Mediums คือธุรกิจและคอมมูนิตี้ด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์แห่งใหม่ เพิ่งเปิดบริการเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และกลายเป็นที่จับตาของชาวโซเชียลมีเดียในชั่วข้ามคืน อาจเพราะบรรยากาศอบอุ่นผ่อนคลายสบายตา น่าแวะมาเดินเล่นเยี่ยมชม ตั้งอยู่ย่านเอกมัยไม่ห่างจากรถไฟฟ้า และเปิดต้อนรับผู้คนตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงไม่มีหยุด

ภายในพื้นที่กว้างราว 300 ตารางเมตร เป็นร้านขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะสารพัดประเภทราว 80 แบรนด์ วางเรียงรายให้ได้เลือกสรรอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ พร้อมพนักงานผู้ผ่านการฝึกฝนให้แนะนำผลิตภัณฑ์ที่ถูกสไตล์และตรงความต้องการของคุณ

มีพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ห้องสตูดิโออเนกประสงค์ที่เหมาะแก่ทั้งการประชุม จัดเวิร์กช็อป ถ่ายงาน และคาเฟ่ที่มีคอนเซปต์เฉพาะตัว ให้คุณได้ทั้ง ‘Shop. Learn. Create.’ รวมอยู่ในพื้นที่เดียว

นั่นคือสิ่งที่คนจำนวนมากเห็นและรับรู้

ส่วนสิ่งที่คนไม่ค่อยรู้คือ ทั้งหมดนี้ก่อตั้งและบริหารโดย พีท-กษิดิศ ประสิทธิ์รัตนพร นักเรียน ศิลปิน และซีอีโอวัย 16 ปี

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

จากความหลงใหลในงานศิลปะและการออกแบบตั้งแต่เด็ก พีทมองเห็นปัญหากวนใจในวงการสร้างสรรค์ที่ยังไม่ค่อยมีใครแก้ได้อย่างใจคิด เขาจินตนาการถึงแนวทางการแก้ไขในแบบฉบับของตัวเอง คิดคำนวณความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ สรรหาพนักงานประมาณ 40 ชีวิต และลงมือสร้างแบรนด์นี้ขึ้นบนโลกแห่งความจริง 

ด้วยความหวังว่าคอมมูนิตี้นี้จะเป็นส่วนช่วยให้ศิลปะเชื่อมต่อเข้าถึงใจของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เพียงแต่ศิลปินเท่านั้น และปรับเปลี่ยมโฉมวงการความคิดสร้างสรรค์ให้อยู่ได้อย่างยั่นยืน

อาจดูวาดเขียนความฝันไว้ใหญ่ไม่ใช่น้อย แต่เมื่อเรานัดคุยกับพีทที่ Mediums สายตาแห่งความมุ่งมั่น การเล่ากลยุทธ์ทางธุรกิจที่เฉียบแหลม ความเข้าใจปัญหาจากประสบการณ์ตรง และความใส่ใจในรายละเอียดทุกเม็ด ทำให้เราประทับใจอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือตัวบ่งชี้ใด

ชีวิตและวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการคนนี้เป็นเช่นไร เราขอชวนคุณหยิบดินสอ จับพู่กัน เตรียมสี กระดาษหรือผ้าใบไว้ให้พร้อม หลังอ่านความคิดของเขาจบ คุณอาจอยากลุกไปร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่พร้อมกันกับพีทที่ Mediums เลย

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

ความฝันของคนบ้าพลัง

“ที่บ้านเรียกพีทว่าเป็นคนบ้าพลัง” พีทเล่าชีวิต เมื่อเราถามว่าทำไมตัดสินใจเริ่มธุรกิจเร็วเพียงนี้

ชีวิตการทำงานของเขาเริ่มตั้งแต่วัยประมาณ 11 ขวบ จากการรับงานถ่ายรูป งานกราฟิก เพื่อฝึกฝนและค้นหาความชอบของตัวเอง จนพบงานวิจิตรศิลป์หรือ Fine Arts ที่ตนหลงใหลอย่างรวดเร็ว (ดูผลงานบางส่วนของเขาได้ที่นี่) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัวเสมอมา ไม่มีห้ามปรามความชอบ

ในขณะที่ฝีไม้ลายมือด้านศิลปะของพีทเริ่มพัฒนาอย่างชัดเจน พร้อมกันนั้น เขายังได้เรียนรู้ศาสตร์การบริหารงานจากธุรกิจโลจิสติกส์ที่ครอบครัวเขาดูแลควบคู่ไปด้วย อาศัยความขยันเก็บเกี่ยวเรียนรู้ทีละนิดทีละน้อย จนเห็นภาพการทำงานเบื้องต้นของโลกธุรกิจ

เมื่อเกิดการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ปีที่แล้ว ความบ้าพลังทำให้พีทนั่งลงรวบรวมและตกผลึกไอเดียที่โลดแล่นในหัวให้กลายเป็นรูปธรรม

“เราคิดไอเดียนี้ไว้อยู่เป็นปีแล้ว พอมีเวลาว่างเลยเริ่มลงมือ คิดโครงสร้างบริษัท ทำเป็นพรีเซนเทชันได้ยี่สิบหน้าในหนึ่งวัน พอไปเรื่อยๆ เริ่มเห็นความเป็นไปได้บางอย่าง กลายเป็นว่าผ่านไปสามอาทิตย์ มีไอเดียจดอยู่เกือบแปดสิบหน้า” 

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

พีทตั้งต้นจากการอยากสร้างธุรกิจค้าปลีกด้านศิลปะ หรือ Art Supplier ก่อนต่อยอดให้กลายเป็น 4 ส่วน ภายใต้ร่มเดียวกันแบบที่เราเห็นในวันนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา เขาชวนนักลงทุนที่สูงวัยกว่ามาฟังพรีเซนเทชัน เพื่อขอระดมเงินทุนไว้ทำให้ความฝันเป็นจริง 

“คนที่พีทชวนมาฟังไม่ได้อยู่สายศิลปะทั้งหมด เขาอาจไม่เข้าใจทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเรากำลังจะทำอะไร บวกกับเราเป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจเลย แต่คิดว่าเขาเห็นแพสชันและโอกาสนะ ตอนนี้ระดมทุนมาสองถึงสามรอบแล้ว” 

ลองนึกภาพตาม หากคุณเป็นเยาวชนวัย 16 ปีที่ต้องโน้มน้าวนักลงทุนซึ่งย่อมหวังการเติบโตของธุรกิจให้เชื่อมั่นในตัวคุณ จนเลือกลงทุนในธุรกิจด้านศิลปะที่หลายคนเชื่อว่ากำลังซบเซา และยังอยู่ในภาวะ COVID-19 คุณจะต้องนำเสนออย่างไร แค่ความอยากทำคงไม่พอ

นอกจากเล็งเห็นและสื่อสารด้วยตัวเลขว่าตลาดด้านศิลปะและการศึกษากำลังเติบโต ไม่ได้ตกต่ำอย่างที่หลายคนเข้าใจ เรื่องหลังจากนี้ส่วนหนึ่งคือแนวคิดที่พีทชี้แจงแก่นักลงทุน และเป็นเบื้องหลังของพื้นที่แห่งนี้

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

สร้างมาตรฐานใหม่วงการอุปกรณ์ศิลป์

“จากประสบการณ์จริง เราเห็นปัญหาที่น่ากวนใจและชัดเจนมาก เป็นความไม่สะดวกเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลาย แต่รู้สึกว่ายังไม่มีใครเอื้อมมือมาแก้ตรงนี้ จะมีก็แต่แก้แบบเน้นมองหากำไรและโอกาสทางธุรกิจมากกว่าพัฒนาวงการ” ศิลปินเริ่มอธิบายความขับข้องใจที่ศิลปินด้วยกันน่าจะเข้าใจอย่างดี

เช่น การไม่เจออุปกรณ์สุดโปรดที่ต้องการจากร้านค้าใดเลย หรือถึงเจอ ราคาขายในไทยก็สูงลิบเกินควร อาจฟังดูเป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่พีทไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปเฉยๆ 

“พีทมีโอกาสไปสำรวจที่ต่างประเทศบ่อย เจอว่าอุปกรณ์ในไทยราคาสูงมากจนบางคนเอื้อมไม่ถึง หรือราคาเดียวกับต่างประเทศ แต่คุณภาพต่ำกว่า อาจเพราะคนไทยมองว่างานศิลปะต้องเป็นสิ่งที่แพง ไม่มีคนเข้าใจ และธุรกิจพยายามทำกำไรที่ก้าวกระโดดเกินไปจนไม่มีใครกล้าซื้อ พอซื้อก็ถูกถามว่าบ้าหรือเปล่า 

“แต่จริงๆ ศิลปะควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจและเข้าถึงได้ เราจึงอยากลบเส้นมาตรฐานเดิมนี้ทิ้งแล้วเริ่มใหม่ เพื่อบอกว่านี่คือมาตรฐานที่ควรเป็น คนประเทศอื่นเขาได้มาตรฐานนี้กันมาตั้งนานแล้ว” 

การสังเกตนี้กลายเป็นที่มาของโซนร้านขายอุปกรณ์ศิลปะ พีทร่วมมือกับทีมซัพพลายเชนที่มีประสบการณ์สายอาร์ต ตระเวนคัดสรรผลิตภัณฑ์คุณภาพดี ควบคุมต้นทุนการขนส่งให้ต่ำเท่าที่เป็นไปได้ โดยอาศัยต้นทุนความรู้จากธุรกิจของครอบครัวมาประยุกต์ใช้

รวมถึงมุ่งเน้นให้มีความหลากหลายครอบคลุมทุกการใช้งาน มีมากถึง 80 แบรนด์ แบ่งเป็น 5 หมวดหมู่หลัก คือ สีนานาประเภท กระดาษและผ้าใบ แปรง อุปกรณ์สตูดิโอ เช่น ขาตั้ง จานสี และเครื่องเขียนทั่วไป

“เราเริ่มคัดอุปกรณ์สำคัญจากแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยกันอยู่แล้วและมีความต้องการในตลาด แต่ก็มีแบรนด์ที่คัดมาให้เป็นทางเลือกใหม่ แม้มีความเสี่ยงสูงมากจนคนบอกว่าอย่าเอาเข้ามาเลย 

“แต่พีทไม่ใช่คนมีเหตุผลเท่าไร เราอยากให้แบรนด์นี้เป็นที่รู้จักในไทย หน้าที่ของเราคือสร้างตลาดให้เกิดขึ้นในไทย” พีทหัวเราะ พร้อมยกตัวอย่างความไม่สมเหตุสมผลในสายตาคนอื่น เช่น การนำสีน้ำเข้ามามากกว่า 10 แบรนด์ โดยมีหนึ่งแบรนด์ที่ขายเป็นหลอดเล็กๆ แต่ราคาหลายร้อย เพราะทำจากแร่ธรรมชาติ และมีแบรนด์สีอะคริลิก Atelier ที่มีคุณสมบัติแห้งช้า ให้ศิลปินได้ใช้เวลาละเมียดผลงานอย่างอิสระกว่าที่เคย หาที่ร้านอื่นๆ ในไทยได้ยากมาก

“เสี่ยงมาก แต่ว่าสุดจริงนะ และได้เห็นว่ามีตลาด มีคนต้องการจริงด้วย”

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี
Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

จินตนาการไม่มีวันสะดุด

อีกหนึ่งปัญหาน่าปวดใจของศิลปินคือ เมื่อความคิดหลั่งไหลเป็นสายธารในยามวิกาล ลงมือวาดผลงานชิ้นเอก แต่ปรากฏว่าสีหมด กระดาษหมด ของพัง เป็นอันต้องจบสิ้นกระบวนการไปโดยปริยาย

“พีทคุยกับหลายคนที่บอกว่าเมื่อคืนไม่ได้นอนเลย เพราะทำงานไหลลื่นกันตอนกลางคืน และต้องการทำงานให้จบ เลยคิดว่ามันมีตลาดตอนกลางคืนอยู่ เกิดเป็นไอเดียการเปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง” 

คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาหรือนิสิตนักศึกษาสายศิลปะที่ต้องนั่งปั่นงานกันข้ามคืน เขาจึงเลือกสร้าง Mediums เป็นพื้นที่ที่เปิดตลอดทั้งวันคืน เดินเข้ามาใช้งานเมื่อไรรับรองได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันสะดุด

เท่านั้นไม่พอ Mediums ยังพาร์ตเนอร์กับบริการเดลิเวอรี่ เปิดให้สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ (E-commerce) ตลอดทั้งวันเช่นกัน มีทีมงานที่คอยพร้อมตอบและเช็กสินค้า หากคุณอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สั่งซื้อเมื่อไรก็รอรับไปใช้งานได้ภายในเวลาสองถึงสามชั่วโมง

“เราอยากสร้างประสบการณ์ที่ Frictionless ให้คุณไม่ต้องหยุดหรือสะดุดกับอะไรทั้งสิ้น เรามองตัวเองเป็นเหมือน Art Advisor และ Art Service Provider มากกว่า ไม่ได้เน้นขายของ พนักงานขายแต่ละคนก่อนจะทำงาน ต้องวาดเป็น เข้าใจทุกสื่อ ถ้าลูกค้าเอารูปมาให้ดู ต้องบอกได้ว่าควรใช้อะไร

“สิ่งที่อยากให้ลูกค้าได้รับไปจริงๆ ไม่ใช่แค่ได้ของกลับบ้าน แต่เข้ามาแล้วได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ ลองสิ่งใหม่ที่ไม่เคยลอง และรู้สึกว่าถูกเข้าใจ เดินออกไปแล้วเหมือนได้สูดอากาศบริสุทธิ์” 

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

Learn & Create

นอกจากจะมีให้ Shop แล้ว ภายใน Mediums ยังมีแบรนด์ลูกให้คุณได้ทั้ง Learn และ Create ครบในที่เดียว

หนึ่งคือ ‘Nmbr’ (นัมเบอร์) แบรนด์ที่เป็นตัวแทนของพื้นที่กว้างสูงโปร่งต้อนรับแสงธรรมชาติภายใน Mediums สามารถปรับแต่งตามความความต้องการใช้งาน ไม่ว่าจะเช่าพื้นที่เพื่อถ่ายรูปหรือวิดีโอ จัดงานแสดง อีเวนต์ ประชุม นิทรรศการ หรือเวิร์กช็อป มาพร้อมอุปกรณ์ครบครันสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการ

สองคือ ‘Makespace’ ที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทำงานศิลปะ เปิดรับทั้งมือใหม่หัดวาดและศิลปินขั้นโปร

“ความตั้งใจของเราคือทำให้คนเข้าถึงเชิงลึกของงานศิลปะ แต่ช่วงเพิ่งเริ่มนี้ สิ่งแรกที่ต้องโฟกัสคือการทำให้งานศิลปะน่าดึงดูดใจก่อน เพิ่งมีจัด Open House ให้คนได้เข้ามาลอง ต่อไปจะมีเวิร์กช็อปเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์

“เช่น มีเวิร์กช็อปชื่อ Afterparty ที่เราคิดให้มันสนุกเท่าที่เป็นไปได้ ใช้คอนเซปต์การไปเที่ยวกับเพื่อนที่บาร์ ให้เลือกเมนูค็อกเทล แต่เราไม่ได้เสิร์ฟค็อกเทลนะ เราให้แก้วที่มีสีแบบค็อกเทลไว้ละเลงลงงาน 

“เราอยากให้เวิร์กช็อปสนุก พยายามโฆษณาเหมือนเป็นหนังเรื่องหนึ่ง พอคนสนุกแล้ว เขาจะสนใจและมาบ่อยขึ้น เพราะรู้สึกเหมือนไม่ได้มาเรียน แต่เป็นการพบปะสังคม และเมื่อเอาผ้าใบกลับไปห้อยที่บ้าน เขาจะจดจำได้ว่างานชิ้นนี้สร้างที่นี่” พีทอธิบายความคิด หากเขาไปดูในเว็บไซต์ จะเห็นเวิร์กช็อปหลากหลายที่ชวนให้กดจิ้มสมัคร และไม่ได้มีจัดแค่ที่ Mediums เท่านั้น แต่ยังมีบริการ ‘at home’ ส่งติวเตอร์ศิลปะที่พร้อมเข้าใจคุณไปถึงที่บ้านด้วย

นอกจากนี้ พีทยังมีแพลนขยายให้ช่วงเวลาดีๆ เข้าถึงคนที่อาจขาดโอกาสการเข้าถึง

“พอศิลปะในเมืองไทยดูเป็นเรื่องของคนมีทุนทรัพย์เท่านั้น พีทว่าเราเสียศิลปินเก่งๆ ไปหลายคนด้วยเหตุผลนี้ ช่วงฤดูร้อนนี้เราจะเริ่มโครงการร่วมมือกับโรงเรียนต่างๆ ส่งคนไปสอนศิลปะ” 

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี
Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

ปิดท้ายด้วย ‘Vela’ คาเฟ่ที่เล่นกับเรื่องกาลเวลา ให้คนใช้เวลาอย่างละเมียดละไมกับเครื่องดื่มที่ผ่านการคัดสรรอย่างดี นำเสนอเมล็ดพันธุ์และรสชาติของกาแฟด้วยคำว่า Dawn (รุ่งสาง) และ Dusk (พลบค่ำ) เลือกได้ตามใจชอบ ดื่มแล้วความคิดสร้างสรรค์ไม่หลับใหลแน่ๆ (แอบกระซิบว่ามีชีสเค้กที่เสิร์ฟบนถาดคล้ายจานสีสุดน่ารัก พร้อมพู่กันให้คุณแต่งแต้มสีเค้กเองด้วยนะ) 

รวมเป็น 4 แบรนด์ที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกันในปัจจุบัน ผสมผสานให้เกิดประสบการณ์ที่ครบวงจร เดินเข้ามาแล้วดื่มด่ำกับศิลปะได้อย่างเพลิดเพลิน 

ส่วนสาเหตุที่แยกแบรนด์กันนั้น เพราะทางทีมมองว่าต่อไปในอนาคตอันไกล แต่ละแบรนด์มีโอกาสเติบโตไปตามที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอไปพร้อมกับ Mediums ตลอด

ใส่ใจทุกรายละเอียดของประสบการณ์

“ก่อนจะเป็นพื้นที่แบบนี้ พีทแจกแจงรายละเอียดแต่ละส่วนเลยว่าเดินเข้ามาแล้วรูป กลิ่น เสียง สัมผัสของแต่ละพื้นที่จะเป็นอย่างไร เราเน้นเรื่องการออกแบบประสบการณ์มาก” พีทเล่า พื้นที่นี้เดิมเคยเป็นสำนักงานขายคอนโดมิเนียม แต่ตอนนี้ถูกเนรมิตให้เปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเดินเข้ามาใน Mediums จะพบเคาน์เตอร์และส่วนจัดผลงานนิทรรศการ พร้อมพื้นที่ให้ติดตั้งผลงานแบบ Double Volume แทรกอยู่ ขนาบข้างด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆ เลี้ยวซ้ายไปจะเจอบันไดไม้ที่มีแสงธรรมชาติตกกระทบถึง เดินขึ้นไปชั้นสองเป็นโซนร้านและมุมคาเฟ่ ส่วนถ้าเดินตรงไปแล้วเลี้ยวขวาจะเป็นสตูดิโอ ทั้งหมดโทนสีขาวสะอาดตา ทำให้รู้สึกถึงความต่อเนื่องคงเส้นคงวา 

“พีทเคร่งเรื่อง Brand Identity และ Corporate Identity มาก คนต้องมองแล้วรู้สึกว่าสมเหตุสมผล เดินง่าย หยิบจับสินค้าได้ง่าย ซึ่งมันมีตรรกะของมันอยู่”

ในกระบวนการ เขาทำงานร่วมกับสตูดิโอออกแบบเพื่อสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด และในช่วงแรกนี้ พีทยังดูสื่อทุกชิ้นที่ปล่อยออกไปสู่สาธารณะ แม้จะรู้ว่าบางคนอาจไม่ชอบวิธีการนี้เท่าไร แต่เขาเชื่อว่าการรับรู้และเข้าใจแบรนด์ในสายตาของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรพลาด

แบรนด์ของ Mediums เน้นใช้สีขาว สื่อถึงความบริสุทธิ์และการเริ่มต้นใหม่ เป็นเหมือนผ้าใบว่างเปล่าให้คนเข้ามาแต่งเติมด้วยจินตนาการของตัวเอง และพยายามทำให้การสื่อสารเข้าใจง่ายที่สุด คนที่ไม่ถนัดด้านงานศิลปะก็เข้าใจได้ว่าเขากำลังทำอะไร

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

อีกหนึ่งจุดสำคัญที่เป็นความเชื่อของ Mediums คือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

“วงการศิลปะและการออกแบบ เครื่องดื่ม และอีคอมเมิร์ซ สร้างขยะเยอะมาก และการเปิดบริษัทใหม่ย่อมมีขยะเพิ่มอยู่แล้ว โดยที่เราไม่ได้มีเงินทุนมากด้วย แต่เราคิดมันสมเหตุสมผลที่จะทำ เพราะเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม เราตั้งเป้าหมายตั้งแต่เริ่มเลยว่าจะทำอย่างไรให้ Carbon Footprint ลดลงในทุกปี ถึงแม้ต้นทุนจะสูงตอนนี้ แต่ในอนาคต มันเป็นคุณค่าต่อสังคม” ซีอีโอวัย 16 ปีกล่าว 

พวกเขาพยายามเลือกวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในองค์ประกอบต่างๆ เช่น แก้วกาแฟ อุปกรณ์กันกระแทกในกล่องพัสดุ รวมถึงพฤติกรรมเล็กๆ ที่ทำได้ในแต่ละวัน

ถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ใส่ใจทุกรายละเอียด ทั้งต่อลูกค้าและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ชวนให้สนับสนุนได้อย่างอุ่นใจ

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

เข้าถึง

โดยสรุปแล้ว ลูกค้าของ Mediums มีอยู่ 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือคนที่สนใจงานศิลปะอยู่แล้ว กลุ่มที่สองคือคนที่ยังไม่ได้สนใจงานศิลปะ

“คำตอบนี้คงดูแย่ในทางธุรกิจนะ แต่มองว่าในระยะยาว เป้าหมายของเราคือทุกคนจริงๆ” 

หลังเปิดมาสักพัก เขาเริ่มได้รับเสียงตอบรับจากกลุ่มศิลปินและนักเรียนศิลปะ แต่ปริศนาที่เขากำลังครุ่นคิดอยู่คือ ทำอย่างไรให้คนที่คิดว่าตัวเองไม่มีวันเข้าใจหรือทำงานศิลปะสำเร็จ กล้าเดินเข้ามาลองสัมผัสประสบการณ์ด้วยกัน

“คนไทยเรียนศิลปะเยอะเลย แต่พอพูดถึงพื้นที่ศิลปะ คนอาจจะกลัวและบอกปัดว่าวาดรูปไม่เป็น ไม่ชอบงานแนวนี้ มันหายากมากที่วันเสาร์อาทิตย์คนจะไปเดินแกลเลอรี่ นั่งจ้องงานเพนต์สักสองชั่วโมงเพื่อวิเคราะห์ ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องถึงขั้นนั้นหรอก แต่พีทว่าคนควรเข้าถึงการชื่นชมงานศิลปะนะ”

“เพราะภาพหนึ่งภาพมันสื่อสารได้หลายอย่างมาก ไม่ใช่แค่ว่าสวยแล้วจบ แต่ทุกงานมีสตอรี่เบื้องหลัง ผลงานแต่ละอันเหมือนศิลปินเอาตัวเองไปแบอยู่บนผ้าใบ เป็นการแสดงออกที่บริสุทธิ์มาก และทุกคนเข้าใจได้จากภาพ เราคิดว่าทำตรงนี้แล้วจะช่วยให้คนค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น”

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

“แล้วไม่กลัวคนมาเยอะเกินไปหรอ” เราถาม ถ้าไม่นับเรื่อง COVID-19 บางครั้งความแออัดของผู้คนที่เดินเข้ามาถ่ายรูปแต่เพียงอย่างเดียว นั่งอยู่นานๆ ชาร์จโทรศัพท์ ก็อาจทำให้เสียอรรถรสการชื่นชมศิลปะ

“ในตอนนี้ แค่คนเดินเข้ามาก็ถือว่าเป็นเรื่องดีแล้วสำหรับทั้งเราและวงการ พอเขาเข้ามาเห็นนิทรรศการ ยืนรอกาแฟแล้วเห็นสีอะครีลิก อาจสนใจ อยากลองวาด 

“ยิ่งงานศิลปะ งานออกแบบ และงานสร้างสรรค์ออกไปสู่คนวงกว้างมากเท่าไรก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่นี่ หอศิลปฯ หรือที่ไหนก็ตาม เพราะมันช่วยให้เกิด Art Community ขึ้น” 

ยิ่งคนรักศิลปะ ยิ่งเป็นผลดีต่อทั้งวงการ สุดท้าย อาจไม่ได้มีใครเป็นคู่แข่งกันเลย

“มันอาจเป็นมุมมองที่ใสซื่อนะ แต่เราไม่ได้โฟกัสว่าใครเป็นคู่แข่งเลย พยายามทำแบรนด์ตัวเองให้ดีที่สุด และดึงจุดเด่นให้ชัดว่าเราเข้าใจคนจริงๆ”

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

เข้าใจ

Mediums มุ่งมั่นสร้างคอมมูนิตี้ของตัวเอง โดยพีทเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการเข้าอกเข้าใจ (Empathy) รับฟังปัญหาและความต้องการ นำสิ่งที่คนเสนอไปปฏิบัติต่อจนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

รวมถึงต้องจดจ่อตัวเองอยู่กับการสร้างสรรค์ผลงานอยู่เสมอด้วย

“พีทต้องเอาตัวตนด้านธุรกิจออกไปอยู่เรื่อยๆ พยายามคิดกับตัวเองเสมอว่าเราเป็นศิลปิน และไม่ว่าจะมีงานจากที่โรงเรียนหรือยุ่งแค่ไหน กลับบ้านตีสอง แต่พีทยังต้องทำผลงานตลอด อาจจะวาดรูป เพนต์สี หรือสร้างอะไรสักอย่าง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่เข้าใจความรู้สึกของลูกค้า และคิดว่าความเจ็บปวดที่มีของพวกเขาหายไปหมดแล้ว 

“แต่ถ้าพีททำงานต่อไปเรื่อยๆ ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เราจะเห็นว่ามันมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นให้แก้ไขเสมอ และคนจะขอบคุณที่เราเข้าใจเขา สุดท้ายเขาจะเข้าใจเราด้วย เป็นความเคารพที่มีร่วมกัน” ศิลปินและผู้บริหารที่เข้าใจทั้งสองด้านและทำงานอย่างมีวินัย กล่าวด้วยรอยยิ้ม

คน-นอนไม่หลับ

“พีทไม่เคยนอนไม่หลับเพราะเรื่องงานเลยนะ ทุกอย่างมันมีทางแก้ แต่มีเรื่องคนที่พีทยังไม่ค่อยเก่งเท่าไร ทุกรอบที่มีปัญหาด้านนี้จะเป็นคืนที่พีทนอนไม่หลับ” 

พีทยอมรับว่าในช่วงที่ปริมาณงานที่ต้องทำมีมหาศาลมากเกินกว่ากำลังของพนักงานราว 40 คน เขาเน้นผลลัพธ์ของงานเป็นหลัก และยังไม่ถนัดเรื่องการบริหารความรู้สึกของคนนัก แต่เป็นสิ่งที่กำลังเรียนรู้อยู่

“คอมมูนิตี้ไม่ควรเกิดขึ้นแค่กับลูกค้า แต่ภายในบริษัทเองก็สำคัญมาก เป็นสิ่งที่ไม่ได้สนใจในช่วงแรก แต่รู้ตอนหลังว่าเราทิ้งไม่ได้ ตอนนี้กำลังพยายามทำให้บริษัทเป็น Open Culture ใครเดินเข้ามาคุยกับพีทก็ได้ รับฟังทุกอย่าง ทุกคนคุยและแชร์ไอเดียกัน ถึงแม้ธุรกิจเราจะเป็นค้าปลีก การศึกษา อสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม แบบโมเดล Corporate จริงๆ เลย แต่เราอยากดูแลบริษัทให้มีบรรยากาศแบบเดียวกันกับกลุ่มคนที่เราคุยด้วย” 

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

ส่วนคำถามที่ใครหลายคนน่าจะสงสัยคือ คนอายุ 16 ปีไปชวนคนที่อายุมากกว่ามาร่วมองค์กร และสร้างความเชื่อมั่นให้พวกเขาได้อย่างไรกัน

“ทุกคนมาจากบริษัทที่สเกลต่างกัน แต่ยังไม่มีเคยเริ่มทำงานกับสตาร์ทอัพที่เริ่มจากศูนย์จริงๆ” พีทให้ข้อสังเกต ฟังดูแล้วสิ่งที่เขาทำดูน่าตื่นเต้นและมีทิศทางชัดเจน น่าลองร่วมงานด้วย สำหรับคนที่อยากท้าทายและสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่ใช่น้อย

“พีทไม่ได้ประเมินคนจากประสบการณ์ ไม่ได้ถามขนาดนั้นว่าทำงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง แต่ดูความมุ่งมั่น ถ้าคุณมีไฟจริงๆ พีทเชื่อว่าคุณทำตรงนี้ได้ไกล ซึ่งประสบการณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญแหละ แต่ในฐานะที่เราเริ่มแบรนด์ใหม่หมดเลย เราอยากทำงานกับคนที่พร้อมลองไปด้วยกัน” 

วิธีการคัดเลือกบุคลากรของเขาคือการเน้นถามคำถามเพื่อดูจริยธรรมการทำงาน (Work Ethics) มากกว่า และถามมุมมองความสนใจงานศิลปะจากความสงสัยส่วนตัวประกอบด้วย

Reinvent the Creative Industry

“มีกลัวว่าจะไม่รอดเหมือนกัน” เขาว่า แม้จะดูคิดทุกมุมแล้วก็ตาม 

การทำธุรกิจในโลกแห่งความเป็นจริงย่อมมีเรื่องชวนปวดหัวและไม่คาดฝันให้ต้องปรับตัวเสมอ ยิ่งมีต้นทุนใช้จ่ายสูงและต้องได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจสำหรับนักลงทุน ยิ่งเป็นเรื่องน่ากดดัน

“แต่คิดว่าการ Trial & Error แบบที่ทำตอนนี้เป็นเรื่องปกติในโลกปัจจุบันนะ เพราะคนต้องการสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือดูว่ามีส่วนไหนที่ลงทุนต่ำและได้ผลตอบแทนสูงไหม เพื่อสนับสนุนให้ตัวธุรกิจหลักของเราเติบโตได้ในระยะยาว” 

พีทมองว่าธุรกิจค้าปลีกจำเป็นต้องคิดแพลนเผื่อการเดินทางระยะไกลอยู่แล้ว เช่น ดูพื้นที่ ติดต่อกับห้างร้านและศิลปินต่างๆ เขาจดไอเดียไว้ในโทรศัพท์เรื่อยๆ และประเมินว่าความคิดใดมีศักยภาพต่อยอดเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์คอมมูนิตี้ในภายหลัง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คนไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการ

“เราไม่ได้ดูแค่ว่าความต้องการของตลาดมีอะไรบ้าง เพราะจริงๆ วงการนี้ Niche มาก แต่เรามองว่าจะสร้างความต้องการใหม่ขึ้นมาได้อย่างไร 

“พอคิดแบบนี้ ถึงเจอปัญหาอะไร เราจะทำอยู่ดี พีทพยายามไม่จำกัดตัวเองด้วยความคิดว่าเรามีเงินทุนแค่นี้ ทำอะไรได้บ้าง แต่เริ่มต้นที่ไอเดีย คิดให้ไปถึงร้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์ก่อน แล้วค่อยดึงกลับลงมาตอนลงมือทำ” 

แม้เพิ่งเริ่มเปิดบริการไม่นาน แต่ Mediums มีวิสัยทัศน์ที่มองไกลไปถึงการปฏิวัติวงการความคิดสร้างสรรค์ไทย และทำงานด้วยความมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายนี้ ต่อไปเราคงได้เห็นอะไรสนุกๆ น่าตื่นตาใจในรูปแบบต่างๆ เป็นแน่

งานของชีวิต

ปัจจุบัน พีทยังคงสถานะนักเรียนอยู่ แต่เขาเลือกเสี่ยงออกมาทำงานควบคู่ไปกับการเรียนให้จบระดับชั้นมัธยมศึกษา และทิ้งแพลนการเรียนต่อไปก่อน เพื่อให้เวลากับ Mediums เต็มตัว โดยกิจวัตรประจำวันของเขาคือการตื่นเช้าขึ้นมาประมาณตี 5 ครึ่งและมักทำงานจนเลยเที่ยงคืน

“คนชอบพูดกันว่าทำงานกับสิ่งที่เราชอบ มันจะไม่เหมือนเป็นงาน แต่ไม่จริงหรอก งานก็คืองาน แต่เราสนุกและมีความสุขไปกับมัน แม้จะเหนื่อยก็ตาม

“พีทเชื่อว่าผู้ประกอบการต้องมีแพสชันกับสิ่งที่ทำ ไม่ได้เริ่มธุรกิจเพราะมุ่งแสวงกำไรหรืออยากเปิดบริษัทเฉยๆ แต่ควรเริ่มจาก ไม่ไหวแล้ว ปัญหานี้ต้องมีใครสักคนทำอะไรแก้ 

“เพราะมันจะน่าดึงดูดใจ และเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าเห็นคุณค่ามากกว่า ไม่ใช่เปิดเพื่อเปิด แต่เปิดเพราะเรามีคำตอบให้ปัญหา”

Mediums ธุรกิจร้านเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ทำให้คนสนุกกับศิลปะได้ 24 ชม. ของ CEO วัย 17 ปี

Lesson Learned

1. “สิ่งสำคัญคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พีทเรียนรู้ว่าต่อให้ภายในจะเละขนาดไหนก็ตาม หลังบ้านทำงานไม่ทัน แต่สิ่งที่เราส่งมอบให้ลูกค้าต้องดี ลูกค้าไม่ได้สนใจปัญหาส่วนตัวของเราอยู่แล้ว เขายังคงต้องการสิ่งที่ต้องการอยู่ ต้องให้ลูกค้าเป็น First Priority”

2. “พีทกำลังค่อยๆ เรียนรู้เพิ่มเรื่องแบบแผนและซอฟต์แวร์ในการทำงาน เริ่มดูเรื่อง Operation มากขึ้น ตอนเริ่มทำธุรกิจ เราค่อนข้างทำงานแบบแมนนวลเยอะ ปัญหาและความผิดพลาดก็เยอะตาม แต่ทำมาเรื่อยๆ คุยกับหลายบริษัท เรากล้าลงทุนกับซอฟต์แวร์แล้ว เพราะต้องทำให้กระบวนการเดินหน้าต่อได้ด้วยตัวเอง”

3. “ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียเสมอ เช่น Open Culture ข้อดีเยอะ แต่ก็มีข้อเสียและสิ่งที่เราไม่ได้คาดฝันเหมือนกัน เมื่อเกิดแล้ว ต้องยอมรับความผิดพลาดนั้นก่อน และดูว่าเราจะไปทางไหนกันต่อ”

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน