ภายนอกของ ‘Mattaya Vision Center’ ดูเป็นคลินิกมากกว่าจะเป็นร้านตัดแว่น
คอนเซ็ปต์ของร้านนี้คือการตัดแว่นด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟและเลนส์สายตาเฉพาะบุคคล ทำให้กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่คือคนอายุมากกว่า 40 ปี
ร้านแว่นนี้เริ่มต้นจากจักษุแพทย์ที่เห็นความสำคัญของการวัดสายตา และเชื่อว่าการมองเห็นที่ดีช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้น หัวใจหลักจึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นบริการ เพราะร้านแว่นไม่ใช่งานขายที่จบเฉพาะหน้าร้าน
ด้วยประสบการณ์ในการตรวจรักษาคนไข้โรคตามากว่า 10 ปีของ แพทย์หญิงมัทยา ขวัญอโนชา หรือ หมอหลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุแพทย์ เธอพบว่าคนไข้ที่มาหาหมอตาส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องสายตาเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากโรคตาทั่วไป เธอจึงอยากแก้ปัญหาสายตาให้กับผู้คนได้มากกว่าแค่หมอคนเดียวจะทำได้ การสร้างร้านแว่นตาที่มีคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่เธอเล็งเห็นว่าสามารถช่วยผู้คนได้มากยิ่งขึ้น

ส่วน แจน-เกียรติศักดิ์ วารวิจิตร วิศวกรที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของธุรกิจ และเข้าเรียนคอร์สเกี่ยวกับการทำแว่นและวัดสายตาโดยตรง ด้วยพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมทำให้เขาเข้าใจกลไกของแว่นตาและเลนส์เป็นอย่างดี และกลายเป็นหัวกะทิของชั้นเพราะความชอบในวิชาที่เรียน
“Pain Point ที่เจอบ่อย ๆ คือคนไข้ตัดแว่นมาแล้วใส่ไม่ดี ใช้ชีวิตลำบาก เพราะแว่นที่ได้ค่าสายตาไม่ตรงบ้าง ไม่ตอบโจทย์บ้าง” หมอหลินเล่า “เราอยากทำร้านแว่นดี ๆ ที่รู้ใจ เข้าใจปัญหาของสายตาเขาจริง ๆ จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด”

01
ร้านแว่นของทั้งคู่ที่แรกอยู่ย่านลาดพร้าว เพราะเป็นร้านตัดแว่นของจักษุแพทย์ มีความน่าเชื่อถือ จึงได้รับคำชักชวนให้ไปเปิดร้านที่โรงพยาบาลพญาไท 1
ร้านแรกย่านลาดพร้าวคือร้านแว่นทั่วไป ไม่มีคอนเซ็ปต์อะไรพิเศษ แต่ Mattaya Vision Center สาขาถัดมาที่โรงพยาบาลพญาไท 1 และสาขา The Crystal Ekamai-Ramintra มีเป้าหมายที่เปลี่ยนไป
“พอได้ทำร้านแรก เราได้รู้ว่าเลนส์มีหลายเจ้า มีหลายแบบ ทำให้ได้รู้จักเลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งเป็นเลนส์ที่ตัดยากที่สุดในบรรดาเลนส์ทั้งหมด” หมอหลินเล่าถึงที่มาของที่แห่งนี้


เลนส์โปรเกรสซีฟคือเลนส์สำหรับการมองชัดทุกระยะ พัฒนามาจากเลนส์ 2 ชั้น ส่วนความยากในการตัดแว่นของเลนส์ชนิดนี้ คือการตัดให้ตรงความต้องการของลูกค้า และใช้งานจริงได้เลย
“ถ้าสายตายาว แปลว่าเขามองไกลกับใกล้ได้ชัดไม่เท่ากัน สมมติไกลชัด ใกล้ไม่ชัด หรือใกล้ชัด ไกลไม่ชัด เลนส์นี้จะทำให้มองชัดทุกระยะ”
ลองนึกภาพตามว่า เรามักเห็นคนรุ่นพ่อแม่พกแว่นสายตายาวไว้สำหรับการอ่านหนังสือใกล้ ๆ
แต่การตัดเลนส์ประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ศาสตร์ ความแม่นยำในการวัดสายตา และไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับการใส่แว่นเลนส์โปรเกรสซีฟ เพราะเลนส์ชนิดนี้ก็มีหลายรุ่น หลายยี่ห้อ จึงต้องใช้ศิลป์ในการพิถีพิถันช่วยลูกค้าเลือกสรร
เหมาะหรือไม่เหมาะ ถ้าเหมาะ เหมาะกับแบบไหน หมอหลินดูจากไลฟ์สไตล์ผู้สวมใส่เป็นหลัก กระบวนการสัมภาษณ์เพื่อทำความเข้าใจลูกค้าจึงสำคัญที่สุด อาจจะยิ่งกว่าขั้นตอนการวัดสายตาด้วยซ้ำ เพราะการวัดสายตาที่ดีเป็นแค่พื้นฐานของร้านแว่นเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือความเข้าใจปัญหาของลูกค้า

“เริ่มจากซักประวัติ ให้เขาเล่าให้ฟังเลยว่าในวันหนึ่งเขาทำอะไรบ้าง ถามคำถามที่จะช่วยให้เราวินิจฉัยได้เลยว่าคนคนนี้เหมาะกับเลนส์แบบไหน
“เช่น คุณเข้ามาที่ร้าน คำถามแรกที่เราจะถามคืออายุเท่าไหร่ เพราะอายุก็เป็นตัววัดหนึ่งที่จะบอกได้ว่าคุณเริ่มสายตายาวหรือยัง ต่อมาจะถามว่า ที่เข้ามาวันนี้ต้องการให้เราช่วยอะไร เพราะปัญหาบางคนอาจจะไม่ได้จบที่เลนส์โปรเกรสซีฟ อาจจะเหมาะกับเลนส์ชนิดอื่นมากกว่า”
การพูดคุยและขั้นตอนการตรวจวัดสายตาใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อให้ได้แว่นที่ตอบโจทย์การใช้งานที่สุด
02
ไม่ว่าจะเดินไปห้างสรรพสินค้าไหน ก็ต้องพบร้านแว่น ถ้าห้างเล็กหน่อย อย่างน้อยก็ 1 ร้าน ห้างใหญ่ ๆ บางทีมีมากกว่า 5 แบรนด์
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้ Mattaya Vision Center เป็นที่รักของลูกค้าและประสบความสำเร็จในธุรกิจที่มีคู่แข่งมากมายเพียงนี้
คำตอบอยู่ในสิ่งที่พวกเขาคิดและลงมือทำ
มัทยาคลินิกนี้ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่เพียงแค่ประกอบแว่นตาที่ทำให้คนมองเห็นได้ชัดเจน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่รวมไปถึงคุณค่าของเวลาและเงิน ซึ่งประหยัดได้จากกระบวนการตัดแว่นที่แม่นยำและถูกต้องเหมาะสม


แจนเสริมว่า “สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือเวลาและสุขภาพ ถ้าลูกค้ามาตัดแว่น ได้แว่นที่ถูกใจ เหมาะกับการใช้งาน ทำทีเดียวแล้วจบ เขาก็ไม่ต้องเสียเวลามาแก้ไขหลายรอบ ไม่เสียเวลาเขา แล้วก็ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ไปใช้ชีวิตได้เลย ไม่ต้องมาพะวงเรื่องนี้อีก”
เริ่มจากพนักงานดูแลลูกค้าที่เป็นนักทัศนมาตรทั้งหมด 100% ไม่มีพนักงานขาย แก้ปัญหาที่เกิดระหว่างทางของการที่คนวัดสายตากับคนขายแว่นและเลนส์เป็นคนละคนกัน
“ถ้าเปรียบเทียบกับขั้นตอนในร้านแว่นปกติ เข้าไปเจอพนักงานขายก่อน เลือกกรอบเสร็จก็ไปวัดสายตากับหมอ วัดเสร็จได้ค่าสายตาแล้วก็ออกมาเจอพนักงานขายอีกทีเพื่อเลือกซื้อเลนส์” แจนเล่าก่อนหมอหลินจะเสริมต่อ
“มันเหมือนขาดการสื่อสาร คนวัดไม่ได้เลือกเลนส์ คนเลือกเลนส์ไม่ได้วัด เขาอาจไม่รู้ว่าลูกค้าคนนี้ต้องการอะไร เพราะไม่ได้คุยกันตั้งแต่ต้น ปัญหาที่ทำให้ลูกค้าตัดแว่นแล้วใส่ไม่ได้ คือการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน เลยทำให้ได้แว่นไม่ตรงความต้องการของตัวเอง”

ที่นี่จึงเป็นนักทัศนมาตรให้บริการตลอดทุกขั้นตอน แม่นยำเรื่องรายละเอียดในการวัดสายตา และรู้ว่าแต่ละไลฟ์สไตล์เหมาะกับเลนส์แบบไหน
ร้านทั่วไปอาจมีนักทัศนมาตรประจำอยู่ 1 – 2 คน แต่ที่มัทยาคลินิกมี 8 คน สลับให้บริการใน 2 สาขา
ทันทีที่ลูกค้าเปิดประตูเข้ามา แทนที่จะให้เลือกกรอบ จะต้องมานั่งคุยกันก่อน คุยกันจนกว่าจะเข้าใจความต้องการ ปัญหา และการใช้ชีวิตของเขา
หลักการบริการมีแค่ 1 ข้อ คือให้คิดว่าลูกค้าคือพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนของเรา เราจะดูแลเขาด้วยความหวังดีและใส่ใจเอง
หารือจนได้คำตอบแล้วก็ถึงกระบวนการวัดสายตา วัดเสร็จก็ลองใส่แว่นกับเลนส์ชนิดและยี่ห้อเดียวกับที่ต้องการได้เลย
“เราลงทุนกับตัวอย่างเลนส์มาก ๆ ยี่ห้อหนึ่งโดยเฉลี่ยมีประมาณ 5 – 6 รุ่น เลนส์มีทั้งหมดประมาณ 5 – 6 ยี่ห้อ เฉพาะเลนส์โปรเกรสซีฟนะ ยังไม่รวมเลนส์เฉพาะทางอีก เลนส์เฉพาะทางก็จะมีอีกประมาณ 3 – 4 รุ่น รุ่นหนึ่งก็มีหลายค่าสายตา นี่คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เราเลือกทำ เพราะมันจะทำให้ลูกค้าได้ลองเลยว่าสิ่งที่เขาจะได้คืออะไร ถ้าลองรุ่นนี้ไม่สบายตา ก็ลองเปลี่ยนรุ่นใหม่ให้ถูกใจที่สุดก่อนตัดแว่นจริง”

การทดลองว่าเลนส์ที่นักทัศนมาตรเลือกให้เหมาะกับการใช้งานตัวเองหรือเปล่า ก็ไม่ใช่เพียงแค่ใส่เดิน ถ้าพื้นไม่ลอยเป็นอันว่าใช้ได้ แต่มัทยาคลินิกมองไกลว่านั้น
ใน Experience Zone จะมีอุปกรณ์หรือสิ่งของที่จำลองจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น โต๊ะทำงาน จอคอมพิวเตอร์ ชั้นวางหนังสือที่เทียบเท่าชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ซิงก์ล้างจานในบ้าน ฯลฯ
ทดสอบในร้านเรียบร้อยก็พาไปเดินขึ้นลงบันไดนอกร้าน ลูกค้าบางคนขับรถเป็นประจำ นักทัศนมาตรที่ดูแลก็พาไปลองขับรถเลยจริง ๆ
ขั้นตอนเลือกกรอบที่เราคุ้นชินว่าเป็นขั้นตอนแรกเพิ่งมาถึงตอนนี้ หลังได้เลนส์ที่ถูกต้องก็ไปเลือกกรอบที่ถูกใจ ซึ่งกรอบก็มีหลายยี่ห้อ ยี่ห้อใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่ไม่ค่อยเห็นกัน เลือกสรรมาเพราะเหมาะกับเลนส์ประเภทนี้ และไม่ว่าจะหยิบจับอันไหน หมอหลินก็เล่าที่มาและความตั้งใจของแบรนด์นั้นได้จนอยากเป็นเจ้าของขึ้นมาทันที หลังจากได้กรอบแล้วก็ไปฟิตติ้งความโค้ง ความพอดีของเลนส์กับดวงตา โดยวัดด้วยมือกับเครื่องวัดดิจิทัลสามมิติ แล้วนำทั้งสองค่ามาคิดร่วมกันอีกที
03
รอ 1 – 2 สัปดาห์ ลูกค้าก็จะได้รับแว่นที่ตัดด้วยความเอาใจใส่ แต่นั่นไม่ใช่จุดสุดท้ายของการขาย เหมือนที่แจนและหมอหลินบอกไว้ตอนต้น การตัดแว่นไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่เป็นการบริการระยะยาว
“การตัดแว่นโดยเฉพาะเลนส์โปรเกรสซีฟ บริการหลังการขายเผลอ ๆ สำคัญกว่าก่อน ต่อให้เราพยายามเข้าใจลูกค้ามากแค่ไหน ก็ไม่ได้แปลว่าเขาได้แว่นไปแล้วจะใช้งานได้ดีทันที เราจะขอให้เขามารับแว่นเองเพื่ออธิบายและให้ลูกค้าฝึกการใช้งานอีกรอบหนึ่ง
“แต่ฝึกแล้วก็อาจจะใส่ไม่ได้ทุกคนนะครับ” แจนว่าอย่างนั้น “ใส่แล้วอาจมีปัญหา แต่เราไม่ทิ้งเขา เราจะดูแลให้รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ยกตัวอย่างเคสคุณแม่ของหมอหลิน เราเป็นคนตัดแว่นให้เองเลย ลองใส่ครั้งแรก เขาอยากจะถอดทิ้ง เขาบอกว่าแว่นสายตายาวสำเร็จรูปที่ขายกันยังใส่ดีกว่านี้ เราเลยบอกว่าอดทนก่อนนะ ลองทำอย่างนั้น จนตอนนี้ไม่ถอดแว่นเลย เพราะใช้แล้วชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องถอดเข้า ๆ ออก ๆ เหมือนแว่นสำเร็จรูปที่ใช้จนชิน ในตอนแรกถ้าตัดไปแล้วมีปัญหา เราจะถามว่าคุณลูกค้ามีเวลาไหม เข้ามาคุยกันว่าปัญหาเกิดจากอะไร


“ร้านแว่นมักบอกให้ลูกค้าไปปรับตัวเองถ้ามีปัญหา เดี๋ยวก็ชิน แต่เราไม่ใช่ เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้า Complain เป็นเรื่องใหญ่ของเรา” หมอหลินย้ำอีกครั้ง
การมีลูกค้าขอเคลมสินค้าเป็นเรื่องใหญ่เช่นกัน ไม่ใช่ในแง่ของต้นทุน แต่คือความพอใจและคุณภาพชีวิตของลูกค้า หมอและนักทัศนมาตรต้องประชุมหารือกันถึงปัญหาและวิธีแก้ไข เพื่อให้การแก้ปัญหาเด็ดขาด ไม่เกิดซ้ำซ้อนขึ้นอีก
“การเคลมไม่ควรเกิดขึ้นเกิน 1 ครั้ง ลูกค้าบางคนที่เคยตัดจากร้านอื่นเข้ามา เคลมไปแล้ว 5 รอบ เราตกใจเลย ลูกค้าอดทนมาก ถามว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับการเคลมแต่ละครั้งขนาดนั้น เคลม 10 รอบเราก็ทำให้ได้ ขอแค่ลูกค้าใส่ได้ดี
“แต่ถ้ามีปัญหาก็เคลม ไม่ได้หาต้นตอและวิธีแก้ไขให้ตรงจุด ก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน เป็นการเสียเวลาลูกค้า
“หลักการที่เราใช้คือ Win-win Situation คือ Win ทั้งเราและลูกค้า เราต้องรู้ปัญหาที่ชัดเจนก่อนถึงเคลม เพราะหนึ่ง ลูกค้าจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาแก้หลายรอบ ไม่เสียความรู้สึก สอง คือ ลูกค้าเห็นถึงความ Professional ในการแก้ปัญหา และเห็นถึงความจริงใจของเราว่าไม่ทอดทิ้งเขา ถ้าจะเคลม ขอครั้งเดียวก็พอ อย่าหลายรอบเลย มันเสียเวลาลูกค้า” หมอหลินหัวเราะ

04
การทำธุรกิจของคนเป็นหมอ ต่างจากนักธุรกิจคนอื่น ๆ ไหม – เราถามก่อนจากกันในวันนั้น
หมอหลินคิดครู่ใหญ่ก่อนตอบ “คนเป็นหมอชอบคิดให้ยาก” เธอหัวเราะ “เราจะเปิดร้านแว่นทั่วไปก็ได้ แต่ด้วยจริตที่มี เราทำไม่ได้ เราปล่อยผ่านไม่ไหว มันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ร้านเราเลือกทำเลนส์โปรเกรสซีฟด้วยนะ มันยาก มันท้าทาย มันต้องเรียนรู้ให้ลึกขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราแบกความคาดหวังของลูกค้าไว้เยอะมาก แต่เวลาที่ทำสำเร็จ ลูกค้าแฮปปี้ ได้ใช้ชีวิตดีขึ้น มันมีความสุขมาก ๆ”
การวัดความสำเร็จของธุรกิจ นอกจากเรื่องยอดขายและผลกำไร ก็เป็นความพึงพอใจของลูกค้า ความไว้เนื้อเชื่อใจ การบอกต่อ บางคนพาญาติ พาพ่อแม่ พาเพื่อนมาตัด และการกลับมาของลูกค้า
“เพราะเขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามอบให้ เขาจึงกลับมา”


Lessons Learned
- รู้ลึกในสิ่งที่ทำ เพื่อที่จะได้ทำสิ่งนั้นอย่างสุดความสามารถ ทำให้ดีสมกับที่ลูกค้าไว้ใจให้เราทำ
- หาเป้าหมายที่ใหญ่กว่าสิ่งที่ธุรกิจทำ เช่น หมอหลินและแจนอยากให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น เพื่อที่ทุกก้าวในดำเนินการจะได้มุ่งไปหาสิ่งนั้น และทำออกมาได้จริง ๆ
- คิดแทนลูกค้าในตลอดเส้นทาง หา Pain Point ที่ธุรกิจจะแก้ปมให้เขาได้ เพื่อทำให้สินค้าและบริการตอบโจทย์ได้จริง ๆ
Mattaya Vision Center
Website : www.mattayaclinic.com
Facebook : Mattaya Clinic by Be My Glasses มัทยาคลินิก – คลินิกแว่นตาโปรเกรสซีฟ