จากหลักฐานที่ค้นพบ แต่ยังไม่สรุปแน่ชัด บอกเราว่าศาสตร์การทำผ้าลูกไม้มีมานานกว่า 500 ปีแล้ว

จะว่าไป น่าจะเป็นงานฝีมือที่เก่าแก่ที่สุดของโลกงานหนึ่ง

เพราะกลัวว่าใครจะแอบตัดสินในใจว่าลูกไม้เป็นสิ่งเชย เป็นสัญลักษณ์ของรองแก้ว หรือผ้าคลุมตู้เย็นของคุณทวด เราอยากชวนให้คุณคิดถึงลูกไม้บนชุดหรูของ Marie Antoinette ลูกไม้ในผ้าซับในชุดกระโปรงตัวเก่ง และลูกไม้บนผ้าตัดชุดแต่งงาน

มีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้ลูกไม้ ผ้าฉลุ ลวดลายอ่อนช้อยเหล่านี้กัน เราคิดขณะมองทะลุผ้าม่านลูกไม้ออกไปที่นอกหน้าต่าง นึกไปถึงงานลูกไม้เท่ๆ ของชายคนหนึ่งที่เราอยากแนะนำให้คุณรู้จัก

ปาร์ค-ปัญจพล อัศวลาภนิรันดร เป็นช่างทำลูกไม้ทำมือ และเจ้าของแบรนด์ถุงเท้าและหมวกไหมพรมถักทำมือ Peaulon อดีตอาจารย์สอนแฟชั่นที่ผันตัวมารับทำงานลูกไม้จริงจัง

อะไรทำให้คนหนุ่มคนนี้ทุ่มพลังและใช้เวลากับการศึกษางานลูกไม้และเทคนิคทำมืออย่างยุโรปกว่า 10 ปี

ก่อนจะหันไปเห็นท่าทีของปาร์คระหว่างถักลูกไม้รอเรา

ช่างเงียบสงบ ตรงข้ามกับจังหวะมัด ดึง และผูก จนเส้นด้ายเกิดปมซับซ้อนแต่สวยงามอย่างใจราวกับจะบอกว่า ปมยุ่งยากใดๆ ที่เคยเป็นสิ่งกวนใจ แม้จะไม่ใช่หรือใกล้เคียงกับงานลูกไม้หรูหราเลอค่า แต่มันก็ไม่แย่เท่าไหร่

ปัญจพล อัศวลาภนิรันดร

ชายช่างถักลูกไม้

สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าไปกว่าการที่ปาร์คเป็นช่างทำลูกไม้เพียงไม่กี่คนในประเทศที่รับทำงานแขนงนี้อย่างจริงจัง เราสนใจที่เขาเป็นผู้ชาย ขัดกับภาพจำในหนังฝรั่งเศส ที่งานลูกไม้เป็นงานอดิเรกของหญิงสาวกระโปรงสุ่มที่เกิดและเติบโตสังคมชนชั้นสูง

น้อยคนจะรู้ว่าช่างฝีมือส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ช่างเย็บ ช่างตัด ช่างทำแพตเทิร์น เป็นงานใช้แรง บางงานนั่งทำไม่ได้ต้องยืนทำ เช่นเดียวกับปาร์คที่ลายนิ้วมือของเขาแทบจะหายไปหมดจากแรงที่ใช้มัดและดึงด้ายให้กลายเป็นลวดลาย

ปาร์คเล่าว่า สิ่งที่แตกต่างชัดเจนระหว่างผู้ชายและผู้หญิงที่ทำงานลูกไม้ ก็คือเรื่องการออกแบบลาย

“ผู้หญิงจะออกแบบลายเพื่อตัวเอง เหมือนแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้หญิงที่จะออกแบบเสื้อผ้าอย่างที่พวกเธออยากใส่ เป็นดอกไม้ เป็นอะไรที่ใส่ได้ทุกวัน ขณะที่ผู้ชายจะออกแบบให้ผู้หญิงในอุดมคติใส่ จะเห็นว่าแฟชั่นแปลกๆ ใส่ยากๆ จะเป็นงานของดีไซเนอร์ผู้ชาย” ได้ยินแล้วก็ไม่แปลกใจที่งานของปาร์คจะมีลักษณะเป็นกราฟิกมากกว่าลวดลายดอกไม้ที่คุ้นเคย

Peaulon
Peaulon
ลูกไม้

เรียนผูก-เรียนแก้

ความสนใจในเรื่องลูกไม้ของปาร์คมีที่มาจากความหลงใหลในงานผูก งานปม ในนิตติ้งซึ่งเป็นงานอดิเรกของเขาตั้งแต่อายุ 11 ปี ก่อนจะเริ่มต้นสนใจลูกไม้ขึ้นจริงจังในช่วงที่เป็นนักเรียนแฟชั่นปีสุดท้าย จากข้อจำกัดที่นักเรียนแฟชั่นเจอเหมือนๆ กัน คือหาผ้าดีๆ สำหรับใช้ทำงานจบไม่ค่อยได้

น้อยคนนักจะรู้ว่าการสร้างสรรค์งานออกแบบเสื้อผ้านั้นไม่ใช่ผ้าอะไรก็ได้ แต่เป็นกระบวนการที่ถูกคิดมาตั้งแต่แรกก่อนร่างแบบลงกระดาษ เช่นถ้าเราอยากได้งานที่ออกมาพลิ้วไหวก็ต้องใช้ผ้าที่พลิ้วพอเหมาะกับภาพในหัว หรือถ้าอยากได้ผ้ายืดจะใช้ผ้าฝ้ายแทนกันก็คงไม่ได้

“กลายเป็นว่าผมก็เลยคิดทำผ้าเองเลย เริ่มจากศึกษาวิธีทำผ้าจากการถักนิตติ้งก่อนเพราะใช้เวลาไม่นาน ก่อนจะศึกษาเทคนิคเรื่อยมาจนเจอ ลูกไม้นิตติ้ง และเสาะหาวิธีการและเทคนิคที่ยากขึ้น เจอวิธีการทำลูกไม้แบบอื่นๆ”

การเรียนงานฝีมือในยุคนั้นไม่ง่ายเหมือนการค้นหาวิดีโอสอนงานฝีมือออนไลน์

“ผมเริ่มจากไปลงเรียนถักไหมพรมในโซนอุปกรณ์งานฝีมือที่ขายตามห้างสรรพสินค้า พอเริ่มเข้าใจก็เริ่มศึกษาต่อด้วยตัวเองจากหนังสือเรื่อยมา”

หลายคนจะคิดว่าการทำงานลูกไม้ต้องใช้สายตาหรือนั่งอยู่นิ่งๆ แต่จริงๆ ถ้าอดทนผ่านช่วงแรกของงานได้จะแทบไม่ใช้สายตาเลย แต่ใช้น้ำหนักมือและความรู้สึก เป็นการกระตุกเส้นด้ายแบบรู้จังหวะไปเรื่อยๆ แทบไม่ได้ใช้สายตาเลยจนกระทั่งจบงาน

Peaulon
ลูกไม้

ลูกไม้ 101

เอกลักษณ์ของลูกไม้คือ ความโปร่ง

ในที่นี้เราจึงขอนิยามผ้าที่ทออย่างโปร่งๆ แต่ละเอียดว่า ลูกไม้

เทคนิคที่ต่างกันไปทำให้ลูกไม้มีชื่อเล่นแตกต่างตาม การทำลูกไม้แบบดั้งเดิมคือการใช้เข็มผูกไปเรื่อยๆ ขณะที่การทอด้วยกระสวยด้ายเส้นเล็กๆ จะออกมาเป็น Bobbin Lace หรือถ้าใช้เข็มถักจะมีชื่อเรียก Needle Lace และถ้าใช้เทคนิคนิตติ้งก็จะเรียก Knitting Lace

“งานลูกไม้ที่ได้ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าใช้เข็มและด้ายเส้นเดียวลักษณะงานที่ออกมาจะ Freeform เป็นอะไรก็ได้เหมือนเราถักบนอากาศ แต่ถ้าเป็นการทอผ้าก็จะมีหลักเกณฑ์เส้นยืนเส้นพุ่ง ดังนั้น การบังคับให้เกิดลวดลายจะทำได้ยากกว่าเล็กน้อย งานที่ได้จะอีกแบบ แต่มีข้อดีคือทำได้เร็วกว่าเทคนิคอื่น ในขณะที่นิตติ้งจะเหมือนกัน คือมีเส้นยืนเส้นพุ่ง แต่จะยืดหยุ่นสร้างลายได้ฟรีฟอร์มกว่าเล็กน้อย” อดีตอาจารย์หนุ่มจากภาควิชาแฟชั่นแนะนำลูกไม้แบบต่างๆ ให้เรารู้จัก

Peaulon
ปัญจพล อัศวลาภนิรันดร

ปมปริศนา

เสน่ห์ที่ทำให้ช่างทำลูกไม้หนุ่มติดใจงานฝีมือชิ้นนี้ เป็นเพราะเทคนิคที่ใช้ทำเข้ากับบุคลิกส่วนตัวบางอย่างของเขา รวมไปถึงลวดลายที่เคยเป็นข้อจำกัดเมื่อต้องทำงานออกแบบ การสนใจในความซับซ้อนของมันยิ่งทำให้ปาร์คอยากค้นหา อยากเข้าไปดูว่ามันทำยังไง จนเริ่มคิดลายของตัวเอง ค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ถือเป็นการฟื้นฟูศาสตร์ลูกไม้ทำมือนี้ไปในเวลาเดียวกัน

“โจทย์งานลูกไม้มาจากสิ่งที่เราเห็นอาจจะเป็นอะไรที่ไม่เกี่ยวกับลูกไม้ก็ได้ เห็นเทคนิคในรูปวาด หรือคิดหาวิธีการให้ลูกไม้มีอะไรใหม่กว่าที่เป็นอยู่ ก่อนหน้านี้จะเป็นงานที่ใช้เทคนิคการทอหรือสานเข้าไปอยู่ในงานลูกไม้ ช่วงหลังผมกลับมาทำงานที่เบสิคให้สวยขึ้น สิ่งที่แตกต่างจากงานของคนอื่น คือผมจะดึงงานค่อนข้างแน่น และงานผมจะค่อนข้างเท่ากัน ถ้าเราดึงเส้นด้ายหนึ่งเส้นหลวม มันจะมีหลวมมาก หลวมน้อย ทำให้งานออกมาไม่เท่ากัน พยายามทำให้มันเรียบง่าย แต่ใช้เทคนิค ผมชอบใช้ด้ายสีๆ แต่เวลาออกงานก็จะแสดงงานที่เป็นสีขาวคลาสสิก

“สมมตินำงานไปแสดงหรือออกร้าน คนที่สนใจก็จะถามราคา ซึ่งพอรู้ราคาเขาก็จะไม่ถามต่อแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่เข้าใจ ทำให้ยังผลิตชิ้นงานและขายได้เรื่อยๆ อยู่เหมือนกัน แต่ถามว่านำไปต่อยอดเป็นอะไรก็ขึ้นอยู่ว่านำไปใช้ทำอะไร ถ้าเป็นงานแฟชั่น จะออกมาเป็นแพตเทิร์นงานชิ้น ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเสื้อผ้า เช่น ปก ชิ้นหน้า หรือแขน เป็นต้น”

ปาร์คเล่าว่า ลูกค้าที่มาอุดหนุนงานฝีมือประเภทนี้ส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนที่เคยเรียนทำลูกไม้และรู้ว่าทำไม่ง่าย หรือเคยเห็นคนรุ่นก่อนทำ เป็นความทรงจำที่ดีสมัยเด็กๆ

“สมัยก่อนประเทศไทยเราเคยมีศาสตร์แขนงนี้สอนในวิชางานฝีมือโรงเรียนมัธยม แต่ยกเลิกไปสี่สิบถึงห้าสิบปีแล้ว ข้อแรก นักเรียนบ่นว่ายาก หลักสูตรจึงหันไปสอนสิ่งที่ทำงานง่ายขึ้นเรื่อยไป จนหายไปในที่สุด ข้อสอง เป็นยุคที่เริ่มมีอุตสาหกรรมเข้ามาทดแทน อย่างที่เคยบอกว่าคนที่ทำลูกไม้เก่งๆ เขาจะค่อยๆ ท้าทายตัวเองด้วยงานที่ยากขึ้น เหตุผลหนึ่งก็เพราะหนีเทคนิคที่เครื่องทำได้”

ลูกไม้
Peaulon

จะมาไม้ไหน

ไม่จำเป็นว่างานลูกไม้จะต้องเกิดจากการเย็บปักถักเส้นด้ายจนเกิดลวดลาย แต่ใช้เทคนิคหรือวิธีการใดๆ ก็ได้จนผ้าเกิดลวดลายโปร่ง ก็ได้ชื่อว่าเป็นงานลูกไม้แล้ว

ความแตกต่างของงานลูกไม้ที่ดีและไม่ดี ก็เหมือนอาหารที่เห็นแล้วรู้เลย ลูกไม้ก็เช่นกัน มีแบบที่ทำง่ายหน่อย ยากหน่อย แบบที่ใช้เทคโนโลยีหรือใช้เคมีเข้ามาช่วยให้ออกมาดูคล้ายผ้าลูกไม้ คล้ายการเขียนลายด้วยเทียน แล้วใช้น้ำยาเคมีกัดผ้าจนเกิดลวดลาย กลายเป็นลูกไม้โปร่งได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 10 นาที แต่เมื่อเทียบกับงานลูกไม้ทำมือจริงๆ ที่ใช้เวลามากกว่าหลายเท่า

ในงานฝีมือทุกแขนง ล้วนอาศัยความละเอียดและความชำนาญ ศาสตร์ของการทอลูกไม้ก็เช่นกัน

ปาร์คเล่าว่า เสน่ห์ที่ทำให้ช่างถักลูกไม้ทั่วโลกหลงใหลงานฝีมือประเภทนี้คือ การท้าทายตัวเอง ยิ่งเป็นงานที่เล็กและละเอียดอย่างลูกไม้แล้วยิ่งต้องการความชำนาญค่อนข้างสูง

Peaulon
ลูกไม้
Peaulon

ดินแดนแสนลูกไม้

กว่า 500 ปีที่ศาสตร์ของลูกไม้เบ่งบานทั่วภูมิภาคยุโรป เขาเล่าว่าการทำลูกไม้ทำในที่ต่างๆ นั้นมีเทคนิคและหลักการเหมือนกัน แต่แตกต่างที่สไตล์

“ถ้ายากมากๆ อย่าง Needlepoint หรือ Needle Lace ก็จะไม่แพร่หลายมากนัก เพราะใช้เวลาพอสมควรและคนทำก็น้อยลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ Bobbin Lace จะเป็นที่แพร่หลายในยุโรป ต่างกันที่สไตล์ของแต่ละเมือง เช่นฝรั่งเศสมี 200 เมือง ก็จะมีผ้าลูกไม้แตกต่างกัน 200 แบบ ไม่เหมือนกัน เช่นเมืองนี้ชอบใช้เทคนิคบังคับเส้นยืนเขาก็จะเน้นทำสิ่งนั้น อีกฝั่งเมืองเน้นการทำลายดอกไม้เขาก็จะเน้นไป บางเมืองอาจมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมหน่อย ชอบทำออกมาผืนใหญ่ๆ ใช้ความเร็ว ใช้ตาข่าย ก็จะมีกระบวนการทำแตกต่างกันไป” ต่างจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและสยามประเทศ ที่แม้จะเริ่มแพร่หลายในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เพราะวัตถุดิบและองค์ความรู้ในศาสตร์นี้จำกัด ลูกไม้จึงเป็นสินค้านำเข้ามากกว่าลงมือถักใช้เอง

“วัตถุดิบที่ใช้ทำลูกไม้จะบอกประสบการณ์ของช่างว่าทำลูกไม้มานานแค่ไหน” ปาร์คเล่า

เพราะต้นทุนที่ต่างกัน มีตั้งแต่เส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ราคา 20 – 30 บาท ไปจนถึงเส้นด้ายจากลินินราคา 2,000 บาท แต่กระนั้นด้ายที่ราคาแพงก็ใช่ว่าจะถักง่ายกว่า ด้วยคุณสมบัติ เช่น เส้นด้ายโพลีฯ ทำมาจากน้ำมันจึงมีความแข็งแรง แต่เส้นด้ายลินินเปราะ ไม่ใช่แค่ขาด แต่จะสลายหายไปกับมือ จึงต้องยิ่งอาศัยฝีมือและความชำนาญ

Peaulon
ลูกไม้

ลูกไม้หลากสี

“คุณคิดยังไงกับสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจว่าลูกไม้เท่ากับเชย” เราถาม

“แสดงว่าเขาไปเจอลูกไม้ไม่ดี ลูกไม้ดีๆ จริงๆ แล้วทันสมัยมาก” ปาร์ค ตอบ

ปาร์คเล่าว่า เขาเชื่อว่ายังมีคนสร้างสรรค์งานลูกไม้และอยู่ร่วมกับเทคโนโลยี นำมันมาใช้ทำพัฒนาและผลิตเส้นด้ายที่แข็งแรงขึ้น ทำให้เกิดเส้นด้ายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

“ถามว่าแล้วมันน่าตื่นเต้นยังไง มันน่าตื่นเต้นตรงที่เราจะได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ แก้ข้อจำกัดที่เคยมีในอดีต เช่นเมื่อก่อนอยากได้งานชุดลูกไม้ที่มีทรง แต่ทำไม่ได้เพราะเส้นด้ายไม่มี ซึ่งทุกวันนี้ทำได้แล้ว งานแฟชั่นที่เกิดขึ้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป”

ปาร์ค ปัญจพล

Name: ปัญจพล อัศวลาภนิรันดร

Age: 33 ปี

Occupation: ช่างทำลูกไม้

Place of Birth: กรุงเทพฯ

In Detail: ที่จะยากคือจังหวะที่ทิ้งให้ห่างกันว่าจะประมาณไหน เพราะว่าลูกไม้เป็นงานโปร่ง ก็ต้องดูจังหวะและระยะ คนเริ่มต้นถักใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้น้ำหนักมือตัวเองลูกไม้ที่ออกมาจะมีระยะไม่เท่ากัน

Stuff: กระสวย จริงๆ เป็นแค่เศษไม้สองชิ้นประกอบติดกันก็เป็นกระสวยได้แล้ว เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ทำงานลูกไม้สะดวกขึ้น วิธีใช้คือ กรอด้ายเข้าไป เพื่อใช้ถักลูกไม้

My Favorite Part of the Job: กระบวนการออกแบบลายเป็นงานที่สเกตช์ไม่ได้จึงต้องลองทำหลายชิ้นกว่าจะลงตัว บางทีเราอยากได้ลายแบบหนึ่งแต่ลองแล้วไม่ได้ เพราะยังหานิสัยของด้ายไม่เจอ นิสัยของด้ายคือเมื่อจับเขาผูกปมแบบนี้แล้วจะหันเลี้ยวไปทางไหน  เป็นส่วนที่สนุกและท้าทายมากว่าจะทำให้เกิดลายอย่างที่อยากได้ยังไง

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล