“ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่อพระคริสต์เจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดดลบันดาลให้เราได้รับความช่วยเหลือในการหว่านเมล็ดพันธุ์ลงในผืนดิน ซี่งอาจก่อให้เกิดความงอกงามไพศาล เมื่อถึงเวลาที่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้ผลผลิต ดังนั้นภาระหน้าที่ของเราก็คือต้องหว่านให้ดีที่สุด เต็มความสามารถ”

นี่คือใจความสำคัญจากจดหมายที่ สังฆราชเรอเน แปร์โรส (Bishop René Perros) ประมุขผู้ดูแลสังฆมณฑลสยาม ได้เขียนถึง สังฆราชโจเซฟ เฟรริ (Bishop Joseph Fréri) ผู้อำนวยการสำนักแพร่ธรรม ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2466 ด้วยสังฆราชแปร์โรสเชื่อมั่นว่า พระศาสนจักรในสยามจะเติบโตได้อย่างกล้าแข็ง ถ้าหากมีซิสเตอร์จำนวนหนึ่งเดินทางเข้ามาให้การศึกษาถึงที่นี่ และจดหมายฉบับนี้คือสายสัมพันธ์แรกที่เชื่อมคณะอุร์สุลินกับสยามไว้ด้วยกัน

คณะอุร์สุลิน (Ursuline) ดำรงอยู่ภายใต้พระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1532 โดย นักบุญอัญเจลา เมริชี (Angela Merici) มีพันธกิจสำคัญคือการมอบการศึกษาแก่เยาวชนหญิง เพื่อให้มีทั้งความรู้และคุณธรรม คณะอุร์สุลินดำเนินการโดยกลุ่มผู้ถือบวชและฆราวาสที่สละแล้วซึ่งชีวิตทางโลก พร้อมอุทิศตนในทางธรรม

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2467 ซิสเตอร์คณะอุร์สุลินจำนวน 4 ท่าน คือ ซิสเตอร์มารี ราฟาแอล วูร์นิค (Marie Raphael Vurnik), ซิสเตอร์มาเรีย ซาเวียร์ เปียร์ซ (Maria Xaveria Pirc) ชาวยูโกสลาเวีย, ซิสเตอร์มารี อักเนส ดูการิสตี เดอแลตร์ (Marie-Agnes de Eucharistie Delattre) ชาวฝรั่งเศส และ ซิสเตอร์มารี เดอลองฟอง เจซู แมร์แตนส์ (Merie de l’Enfant Jesus Mertens) ชาวเบลเยียม ได้ออกเดินทางด้วยเรือเดินสมุทร S.S. Angers จากเมืองมาร์เซย (Marseille) ประเทศฝรั่งเศส พร้อมด้วยหีบสัมภาระจำนวน 49 ใบสู่สิงคโปร์ ก่อนเปลี่ยนเป็นเรือบรรทุกสินค้าขนาดเล็กนามว่ากระทง เดินทางต่อมายังสยาม ท่ามกลางท้องทะเลที่ปั่นป่วนด้วยพายุคลั่ง

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

“เรือลอยตัวขึ้นแล้วก็โล้ฮวบลงมา ขึ้น ๆ ลง ๆ เหนือแนวคลื่นลูกมหึมาที่โหมใส่ น่ากลัวจริง ๆ เรือจมวูบลงไปอยู่ในห้วงน้ำมืดตื้อ กระทั่งคลื่นอีกลูกซัดพาเรือลอยขึ้นมาอีก” ซิสเตอร์ซาเวียร์บันทึก

ตลอด 2 วันแรก ซิสเตอร์ทั้ง 4 ทำได้เพียงคลานหลบหีบสัมภาระที่ไถลไปมาตามแรงคลื่น ล่วงเข้าวันที่ 3 พายุจึงซาลง ค่ำวันที่ 4 คณะซิสเตอร์จึงได้มีโอกาสเห็นแผ่นดินสยามเป็นครั้งแรก อันเป็นช่วงเดียวกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซิสเตอร์ซาเวียร์ได้บันทึกความรู้สึกของท่านไว้ว่า “พวกเราทั้งสี่ได้มาทำหน้าที่ของเรา ความฝันของเราเป็นจริงขึ้นมาแล้ว” ในวินาทีนั้นทุกท่านพร้อมจะอุทิศตนให้กับดินแดนที่เพิ่งรู้จัก

นั่นคือจุดเริ่มต้นของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยที่มีเรือนวัดน้อย เหล่ามาแมร์และซิสเตอร์ รวมทั้งลูกศิษย์อีกนับร้อยนับพัน ร่วมกันสร้างตำนานความรักและผูกพันอันเป็นนิรันดร์

มาแตร์-มาแมร์

เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ใหม่ ๆ โรงเรียนมาแตร์เดอีฯ ยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นทันที คณะซิสเตอร์ได้รับมอบหมายให้ไปสอนและดูแลเด็กกำพร้า ทำอาหาร ซักรีดเสื้อผ้าให้พระสงฆ์ที่วัดกาลหว่าร์หรือวัดพระแม่ลูกประคำ (Holy Rosary Church) ย่านตลาดน้อย ล่วงเข้า พ.ศ. 2468 มาแมร์มารี เบอร์นาร์ด มังแซล (Marie Bernard Mancel) ได้รับมอบหมายจากคณะอุร์สุลินแห่งสหภาพโรมันให้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อดำรงตำแหน่งอธิการิณี ท่านเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีโรงเรียนและอารามเป็นของคณะอุร์สุลินเอง จึงเร่งเสาะหาจนพบที่ดินขนาด 18 ไร่ ริมถนนเพลินจิต อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง มีสถานีรถรางอยู่ห่างไปเพียง 400 เมตร และยังมีเรือนไม้หลังงามที่นำมาปรับปรุงให้เป็นทั้งอารามและโรงเรียนได้

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

“ที่ดินนี้เดิมเป็นของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ซึ่งทรงซื้อต่อจากอำแดงเปียเมื่อ พ.ศ. 2455 ต่อมาช่วง พ.ศ. 2458 – 2471 ได้มีการซื้อขายที่ดินและมีผู้เข้าครอบครองอีกหลายราย ได้แก่ หลวงภัณฑลักษณวิจารณ์ บริษัทแอล เอส บักกวานซิงแอนด์โก จำกัด (L.S.Bhagwansingh & Co) จนมาถึงบริษัทแองโกลสยาม คอร์ปอเรชัน จำกัด (Anglo-Siam Corporation) ซึ่งเป็นผู้ขายที่ดินพร้อมเรือนไม้ให้กับคณะอุรุ์สุลิน” ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน หรือคุณโก้ สถาปนิกอนุรักษ์ผู้รับผิดชอบโครงการบูรณะเรือนวัดน้อยเล่าให้ฟัง เธอเองก็เป็นศิษย์เก่ามาแตร์เดอี รุ่น 63

“ที่ดินและเรือนไม้หลังนี้กลายมาเป็นโรงเรียนมาแตร์ฯ หลังจากที่สังฆราชแปร์โรสได้รับอนุมัติเงินกู้จาก Paris Foreign Mission เมื่อ พ.ศ. 2470 หลังจากที่ซื้อที่ดินและปรับปรุงเรือนไม้เรียบร้อยแล้ว วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 สังฆราชแปร์โรสได้เดินทางมาประกอบพิธีเสกตัวอาคารและที่ดิน อีก 4 วันต่อมาโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยก็เปิดดำเนินการเป็นวันแรก พร้อมนักเรียนรุ่นบุกเบิกทั้งสิ้น 45 คน เราจึงถือว่าวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นวันสถาปนาโรงเรียน” อาจารย์สุมิตรา พงศธร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนและศิษย์เก่ารุ่น 38 เล่าถึงวันสำคัญ

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

“Mater Dei หมายความว่า พระมารดาแห่งพระเจ้า เราเป็นโรงเรียนที่มีพระแม่เป็นองค์อุปถัมภ์ เริ่มสอนโดยเหล่านักบวชจากยุโรป นักเรียนมาแตร์รุ่นก่อน ๆ จะเรียกท่านว่ามาแมร์ และสิ่งที่มาแมร์ย้ำนักย้ำหนาก็คือ Serviam อันเป็นคติพจน์ของคณะอุร์สุลิน หมายถึง I Shall Serve – เราพร้อมจะเป็นผู้ให้” อาจารย์สุมิตราขยายความ

ผมเคยได้ยินคำว่า ‘มาแมร์’ คู่กับโรงเรียนมาแตร์ฯ มาโดยตลอด ผมเลยอยากชวนศิษย์เก่ามาร่วมกันให้คำจำกัดความคำว่ามาแมร์กันสักหน่อย

“ถ้าให้อธิบายอย่างเป็นทางการ เมื่อก่อนนักบวชอุร์สุลินจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือมาแมร์กับมาเซอร์ Ma Mère เป็นคำภาษาฝรั่งเศส แปลว่าคุณแม่ของฉัน ส่วน Ma Sœur ก็เป็นคำภาษาฝรั่งเศส แปลว่าพี่สาวของฉัน มาแมร์คือนักบวชหญิงที่เตรียมตัวมาเป็นครูสอนหนังสือ ส่วนมาเซอร์คือนักบวชที่ไม่ได้เตรียมตัวมาเป็นครู แต่มาเป็นผู้ดูแล เช่น มาเป็นพยาบาล แม่บ้าน หรือช่วยเหลืองานอื่น ๆ ต่อมาศาสนจักรได้มีการประชุมสังคายนากันที่กรุงวาติกัน ครั้งที่ 2 และได้มีการปรับมุมมองใหม่ว่านักบวชก็คือมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องยกตนให้สูงเหนือผู้อื่น และไม่ต้องจัดแบ่งกลุ่มตามงานที่ทำ จึงกำหนดให้เรียกนักบวชหญิงว่ามาเซอร์หรือซิสเตอร์เหมือนกัน ดังนั้น เด็กรุ่นใหม่จะเรียกนักบวชกันว่าซิสเตอร์แล้วค่ะ” อาจารย์สุมิตราเล่า

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี
กลุ่มมาแมร์รุ่นแรกเมื่อจัดตั้งโรงเรียนมาแตร์ฯ

แล้วคำจำกัดความอย่างไม่เป็นทางการล่ะครับ

“มาแมร์คือแม่คนที่สอง มาแมร์ไม่ได้เพียงแค่สอนหนังสือ แต่ช่วยสร้างจิตสำนึกที่ดี สมัยเด็ก ๆ ก่อนเข้าเรียนจะมีเสียงกระดิ่งเตือน มาแมร์สอนว่าเมื่อได้ยินกระดิ่งครั้งที่หนึ่ง ให้เก็บเศษขยะที่อาจหล่นอยู่รอบตัว พอกระดิ่งดังแก๊งแรก เด็กมาแตร์จะกระวีกระวาดวิ่งเก็บขยะเอาไปทิ้งกันสนุกสนาน พอกระดิ่งสองค่อยมาเข้าแถวอย่างพร้อมเพรียง วิธีการง่าย ๆ เช่นนี้คือการสอนให้มีจิตสำนึกต่อส่วนร่วม ทุกวันนี้เวลาตัวเองไปไหนก็จะเก็บขยะรอบตัว ถ้าไม่มีที่ทิ้งก็จะนำใส่กระเป๋ากลับบ้าน โดนลูกดุประจำว่าไปไหนก็หอบขยะกลับมา (หัวเราะ)” นั่นคือคำจำกัดความคำว่ามาแมร์ของ รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศิษย์เก่ารุ่น 34 ผู้เป็น ‘พี่กึ๋ง’ ในวงสนทนาวันนี้ และเป็นคุณแม่ของคุณโก้ด้วยอีกตำแหน่ง

“มาแมร์สอนให้รู้จักเสียสละ มาแมร์มีโครงการหนึ่ง เรียกว่ากระป๋องช่วยคนจน เป็นกระป๋องสะสมเงินที่มาแมร์จะส่งเวียนในห้องเรียนระหว่างวิชาคำสอน นักเรียนเลือกเองว่าจะปันค่าขนมของตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือเปล่า เราจะรวบรวมเงินนั้นไปทำโครงการช่วยผู้ด้อยโอกาส สิ่งเหล่านี้ติดตัวมาจนโต เราจะหยุดคิดเวลาใช้จ่ายว่า เราลดความฟุ่มเฟือยของตัวเองเพื่อไปช่วยใครได้บ้างไหม” ดร.ศุภลักข์ โกมารกุล ณ นคร ศิษย์เก่ารุ่น 36 ผู้เป็นทั้ง ‘พี่ซู’ และ ‘น้องซู’ ของวงสนทนา

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี
อาจารย์สุมิตรา พงศธร, ดร.ศุภลักข์ โกมารกุล ณ นคร และ รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน (เรียงลำดับจากบันไดขั้นบนลงล่าง)

จำได้ว่าช่วงการสอบ มาแมร์บอกว่าท่านไว้ใจทุกคน อย่าลอกข้อสอบกัน พอพูดจบ มาแมร์ก็เดินออกจากห้องไป แล้วก็ไม่มีใครลอกข้อสอบกันเลย มาแมร์สอนให้เราเป็นคนมีเกียรติและรักษาเกียรตินี้ไว้ด้วยความภูมิใจ สิ่งนี้ติดตัวมาจนทุกวันนี้ เราจะต้องทำดีและซื่อสัตย์ ไม่ว่าจะมีใครเห็นหรือไม่ก็ตาม” คุณน้ำ-ปาริชาติ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ศิษย์เก่ารุ่น 58 ร่วมแบ่งปันประสบการณ์

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี
ซ้าย คุณปาริชาติ ทองใหญ่ ณ อยุธยา (น้ำ) และขวา ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน (โก้)

“มาแมร์ก็ดุบ้าง ใจดีบ้าง แล้วเราจะมีฉายานามให้มาแมร์ทุกท่าน (หัวเราะ) บางท่านก็มาจากลักษณะนิสัย บางท่านก็มาจากชื่อ ซูนึกออกบ้างไหม” รศ.ยุพยง หันไปถาม ดร.ศุภลักข์

“มาแมร์เย็นเจี๊ยบไงคะพี่กึ๋ง (หัวเราะ) ชื่อมาแมร์เจเนเวียฟเรียกลำบาก เราก็เลยตั้งสมญานามเย็นเจี๊ยบให้ท่าน แล้วท่านเป็นคนเจ้าระเบียบ เวลาท่านมาก็จะรู้สึกหนาว ๆ (หัวเราะ)” คำตอบของ ดร.ศุภลักข์ เรียกเสียงฮารอบวง

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ประทับใจที่เด็กมาแตร์มีต่อมาแมร์ โดยมีเรือนวัดน้อยเป็นฉากสำคัญ

เรือนวัดน้อย

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

สันนิษฐานว่าเรือนวัดน้อยสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2463 ขณะที่หลวงภัณฑลักษณวิจารณ์เป็นผู้ครอบครองที่ดินผืนนี้ เป็นเรือนไม้สูง 2 ชั้น ลักษณะแบบบ้านพักตากอากาศ หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องว่าวขนาดเล็ก มีหลังคายื่นปีกนกล้อมรอบพร้อมระเบียงคลุมหลังคา (Verandah) ทำหน้าที่กันแดดและฝน ตัวเรือนทอดยาวตามแนวตะวันออก-ตกเพื่อรับลม ใต้ถุนสูงโล่ง มีเสาก่ออิฐฉาบปูนประดับลายปูนปั้นที่หัวเสา 

เรือนวัดน้อยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เผยแพร่เข้ามายังภูมิภาคนี้ สังเกตได้จากไม้ฉลุลายอ่อนช้อย หรือลายเรขาคณิตที่ประดับตกแต่งอยู่ทั่วเรือน รวมทั้งการใช้สีพาสเทลทาผนัง บานประตูและหน้าต่าง ซึ่งสถาปัตยกรรมลักษณะนี้พบได้กับอาคารในยุคเดียวกันที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนในกรุงเทพฯ เราพบอาคารลักษณะเดียวกันในละแวกใกล้เคียง เช่น ทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ บนถนนวิทยุ เป็นต้น

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

“ในยุคแรก มีการใช้เรือนวัดน้อยหลายวัตถุประสงค์ จึงต้องมีการปรับสภาพจากบ้านให้เป็นอาราม ที่พักของมาแมร์ รวมทั้งที่เรียนด้วย” คุณโก้เล่า “การเปลี่ยนบ้านเป็นโบสถ์ เริ่มจากการขยายอาคารทางด้านตะวันออก (ทางด้านซ้าย) โดยเพิ่มหอระฆังและหอคอยเข้าไป นายช่างคนสำคัญคือ นายบ๋า ยวงพาณิช เป็นผู้ดำเนินการในช่วง พ.ศ. 2470”

นอกจากการเพิ่มหอคอยและหอระฆังแล้ว ยังมีการแบ่งและปรับพื้นที่ให้เหมาะสม วัดน้อยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงอยู่กลางเรือนเพราะมีความสำคัญมากที่สุด แล้วสร้างบันไดหินอ่อนสีขาวโค้งเพิ่มลงไป โดยให้วนมายังรูปปั้นพระแม่มารีย์ทรงอุ้มพระกุมารเยซู ส่วนทางทิศตะวันตก (ทางด้านขวา) ด้านบนเป็นที่พักของมาแมร์ จึงขยายพื้นที่จาก 2 เป็น 3 ชั้น ส่วนด้านล่างมีห้องเพื่อเป็นที่เรียนของเด็กเล็ก ทางทิศตะวันออก (ทางซ้าย) นอกจากการเพิ่มหอทั้ง 2 หอแล้ว ก็มีการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นดั่งออฟฟิศ มีห้องอำนวยการ ห้องรับแขก มีห้องนอนนักเรียนประจำ ด้านล่างเป็นที่ทานอาหาร 

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

เรือนวัดน้อยได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเสมอมา ผู้ที่มีบทบาทสำคัญก็คือ คุณแม่บุญประจักษ์ ทรรทรานนท์ ศิษย์เก่าและครูผู้มีคุณูปการต่อโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้ซ่อมแซมและปรับปรุงเรือนวัดน้อยอย่างต่อเนื่อง จน พ.ศ. 2544 กรรมาธิการอนุรักษ์ฯ แห่งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้มีมติให้เรือนวัดน้อยได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น โดยคุณแม่บุญประจักษ์เป็นผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลนี้จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในเกียรติภูมิของท่านก่อนสิ้นชีวิตลงใน พ.ศ. 2558

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี
คุณแม่บุญประจักษ์ ทรรทรานนท์

ปีนี้เป็นปีที่เรือนวัดน้อยมีอายุครบ 102 ปี จึงถึงเวลาแล้วที่จะทำการบูรณะอย่างเต็มรูปแบบ 

“ตอนที่สำรวจก็พบว่าเรือนวัดน้อยทรุดโทรมลงไปพอสมควร ต้องใช้หลักฐานที่เป็นภาพถ่ายเก่า ประกอบกับการอ่านจากบันทึกและคำบอกเล่ามากพอสมควร” 

คุณโก้อธิบายว่าการบูรณะนั้นมี 3 ระดับ ระดับที่ 1 คือ งานซ่อมแซมและฟื้นฟู (Repair and Restoration) เพื่อปรับปรุงอาคารให้กลับสู่รูปแบบดั้งเดิม พร้อมกับแสดงร่องรอยที่บอกเล่าเรื่องราวในแต่ละยุค ระดับที่ 2 คือ งานเสริมความแข็งแรง (Re-consolidation ) เพื่อปรับปรุงวัสดุและโครงสร้างเดิมที่เสื่อมสภาพหรือทรุดตัว ให้กลับสู่สภาพที่แข็งแรงปลอดภัย และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการเลือกใช้วัสดุทดแทนหรือเสริมโครงสร้างใหม่โดยไม่ทำลายรูปแบบเดิม ระดับที่ 3 งานดัดแปลงและต่อเติม (Adaptation & Addition) เพื่อปรับสภาพอาคารให้สอดคล้องกับการใช้สอยที่เปลี่ยนไปจากเดิม

การบูรณะเพิ่งเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อไม่นานมานี้ และเรือนวัดน้อยก็กลับมาอยู่ในสภาพงดงามสมบูรณ์อีกครั้ง

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี
มุมแห่งความทรงจำของเด็กมาแตร์

“การบูรณะเรือนวัดน้อยมีความสำคัญมาก เพราะเรือนวัดน้อยเป็นภาพจำของทุกคน อย่างบันไดโค้งเป็นที่ที่นักเรียนกับมาแมร์จะได้ถ่ายรูปร่วมกัน เราจะมีภาพหมู่ตั้งแต่ตอนเล็ก ๆ นั่งหน้ากะป๋อหลอ จนตอนโตที่นั่งพับเพียบเรียบร้อย อย่างรุ่นโก้ก็มีภาพมุมเดียวกับรุ่นแม่” รศ.ยุพยง กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

“เรือนวัดน้อยมีความสวยงาม แล้วก็มี 2 อารมณ์ค่ะ ด้านบนคือความสำรวม เพราะเป็นโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็เป็นที่พักของมาแมร์ แต่ใต้ถุนนี่เป็นของพวกเราเลย เต็มที่ (หัวเราะ)” ดร.ศุภลักข์ เรียกเสียงฮาจากพวกเราอีกครั้ง

ตอนนี้ผมว่าศิษย์เก่าผู้รวมสนทนาทุกคนคงอยากพาพวกเราไปเดินชมเรือนวัดน้อยกันแล้ว ตามมาด้วยกันเลยครับ

02 02 2022

“จุดนี้คือจุดศูนย์กลางของเรือนวัดน้อย เป็นจุดสมมาตรที่แกนตะวันออก-ตก และเหนือ-ใต้ ตัดกันพอดี ด้านบนตรงตำแหน่งนี้คือพระแท่นบูชา เราเพิ่งฝังหมุดหมายงานบูรณะไปเมื่อไม่นานมานี้ ตัวเลข 0 และ 2 ทั้งหมดหมายถึงวันที่ 2 เดือน 2 ปี 2022 ซึ่งเป็นวันเดือนและปีที่บูรณะอาคารวัดน้อยเสร็จสมบูรณ์ นอกจากนี้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ยังเป็นวันที่สังฆราชแปร์โรสทำพิธีเสกผืนดินและอาคารเป็นครั้งแรกด้วย” คุณโก้อธิบาย

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

“แบบตัวอักษรที่เลือกใช้เป็นรูปแบบอาร์ตเดโค (Art Deco Style) ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1920 ที่เลือกใช้ฟอนต์นี้ก็เพราะเรือนวัดน้อยสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2463 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1920” คุณโก้พูดจบ ทุกคนหยิบมือถือขึ้นมาบันทึกภาพกันรัว ๆ ผมมั่นใจว่าจะเป็นจุดเช็กอินสำคัญของชาวมาแตร์ต่อไปอย่างแน่นอน 

ใต้ถุน

“พื้นเดิมตรงนี้ต่ำกว่าบริเวณอื่น ตอนบูรณะ เราตัดสินใจว่าจะไม่ยกอาคารขึ้น เพราะอาคารค่อนข้างยาว ถ้ายกก็เสี่ยงที่จะทำให้อาคารโย้ไปมาได้ ก็เลยตัดสินใจปรับระดับพื้นลงให้กลับไปสู่ระดับปูนเดิมชั้นล่างสุด และทำเป็นทางลาดเชื่อมลงมาแทน ซึ่งทำให้ทัศนียภาพโดยรวมดีกว่าทำเป็นขั้น สะดวกต่อการเดินเข้าสู่ตัวอาคาร และถูกต้องตามหลักการอารยสถาปัตย์ด้วย” คุณโก้เริ่มเล่า

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

“เสาที่ใต้ถุนเดิมเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูน พอเวลาผ่านไปผิวปูนกร่อนและกะเทาะ เพราะว่าความชื้นจากใต้ดินซึมเข้าไปในเนื้อเสา แล้วความชื้นก็ยังซึมขึ้นไปจนถึงตัวเรือนไม้ด้านบน ตอนนั้นคุณแม่บุญประจักษ์เลยปรึกษาช่าง และแก้ปัญหาโดยการหุ้มปูนทำเป็นเสาทรายล้าง” อาจารย์สุมิตราเล่าต่อ

“จำได้ค่ะ เสาทรายล้างที่ใต้ถุนจะมีเหลี่ยมคม ๆ จึงเป็นที่ฉีกถุงขนมของเด็กมาแตร์ (หัวเราะ) พวกเราจะนำถุงขนมที่มักเป็นพลาสติกเหนียว ๆ ไปถู ๆ จนถุงขาด ถ้าไม่มีเสาพวกนี้นี่กินขนมกันลำบากเลยค่ะ แต่เวลาเล่นบัลลูนแล้วไปครูดโดนเสานี่ได้แผลเลย” คุณโก้เล่าถึงวันวาน

แต่เสาทรายล้างไม่ช่วยแก้ปัญหาความชื้นให้หมดสิ้นไป จึงต้องหาทางออกในการบูรณะครั้งนี้

“วิธีซ่อมเสาก็คือลอกผิวทรายล้างออกให้เหลือแต่อิฐเปลือย เสาจะได้หายใจและระบายความชื้นสะสมออกมามากที่สุด เมื่อความชื้นระบายออกไปแล้ว จึงใส่โครงเหล็กสแตนเลสเข้าไป ดามเหล็กพร้อมกับแปะลวดกรงไก่แล้วโบกปูนทับอีกชั้น ปูนที่ใช้เป็นปูนหมักแบบโบราณ ซึ่งทำให้เสาหายใจได้ ส่วนฐานเสาเราป้องกันความชื้นด้วยการตัดเสาช่วงล่างออก แล้วหล่อฐานคอนกรีตเสริมเหล็กแทนที่เข้าไป วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาความชื้นได้เป็นอย่างดี งานซ่อมเสาถือเป็นงานหลักของการบูรณะครั้งนี้ เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้ความชื้นจากใต้ดินขึ้นไปทำลายอาคารทั้งหมด” คุณโก้เล่าถึงวิธีการบูรณะ

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

คราวนี้ผมอยากให้ศิษย์เก่าร่วมกันเล่าสักหน่อยว่า ใต้ถุนซึ่งเป็น ‘ที่ของพวกเรา’ นั้น นักเรียนมาแตร์เขาทำอะไร

“พอเรียนเสร็จก็จะวิ่งตื๋อมาจองเสา เราก็จะแบ่งกันว่าเสาต้นนี้เป็นของใคร แต่พอเล่นไปเล่นมาก็มาเล่นร่วมกันนั่นแหละ ไม่ได้แบ่งชั้นอะไรหรอก เกมที่ฮิตสุดคือลิงจับหลัก เสาเยอะจนวิ่งเป็นลิงกันเพลินเลย”

“อีกเกมคือตี่จับ เล่นกันอยู่หน้าเรือนวัดน้อย ดึงกันเสื้อหลุดกระโปรงขาดก็มี (หัวเราะ) เล่นเหนื่อยแล้วก็ไปซื้อขนมจากโรงอาหารมานั่งทานบนพื้น วิธีนั่งของนักเรียนมาแตร์คือรวบชายกระโปรงพรึ่บเข้าหากันอย่างรวดเร็ว ก่อนทรุดตัวนั่งลงเหมือนหนังจีนกำลังภายใน (หัวเราะ)” รศ.ยุพยง เล่าและเตรียมสาธิตการนั่งให้ผมชมเป็นขวัญตา 

“อยากเสริมพี่กึ๋งนิดหนึ่งว่า เกมเรียบร้อยอย่างหมากเก็บนี่เราก็เล่นนะคะ (หัวเราะ) แต่ที่อยากเล่าคือเรื่องที่ท่านแม่เคยเล่าให้ฟัง” ดร.ศุภลักข์ กล่าว

ท่านแม่ของ ดร.ศุภลักข์ คือ ท่านหญิงอรอำไพ โกมารกุล ณ นคร (พระยศเดิมคือหม่อมเจ้าอรอำไพ เกษมสันต์) ผู้ทรงเป็นทั้งศิษย์เก่ารุ่นที่ 1 เลขประจำตัว 96 และยังทรงเป็นครูที่โรงเรียนมาแตร์ฯ อีกด้วย

“ช่วงที่รัชกาลที่ 8 และ 9 เสด็จมาทรงศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์ฯ ตอนนั้นท่านแม่พระชนม์ราว 18 ปี เป็นนักเรียนชั้นโตสุดของโรงเรียน ท่านก็เลยได้รับโจทย์จากท่านป้า (หม่อมเจ้ากุสุมา เกษมสันต์) ผู้เคยเป็นพระพี่เลี้ยงสมเด็จพระบรมราชชนกว่า ให้คอยดูแลทั้งสองพระองค์ เวลาพระองค์ท่านเสด็จมาก็จะทรงนำตะกร้าใส่แซนด์วิชและกระติกนมมาด้วย ท่านแม่มีหน้าที่เปิดกระติกแล้วรินนมถวายให้พระองค์ท่านเสวยตอนช่วงพักตอน 10 โมงเช้า ก็เสวยตรงเก้าอี้หน้าวัดน้อยนี่แหละค่ะ”

เมื่อ พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ขณะดำรงพระยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ได้เสด็จมาทรงศึกษาชั้นอนุบาล และอีก 2 ปีถัดมา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ก็เสด็จมาทรงศึกษาด้วยเช่นกัน

ท่านหญิงอรอำไพยังได้ทรงเล่าเกี่ยวกับทั้งสองพระองค์และเรือนวัดน้อยไว้ในหนังสือ 60 ปี มาแตร์เดอีวิทยาลัย ซึ่งอ่านแล้วทำให้ได้ยิ้ม

“ท่านเป็นเด็กที่มีชีวิตชีวา ไม่อยู่นิ่ง ๆ เสวยแล้วก็ทรงวิ่งไล่จับกันอยู่ที่ลานเล่น วันหนึ่ง มาแมร์ มารี เดอลูรดส์ เดินเฝ้าเวรอยู่ที่ลานเล่น แล้วไปหยุดหันหลังให้กับเสาต้นหนึ่ง ทั้งสองพระองค์ทรงเล่นกระโดดเชือกอยู่กับเพื่อน ๆ ทรงช่วยกันเอาเชือกพันเสา แล้วพันมาแมร์ไว้กับเสา โดยมาแมร์มารู้ตัวเอาก็ต่อเมื่อจะเดินก็เดินไม่ออก มาแมร์หันมาดุแกมยิ้มว่า “You are naughty boys.” ท่านก็ทรงทำท่าขอโทษ ทรงพระสรวล แล้วก็วิ่งเล่นต่อกับเพื่อน ๆ”

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช รหัสประจำพระองค์ 449

นอกจากความทรงจำของพี่ ๆ รุ่นแรก ๆ ของโรงเรียนแล้ว เรามาลองฟังรุ่นน้อง ๆ กันดูบ้าง

“ตอนรุ่นน้ำ บริเวณใต้ถุนเรือนวัดน้อยอาจจะไม่ได้ครื้นเครงเท่ารุ่นก่อน ๆ เพราะมีป้ายติดไว้ว่ากรุณาอย่าส่งเสียงดัง สงสัยรุ่นพี่สร้างวีรกรรมไว้เยอะ (หัวเราะ) เรือนวัดน้อยกลายเป็นที่รับแขกของมาแมร์ ก็เลยต้องให้นักเรียนให้เงียบลงหน่อย” คุณน้ำร่วมแบ่งปันความทรงจำ

“แต่มีวันอยู่วันหนึ่งที่สนุกมาก นั่นคือวันงานโรงเรียน แล้วก็จะเป็นวันเดียวที่เสียงดังมาก (หัวเราะ) วันนั้นจะมีนิทรรศการประจำปีของโรงเรียน มีการจัดแสดงผลงานทางวิชาการและกิจกรรมอื่น ๆ อย่างเกมง่าย ๆ แบ่งออกเป็นช่องเป็นซุ้มมีปากระป๋อง ปาเป้า ฯลฯ กิจกรรมนี้จัดอยู่ที่ลานใต้ถุนเรือนวัดน้อยอยู่หลายปี ก่อนจะย้ายไปที่อื่นเพราะต้องการสถานที่ที่กว้างขวางขึ้น” อาจารย์สุมิตราเสริม

“ใต้ถุนเรือนวัดน้อยเป็นแหล่งรวมพลของเด็กมาแตร์ ทุกวันนี้ไปไหนก็จะเจอรุ่นพี่รุ่นน้องที่เคยรู้จักกันที่ใต้ถุนเรือนวัดน้อยทั้งนั้น ต่อให้เวลาผ่านไปนานแค่ไหนเรายังจำกันได้เสมอ” รศ.ยุพยง มีข้อสรุปที่ทุกคนเห็นด้วย

วัดน้อย

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี

วัดน้อยหรือ Little Chapel ตั้งอยู่ตรงกลางเรือนบนชั้นสอง ถือเป็นพื้นที่สำคัญสุด เพราะเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา มีพระรูปพระเยซูตรึงไม้กางเขนประดิษฐานอยู่ด้านหน้าแท่นบูชา ซึ่งเป็นงานศิลป์ดั้งเดิม  

“วัดน้อยเป็นสถานที่เล็ก ๆ แต่รวบรวมงานศิลป์สถาปัตย์ที่น่าสนใจไว้มากมาย อยากให้ชมฝ้าเพดานซึ่งตกแต่งด้วยเหล็กชุบดีบุกดุนลายที่เรียกว่า Tin Ceiling สันนิษฐานว่าเพิ่งมาปรับเป็นฝ้าเพดานลักษณะนี้ช่วงที่เปลี่ยนบ้านมาเป็นโบสถ์ ในวัดน้อยมีลายเพดานอยู่ 2 ลาย แต่ทั้งเรือนวัดน้อยมีทั้งสิ้น 4 ลายแตกต่างกัน เพดานลักษณะนี้หาชมได้ยากมากในประเทศไทย” คุณโก้ชวนให้พวกเราชม

เรือนวัดน้อย รีโนเวตเรือนเก่าแก่ที่เป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน รร.มาแตร์เดอี
ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
การประดับช่องเหลี่ยมด้วยกระจกสีพิมพ์ลายต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 ทั้งเรือนวัดน้อยนั้นมีอยู่ 5 สี 5 ลายแตกต่างกันตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเรือน
ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน

“อยากให้สังเกตการใช้บานประตูแบบแบ่งช่องแยกออกเป็นตอนบนและตอนล่าง ซึ่งเราเรียกว่าบานประตูแบบ Dutch Door พบได้ทั่วไปในบ้านที่ตั้งอยู่ตามดินแดนอาณานิคมของยุโรป และยังสะท้อนถึงการแบ่งชนชั้นในช่วงนั้น เช่นเมื่อคนพื้นเมืองนำของมาส่ง ก็ได้รับอนุญาตให้ยืนอยู่ภายนอกห้อง แล้วส่งของผ่านประตูที่เปิดเพียงครึ่งบนเท่านั้น โดยตัวไม่ต้องล่วงล้ำเข้ามา”  

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน

“การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านที่เป็นทองเหลืองแท้ นำเข้าจากต่างประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีทั้งกลอน ขอสับ มือจับ รวมทั้งฐานโคมไฟ เมื่อบูรณะ เรานำของเดิมมาทำความสะอาดและนำกลับไปใช้ได้ทั้งหมด มีเพียงตัวโคมไฟบางดวงเท่านั้นที่ต้องเปลี่ยนมาใช้ของทดแทนโดยเลือกดีไซน์ร่วมยุค”  

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน

“ในช่วงสงครามโลก เคยมีเหตุการณ์ที่ลูกระเบิดลงตรงหลังคาบริเวณนี้มาก่อน ความเสียหายคือถึงขั้นหลังคาถล่ม เลยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ต้องย้ายโรงเรียนไปหัวหิน การซ่อมวัดน้อยในครั้งนั้นดำเนินการอย่างประหยัดเพราะเป็นช่วงสงคราม มีการใช้ไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยเสริมกลับเข้าไปให้อาคารคงอยู่ได้ สำหรับการบูรณะในครั้งนี้ โก้เลยตัดสินใจเอาไม้เดิมออกหมด เปลี่ยนมาใช้ไม้ใหม่แทน เพื่อมั่นใจได้ว่าจะทำให้วัดน้อยมีความแข็งแรงมากที่สุด”

นอกจากความงามของวัดน้อยแล้ว ความทรงจำของนักเรียนมาแตร์ต่อสถานที่สำคัญแห่งนี้มีอะไรบ้าง

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน

“นักเรียนคาทอลิกได้รับการปลูกฝังว่าให้ขึ้นไปวัดน้อยประจำ พอมาถึงโรงเรียน วางกระเป๋าเรียบร้อยแล้วก็จะรีบขึ้นไปสวดภาวนา ตอนเที่ยงทานข้าวเสร็จก็จะชวนเพื่อน ๆ ขึ้นไปสวดมนต์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติประจำวัน ส่วนมาแมร์นั้น จะมีพิธีมิสซาเป็นประจำ และสวดทำวัตรอีกวันละหลายครั้ง ถ้าเป็นวันศุกร์ต้นเดือน ก็จะมีพิธีอวยพรศีลมหาสนิท ฯลฯ มีเพลงภาษาละติน เรานั่งอยู่ใต้ถุน ได้ยินเสียงเพลงที่ไพเราะมาก ฟังอย่างซาบซึ้ง ยังจำเสียงมาแมร์มอรีสได้เลยค่ะ” อาจารย์สุมิตรารำลึก

“ส่วนน้ำจะขึ้นไปวัดน้อยเป็นประจำ ไปนั่งสงบใจอธิษฐาน ก่อนสอบทุกครั้งก็จะขึ้นไปขอพร ช่วงสอบนี่นักเรียนจะวนเวียนขึ้นวัดน้อยกันไม่ขาดสายเลยค่ะ ไปขอพรพระแล้วท่านจะช่วยเหลือเราแทบทุกครั้ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของวัตถุนะคะ แต่เป็นเรื่องของความสงบ สบายใจ เกิดความคิดที่กระจ่างขึ้น” คุณน้ำร่วมรำลึก

บริเวณด้านหลังที่อยู่ติดกับวัดน้อยมีห้องสี่เหลี่ยมกรุกระจกขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ อาจารย์สุมิตราเล่าว่านี่คือห้องสารภาพบาป “ทางศาสนจักรจะส่งพระสงฆ์มาทำหน้าที่จิตตาภิบาล มาทำพิธีมิสซาและฟังแก้บาปให้กับครูและนักเรียนที่เป็นคาธอลิก โดยจะมีฉากกั้นระหว่างตัวท่านกับผู้สารภาพบาป ท่านจะเป็นเหมือนตัวแทนพระเจ้าที่รับฟังบาปโดยไม่แพร่งพรายต่อไปให้ผู้อื่นรู้ และท่านก็จะแนะนำว่าควรไปฝึกฝนและปฏิบัติตนอย่างไร สวดมนต์บทไหน สำรวมใจกายและต้องปฏิบัติกิจใช้โทษบาปอย่างไร เพื่อให้เราเป็นคนที่ประพฤติดีขึ้น”

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ห้องสารภาพบาปด้านหลังวัดน้อย

ปีกตะวันตก 

หลังจากชมวัดน้อยเสร็จ คุณโก้ชวนเรามาสำรวจปีกตะวันตกของตัวเรือน เป็นส่วนที่ขยายขึ้นจาก 2 เป็น 3 ชั้น ในคราวที่เปลี่ยนบ้านเป็นโบสถ์และโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. 2470

“ชั้น 2 เป็นเหมือน Community Room หรือห้องพักผ่อนของมาแมร์ ส่วนชั้น 3 เป็นห้องนอน ปีกนี้ถือเป็นเขตส่วนตัวของท่าน” คุณโก้พาชม

ห้องพักผ่อนของมาแมร์มีชื่อเล่นว่าห้องแวร์ซาย นอกจากฝ้าเพดานที่ตกแต่งด้วยเหล็กชุบดีบุกดุนลายที่งดงามแล้ว ยังกรุกระจกไปตามความยาวอาคารอย่างงดงาม สันนิษฐานว่าชื่อแวร์ซายน่าจะมาจาก Hall of Mirror ในพระราชวัง Versailles ชานกรุงปารีสนั่นเอง

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ห้องแวร์ซายหรือ Community Room ของมาแมร์

“ห้องแวร์ซาย เป็นห้องรับประทานอาหารและพักผ่อนของคณะนักบวช มีการประดับตกแต่งตามเทศกาลทางศาสนาบ้าง เช่น การประดับด้วยต้นคริสต์มาส การบูรณะและตกแต่งห้องนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ 30 ปีก่อนโดยคุณแม่บุญประจักษ์ ตอนบูรณะครั้งล่าสุด โก้ก็พยายามเก็บรักษาสภาพที่คุณแม่บุญประจักษ์เคยทำไว้ ส่วนปัญหาที่ต้องแก้หนักที่สุดคือพื้นชั้นสามที่ทรุดตัวลงมากว่า 10 เซนติเมตร เนื่องมาจากการตัดเสาออกก่อนหน้านี้ เราต้องรื้อคานไม้เดิมออก และเสริมคานและตงใหม่ โดยใช้เหล็กแทรกเข้าไปในช่องว่างเดิมแบบระมัดระวังที่สุด เพื่อเก็บรักษาฝ้าเพดานห้องนี้ไว้ตามเดิม” คุณโก้เล่า

ที่ชั้น 2 ยังมีห้องรับรองเล็ก ๆ ซึ่งเคยเป็นที่ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงจูงพระราชโอรสทั้งสองพระองค์เสด็จขึ้นบันไดวนเข้ามาสมัครเรียนที่โรงเรียนมาแตร์ฯ สมุดลงพระนาม ชุดรับแขกไม้สัก และเก้าอี้ที่เคยประทับ ทางโรงเรียนได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ห้องรับรอง มองออกไปเห็นบันไดที่ทอดขึ้นมายังพระรูปพระแม่ทรงอุ้มพระกุมาร

ก่อนขึ้นบันไดไปชั้น 3 เรามองออกไปนอกชานหน้าห้องแวร์ซาย แล้ว รศ.ยุพยง ก็นึกถึงเหตุการณ์สนุก ๆ บางอย่าง

“คือมาแมร์เป็นนักบวช ท่านแต่งกายมิดชิดแล้วคลุมผมตลอดเวลา พวกเราอยากรู้มากว่ามาแมร์มีผมหรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะเด็กไทยจะคุ้นเคยกับแม่ชีทางพุทธที่ท่านโกนศีรษะ แล้วยังอยากรู้ว่าผมท่านสีอะไร ทรงอะไร ผมยาวตรงหรือผมหยิก พวกเราจะส่องแล้วส่องอีก” เมื่อ รศ.ยุพยง เล่าจบทุกคนก็ฮาครืน

“สมัยก่อนเด็กประจำที่นอนที่โรงเรียนก็จะรับอาสาย่องขึ้นบันไดมาแอบดูมาแมร์แล้วไปรายงานเพื่อน ๆ จนมาแมร์ต้องคอยมาบอกให้ลงไป” อาจารย์สุมิตราเล่าเสริม โอย… เด็กมาแตร์นี่ซนจริง ๆ

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
บันไดที่ชานเรือนคือบันไดที่เด็ก ๆ มาแตร์ แอบย่องชึ้นมาดูทรงผมของมาแมร์เป็นประจำ

บนชั้น 3 จะเป็นห้องนอนของมาแมร์ 3 ห้อง ซึ่งบูรณะไว้คงเดิม มีอ่างล้างหน้าอยู่ทุกห้อง ในอดีตมีเตียงเหล็กตั้งอยู่ มีตู้เสื้อผ้าแยกเป็นสัดส่วน ล่าสุดมีการสร้างห้องน้ำรวมขนาดใหญ่ ในกรณีที่ต้องใช้เป็นห้องรับรองนักบวชที่มาพักค้างในอนาคต

“ต่อไปห้องนอนของมาแมร์ก็อาจจะใช้เป็นสถานที่เข้าเงียบของคณะซิสเตอร์ได้ ปกติท่านจะเข้าเงียบเดือนละ 1 – 2 วัน และเข้าเงียบใหญ่ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงก่อนอีสเตอร์และก่อนคริสต์มาส โดยใช้เวลา 7 วันในการสงบใจ ภาวนา ฟังธรรม และรับประทานอาหารแต่พอเพียง บ้างก็ละมื้อเย็นในวันศุกร์ค่ะ” อาจารย์สุมิตราเล่า 

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
3 ห้องนอนของมาแมร์บนชั้นสามและเป็นสถานที่เข้าเงียบ

มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือระฆังที่ห้อยไว้โดยมีสายตีระฆังยาวจากชั้น 3 ลงมาที่ชั้น 2

“ระฆังใบนี้ทำหน้าที่ 2 อย่างค่ะ ปกติเราจะมีระฆังชนิดหนึ่งที่เรียกว่าระฆังพรหมถือสาร ซึ่งใช้ตีเพื่อให้ทุกคนสงบใจนิ่ง เตรียมสวดมนต์บทพรหมถือสาร เมื่อสวดบทนี้เสร็จแล้วก็สวดขอพรแม่พระ ดังนั้นระฆังใบนี้ก็ทำหน้าที่เช่นนี้เป็นอย่างแรก ส่วนอย่างที่สองคือทำหน้าที่เหมือนอินเทอร์คอม บางครั้งก็มีแขกมารอพบ หรือมีโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาหามาแมร์ท่านนั้นท่านนี้ ในอดีตเราไม่มีอินเทอร์คอมสำหรับกดเรียกหรือประกาศออกลำโพงตามหา ก็ใช้วิธีตีระฆัง ในอดีตจะมีการกำหนดโค้ดด้วยนะคะ เช่น ถ้าตีแก๊งเดียว ก็จะเป็นโค้ดสำหรับท่านอธิการเสมอ ถ้าแก๊ง ๆ 2 ครั้งติดก็จะหมายถึงมาแมร์ท่านนี้ ถ้าตี 3 ครั้งเร็ว ๆ ก็จะเป็นของมาแมร์อีกท่าน คือมาแมร์ทุกท่านมีโค้ดระฆังเสียงแก๊งเป็นของตนเอง (หัวเราะ)” อาจารย์สุมิตราเล่าให้ฟัง

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ระฆังพรหมถือสารที่เคยทำหน้าที่เป็นอินเทอร์คอมในอดีต สังเกตรอกและสายชักเหนืออ่างล้างหน้าไว้สำหรับลั่นระฆัง สายนี้ยาวทะลุลงไปยังชั้นสองด้วย 

เราเดินต่อมายังห้องใต้หลังคาซึ่งอยู่เหนือวัดน้อยพอดี ในตอนบูรณะ คุณโก้เล่าว่าพบหีบโบราณหลายใบเก็บรักษาไว้ในห้องนี้ ซึ่งเป็นหีบสมัยรัชกาลที่ 6 จึงสันนิษฐานกันว่าอาจเป็นหีบที่ฝ่าพายุมาพร้อมกับคณะซิสเตอร์คราวเดินทางจากมาร์เซยมาสยามเป็นครั้งแรก ปัจจุบันทางโรงเรียนนำมาเก็บรักษาไว้เช่นกัน

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน

ปีกตะวันออก

จากฝั่งตะวันตก คราวนี้เราเดินตามระเบียงหลังเรือนไปฝั่งตะวันออกกันบ้าง ขณะที่ผ่านต้นมะม่วงต้นใหญ่ 2 ต้นที่ปลูกไว้ตรงกลางจั่ว คุณโก้ก็หยุดเดิน

“ต้นมะม่วงคู่นี้ตั้งใจอนุรักษ์ไว้คู่กับเรือนวัดน้อยเลยค่ะ เป็นมะม่วงที่คุณแม่บุญประจักษ์ท่านทะนุถนอมมาก ๆ” คุณโก้เริ่มเล่า ก่อนอาจารย์สุมิตราเสริมว่า “ทุกปีท่านจะส่งมะม่วงจากต้นนี้ไปให้คนที่ท่านสนิทสนม เป็นมะม่วงที่ใครก็ชมว่ารสดี แล้วท่านก็จะมีโน้ตสั้น ๆ ที่เขียนด้วยลายมือแนบไปด้วย ท่านเขียนเองจนอายุมาก แม้จะเป็นพาร์คินสัน ท่านก็ยังพยายามเขียนเองอยู่ด้วยความตั้งใจมอบให้กับผู้รับรายนั้น”

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ต้นมะม่วงคู่นี้เองที่เด็กมาแตร์จ้องตาเป็นมัน!

“นักเรียนมาแตร์รุ่นก่อน ๆ จะหาวิธีเก็บมะม่วงจากต้นนี้ให้ได้ จะปีน จะเอาของขว้างให้หล่นลงมา จะกระโดดเขย่ากิ่ง หรืออะไรก็ตาม ต้องหาทางจะกินให้ได้ อย่างรุ่นคุณยายโก้นี่ก็พยายามเอารองเท้าขว้างมาหลายครั้ง (หัวเราะ)” 

จากระเบียงเราเดินเข้าสู่ห้องขนาดใหญ่ทางปีกตะวันออกหลังวัดน้อย ห้องนี้เคยทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ห้องสมุดของมาแมร์ ห้องพยาบาลสำหรับมาแมร์สูงอายุที่ไม่สบาย ทั้งนี้เพื่อให้มาแมร์ได้รับการดูแลและรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ และเป็นห้องที่มาแมร์หลายท่านรวมทั้งคุณแม่บุญประจักษ์เคยพักรักษาตัวในช่วงปัจฉิมวัย

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน

ปัจจุบันมีเปียโนใหญ่ตั้งอยู่ในห้อง เป็นเปียโนโบราณคู่วัดน้อยมาช้านาน สันนิษฐานว่ามาแมร์ซาเวียร์ 1 ใน 4 ซิสเตอร์คณะอุร์สุลินกลุ่มแรกที่เดินทางสู่สยาม เป็นผู้สั่งให้ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย โดยเป็นเปียโนยี่ห้อ Challen ผลิตจากประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2468 ตัวเปียโนผลิตจากไม้วอลนัตและมะเกลือ ซึ่งทนทานต่อทุกสภาพอากาศ

มาแมร์ซาเวียร์เป็นผู้มีความสามารถทางศิลปะหลายแขนง ในขณะนั้นท่านต้องการสอนวิชาดนตรีให้กับเด็กนักเรียน รวมทั้งช่วยหารายได้เพิ่มเติมให้กับโรงเรียนโดยการสอนพิเศษเปียโนด้วย นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่วาดภาพเรือนวัดน้อยด้วยสีน้ำมัน ซึ่งเป็นภาพสำคัญที่โรงเรียนรักษาไว้

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ภาพวาดวัดน้อย ฝีมือมาแมร์ซาเวียร์ 1 ใน 4 ซิสเตอร์คณะอุร์สุลินรุ่นแรกที่เข้ามาบุกเบิกพันธกิจในสยาม

ด้วยสภาพเปียโนที่ทรุดโทรมเสียหายไปตามกาลเวลา ทางสมาคมผู้ปกครองและครูจึงเข้ามาเป็นผู้อนุเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทั้งหมด ในที่สุดเปียโนประวัติศาสตร์หลังนี้ก็ได้กลับมาตั้งในเรือนวัดน้อย และพร้อมจะบรรเลงอีกครั้ง

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน

ส่วนสำคัญที่สุดของปีกตะวันออกคือหอคอย 2 หอ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2470 เมื่อเปลี่ยนบ้านให้เป็นโบสถ์ 

หอคอยแรกทำหน้าที่เป็นหอระฆัง ซึ่งตอนสำรวจพบว่ามีสภาพเอียงมากและเสี่ยงต่อการทลาย ดังนั้นจึงต้องเร่งบูรณะให้กลับมาอยู่ในแนวตรงและมีสภาพแข็งแรงขึ้น เมื่อเดินตามบันไดเหล็กวนขึ้นไปก็จะพบกับห้องเล็ก ๆ ซึ่งเคยเป็นห้องนอนอีกห้องของมาแมร์ และมีอ่างล้างหน้าอยู่บนนั้นด้วย

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน

“เรือนวัดน้อยมีอ่างล้างหน้าในห้องต่าง ๆ ปรากฏอยู่ทั่วไปหมด มีทั้งสิ้น 18 อ่าง ซึ่งซ่อมและนำกลับมาติดตั้งยังตำแหน่งเดิมได้ 16 อ่าง มี 2 อ่างที่แตกไป ซ่อมกลับมาไม่ได้ ส่วนฝ้าเพดานของหอคอยนั้นผุพังไปมากจากน้ำที่รั่ว จึงตัดสินใจรื้อออก ทำให้พบว่ายังมีบันไดชันอีกชุดที่พาขึ้นไปยังจุดสูงสุดของหอได้ ดังนั้นจึงตัดสินใจเปิดฝ้าทิ้งไว้เพื่อให้เห็นโครงสร้างไม้ดั้งเดิมทั้งหมด” คุณโก้อธิบายถึงหอคอยแรก

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ห้องนอนของมาแมร์บนหอระฆัง มีอ่างล้างหน้าติดตั้งอยู่ด้วย
ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ฝ้าเพดานที่เปิดออก เห็นบันไดเล็ก ๆ ชัน ๆ พาไปจนถึงยอดหอคอย

“ส่วนหอคอยปลายสุดอาคาร เป็นหอที่ปรากฏภาพไม้กางเขนอยู่บนหลังคา ผิวกระเบื้องผุกร่อนไปหมด จึงต้องเปลี่ยนใหม่แต่ใช้สีส้มตามเดิม ส่วนภาพไม้กางเขนที่ประดับบนหลังคานั้น เดิมใช้กระเบื้องสีเขียว แต่ตัดสินใจใช้สีขาวแทนเพื่อให้เข้ากับสีของอาคาร” คุณโก้อธิบายถึงหอคอยที่สอง 

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน
หอคอยที่ 2 ขณะบูรณะ โปรดสังเกตรูปกางเขนเดิมเป็นสีเขียว

บนหอคอยที่ 2 เป็นห้องนอนอีกห้องของมาแมร์ แน่นอนว่าเราพบอ่างล้างหน้าอยู่บนนั้นเช่นกัน และห้องนี้เคยเป็นห้องนอนของคุณแม่บุญประจักษ์อยู่ระยะหนึ่ง บันไดที่ทอดขึ้นสู่ห้องนอนเป็นบันไดเดิมที่บูรณะกลับมาได้สำเร็จเช่นกัน

“ทั้งเรือนวัดน้อย เราพบสีดั้งเดิมที่มักเป็นสีฟ้าและเขียวพาสเทล ซึ่งเป็นสีที่เรานำมาใช้เป็นหลักในการบูรณะครั้งนี้ แต่มาเจอสีเหลืองตรงนี้ ซึ่งประหลาดมาก ก็เลยรักษาไว้ แล้วก็เจอกระจกพิมพ์ลายสีฟ้ากับสีเหลือง ซึ่งรักษาของเดิมไว้เช่นกัน อันไหนแตกก็ต้องเปลี่ยนเป็นกระจกใส เพราะหามาทดแทนไม่ได้แล้วในปัจจุบัน” คุณโก้เล่า

102 ปี วัดน้อยแห่งความทรงจำ

เราเดินชมเรือนวัดน้อยกันจนทะลุปรุโปร่ง ดีใจที่อาคารกลับมาแข็งแรงสวยงาม แล้วนับจากวันนี้ล่ะ เรือนวัดน้อยจะเป็นอย่างไรต่อไป

“ผู้ที่ครอบครองอาคารนี้คือคณะซิสเตอร์ และส่วนสำคัญที่สุดคือโบสถ์หรือวัดน้อย ซึ่งจะรักษาไว้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ดั่งเช่นที่เป็นมา โดยคณะซิสเตอร์อนุญาตให้โรงเรียนและนักเรียนคาทอลิกใช้พื้นที่วัดน้อยได้ตามโอกาสสำคัญทางศาสนาเป็นกรณีไป ทางปีกตะวันตกจะเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาโดยซิสเตอร์ ส่วนทางปีกตะวันออก ทางซิสเตอร์ได้อนุญาตให้โรงเรียน สมาคมผู้ปกครองครู สมาคมนักเรียนเก่า ฯลฯ ใช้จัดงานได้ตามสมควร เช่น จัดนิทรรศการชั่วคราว คอนเสิร์ตเล็ก ๆ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ในโอกาสสำคัญของโรงเรียน ที่สำคัญคือ เรือนวัดน้อยจะยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมาแตร์ทุกคนต่อไป” อาจารย์สุมิตรากล่าว

ชมเรือนไม้เก่าแก่ใจกลาง รร.มาแตร์เดอี เจาะเบื้องหลังการบูรณะสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นทั้งอาราม ที่พัก และห้องเรียน

นอกจากโครงการบูรณะที่เพิ่งเสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปแล้ว ทางโรงเรียนและศิษย์เก่ายังมีโครงการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ขึ้น

“หนังสือเล่มนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคแรกจะบันทึกประวัติ ที่มาของทั้งโรงเรียนมาแตร์ฯ และเรือนวัดน้อย รวมทั้งเรื่องเล่าที่มาจากความทรงจำของนักเรียนหลายรุ่น ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพว่าเคยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่นี่บ้าง ทุกเรื่องสนุกและน่าประทับใจมาก ภาคที่ 2 จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการบูรณะวัดน้อยครั้งล่าสุด เพื่อให้ทราบว่ามีกระบวนการอย่างไร ระหว่างบูรณะได้พบเจอร่องรายการใช้พื้นที่และอาคารอย่างไร โดยโก้เป็นคนเขียน คาดหวังว่าจะเผยแพร่เดือนพฤษภาคมนี้” คุณน้ำเล่าให้ฟัง

ศิษย์เก่ามาแตร์และผู้ที่สนใจลองสอบถามกันได้นะครับ ผมคิดว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อ พ.ศ. 2466 สังฆราชแปร์โรส ได้ตัดสินใจเชิญชวนซิสเตอร์คณะอุร์สุลินให้เดินทางสู่สยามเพื่อ ‘หว่านเมล็ดพันธุ์ลงในผืนดิน ซี่งอาจก่อให้เกิดความงอกงามไพศาล’ คณะซิสเตอร์ทั้ง 4 ท่านได้เดินทางเข้ามาและมุ่งมั่นปฏิบัติพันธกิจจนสัมฤทธิ์ผล ผมเชื่อว่าวันนี้เมล็ดพันธุ์ที่บ่มเพาะจากโรงเรียนมาแตร์เดอีฯ ได้เติบโตงอกงามสมความตั้งใจ โดยมีเรือนวัดน้อยเป็นสถานที่สำคัญที่ทำให้พันธกิจนี้สำเร็จลุล่วงแล้วทุกประการ

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์

  • อาจารย์สุมิตรา พงศธร MD 38 สีฟ้า
  • รศ.ยุพยง เหะศิลปิน MD 34 สีเขียว
  • ดร.ศุภลักข์ โกมารกุล ณ นคร MD 36 สีเขียว
  • ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน MD 63 สีแดง
  • คุณปาริชาติ ทองใหญ่ ณ อยุธยา MD 58 สีเขียว

สีคณะ : ในอดีตมีการประกาศผลการสอบของนักเรียน โดยแบ่งเป็นสี สอบได้ที่ 1 สีฟ้า ที่ 2 สีแดง ที่ 3 สีเหลือง ที่ 4 สีเขียว พอมาที่ 5 ก็วนกลับไปเป็นฟ้าใหม่ ไล่ลำดับวนไปเรื่อย ๆ สีฟ้าจึงมักเป็นสีของเด็กเรียนเก่ง ส่วนสีเขียวมักเป็นสีนักกีฬา นักกิจกรรม ปัจจุบันการประกาศผลสอบยกเลิกไปแล้ว แต่ยังมีการแบ่งสีคณะ ซึ่งโรงเรียนขอให้ไม่มีการเปลี่ยน อยู่สีไหนก็สีนั้น ตั้งแต่แรกเข้าจนจบจากโรงเรียน

เอกสารอ้างอิง

  • ณ แดนไกล เขียนโดย ซิสเตอร์ไอรีน มาโอนี O.U.S ถอดความภาษาไทยโดย บุญสม เจริญเอง
  • ได้รู้จักคือได้รัก คุณแม่บุญประจักษ์ ทรรทรานนท์ จัดพิมพ์โดยสมาคมนักเรียนเก่ามาแตร์เดอีวิทยาลัยฯ
  • ได้รู้จักคือได้รัก มาแมร์จากแดนไกล จัดพิมพ์โดยสมาคมนักเรียนเก่ามาแตร์เดอีวิทยาลัยฯ
  • ได้รู้จักคือได้รัก 101 ปี วัดน้อยแห่งความทรงจำ จัดพิมพ์โดยสมาคมนักเรียนเก่ามาแตร์เดอีวิทยาลัย ฯ
  • ร้อยใจในทรงจำ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพท่านหญิงอรอำไพ โกมารกุล ณ นคร
  • 60 ปี มาแตร์เดอีวิทยาลัย

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล