จุดด่าง

บนถนนหลานหลวงมี ‘จุดด่าง’ ตั้งอยู่ 

อาคารสีดำริมถนนแห่งนี้อาจดูเหมือนร้านกาแฟเท่ๆ อีกแห่งที่ผุดขึ้นมาตามกระแสนิยม แต่สำหรับสายตาช่างสังเกต จะเห็นว่าทุกตารางนิ้วของ MATDOT Art Center นั้นอัดแน่นไปด้วยศิลปะระดับโลกนับร้อยชิ้น มันเป็นทั้งสำนักพิมพ์ เป็นแกลเลอรี่ เป็นที่พำนักศิลปินชื่อดังจากหลายประเทศ เป็นที่จัดเวิร์กช็อป และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างคนทั้งในและนอกวงการศิลปะที่น่าตื่นเต้น 

“ที่จริงมันจะชื่อว่า Black list นะ แต่ว่าที่ปรึกษาหลายท่านขอร้องว่าอย่าใช้ชื่อนี้เลย เขารู้สึกว่ามันไม่เป็นมงคล แต่เรารู้สึกว่าชอบ เลยคิดต่อมาว่า อยากได้คำว่า Matt ที่แปลว่าด้าน คือเป็น ‘จุดด้าน’ หรือ ‘จุดด่าง’ ประมาณนี้” 

เบื้องหน้าเราคือ คุณธวัชชัย สมคง หรือ ‘พี่หน่อง’ ผู้คร่ำวอดในวงการศิลปะบ้านเรามาหลายสิบปี เขาเป็นทั้งศิลปินที่มีอิทธิพล บรรณาธิการ อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรภาครัฐอย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของหอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) ด้วย แต่ในวันนี้เขาสละเวลามาพูดคุยกับเราในฐานะผู้ก่อตั้งพื้นที่ศิลปะในตึกแถวแห่งนี้ ที่บอกเลยว่าไม่ธรรมดาในทุกมิติ เริ่มตั้งแต่ชื่อของมัน 

 “สมมติเรามีรถอยู่คันหนึ่ง แล้วมันมีแผลด่างๆ อยู่แผลเดียว ไม่มีใครเห็นหรอกนะ แต่เราจะเห็นและคิดถึงมันอยู่ตลอดเวลา จะขี่กี่ที จุดนั่นแหละจะขัดใจ และมาอยู่ในความคิดเรา พี่เลยรู้สึกว่า เออ คำว่าจุดด้านนี่มันเวิร์กมาก เพราะมันเป็นจุดเล็กๆ แต่ทรงพลังมาก” พี่หน่องอธิบายว่าสุดท้าย ตัดอักษร T ออกหนึ่งตัว จากคำว่า MATT เพื่อให้ไม่ตรงตัวเกินไป เลยมาเป็น MATDOT ที่เรานั่งกันอยู่วันนี้

“มันทรงพลังในแง่ที่ทำให้คนจดจำ มันสร้างแรงขับเคลื่อนได้ ถึงแม้จะรังเกียจ แต่มันก็จะอยู่ตรงนั้นแหละ อยู่ในใจเราเสมอ” พี่หน่องยิ้มมุมปากแบบยียวน

หากจะทำความรู้จักอัตลักษณ์ของที่นี้ ก็ต้องรู้จักตัวตนของพี่หน่องเสียก่อน ว่าแล้วเราก็หย่อนก้นนั่งกันในโซนคาเฟ่ของ MATDOT สูดกลิ่นกาแฟคั่วสดหอมฟุ้ง แถมมีงานประติมากรรมรูป ‘เต่าเขามอ’ ของคุณกฤช งามสม ชูหัวร่วมฟังบทสนทนาของเราไปด้วย

จุดเริ่มต้น

“พี่ไม่ได้คิดว่าจะทำศิลปะนะ ความฝันตั้งต้นของพี่คือเป็นครู” คุณธวัชชัยเล่าย้อนไปว่าเขาเรียนจบจากเทคโนเชียงใหม่ แล้วจึงเรียนการศึกษาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒต่อ เมื่อศึกษาจบก็ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์อยู่ในโรงเรียนอยู่ร่วมขวบปี 

“พอเราไปคลุกคลีอยู่กับเด็ก เรื่องหนึ่งซึ่งแรงมากที่เข้ามาในความคิดของพี่ คือ เอ วิชาศิลปะเนี่ย มันผิดหมดรึเปล่า

“เราตั้งคำถามว่า ทำไมเน้นวาดเขียนเยอะ ในเมื่อเด็กทั้งห้องสี่สิบคน เขาจบไปไม่ได้ไปเป็นศิลปิน แต่เราเรียนรู้ศิลปะเพื่ออะไร? เพื่อเขาจะได้มีรสนิยมเลือกเสื้อผ้ามาแต่งตัว เลือกคู่สีมาใช้กับงานต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ศิลปะเป็นรสนิยมที่สร้างมูลค่าให้กับทุกอย่าง มันคือสุนทรียะ แต่นี่เขาไม่ได้เป็นศิลปินนะ ทำไมคุณต้องให้วาดภาพทุกอาทิตย์ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเขียนรูปเก่ง เราก็จะชอบศิลปะ แต่ว่าคนที่กลางๆ หรือเขียนได้ไม่ดีก็จะเกลียดศิลปะ 

“ดังนั้น มันเป็นห่วงโซ่ที่สัมพันธ์กับยุคปัจจุบันมาก ทำไมเราไม่มีนักสะสมศิลปะ เพราะขาดจุดเชื่อมต่อตั้งแต่ประถมแล้ว ก็เขียนรูปไม่เก่ง ผมไม่อยู่ในสังคมแคบๆ ของคุณ กลายเป็นว่าเรากันศิลปะออกจากชีวิตประจำวันคนจำนวนมาก แต่ในโลกที่พัฒนาแล้ว ศิลปะต้องยกระดับชีวิต ต้องอยู่ในมิติทางเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่อยู่ในมิติทางวัฒนธรรมอย่างเดียว”

MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง

เมื่อการเป็นอาจารย์ไม่ตอบโจทย์ คุณธวัชชัยจึงเลือกไปศึกษา Post-Diphoma จิตรกรรม มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ที่ศานตินิเกตัน (Santiniketan) ประเทศอินเดีย 

“พี่ไปช่วง ค.ศ. 1992 โคคาโคล่ายังไม่เข้าที่อินเดีย ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ อยู่บ้านนอกมากๆ” หน่องเล่าไปยิ้มไป “ตอนนั้นเพื่อนๆ พี่ไปเรียนที่นิวยอร์ก ที่อังกฤษ ซึ่งบ้านเขามีฐานะนะ แต่ทุกคนก็ต้องไปทำงานหาเงิน เพราะใช้เงินจากทางบ้านมากก็ไม่ไหว พี่ก็มานั่งดูว่า เราไปยังไงให้มันสบายนิดหนึ่ง ก็เลยตัดสินใจไปอินเดีย เพราะมหาวิทยาลัยนี้ถ้าสอบเข้าได้มันก็เหมือนเรียนฟรี ในเมื่อเพื่อนไปตะวันตกกันหมด เราไปตะวันออกดีกว่า แล้วก็คิดว่าเลือกได้ถูกนะ สมัยนั้นคือใช้เงินหนึ่งหมื่นเราอยู่ได้แบบมหาราชาเลย พี่มีคนใช้สองคน บ้านขนาดสองเอเคอร์ (เกือบสี่ไร่) คิดว่าเราตัดสินใจถูก มันสอนเราว่าถ้าเรามีข้อมูลมากพอ สามารถทำให้ชีวิตเราอยู่สบายขึ้น ได้พิจารณาเรื่องงานของตัว มีเวลาทำงานมากขึ้น”

นอกจากสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้สร้างงานศิลปะแล้ว สิ่งที่ประทำใจหน่องมากที่สุดจากอินเดียก็คือคำสอนของอาจารย์ที่นั้นด้วย 

“ครั้งแรกที่พี่ไปเราก็สเก็ตซ์อะไรเต็มไปหมด แปดใบ สิบใบ แล้วก็ไปถามอาจารย์ว่า อาจารย์ครับ ชิ้นไหนที่มันเวิร์ก ผมจะขยายเป็นงานชิ้นใหญ่ คำแรกที่พี่รู้สึกว่าเป็นคำสอนจากอาจารย์คือ ถ้าเราเป็นศิลปิน เราต้องเป็นผู้เลือก” หน่องยิ้ม “ต่อให้ทุกคนไม่เห็นด้วยกับความคิดเรา แต่เรามีหน้าที่ประกาศสิ่งที่เราคิด ให้สังคมเชื่อเรา นั่นคือศิลปิน นี่แหละไปอยู่ห้าปีได้คำสอนนี้แหละอันเดียว นอกนั้นก็คือนั่งสูบบุหรี่กัน”

จุดบนกระดาษ

นอกจากการเป็นศิลปินแล้ว หน่องยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งนิตยสาร Fine Art ที่เป็นคณูปการให้กับวงการศิลปะมายาวนานกว่า 17 ปี

“พี่ต้องยกเครดิตให้หนังสือหัวต่างๆ ที่เคยทำมาก่อนเราไม่ว่าจะเป็น Feeling, โลกศิลปะ, Art Record in Thailand ทุกคนเขามีพลังอย่างมากในการทำนิตยสารศิลปะ มันเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้น่ะ ถ้าให้พี่ไปทำธุรกิจให้ได้เงิน เราก็คงไม่มาตรงนี้ แต่เราเลือกเพราะตรงนี้ท้าทาย และเราก็อยากทำ” นิตยสาร Fine Art เล่มแรกถือกำเนิดขึ้นสวนทางกับคำท้วงติงของคนรอบข้าง วางแผงเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 มีงานของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี พิมพ์หราอยู่บนปก แน่นอนว่ามันเป็นเส้นทางที่ไม่ง่ายนักตามคาด

 “นิตยสารสถาปัตย์หรือดีไซน์มันยังได้นะ คือโถส้วมก็ลงโฆษณาได้ กระเบื้องก็ลงโฆษณาได้ แต่ของเราแกลเลอรี่เท่านั้นที่จะมาลง แล้วจุดเด่นของแกลเลอรี่เมืองไทยคือไม่มีตังค์ เจ้าของแกลเลอรี่ในเมืองไทยกับเมืองนอกก็ต่างกัน ในเมืองนอกเขาเป็นมหาเศรษฐี หรือมูลนิธิที่สนับสนุนโดยรัฐบาล แต่ของเราเป็นชนชั้นกลางที่มีความฝัน

 “ในช่วงแรกๆ เงินที่ลงทุนนี่ถือว่าเป็นค่าเล่าเรียนนะ คิดเสียว่าเอาเงินไปเรียนที่ชิคาโก ใช้เงินก็พอๆ กัน แต่ว่าแม่งมันกว่าเยอะ” หน่องเล่าว่าในช่วงเริ่มต้นเขาต้องใช้ทุกเทคนิคแหวกแนวให้นิตยสารอยู่รอดให้ได้

“ปีสองปีแรกต้องให้คนด่าเราก่อน มันถึงจะจำได้ ดังนั้น หนังสือเราทุกเล่มแม่งหลุดปรูฟบ้าง ลงผิดบ้างอะไรบ้าง สารพัด พี่ถึงบอกไงว่า ถ้ามีจุดด่างนี่แหละ คนจะจำ” 

จนมาวันนี้ มีหนังสือนิตยสาร Fine Art เรียงรายกว่าร้อยเล่มในผนังด้านในของ MATDOT เป็นหลักฐานของการเดินทางที่โชกโชนตลอด 17 ปีที่ผ่านมา 

“พี่ดูหนังแล้วมีคำหนึ่งที่ชอบมาก เขาบอกว่า ‘ยืนหยัดได้ต้องชนะแน่’ คือเราต้องมีชีวิตอยู่ให้ได้ แล้วท้ายที่สุดมันจะดีเอง มันเหมือนโดมิโน่นะชีวิต จะเริ่มมายังไงก็ช่าง แต่สุดท้ายมันดี ที่ผ่านมามันก็งดงามหมด สำหรับ Fine Art ระหว่างทางเราวางแผนไว้คร่าวๆ ทุกๆ สี่ปีเราจะคิดว่าจะทำอะไร จนในที่สุดเรากระโจนไปทำหนังสือแปล ทำไปทำมากว่าสามสิบเล่ม ร่วมกับสำนักพิมพ์ระดับโลกอย่าง Tashen, Phaidon, ฯลฯ” 

“สิบกว่าปีที่แล้วอินเทอร์เน็ตมันไม่ได้บูมเท่าไร ตอนนี้มันเปลี่ยนไป Hard Copy แทบจะไม่มีบทบาท มันอุ้ยอ้ายไปด้วยซ้ำ แต่เราก็เชื่อว่ามันจะยังอยู่นะ” 

หน่องบอกว่า การระบาดของ COVID-19 ทำให้เขาได้มีโอกาสคิดเปลี่ยนแปรรูปแบบของนิตรยสาร Fine Art ด้วยพอดี โดยจากนี้ไปจะทำเป็น Book Report ประจำปีแทน ออกทีเดียวตอนสิ้นปี จากเมื่อก่อน 12 เล่มต่อปี ตอนนี้ก็เป็นเล่มเดียว 

“เราเปลี่ยนจากสายส่งนิตยสารเป็นสายส่งหนังสือแทน ส่วนนักข่าวที่เรามี เราก็ปรับให้เขาเขียนขึ้นเว็บเลย แล้วปลายปีก็ค่อยรวมในเล่ม วิธีนี้นักข่าวขอองเราก็ยังมีปฏิสัมพันธ์กับแกลเลอรี่ตลอด และผู้อ่านก็เข้าไปอ่านไปดูรีวิวได้ทันใจ แล้วถ้าเขาอยากเก็บค่อยไปซื้อปลายปี”

จุดประสงค์

แล้วเรื่องราวก็เดินทางมาถึงอาคารริมถนนหลานหลวงแห่งนี้ 

“เดินผ่านแล้วชอบ ชอบแล้วก็เช่าเลย” หน่องเล่าว่าเขาใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีในการเนรมิตตึกเก่านี้ให้เป็นจุดด่างที่ตอบโจทย์วงการศิลปะของบ้านเรา “ตอนบูรณะก็ทำเอง สถาปนิกคิดแพงมาก แพงแล้วไม่สวยสำหรับเราด้วย แต่เขาไม่เข้าใจว่าเราต้องการอะไร พี่เลยทำเองหมดเลย เอาแบบถูกๆ 

MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง

“นิตยสารก็ยังจำเป็น มันทำงานในส่วนของมัน แต่ว่าพื้นที่นี้ก็ขับเคลื่อนอีกแบบหนึ่ง เรายังทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อ เราสามารถเชิญศิลปินมาพำนักที่นี่ แล้วเราส่งศิลปินไปเวิร์กช็อปกับเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ จากนั้นทำ Talk ใครมาก็ได้พูดคุยกับศิลปิน อีกกลุ่มคือเชิญภัณฑารักษ์มา เราก็จะเชิญศิลปินให้มาเสนองาน รวมถึงข้อมูลของศิลปินที่เราสะสมมาจากการทำนิตยสารเป็นสิบปีเป็นหมื่นๆ รูป พวกเขาก็จะได้ข้อมูล รวมไปถึงช่วยขายงานให้ศิลปินเราด้วย” นี่คือคอนเซปท์ตั้งต้นของ Art Space หรือ พื้นที่ศิลปะแห่งนี้ในใจของหน่อง

ทางกายภาพแล้ว เมื่อเดินเข้ามาในตึก เราจะเจอโซนคาเฟ่ที่เป็นเสมือนห้องรับแขกให้คนทั้งในและนอกวงการได้แวะเวียนมาพบปะกัน พื้นที่นี้ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยมุมมองแบบภัณฑารักษ์มากกว่าสถาปนิก มีจุดประสงค์หลักคือ ให้เป็นพื้นที่เปิด งานที่เอามาประทับพื้นที่ก็เพื่อให้เห็นว่าศิลปะมันมีทางเลือกอื่นๆ ไม่ใช่แค่ศิลปะกระแสหลักอย่างเดียว

“ในยุคพวกพี่มันเป็นศิลปะแนวคิดแบบโมเดิร์น ตอนนี้ขยับมาเป็น Contemporary (ร่วมสมัย) แล้ว แต่นักสะสมก็ยังยึดติดอยู่กับงานละเอียด งานเนี้ยบ เราเป็นพื้นที่ที่เราอยากจะอธิบาย เราก็เอางานมาวางให้ดูเลย มันเวิร์กนี่หว่า มีแสงส่องมาก็ดูเข้าท่า ส่งให้เกิดแรงบันดาลใจ เพราะเราสอนกันไม่ได้ ศิลปะมันต้องเข้ามาซึมซับเอง”

เมื่อมองไปรอบตัวเราก็เห็นเป็นแบบนั้นจริงๆ ผนังสีดำด้านขับให้สีฟ้าในงานประติมากรรม ‘สัมมาทิฎฐิ’ ที่สูงกว่า 2 เมตรของ คุณอลงกรณ์ หล่อวัฒนา โดดเด่นขึ้นมาอย่างงดงาม ผนังข้างๆ เราติดตั้งผลงานวิดีโอ ‘NOWHERE’ ของ คุณชาคริต บูรณารมณ์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ค่อยเห็นที่ไหนเอางานลักษณะนี้มาตกแต่งพื้นที่เท่าไร อีกทั้งภาพวาดของหน่องเอง ก็ถูกแขวนอย่างสง่างาม เยื้องกับรูปปั้นมาสเตอร์พีซ ‘ล่องลอยในความทุกข์’ ของ คุณประสิทธิ์ วิชายะ ในตำแหน่งที่มีแสงส่องวัสดุสื่อผสม ทั้งไฟเบอร์กลาสเรซิ่น เรซิ่นใส และดินเผา ให้เรืองรองในแบบของมัน

MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง
MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง

อ้อ ลืมบอกไปว่า กาแฟของเขาก็อร่อยมากๆ ด้วย

จุดเชื่อมต่อ

นอกจากส่วนคาเฟ่แล้ว หน่องพาเราเดินชมอีกหนึ่งส่วนการใช้งานของที่นี่ นั่นคือการทำ Residency หรือ โครงการที่พำนักศิลปิน โดยพี่หน่องตั้งใจเชิญศิลปินประมาณ 3 – 4 คนต่อปี มาพำนักที่นี่เพื่อสร้างผลงาน โดยมีทั้งห้องนอนและสตูดิโอ บวกเบี้ยเลี้ยงให้พร้อมเสร็จสรรพ 

“ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เขาเชื่อมต่อกับหอศิลป์ ไปวัด หรือไปข้าวสารก็ง่าย ทำงานกับชุมชนก็ได้ (ในส่วนห้องพัก) พี่คิดว่าอย่างน้อยๆ มันต้องสมาร์ทระดับหนึ่ง ไม่ต้องถึงกับหรูหรา แต่ศิลปินมาแล้วเขาต้องมีไฟ มีคนในวงการเดินเข้ามา ให้เขาได้สื่อสารมีบทสนทนา พอคิดอย่างนี้เราเลยทำร้านกาแฟ บอกเลยว่าตรงนี้มีศิลปินแวะเวียนมาเยอะนะ ทำงานกับเครือข่ายกันนี่แหละเวิร์กที่สุด มารู้จักกัน เดี๋ยวก็ชวนกันไปเอง” 

MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง
MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง
MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง

หน่องเล่าขณะพาเราไปชมห้องสตูดิโอสีน้ำมันขนาดเล็ก เป็นพื้นที่เปิด มีอากาศถ่ายเทเหมาะสำหรับการใช้สีน้ำมัน มีต้นไม้เรียงรายอยู่ข้างกับขาตั้งแคนวาสและสเตชันผสมสี ซึ่งตอนนี้มีศิลปินชื่อ Fiza Ghauri เป็นศิลปินชาวปากีสถานมาสร้างงานอยู่ 

ส่วนอีกสตูดิโอที่มีขนาดใหญ่กว่า มีคุณ Gianluca Vernizzi ชาวอิตาเลียนพำนักอยู่ ลักษณะของสตูดิโอนั้นกว้างขวางและอำนวยให้วาดรูป เป็นเหมือนพื้นที่ในฝันสำหรับศิลปินจริงๆ

นอกจากศิลปินแล้ว หน่องยังคิดที่จะเชิญบุคลากรด้านอื่นในวงการมาร่วมงานที่นี่ด้วย

 “พี่มีความเชื่อว่า ถ้าเราทำงานร่วมกับภัณฑารักษ์จาก Southeast Asia ให้เขาหาข้อมูลกับศิลปินไทย ประโยชน์คือเมื่อเขามารู้จักศิลปินไทย ถ้าวันหนึ่งเขาจัดงานที่บ้านเขาหรือที่ไหน เขาก็จะได้ใช้ประโยชน์จากศิลปินไทย ดังนั้น Art Center มันทำงานในมิติที่นอกเหนือไปจากพื้นที่ได้ คุณสามารถจัดการ สร้างเครือข่ายได้” 

สำหรับนักการศึกษาหรือสายกิจกรรม ที่นี่ยังมีห้องเวิร์กช็อปขนาดใหญ่ รองรับการจัดเสวนาและกิจกรรมทางการเรียนรู้อื่นๆ ด้วย โดยห้องนี้มีเอกลักษณ์ของรูปวาดฝาผนังสีขาวดำ จากพื้นจรดเพดานรอบห้อง ลักษณะดูเหมือนงานจากอินเดีย แต่ก็มีความเป็นไทยแฝงอยู่

“อันนี้มีที่มาคือ มหาวิทยาลัยเขาเชิญให้กลับไปช่วยงานที่อินเดีย พอทำงานเสร็จเขาบอกว่ายินดีให้พี่จำลองภาพวาดชื่อดังของ K.G. Subramanyan บนตึกดำของเขามาได้ แต่พี่ว่าถ้าใครอยากไปดูของจริงก็ต้องไปดูที่อินเดียดีกว่า ตอนหลังพี่เลยชวนเพื่อนที่จบจากศาลตินิเกตันเหมือนกัน คือ คุณอลงกรณ์ หล่อวัฒนา ซึ่งเขาก็เอาลักษณะรูปของ K.G. มาวาด แต่ก็เติมเรื่องราวของเขาเข้าไป ออกมาเป็นภาพเวอร์ชันของเราเอง” 

MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง
MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง

จุดจัดแสดง

“พี่เชื่อว่าบนโลกนี้มีแค่ศิลปินจริงกับเก๊ ไม่ใช่ดังหรือไม่ดัง สำหรับพี่ถึงแม้ว่าจะโนเนม แต่ถ้าผมเชื่อว่างานคุณเจ๋งผมก็โปรโมตคุณ และถึงคุณจะระดับโลก แต่ถ้าผมไม่ชอบงานคุณก็จบ Artspace มันก็ตามแนวคิดของเจ้าของนั่นแหละ”

แล้วงานที่พี่เขาสนใจเป็นอย่างไร หน่องพาเราเดินทะลุไปด้านหลังเพื่อชมส่วนของห้องจัดแสดง (แกลเลอรี่) บนกระจกใสนั้นมีชื่อนิทรรศการล่าสุดแปะหราอยู่ว่า ‘The Revolving World’ โดยโชว์นี้เป็นนิทรรศการที่หน่องเคยคัดสรรไปจัดแสดงที่ไทยพาวิลเลียน ในงานเวนิส บินาเล่ เมื่อ ค.ศ. 2018

“เวลามันถูกหยุดด้วย COVID-19 อยู่แล้วไง ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีอะไรเคลื่อนไหว อีกอย่างหนึ่งคือ พื้นที่ที่เวนิสมันน้อย งานก็แสดงได้ไม่หมด พอเอากลับมาเพราะศิลปินเขาก็อยากให้คนไทยได้ดูด้วย”

MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง

หน่องเล่าให้ฟังถึงคอนเซปต์โชว์คร่าวๆ เป็นชุดงานที่พูดถึงโลกที่ยังคงหมุนไป ด้วยเรื่องความจริง ความเชื่อ และเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ที่ขับเคลื่อนกันและกัน เป็นงานที่รวม 3 ศิลปิน ได้แก่ ได้แก่ ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.​2560 และ กฤช งามสม 

“ตอนนั้นที่พี่เลือกงานไปเวนิสครั้งแรก ตอนนั้นคิดเรื่องเดียวว่าไม่มีสิ่งใหม่บนโลกนี้แล้ว สิ่งที่ใหม่คือสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ดังนั้นเลยคิดว่าลักษณะศิลปะที่จะไปโชว์ในเวทีนานาชาติ น่าจะมีรสชาติของความเป็นไทยออกไป

“อย่างงานของกฤช เขาทำเรื่อตู้ประวัติศาสตร์ เขาสนใจตึกไทยคู่ฟ้าที่ถูกถอดแบบมาจากตึกที่เวนิส มีวิดีโอฉายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยากับเวนิสเทียบคู่กัน จะเห็นว่าธีมงานนี้จะพูดถึงสยามยุคการล่าอณานิคมสมัยรัชกาลที่ 3 ทุกคนมองฝรั่งเป็นลบ แต่มันซับซ้อนกว่านั้น เขานำระบบการศึกษา อาหาร สถาปัตยกรรม และอื่นๆ มาถ่ายเทแลกเปลี่ยนด้วย” หน่องเดินไปบรรยายไป ขณะพาเราไปชมงานของอาจารย์ปัญญา

ในอีกห้องจัดแสดงหนึ่ง จำลองแบบจิตกรรมลายไทยหอไตรจากวัดบางแคใหญ่ รวมทั้งหล่อรูปฝรั่งถือปืนที่อยู่ในภาพออกมาเป็นประติมากรรมสีขาวขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางห้องด้วย 

ส่วนงานของอาจารย์สมศักดิ์ ทำเรื่องความเชื่อของแม่นาคพระโขนง

“แกบอกว่า แม่นาคเรื่องจริงกับเรื่องเล่ามันไม่เหมือนกัน เวอร์ชันที่เรารู้มาว่าพ่อมากกับแม่นาครักกันไปเป็นทหารกลับมาตายท้องกลม อันนี้เรื่องเล่า แต่ความเป็นจริงคือ พ่อมากกับแม่นาคเขาแต่งงานกันมีลูกหลายคน แล้วท้องสุดท้ายแม่นาคตาย ตอนหลังพ่อมากอาจจะมีเมียใหม่ ลูกๆ ของแม่นาคก็กลัวเมียใหม่จะแย่งสมบัติ เขาเลยแต่งเรื่องผีขึ้นมา สุดท้ายเรื่องที่คนยอมรับกลายเป็นเรื่องเล่ามากกว่าเรื่องจริง แกเลยตั้งชื่องาน Love Story”

ยังมีอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจแต่เสียดายพื้นที่เราไม่พอจะเล่าได้หมด เอาเป็นว่าถ้าใครอยากจะชมนิทรรศการก็ต้องแวะมา สามารถเข้าชมได้ฟรี โดยงานชุดนี้จะจัดแสดงถึงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.​2564 นี้

จุดมหภาค

สุดท้ายเราไปนั่งในห้องทำงานด้านบนคาเฟ่ ความพิเศษของห้องนี้คือ มีรูปพอร์เทรตของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีติดตั้งไว้ทั่วบริเวณ

“ห้องนี้ทางสถานทูตอิตาลีชอบมากนะ” หน่องยิ้ม เขาเล่าว่าถึงแม้ตัวเขาเองจะไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เขาสนใจตัวอาจารย์ศิลป์ในฐานะผู้ขับเคลื่อนวงการศิลปะไทย ทำให้เป็นจุดเริ่มการเก็บงานชุดนี้ พอคนทราบก็เอามาขายให้บ้าง เอามาให้บ้าง จนมีมากกว่าร้อยชิ้นอย่างที่เห็น”

ในช่วงท้ายของบทสนทนา หน่องไปเปิดตู้เอาผลงาน Artbook ของเขาจากยุคสมัยเรียนอยู่ที่อินเดียออกมาให้เราดู แม้งานจะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่ไอเดียแล้วองค์ประกอบศิลป์ก็ยังคงเฉียบคมน่าชื่นชม ขณะที่เราพลิกหน้าหนังสือไปเรื่อยๆ เราจึงถามทิ้งท้ายพี่หน่องถึงทิศทางและการพัฒนาวงการศิลปะบ้านเราต่อไป เขาหยุดคิดสักครู่ก่อนจะบอกว่า

“เมื่อก่อนพอพูดคำว่าศิลปะ เราก็จะรู้จักศิลปินอย่างเดียว อยู่มาวันหนึ่งเริ่มมีภัณฑารักษ์เข้ามา เริ่มอาจารย์ สมพร รอดบุญก็ได้ ท่านจัดงานกับสถาบันเกอเธ่ ต่อมามีอาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ เข้ามา มีคุณเจี๊ยบ-กฤติยา กาวีวงศ์, คุณอรรฆย์ ฟองสมุทร ฯลฯ พวกเขามีบทบาทในวงการ ผู้คนพอเป็นภัณฑารักษ์ ก็เห็นพื้นที่ทางเลือกต่างๆ มากขึ้นด้วย อาร์ตเสปซมันก็มีคาแรกเตอร์มากขึ้น แต่ตอนนี้ในภาพรวมมันก็ยังไม่ทำงานกันเป็นทีม ยังแบ่งผลประโยชน์กันไม่ได้” 

หน่องกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องยกระดับมาตรฐานทั้งวงการให้เทียบสากลให้ได้ เขาพูดถึงการจัดมหกรรมศิลปะในเสกลใหญ่อย่าง Thailand Biennale และ Bangkok Biennale ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ถ้าจะให้เป็นสากลจริงๆเราต้องมีมากกว่าศิลปินชื่อดัง 

MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง

“ต้องยกมาตรฐานทั้งองคาพยพ ไม่ว่ามันจะดูน่าเกลียดขนาดไหน แต่เราต้องยอมรับว่ามันมีธุรกิจในศิลปะ ศิลปะมันคือสินค้า ถ้าคุณมัวแต่คิดว่ามันสูงส่งคุณก็จะดูถูกความจริงนี้ ศิลปินเป็นอาชีพที่ต้องเกี่ยวพันกับทั้งพ่อค้า ภัณฑารักษ์ พื้นที่ นักกิจกรรม ฯลฯ คุณต้องรู้จักแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันผลประโยชน์ ถ้ายังมัวคิดว่าศิลปินเป็นแกนกลางของโลกอยู่ เราก็เข้ากับใครไม่ได้

“MATDOT เองก็ทำงานร่วมกับทุกกลุ่มที่มีความเชื่อคล้ายๆ กัน กล่าวคือเคารพความเชื่อของศิลปะทุกรูปแบบก่อนเป็นอันดับแรก จะชอบหรือไม่ชอบนั่นอีกเรื่อง แต่เราต้องตระหนักว่าเมืองไทยมีความหลากหลาย หัวก้าวหน้าจ๋า หรือที่เหมือนเดิมมาสามสิบปีก็มี” 

ก่อนจากกันเราถามพี่หน่องว่า เขามีเคล็ดลับอะไร ที่ทำให้ยังคงทำงานศิลปะอยู่ ในขณะเดียวกันก็ยังมีหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆ มากมายอย่างที่เราเห็นในพื้นที่นี้

“พอหลังมาการทำศิลปะก็ไม่ได้ใช้เวลานานนะ พี่แก่แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราจะต้องรีบอะไรมากมาย เราทำศิลปะเพราะเรารู้สึกว่าเราอยากจะทำมัน ทำปีหนึ่งสิบกว่าชิ้น เพราะอายุขนาดนี้ก็ต้องแบ่งเวลาไปนอนบ้าง (หัวเราะ)” 

MATDOT Art Center ตึกแถวสีดำที่ซ่อนสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ ที่พำนักศิลปินบนถนนหลานหลวง

MATDOT Art Center 

ที่ตั้ง ​: เลขที่ 47 ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรพ่าย

เปิดทุกวันยกเว้นวันจันทร์ 10.00 – 19.00 น. 

Facebook : MATDOT Art Center  

โทรศัพท์ :  02 1634 550

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ