ไม่บ่อยนักที่เราจะได้มีโอกาสเข้าห้องเรียนที่มีนักแสดงในดวงใจมาเป็นครูหน้าชั้น ครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่เราได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์กับ ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) นักแสดงมากฝีมือระดับฮอลลีวูด ที่ฝากผลงานไว้มากมาย และเรื่องล่าสุดกับภาพยนตร์เรื่อง Memoria โดยการร่วมงานกับผู้กำกับชาวไทยอย่าง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จนกวาดรางวัล Jury Prize จากงาน Cannes Film Festival 2021 มาครอง ได้นำพาในเราได้มาพบกับเธอในวันนี้

Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี

ในห้องเรียนครั้งแรกในไทยนี่เอง ที่ทิลดามีโอกาสมาเปิดประสบการณ์ระหว่างทางการแสดงตลอด 30 ปี ทั้งตัวตน การเป็นอยู่ และการเปลี่ยนผ่าน กับ Masterclass with Tilda Swinton : “Acting, Being, Shape-shifting” ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

ในฐานะนักเรียนหน้าชั้น เราจดเลกเชอร์ถอดบทเรียนที่ได้มาฝากกัน สำหรับนักเรียนการแสดงและคนทำหนัง หวังว่าคุณจะได้เทคนิคที่ไม่มีเทคนิคไม่มากก็น้อยนี้กลับไป ส่วนแฟนหนัง ก็จะได้รู้เคล็ดลับว่าเจ้าแม่แห่งฮอลลีวูดและหนังนอกกระแสคนนี้ทำอย่างไร ให้เราตกหลุมรักการแสดงของเธอครั้งแล้วครั้งเล่า

บทเรียนที่ 1 : นักแสดงคือศิลปินและนักต่อสู้

“ฉันไม่ได้สนใจการแสดง”

ทิลดาเริ่มต้นเรื่องราวที่ตรงนั้น เธอเล่าว่าเธอเป็นนักเขียนก่อนเริ่มงานแสดง และเข้ามาในวงการนี้ได้เพราะเพื่อน ๆ ผู้เรียนการแสดงชักนำ จนถึงตอนนี้ การแสดงก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เธอจะพูดได้ว่าชอบ เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์แบบหวานอมขมกลืน เพราะใจจริงอยากมีชีวิตเป็นศิลปินมากกว่า 

Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี
Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี
ภาพ : thefilmexperience และ La Belle Otéro

แนวคิดนี้มาจากการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง Caravaggio (1986) กับ เดเร็ค จาร์มาน (Derek Jarman) เธออยากเป็นส่วนหนึ่งของคนทำหนัง แต่ด้วยความเป็นหนังอินดี้ซึ่งในยุคนั้นมันช่างแสนยากเย็น แม้จะได้รับการสนับสนุนจาก The British Film Institute แต่ช่วงยุค 80 ประเทศอังกฤษเต็มไปด้วยปัจจัยทางด้านการเมืองและการต่อสู้ ส่วนนี้ก็ทำเอาเราปวดใจไม่ต่างจากสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อภาครัฐไม่ได้เห็นความสำคัญกับเหล่าคนในแวดวงการทำงานศิลปะ ทั้งลดงบคนทำภาพยนตร์ ศิลปินจึงต้องผลิตผลงานด้วยตัวเองทั้งหมดเท่าที่มี เงินทุนก็ไม่สูงนักหรือบางทีแทบไม่มี แต่ทิลดากลับบอกว่านั่นกลับเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานอันมีค่าของเธอ

บทเรียนที่ 2 : การแสดงต้องไม่เปลี่ยนไปแต่พร้อมเปลี่ยนแปลง

ผลงานมาสเตอร์พีซที่ถือได้ว่าเป็นจุดพลิกผันในชีวิต คือภาพยนตร์เรื่อง Orlando (1992) ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) ซึ่งเธอรับบทนำ ‘ออร์แลนโด’ ที่เป็นทั้งชายและหญิงในคนเดียว เรื่องนั้นทิลดาแสดงถึงความลื่นไหลทางเพศอย่างถึงแก่น จนทำให้คนดูอย่างเราเชื่อสนิทใจ

นักแสดงวัย 61 บอกว่าสิ่งที่ต้องมีคือ Consistency and Changes คือแม้เพศจะเปลี่ยนไป แต่แก่นคาแรกเตอร์ของตัวละครยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงต้องทำให้ตัวละครยังคงมีชีวิตอยู่ได้ แม้อยู่คนละช่วงเวลา ที่สำคัญ ในเรื่องนี้เอง เธอใช้วิธีการสื่อสารทั้งมองและพูดกับคนดูผ่านกล้อง ซึ่งเรียนรู้มาจากแสดงหนังเรื่องแรกอย่าง Caravaggio นับเป็นการแสดงอีกมิติที่ทิลดาเรียนรู้ไปอีกขั้น

บทเรียนที่ 3 : การเลียนแบบอาจเป็นความชั่วร้าย

Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี

มีหนึ่งประโยคในหนังเรื่อง Friendship’s Death (1987) ที่ทิลดาเคยให้สัมภาษณ์อย่าง “Mimicry is always a sinister.” เมื่อต้องรับบทหุ่นยนต์สาวผู้ถูกมนุษย์ต่างดาวส่งมายังโลกมนุษย์ แม้ว่าต้องแสดงเป็นหุ่นยนต์ แต่เสน่ห์ของความเป็นมนุษย์ของเธอยังคงอยู่ได้ตัวละครอย่างน่าทึ่ง ซึ่งในบทเรียนนี้เอง นักแสดงมืออาชีพตกตะกอนได้ว่า การแสดงออกไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบจนสมบูรณ์เสียทั้งหมด แต่การแสดงต้องการความจริงแท้เหมือนกับการสร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้นมากกว่า นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านให้แสดงละครอย่างเป็นธรรมชาติ สร้างทางเลือกให้ตัวละครดูมีมิติ และส่งผ่านในมุมมองสารคดีชีวิตมากกว่าการแสดงเพื่อแสดง

บทเรียนที่ 4 : ด้นสดบ้างเพื่ออิสรภาพ

“The last thing you want, is to know what you are doing.” สำหรับการแสดงแล้ว สิ่งที่ควรรู้เป็นสิ่งสุดท้าย คือการรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ คตินี้ทำให้ในการแสดงหลายต่อหลายครั้ง ทิลดาใช้หนังเป็นพื้นที่ทดลองสิ่งแปลกใหม่ เช่นเดียวกับหนังเรื่อง The Last of England (1987) ที่เธอได้ร่วมงานกับ เดเร็ค จาร์มาน อีกครั้ง 

Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี
ภาพ : bfi.org.uk

จากตอนแรกที่ตัวหนังตั้งใจใช้กล้องฟิล์ม 35 mm สุดท้ายกลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้มาลงเอยที่ Super 8 กล้องฟิล์มสุดคลาสสิกซึ่งใช้ต้นทุนน้อยกว่า แต่ได้อารมณ์โฮมมูฟวี่ของแท้ แถมเธอต้องด้นสดอีกด้วย ยกตัวอย่างฉากไคลแม็กซ์ของเรื่อง ที่กำลังเกิดระเบิดไฟไหม้ท่วมอยู่หลังฉาก ทิลดาก็อิมโพรไวซ์โดยการกลายเป็นเจ้าสาวผู้กำลังร้องไห้อย่างบ้าคลั่ง ขณะฉีกชุดและเต้นระบำบนชายหาดไปด้วย 

นั่นแปลว่าการด้นสดทำซ้ำไม่ได้ และทำให้ซีนนี้เป็น The One and Only ที่มีแค่หนึ่งเดียว ถ้าให้เล่นอีกครั้งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเธอเชื่อว่านี่แหละคือความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ ที่สร้างอิสรภาพทางการสร้างสรรค์

บทเรียนที่ 5 : การแสดงแบบไหนถึงดีที่สุด

ไม่มี! 

นั่นคือคำตอบที่เราได้ เพราะเธอบอกว่าการแสดงแต่ละเรื่อง ผู้กำกับแต่ละคน มีเอกลักษณ์และวิธีการทำงานที่ต่างออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่มีในทุกเรื่อง คือการค้นหาตัวตนที่พอเหมาะพอดี ทิลดาชอบเรียนรู้การทำงานกับเฟรมภาพ โดยการแอบดูรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะเกิดขึ้น ว่าคนดูจะได้เห็นอะไรในฉากบ้าง จนถึงลงมือออกแบบว่าตัวละครควรมีลักษณะและการเคลื่อนไหวอย่างไร หนังหนึ่งเรื่องเลยไม่ควรยัดเยียดสิ่งที่ต้องการให้จบลงในนั้น แต่คือการสร้างลำต้นที่แข็งแกร่งเพื่อให้กิ่งก้านและใบ ได้ขยายต่อไปในแบบของตัวเอง

ภาพ : Walt Disney/ Courtesy Everett Collection

และแม้จะก้าวจากการแสดงหนังอินดี้ สู่การแสดงหนังใหญ่อย่าง Narnia, The Avengers หรือ Doctor Strange นักแสดงมือรางวัลก็บอกว่าวิธีการทำงานไม่ได้ต่างออกไป แต่มันคือการทดลองหาคาแรกเตอร์ที่ใช่ และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ 

บทเรียนที่ 6 : เทคนิคคือการไม่มีเทคนิค

เห็นทิลด้าแสดงด้วยความผ่อนคลายทุกครั้ง พอถามชัด ๆ ว่าเทคนิคคืออะไรกัน กระซิบบอกได้ไหม เธอก็บอกว่าไม่มีจริง ๆ ในความคิดเห็นของเธอ มองว่าการใช้เทคนิคการแสดงที่มากเกินไปอาจสร้างความรำคาญใจเสียมากกว่า แม้เป็นนักแสดงที่ไม่เคยลงเรียนการแสดงมาก่อน แต่ก็พอสรุปกับตัวเองได้ว่า เธอไม่เชื่อเรื่องการใช้เทคนิคมากมาย และถึงแม้ต้องทำงานกับคนที่มีเทคนิคทางการแสดงต่างกัน แต่นี่แหละคือความสนุกในการทำงาน 

เล่าไปเล่ามา เราก็ค้นพบหน้าที่สำคัญของนักแสดง คือการเตรียมตัวอย่างเข้มข้น ตั้งแต่อ่านบท การเข้าใจตัวละคร เพื่อเปิดรับประสบการณ์ของตัวละคร แล้วนั่งพูดคุยกับผู้กำกับก่อน ว่าเธอเห็นทิศทางตัวละครอย่างไร จะสร้างให้คาแรกเตอร์นั้นแสดงออกอย่างไร และข้อที่เราเซอร์ไพรส์ คือการแสดงทางเสียง ที่ทุกเรื่องที่ทิลดาทำการแสดงจะมีการออกแบบตัวละครใหม่ รวมถึงน้ำเสียง สำเนียง จังหวะ โดยดูความคิดและความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น ๆ ในเรื่อง

ยกตัวอย่างใน Michael Clayton (2007) ที่ต้องรับบททนายความชาวอเมริกัน I Am Love (2009) ภรรยาที่พูดภาษาอิตาเลียนสำเนียงรัสเซีย หรือ Memoria (2021) ในบทเจสสิก้า สาวชาวสก็อตที่ต้องพูดภาษาสเปน เพราะมาใช้ชีวิตในโคลัมเบีย ซึ่งทุกเรื่องมีการวางเสียงและวิธีการพูดที่แตกต่างออกไป และสิ่งนี้เอง ที่ทำให้เราเชื่อได้ไม่ยากว่าเธอคือตัวละครนั้นจริง ๆ

บทเรียนที่ 7 : หนังอยู่ยั้งยืนยง

ก่อนคลาสเรียนนี้ต้องจบลงในเวลาอันสั้น นักแสดงระดับตำนานก็บอกเล่าถึงความฝัน ว่าอยากเปิดโรงหนังเป็นของตัวเอง รวมถึงโปรเจกต์ทำโรงหนังเคลื่อนที่อย่าง Mobile Cinema ที่ขับเคลื่อนในบ้านเกิดก่อนหน้านี้ ทิลดาบอกว่าประสบการณ์ดูหนังในจอโรงกับดูผ่านหน้าจอสตรีมมิ่งต่างกัน ดังนั้นเธอเลยอยากเห็นการเติบโตของหนังโรง เพื่อเปิดประสบการณ์ประสาทสัมผัสทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ให้กับผู้คน และเธอเชื่อเสมอว่า ‘Film Forever’ หรือ หนังต้องอยู่ยั้งยืนยงตลอดไป

เช่นเดียวกับ Memoria (2021) ที่คอภาพยนตร์ต้องมาฟังเสียงปัง! และการแสดงอันสมบทบาทในโรงภาพยนตร์เพื่ออรรถรสที่ครบถ้วน อีกทั้งหนังเรื่องนี้ได้ดึงส่วนหนึ่งของทิลดามาเป็นตัวละคร พร้อมพาคนดูอย่างเรา ๆ ถลำลึกไปในความทรงจำพร้อมกัน

พิสูจน์ความสามารถทางการแสดงของ ทิลด้า สวินตัน พร้อมกันวันที่ 3 มีนาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

ภาพ : หอภาพยนตร์ Thai Film Archive  และ Common Move

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง