แล้วคำตอบที่เขาเพียรตามหาก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ท่ามกลางบรรดาเอกสารโบราณ พระราชนิพนธ์ และราชกิจจานุเบกษา ซึ่งถูกจัดเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ในหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ เขาเลือกนั่งมุมสงบ พลิก ตำราหุงกระจก ที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ และ หม่อมราชวงศ์ลิ้นจี่ ปราโมช ประทานไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2458 พลางประมวลประสบการณ์ค้นคว้าทดลองตลอดช่วงเวลาหลายปี 

ตำราฉบับนี้กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสมานรอยร้าว ความล้มเหลว พร้อมไขประตูความสำเร็จในการรื้อฟื้นคุณค่า ‘กระจกจืน’ และ ‘กระจกเกรียบ’ ศิลปหัตถกรรมโบราณที่สูญหายไปจากแผ่นดินสยามนานกว่า 150 ปี

กระจกจืน, กระจกเกรียบ
กระจกจืน, กระจกเกรียบ

คนสมัยก่อนเขาใช้ประดับตกแต่งเครื่องราชภัณฑ์ วัดวาอาราม และงานพุทธศิลป์ ถ้าลองสังเกตดู ดินแดนใดก็ตามที่อดีตเคยเป็นเมืองขึ้นของสยาม เช่น มะริด ทวาย นครศรีธรรมราช ลาว กัมพูชา หรือทางล้านนา เราจะพบงานศิลปะที่ประดับกระจกสีโบราณนี้แทบทุกแห่ง

“อย่างเชียงใหม่เองก็มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารว่าทางการสยามได้ส่งลูกปืนใหญ่ ลูกปืนเล็ก ทองคำเปลว และกระจกจืน มาเป็นสิ่งตอบแทนเครื่องบรรณาการต่างๆ เพราะกระจกเหล่านี้นิยมใช้งานกันมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 กระทั่งต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงได้มีการก่อตั้งกรมช่างหุงกระจกขึ้น เพื่อทำการผลิตกระจกทั้งสองรูปแบบ โดยโปรดฯ ให้กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ดํารงตําแหน่งเป็นเจ้ากรม”

รชต ชาญเชี่ยว ช่างหุงกระจก ชาวอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

รชต ชาญเชี่ยว ช่างหุงกระจกชาวอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เท้าความเป็นมาของศาสตร์แห่งกระจกโบราณ ภายในห้องบูชาครูอันโอ่โถงที่เขาเชื้อเชิญผมเข้ามาพูดคุย พร้อมถือโอกาสชื่นชมผลงานหัตถศิลป์วิจิตรบรรจง ทั้งขันห้าโกฐาก ซุ้มพระพิมพ์ บังแทรก ฐานพระพุทธรูป และสัตตภัณฑ์ ประดับตกแต่งงามระยับด้วยกระจกจากมรดกภูมิปัญญาเชิงช่างไทยซึ่งสูญหายไปราวสมัยรัชกาลที่ 5 เหตุไร้ผู้สืบสานและถูกทดแทนด้วยวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ

ทว่า ณ วันนี้ เขาชุบชีวิตมันขึ้นมาได้อีกหน และเป็นช่างหุงกระจกเพียงคนเดียวในประเทศไทยที่ทุ่มแรงกายแรงใจ เพื่อคืนลมหายใจให้กระจกโบราณหลากสีกลับมาทำหน้าที่เติมเต็มคุณค่างานประณีตศิลป์ไทยอย่างสง่างาม

สามเณรที่ฝันเป็นช่างทำปราสาทศพ

หลายวันต่อมา เมื่อเขายืนอยู่หน้ากุฏิของ ท่านพระครูปิยธรรมานุสิฐ วัดทรายมูล สามเณรรชตก็หวนนึกไปถึงบ่ายวันหนึ่งที่เขาตกอยู่ในห้วงอัศจรรย์จากกลิ่นธูปหอม ทำนองเพลงแห่พื้นเมือง และเครื่องใช้โบราณชวนพิศวง

ภาพตระการตาของสารพัดข้าวของเก่าคร่ำคร่าและเครื่องบูชาครูบาอาจารย์ในกุฏิ ตรึงใจให้รชตที่ขณะนั้นบวชเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เริ่มหลงใหลและฝักใฝ่ในงานศิลปะดั้งเดิม อีกทั้งเขายังใฝ่ฝันอยากเป็นร่างทรงและช่างทำปราสาทศพ ตามรอยพระครูปิยธรรมานุสิฐที่เขาเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งเชี่ยวชาญการทำปราสาทศพล้านนาและเป็นผู้มีองค์ทรงเจ้า

เขาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่าน ซึมซับองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ฝึกฝนทักษะเชิงช่างและงานหัตถกรรมหลากหลายแขนง จนในที่สุดก็ตัดสินใจลาสิกขามาครองตนเป็นอุบาสกเพื่อเลือกเส้นทางชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง

รชต ชาญเชี่ยว ช่างหุงกระจก ชาวอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

“จำได้ว่าอีกไม่กี่วันก็จะมีสอบปลายภาคชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม แต่หลังเลิกเรียนวันนั้นจู่ๆ ก็มีความคิดว่าอยากไปที่ไหนสักแห่ง เลยโทรหาช่างทำปราสาทศพที่เราช่วยงานอยู่เป็นประจำ ก่อนได้ความว่าทางนั้นกำลังเดินทางไปสร้างปราสาทที่อำเภออมก๋อย

“เราเปลี่ยนเป้าหมายจากกลับวัดเป็นจับรถเมล์ตามไปทันที โดยมีแค่ชุดนักเรียนชุดเดียวเท่านั้น พอไปถึงก็ได้ช่วยตกแต่งปราสาทอยู่เกือบสัปดาห์ พลาดการสอบจบและโดนครอบครัวดุชุดใหญ่ แต่สุดท้ายพ่อแม่ก็ดูเหมือนจะปลงใจและยอมให้เราเลือกอนาคตเอง

“เราไม่กลับไปเรียนอีกเลยหลังจากวันนั้น เพื่อมาทำปราสาทศพอยู่กับท่านพระครูเต็มตัวได้ห้าปี จนขึ้นเป็นหัวหน้าช่าง ระหว่างนั้นก็รับทำรถกระทง รถบุปผชาติ และงานออร์แกไนซ์ด้านวัฒนธรรมไปด้วย กระทั่งท่านพระครูถึงแก่มรณภาพ ชีวิตเราก็เหมือนกับขาดเสาหลัก เพราะไม่มีใครสนับสนุนการสร้างปราสาทศพในวัดอีกต่อไปแล้ว

“พอเลิกทำงานก็เคว้งคว้างไม่รู้จะไปทางไหนต่อ จึงกราบอธิษฐานขอพระครูช่วยมาดลใจ ให้คำตอบตรงองค์พระเจดีย์ที่ท่านชอบมานั่งเป็นประจำ แล้วทันใดนั้นกระจกจืนแผ่นหนึ่งก็ร่วงลงมาตรงหน้า”

หุงรุ่งหุงค่ำ

เขาเอื้อมหยิบกระจกจืนสีเงินแวววาวขนาดเท่าฝ่ามือขึ้นมาพิจารณา พลิกหลังหน้า ก่อนยื่นส่งมาให้ผม

“ข้างหน้าเป็นแก้ว ข้างหลังเป็นจืน (ตะกั่ว)” เขาอธิบายลักษณะเด่นภายนอกของกระจกโบราณ แล้วขยายเพิ่มเติมว่า กระจกจืนกับกระจกเกรียบแม้ผลิตจากวัสดุตั้งต้นเดียวกัน แต่ทั้งสองชนิดนั้นมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างกันสิ้นเชิง

กระจกจืน, กระจกเกรียบ
กระจกจืน, กระจกเกรียบ

กระจกเกรียบมีความบาง เปราะ และแตกหักง่ายคล้ายข้าวเกรียบ กระจกชนิดนี้เหมาะกับงานที่ต้องการความละเอียด หรือนำไปรังสรรค์เป็นลายยกดอก สร้างเหลี่ยมมุมในมิตินูนต่ำ เพียงใช้มีดกรีดแล้วหัก ชิ้นส่วนของกระจกจะไม่หลุดแยกจากกัน เพราะมีโลหะคอยเชื่อมประสาน

ส่วนกระจกจืนมีความยืดหยุ่นสูงกว่า เนื้อบางชนิดใช้กรรไกรตัดและดัดงอได้ รวมถึงมีลายผิวร้าวเป็นธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ที่ยากเลียนแบบ นอกจากนี้ เรื่องเฉดสีที่หลากหลายยังเป็นจุดเด่นเหนือกว่ากระจกประดับสมัยใหม่ ที่ให้โทนสีน้อยและแสงเงาแข็งกระด้างกว่า ความระยิบระยับเหลื่อมล้อแสงเงาอย่างแพรวพราว 

กระจกจืน, กระจกเกรียบ

ลักษณะพิเศษของกระจกโบราณเหล่านี้เกิดจากภูมิปัญญาการผลิตแบบดั้งเดิมที่เรียกกันว่า ‘การหุงกระจก’ หรือกระบวนการหลอมวัสดุด้วยส่วนผสมทางเคมีต่างๆ ให้กลายเป็นน้ำกระจก โดยใช้ระยะเวลากว่า 4 ชั่วโมง ก่อนนำมาลงเบ้าหลอมอะลูมินา แล้วหุงต่อที่อุณหภูมิ 1,280 องศาเซลเซียส จนของเหลวเดือดแดงคล้ายลาวา ก็เข้าสู่กระบวนการรีดกระจกเป็นอันจบขั้นตอนสุดท้าย

ช่างหุงกระจกเพียงคนเดียวในไทย ผู้รื้อฟื้นกระจกโบราณที่หายไปจากแผ่นดินสยามกว่า 150 ปี
ช่างหุงกระจกเพียงคนเดียวในไทย ผู้รื้อฟื้นกระจกโบราณที่หายไปจากแผ่นดินสยามกว่า 150 ปี

รชตกลับออกมาจากโรงงานผลิตกระจกขนาดย่อมข้างกำแพงแดงชาดของห้องบูชาครู เขาปลดสายรัดหน้ากากป้องกันควันตะกั่วออกจากใบหน้าที่ชุ่มโชกด้วยเหงื่อ แล้วยิ้มพึงพอใจให้กับผลงานกระจกยกแรกของวัน ภายใน 1 วัน เขาจัดแบ่งการทำงานออกเป็น 4 ยก หมุนเวียนกระบวนการหุง-รอ-รีด ตั้งแต่เช้าตรู่จรดหัวค่ำ โดยแต่ละวันผลิตกระจกโบราณได้เฉลี่ย 20 แผ่น (ขนาดกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร)

กระจกจืนชุดแรกๆ ที่ถูกชุบชีวิตขึ้นใหม่หลังหลับใหลไปร่วมศตวรรษ ถูกนำมาทดลองสร้างสรรค์งานส่วนตัวและแจกจ่ายให้ช่างหัตถกรรมท้องถิ่นได้นำไปใช้ ก่อนที่ความต้องการจะเริ่มแพร่หลาย จนปัจจุบันมีรายการสั่งผลิตยาวเหยียดข้ามปี โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักทั้งจากวัดวาอาราม หน่วยงานราชการ รวมถึงนักสะสมโบราณวัตถุ

เหล่านี้คือผลลัพธ์ของความอุตสาหะจากการทดลอง ค้นคว้า และพัฒนามานานกว่า 15 ปี นับจากวันแรกที่กระจกจืนประดับหล่นจากยอดองค์พระเจดีย์ ซึ่งเขาเชื่อว่านั่นคือสัญญาณที่ท่านพระครูกำลังชี้ทางดำเนินชีวิตและความคิดแวบแรก เขาจึงบอกกับตัวเองว่า จะต้องสร้างสิ่งนี้ให้สำเร็จให้จงได้ 

กระจกจืน, กระจกเกรียบ
กระจกจืน, กระจกเกรียบ

สมบูรณ์ สมฐานะ สมบัติชาติ

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา เขาเริ่มลงมือศึกษาโดยขอเข้าไปทำงานที่โรงปั้นหม้อ เรียนรู้วิชาทำน้ำเคลือบเซรามิก ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมสู่ศาสตร์การผลิตน้ำกระจก ควบคู่กับการหารายได้ด้วยทักษะความชำนาญด้านงานหัตถศิลป์ แม้จะลงทุน ลงแรง และผิดหวังซ้ำซากมาตลอดระยะเวลา 10 ปี แต่ทุกย่างก้าวของความล้มเหลวก็ได้ให้บทเรียนสำคัญที่ช่วยขยับความฝันให้เข้าใกล้ความเป็นจริง

“ตอนนั้นเป็นช่วงที่ทำงานหนักมาก เพราะอยากหาเงินมาซื้อวัสดุอุปกรณ์ทดลองทำกระจก จนถึงจุดหนึ่งที่เราสังเกตเห็นว่าเริ่มมีหวัง เลยบอกตัวเองว่าต้องทุ่มเทกว่านี้ จนตัดสินใจขายรถยนต์ทิ้งเพื่อซื้อเตาเผาอย่างดี และจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด

“เราไม่มีใครสนับสนุนนะ แต่เรื่องคนดูถูกดูแคลนมีเยอะแยะ บางคนบอกเราว่าเอาเงินไปทิ้งขว้างเปล่าๆ ซึ่งเรามองว่าก็ไม่เห็นจะเป็นไรนี่ ในเมื่อตอนเกิดมาก็ไม่มีอะไรติดตัวมาด้วยสักอย่าง วันนี้มีได้ ก็หมดได้เช่นกัน เราเป็นคนไม่ยึดติดอะไรทั้งนั้น แล้วพร้อมจะเทหมดหน้าตักเพื่อสิ่งที่อยากได้และอยากทำ 

รชต ชาญเชี่ยว ช่างหุงกระจก ชาวอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

“เราไม่เคยท้อนะ กลับรู้สึกสนุกด้วยซ้ำ เพราะเราเป็นคนที่ชอบทำงานประดิษฐ์และทดลองมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็จำได้ว่าตอนนั้นเราเคยดูรายการสารคดีเกี่ยวกับการบูรณะพระราชวังต้องห้ามของจีน ซึ่งมีอยู่พระตำหนักหนึ่งที่ขั้นตอนการปรับปรุงมันไปทำความเสียหายให้งานศิลปะจากกระดาษสาโบราณ เลยมีการเสนอใช้กระดาษสาจากประเทศเกาหลีทดแทน

“แน่นอนว่าชาวจีนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงเกิดภารกิจพลิกแผ่นดินจีนตามหา จนพบว่ามีหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาที่ยังสืบทอดการทำกระดาษสาดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้บูรณะพระตำหนักหลังนั้นได้อย่างสมบูรณ์

“สารคดีเรื่องนี้ก็เป็นอีกแรงบันดาลใจสำคัญที่ผลักดันให้เราทำกระจกโบราณจนสำเร็จ ลองคิดดูสิว่าถ้าเราไปซื้อกระจกจากเมืองนอกมาประดับสมบัติประจำชาติ มันจะสมฐานะไหม ในเมื่องานแกะสลักไม้หรือแผ่นทองคำเปลวก็ทำจากฝีมือคนไทย ขาดแค่กระจกอย่างเดียว ทำไมถึงไม่พยายามเพื่อให้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์โดยฝีมือช่างศิลป์ไทยให้สมกับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวไทย”

ช่างหุงกระจกเพียงคนเดียวในไทย ผู้รื้อฟื้นกระจกโบราณที่หายไปจากแผ่นดินสยามกว่า 150 ปี
ช่างหุงกระจกเพียงคนเดียวในไทย ผู้รื้อฟื้นกระจกโบราณที่หายไปจากแผ่นดินสยามกว่า 150 ปี

โอกาสอันทรงเกียรติ

กว่ากระจกโบราณจะออกมาสมบูรณ์และมีคุณภาพเช่นทุกวันนี้ รชตต้องใช้เวลาต่อยอดพัฒนาอีกร่วมขวบปี โดยได้รับความร่วมมือจาก รศ. ดร.กมลพรรณ เพ็งพัด จากภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเล็งเห็นถึงคุณค่าของมรดกภูมิปัญญา หยิบจับองค์ความรู้จากการวิจัยค้นคว้ามาปรับปรุงคุณภาพให้กระจกทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เพิ่มความแวววาวสวยงาม

ตลอดจนออกแบบสีสันได้หลายเฉดสียิ่งขึ้น อีกทั้งยังนำผลงานไปจัดแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2019) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ช่างฝีมือตัวเล็กๆ ได้รับโอกาสอันทรงเกียรติในการเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณะสมบัติชาติ 

ช่างหุงกระจกเพียงคนเดียวในไทย ผู้รื้อฟื้นกระจกโบราณที่หายไปจากแผ่นดินสยามกว่า 150 ปี
ช่างหุงกระจกเพียงคนเดียวในไทย ผู้รื้อฟื้นกระจกโบราณที่หายไปจากแผ่นดินสยามกว่า 150 ปี

เมื่อทางสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้มาชื่นชมและสนใจผลงานที่มีคุณลักษณะตรงตามตำรับโบราณ จึงขอสนับสนุนกระจกเกรียบสำหรับนำไปบูรณะราชรถ ราชยาน พระยานมาศ และพระที่นั่งพุดตานวังหน้า รวมถึงเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ซึ่งพสกนิกรชาวไทยก็มีโอกาสยลโฉมความวิจิตรอลังการในขบวนเรือพระราชพิธี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 วันที่ 12 ธันวาคมนี้

“วันแรกที่ทำกระจกสำเร็จ เราไม่ได้ตื่นเต้นยินดีอะไรมากมาย อาจเพราะเราพยายามทำมันมานานจนเลิกลุ้นไปแล้ว แต่ในวันนี้เรารู้สึกภาคภูมิใจมากและถือว่าบรรลุตามความมุ่งหมายที่ได้ผลิตกระจกโบราณไทย เพื่อใช้ในการประดับตกแต่งสมบัติของชาติ

“ล่าสุดก็ทำกระจกเกรียบให้ทางสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร นำไปบูรณะพระแท่นบรรทมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งลึกๆ เรารู้สึกถึงความผูกพันกับโบราณวัตถุเหล่านี้มาโดยตลอด มันเหมือนเป็นภาระหน้าที่ที่เราจะต้องทำ ขอแค่ได้เห็นคนนำไปใช้แค่นั้นก็มีความสุขและภูมิใจที่สุดแล้ว”

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ