รู้จักแหวนกลกันไหมครับ?

บางคนคงพยักหน้า แต่หลายคนอาจจะส่ายหัว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะแหวนกลที่ว่ามานี้เป็นแหวนที่ไม่ได้หาดูได้ง่าย ประกอบกับไม่ได้แพร่หลายในวงกว้างกันมากขนาดนั้น ชื่อนั้นก็ค่อนข้างทำให้สับสนอยู่เหมือนกัน

แหวนกลคือแหวนที่ประกอบไปด้วยแหวนหลายๆ วงที่คล้องรวมอยู่ด้วยกัน แบบที่แยกออกจากกันไม่ได้ โดยที่สามารถหมุนบิดขยับแหวนแต่ละวงเหล่านั้นให้ประกอบกลับมารวมกันได้เป็นวงเดียว ราวกับมันมีกลไกอยู่ในนั้น และเมื่อประกอบแหวนรวมกันเสร็จแล้วก็จะมีลวดลายอยู่บนหน้าแหวนให้เห็นด้วย (คำว่าแหวนกลนั้นก็คือย่อมาจากแหวนกลไกนั่นเอง) ซึ่งการทำแหวนที่มีกลไกประกอบกันแบบนี้ได้นั้นต้องอาศัยทักษะและฝีมืออย่างมากจริงๆ

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ประวัติที่มาของแหวนกลนั้นว่ากันว่าแหวนประเภทนี้มีที่มาจากแถบตะวันออกกลางหรืออาหรับ (บางคนก็เรียกแหวนกลเหล่านี้ว่า ‘puzzle ring’ หรือ ‘Turkish wedding ring’) แต่ในบ้านเรานั้น แหวนประเภทนี้นั้นมีอยู่เฉพาะแค่ที่จังหวัดจันทบุรีเท่านั้น ซึ่งแหวนกลของจันทบุรีนี้มีจุดเด่นแตกต่างจากที่อื่นๆ ในโลก คือตัวหน้าแหวนจะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ อย่างปู ปลา หรือนักษัตรต่างๆ ในขณะที่ของประเทศอื่นๆ จะเป็นเพียงแค่ลวดลายเรียบๆ อย่างเดียว มีตำนานเล่ากันว่า ด้วยความเป็นเมืองอัญมณีมาแต่โบราณของเมืองจันท์ ทำให้มีคนต่างชาติมาจ้างและสอนให้ช่างทองแถบนี้หัดทำแหวนกลขึ้นมา บ้างก็ว่าเป็นแหวนที่ตกทอดวิธีการทำมาในไทยผ่านมาจากทางเขมร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็ตาม แหวนกลก็ถูกสืบทอดอยู่ในแถบนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่าสามชั่วอายุคนหรือเกือบๆ หนึ่งร้อยปีมาแล้ว

พอมาในยุคปัจจุบันที่การสั่งทำแหวนกลนั้นค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป ทำให้ช่างหลายคนหันไปทำแหวนกลลายปูปลาแบบดั้งเดิมเพื่อส่งให้กับทางโรงงานนำไปขายในตลาด แต่มีทายาทของช่างทำแหวนกลอยู่หนึ่งคนที่ได้สั่งสมประสบการณ์และทักษะฝีมืออยู่ในเส้นทางการทำแหวนกลมากว่า 30 ปี ได้ริเริ่มนำเอาไอเดียใหม่ๆ มาต่อยอดใส่ลงไปในแหวนกลแบบดั้งเดิมจนเกิดเป็นแหวนกลแบบใหม่ที่ร่วมสมัย และแตกต่างจนเป็นที่ต้องการในตลาดอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือแหวนกลที่เป็นลายชื่อหรือนามสกุลของผู้สวมใส่นั่นเอง แหวนกลนี้แต่ละวงนั้นจะบรรจุตัวอักษรต่างๆ ของชื่อเราไว้ เมื่อทำการพลิกหมุนประกบและประกอบกลับมาเป็นแหวนเต็มๆ วง เราจะได้เห็นชื่อและนามสกุลของเราปรากฏอยู่บนนั้น เป็นแหวนเฉพาะของเราแต่เพียงผู้เดียวอย่างแท้จริง

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ฟังแล้วมันช่างน่าตื่นเต้นและน่าสนุก และเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องเดินทางไปยัง จ.จันทบุรี เพื่อพูดคุยกับ ช่างหรีด-ชูเกียรติ เนียมทอง ผู้เป็น the master ด้านแหวนกล ที่นำเอาความคิดสร้างสรรค์ใส่ลงไปในแหวนกลที่ทำด้วยมือในทุกๆ วงที่ทำมา รวมไปถึงผู้ก่อตั้ง ‘บ้านแหวนกล เมืองจันท์’ ภายในบ้านขนาดเล็กกะทัดรัด ด้านในอัดแน่นไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือของช่างทองมากมาย ที่เพียงมองก็รู้แล้วว่าเครื่องมือเหล่านี้ผ่านการทำงานมาอย่างยาวนาน แล้วนี่ก็คือเรื่องราวของแหวนกลที่ถ้าอ่านจบแล้ว อาจจะทำให้ผู้อ่านหลงกลขับรถไปจันท์เพื่อสั่งทำสักวงก็เป็นได้

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

เริ่มเข้าวงการ

การเข้าสู่การทำแหวนกลของช่างหรีดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตามระบบปกติในตอนเรียนจบปวช. ปวส. หรือมหาวิทยาลัย แต่กลับเริ่มขึ้นในตอนขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเล่นสนุกของเด็กเสียมากกว่า ผ่านการชักชวนของคุณลุงสายัณห์ (ช่างสายัณห์ ภูมิภักดิ์) ผู้เป็นน้าเขยของเขา ในช่วงเวลานั้นที่กำลังอยู่ในตอนปิดเทอมขึ้นชั้น ม.1 คุณลุงสายัณห์ได้ชวนช่างหรีดมาเที่ยวที่บ้าน อาจจะด้วยนิสัยใจคอและอะไรบางอย่างที่ถูกชะตากัน จึงทำให้ลุงสายัณห์ตัดสินใจชวนช่างหรีดให้มาอยู่ด้วยกันกับแก เพื่อฝึกทำแหวนกลตั้งแต่ตอนนั้นเลย

“ตอนนั้นพ่อกับแม่ผมก็อยากให้เรามีอาชีพติดตัว ก็เลยให้เราเลิกเรียนมาอยู่ที่บ้านคุณลุงเพื่อฝึกฝนทำแหวนกลเลย เพราะจริงๆ วิชาการทำแหวนกลเนี่ย เป็นอาชีพเฉพาะในครอบครัวและเครือญาติเท่านั้น จะไม่มีการสอนให้กับคนข้างนอกเลย ซึ่งในจันทบุรีนั้นจะมีหลักๆ อยู่เพียงแค่สองครอบครัว คือ ช่างหยี (ซึ่งลูกหลานของช่างหยีไม่ได้รับช่วงต่อ) และคุณลุงสายัณห์นี่แหละ ตอนที่ผมย้ายมาอยู่กับคุณลุงก็มีหลานแกคนอื่นๆ อีกสองสามคนที่รุ่นๆ เดียวกันมาฝึกอยู่ด้วย แล้วก็ค่อยๆ หายไปทีละคนๆ จนเหลือผมคนเดียว” ช่างหรีดอธิบายถึงการได้เข้ามาเริ่มต้นทำแหวนกล

ผมถามถึงการหายไปของคนอื่นๆ ที่มาฝึกในช่วงเดียวกัน ก็ทำให้ได้รู้วิธีการฝึกฝนในการทำให้เด็ก ม.1 คนหนึ่งที่ไม่เคยทำงานช่างมาก่อน สามารถมาทำแหวนที่ซับซ้อนอย่างแหวนกลได้ 

“ที่หายๆ กันไปนี่ก็เพราะว่าเขาเบื่อครับ เนื่องจากในช่วงสามปีแรกนี่จะเป็นการฝึกที่เน้นให้ใช้เครื่องมือทุกประเภทให้เป็น แล้วก็ฝึกทักษะพื้นฐานในการทำแหวน อย่างเช่นการตีแหวนให้เป็นวงเรียบๆ หัดตะไบแหวน หรือหัดใช้สว่านเจาะรูบนแหวนให้ตรงเป็นแถวไม่เบี้ยวไปมา วนไปวนมาอยู่แค่นี้สามปี ซึ่งยอมรับว่ามันเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อมาก เหมือนชีวิตวัยรุ่นเราหายไปเลย แล้วช่วงสามปีนั้นทำให้เราคิดกับชีวิตเลยนะ ว่าจะไปทางนี้ต่อหรือว่าเลิกดี แต่พอเป็นระยะเวลายาวถึงสามปีแล้ว จะให้กลับไปเรียนใหม่อีกทีก็รู้สึกว่ามันห่างหายนานเกินไปแล้ว ก็เลยตัดสินใจทนเบื่อ ลองอยู่สู้ต่อดู”

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

แหวนวงแรกไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

ช่างหรีดได้เล่าต่อว่า พอหลังจากผ่านช่วงสามปีแรกมาแล้วถึงได้เริ่มช่วยงานลุงสายัณห์ในการทำแหวนกลมากขึ้นทีละนิดๆ

“หลังจากพ้นช่วงสามปีแรกก็ได้เริ่มฝึกการทำแหวนกล โดยสอดแทรกมาในงานแต่ละวันเป็นระยะๆ พอเราผ่านสามปีแรกมาจนเริ่มใช้เครื่องมือคล่องแล้ว ก็เริ่มได้หัดและฝึกทำแหวนกลมากขึ้นๆ เริ่มได้รับการสอนทีละขั้นตอน ปีที่ 4 – 5 ก็เริ่มเจองานสนุกขึ้น เราเริ่มได้ทำงานที่ยากขึ้นๆ ตอนนี้คือเริ่มได้ช่วยทำแหวนปูแหวนปลาแล้ว ไอ้ความเบื่องานจากงานพื้นฐานก็ค่อยๆ หายไป จนสักช่วงปีที่ 10 ของการฝึก ถึงได้เริ่มทำแหวนกลทั้งวงด้วยตัวเองเป็นวงแรก ซึ่งก็ยังไม่ได้มาตรฐานตามที่ลุงสายัณห์ตั้งไว้หรอก แต่สำหรับเราก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากแล้ว”

ผมสนใจคำว่ามาตรฐานของแหวนกล ด้วยความที่รูปแบบของแหวนกลมันไม่เหมือนแหวนปกติ เลยได้ถามช่างหรีดว่า มาตรฐานมันเหมือนหรือแตกต่างจากแหวนปกติทั่วๆ ไปยังไงบ้าง

“มาตรฐานของแหวนกลที่ว่าไว้ก็คือมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ได้สัดส่วน ซ้อนกันได้พอดี แล้วเวลาใส่ก็ยังคงใส่ได้พอดีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นแหวนกลรูปปลา ลวดลายก็ควรจะต้องพอดีกับหน้าแหวน เวลาที่แยกแหวนออกมาจากกันแต่ละวง ก็ต้องมีลายบนตัวแหวนไม่ใหญ่ไปหรือเล็กไป เวลามาซ้อนกันต้องซ้อนได้พอดี สมส่วน รายละเอียดเล็กๆ พวกนี้คนซื้ออาจจะไม่รู้แต่เรารู้ แล้วด้วยความที่เป็นแหวนทำมือทีละวง แม้จะเป็นแหวนปูหรือปลาแบบเดียวกัน เราก็ควรจะต้องทำให้มีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันเลยสักวง นั่นคือมาตรฐานที่ลุงสายัณห์บอกเราไว้” ช่างหรีดอธิบาย

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

เปลี่ยนปูการปกครอง (บนหน้าแหวน)

หลังจากฟังมาสักพักผมก็สงสัยว่า แล้วจากแหวนกลรูปนักษัตรที่ทำสืบทอดต่อกันมาในหลายชั่วอายุคน กลับกลายมาสู่แหวนกลชื่อและนามสกุลได้ยังไง ช่างหรีดจึงได้เล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต นั่นก็คือตอนที่คุณลุงสายัณห์เสียชีวิตไปเมื่อตอนปี พ.ศ. 2551 ชีวิตของช่างหรีดตอนนั้นเหมือนกับถูกลืมหายไปจากระบบ ไม่มีลูกค้าเข้ามาเลย เพราะปกติคุณลุงสายัณห์จะเป็นทั้งคนหาและพูดคุยกับลูกค้า พอคุณลุงไม่อยู่ก็ไม่มีใครรู้จักตัวช่างหรีดอีกเลย แล้วในตอนนั้นตัวช่างหรีดเองก็ยังไม่รู้จักการใช้สื่ออย่างโซเชียลมีเดียมากนัก จึงเป็นช่วงเวลาที่ช่างหรีดต้องมานั่งคิดทบทวนว่า จะทำยังไงกับชีวิตต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

“ตอนนั้นผมก็มานั่งคิดเลยว่าจะทำยังไงกับชีวิตจะทำแหวนกลต่อไปไหม ก่อนลุงเสียชีวิตก็ได้พูดกับเราไว้คำหนึ่งว่า ทำไปเถอะอาชีพนี้ ไม่อดหรอก คำนี้ก็ก้องอยู่ในหัวเราตลอดในช่วงเวลานั้น เราก็เลยตัดสินใจกัดฟันลุยต่อ ตอนนั้นผมสังเกตจากในท้องตลาด ที่ช่างแทบทุกคนและโรงงานแทบทุกโรงงานจะทำแหวนกลที่เป็นนักษัตรเหมือนๆ กันไปเสียทั้งหมด เราก็มานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้แหวนที่เราทำมันแตกต่างจากของคนอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้คนอื่นๆ มาลอกแบบที่เราทำไม่ได้ด้วยเช่นกัน ผสมกับเราก็มานั่งคิดถึงลายเซ็นงานของตัวเราเองว่ามันมีอะไรบ้าง เพราะถ้าเราไม่สร้างอะไรใหม่ในงานที่เป็นของเราเอง เราก็จะอยู่ในเงาของแกต่อไป ก็เลยมาได้ไอเดียถึงแหวนที่เป็นแหวนชื่อและนามสกุล เลยลองตั้งโจทย์กับตัวเองดูแบบสนุกๆ ว่าจะสามารถทำให้มันออกมาเป็นรูปแบบแหวนกลได้ไหม”

แล้วแหวนวงแรกที่ทำได้ ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจหรือเปล่า ผมสงสัย

“แหวนชื่อวงแรกที่ทำคือแหวนชื่อตัวเองครับ เป็นแหวนวงที่พิเศษสำหรับเราเพราะมันยากมากๆ ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะเลย คิดแค่ว่าทำยังไงให้แหวนกลมันออกมารวมกันเป็นชื่อได้แค่นั้น ไม่ได้คิดเรื่องความสวยงามอะไรเลย ก็เลยลงมือทำดู พอทำเสร็จแล้วมันก็ไม่สวยจริงๆ ด้วย (ฮา) แต่มันพิเศษตรงที่มันได้ให้คำตอบกับตัวเอง ว่าสิ่งที่เราคิดมันมีความเป็นไปได้ พอทำวงแรกเสร็จก็มานั่งวิเคราะห์ว่าจะทำยังไงให้วงต่อๆ ไปสวยขึ้นจากวงแรก หรือถ้าชื่อยาวขึ้น ตัวอักษรเยอะขึ้น จะทำงานยังไง อะไรแบบนั้น”

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ซึ่งหลังจากที่ช่างหรีดทำแหวนชื่อตัวเองวงแรกเสร็จทันเวลา ก่อนที่จะมีงานปล่อยแสงของ TCDC พอดี ก็เลยหยิบเอาแหวนชื่ออันนั้นไปออกงานปล่อยแสงด้วย ปรากฏว่ามีคนสนใจมาจ้างให้ทำแหวนชื่อต่อๆ กันมา ทำให้ช่างหรีดมีความมั่นใจมากขึ้น จนได้เริ่มต้นทำแหวนชื่อภาษาไทยเป็นครั้งแรก

“ความตั้งใจแรกสุดคือคิดจะทำชื่อเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว ภาษาไทยไม่อยู่ในหัวเลย เพราะรู้สึกว่ามันยากมากๆ จนตอนนั้นพี่พลอย จริยเวชติดต่อมาว่าอยากให้ทำแหวนกลชื่อของแก ซึ่งนี่เป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งของเราเลย เพราะด้วยบุคลิกและสไตล์ของตัวพี่พลอย ผสมกับชื่อที่สั้นก็เลยตั้งใจจะทำเป็นภาษาไทยดูเป็นวงแรก พอตอนที่เลื่อยตัวอักษรไทยออกมาประกอบกันเป็นแหวน ก็คิดในใจว่า เออ ทำได้ว่ะ พอทำสิ่งนี้ได้ปุ๊บ ผมก็มาคิดว่าถ้าของที่ยากกว่านี้จะทำได้ไหม ก็ลองหาอะไรที่ยากกว่านี้ทำมาเรื่อยๆ”

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ความท้าทายคือการพัฒนา

ช่างหรีดไม่เพียงแต่พูดให้ฟังเปล่าๆ แต่ยังหยิบงานล่าสุดที่ทดลองตั้งโจทย์กับตัวเองขึ้นมาให้ผมดูด้วย เนื่องจากตอนที่เราไปนั้นเป็นช่วงหน้าทุเรียน ช่างหรีดเลยอยากลองทำแหวนกลที่ได้แรงบันดาลใจมาจากทุเรียนขึ้นมา ซึ่งก็ทำออกมาได้สวยงามดีด้วย ผมเคยเห็นช่างหลายๆ คนในหลายๆ สาขาอาชีพนี่ไม่ค่อยยอมทำงานออกนอกขอบเขตที่ตัวเองเรียนรู้มา เวลาที่ถามก็มักจะตอบว่า ‘วุ่นวาย ทำแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาก็ดีอยู่แล้ว’ ทำให้ผมมองย้อนไปถึงการตั้งโจทย์ยากๆ ให้กับตัวเองอยู่เสมอของช่างหรีด ว่านี่มันเป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับเขามากกว่าหรือเปล่า แล้วทำไมต้องพยายามทำอะไรที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

“ตั้งแต่สมัยที่ทำแหวนปูแหวนปลากับลุงสายัณห์เนี่ย ด้วยความกบฏของตัวผม ผมมักจะลักไก่พลิกแพลงขั้นตอนการทำอยู่เสมอๆ เพื่อประหยัดเวลาและประหยัดวัสดุ เพราะว่าเราเข้าใจพื้นฐานการทำแหวนเป็นอย่างดีแล้ว พอมาทำแหวนชื่อและนามสกุลเนี่ย จริงๆ มันใช้พื้นฐานเดียวกัน แค่เราพลิกแพลงมันออกไปจากเดิม ซึ่งจริงๆ ผมไม่ได้มองว่ามันทำให้วุ่นวาย แต่กลับกลายเป็นมันทำให้เราทำงานสนุกขึ้นมากกว่า” ช่างหรีดเล่าให้เราฟังอย่างตื่นเต้น

“สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือมันช่วยพัฒนาทักษะฝีมือของเรา อายุงานกว่า 30 ปีของเรามันไม่ได้บอกว่าเราเก่ง แต่การที่เราได้ฝึกได้ทำของยากๆ โดยมีเป้าหมายให้ชิ้นงานออกมาดีขึ้นเนี่ยแหละคือสิ่งที่จะพัฒนาฝีมือทักษะของเรา มันเหมือนเป็นครูให้กับเรา งานชิ้นแรกที่ทำจนถึงตอนนี้ถ้าเทียบดูจะเห็นความแตกต่างเยอะมากทั้งในด้านของเทคนิคที่ทำ รายละเอียดต่างๆ บนหน้าแหวนที่เราใส่ลงไปได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน  เมื่อก่อนสมัยคุณลุงยังอยู่แกก็พูดกับเราตลอดว่าเวลาทำงานอย่าทำซ้ำเดิมไปตลอด ให้แปลงงานไปบ้าง เพื่อให้งานยังคงมีความหมายกับเราอยู่เสมอ”

นอกจากแหวนทุเรียนที่อยู่ตรงหน้าผมแล้ว บนผนังบ้านยังมีแหวนชื่อต่างๆ ที่ช่างหรีดเคยทำมาติดอยู่ราวกับเป็นพอร์ตฟอลิโอขนาดใหญ่ ที่ทำให้เราเห็นความหลากหลายของแหวนกล ผมเลยสงสัยว่าความท้าทายที่ทำมาโดยตลอดนี่ จะพาแหวนกลเปลี่ยนร่างไปเป็นอะไรบ้างในอนาคต

“จริงๆ ผมก็ยังเกาะอยู่กับเทคนิคเดิมๆ อยู่ตลอด เพราะนั่นมันคือพื้นฐานของเรา คนรุ่นก่อนเขาทำพื้นฐานมาไว้ดีแล้ว เราไม่อยากจะทิ้งฐานนี้ไป แต่ที่เราทำมันคือการคิดงานรูปแบบใหม่ๆ บนพื้นฐานเดิม เพื่อให้มันมีความเฉพาะตัวมากกว่าเดิม เราจะได้ทำต่อไปได้ ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะไปจบที่ไหน รู้แค่อยากให้มันมีการพัฒนาไปเรื่อยๆตามที่เราจะยังพอคิดออก ก็คงจะทำไปเรื่อยๆ จนไม่มีแรงทำแหละ ตอนนั้นแหวนกลอยู่ตรงไหนก็ตรงนั้นแหละครับ”

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ความยากของการทำแหวนกล

ผมคุยเล่นๆ กับช่างหรีดว่าทำงานมานานกว่า 30 ปี ทำแหวนกลออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 500 วง ถือว่าเป็นการทำงานที่ยาวนานมาก ในยุคสมัยที่แทบทุกคนเปลี่ยนงานกันเป็นว่าเล่น ความคิดในการทำงานที่หนึ่งนานๆ หลายปีดูจะเป็นความคิดที่แปลกประหลาดขึ้นไปทุกวัน ผมเลยอยากรู้ว่าอะไรทำให้ช่างหรีดทำงานมาได้ยาวนานขนาดนี้ แล้วทำงานมานานแบบนี้ยังเจอความยากอะไรของอาชีพนี้อยู่อีกหรือเปล่า

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

“ผมชอบตรงที่มันต่างจากแหวนทั่วๆ ไปอย่างชัดเจน แหวนปกติก็มีหนึ่งวง แต่แหวนกลมันเป็นแหวนหลายๆวงที่แยกจากกันไม่ได้ ซึ่งพอเราเข้าใจมันแล้ว เราจะออกแบบและสร้างให้มันออกมาเป็นแบบยังไงก็ได้ แล้วพอเรามาทำแหวนสั่งตัดเฉพาะคนเนี่ย มันก็เหมือนเราได้ใช้สมองและทักษะที่เรามีอยู่อย่างเต็มที่ รวมทั้งอาชีพนี้มันเป็นอาชีพที่ได้จับของมีค่า ของสวยๆ งามๆ อยู่ทุกวัน ทั้งหมดนี้ทำให้ผมรักอาชีพนี้

ส่วนเรื่องความยากที่สุดของอาชีพนี้มันไม่ใช่เรื่องงานแล้ว แต่มันคือตัวเรา การที่จะพาตัวเองให้มานั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานแล้วทำงานไปทุกๆ วันโดยไม่เบื่อไปก่อนเนี่ยยากกว่า ทำยังไงให้เราไม่เบื่องาน การตั้งโจทย์ใหม่ๆ พวกนั้นมันคือตัวฉุดเราให้มานั่งทำงานอยู่กับโต๊ะ งานใหม่ๆ ที่มีโจทย์ที่เรายังไม่รู้จะทำยังไงมันคือความท้าทาย ผมไม่เคยมองมันเป็นปัญหาเลย ถ้าเรามองมันเป็นปัญหากับมองมันเป็นความท้าทายอารมณ์มันจะต่างกัน ถ้ามองว่าเป็นปัญหามันจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้ามองเป็นความท้าทายเราจะมองว่าเราจะทำได้ไหม แล้วมันจะพาเราพัฒนาขึ้นไปอีกทีละขั้น อย่างหนึ่งที่ตัวผมมักจะถามตัวเองอยู่ตลอดก็คือ เรารักสิ่งที่เราทำไหม เหมือนกับเรารักแฟนเราไหม ถ้าเรารักกันจริงๆอก็จะอยู่กันไปจนแก่เฒ่า งานก็เหมือนกัน อย่าไปมองถึงเม็ดเงินก่อน แต่ให้มองถึงสิ่งที่เราทำ เราทำมันเพราะอะไร ถ้าเราทำเพราะรักมัน เดี๋ยวงานก็จะรักเรากลับอและค่อยๆ ตอบแทนเราเอง อาชีพไม่ว่าจะอาชีพไหน ถ้าเราตั้งใจทำให้ดี มันก็จะเลี้ยงดูและตอบแทนเราจริงๆ”

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ตามไปดูช่างทำแหวนกลแห่งจันทบุรีที่จะทำให้เราหลงใหลและหลงกล

ขอขอบคุณ: บ้านแหวนกล เมืองจันท์

บ้านแหวนกลเมืองจันท์

ช่างหรีด-ชูเกียรติ เนียมทอง

อายุงาน 30 ปี

Facebook บ้านแหวนกลเมืองจันท์

1/45 ม.9 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000

โทร 081-791-3278

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan