“ครูแรงรึ ถ้าครูแรง จะได้ไหว้ครู” 

ข้อความนี้เป็นรับสั่งจากพระโอษฐ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จครู ที่มีการบันทึกไว้ในหนังสือ ป้าป้อนหลาน ซึ่ง หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดา นิพนธ์ขึ้นโดยรวบรวมข้อสงสัยที่หลานๆ ได้ทูลถามถึงเรื่องต่างๆ หลายต่อหลายเรื่อง พร้อมกับคำตอบที่ประทานแก่หลานๆ เพื่อแก้ข้อสงสัยเหล่านั้น พระนิพนธ์ ป้าป้อนหลาน เล่มนี้จึงมีเนื้อหาครอบคลุมถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ จารีต ประเพณี ความเชื่อ ศิลปะ และวัฒนธรรม ฯลฯ รวมถึงมูลเหตุของการ ‘ไหว้ครู’ ในวันนริศด้วย 

8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ
8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ

หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ หรือท่านหญิงอาม ได้ทรงบันทึกเหตุการณ์ที่เสด็จพ่อ คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงเล่าประทานเหตุการณ์ ‘ครูแรง’ ที่เกิดขึ้นที่วังท่าพระในครั้งนั้นไว้โดยละเอียดว่า 

“พ่อกำลังกินข้าวอยู่ข้างบน ได้ยินเสียงใครเคาะโลหะอย่างหนึ่งที่ห้องใต้ชั้นต่ำ ดังกังวานได้ยินถนัดหมดทุกคน (ห้องใต้ชั้นต่ำนี้อยู่ชั้นล่างตรงกับห้องเสวย เป็นที่ทรงเก็บศิลปวัตถุและเครื่องดนตรี มักจะปิดกุญแจไว้ เปิดเป็นเวลา เช่น ลูกๆ ลงไปตีปิงปองกัน หรือครูมาสอนหนังสือ ในเวลามีงาน มีแขก เป็นต้น) จึงต่างก็โจษกันแซ่ว่าเสียงใครเคาะอะไรในห้องนั้น จะมีใครไปเคาะได้อย่างไรในเมื่อห้องก็ปิดใส่กุญแจไว้ พ่อออกความเห็นว่าอาจจะเป็นหนูขึ้นไปไต่บนฆ้องวง เหยียบไม้ตีฆ้องซึ่งวางพาดอยู่กระดกไปถูกลูกฆ้องเข้า จึงให้เด็กลองลงไปห้อง เคาะพิสูจน์ดูก็ไม่ใช่ ทั้งไม่มีเครื่องดนตรีใดๆ เกิดเสียงเหมือนเช่นนั้นเลย” 

8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ

หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ ทรงบันทึกต่อไว้ว่า นอกจากเครื่องดนตรีแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้โปรดให้ลองเคาะโลหะจากศิลปวัตถุอื่นๆ เพื่อทรงลองฟังเสียงเปรียบเทียบต่อไปเรื่อยๆ จนปรากฏว่าเสียงที่พ้องกันกับเสียงเคาะโลหะที่ทรงได้ยินมาเมื่อสักครู่นั้น คือเสียงที่เกิดจากการเคาะเศียรพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ทรงสะสมและบูชา

“ต่างพูดเถียงกันว่าทำไมดังขึ้นเองได้ พ่อก็เอ่ยขึ้นว่า ‘ครูแรงรึ ถ้าครูแรง จะได้ไหว้ครู’ พอพูดขาดคำก็มีเสียงเคาะดังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ดังรัวกังวานได้ยินชัดทุกคน นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จึงคิดไปในทางดีว่า ครูมาเตือนสติมิให้เป็นคนประมาท ขาดความเคารพครูบาอาจารย์ พ่อก็เลยไหว้ครูตั้งแต่นั้นมาทุกปีจนบัดนี้” 

และนั่นคือปฐมเหตุที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงจัดพิธีไหว้ครูขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่เมื่อคราวที่ประทับ ณ วังท่าพระ จนกระทั่งเสด็จย้ายมาประทับที่บ้านปลายเนินใน พ.ศ. 2457 แม้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จะสิ้นพระชนม์ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 แต่พิธีไหว้ครูก็ยังคงจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยพระโอรส-ธิดา และพระทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยรักษารูปแบบตามพิธีการอย่างดั้งเดิมไว้ทุกประการ โดยพิธีไหว้ครูนั้นจะจัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน อันเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่เรียกขานกันต่อมาว่า ‘วันนริศ’ 

8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ
8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ

ครูที่เรียนรู้ด้วยตนเอง

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงรอบรู้ในเชิงศิลป์ทุกแขนง จนทรงได้รับพระสมัญญาว่า ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ และทรงเป็น ‘สมเด็จครู’ ของศิลปินทุกผู้ทุกนาม พระเกียรติยศมิเพียงปรากฏในผืนแผ่นดินไทยเท่านั้น แต่ยังเผยแผ่ไปทั่วโลกด้วย เพราะทรงได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกตามประกาศใน พ.ศ. 2506 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเป็นพระองค์แรก ทรงควบคุมการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ ทรงเป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมสำคัญของชาติไว้มากมาย เช่น วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดหินอ่อนที่งามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทรงนิพนธ์เพลงไทยอย่างเพลง เขมรไทรโยค ทรงคิดค้นรูปแบบการละครชนิดใหม่ที่เรียกกันว่า ละครดึกดำบรรพ์ โดยการประยุกต์มาจากโอเปรายุโรป รวมทั้งทรงพระนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ไว้หลายเรื่องหลายตอน เช่น อิเหนา สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย และ รามเกียรติ์ 

ทรงออกแบบพระเมรุมาศที่งามสมพระเกียรติยศสำหรับงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และงานพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ และยังเป็นต้นแบบของการออกแบบพระเมรุมาศในสมัยต่อๆ มา รวมทั้งเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้ ก็ปรับมาจากบทพระนิพนธ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงนิพนธ์ขึ้น เพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ฯลฯ พระปรีชาสามารถในสรรพศิลป์และศาสตร์ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ด้วยพระองค์เองเป็นหลัก

ความที่ประสูติใต้เศวตฉัตร ด้วยทรงเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 การที่จะเสด็จไปทรงฝากพระองค์เป็นศิษย์ เพื่อศึกษาศิลปวิทยากับใครต่อใครหรือศิลปินคนไหนนั้น ก็ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะเมื่อขณะยังทรงพระเยาว์นั้น ต้องประทับในพระบรมมหาราชวังร่วมกับพระมารดา (พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย) ไปจนกว่าจะถึงเวลาโสกันต์

ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเชษฐาพระองค์ใหญ่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ถวายเพลพระภิกษุสงฆ์ ที่ได้รับนิมนต์ให้มารับพระราชทานฉันภัตตาหารเพลยังพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ในพระบรมมหาราชวัง อยู่เป็นประจำ เมื่อทรงประเคนเรียบร้อยแล้ว ก็มักจะเสด็จไปทอดพระเนตรภาพเขียนสีตามระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่เป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็เสด็จไปประทับร่วมกับวงปี่พาทย์อยู่เสมอๆ 

เวลาเสด็จไปทอดพระเนตรระเบียงวัดพระแก้ว ก็มักจะเสด็จไปทอดพระเนตรวิธีบดสี ผสมสี วาด ลงสี ฯลฯ ก่อนเสด็จกลับมาทรงลองวาดตาม หรือเวลาเสด็จไปประทับกับวงปี่พาทย์เพื่อทอดพระเนตรทางดนตรี ก็จะทรงขอให้ครูดนตรีช่วยสอนการตีระนาด ตีฆ้อง ตีกลอง ฯลฯ ถวายได้บ้างเป็นครั้งคราว แม้เวลาเสด็จไปไหนต่อไหนก็จะทรงม้วนเอาผืนระนาดติดพระองค์ไปทรงซ้อมด้วยเสมอ จนเจ้าพี่เจ้าน้องทรงเริ่มบ่นกันอุบอิบว่า “ตีอยู่นั่นแหละ น่ารำคาญ”

เมื่อ พ.ศ. 2425 อันเป็นปีครบรอบการสถาปนากรุงเทพมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำริให้จัดงานฉลองพระนคร รวมทั้งฉลองพระแก้วมรกตขึ้นด้วยในคราวเดียวกัน และยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกด้วย ขณะนั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ได้ทรงรับพระธุระกำกับดูแลการปฏิสังขรณ์หอพระคันธารราษฎร์ทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งซ่อมและทำซุ้มพระเจดีย์ลังกา และซ่อมรูปยักษ์หน้าพระอุโบสถอีกคู่หนึ่ง

8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ

หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดา ได้บรรยายไว้ในหนังสือพระประวัติ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความว่า 

“…การซ่อมวัดพระแก้วครั้งนั้น สนุกเพลิดเพลินเหลือเกิน ด้วยบรรดาช่างฝีมือดีทั้งหลายทุกประเภทมาประชุมพร้อมกันหมด ได้เห็นวิธีการทำงาน ได้ฟังเขาคุยกัน ถกเถียงกัน ได้ช่วยพระอาจารย์ต่างๆ เขียนภาพ ในที่สุด ได้ทรงเขียนภาพมัจฉชาดกที่ผนังในหอพระคันธารราษฎร์ ซึ่งทรงเป็นนายด้านด้วยฝีพระหัตถ์เอง แล้วอาสาช่วยประดับมุกเช็ดหน้าพระทวารพระพุทธปรางค์ 1 วง ทั้งทรงรับแต่งโคลงรามเกียรติ์ด้วย เมื่อเสร็จงานแล้ว จึงทรงได้ความรู้ความชำนาญมาก เหมือนได้เข้าโรงเรียนการช่างที่ดีที่สุด”  

การทรงงานในครั้งนั้นถือเป็นการสั่งสมประโยชน์ทางความรู้เกี่ยวกับงานช่างต่างๆ ซึ่งตรงกับความสนพระทัยอยู่แล้วด้วย สมเด็จครูจึงทรงเห็นว่าการจะพัฒนาความรู้ความสามารถนั้นจะรอใครไม่ได้ ต้องเกิดจากพระวิริยะอุตสาหะในพระองค์เอง จึงทรงเริ่มเสาะหาและสะสมงานศิลปวัตถุหลากหลายแขนง และทรงใช้ศิลปวัตถุเหล่านี้เป็นดั่งครูที่ทรงค่อยๆ ศึกษารายละเอียดด้วยพระวิริยะอุตสาหะจนแตกฉาน เพื่อทรงนำมาพัฒนาจนก่อให้เกิดเป็นงานศิลป์สำคัญๆ ของชาติไทยมากมาย

ครูของสมเด็จครู

ทุกๆ ปีในวันที่ 28 เมษายน อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ พระทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์จะร่วมกันจัดงานวันนริศขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระองค์ท่าน นอกจากพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระอัฐิแล้ว พิธีที่สำคัญอีกพิธีหนึ่งก็คือ ‘พิธีไหว้ครู’ อันเป็นพิธีที่สืบต่อมาตั้งแต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ยังทรงมีพระชนม์ชีพ โดยยังคงรักษารูปแบบเดิมไว้ทั้งหมด 

8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ

ศิลปวัตถุที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงถือว่าเป็นครูของพระองค์ท่านนั้นมีมากมาย แต่ละชิ้นล้วนไม่ได้เป็นสิ่งของที่สูงด้วย ‘มูลค่า’ แต่เป็นสิ่งที่สูงด้วย ‘คุณค่า’ เป็นต้นว่ามีโครงสร้างทางศิลปกรรมที่งดงาม มีสัดส่วนที่ลงตัว มีรายละเอียดที่แจ่มชัด ผูกลายได้งดงามประณีต มีลักษณะทางกายวิภาคที่สมบูรณ์ เป็นต้น

8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ไปถวาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2484 เกี่ยวกับพิธีไหว้ครูของพระองค์ความว่า 

“การไหว้ครูเกล้ากระหม่อมก็ไหว้เสมอทุกวันเกิด จะเป็นวันพฤหัสบดีหรือมิใช่ก็ช่าง การไหว้นั้นก็แปลกกว่าเขาทั้งหลาย ไหว้ฝีมือคนที่เราจำอย่างท่านเป็นครู สุดแต่จะหาฝีมือของท่านมาตั้งไหว้ได้ ถึงไม่รู้จักชื่อท่าน ก็นึกตั้งเรียกเอาตามชอบใจ เช่นครูวัดเชิงหวาย ครูดำ ดั่งเคยกราบทูลมานั้น เป็นต้น ไม่ได้ตั้งให้ท่านเป็นฤษี….”

จะเห็นได้ว่าทรงนับถือ ‘ฝีมือ’ ของผู้รังสรรค์งานศิลป์ชิ้นนั้น และทรงเคารพในฐานะ ‘ครู’ แม้ไม่ทรงทราบว่าศิลปินผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม แต่ก็ทรงเรียกว่าครูทั้งหมด และทรงตั้งชื่อครูตามลักษณะทางศิลป์ของศิลปวัตถุนั้นๆ และทุกวันที่ 28 เมษายน ศิลปวัตถุที่ทรงบูชาก็จะได้รับการเชิญมาประดิษฐานรวมกันบนตำหนักไทยเพื่อประกอบพิธีสำคัญนี้ร่วมกัน 

บ้านปลายเนิน

ในปีนี้ The Cloud ขอนำท่านไปชมส่วนหนึ่งของศิลปวัตถุที่สมเด็จครูทรงบูชาว่าเป็นครูของพระองค์ท่านว่ามีอะไรกันบ้าง

C:\Users\lode.n\Desktop\รูปครูของสมเด็จครู_โลจน์ นันทิวัชรินทร์\11. เศียรพระทรงเครื่อง.jpg

ศิลปวัตถุแรกที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ‘เศียรพระทรงเครื่อง’ อันเป็นปฐมเหตุของพิธีบูชาครู คราวเมื่อทรงได้ยินเสียงเสียงเคาะโลหะดังกังวานในเหตุการณ์ครั้งนั้น ครั้งยังประทับที่วังท่าพระ เศียรพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้ ไม่ปรากฏว่าทรงได้มาจากที่ไหน แม้พระพักตร์เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย แต่ก็สันนิษฐานได้ว่ามีพุทธลักษณะตกอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ด้วยเหตุที่ปรากฏศิราภรณ์เพียงกระบังหน้าเท่านั้น พระเศียรจึงเผยให้เห็นเม็ดพระศก (ปุ่มนูนของขมวดผมบนเศียรพระพุทธรูปที่มีลักษณะอย่างก้นหอย) ปรากฏเห็นพระอุษณีษะ (กะโหลกส่วนที่นูนขึ้นมากลางพระเศียร) และพระเกตุมาลา (พระรัศมีซึ่งเปล่งอยู่เหนือพระเศียร) อย่างชัดเจน ซึ่งเทียบเคียงได้กับพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนกลางที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงใช้เศียรพระทรงเครื่ององค์นี้ในการศึกษาพุทธศิลป์อยู่เสมอ

8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ

‘โขนครูดำ’ เป็นศิลปวัตถุชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่ทรงบูชาว่าเป็นครู โขนครูดำนั้นถือเป็นงานศิลป์ชิ้นพิเศษที่ลงรักดำทั้งเศียรโดยไม่ปิดทองเขียนสีใดๆ ทั้งสิ้น แตกต่างจากหัวโขนทศกัณฐ์ ซึ่งจะมีสีเขียวหรือไม่ก็สีทอง จึงเป็นที่มาแห่งเหตุที่ทรงตั้งชื่อว่าครูดำ อีกทั้งยังเป็นฝีมือช่างโบราณครั้งสร้างกรุงที่งดงามเพื่อให้ได้ทรงศึกษาเรื่องการประกอบหัวโขนได้ด้วย โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีลายพระหัตถ์ไปถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2482 ถึงที่มาของโขนครูดำ ความว่า

“ส่วนช่างปั้นก็มีอีกคนหนึ่งเกล้ากระหม่อมเรียกว่าครูดำ นั่นเพราะได้หัวโขนฝีมือท่านมา เป็นหัวทศกรรฐ์ เขาลงรักดำไว้ทั้งหัว ไม่ได้ปิดทองเขียนสี เพราะว่าเก่าจนใส่ไม่ได้แล้ว ซ่อมแซมปุปะตั้งไว้บูชาเป็นครูเท่านั้น ฝีมือครูดำนี้พบในที่อีกหลายแห่ง สันนิษฐานได้ว่าเป็นช่างครั้งรัชกาลที่ ๑” 

หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ พระนัดดา ได้สันนิษฐานว่า ศิลปินผู้ทำหัวโขนนี้อาจพึงพอใจในหัวโขนอันดำสนิทของทศกัณฐ์ จึงทำการติดเขี้ยวเข้าไปให้แล้วเสร็จ อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ช่างทำหัวโขนจะทำเมื่อลงสีและปิดทองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหัวโขนลักษณะนี้ไม่เคยมีปรากฏที่ใดมาก่อนอีกด้วย

หัวโขนตัวละครอื่นๆ ก็ทรงสะสมไว้เพื่อทรงศึกษาวิธีปั้นและเขียนลายอีกหลายหัว ทั้งพระราม พระลักษมณ์ พระพิราพ นางอากาศตะไล ฯลฯ 

 8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ
8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

‘บุษบกไม้’ เป็นครูที่สำคัญมากๆ อีกเช่นกันที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไปทรงพบเข้าที่วัดเก่าแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีบันทึกที่ชัดเจนว่าเป็นวัดอะไร เป็นบุษบกไม้จำหลักศิลปะอยุธยาตอนปลาย มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ขาดเพียงบัวกลุ่มปลียอดของบุษบกเท่านั้น เนื่องด้วยพระภิกษุในวัดได้ใช้ขวานจามออกไปเพื่อนำไม้ไปใช้ทำฟืน ด้วยเห็นว่าเป็นของเก่าและทรุดโทรมมากอยู่ 

เมื่อทอดพระเนตรเห็นก็ได้เสด็จเข้าไปทอดพระเนตรใกล้ๆ ด้วยความสนพระทัยว่าเป็นงานศิลป์ที่งดงามยิ่งนัก แม้ว่าปลียอดจะหายไปและชำรุดมากแล้วก็ตาม ถ้าหากทรงปล่อยไว้ต่อไป บุษบกไม้หลังนี้จะมีคุณค่าเพียงแค่เศษฟืนเท่านั้น จึงได้ทรงกระทำผาติกรรม นำบุษบกไม้หลังนี้กลับมายังที่ประทับเพื่อบำรุงรักษา โดยทรงแลกกับตู้กับข้าวเพียงตู้หนึ่งเท่านั้น ต่อมาบุษบกไม้หลังนี้ได้เป็นงานศิลป์ชิ้นสำคัญที่ทรงใช้ศึกษาโครงสร้างและลาย เพื่อทรงออกแบบพระเมรุมาศ และพระจิตกาธาน สำหรับงานพระบรมศพและงานพระศพพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์สำคัญหลายพระองค์ รวมทั้งทรงใช้เป็นลายอ้างอิงในการออกแบบตาลปัตรถวาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร และเจ้านายอื่น ๆ อีกหลายพระองค์ รวมทั้งปรากฏเป็นภาพฝีพระหัตถ์ทรงเขียนในภาพ เนมิราชชาดก เมื่อ พ.ศ. 2470 เป็นต้น

 8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

‘ตู้พระธรรมลายรดน้ำ’ เป็นศิลปวัตถุตระกูลช่างวัดเชิงหวาย จึงทรงเรียกว่าครูวัดเชิงหวาย สันนิษฐานว่าเป็นช่างสมัยอยุธยา ตามลายพระหัตถ์ที่ทรงบันทึกไว้ว่า 

“…ได้ตู้ฝีมือท่านมา ด้วยสมเด็จพระวันรัตน (ฑิต) ให้ ท่านบอกว่าได้มาจากวัดเซิงหวายกรุงเก่า จึงได้เรียกชื่อว่าครูวัดเซิงหวาย” 

คำว่ากรุงเก่าที่ทรงบันทึกไว้นั้นจึงทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงอยุธยา ตู้พระธรรมลายรดน้ำนี้มีความงดงามด้วยลายกระหนกที่ละเอียดอ่อนและพริ้วไหว อันเป็นเอกลักษณ์ของช่างตระกูลนี้ ซึ่งจะลงลายกระหนกเป็นลายพื้นปรากฏอยู่ทั้งสี่ด้านของตู้ ส่วนด้านซ้ายและขวานั้นจะเขียนลายธรรมชาติและสัตว์ อย่างเช่น มังกร ครุฑ สิงห์ รวมทั้งสัตว์ในหิมพานต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงศึกษาวิธีผูกลายจากตู้พระธรรมลายรดน้ำนี้อยู่เสมอ

 8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

‘รูปปั้นช้างดินเผา’ เป็นช้างปั้นที่มีสัดส่วนสวยงามด้วยขนาดทางกายวิภาค ทั้งสรีระ กล้ามเนื้อ และท่าทางการยืน ที่น่าสนใจที่สุดคือลวดลายตามธรรมชาติบนหนังช้าง ซึ่งมีรอยเหี่ยวริ้วย่นที่ละเอียดสมจริงมาก ประหนึ่งหนังช้างจริงๆ จนยากจะเชื่อว่าช้างตัวนี้ปั้นขึ้นจากดินเผา ไม่ปรากฏชัดเจนเช่นกันว่าทรงได้รูปปั้นช้างรูปนี้มาจากที่ใด แต่งดงามมากจนพอที่จะทรงนำมาเป็นแบบในการเขียนภาพได้ จึงทรงเรียกรูปปั้นช้างดินเผานี้ว่าครูช้าง  

ต่อมาได้ทรงออกแบบช้างสำริดเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกแก่รัฐบาล เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2473 ขณะที่ประทับอยู่ในกรุงไซ่ง่อน ต่อมาใน พ.ศ. 2479 รัฐบาลเวียดนามได้พิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะนำรูปหล่อช้างสำริดรูปนี้มาตั้งในบริเวณสวนสัตว์และพฤกษศาสตร์ไซ่ง่อน (Saigon Zoo and Botanical Gardens) เพื่อรำลึกถึงการเสด็จฯ เยือนเวียดนามในครั้งนั้น ซึ่งเราไปชมได้ในปัจจุบัน

 8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

‘หนังสือ’ เป็นสิ่งที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงบูชาว่าเป็นครูด้วยเช่นกัน ทรงศึกษาความรู้จากหนังสือที่ทรงสะสมไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ หนังสือภาษาไทย เช่น บทพระราชนิพนธ์อันเป็นวรรณคดีสำคัญ หนังสือด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ หนังสือเกี่ยวกับศิลปะไทย เอเชีย และพุทธศิลป์ ฯลฯ เป็นหนังสือที่ทรงได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล หรือทรงได้รับประทานมาจากเจ้านายที่ทรงคุ้นเคย เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือที่มีผู้ถวาย รวมทั้งที่ทรงเสาะหามาด้วยพระองค์เอง 

สำหรับหนังสือภาษาต่างประเทศนั้น ทรงสั่งซื้อจากประเทศต่างๆ หลายต่อหลายเล่ม มีเนื้อหาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สำคัญอย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในปารีส (Musée du Louvre) งานศิลป์ในยุคสมัยต่างๆ ลวดลายของเทพเจ้าตามลัทธิความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ สถาปัตยกรรมและงานศิลป์ของศาสนสถานสำคัญๆ ทั่วเอเชีย รวมทั้งความรู้เรื่องศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมแบบยุโรป เป็นต้น

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ต้องทรงงานร่วมกับสถาปนิก ช่าง และศิลปินทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้องทรงศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อสามารถอธิบาย สั่งงาน วิจารณ์ ติชม และแก้ไขให้งานต่างๆ บรรลุได้ตามพระประสงค์ หนังสือที่ทรงศึกษาและสะสมหลายต่อหลายเล่มยังสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ Amazon.com หรือกลายเป็น E-Book ให้ผู้สนใจได้สืบค้นในปัจจุบัน

 8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ
 8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

ครูของสมเด็จครูนั้นยังมีอีกมากมาย เช่น ‘ไม้ฆ้อง 7 ปล้อง’ เป็นสิ่งที่ทรงนับถือดั่งครูดนตรี ไม้ฆ้องนี้มีลักษณะพิเศษอันเป็นสิ่งหายาก ด้วยด้ามไม้ฆ้องนั้นทำมาจากไม้ไผ่ความยาว 1 คืบแต่มีปล้องไผ่ถึง 7 ปล้อง ซึ่งปกติไม่มีไผ่ตามลักษณะเช่นว่า ส่วนหัวไม้นั้นทำขึ้นจากหนังช้างซึ่งเชื่อกันว่าจะให้เสียงที่ไพเราะที่สุดเมื่อบรรเลง หรือ ‘ปลายหอก’ โบราณที่สลักเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณอันแสนวิจิตรนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงนับถือว่าเป็นครูเหล็ก พระองค์ท่านทรงนำมาเก็บไว้และทำกรอบใส่ เพื่อทรงศึกษาเรื่องลายสำหรับทรงใช้ออกแบบงานศิลป์ต่างๆ เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าศิลปวัตถุที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงถือว่าเป็นครูของพระองค์ท่านนั้นไม่ได้เป็นสิ่งของที่สูงด้วย ‘มูลค่า’ แต่เป็นสิ่งที่สูงด้วย ‘คุณค่า’ ให้ทรงศึกษาและพัฒนาพระองค์ให้ทรงเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม และสมเด็จครูของชาวไทย

พิธีไหว้ครู เรียบง่ายและงดงาม

 8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ
8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

สำหรับพิธีบูชาครูที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้น เป็นพิธีที่เรียบง่าย ประณีต และงดงาม ก่อนถึงวันพิธี ต้องมีการทำเครื่องบูชาครู อันประกอบไปด้วยพุ่มขนาดเล็กเท่ากำมือ 5 พุ่มด้วยกัน นั่นคือ พุ่มข้าวตอก พุ่มข้าวสารข้าวเหนียว พุ่มเมล็ดผักกาด พุ่มหญ้าแพรก และพุ่มมะลิ ซึ่งพุ่มทั้งหมดนี้เตรียมขึ้นโดยพระนัดดาและพระปนัดดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 

เริ่มจากการนำแม่พิมพ์ (Mould) พานพุ่มขนาดเท่ากำมือที่ทำจากไม้อันเป็นของโบราณมาห่อหุ้มด้วยกระดาษติดแป้งเปียก คล้ายๆ การทำปาปีเย่ร์-มาเช่ (Papier-mâché) หรือที่เราเรียกอย่างคุ้นเคยว่าเปเปอร์มาเช่ให้เกิดเป็นทรงพุ่ม จากนั้นนำแม่พิมพ์ไม้ออก เหลือแต่โครงพุ่มกระดาษ แล้วค่อยนำสีผึ้งขาวบริสุทธ์มาหลอมไฟจนละลาย จากนั้นจึงนำสีผึ้งไปเคลือบโครงพุ่มกระดาษให้ทั่วทั้งพุม ก่อนนำข้าวตอก ข้าวสารข้าวเหนียว เมล็ดผักกาด ฯลฯ ค่อยๆ ติด ค่อยๆ เรียงเข้าไปบนพุ่มทีละเม็ดๆ จนครบทั้งพุ่ม โดยหนึ่งพุ่มสำหรับเรียงพืชพรรณเพียงหนึ่งชนิด เช่น ถ้าเป็นพุ่มข้าวตอก ก็จะมีแต่ข้าวตอกเรียงประดับอย่างเดียวทั้งพุ่ม เป็นต้น 

หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์

การบูชาครูด้วยด้วยพุ่มที่ทำจากสีผึ้งนั้น สันนิษฐานว่ามาจาก หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ด้วยท่านเป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำพุ่มด้วยสีผึ้ง หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ นั้น กำเนิดในราชสกุลงอนรถ เป็นธิดาใน หม่อมเจ้าแดง งอนรถ และได้เข้ามาอยู่ใต้พระบารมีของพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย พระมารดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 

8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ
8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ทรงเป็นช่างดอกไม้และทรงชำนาญการทำพุ่มสีผึ้ง รวมทั้งปักพุ่มบูชาทรงทำพุ่มสีผึ้งขนาดต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสด็จออกมาประทับที่วังท่าพระก็ยังทรงทำพุ่มอย่างต่อเนื่อง เมื่อพระโอรสทรงเป็นศิลปิน ก็ได้ทรงออกแบบลวดลายเขียนพาน ทำหุ่นทรงติดพุ่ม สวมยอดแบบตัวพุ่มถวายให้งดงาม เมื่อหม่อมราชวงศ์โตมาอาศัยอยู่กับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ก็ได้รับถ่ายทอดวิชาต่างๆ จากพระองค์ท่านไว้ด้วยเช่นกัน

พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย

ส่วนพรรณพืชที่นำมาประดับบนพุ่มนั้น ล้วนสื่อความหมายถึงการเติบโต แตกช่อ งดงาม เปรียบเหมือนความรู้ที่ได้รับจากครูก็จะเติบโต ต่อยอด และแตกฉานให้ได้นำไปพัฒนาต่อไปด้วยเช่นกัน

นอกจากพุ่มเทียนทั้งห้าพุ่มแล้ว ก็จะมีการเตรียม ‘อุบะดอกไม้สด’ ซึ่งเป็นฝีมือจากช่างในพระบรมมหาราชวัง และ ‘ผ้าสีชมพูผืนเล็กๆ’ ผูกพู่ที่ปลายทั้งสองชายและร้อยด้าย ซึ่งเตรียมโดยสมาชิกราชสกุลจิตรพงศ์ เมื่อถึงพิธีไหว้ครู ก็จะเชิญหนังสือและศิลปวัตถุทั้งหมดมาประดิษฐานบนตำหนักไทย วางพุ่มทั้งห้าไว้ด้านหน้า มีการสวดบูชาพระรัตนตรัยและบูชาครู ก่อนการโปรยข้าวตอกดอกไม้ จากนั้นนำอุบะดอกไม้สดและผ้าสีชมพูไปประดับบนศิลปวัตถุให้ครบทุกชิ้น เป็นอันเสร็จพิธี

8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ
8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ
8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

ในทุกๆ ปี มูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์จะคัดเลือกนักศึกษาด้านศิลปะไทยทุกแขนงที่มีผลงานและผลการเรียนโดดเด่น เพื่อรับ ‘รางวัลนริศ’ อันเป็นทุนการศึกษา ด้วยความปรารถนาที่จะให้มีผู้สืบทอดศิลปะไทยทุกแขนงให้คงอยู่สืบไป นักศึกษาทุกคนที่ได้รับรางวัลนริศ จะได้รับเกียรติให้ร่วมพิธีไหว้ครูที่ตำหนักไทยด้วยเช่นกัน 

เมื่อจบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์และเรียบง่ายนี้แล้ว นักศึกษาจะคลานเข้าไปกราบและรับรางวัลนริศจากพานที่วางไว้หน้าพระอัฐิสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นดั่งการรับรางวัลจากองค์สมเด็จครู ผู้ทรงเป็นต้นแบบของศิลปินที่อุทิศพระองค์ ทรงทุ่มเททั้งความรู้และความสามารถเพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย

8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

ครูผู้สร้างครู

8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

พ.ศ. 2466 ศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เดินทางจากอิตาลีมาสู่กรุงสยาม หลังจากที่ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในทวีปยุโรป ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์ที่จะเสาะหาศิลปินที่เชี่ยวชาญในด้านศิลปะตะวันตก เพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้น และฝึกสอนช่างไทยให้มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตก

ในระยะแรกศิลปินไทยยังเคลือบแคลงสงสัยในฝีมือของช่างปั้นหนุ่มวัย 32 ปีชาวอิตาลีผู้นี้ แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเชื่อในความสามารถของเฟโรชี จึงทรงใช้พระองค์เองเป็นแบบ โดยประทับให้เฟโรชีปั้นพระองค์ ปรากฏว่าเฟโรชีปั้นได้อย่างสมจริงเป็นอย่างมาก จนเป็นที่กล่าวขานถึงฝีมือปั้นอันล้ำเลิศ 

ต่อมา สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงทรงกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็นแบบจริงพระราชทานแก่เฟโรชี โดยปั้นเฉพาะพระพักตร์ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยและเป็นที่ยอมรับของทั้งศิลปินและข้าราชการไทยทั้งหมดในเวลาต่อมา 

ศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี ผู้นี้ คือ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นคนแรก และเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างคุณูปการให้วงการศิลปะของไทยในเวลาต่อมาอีกมากมาย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการอุทิศพระองค์เป็นแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ในวันนั้น

ศิลปินชาวตะวันตกจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาในสยามเพื่อรับราชการในพระราชสำนัก ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและทำงานร่วมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์หลายต่อหลายคน และล้วนได้รับการทดสอบฝีมือจากพระองค์ท่านเพื่อให้ทรงมั่นพระทัยว่าศิลปินผู้นั้นจะมีความสามารถในราชการของสยามอย่างแท้จริง

8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ
8 สิ่งที่เป็นครูของกรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

นอกจากพระองค์เองแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ยังทรงนำศิลปวัตถุที่เป็นดั่งครูของพระองค์ท่านมาทดสอบความสามารถของศิลปินชาวตะวันตกด้วย เช่น ทรงใช้หัวโขนนางอากาศตะไล (ยักษิณีผู้รักษาด่านอากาศให้กับกรุงลงกา) ซึ่งสวมมงกุฎยอดน้ำเต้า 5 ยอด ปากแสยะ ตาโพลง และมี 4 หน้า ซึ่งวาดยากมากๆ เพื่อทดสอบศิลปินตะวันตกผู้หนึ่ง โดยให้วาดหัวโขนของนางอากาศตะไลผู้นี้เป็นภาพสีน้ำมันถวายให้ทอดพระเนตร เป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่สามารถระบุว่าทรงใช้วิธีนี้ทดสอบฝีมือของศิลปินผู้ใด ปัจจุบันภาพสีน้ำชิ้นนี้ยังรักษาไว้ที่บ้านปลายเนินพร้อมกับหัวโขนนางอากาศตะไลที่เป็นต้นแบบ

บ้านปลายเนิน

เช้าวันหนึ่งใน พ.ศ. 2562 ทายาทของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เข้าไปพบว่าส่วนหูของหัวโขนนางอากาศตะไล ฝีมือศิลปินสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้หลุดและร่วงลงมาอยู่ที่พื้น ห้องนั้นเป็นห้องที่ปิดประตู หน้าต่าง ใส่กุญแจลงกลอนอย่างแน่นหนา และแน่ใจว่าไม่มีสัตว์ชนิดใดอยู่ในห้องนั้นหรือเข้าไปจากภายนอกได้ ไม่ว่าจะเดินหรือบินเข้าไป ประตูตู้หลายๆ ตู้เปิดออก ยังดีที่ไม่มีศิลปวัตถุชิ้นอื่นชิ้นใดร่วงหล่นลงมาแตกหักเสียหาย

ด้านหลังของตำหนักตึก อันเป็นที่เก็บรักษาศิลปวัตถุสำคัญเหล่านี้ คือโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 36 ชั้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง ที่ห่างออกไปเพียง 23 เมตร และเครื่องจักรกำลังทำงาน…

8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ
8 สิ่งที่เป็นครูของ กรมพระยานริศฯ กับพิธีไหว้ครูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จครู ในวันนริศ

ภาพ : หม่อมราชวงศ์ประวีระ ประวิตร, หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์ และ หม่อมหลวง สุธานิธิ จิตรพงศ์

ขอขอบคุณ : หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์, หม่อมราชวงศ์กัลยา ติงศภัทิย์, หม่อมหลวงอนุวาต ไชยันต์, หม่อมหลวงสุธานิธิ จิตรพงศ์, หม่อมหลวงจิตตวดี จิตรพงศ์, หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์, อธิภัทร แสวงผล และ Facebook : สมเด็จครู 

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK