าคนอื่น บางตัวก็ถล่มไปแล้ว” ก่อนจะชี้ให้ดู Aeron Chair ของ Herman Miller เก้าอี้ทำงานในฝันที่ตอนนี้ไฟเบอร์ตรงเบาะเสื่อมจนขาดเป็นรู

นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

คุณพ่อทินกรและบิ๊กกลายเป็นเพื่อนซี้ที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน ทั้งคู่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอิตาลี ชอบอ่านหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับการออกแบบ และทั้งคู่ชอบเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ที่พัฒนาผ่านรสนิยมของดีไซเนอร์และเทรนด์ตามสมัย จากดีไซน์บุกเบิกในยุคของชาร์ลส์และเรย์ อีมส์ หรือ เกอร์ริต รีตเวลด์ สู่ผลงานแบบมินิมอลของรุ่นฟิลิปส์ สตาร์ก จนมาถึง โทมัส เฮเธอร์วิก (Thomas Heatherwick) นักออกแบบรุ่นใหม่ที่ดีไซน์งานด้วยวิธีคิดสนุกๆ อย่างการทำเก้าอี้ที่มีลักษณะแบบลูกข่าง

“การเป็นดีไซเนอร์มันไม่ใช่การก๊อปปี้” คุณพ่อทินกรกลับเข้ามาในวงสนทนาอีกครั้ง “เราต้องรู้ว่าทำไมเขาถึงดีไซน์สิ่งนี้ แต่ละคนจะมีคาแรกเตอร์ มีแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน มันคือการเรียนรู้และเข้าใจ และอยู่ที่ว่าเราเห็นคุณค่าของมันหรือเปล่า อย่างตัวนี้พ่อไปเจอที่จตุจักรก็ซื้อมา เป็นเก้าอี้นักเรียนของโรงเรียนอำนวยศิลป์ พ.ศ. 2511 ตัวละห้าร้อย ไม่ได้แพงอะไรเลย แต่ซื้อมาเพราะมันมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับเรา”

“แต่งบ้านสวยด้วยนะ” บิ๊กเสริม

ในฐานะนักสะสมที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้มาหลายสิบปี คุณพ่อทินกรไม่มีอะไรแนะนำผู้รับช่วงต่อคนต่อไป เพียงแต่บอกว่าให้ดูแลรักษาสิ่งที่มีอยู่ แต่สุดท้ายก็แล้วแต่บิ๊กตัดสินใจ จะสะสมต่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา

“แต่ละตัวของพ่อมีคุณค่าและมีความหมาย เขารู้อยู่แล้วแหละ มีของดีอยู่แล้วก็ต้องดูแลรักษาต่อไป ซึ่งเขาก็เหมาะสมแล้ว”

นั่งเก้าอี้สะสมของ บิ๊ก มีรัชต รุจิณรงค์ ที่มีทั้งเก้าอี้นักเรียนจนถึงเก้าอี้ของศิลปินระดับโลก

Writers

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล