ผู้ร้ายกลับใจ มอบตัวกลางรายการ, นางเอกดังกลับชาติมาเกิดเป็นหลานตัวเอง หรือ ตำนานรักซาไก พิสูจน์รักข้ามเผ่าพันธุ์ คือเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวนับพันจาก ‘ตีสิบ’ วาไรตี้ทอล์กโชว์ที่มีอายุยาวนานถึง 24 ปี

ว่ากันว่า ในยุคนั้นหากใครได้มาเป็นแขกรับเชิญของรายการนี้ วันรุ่งขึ้น บุคคลนั้นหรือประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมานำเสนอ จะต้องกลายเป็นกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปทั่วประเทศ

แน่นอนเบื้องหลังความโด่งดังนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนสำคัญมาจากชายที่ชื่อ วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์

เพราะเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้ดำเนินรายการที่มีลีลาโดดเด่นเฉพาะตัว หากยังเป็นนักสร้างสรรค์มืออาชีพที่ไม่เคยหยุดคิด เป็นนักสร้างปรากฏการณ์ที่กล้าแหวกขนบเดิมๆ ตั้งแต่สมัยเป็นผู้รายงานข่าวพยากรณ์อากาศ ที่เขาเดินลุยน้ำกลางฝนตก วิ่งสัมภาษณ์ชาวต่างชาติที่มาออกกำลังกาย เรื่อยมาถึงตอนที่เขาเริ่มต้นบุกเบิกรายการแนวใหม่ อย่าง คืนนี้ที่ช่อง 9, 4 ทุ่มสแควร์ และ ตีสิบ จนกลายเป็นต้นแบบรายการแนวพูดคุยของเมืองไทย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้รับเกียรติจากพิธีกรรุ่นเก๋ามาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต ความคิด และประสบการณ์ตลอด 30 กว่าปีบนหน้าจอ ซึ่งส่งให้ชื่อของเขาฝังแน่นในใจของผู้ชมมาจนถึงวันนี้

เส้นทางกว่า 30 ปีของวิทวัจน์ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที
01

จากช่อง 9 ซิดนีย์ ถึงช่อง 9 อ.ส.ม.ท.

“ผมเป็นหนี้บุญคุณประเทศออสเตรเลีย”

หลังตีตั๋วเที่ยวเดียวมาเรียนต่อด้านกราฟฟิกดีไซน์ที่ Western Australian Institute of Technology ชีวิตของเด็กหนุ่มวัย 19 ปีจากจังหวัดยะลา ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะที่นี่เปิดโอกาสให้เขาได้คิด ลงมือทำ ที่สำคัญคือ ได้สัมผัสกับกระบวนการผลิตรายการโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

“ผมมีน้าคนหนึ่งทำงานที่บริษัทโฆษณา เลยเป็นแรงบันดาลใจว่าอยากทำบ้าง แล้วเขาจบที่ออสเตรเลีย อยากไปออสเตรเลีย ซึ่งการศึกษาของที่นี่เขาให้ศึกษามันสมองของตัวเอง คือให้คิดเอง ไม่มีอะไรให้ท่อง พอขึ้นปีสี่ มีวิชาเลือกคือ TV Production เรียนเกี่ยวกับทำหนัง ทำรายการทีวี คิดว่าน่าสนุกดีจึงเลือกดู ซึ่งพอเรียนไปมันก็ดี เพราะเราเรียนเชิงครีเอทีฟด้วย เลยจุดประกายว่า นอกเหนือจากบริษัทโฆษณา เราก็ไปทำงานทีวีได้เหมือนกัน”

หลังเรียนจบ เขาเริ่มต้นทำงานโฆษณาอยู่พักหนึ่ง ก่อนเบนเข็มไปสมัครงานที่ TCN Channel 9 หรือช่อง 9 ซิดนีย์ เป็นผู้กำกับฝ่ายศิลป์ของรายการ Match Mates เกมโชว์ที่ให้เด็กๆ จับคู่แผ่นป้าย ทว่าด้วยธรรมชาติของรายการประเภทนี้ที่อายุสั้นเหลือเกิน เพียงปีเศษ สถานีก็สั่งให้เลิก ทีมงานจำต้องแยกย้ายไปตามทางใครทางมัน แต่คงเพราะฝีมือที่โดดเด่นของเขา ผู้ใหญ่ของช่องจึงทาบทามให้อยู่ต่อ โดยย้ายไปอยู่แผนกข่าวแทน

แผนกข่าวถือเป็นแผนกใหญ่ มีงานให้ทำทุกวัน ต่างกับเกมโชว์ที่ออกอากาศเพียงสัปดาห์ละครั้ง วิทวัจน์มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกแบบฉาก งานแอร์บรัช วาดภาพประกอบ ทำไตเติ้ลข่าวให้น่าสนใจ แต่ภารกิจหนึ่งที่เขาไม่เคยลืม คือการวาดภาพบรรยากาศในห้องพิจารณาคดี

“ในศาลเขาห้ามเข้าไปถ่ายรูป เวลารายงานข่าวเลยใช้ภาพดรออิ้งแทน เป็นภาพวาดลายเส้น โดยเขาจะให้คนไปนั่งสเก็ต ตอนนั้นผมได้รับเลือก เพราะไม่มีฝรั่งยอมไป เขาบอกว่าวาดภาพแมวยังเหมือนกระต่าย แล้วก็ชี้มาที่ผม บอกคนนี้ดรออิ้งแม่น นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ของสถานีไปศาล เพราะต้องเร็วและเป็นรายวัน สมมติเขาพิจารณาตอนบ่ายสอง พอสี่ห้าโมงเราก็กลับออกมา เพื่อไปเสนอข่าวตอนหกโมงเย็น

“อย่างภาพที่ผมวาดตอนนั้นมีคดีฉ้อโกงของข้าราชการคนหนึ่ง เป็นการโกงที่ใหญ่มาก อีกคดีเป็นพวกไบค์กี้ เป็นแก๊งมอเตอร์ไซค์โหดๆ พวกนี้วาดมันมาก เพราะคาแรกเตอร์สนุก ใส่เสื้อหนัง กางเกงยีนส์ขาดๆ เก่าๆ หน้าโหดๆ ตอนนั้นเราดรออิ้งด้วยดินสอ พอกลับมาก็ลงสีน้ำเร็วๆ แล้วเอากล้องเข้ามาจับภาพ เพื่อไปประกบกับข่าว”

เส้นทางกว่า 30 ปีของวิทวัจน์ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที
เส้นทางกว่า 30 ปีของวิทวัจน์ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที

การได้คลุกคลีกับวงการสื่อของออสเตรเลีย ทำให้วิทวัจน์ได้เห็นรูปแบบรายการที่หลากหลาย

เขาบอกว่าแม้ที่นี่จะอยู่ไกลปืนเที่ยงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ความทันสมัยของรายการนั้นไม่แพ้ฝั่งอเมริกาหรือยุโรป เนื่องจากออสเตรเลียเป็นประเทศที่พูดภาษาอังกฤษกัน หากอีกซีกโลกมีรายการรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมา รับรองว่าภายใน 1 เดือนก็จะมีรายการแบบนี้ในผังของสถานีโทรทัศน์ของออสเตรเลียแน่นอน

วิทวัจน์ทำงานอยู่ที่นี่ได้ 5 – 6 ปี จึงเริ่มรู้สึกอิ่มตัว เบื่อที่จะต้องสื่อสารกับผู้คนด้วยภาษาอังกฤษ บวกกับมั่นใจว่า ประสบการณ์ที่มีอยู่จะช่วยให้หางานใหม่ในเมืองไทยได้ไม่ยาก หลังพูดคุยกับภรรยาอยู่ร่วมปี กระทั่งยินยอม โดยมีข้อแม้ว่าหากภายใน 5 ปียังไม่ประสบความสำเร็จ เขาต้องกลับมาที่ออสเตรเลีย

เขาเดินทางมาถึงเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2528 พร้อมหอบหิ้วผลงานไปสมัครงานตามเอเจนซี่ต่างๆ เพียงไม่กี่สัปดาห์ เขาก็ได้งานเป็น Art Director ที่บริษัทโฆษณา DYR แต่สุดท้ายเขากลับทำได้เพียงเดือนเศษๆ เท่านั้น

“ตอนนั้นต้องพิชชิงงานผงซักฟอกแฟ้บ ต้องทำงานดึกดื่นเที่ยงคืน แล้วตอนนั้นลูกคนที่สองอายุแค่แปดเดือนเอง ยังต้องอุ้มอยู่เลย ภรรยาบอกไม่ไหวแล้ว เธอกลับบ้านดึกแบบนี้ จึงจำเป็นต้องลาออก”

เส้นทางกว่า 30 ปีของวิทวัจน์ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที

แล้วชีวิตก็เหมือนถูกลิขิตให้ต้องกลับมาทำงานทีวี วันหนึ่งระหว่างเปิดโทรทัศน์ เขาเห็นชายผมหยิกผู้หนึ่ง ชื่อ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล กำลังอ่านข่าว ซึ่งข่าวที่อ่านนั้นน่าสนใจมาก เพราะมีทั้งข่าวต่างประเทศ ข่าวชาวบ้าน ข่าวเศรษฐกิจ ต่างจากข่าวที่เขาเคยคุ้นเคยก่อนไปเมืองนอก ซึ่งมักมีแต่ข่าวสังคม เช่นข้าราชการผู้ใหญ่ตัดริบบิ้นเปิดงาน

วิทวัจน์เดินทางไปสมัครงานกับ ดร.สมเกียรติ หลังพูดคุยกันสักพัก กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จึงตอบรับให้เขาเป็นพนักงานใหม่ ทำหน้าที่ฝ่ายศิลป์ดูแลรายการข่าวภาคค่ำของช่อง 9 อ.ส.ม.ท.

“เราคอเดียวกัน คิดเหมือนกัน คือเราต้องการเสนอข่าวโทรทัศน์แบบฝรั่งที่ CNN เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอิทธิพลของออสเตรเลียมันส่งผลกับผมมาก ตั้งแต่เชิงความคิด ผลงานที่ปรากฏนอกจากในสมองแล้ว ยังอยู่ในพอร์ตฟอลิโอด้วย พอเปิดออกมาก็เห็นชัดว่า เราน่าจะทำงานที่พัฒนาไปกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนั้นในประเทศไทยได้”

02

3 นาทีที่โลกไม่ลืม

เส้นทางกว่า 30 ปีของวิทวัจน์ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที

แม้จะวนเวียนอยู่ในแวดวงโทรทัศน์ วิทวัจน์ก็ไม่เคยคิดจะไปปรากฏตัวบนหน้าจอเลย

แต่แล้ววันหนึ่งมาถึงจุดพลิกผันสำคัญ เมื่อเขาตัดสินใจถาม ดร.สมเกียรติ ถึงสิ่งที่ข้องใจมานานว่า ทำไมอาจารย์ถึงต้องอ่านข่าวพยากรณ์อากาศเองด้วย ทั้งที่ปกติแล้วสถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศหลายแห่งมักมีผู้ประกาศและฉากรายการแยกเฉพาะช่วงนี้ไปเลย

“ตอนนั้นอาจารย์บอกว่า หาคนอยู่เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าจะหาที่ไหน ผมบอกว่าคนจากกรมอุตุนิยมวิทยาไง แกบอกไม่เอา ไม่เอานักวิชาการ อยากได้คนทำโทรทัศน์ ผมเลยว่าเอาอย่างนี้แล้วกัน ระหว่างนี้ ผมจะลองวาดสตอรี่บอร์ดมาให้ดูก่อนหกเจ็ดภาพ รู้สึกว่ามีภาพคนยืนอยู่แล้วมีแผ่นป้ายอากาศ มีแผนที่ประเทศไทย แล้วเราก็ซ้อนภาพเข้ามา จากนั้นก็มีกลุ่มเมฆ มีเส้นความกดอากาศต่ำ ความกดอากาศสูง เป็นตัว H กับ L พอส่งให้อาจารย์ดู แกบอกเอาอย่างนี้แหละ

“จากนั้นผมก็ไปออกแบบแผงป้ายอากาศ ผมคิดถึงป้ายโฆษณาที่ออสเตรเลียที่เปลี่ยนรูปได้ ทำมาจากไม้สามเหลี่ยมปริซึมยาวๆ เอามาเรียงกันเป็นแผงห้าร้อยอัน เป็นหน้า A-B-C แล้วเวลาเปลี่ยนภาพ แท่งปริซึมนี้ก็จะพลิกไปพร้อมกันหมด เราจ้างช่างมาทำ ช่างก็บอกทำยังไง ทำไม่เป็น ผมจึงบอกว่า คุณทำเครื่องให้ผมอันหนึ่งเพื่อพลิกไม้ให้ได้สามครั้ง เขาก็ไปนอนคิด จนในที่สุดออกมาได้ แต่ของเรามีเพียงสี่แผง ด้านหนึ่งเราทำเป็นหน้าแผนที่ประเทศไทย อีกหน้าเป็นภาพถ่ายดาวเทียม แล้วอีกด้านเราเขียนเส้นความกดอากาศ ซึ่งตอนนั้นถือว่าล้ำมาก”

เมื่อฉากพร้อม เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ พร้อม ก็มาถึงโจทย์สำคัญคือ ผู้ประกาศ

หลังควานหาอยู่พักใหญ่ ในที่สุดอาจารย์สมเกียรติชี้มายังวิทวัจน์ พร้อมบอกว่า “คุณนั่นแหละทำ เพราะไม่มีใครรู้มากไปกว่าคุณ” แม้เขาจะพยายามต่อรองว่า ไม่มีความรู้เรื่องภูมิศาสตร์เลย แต่อาจารย์ย้ำว่าไม่เป็นไร พร้อมส่งตัวไปเรียนที่กรมอุตุนิยมวิทยา เรียนสัปดาห์ละหนึ่งถึงสองวันอยู่นานร่วมเดือน จนพร้อมจะลงสู่สนามจริง

“ความจริงความรู้ที่เราต้องการใช้ไม่เยอะหรอก เพราะเราออกอากาศแค่สามนาที แต่อาจารย์บอกว่าต้องรู้ เพราะคุณจะมาอ่านตามสคริปต์ที่กรมอุตุฯ ส่งมาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเขาส่งมาทุกช่องเหมือนกันหมด เราต้องนำเสนอให้มันสนุก คือเอาความรู้จากกรมอุตุฯ มาบวกความรู้ในเชิงโทรทัศน์ที่มีอยู่แล้ว ปั้นให้กลมออกมาใหม่แล้วมานำเสนอ”

วิทวัจน์บอกอาจารย์สมเกียรติว่า ขอเปิดตัวในวันปีใหม่ พ.ศ. 2529 เพราะถือเป็นศักราชใหม่พอดี แต่เหตุผลลึกๆ แล้ว เขาคิดว่าวันนี้น่าจะมีผู้ชมน้อย เนื่องจากหลายคนยังสังสรรค์หรืออารมณ์ค้างจากวันส่งท้ายปีเก่า และไม่น่ามีอารมณ์ดูข่าว แต่ถึงอย่างนั้นเขายังจำความรู้สึกในคืนนั้นได้ดี

“เหมือนยืนอยู่บนปากเหว พลาดนี่ตกเลย เพราะออกอากาศสด เป็นสามนาทีแห่งชีวิตที่จำไม่ลืม จนทุกวันนี้ ผมนี่สั่นไปหมด แม้ว่าเราจะเตรียมตัวอย่างดี เพราะทำเองหมด เดี๋ยวเราต้องไปเหยียบปุ่ม ให้ป้ายปริซึมมันหมุนนะ แล้วก็พูดเรื่องต่อไป จำได้ว่าความสั่นแก้อยู่นาน คือคนไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ แต่วันหนึ่งมีคนสังเกตเห็นว่า ปากกาสั่น จึงส่งไปรษณียบัตรเข้ามาถาม ผมก็ตอบเล่นๆ ไปว่า ใช่ครับ ในนี้อากาศมันหนาว ถือเป็นสีสันในการนำเสนอ

“อีกเรื่องคือพูดผิด เพราะไม่มีสคริปต์พูดสด คือมันแค่สามนาทีไง เหมือนร้องเพลงเพลงหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังพูดผิด พูดสะดุด พูดหย่อมเป็นหย่องบ้าง จนกระทั่งมีคนมาเล่นพนันกัน คือเขาเขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังว่า ได้เงินจากคุณวิทวัจน์ไปหลายร้อยแล้ว เพราะเวลาผมออกมาเมื่อไหร่ เขาจะพนันกันว่าวันนี้พูดผิดกี่คำ แล้ววางเงินกัน แต่หลังๆ เขาบอกว่ายากไป จึงเปลี่ยนเป็นวันนี้ผมจะพูดผิดเป็นจำนวนคู่หรือคี่แทน”

ที่สำคัญเขายังมีเทคนิคการนำเสนอที่ฉีกกรอบ ไม่ได้จำกัดว่าตัวเองต้องประจำอยู่ในสถานีเท่านั้น

เส้นทางกว่า 30 ปีของวิทวัจน์ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที

อย่างเวลาฝนตกน้ำท่วม ป้ายบิลบอร์ดพัง เขาก็เดินสวมรองเท้าบูตออกไปถ่ายรายการแล้วนำเสนอกลับเข้ามาในห้องส่ง หรืออย่างเทปหนึ่งที่หลายคนอาจเคยเห็นในสื่อออนไลน์ คือ วิทวัจน์วิ่งขนาบข้างชาวต่างชาติที่สวนลุมพินี เพื่อสอบถามสภาพอากาศทั้งในเมืองไทยและสวิตเซอร์แลนด์ บ้านเกิดของผู้ให้สัมภาษณ์

“ตอนนั้นเราอยากรู้ว่า อากาศแบบนี้คนจะออกกำลังกายยังไงบ้าง ซึ่งพอไปถึง ไม่มีใครนอกจากคนมาวิ่ง ผมเลยบอกช่างภาพว่า เดี๋ยวผมจะสัมภาษณ์ฝรั่งคนนั้น แล้วคุณต้องวิ่งตามผมนะ เพราะเขาคงไม่หยุด ซึ่งกล้องสมัยก่อนหนักมาก ต้องแบกด้วยหัวไหล่ แล้วอีกคนที่หิ้วพอร์ตที่ใส่เทปตาม จนได้ภาพและเสียง ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนจำได้

“บางวันเราไปร้านข้าวแกงเป็นเพิงสังกะสี แล้ววันนั้นฝนตกหนักมาก ตอนที่เราสัมภาษณ์แม่ค้า และคนกินข้าวก็จะมีเสียงสังกะสีดังตลอดเวลา เราต้องตะโกนคุยกัน พอจอดรถปั๊บ ก็บอกป้าขอสัมภาษณ์หน่อยนะ ป้าก็ตะโกนกลับมาว่าอะไรนะ เราก็บอกว่า ขอสัมภาษณ์หน่อย จำได้ว่าสนุกมาก ตะโกนไปมาเหมือนคนหูตึงคุยกัน”

ด้วยความเป็นธรรมชาติ กล้าฉีกกรอบ มีลูกล่อลูกชน กล้าหยอกล้อกับผู้ชมทางบ้าน บางครั้งเขาหยิบเรื่องใกล้ตัวจากหน้าหนังสือพิมพ์มาเล่น เช่นครั้งหนึ่ง เขาเคยรายงานสภาพอากาศของเกาหลีใต้ว่าอากาศปลอดโปร่งเหมือนบ้านเรา โดยอิงจากหน้าข่าวกีฬา เพราะเป็นช่วงที่ สามารถ พยัคฆ์อรุณ ไปแข่งขันที่นั่นพอดี

ด้วยเหตุนี้ คนดูข่าวถึงจดจำชายสวมแว่นคนนี้ได้แม่นยำ แม้วันหนึ่งเขาจะปรากฏตัวเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ส่งให้วิทวัจน์กลายเป็นผู้ประกาศดาวรุ่ง จนบางครั้งยังได้รับโอกาสให้อ่านข่าวหลักในวันที่ ดร.สมเกียรติ ติดธุระ

ทว่าหลังทำรายงานข่าวอากาศแบบไม่มีวันหยุดร่วม 2 ปี เขาเริ่มรู้สึกว่า ตัวเองหมดมุก อยากหาความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งนั่นเองที่นำไปสู่การเริ่มต้นหมุดหมายสำคัญของวงการโทรทัศน์เมืองไทย

03

วาไรตี้ทอล์กโชว์ หมายเลข 1

“ผมอยากทำทอล์กโชว์แบบ จอห์นนี คาร์สัน (Johnny Carson)

เมื่อ พ.ศ. 2531 วิทวัจน์เอ่ยประโยคนี้กับ ดร.สมเกียรติ ในวันที่เมืองไทยมีแต่รายการเกมโชว์กับรายการตลก

แรงบันดาลใจสำคัญของเขามาจากสมัยที่อยู่ออสเตรเลียได้มีโอกาสชมรายการ Tonight Show ซึ่งมี จอห์นนี คาร์สัน เป็นพิธีกร จุดเด่นของรายการนี้คือ มีโชว์สนุกๆ อย่างละครตลกและการร้องเพลง แล้วก็มีช่วงสนทนาเบาๆ กับคนดัง ทั้งนักธุรกิจ ดารา นักแสดง ศิลปิน 

Tonight Show เป็นรายการของอเมริกาออกอากาศทาง NBC ซึ่งออสเตรเลียซื้อมาฉายด้วย แต่ฉายดึกมาก ประมาณเที่ยงคืน แล้วยังมีรายการท้องถิ่นของอีกคนชื่อ ดอน เลน (Don Lane) ทำเหมือนกันเลย แต่มาตอนหัวค่ำ ประมาณสามทุ่มครึ่ง ดูแล้วชอบมาก มีมุกแปลกๆ มีครีเอทีฟ มีไอเดียสร้างสรรค์ แล้วมีสัมภาษณ์สนุกๆ เป็นรายการโปรดของผม ซึ่งพอไปบอกอาจารย์สมเกียรติ แกก็ชอบ จอห์นนี คาร์สัน เหมือนกัน คอเดียวกัน ผมถามอาจารย์ว่าเอาไหม ส่วนรายงานพยากรณ์อากาศก็ให้คนอื่นมาทำแทน”

แต่ปัญหาคือ รายการรูปแบบนี้ไม่เคยมีในบ้านเรามาก่อน จึงไม่มีใครนึกภาพออก พอไปพูดให้ฝ่ายขายฟัง ก็ไม่มีใครเชื่อมั่นว่าจะมีคนดู

“สมัยนั้นมีหนังจีนฉายหลังละครหลังข่าว เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ดังมาก แต่พอเลยยุคนี้ไป คนดูละครเสร็จก็ปิดทีวีนอน สี่ทุ่มนี่จอดำหมดทั้งประเทศ แล้วเราจะเอารายการไปลงช่วงนั้น พอไปขาย เขาบอกว่าใครจะดู ฟันกันเลือดอาบเขายังไม่ดู แล้วนี่เราจะเอาคนมาคุยกัน ผมก็บอกว่าอย่าเพิ่ง เดี๋ยวทำไพลอตให้ เป็นนั่งคุยกันสบายๆ แล้วเราก็บอกว่า คุณอยากรู้ไหมว่า ดาราเวลาอยู่บ้าน เขาทำกับข้าวเองหรือเปล่า ก่อนนอนใส่ชุดนอนสีอะไร หรือดาราคนนี้ไปไหนต้องมีสามีไปด้วย ไม่ใช่เพราะความรักนะ แต่เป็นเพราะเขาขับรถไม่เป็น พอไปเล่าให้เอเจนซี่ฟัง เขารู้สึกสนุก เลยลองทำดู”

คืนนี้ที่ช่อง 9 ออกอากาศทุกคืนวันศุกร์ เวลา 4 ทุ่มครึ่งถึงเที่ยงคืน เริ่มนัดแรกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยมี ศ.ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับหน้าที่เป็นพิธีกร ซึ่งเพียงเทปเปิดตัวก็เรียกเสียงฮือฮาได้แล้ว เพราะได้รับเกียรติจาก พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเพิ่งออกจากโรงพยาบาลหมาดๆ หลังผ่าตัดหัวใจมาประเดิม และยังได้คนดัง อย่าง ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล, ปรียานุช ปานประดับ และ ดนุพล แก้วกาญจน์ มาร่วมพูดคุยด้วย

“หม่อมคึกฤทธิ์ พักฟื้นเพิ่งหาย พอเราไปเชิญท่านยอมมา ตอนนั้นผมบอกอาจารย์สุรพลว่า กล้าไหมเอาไมโครโฟนไปจ่อตรงหัวใจหม่อมคึกฤทธิ์ ขอฟังเสียงหัวใจ อาจารย์บอกคุณจะบ้าเหรอ ตอนนั้นเขาด่าอาจารย์สมเกียรติมาแล้วนะ เอากล้องไปส่องเขาตอนกินข้าว บอกนี่คือสิทธิส่วนบุคคล ผมจึงบอกว่าไม่เป็นไร ลองดู ถ้าไม่ได้ก็คุยเรื่องอื่น เช่น ผ่าตัดแล้วหัวใจตกไปอยู่ตาตุ่มไหม แกก็บอกจะบ้าเหรอ ให้ผมถามแบบนี้ เลยบอกแกว่าเป็นมุก คือเราก็สมองซนไปเรื่อย

“พอสัมภาษณ์จริง ปรากฏว่าหม่อมคึกฤทธิ์สนุกกับคำถามที่เราถาม กึ่งทีเล่นทีจริง ทะเล้นแต่ไม่ทะลึ่ง ในตอนท้ายอาจารย์สุรพลกล้าบอกว่า ก่อนจะลากัน ขอฟังเสียงหัวใจของคุณชายได้ไหมครับ หม่อมคึกฤทธิ์บอกว่า ได้สิ แล้วจะฟังยังไง นี่เลยครับไมโครโฟนตัวนี้ แล้วอาจารย์ก็เอาไปจ่อตรงหัวใจ ตรงเสื้อสูท แล้วแกก็บอกว่า เสื้อหนาไปครับ คุณชายอาจต้องถอดเสื้อสูทหน่อย หม่อมคึกฤทธิ์บอกเอาเลย ถอดตรงหัวไหล่ข้างหนึ่ง แต่ยังติดเสื้ออีกตัว อาจารย์จึงบอกว่า ขอเข้าจ่อตรงเนื้อได้ไหม หม่อมคึกฤทธิ์บอกว่าได้ แล้วปลดกระดุมเสื้อตัวใน จนเห็นเสื้อกล้ามเลย จากนั้นอาจารย์ก็เอาไมค์ไปจ่อตรงใกล้ๆ หัวนม ผมจำไม่ได้ว่าได้ยินเสียงหัวใจหรือเปล่า แต่แค่นั้นพอแล้ว ผมอยู่บนห้องคอนโทรล กรี๊ดระเบิด บอกสุดยอด… อาจารย์ นั่นคือภาพที่สุดยอดมาก”

ทว่าหลังบันทึกเทปที่ 5 เสร็จเรียบร้อย วิทวัจน์ก็ได้รับข่าวที่ทำเอาไปไม่เป็น นั่นคือ อาจารย์สุรพลขอคุยเป็นการส่วนตัว พร้อมกับแจ้งว่า “ผมลาออกแล้วนะ คุณต้องหาพิธีกรใหม่”

ครั้งนั้นเขามีเวลาเพียง 6 วันเท่านั้น ทีมงานต้องเปิดชื่อดารานักแสดง ไฮโซคนดังนับร้อย เพื่อหาว่าใครกันที่เหมาะสม ทว่าติดต่อไปกี่รายก็คว้าน้ำเหลวหมด จนวันสุดท้ายก็ยังไม่ได้พิธีกร หลังประชุมกันหน้าดำคร่ำเครียด ทุกคนจึงหันไปยังโปรดิวเซอร์ใหญ่ และบอกว่าพิธีกรคนใหม่คงต้องเป็นเขา เพราะไม่มีใครที่จะรู้จักและเข้าใจรายการดีไปกว่านี้แล้ว 

นับตั้งแต่มา ผู้ชายที่ชื่อ วิทวัจน์ ก็ไม่เคยหายหน้าไปจากวงการพิธีกรตลอด 30 กว่าปี

“เขาบอกว่า คุณสร้างทุกอย่างมากับมือ คุณรู้หมด เพียงแค่คุณเป็นโปรดิวเซอร์เท่านั้นเอง ผมเลยบอกว่า ตอนรายงานพยากรณ์อากาศแค่สามนาทีเอง แต่นี่รายการมันตั้งชั่วโมง ทีมงานบอกไม่รู้ ผีขึ้นป่าช้า ต้องเผาแหละ คือมันง่ายไงเวลาจะสั่งคนอื่น แต่พอต้องทำเอง มันลำบาก สั่นอยู่นาน แต่เรารู้ว่านี่เป็นการบันทึกเทป”

แม้การดำเนินรายการของวิทวัจน์อาจมีสะดุดบ้าง เช่น บางครั้งเขายังพูดติดๆ ขัดๆ แต่ในมุมของผู้ชมถือว่าเป็นเสน่ห์ และทำให้รายการมีความสดมากขึ้น ยิ่งมาผสมกับแขกรับเชิญที่โดดเด่นจากทุกแขนงอาชีพ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ดารา นักแสดง นักร้อง นักวิชาการ หรือแม้แต่คนที่ทำอาชีพแปลกๆ ซึ่งพร้อมใจมานั่งบนโซฟาให้เขาสัมภาษณ์ ทำให้เรตติ้งของรายการพุ่งกระฉูด เพราะสมัยก่อน ผู้ชมทั่วไปไม่ได้รู้จักชีวิตส่วนตัวของคนดังมากเหมือนสมัยนี้

แม้ต่อมารายการจะโยกย้ายเปลี่ยนสถานี เปลี่ยนชื่อรายการเป็น ที่นี่กรุงเทพ ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมลดน้อยถอยลงเลย กระทั่งผ่านมาปีหนึ่งจึงถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผู้ชายคนนี้

“ตอนนั้นครอบครัวกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะเรามีเวลาในเมืองไทยแค่ห้าปีเท่านั้น ถ้าไปต่อได้ก็อยู่ต่อ แต่ถ้าไปต่อไม่ได้ก็ย้ายกลับออสเตรเลีย ตอนนั้นกดดันเหมือนกันว่าจะทำยังไง ลูกกำลังโต ต้องใช้เงิน จึงขอลาออกจากบริษัทแปซิฟิคฯ เพื่อมาทำของตัวเอง”

04

รายการในตำนาน 4 ทุ่มสแควร์

ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน ทุกวันพฤหัสบดีเวลา 4 ทุ่ม ผู้ชมทางบ้านต่างเปิดช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ เพื่อรอชม 4 ทุ่มสแควร์ สุดยอดรายการวาไรตี้ทอล์กโชว์แห่งยุค

ในมุมของวิทวัจน์แล้ว 4 ทุ่มสแควร์ ไม่ใช่แค่รายการพูดคุยทั่วๆ ไป แต่เป็นวาไรตี้ครบรสที่รวบรวมความบันเทิงหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการพูดคุย เรื่องแปลก เรื่องตลกที่เรียกรอยยิ้มยามค่ำคืน ไปจนถึงเรื่องเทรนด์ต่างๆ ของสังคม เหมือนชื่อรายการที่มีคำว่า สแควร์ ซึ่งหมายถึง ศูนย์รวมแห่งความทันสมัย แบบเดียวกับสยามสแควร์หรือไทม์สแควร์

เพราะฉะนั้น เทปแรก เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2532 เขาจึงอยากทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน

ต้นตำรับวาไรตี้ทอล์กโชว์ไทย วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ จากผู้รายงานข่าวพยากรณ์อากาศ สู่พิธีกรทอล์กออฟเดอะทาวน์ตลอด 3 ทศวรรษ

ครั้งนั้นเขาเลือกเปิดรายการด้วยสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก Miss Universe 1988 กับคู่หมั้นหนุ่ม (ในเวลานั้น) คริสโตเฟอร์ แฮรีแมน

“ตอนนั้นเขาเพิ่งจะหมั้นกัน เป็นข่าวใหญ่มากในเมืองไทย ด้วยความที่เราอยู่ช่อง 7 แล้วช่อง 7 สนิทกับปุ๋ย เลยเสนอไป เขาก็บอกปุ๋ยอยู่ฝรั่งเศส ผมจึงตอบว่าจะไปหา ผมยอมลงทุน เพราะต้องการเปิดให้ใหญ่ ก็ติดต่อปุ๋ยไป เขาบอกว่าถ้ายูมาที่นี่ ไอยินดีให้สัมภาษณ์คู่กับคริส ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครได้สัมภาษณ์เลย เราไปคุยกันที่ปราสาทโบราณ ซึ่งเป็นบ้านของเพื่อนคริส ตัดต่อเป็นสองเทป เป็นที่ฮือฮามากในยุคนั้น”

อีกไฮไลต์หนึ่งของ 4 ทุ่มสแควร์ ในช่วงแรก คือพิธีกรผู้ช่วย ซึ่งตอนนั้นวิทวัจน์ชักชวน ม้า-อรนภา กฤษฎี นางแบบดังของยุค ขึ้นปกนิตยสารแฟชั่นแทบทุกปกมาร่วมงานด้วย เขายังจำได้ดีว่า ตอนที่ชวนนางแบบดังยังรู้สึกแปลกใจ เพราะไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน แต่ก็ตกปากรับคำไป พอเทปออกอากาศก็เป็นกระแสกล่าวขานในหมู่ผู้ชมทันที

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม กระทั่งมาลงตัวที่พิธีกร 3 คน คือ วิทวัจน์, ตุ๊ก-ดวงตา ตุงคะมณี และ เด๋อ ดอกสะเดา ซึ่งแท็กทีมกันเรื่อยมาจนรายการปิดตำนานไป

จุดเด่นของ 4 ทุ่มสแควร์ นอกจากช่วงบุคคลวันนี้ ซึ่งเน้นสัมภาษณ์คนดังแล้ว อีกช่วงที่ผู้ชมรอคอยและเรียกเสียงฮามากที่สุด คือ Home VDO ซึ่งนำเสนอภาพวิดีโอตลกๆ จากทางบ้าน ระยะแรกเน้นนำเสนอภาพจากญี่ปุ่น ก่อนจะซื้อลิขสิทธิ์รายการ America’s Funniest Home Videos แล้วมาคัดเลือกตอนที่น่าสนใจเพื่อออกอากาศอีกที

ต้นตำรับวาไรตี้ทอล์กโชว์ไทย วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ จากผู้รายงานข่าวพยากรณ์อากาศ สู่พิธีกรทอล์กออฟเดอะทาวน์ตลอด 3 ทศวรรษ
ต้นตำรับวาไรตี้ทอล์กโชว์ไทย วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ จากผู้รายงานข่าวพยากรณ์อากาศ สู่พิธีกรทอล์กออฟเดอะทาวน์ตลอด 3 ทศวรรษ

“แต่ก่อนมีแค่ภาพนิ่ง แล้ววันหนึ่งมีกล้องวิดีโอออกมาขาย เป็นกล้องที่พ่อบ้าน แม่บ้านถ่ายเองได้ ตอนนั้นเพื่อนผมที่ออสเตรเลียส่งมาให้ เป็นภาพเด็กทารกที่เริ่มกินอาหารเหลวได้ แม่ก็เอาน้ำมะนาวให้กิน พอเด็กทำหน้าเปรี้ยว พ่อก็ถ่ายเก็บไว้ น่ารักมาก แล้วต่อมาที่อเมริกา เขาทำเป็นรายการ ผมจึงบอกกับผู้ใหญ่ของสถานีว่า รบกวนซื้อให้ผมหน่อย เพราะถ้าให้ผมติดต่อไป เขาคงบอกว่าใครไม่รู้จัก ทางช่อง 7 บอกว่าได้ เดี๋ยวติดต่อให้ จนเราได้รายการมา”

อีกช่วงที่เป็นที่นิยมมาก มีแฟนรายการส่งจดหมายและไปรษณียบัตรมาร่วมสนุกอยู่บ่อยๆ คือ จับผิดโฆษณา ซึ่งวิทวัจน์ได้ต้นแบบมาจากรายการ Hey It’s Saturday Night ของออสเตรเลีย ซึ่งมีช่วงที่เรียกว่า Media Watch เป็นการจับผิดทุกอย่างที่ปรากฏในสื่อ เช่น สะกดคำผิด พิมพ์ผิด รูปกลับจากซ้ายเป็นขวา ขวาเป็นซ้าย จึงคิดว่าน่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทยบ้าง ตอนนั้นเขาเห็นว่าผู้ชมสนใจเรื่องโฆษณากันมาก และหลายๆ ชิ้นถ่ายโดด ถ่ายผิด น่าจะหยิบมานำเสนอได้

วิทวัจน์ยังจำได้ดีว่า ชิ้นแรกที่จับผิดเป็นโฆษณาเครื่องสำอาง ซึ่งมีเนื้อเรื่องประมาณว่า ผู้หญิงคนหนึ่งไปใช้กระจกข้างรถยนต์เพื่อแต่งหน้าทาลิปสติก โดยไม่ทราบว่า ภายในรถนั้นมีผู้ชายนั่งอยู่ เนื่องจากรถติดฟิล์ม แล้วสักพักผู้ชายคนนั้นกดกระจกลง พอประจันหน้ากัน ผู้หญิงก็เขิน แล้วจบด้วยการโฆษณาเครื่องสำอาง

ครั้งนั้น รายการจับผิดว่า ตอนแรกผู้หญิงถือลิปสติกด้วยมือขวา แต่พอลดกระจกลงมา ลิปสติกกลับไปอยู่ที่มือซ้าย จากนั้นเขาจึงเชิญชวนให้ผู้ชมที่เห็นข้อผิดพลาดในโฆษณาส่งเรื่องเข้ามา

ต้นตำรับวาไรตี้ทอล์กโชว์ไทย วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ จากผู้รายงานข่าวพยากรณ์อากาศ สู่พิธีกรทอล์กออฟเดอะทาวน์ตลอด 3 ทศวรรษ

หลังออกอากาศ นอกจากจดหมายจากผู้ชมทางบ้านที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างล้นหลามแล้ว ยังมีไปรษณียบัตรจากฝ่ายโฆษณาและเอเจนซี่ต่างๆ ส่งเข้ามาอีกเพียบ พร้อมระบุข้อผิดพลาดในโฆษณามาให้เรียบร้อย เนื่องจากพวกเขาทราบดีว่า หากโฆษณาชิ้นนั้นได้ออกอากาศหรือถูกจับผิด ผู้ชมก็จะจดจำได้มากขึ้น

ความนิยมของ 4 ทุ่มสแควร์ ในช่วงนั้นต้องถือว่าสุดๆ เพราะมีคนดังจากทุกวงการมาร่วมรายการ โดยเฉพาะศิลปินระดับแถวหน้าของเมืองไทยนั้นไม่มีพลาด จนถึงขั้นที่หน้าบันเทิงของหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ บอกว่า ถ้าใครออกเทปแล้วยังไม่ได้ออก 3 รายการคือ 7 สีคอนเสิร์ต, โลกดนตรี และ 4 ทุ่มสแควร์ แสดงว่ายังไม่ดัง

นอกจากนี้ วิทวัจน์กับทีมงานยังสรรหาลูกเล่นใหม่ๆ มาเล่นในรายการอยู่เสมอ เพราะโจทย์สำคัญของผู้ผลิตคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้สนุก เพื่อตรึงผู้ชมให้อยู่นานที่สุด ด้วยเหตุนี้ 4 ทุ่มสแควร์ จึงกลายเป็นรายการแรกที่มีอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นในหน้าจอมาก่อน ทั้งเล่าเรื่องผี หรือแม้แต่พังฉากออกอากาศ 

“เรื่องผีเกิดขึ้นตอนผมขับรถพาลูกไปเที่ยวพัทยา พอขับไปถึงบางบ่อ ตอนนั้นมีลูกสองคนนั่งอยู่หลัง จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงร้องกรี๊ด ลูกคนเล็กร้องไห้ เพราะพี่สาวเล่าเรื่องผีให้ฟัง คือเขาไปได้ยินครูเล่าหน้าชั้น จึงเอามาเล่าให้น้องฟังต่อ ‘นู่นนี่นั่น แล้วในที่สุดมันก็หายไปในเงามืด สงสัยไหม ไอ้ที่หายไปมันเป็นใคร’ แล้วเงียบ ไอ้น้องอายุสักสามขวบหูผึ่ง พยายามถาม ‘ใครอ่ะ’ แล้วคนพี่ก็หันมาชี้ว่า ‘แกนั่นแหละ’ ไอ้นี่ร้องไห้เลย คือมุกเล่าเรื่องผีแบบเด็กๆ สร้างบรรยากาศให้น่ากลัว แต่เรารู้สึกว่า ออกทีวีได้ เพราะเรื่องผีมีเยอะแยะ เป็นที่มาของการเล่าเรื่องผีรายการแรกของโทรทัศน์ไทย

เส้นทางกว่า 30 ปีของ ‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที

“ส่วนเรื่องทุบฉาก ตอนนั้นเราใช้ฉากน็อกดาวน์ พอถ่ายเสร็จต้องรื้อออก พอจะถ่ายเราถึงค่อยเอามาประกอบใหม่แบบจิ๊กซอว์ จึงคิดว่า จริงๆ เราสามารถทำได้ภายในวันเดียวเลยนะ รื้อแล้วประกอบ เพราะฉะนั้น เราน่าจะรื้อให้ผู้ชมดูว่า ฉากนี้ประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง เพราะคนดูไม่เคยรู้มาก่อน โทรทัศน์คือมายา คือการแสดง เราอยากแสดงให้เขาเห็นว่า Behind the Scene เป็นยังไง จึงรื้อเลย รื้อแบบที่ทำทุกวันนั่นแหละ เพียงแต่เราบันทึกเทปเอาไว้ แล้วพิธีกรสามคนก็ยืนอยู่ด้วย พอรื้อเสร็จ ผมบอกท่านผู้ชมว่า เราไม่มีฉากแล้ว ทุบให้ดูด้วย คือเอามาใช้ไม่ได้แล้ว แปลว่าเราจะมีฉากใหม่ โปรดติดตามสัปดาห์หน้า แต่ความจริงเราทำเสร็จแล้ว เพราะอีกหกวันเราต้องถ่ายต่อ”

4 ทุ่มสแควร์ ออกอากาศอยู่นาน 7 ปี 7 เดือน มีแขกรับเชิญหลายร้อยชีวิต ทั้งช่วงสัมภาษณ์ ช่วงสมัครเล่น ซึ่งเป็นการแสดงความสามารถพิเศษ จนวิทวัจน์เริ่มรู้สึกหมดมุก อยากหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ จึงตัดสินใจยุติรายการนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2540 แม้จะยังครองเรตติ้งอันดับ 1 ของรายการหลังละคร และออกเดินทางไปพักผ่อนที่ออสเตรเลียอยู่นานเกือบเดือน ก่อนจะสร้างตำนานบทใหม่ที่ชื่อว่า ตีสิบ

05

ตีสิบ Talk of the Town

หลังเลิกทำ 4 ทุ่มสแควร์ ได้ไม่นานนัก และกำลังเตรียมตัวไปออสเตรเลีย วิทวัจน์ได้รับสายโทรศัพท์ที่เปลี่ยนชีวิต ปลายสายคือ อ้วน อรชร ผู้สื่อข่าวบันเทิงอาวุโสจากหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ซึ่งนำความจาก ประวิทย์ มาลีนนท์ นายใหญ่แห่งไทยทีวีสีช่อง 3 มาแจ้งให้ทราบ

“เขาบอกว่าคุณประวิทย์ให้โทรกลับ ผมก็บอกไปว่า ผมไม่รู้จักคุณประวิทย์ แกบอกไม่รู้ เขาบอกให้โทรกลับ จะโทรไม่โทรก็แล้วแต่ หมดหน้าที่ผมแล้ว ผมจึงโทรไป คุณประวิทย์บอกว่า ไม่มีอะไรหรอก จะชวนมาอยู่ช่อง 3 ผมบอกว่า ฮ้า! ผมเพิ่งเลิกรายการเดิมไป ขออนุญาตยังไม่รับปาก ผมจะไปออสเตรเลีย คุณประวิทย์บอกว่า ไม่ใช่ตอนนี้ เมื่อไหร่ก็ได้ เอาเป็นว่า เราชวนคุณมาทำรายการ พูดง่ายๆ คือคุณไม่ตกงาน ใช่เลย ผมกำลังจะพูดกับคุณประวิทย์ว่า แสดงว่าผมไม่ตกงานแล้วสิ พอดีคือความจริง เงินทองเราก็พอเก็บไว้แหละ แต่เมื่อไม่ได้ทำงาน มันรู้สึกโหวงๆ พอคุณประวิทย์โทรมาเหมือนมันยกความรู้สึกเราขึ้นมา เที่ยวออสเตรเลียอย่างมีความสุข”

ระหว่างท่องเที่ยว สิ่งหนึ่งที่เขาคิดไปด้วยคือ จะเปิดตัวรายการใหม่อย่างไรให้น่าสนใจ แล้ววันหนึ่งเขาเปิดโทรทัศน์แล้วเจอรายการ ซึ่งนำเสนอภาพวัยรุ่นของคนหนึ่งในลอสแอนเจลิสที่ขโมยรถถังจากกองทัพบกมาขับ แล้วตำรวจกำลังตามจับ โดยใช้ทั้งเฮลิปคอปเตอร์แล้วรถล้อม ก่อนที่สุดท้ายจะลากตัวเด็กหนุ่มคนนั้นลงมาได้

วิทวัจน์ชมภาพเหตุการณ์นี้ด้วยความเพลิดเพลิน และรอจนกระทั่งทราบว่า ชื่อรายการ Real TV ซึ่งสถานีโทรทัศน์ออสเตรเลียซื้อต่อมาจากสหรัฐอเมริกาอีกที เขามั่นใจว่านี่จะเป็นอาวุธลับให้รายการใหม่ฮือฮาได้ พอกลับมาถึงเมืองไทย ประวิทย์ถามว่าพร้อมหรือยัง วิทวัจน์จึงแจ้งว่าอยากให้ช่อง 3 ช่วยติดต่อซื้อ Real TV ให้หน่อย โดยเขาจะลงทุนเอง และหากซื้อเรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมออนแอร์ทันที 

ตีสิบ ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 เวลา 4 ทุ่มครึ่ง โดยมี ซินดี้-สิรินยา บิชอพ เป็นพิธีกรร่วม มี Real TV ซึ่งเขาเป็นคนลงเสียงเองเป็นไฮไลต์สำคัญ นอกจากนี้ยังมีช่วงประกอบอย่าง Star Joke เชิญศิลปินคนดังมาเล่าเรื่องตลกของตัวเอง และปิดท้ายด้วย 108 มงกุฎ ที่มี 3 หนุ่มอารมณ์ดี สังข์-ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม, ทศ-ทศพล ศิริวิวัฒน์ และ คมสัน นันทจิต มาพูดคุยวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ แบบหรรษา

แต่ถึงอย่างนั้น หัวใจหลักของรายการยังเป็นช่วงสนทนา ซึ่งนำเสนอชีวิตของบุคคลต่างๆ ทั้งเรื่องราวที่น่าสนใจและเรื่องราวของคนดังที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีแขกรับเชิญและเรื่องราวนับพันที่ถูกนำเสนอ อาทิ วีระ นุตยกุล พิธีกรนักเดินทางคนดัง ก่อนจะบุกเบิกรายการ ผจญภัยไร้พรมแดน ถือเป็นขาประจำของที่นี่ หรือเวลาที่ โน้ส-อุดม แต้พานิช จะจัดเดี่ยวไมโครโฟน ก็มักจะมาออก ตีสิบ ก่อนเสมอ แล้วยังมีเรื่องแปลกๆ เช่น นางเอกดังที่เสียชีวิตร่วมสิบปี กลับชาติมาเกิดเป็นหลานตัวเอง คู่รักทอมกับกะเทย ซึ่งตอนนั้นทอมกำลังตั้งครรภ์อยู่ด้วย หรือผู้ต้องหาหนีคดีมาขอมอบตัวกลางรายการ

เส้นทางกว่า 30 ปีของ ‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที
เส้นทางกว่า 30 ปีของ ‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที

“เขาไปฆ่าคนตายมา หนีหมายจับมานาน จนหนีไม่ไหว อยากมอบตัวแต่กลัวถูกวิสามัญ เลยคิดว่า ขอมอบตัวต่อหน้าประชาชนดีกว่า ซึ่งวิธีที่ง่ายสุดคือออกทีวี แล้วเขาบอกว่า ไม่มีรายการไหนน่าจะมีคนดูมากเท่า ตีสิบ นั่นคือสิบกว่าปีที่แล้ว แล้วเขาก็ติดต่อมา บอกว่าผมฆ่าคนตาย ผมจะมอบตัว คุณวิทวัจน์แจ้งตำรวจมารับตัวผมได้ไหม เราบอกอย่าล้อเล่นนะ เขาบอกว่าไม่ครับ เดี๋ยวผมเอาหมายจับให้ดู แล้วเขาก็มาออฟฟิศ เอาหมายจับ เอาบัตรประชาชนมาให้ แล้วเราจึงถามว่า ทำอะไรมา ฆ่าเขาทำไม เขาก็เล่าให้ฟัง”

สำหรับที่มาของเรื่องราวใน ตีสิบ มีตั้งแต่ค้นจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สอบถามบุคคลใกล้ชิด เพื่อน ญาติพี่น้อง และบางครั้งเจ้าของเรื่องก็เป็นผู้ส่งเข้ามาเอง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือทุกเรื่องที่ถูกนำเสนอต้องมาจากความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ โดยหน้าที่ของวิทวัจน์คือ เรียงร้อยข้อมูลออกมาเพื่อให้ผู้ชมสนใจและเห็นภาพชัดเจนที่สุด

ด้วยประเด็นที่ใหม่ ไม่เหมือนใคร บางเรื่องไม่มีใครเคยทราบมาก่อน ทำให้ทุกเช้าวันพุธ เนื้อหาใน ตีสิบ จึงกลายเป็นกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ส่งให้ ตีสิบ ครองเรตติ้งลำดับต้นของรายการโทรทัศน์เมืองไทยต่อเนื่องหลายปี

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2545 วิทวัจน์ ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ด้วยการทำช่วงดันดาราขึ้นมา

ครั้งนั้นเขาได้แรงบันดาลใจมาจากรายการเก่าในออสเตรเลีย ชื่อว่า Red Faces ซึ่งเอาคนมาร้องเพลงห่วยๆ มาโชว์ แล้วมีคอมเมนเตเตอร์มาให้ความเห็นสนุกๆ แต่ตอนหลังพบว่า คนร้องเพลงห่วยไม่ค่อยอยากมา กลายเป็นคนร้องเพลงดีๆ แทน แต่ยังโดนกรรมการวิจารณ์เละอยู่ดี ซึ่งเขาจำได้ว่าเป็นรายการที่สนุกมาก และอยากประยุกต์เข้ามาใช้กับรายการในบ้านเรา เพราะตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีรายการประกวดประขันจริงจังเลย

“เราไม่มีเทปตัวอย่างให้ดู แต่ผมจำได้ เลยบอกว่าแข่งทำอะไรก็ได้ ตอนนั้นเรามีสามแอ็ก เราจะเอาร้องเพลงดีสองคน แล้วคนที่สาม เราเอาคนที่ร้องไม่ได้เรื่องมา สองแอ็กแรกได้รางวัลดันดาราไป ส่วนแอ็กสุดท้ายได้รางวัลดันทุรัง แต่ไปๆ มาๆ คนร้องไม่ดีหายากจริง เพราะเวลาไม่ดีคือไม่ดีแบบไม่น่าดู จึงคิดมุกใส่เข้าไป เช่น ใช้เท้าเล่นกีตาร์ รู้จักไหม คือเอากีตาร์ปกติมาเล่น แต่ปิ๊กที่เล่น เป็นหัวใช้เท้า แบบนี้ก็ได้ดันทุรังไป ตอนนั้นมีคนสมัครเข้ามาเยอะมาก เลียนเสียงสัตว์บ้าง เล่นกีตาร์เปิดหมวกบ้าง แต่ไปๆ มาๆ มีแต่คนร้องเพลง แล้วร้องดีๆ ทั้งนั้น จึงให้เปลี่ยนเป็นร้องเพลงดีๆ ไปเลย”

เส้นทางกว่า 30 ปีของ ‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที

ดันดาราถือเป็นช่วงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ ตีสิบ มีผู้สมัครเข้าร่วมรายการนับพันคน ที่สำคัญคือลีลาของกรรมการทั้ง 3 คน คือ จตุพล ชมภูนิช, มณีนุช เสมรสุต และ โน้ต เชิญยิ้ม นั้นโดดเด่นและเข้าขากันมาก เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้ไม่หยุด จนเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ถึงแยกรายการออกมาต่างหาก

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่สื่อโทรทัศน์แบบดั้งเดิมถูกท้าทายมากขึ้น ทั้งการถือกำเนิดของทีวีดิจิทัล การเติบโตของสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ทำให้รายการ ตีสิบ ต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เช่น ย้ายจากคืนวันอังคารมาออกอากาศช่วงบ่ายวันเสาร์ เปลี่ยนชื่อรายการเป็น ตีสิบเดย์

“ทำรายการเวลานี้ยากขึ้นมาก เพราะแต่ก่อนเราไม่มีคู่แข่ง คิดอะไรก็ใหม่หมด คิดอะไรก็ถูกหมด แต่ตอนนี้เราสู้รายการข่าวรายวันไม่ได้แล้ว เราสู้คลิปไม่ได้ สู้ยูทูเบอร์ไม่ได้ สู้พวกเน็ตไอดอลไม่ได้ หลายๆ เรื่องคนดูเห็นก่อนเราด้วยซ้ำ หรือมุกที่เราเคยใส่เข้าไป เป็นพันเป็นหมื่นมุก เช่น เอาไมค์ไปจ่อหัวใจของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สมัยนั้นเป็นมุกที่ใหม่มาก เพราะคนไม่เคยเห็น แต่ตอนนี้เขาเห็นมากกว่าแล้ว แค่เปิดกูเกิลมีหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ในเชิงวาไรตี้ทอล์กโชว์จึงลำบาก แต่ในเชิงสัมภาษณ์เราคิดว่า ยังคงอยู่ได้”

สิ่งสำคัญคือ การปรับตัว ต่อให้ไม่ทันกับกระแสโลกที่หมุนเร็วเหลือเกิน แต่อย่างน้อยต้องไม่ละเลย และพยายามเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 วิทวัจน์ปรับรูปแบบรายการเป็นสัมภาษณ์ออนไลน์บ้าง หรือก่อนหน้านั้น ได้ทำแคมเปญที่น่าสนใจนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น บุคคลในตำนาน และ Talk ในตำนาน

โดยทั้ง 2 รายการนี้ ทีมงานได้คัดเลือกสัมภาษณ์คนดัง หรือเรื่องเล่าสะท้อนสังคมที่เคยเป็นกระแส ทั้งจาก 4 ทุ่มสแควร์ และ ตีสิบ มานำเสนออีกครั้ง เป็นช่วงสั้นๆ ท้ายรายการ ตีสิบเดย์ และนำเสนอฉบับเต็มใน YouTube โดยหลายคลิปมียอดผู้ชมนับล้าน อาทิ ชีวิตที่ด้านชา…โสเภณีขายตัว ผ่านชายมานับหมื่น, นาทีชีวิต! 8 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนหมดลมหายใจ, ชีวิตซินเดอเรลล่า จบ ป.4 กลายเป็น คุณหญิง, ฝรั่งเมียทิ้ง ต้องทนเลี้ยงลูกชู้ หรือแม้แต่ ตำนานเสือใบ

ตลอด 30 กว่าปี วิทวัจน์ไม่เคยหยุดคิด หยุดใช้สมอง เพื่อสร้างและพัฒนาผลงานใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความสนใจของผู้ชม นี่เองคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชื่อและเรื่องราวของเขาไม่เคยจางหายไปในใจของผู้คน และยังคงเป็นต้นแบบให้พิธีกรรุ่นใหม่ได้เดินตามตลอดไป

เส้นทางกว่า 30 ปีของ ‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’ พิธีกรผู้บุกเบิกวาไรตี้ทอล์กโชว์เมืองไทย ชื่อสั้น : โลกทีวีของวีที

ขอบคุณภาพประกอบจาก บริษัท ทเว็นตี้ ทเว็นตี้ เอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว