เบนนี แฮมเมอร์ ลาร์เซน (Benny Hammer Larsen) เป็นปรมาจารย์งานถักทอของ ‘Carl Hansen & Søn’ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์อายุกว่า 100 ปีของเดนมาร์ก

ประสบการณ์ 20 ปีจากการถักที่นั่งและพนักพิงเก้าอี้ Wishbone รุ่น CH24 เก้าอี้รุ่น CH22 และเก้าอี้เลานจ์แชร์ รุ่น CH25 นับพันตัว นำพาให้เขาเป็นตัวแทนช่างฝีมือจากเกาะ Funen ในประเทศเดนมาร์ก เดินสายโชว์ฝีมือการถักเก้าอี้ Wishbone รุ่น CH24  ในงานแสดงเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกมากมาย รวมถึงประเทศไทย

The Cloud จึงไม่พลาดสัมภาษณ์พิเศษคุณเบนนีที่งาน Chanintr Craft งานแสดงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นไอคอนจากช่างฝีมือระดับโลก ที่เปิดโอกาสให้เราได้ลองสัมผัสงานคราฟต์ระดับตำนานอย่างใกล้ชิด

แน่นอนว่า เรากำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ Wishbone ของ Carl Hansen & Søn ขณะที่พูดคุยกับช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์เก้าอี้ตัวนี้

ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ-ภาษาเดนมาร์กที่ตัดสลับไปมาในวงสนทนา ผ่านเครื่องช่วยฟังเสียงของคุณเบนนี ไม่ใช่อุปสรรคระหว่างเรา

มากกว่าศาสตร์และศิลป์ในการถักทอเก้าอี้รุ่นที่คนรักเก้าอี้ทั่วโลกฝันถึง มีเรื่องราวความแข็งแกร่งทนทานมากกว่าเชือกเส้นหนาที่รับน้ำหนักตัวเรา

ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของเบนนีและงานถักเก้าอี้อันเป็นรุ่นในตำนาน เราขอเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของแบรนด์เฟอร์เจอร์เก่าแก่เจ้านี้สักเล็กน้อย

Carl Hansen & Søn เป็นแบรนด์อายุ 100 ของครอบครัวช่างไม้ชาวเดนมาร์ก ที่ทำเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างสำหรับใช้ในห้องอาหารและห้องนอน ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วัสดุหลักอย่างไม้กลายเป็นของหายาก ประกอบกับความแร้นแค้นจากสงครามทำให้แบรนด์ต้องชะลองานสร้างสรรค์ลงไป จนกระทั้งเมื่อสิ้นสุดสงคราม ครอบครัวแฮนเซนซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องความมุ่งมั่นในงานฝีมือและความประณีต จับมือกับนักออกแบบรุ่นใหม่ของเดนมาร์กเกิดเป็นกระแส Denish Design สร้างชื่อให้นักออกแบบและแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สไตล์สแกนดิเนเวียกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับ ฮานส์ เจ. เวกเกอร์ (Hans J. Wegner) สถาปนิกและนักออกแบบดาวรุ่งในยุคนั้น ซึ่งเสนอการใช้เชือกกระดาษที่แข็งแรงมากเพราะทำจากกระดาษ 3 ชิ้นพันติดกัน จนเกิดเก้าอี้ระดับตำนาน รุ่น Wishbone หรือที่ชาว Carl Hansen & Søn เรียกว่า Y Chair ซึ่งเวกเกอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพเก่าของพ่อค้าชาวเดนมาร์กที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ราชวงศ์หมิง

นอกจากความประณีตของไม้ น้ำหนักที่เบา พนักพิงโค้งงอราวกับปีกนกโอบรับพอดีกับไม้ทรงตัว Y ซึ่งรับน้ำหนักและสรีระ เอกลักษณ์ที่ทำให้ Wishbone กลายเป็นเก้าอี้ในฝันของคนรักเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลก คือรูปทรงและสัดส่วนของเก้าอี้ที่สวยไม่ว่าจะมองจากมุมไหนซึ่งมาพร้อมกับความสบาย ความคลาสสิกเหนือกาลเวลา และความสมบูรณ์ในทุกรายละเอียด ทำให้ทุกคนชื่นชอบและกลายเป็นของสะสมในเวลาต่อมา

นอกจาก Carl Hansen & Søn จะเป็นแบรนด์เจ้าใหญ่ที่ผลิตงานของนักออกแบบในตำนาน ฮานส์ เจ. เวกเกอร์ แล้ว ยังมีงานของนักออกแบบชื่อดังมากมาย เช่น Ole Wanscher, Kaare Klint, Tadao Ando และ EOOS

จุดเริ่มต้นของเบนนีในเส้นทางช่างฝีมืองานถักทอเก้าอี้ในตำนานนั้นเรียบง่าย  

เขาไม่ได้มาพร้อมความฝันที่จะเป็นช่างทำเก้าอี้ที่เก่งที่สุดของ Carl Hansen & Søn อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นตัวอย่างของคนที่ค้นหาตัวเองเจอในวัยที่หลายคนประเมินค่าว่าสายเกินจะเริ่มต้นใหม่

เบนนีในวัย 36 ปีเริ่มงานที่ Carl Hansen & Søn ในตำแหน่งช่างฝีมือถักทอด้วยทักษะระดับ 0

“ครั้งแรกยากที่สุดเสมอ” เบนนีบอกเราว่า แรงดึงจากเชือกและแรงตึงในชีวิตจริงเกือบทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน

“เราแค่อยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราก็ทำได้ ทุกคนที่นี่เริ่มต้นเหมือนกันที่ตำแหน่งล่างสุด เราเรียนรู้ขั้นตอนและเทคนิคผ่านช่างฝีมือรุ่นพี่ซึ่งสอนพื้นฐานที่จำเป็น ลงมือทำให้ดู และปล่อยให้ลองทำตาม” เบนนีเล่ากระบวนการฝึกฝนทักษะที่รักษาภูมิปัญญาเดิมของ Carl Hansen & Søn อย่างในอดีต

ความเป็นธรรมชาติ ทัศนคติที่ดีต่องานที่ทำ ความเป็นนักสู้ไม่ยอมแพ้แม้ร่างกายจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซนต์อย่างใคร ทำให้งานของเบนนีโดดเด่นและก้าวไปสู่ผู้เชี่ยวชาญงานถักทอ ที่รู้ว่าช่างถักคนไหนหน่วยการดี

จากการสังเกตทัศนคติของช่างฝีมือรุ่นใหม่ในช่วง 2 สัปดาห์แรก จากนั้นให้เวลาฝึกฝนและทดลองงานอีกราว 5 สัปดาห์ ก่อนจะตัดสินว่าช่างฝีมือคนนั้นจะเป็นช่างถักที่ดีต่อไปได้หรือไม่

“งานถักเก้าอี้เป็นงานที่หนักและสร้างบาดแผลไม่น้อย ทัศนคติที่ดีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อคุณเลือกที่จะทำแล้ว คุณจะโทษใครไม่ได้ ความกระหายที่จะเรียนรู้ การเป็นคนช่างสังเกต ความกระตือรือร้น จะทำให้คุณเติบโต เวลาเราพูดเรื่องงานฝีมือ คุณต้องยอมรับว่าบางคนเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ แต่บางคนไม่ เหมือนที่เราสอนให้ทุกคนวาดรูปได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นศิลปินที่ดีได้”

ตลอดการสนทนาเบนนีย้ำเสมอว่า หัวใจของงานนี้คือ รู้ว่างานยากและเจ็บ แต่ก็ยอมรับมัน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะหลงใหลในแรงตึงของเส้นเชือกอย่างเบนนี

ตัวแทนจาก Carl Hansen & Søn เล่าให้เราฟังว่า การจะเป็นผู้เชี่ยวชาญได้นั้น สำคัญที่สุดคือ แพสชันในงาน ความอดทน และใจที่คิดถึงคุณภาพ

“นอกจากความแข็งแรง ความประณีต และความใส่ใจต่อคุณภาพ การจะอยู่กับอะไรซ้ำๆ คุณต้องมีใจรักมันมากพอ อย่างเบนนีที่ทำงานนี้มากว่า 20 ปีแล้ว” ตัวแทนคนเดิมกล่าว

“เราควรจะบอกตัวเองอย่างไร เมื่อต้องเจองานลักษณะซ้ำๆ ทุกวัน” เราถาม

“ไม่ต้องบอกอะไร ตราบใดที่เราและบริษัทเชื่อและเห็นคุณค่าในงานฝีมือเหมือนกัน เราเห็นคุณค่า เราจึงทำงานออกมาอย่างประณีต เช่นเดียวกับบริษัทที่เห็นคุณค่าและให้ค่ากับพวกเราที่เป็นช่างฝีมือ” เบนนีตอบ

เสน่ห์หนึ่งของงานฝีมือคือลายเซ็นหรือตัวตนของช่างที่ฝากไว้ในงานชิ้นนั้น แต่สำหรับแบรนด์ระดับโลกที่มีมาตรฐานเป็นสำคัญ อะไรคือหน่วยวัดรักษามาตรฐานแรงดึงตึงของเชือก

“ประสบการณ์และทักษะจะบอกคุณ” เบนนี่ตอบเรา เก้าอี้หลายพันตัวที่ผ่านมือเบนนีกำลังตอบเรา

ในกระบวนการถักเก้าอี้ของ Carl Hansen & Søn มีรูปแบบการถัก 4 ประเภท เป็นวิธีการถักด้วยเชือกกระดาษ (Paper Cord) 2 ประเภท ได้แก่ มีเส้นพุ่งเส้นนอนคล้ายการสานในเก้าอี้รุ่น CH23 และ CH25 และการผูกรัดตึงแบบที่เบนนีสาธิตให้เราชมผ่านเก้าอี้รุ่น CH24 หรือเก้าอี้ Wishbone ในตำนาน นอกนั้นเป็นการถักด้วยหวายในสไตล์ฝรั่งเศส

สำหรับการทำเก้าอี้ Wishbone ตอนเริ่มต้นสำคัญที่สุด เพราะส่งผลต่อเก้าอี้ทั้งตัว

ถัดมาคือช่วงเริ่มต้นของส่วนสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนจบที่ต้องออกแรงให้มากพอ เพราะถ้าไม่มีแรงดึงที่แข็งแรงและเท่ากันทั้งสองด้าน ตรงกลางเก้าอี้จะหย่อน

สำหรับเบนนี ลายเซ็นที่เขาฝากไว้ในเก้าอี้ Wishbone คือร่องรอยความสมบูรณ์แบบของเชือกใน 5 – 6 แถวแรก

“ในขณะที่ช่างฝีมือคนอื่นอาจจะเล็กจะใหญ่ แต่ของผมเส้นเชือกจะอยู่ในระดับที่เท่ากัน” เบนนี้ยิ้มเขิน

“แล้วกระบวนการไหนของการถักเก้าอี้ที่ยากที่สุด” เราถาม

“ไม่มีเลย มีแต่งานชิ้นที่ท้าทายที่สุด นั่นคือเก้าอี้เลานจ์แชร์ รุ่น CH25 ซึ่งต้องใช้เชือกกระดาษความยาว 400 เมตร และใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงจึงเสร็จสมบูรณ์” คำตอบของเบนนีทำให้นึกถึงบรรยากาศก่อนเริ่มต้นบทสนทนา ซึ่งเขากำลังแสดงขั้นตอนการถักเก้าอี้ Wishbone ด้วยเชือกกระดาษยาว 120 เมตร เสร็จสมบูรณ์ในระยะเวลาไม่ถึงชั่วโมง

ท่าทางที่จดจ่ออยู่กับแรงดึง ประกอบจังหวะขึ้นลงของเชือก ทำให้เราและผู้ชมซึ่งเป็นแฟนคลับที่ล้อมวงอยู่ดูเพลินเหมือนเวลาเพิ่งผ่านไปไม่นาน

ในการเดินสายแสดงวิธีถักเก้าอี้ Wishbone ของเบนนีตามงานแสดงเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกแต่ละครั้ง เบนนีและทีมงานเล่าว่า เป็นความตั้งใจของแบรนด์ที่อยากแสดงให้เห็นธรรมชาติของงานฝีมือและขั้นตอนในมาตรฐานเดียวกันกับที่ทำในโรงงาน Carl Hansen & Søn บทเกาะ Funen ในประเทศเดนมาร์ก

“ไม่ว่าจะทำเก้าอี้ตรงหน้าคุณตอนนี้หรือทำที่โรงงาน คุณภาพเดียวกันทั้งหมด” เบนนียืนยัน

“เก้าอี้รุ่น Wishbone มีความหมายกับคุณยังไง ถึงขนาดสักรูปเก้าอี้ไว้บนแขน” เราถาม

“เก้าอี้รุ่นนี้เป็นเก้าอี้ตัวแรกที่ผมทำ ให้ทั้งงานและคุณค่าในตัวเอง เก้าอี้ตัวนี้จึงเป็นชีวิตทั้งชีวิตของผม” เบนนีตอบ ก่อนจะทิ้งท้ายเรื่องรอยสักบนแขนซึ่งที่มาสนุกราวกับหนังคนละม้วนกับเรื่องซึ้งๆ ในนาทีที่แล้ว

“ครั้งที่ไปเดินสายที่ลอนดอน ผมพบผู้ชายคนหนึ่งมีรอยสักเก้าอี้ Wishbone บนแขน ผู้ชายคนนี้แค่มีเก้าอี้ตัวนี้ที่บ้านเขาและเขารักมากจนสักไว้บนแขน ผมก็คิดกับตัวเองว่า ผู้ชายคนนี้ไม่ได้ทำงานที่ Carl Hansen & Søn สักหน่อยเขายังมีรอยสัก ไม่ได้การแล้ว ผมเป็นคนทำเก้าอี้ ผมอยากได้บ้าง” เบนนีเล่าที่มาของ Wishbone บนแขนซ้ายของเขา

ชื่อ: เบนนี แฮมเมอร์ ลาร์เซน (Benny Hammer Larsen)
สัญชาติ: เดนมาร์ก
ผู้เชี่ยวชาญ: Weaver ช่างถักเก้าอี้จาก Carl Hansen & Søn
ความสามารถ: ถักเชือกกระดาษความยาว 120 เมตร ให้เป็นที่นั่งในแพทเทิร์นแบบหน้าจั่วของเก้าอี้ Wishbone ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง
ประสบการณ์:  20 ปี

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan