“อยู่มาวันหนึ่งพระสารีบุตรได้เกิดอาการอาพาธ พระโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวกเช่นกันทรงถามว่า ท่านเป็นโรคนี้เคยฉันยาอะไรจึงหาย พระสารีบุตรตอบว่าอาการของโรคต้องฉันข้าวมธุปายาสเจือน้ำอ้อยแลน้ำตาลกรวดจึงหาย” 

เทวดาบริเวณนั้นได้ยินดังกล่าวจึงตรงไปยังบ้านอันเป็นโยมอุปัฎฐากของพระเถระทั้งสองแล้วเข้าสิงในร่างของเด็กคนหนึ่ง ทำอาการให้เด็กชักดิ้นชักงอ บิดามารดาพยายามแก้ไข แต่อาการไม่ทุเลา เทวดาที่สิงในร่างเด็กเอ่ยว่า

“พวกท่านต้องการให้ลูกหายจากความเจ็บปวดหรือไม่”

บิดามารดาของเด็กตอบว่า “พวกข้าพเจ้าต้องการเป็นที่สุด”

เทวดาที่สิงอยู่ในร่างเด็กจึงเอ่ยต่อว่า “เช่นนั้น ท่านจงหุงข้าวมธุปายาสเจือน้ำอ้อยแลน้ำตาลกรวดถวายแด่พระสารีบุตรเถิด ลูกของท่านจะหายจากอาการเจ็บปวดโดยทันที”  

รุ่งเช้าพระโมคคัลลานะเสด็จออกบิณฑบาตไปถึงยังบ้านนั้น อันเขาทั้งหลายถวายข้าวมธุปายาสแด่พระโมคคัลลานะแลขอร้องให้ไปถวายต่อแด่พระสารีบุตร ครั้นพระโมคคัลลานะนำข้าวมธุปายาสมาถวาย พระสารีบุตรได้กล่าวว่า “อาหารนี้ไม่บริสุทธิ์”

“เพราะเหตุใด” พระโมคคัลลานะถาม

“เพราะเทวดาไปบังคับเขา” พระสารีบุตรตอบ พระโมคคัลลานะพิจารณาแล้วก็ทราบ อุทานว่า “ เราตาบอดนักเชียว” ทรงนำข้าวมธุปายาสไปเททิ้ง พระสารีบุตรจึงกำหนดจิตให้บริสุทธิ์และหายจากอาการอาพาธในทันที”

อาหารอีสาน

บทสนทนาในวันนี้เริ่มต้นขึ้นในระหว่างมื้ออาหาร ผมเด็ดยอดขี้เหล็กที่ลวกมาแล้วก่อนจะนำไปต้มอีกครั้งหนึ่งตามคำแนะนำของ พระอาจารย์วิจิตร ฐานุตาโร หลังจากนั้นผมปอกหอมแดง ซอยตะไคร้ นำใส่ครกพร้อมกับพริกแห้ง โขลกพอหยาบตามด้วยใบมะกรูดฉีก ตั้งหม้อน้ำบนเตา ใส่เครื่องแกงที่โขลกเสร็จ นำใบขี้เหล็กที่ต้มและกรองเอาน้ำออกเรียบแล้วใส่ตามลงไปพร้อมน้ำใบย่านาง เมื่อน้ำเดือด ใส่เนื้อปลาย่างที่แกะไว้ล่วงหน้า ตามด้วยน้ำปลาร้า ใบชะอม และใบแมงลัก ก่อนจะปิดฝาหม้อเพื่อเฝ้ารอการมาถึงของแกงขี้เหล็ก

อาหารอีสาน

อาหารอีสาน

“ถ้าเรามีเวลา เราต้มปลาย่างไว้ล่วงหน้าก่อนก็จะดี เนื้อปลาจะยุ่ย น่าทาน ส่วนน้ำต้มเนื้อปลานี่เรากรองเอามาทำน้ำแกงได้เลย แกงจะมีรสดีขึ้น ส่วนการที่เราใส่ใบแมงลักทีหลังนั้นเพราะใบแมงลักเป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมในตัว เราจึงต้องใส่ทีหลังสุดแล้วปิดฝาหม้อ น้ำมันหอมในตัวสมุนไพรเมื่อโดนความร้อนจะลอยขึ้นไปพบกับฝาหม้อที่ปิดอยู่และกลั่นเป็นไอตกลงมาในหม้อ ทำให้แกงของเรามีกลิ่นหอมน่าทาน หลักการนี้ใช้ได้กับสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมในตัว ไม่ว่าจะเป็นผักชีลาว ผักแขยง และผักทำนองนี้”

อาหารอีสาน

อาหารอีสาน

ผมเคยทดลองทำแกงขี้เหล็กแบบอีสานมาแล้วครั้งหนึ่งแล้วที่โขงเจียม จังหวัดอุบลฯ แต่ในครั้งนั้นผู้สอนซึ่งเป็นสารถีสามล้อเครื่องวัยหนุ่มนามลุงยนต์เลือกใช้หนังควายจี่หรือหนังควายย่างแทนปลาย่าง แกงขี้เหล็กอีสานแตกต่างจากแกงขี้เหล็กภาคกลางตรงไม่ใช้กะทิ แต่ใช้น้ำปลาร้าและน้ำใบย่านางแทน ทำให้แกงขี้เหล็กแบบอีสานไม่มีรสหวานมัน แต่มีความหอมของน้ำใบย่านางและรสเค็มกลมกล่อมจากน้ำปลาร้าแทน

“ทำไมแกง ต้ม หรืออาหารอื่นๆ ของอีสานถึงไม่มีกะทิครับ” ผมถามคำถามพระอาจารย์วิจิตรหรือหลวงพี่วิจิตรระหว่างเฝ้ารอแกงเดือด เสียงฝาหม้อกระทบขอบหม้อดังขึ้นเป็นระยะ

“คนอีสานมักไม่กินของมัน ส่วนเหตุผลนั้น อาตมาว่าเนื่องจากภูมิอากาศเป็นหลัก ภูมิอากาศทางอีสานค่อนข้างร้อน การกินอาหารที่มีความมันมากๆ มักทำให้ท้องไส้ไม่สบาย ขนาดอาตมาย้ายมาอยู่ทางเหนือหลายปีแล้วก็ยังไม่ชินกับแกงกระด้างที่มีความมันของทางนี้เท่าไรนัก ตักฉันไปสองสามคำก็รู้สึกอิ่มแล้ว

“ความเคยชินมันก็มีส่วน อย่างพระเรานี่มีปัญหาเรื่องไม่สบายท้องบ่อย เดี๋ยวท้องอืด เดี๋ยวท้องเฟ้อ ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ดังนั้น ถ้าเราฉันอาหารที่มีสมุนไพรขับลมอย่างใบแมงลักเข้าไปมันจะไปช่วยขับลมให้ท้องสบายขึ้น ส่วนใบขี้เหล็กนี่ช่วยเรื่องการนอนหลับและการระบายท้อง ใครนอนไม่หลับ นอนไม่เป็นเวลา ท้องผูก กินแกงขี้เหล็กจะช่วยได้มาก บางครั้งพระผู้ใหญ่ในวัดของเราไม่สบายตัว ท้องผูก อาตมาก็จะทำแกงขี้เหล็กถวายท่านเสมอ”

บทสนทนาของเรามีขึ้นที่วัดโป่งน้อย แถวตำบลสุเทพในจังหวัดเชียงใหม่ แต่หลวงพี่วิจิตรนั้นเป็นชาวห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้นานนับสิบปีแล้ว ผมมีโอกาสรู้จักพระอาจารย์วิจิตรก่อนการเดินทางลงไปอยู่อีสานไม่นานนักผ่านทางพระอาจารย์มนตรี พระอาจารย์ในวัดอีกรูปหนึ่ง และหลังจากนั้นผมก็กลายเป็นแขกประจำของวัดและของกุฎฺิหลวงพี่วิจิตร

กุฏิหลังน้อยของหลวงพี่วิจิตรนั้นรายล้อมไปด้วยสมุนไพรนานาชนิด เป็นที่รู้กันดีในหมู่พระและชาวบ้านโป่งน้อยว่าหลวงพี่วิจิตรเป็นผู้ที่สนใจในสมุนไพร อีกทั้งยังมีความชำนาญและความรู้ในอาหารอีสานเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่ผมมีคำถามเกี่ยวกับอาหารอีสาน บุคคลแรกที่ผมนึกถึงเสมอคือหลวงพี่วิจิตรนั่นเอง

 

พระอาจารย์สนใจเรื่องสมุนไพรมาตั้งแต่เมื่อใด

น่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ตอนนั้นอาตมาชอบตามตาเข้าไปในป่า ตาของอาตมาเป็นหมอยา เป็นผู้ช่วยพรานเรียกว่า ‘แลง’ แลงนี่คือคนที่เข้าป่าได้ มีตำแหน่งรองจากพราน ทำทุกอย่างได้ เว้นแต่ยิงสัตว์ไม่ได้ ชีวิตของตามีสีสันมาก อาตมาเดินตามตาไปทางไหน ตาก็บอกว่าต้นนั้นแก้นี้ได้ แก้นั้นได้ ต้นนั้นมีสรรพคุณแบบนี้ ต้นนี้มีสรรพคุณแบบนั้น

เวลาออกจากป่ามาที ตาจะออกมาพร้อมกับสมุนไพรจำนวนมาก วิธีเก็บสมุนไพรของตาก็น่าสนใจมาก เช่น ต้องเก็บเฉพาะตอนกลางวันก่อนค่ำ เพราะถือว่าค่ำ สรรพคุณยาจะลงดินหมด การเก็บก็ต้องไม่ให้เขาของสมุนไพรมาทับตนเอง ต้องเบี่ยงตัวเด็ดหรือตัดสมุนไพร ได้มาตาก็จะเอามาปลูก มาตากแห้ง และตาไม่ได้ใช้สมุนไพรคนเดียว พอตกเย็นตาจะจุดเตาถ่าน ต้มน้ำหม้อใหญ่ ข้างในหม้อน้ำจะมีสมุนไพรหลายชนิดเป็นจำพวกที่แก้ปวดเมื่อย เสริมกำลัง อาทิ กำลังวัวเถลิง พญาเสือโคร่ง หม้อยาที่ตาต้ม ตาจะต้มเผื่อคนที่ผ่านไปผ่านมา ใครไปทำงานทำการจะกลับบ้าน ปวดเมื่อยเนื้อตัว ก็แวะมาจิบยาของตา

อาตมาเห็นสิ่งเหล่านี้มาแต่เด็ก เห็นคนเฒ่าคนแก่มาล้อมวงคุยกันเรื่องสมุนไพรที่หน้าบ้าน นอกจากจะต้มยาแล้ว ตาของอาตมายังดูแลเรื่องอาหารการกินของพวกเราด้วย คอยดูไม่ให้กินของแสลง ไม่ให้เจ็บป่วย ยกตัวอย่างเช่นพอเปลี่ยนฤดู ตาของอาตมาก็จะบอกว่าเปลี่ยนฤดูแล้วเน้อ ได้เวลากินต้มดอกแคแล้ว ดอกแคนี่จะช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกาย ตาก็จะต้มไว้ให้พวกเราไปหยิบกินทีละดอก ดังนั้น จากฤดูหนาวไปร้อน จากฤดูร้อนไปหนาว พวกเราที่เป็นเด็กๆ นี่ไม่มีใครเคยป่วยเลยตอนเปลี่ยนฤดู

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้อาตมาทึ่งในตาและเชื่อถือสมุนไพรมากคือ มีวันหนึ่งอาตมาปัสสาวะไม่ออก ตาจัดแจงต้มยาให้อาตมาหม้อหนึ่ง กินไม่นานก็ปัสสาวะสะดวก หลังจากนั้นก็หายขาด ไม่เคยเป็นอะไรแบบนี้อีกเลย ยิ่งทำให้อาตมาสนใจและอยากมีความรู้ในเรื่องสมุนไพรมากขึ้น

 

พระอาจารย์อายุเท่าไรตอนนั้น เดินป่าไหวหรือ และมีอะไรน่าสนใจบ้าง

ช่วงที่อยู่กับตามากๆ ก็น่าจะอายุประมาณหกเจ็ดขวบ ประถม 1 ราวๆ นั้น เราเด็ก ก็ไม่ค่อยเหนื่อยหรอก ป่าที่เดินนั้นเป็นป่าบนภูที่เขาเรียกมอตาเจ็ก โดยตาจะเข้าป่าไปหาสมุนไพรตามฤดู การตามไปทำให้อาตมาซึมซับความเคารพในธรรมชาติ

อย่างการตัดสมุนไพรนี่ ตาอาตมาจะสอนว่าอย่าไปทับเงาของต้นสมุนไพร เหมือนเราลบหลู่เขา เอาของเขาแล้วยังไปทำไม่ดีกับเขาอีก ดังนั้น เวลาตัดตาอาตมาจะเบี่ยงตัวไม่ให้เงาของต้นสมุนไพรโดนตัวเอง หลังจากนั้นจะเอาใบไม้ปิดตรงรอยแผลของต้นไม่ให้คนไปรบกวน เอาของอะไรจากป่านี่ ตาจะเอาไปพอใช้ ไม่ใช่เอาไปจนหมด และดูแลต้นกำเนิดด้วย อย่างอาตมาจำได้ คาถาเวลาที่ตาใช้ตัดสมุนไพรจะเป็น 

โอ โอมเทพยาธร

เหจรอยู่บนอากาศ

ผู้ข้าร้องตวาด

โอมสวาหะเพิก

มีข้อกำหนดหลายอย่างในการไปเอาสมุนไพร เช่นจะไม่ตัด ไม่เอา สมุนไพรตอนกลางคืน เพราะถือกันว่าตอนกลางคืนสรรพคุณยาทั้งหลายจะกลับคืนสู่ผืนดิน การเอายาต้องขอบคุณสมุนไพรทุกครั้ง อย่างคาถาที่ว่านั้นใช้กับสมุนไพรทั่วไป ถือว่ามีเทวดารักษา แต่สำหรับยาที่ถือว่ามีพระพุทธเจ้าคุ้มครอง ตาจะสวดอีกแบบ อย่างรากต้นพุทธรักษา ตาจะสวดสรรเสริญพุทธคุณ และกล่าวขอ ของพวกนี้ก็กล่อมเกลาเราให้รู้สึกว่าคนเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยการเคารพอย่างไรบ้าง

 

พระอาจารย์อยู่กับตาจนถึงประถม 6 หลังจากนั้นไปไหนต่อ

อาตมาบวชเรียนหลังจากจบประถม 6 อยู่วัดป่าแถวนั้นไม่ไกลจากบ้านนัก ก่อนจะย้ายเข้ามาเรียนต่อที่วัดในจังหวัดมหาสารคาม คนต่างจังหวัดเนาะ ถ้าไม่บวชเรียน จะเรียนต่อสูงขึ้นก็ยาก พอย้ายเข้ามาอยู่ในถิ่นอีสานจริงๆ จึงพบว่ามีรายละเอียดเยอะมาก อย่างสำเนียงพูดอาตมาถึงจะเป็นอีสานแต่ก็ไม่ใช่อีสานแบบในเมือง คนสารคามเขาเรียกอาตมาว่าไท ไทคอนสาร

 

ตาของพระอาจารย์มาเยี่ยมตอนพระอาจารย์ย้ายเข้ามาอยู่ที่สารคามไหม

มาสิ มาทีนี่ แกจะเดินคุยกับคนไปทั่ว อาตมาอยู่วัดแถวนั้นหลายปี ไม่มีคนรู้จักเท่าไร ตาอาตมามาไม่กี่วัน คนรู้จักไปทั่ว

แล้วก็กลับคอนสาร?

ใช่ แกชอบอยู่แบบนั้น แกเป็นพรานป่า หากินกับป่า อาหารป่าทุกชนิดตาทำได้หมด ดังนั้น อาตมาจะกินอาหารหลากหลายมาก กินทุกอย่างที่ตาทำ ความรู้พวกนี้ก็ส่งมาถึงแม่ แม่ก็เป็นคนชอบทำอาหาร อาตมาก็ติดตัวมา เรียนรู้จากตา จากแม่ จำได้ว่าอยู่ประถม 3 ประถม 4 นี่อาตมาตำส้มตำเอาไปกินเองที่โรงเรียน เพื่อนๆ ก็ชอบมาก ชมว่ารสชาติดี ครานี้เราก็มีกำลังใจทำนั่นทำนี่ กินอยู่เรื่อยๆ อย่างพอเข้ามาเรียนต่อในเมืองมีค่ายอบรมพระ บางทีอาหารไม่พอ อาตมาก็รับหน้าที่ทำ พลิกแพลงเอาของที่มี ใส่ผัก ใส่นั่น ให้มันเยอะขึ้น ก็พอเลี้ยงดูพระเณรจนพอ


พระปรุงอาหารหรือทำอาหารเองไม่ผิดพระวินัยใช่ไหม

ไม่ ถ้าเราใช้สิ่งที่เขาถวายมา เราก็เอามาจัดแยก เเต่เก็บค้างคืนไม่ได้ สะสมไม่ได้ แต่บริหารให้ได้ประโยชน์สูงสุดได้ เช่นไก่เขาถวายมา ฉันกันไม่พอ ก็เอามาฉีก ใส่ผัก ใส่ขนุนผสม ให้ได้ฉันกันทั่วถึง

ในทางพระ การบริหารสำคัญไม่ใช่ได้อะไรมา เป็นอะไรมา อยู่แบบนั้น ทำแบบนั้นไม่ใช่ คือสันโดษเป็นของดี แต่คนละเรื่องกับการนิ่งดูดาย อาตมาจำได้ว่าหลวงพ่อชาเคยยกตัวอย่างพระรูปหนึ่งที่มาฝึกอบรมกับท่าน ไปนั่งสมาธิในกุฏิ ฝนตก หลังคากุฏิรั่ว ฝนสาด ท่านก็ขยับหนี รั่วตรงไหนก็ขยับหนีไปเรื่อยๆ หาที่นั่งสมาธิอย่างเดียว หลวงพ่อชาไปพบเข้าจึงถามว่าทำไมท่านไม่อุดรูรั่ว พระรูปนั้นแย้งว่าท่านสอนให้พอใจในสิ่งที่ตนมีไม่ใช่หรือ หลวงพ่อชาบอกไม่ใช่ สันโดษดี แต่ต้องจัดการไม่ให้ตนเองลำบาก เป็นภาระผู้อื่น ไม่ใช่เอื่อยเฉื่อยไม่ทำอะไร ไม่ใช่แบบนั้น

แกงเดือดได้ที่ ส่งกลิ่นหอม ผมตักแกงใส่ชาม รอให้บทสนทนาจบก่อน เป็นเช่นนี้เสมอ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผมมาขอความรู้ท่านเรื่องอาหารยามเย็น ผมลงมือทำอาหารตามคำแนะนำของท่าน อาหารเสร็จ หลังจากนั้นผมจะกินอาหารเพียงลำพังโดยมีท่านคอยให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารจานนั้นๆ

อาหารอีสาน


คุณตาของพระอาจารย์อายุยืนไหม

อายุถึง 85 ปีนะ ก็ถือว่ายืน แต่ว่าพ่อตาของตาที่เป็นหมอยาอีกคนชื่อพ่อตู้สี อายุยืนมาก อายุถึง 102 ปีเลย คนนั้นเป็นหมอยาที่ผลิตยาขายเอง บรรจุขวดขาย ยาหอม ยาลม คนนิยมกันมากเลย


หลังจากสารคาม พระอาจารย์ก็ย้ายขึ้นมาอยู่ทางเหนือ?

ใช่ และพอมาอยู่ทางเหนือนี่ยิ่งทำให้เราสนใจสมุนไพรมากขึ้น ต้องยอมรับว่าที่นี่การจัดการองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรเขาดีกว่าอีสานเรามาก ไปที่ไหนก็มีตลาดนัดสมุนไพร ไปวัดป่าไหนก็มีสวนสมุนไพร เราเจอความรู้มากมายเช่นนี้ก็เอาความรู้มาต่อยอดกับความรู้เดิมที่มีมา การได้รู้จักต้นไม้แปลกๆ จำนวนมากทำให้อาตมาอยากลองเอามาปลูกที่วัด ปลูกแล้วก็ทดลองทำยาตามตำรา ทดลองปรุงอาหารจากต้นไม้ที่เราเคยทานตอนเด็ก ทำให้สองสิ่งนี้มันข้องเกี่ยวกัน

ต้องยอมรับว่าพอเรามาอยู่ห่างบ้านอย่างนี้ เราก็คิดถึงอาหารหลายอย่างที่เราเคยกิน เคยฉัน อาตมาอยากลองดูว่าอาหารแบบนั้นมันมีอะไร ปรุงจากอะไร ก็ต้องโทรไปถามโยมแม่บ้างแล้วลองทำตาม หลังจากนั้นอาตมาก็จะมาพิจารณาหลักการของการปรุงอาหารอีสานว่ามันเข้ากับหลักการการปรุงยาอะไรบ้าง ซึ่งทำให้พบว่าหลายอย่างใกล้เคียงหรือเป็นแบบเดียวกัน

อย่างในทางยา เขามีหลักของการ ‘สตุ’ คือการลดความแรงของยา เช่นยาที่ร้อนก็ต้องสตุด้วยของเย็น ยาเย็นก็ต้องสตุให้ออกฤทธิ์ร้อน ในอาหารก็มีการสตุด้วยเช่นกัน อย่างแกงหน่อไม้ใบย่านางนี่ชัดเจน หน่อไม้เป็นของร้อน กินหน่อไม้อย่างเดียวก็ร้อนใน ไม่สบายตัว ก็สตุลดความร้อนด้วยการเติมใบย่านางที่เป็นของเย็นแบบนี้ พอเราจับหลักได้ยิ่งสนุก ยิ่งอยากค้นคว้ามากขึ้นว่าอาหารเป็นยา

อย่างในพระสูตรพระสารีบุตรอาพาธ ที่รักษาได้ก็เป็นข้าวมธุปายาสที่เป็นข้าวผสมน้ำผึ้ง แสดงให้เห็นว่าอาหารกับยานี่เกี่ยวข้องเป็นเนื้อเดียวกันในพระพุทธศาสนา อาตมาก็เลยมานั่งดูว่ายาที่เป็นอาหารนี่แฝงอยู่ตรงไหนบ้าง ตรงเครื่องปรุงอะไรบ้าง แล้วมันสมดุลกันอย่างไร หลักสมดุลในเรื่องอาหารนี่สำคัญมากนะ


ผมเคยคุยกับเชฟญี่ปุ่น ดูมีหลักนี้เหมือนกัน อย่างวาซาบิที่ต้องกินกับปลาดิบ เพราะปลามาจากทะเลลึกมีความเย็น กินมากๆ อาจมีผลต่อร่างกายได้ เลยต้องกินเคียงกับของร้อนอย่างหัววาซาบิ ปลาสด วาซาบิสด 

ใช่ หลักการน่าจะเป็นเช่นนั้น มนุษย์นี่มี 5 ธาตุในตัว คือดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ อากาศนี่หมายถึงสิ่งที่เราบริโภค สิ่งที่เรากลืนกินมัน ตัวอากาศก็แบ่งเป็น 2 ส่วนอีก อย่างอากาศภายในเช่นอารมณ์ความนึกคิดที่เรากลืนกินมัน ภาษาพระเรียกเสวยอารมณ์ อากาศภายนอกอย่างอากาศที่เราหายใจเข้าไป อาหารที่เรากินเข้าไป มันต้องสมดุล มากเกินไปไม่ดี น้อยเกินไปไม่ดี สังเกตว่าเวลาเรากินอะไรแบบเดียวกันติดๆ กันไม่ช้าเราจะป่วยได้

เรื่องอาหารนี่ทางพระถือมาก ในบทการพิจารณาอาหารนั่นชัดเจน เรากินไม่ใช่เพื่อรส ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลิน แต่เพื่อให้ร่างกายมีกำลังแรง มีความอดทนต่อการงาน

คำคำหนึ่งในพุทธศาสนาคือคำว่า คิลานเภสัช ซึ่งแปลว่าการปรุงยาสำหรับรักษาไข้ให้ภิกษุที่ป่วยหรืออาพาธ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้สงฆ์ทำการดูแลกันเอง เนื่องจากสมัยก่อนชุมชนสงฆ์อยู่ห่างไกลจากชาวบ้าน การดูแลรักษาต้องทำกันเอง

มีตัวอย่างมากมายในพระสูตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปช่วยเช็ดตัวให้ภิกษุที่อาพาธ และทรงกล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ  ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ” นั่นเรื่องหนึ่ง

และทรงกำหนดว่าภิกษุที่จะดูแลภิกษุอาพาธต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง คุณสมบัติดังกล่าว ได้แก่ ต้องปรุงยาเป็น ต้องรู้จักว่าสิ่งใดแสลงและไม่แสลง ต้องมีจิตเมตตาพยาบาลผู้ป่วย ต้องไม่รังเกียจอุจจาระ ปัสสาวะ หรือของอาเจียน และต้องสามารถชี้แจงให้คนป่วยมีจิตใจเบิกบาน ร่าเริง ด้วยธรรม ประมาณนี้

เรื่องแบบนี้ช่วงหลังก็มีการรื้อฟื้นอย่างโครงการของกรมอนามัยที่จัดตั้ง ‘คิลานุปัฏฐาก’ คือโครงการที่เอาสงฆ์มาอบรมให้ดูแลตนเอง ดูแลสงฆ์ที่ป่วยได้ คือตอนนี้พระป่วยด้วยโรคจากการขบฉันมากมาย ทั้งเบาหวาน ไต กินหวานไป เค็มไป คือของที่โยมถวายไม่ใช่เรารับมาแล้วต้องฉันหมด เราต้องพิจารณาด้วย อันไหนดีไม่ดีต่อตัวเราอย่างไร เป็นต้น

 

อย่างของแสลงในทางอาหารและทางยามีไหม

มีสิ นี่ไง ขี้เหล็กเลย ตาอาตมาสอนมา ฝนแรกอย่าไปทานยอดขี้เหล็ก มันจะเมา ทานเสร็จ นอนไปทำอะไรไม่ได้เป็นวันก็มี ต้องระวัง


แต่ชามนี้ทานได้ใช่ไหมครับ

ทานได้ ทานเลย เย็นหมดแล้วกระมังนี่

พระอาจารย์วิจิตรยิ้ม ก่อนที่ผมจะจบบทสนทนาและเริ่มต้นอาหารมื้อค่ำของตนเอง

อาหารอีสาน

Writer & Photographer

Avatar

อนุสรณ์ ติปยานนท์

นักเขียน นักแปล เจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่ม อาทิ ลอนดอนกับความลับในรอบจูบ, แปดครึ่งริคเตอร์, จุงกิงเซ็กซ์เพรส, เพลงรักนิวตริโน โดยปัจจุบันเขายังคงจริงจังกับการเขียนและมีผลงานต่อเนื่องในโลกวรรณกรรม