เป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้วที่โลกได้รู้จักการเก็บบันทึกภาพความทรงจำและเรื่องราวต่างๆ ผ่านกล้องและเลนส์ก่อนจะถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มพลาสติกเคลือบน้ำยา ผมยังจำได้ดีสมัยไปทัศนศึกษา หลังจากที่ถ่ายภาพเสร็จเราต้องนำม้วนฟิล์มไปให้ร้านล้างฟิล์มเพื่อให้เกิดเป็นภาพบนนั้น ก่อนจะอัดออกมาเป็นรูปบนกระดาษให้เราดู ถ้าเกิดว่ามีรูปไหนที่เราถูกใจเป็นพิเศษก็จะหยิบฟิล์มกลับไปที่ร้านเพื่ออัดรูปเพิ่ม และแจกจ่ายให้เพื่อนๆ ที่อยู่ในรูป หรืออัดขนาดใหญ่ขึ้นแล้วนำไปเข้ากรอบติดที่ผนังบ้านอีกที

ฟังดูวุ่นวายและลำบากใช่มั้ยครับ ก็น่าจะเป็นแบบนั้นแหละ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเหล่ากล้องดิจิทัลเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้เรามีกล้องดิจิทัลคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนต่างหันไปหากล้องดิจิทัลกันเกือบหมด

กล้องฟิล์ม

อาจจะด้วยความคิดถึงขั้นตอนแสนวุ่นวายในอดีตของกล้องฟิล์ม หรือเพราะไม่เคยลองก็เลยอยากจะลองความลำบากของฟิล์มก็ไม่ทราบได้ ทำให้ตอนนี้มีคนจำนวนไม่น้อยเริ่มหันกลับมาใช้กล้องฟิล์มในการบันทึกภาพความทรงจำอีกครั้ง คนที่ไม่มีกล้องฟิล์มก็เริ่มซื้อหามาไว้ใช้ บางคนโชคดีหน่อยถ้าพ่อหรือแม่มีกล้องฟิล์มเก็บไว้อยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนเราก็มักจะเจอกับอาการไม่ยอมทำงาน หรือทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพของกล้องเหล่านั้น แน่ล่ะ ด้วยอายุอานามของกล้องฟิล์มเหล่านี้ที่ถ้าเทียบกับคนก็คงจะเริ่มเข้าสู่การเป็นคุณน้าคุณลุงแล้ว สิ่งที่จำเป็นสำหรับเหล่าน้าๆ ลุงๆ เหล่านี้ก็คงจะหนีไม่พ้นการซ่อมและบำรุงรักษา ในโลกยุคที่มีแต่กล้องดิจิทัลนั้นเราจะไปหาคนซ่อมกล้องฟิล์มได้จากที่ไหนกัน? และนี่คือสาเหตุที่เรารวมไปถึงอีกหลายๆ คนต้องเดินทางมาแถววังบูรพาเพื่อมาพูดคุยกับ The Master นักซ่อมกล้องฟิล์มคนนี้

ในอดีตที่ผ่านมาย่านวังบูรพานี้นอกจากจะเป็นย่านขายเครื่องเกมและของเล่นแล้ว ยังเป็นย่านซื้อขายกล้องกันแบบจริงจังอีกด้วย (แน่นอนว่าในยุคนั้นก็คือกล้องฟิล์ม) ซึ่งพอมีร้านขายกล้องเยอะ ก็เลยมีร้านรับซ่อมอยู่เยอะมากตามไปด้วย แต่ด้วยความนิยมที่ลดลงและการมาถึงของกล้องดิจิทัล รวมไปถึงปัจจัยอีกหลายๆ อย่างก็ทำให้ร้านขายกล้องและร้านซ่อมกล้องนั้นหายไปจากท้องตลาดกันพอสมควร บางร้านที่ยังคงอยู่ก็ย้ายไปรวมกันที่ห้าง Mega Plaza วังบูรพานี่เอง (เมกาพลาซ่าไม่ใช่เมกาบางนานะคุณ! อย่าไปผิดที่เชียวนะ)

ช่างตุ๋ย - อนุรักษ์ อินทชัย

ช่างตุ๋ย - อนุรักษ์ อินทชัย

ผมเดินขึ้นบันไดเลื่อนไปชั้นห้า เดินจนเจอร้านค้า 1 คูหาขนาด 3×3 เมตร ที่มีตู้กระจกล้อมอยู่ทุกด้าน ภายในตู้เหล่านั้นมีกล้องฟิล์มมากมายหลายแบบวางกันอยู่จนแน่นไปหมด มีทั้งที่เป็นกล้องแบบ SLR, Twin Lens Reflex, Rangefinder, โพลารอยด์, กล้องพับ ไปจนถึงกล้องใหญ่แบบ Large Format (กล้องแบบที่ช่างภาพจะต้องเอาผ้าดำคลุมหัวก่อนจะถ่ายภาพ) แน่นอนว่ากล้องทั้งหมดในตู้เหล่านี้คือกล้องของลูกค้าที่ฝากมาให้ซ่อม ที่นี่คือร้านซ่อมกล้องที่เปิดมาแล้ว 13 ปี มีกล้องที่ถูกซ่อมผ่านมือไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3,500 ตัว ด้านในของร้านนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังนั่งแกะกล้องตรงหน้าเขาอยู่ นั่นคือ ช่างตุ๋ย-อนุรักษ์ อินทชัย ช่างซ่อมและเจ้าของร้าน The Eye Focus Camera ผู้เป็น The Master ของเรานี่เอง

ร้าน The Eye Focus Camera นั้นให้บริการดูแลและซ่อมแซมกล้องฟิล์มหลากหลายรูปแบบ ทั้งกล้องเล็ก กล้องขนาดกลาง ไปจนถึงกล้องใหญ่ และยังรับล้างคราบรา ล้างฝุ่น ไปจนถึงซ่อมแซมเลนส์ที่ใช้กับกล้องต่างๆ อีกด้วย ในระหว่างที่ผมรอให้แกว่างจากงานตรงหน้าก็มีเมสเซนเจอร์วิ่งเอากล้องและเลนส์จากลูกค้ามาส่งให้แกอยู่เป็นระยะๆ บ่งบอกถึงความไว้ใจและเชื่อมั่นในฝีมือของช่างผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

กล้องเก่า

ก่อนการสนทนาจะเริ่มต้นผมหยิบกล้องเรนจ์ไฟเดอร์ตัวโปรดที่ไม่ได้หยิบออกมาใช้งานนานร่วมปีซึ่งพบว่าเครื่องวัดแสงด้านในนั้นไม่ทำงานอีกต่อไป ยื่นให้กับช่างตุ๋ยพร้อมบอกอาการให้ช่วยพิจารณา ช่างตุ๋ยรับฟังและพยักหน้าให้เราเริ่มบทสนทนาในระหว่างที่มือของแกก็เริ่มซ่อมแซมกล้องของผมไปด้วย (ถ้าซ่อมไม่หายผมว่าจะเปลี่ยนใจไม่เขียนเรื่องแกลงในคอลัมน์แล้วล่ะ-ฮา)

 

ก่อนจะเป็นช่างซ่อมกล้องฟิล์ม

ผมเข้าใจเอาเองว่าช่างซ่อมกล้องนั้นจะเป็นวิชาชีพเฉพาะ มีการเรียนการสอนกันในโรงเรียนหรือสถาบัน แต่พอถามช่างตุ๋ยถึงที่มาของวิชาชีพก็กลับกลายเป็นว่าไม่มีสถาบันหรือโรงเรียนไหนสอนเรื่องการซ่อมกล้องเลยแม้แต่ที่เดียว แล้วช่างซ่อมกล้องฟิล์มนั้นเอาวิชาความรู้มาจากที่ไหนกัน

“ไม่มีโรงเรียนที่ไหนสอนทั้งนั้นแหละ ช่างทุกคนก็เริ่มจากเป็นลูกน้องในร้านซ่อมกล้องก่อน แล้วค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตจนมาเปิดร้านของตัวเอง พวกช่างซ่อมกล้องทุกคนก็หัดกันเอาเองแบบนี้ทั้งนั้นแหละ”

กล้องวินเทจ

ช่างตุ๋ยเล่าให้ฟังต่อว่าตอนวัยรุ่นก็เรียน ปวส. ทางด้านช่างไฟฟ้า พอจบมาก็ไปทำงานที่โรงงานทอผ้าในตำแหน่งช่างซ่อมเครื่องจักรประจำโรงงาน เวลาที่เครื่องจักรเสียช่างไฟฟ้าอย่างช่างตุ๋ยจะถูกเรียกไปประเมินความเสียหายของเครื่องจักรก่อน แต่หลังจากทำงานอยู่ได้หลายปีก็ไม่เห็นความก้าวหน้าทางอาชีพ ประกอบกับเห็นว่ามีญาติเปิดร้านขายกล้องอยู่ที่วังบูรพา ด้วยความชอบงานศิลปะอย่างการถ่ายรูปและวาดรูปมาตั้งแต่เด็กทำให้ช่างตุ๋ยตัดสินใจลาออกจากโรงงาน มาช่วยงานที่ร้านของญาติในตำแหน่งคนขายกล้องเก่าก่อน

“ทีนี้ตามร้านขายกล้องเก่ามันจะมีกล้องที่เสียเล็กเสียน้อยอยู่แล้ว ด้วยความที่ผมเคยซ่อมเครื่องจักรใหญ่ๆ มาแล้วเลยบอกญาติว่าขอลองซ่อมกล้องตัวเล็กๆ พวกนั้นเพื่อขายในร้านดู ก็ปรากฏว่าซ่อมได้ ญาติที่เป็นเจ้าของร้านก็เลยเริ่มให้เราซ่อมกล้องมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนนั้นมา”

จากการทำงานในโรงงาน เคยซ่อมเครื่องจักรใหญ่ๆ พอเปลี่ยนมาเป็นการซ่อมกล้องนั้นมันเหมือนกันเหรอ ผมถามด้วยความสงสัยเพราะสองสิ่งนั้นดูไม่เห็นจะเชื่อมโยงกันตรงไหน

“เครื่องจักรใหญ่ตามโรงงานหรือกล้องวิธีการซ่อมมันก็เหมือนๆกัน”

ช่างตุ๋ยกล่าว

“อย่างกล้องใช้ไม่ได้ตัวหนึ่ง เราก็ลองหยิบมาดูว่าขึ้นชัตเตอร์ได้มั้ย ลองปรับสปีดชัตเตอร์ดูว่าได้มั้ย ถ้าขึ้นอะไรไม่ได้ก็แปลว่ามันติดขัดที่ชุดกลไกตรงนั้นแหละ เริ่มต้นด้วยการถอดเปลือกข้างนอกมันออกมา ค่อยๆ ไล่ไปทีละจุดๆ หาสาเหตุให้เจอว่ามันติด มันไม่ขยับ เพราะอะไร แล้วก็แก้ไขมันซะ ก่อนจะประกอบกลับคืนที่เดิม ก็มีเท่านี้แหละ แต่กล้องจะยากกว่านิดหน่อยตรงที่ชิ้นส่วนทุกอย่างมันเล็กกว่ามากๆ แล้วตอนประกอบกลับก็ต้องจำเอาไว้ให้ดีว่าชิ้นส่วนต่างๆ อยู่ตรงไหนและเรียงกันยังไงบ้าง ผสมกับความเข้าใจในระบบการทำงานของกล้องประเภทต่างๆ ก็ทำให้สามารถประกอบชิ้นส่วนต่างๆ กลับลงไปได้”

กล้องฟิล์ม กล้องฟิล์ม กลไกกล้อง

จุดเริ่มสู่อาชีพช่างซ่อมกล้องอย่างเต็มตัว

ระหว่างที่ช่างตุ๋ยช่วยงานญาติทั้งขายกล้องและซ่อมกล้อง ก็เกิดเหตุพลิกผันให้ได้มาประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมกล้องแบบเต็มตัว ภายใต้การชักนำของลูกค้าซึ่งเป็นช่างภาพมืออาชีพที่ชื่อ ชำนิ ทิพย์มณี

“งานแรกที่ผมได้เริ่มซ่อมกล้องใหญ่ๆ ก็เริ่มมาจากน้าชำ (ชำนิ ทิพย์มณี) นี่แหละที่เอากล้องใหญ่มาให้ผมลองซ่อมดู โดยเริ่มจากกล้อง TLR (Twin Lens Reflex) ยี่ห้อ Rolleiflex ก่อน พอผมซ่อมให้แกเสร็จ แกก็เริ่มเอากล้องที่ถ่ายงานของที่สตูดิโอของแกมาให้เราซ่อมด้วย ตอนนั้นสงสัยว่าแกคงจะหาช่างคนอื่นไม่ได้ล่ะมั้ง (หัวเราะ) แล้วพอผมซ่อมให้แกได้อีก ทีนี้แก็เลยไปเอากล้องใหญ่พวก Large Format มาให้เราซ่อมอีก ทีนี้หลังจากซ่อมได้ แกก็ไปบอกประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนรู้ว่าไอ้นี่ซ่อมได้ เลยเริ่มมีคนอื่นๆ มาให้ซ่อม กลายมาเป็นช่างซ่อมกล้องจริงจังก็ตอนนั้นแหละ”

แล้วการที่ช่างตุ๋ยต้องซ่อมกล้องมากมายหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายประเภท หลากหลายรูปแบบ ทั้ง SLR (Single Lens Reflex), TLR (Twin Lens Reflex), Viewfinder, Rangefinder ไปจนถึงกล้อง Medium Format และ Large Format รวมถึงอื่นๆ อีกมากมาย ช่างซ่อมกล้องจะสามารถซ่อมกล้องที่หลากหลายทั้งหมดนี้ได้ยังไง ผมถามต่อด้วยความสงสัย

กล้องโบราณ เลนส์

“อาชีพนี้เป็นอาชีพที่แปลกนะ เพราะการจะซ่อมอะไรสักอย่างหนึ่งให้เชี่ยวชาญได้นั้น มันจะต้องได้ทำบ่อยๆ แต่ถ้าไม่เคยทำเลยแล้วมีคนเอามาให้ซ่อมจะซ่อมได้ยังไง ใช่มั้ย นี่แหละคือสาเหตุที่มันไม่มีการเรียนการสอนวิชาชีพนี้ หรือแม้แต่ถ้าเราทำงานเป็นช่างของบริษัทหนึ่ง แม้เราจะได้รับการเทรนเพื่อซ่อมกล้องของบริษัทนี้มา ก็จะไม่สามารถซ่อมกล้องของบริษัทอื่นได้เลยเช่นกัน แม้แต่ผมเองก็มีกล้องบางยี่ห้อที่ไม่ค่อยได้เจอ เวลาที่เจอคนเอามาให้ซ่อมก็อาจจะซ่อมไม่ได้หรือใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จ ดังนั้น เวลาที่ลูกค้าเดินถือกล้องที่เราไม่เคยซ่อมมาถาม เราก็ต้องตอบว่าได้ไว้ก่อน (หัวเราะ) คือไม่ได้โกหกนะ แต่มันคือความมั่นใจว่าเราซ่อมได้จริงๆ” ช่างตุ๋ยอธิบายถึงธรรมชาติของอาชีพนี้

“แล้วถึงรายละเอียดของกล้องแต่ละประเภทมันจะแตกต่างกันทั้งหมด แต่หลักการทำงานของกล้องมันก็เหมือนๆ กันหมดทุกอย่าง อย่างเช่นชัตเตอร์ของกล้องส่วนมากก็เป็นโลหะ บางตัวก็เป็นผ้า บางตัวก็เป็นชัตเตอร์ที่ซ่อนอยู่ในกระบอกเลนส์ ฟังดูเหมือนจะแตกต่างกัน แต่เอาเข้าจริงระบบการทำงานมันก็คล้ายๆ กันทั้งหมด เหมือนเราเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการลองทำ แล้วพอเราซ่อมกล้องประเภทนี้ได้แล้วปุ๊บ เราก็จะเริ่มเข้าใจกล้องประเภทนี้ตัวอื่นๆ และซ่อมมันเป็นแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอ่านคู่มือหรือหนังสือแนะนำการซ่อมเลย”

ผมมองดูกล้องที่วางอยู่รอบๆ ร้านซึ่งกำลังรอเจ้าของมารับคืนกลับไป ความหลากหลายของกล้องทั้งหมดนั้นทำให้ผมเชื่อในความสามารถของแกอย่างหมดใจ แต่ถ้าความหลากหลายของกล้องไม่ใช่เรื่องยาก แล้วความยากของช่างซ่อมกล้องนั้นคืออะไรกัน

สำหรับกล้องก็ไม่ได้มีอะไรยาก อย่างที่บอกว่าแกะมาซ่อมแล้วประกอบกลับให้เหมือนเดิม มันมีแค่นั้น แต่สิ่งที่ยากจริงๆ คือการซ่อมเลนส์ เวลาที่ลูกค้าเจอเลนส์เป็นราหรือฝ้าเขาก็ต้องการให้เลนส์กลับมาใสแบบเดิม เลยส่งมาหาเรา เราก็ต้องทำให้มันเนี้ยบที่สุด เลนส์เป็นเรื่องที่ละเอียดมากๆ เลนส์หนึ่งตัวเวลาแกะออกมาแล้วเราอาจจะเจอชิ้นแก้วที่อยู่ด้านในตัวมันมากกว่า 10 ชิ้น แล้วชิ้นแก้วแต่ละชิ้นมันเป็นรอยและเกิดตำหนิง่ายมาก เวลาแกะหรือถอดมาแต่ละชั้นก็ต้องระวังแบบสุดๆ สำหรับผมนี่ถือว่ายากกว่ากล้อง”

เลนส์ กล้องฟิล์ม

 

กล้องที่ซ่อมยากและง่ายที่สุด

สำหรับช่างซ่อมกล้องที่มีประสบการณ์ซ่อมกล้องมาหลากหลายประเภท มีกล้องผ่านมือมาหลายพันตัว ผมก็เลยถามช่างตุ๋ยไปว่าจากที่เคยทำมาทั้งหมดมีกล้องประเภทไหนที่ซ่อมยากมากๆ หรือซ่อมง่ายมากๆ บ้างไหม

“กล้องที่เป็นระบบไฟฟ้าน่ะซ่อมยาก” ช่างตุ๋ยนิ่งคิดอยู่พักหนึ่งก่อนตอบออกมา “พวกกล้องกลไกทั้งหมดเนี่ยซ่อมง่ายเพราะมันไม่มีอะไรซับซ้อน ทุกส่วนที่มีการเคลื่อนที่มันก็จะมีเฟืองมารับช่วงต่อกันเป็นทอดๆ ไป ถ้ากล้องไม่ทำงานเราก็แค่ไล่เช็กดูเฟืองไปทีละตัวๆ ว่าตัวไหนมีสนิม ฟันเฟืองไม่ขบกัน หรืออยู่ผิดตำแหน่ง แต่พวกกล้องไฟฟ้าบางครั้งมันมีระบบไฟฟ้ามาควบคุมชุดกลไกอีกที ทำให้เวลาเช็กก็ต้องเช็กทั้งชุดกลไกและแผงวงจร”

แล้วกล้องยี่ห้อไหนหรือรุ่นไหนที่ซ่อมง่ายๆ บ้าง ผมถามต่อ

“พวกซ่อมง่ายสำหรับผมก็คือ Nikon รุ่น FM2 กับ Leica M ทุกรุ่น เพราะคนออกแบบเขาออกแบบมาดี ถอดตัวบอดี้ง่าย แล้วให้ส่วนที่ต้องมีการซ่อมแซมนั้นอยู่ในส่วนที่แกะออกมาได้ง่ายกว่า ไม่เหมือนกล้องบางอันที่บางส่วนบางชิ้นซ่อนอยู่ด้านในทำให้ต้องแกะทุกชิ้นออกมาซ่อม แบบนั้นยาก ไปจนถึงกล้องทั้งสองตัวนี้สามารถประกอบกลับเข้าไปเหมือนเดิมได้ง่าย”

ผมชักสนุกเลยถามต่อไปว่าพอจะมีรุ่นหรือโมเดลไหนที่จัดว่าเป็นฝันร้ายของช่างซ่อมกล้องบ้างไหม

ช่างตุ๋ยนิ่งคิดไปพักใหญ่ก่อนจะเล่าให้ฟังว่า กล้องรัสเซียยี่ห้อ Kiev (ที่เป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมตรูปทรงคล้าย Hasselblad) คือกล้องที่ซ่อมยากที่สุด เพราะแค่การแกะกล้องออกมาดูด้านในก็ทำได้ยากและลำบากมาก รองลงมาที่เคยทำก็คือ Pentax67 เพราะมีระบบไฟฟ้าและกลไกที่ผสมกันอยู่เยอะ รวมไปจนถึงกล้อง SLR ของ Leica ที่เวลาซ่อมก็ถือว่ายากแต่ยังไม่เท่ากับตอนที่ต้องประกอบกลับ เพราะต้องทำให้เฟืองทุกตัวอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่งั้นก็จะไม่สามารถใช้งานได้แบบเดิม

กล้องเก่า กล้องฟิล์ม

 

ชิ้นส่วนที่หายไป

ผมเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าด้วยความที่กล้องแต่ละตัวก็มีอายุอานามที่มากแล้ว ถ้าเกิดว่ามีชิ้นส่วนที่เสียหายขึ้นมาแบบที่ไม่สามารถซ่อมได้ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนอย่างเดียว แล้วเราจะไปหาชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมจากที่ไหนกัน

ช่างตุ๋ยอธิบายให้ฟังว่าบริษัทผลิตกล้องในยุคนั้นหลายๆ บริษัทไม่ได้ปรับตัวอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ กล้องหลายๆ ตัวนั้นจึงไม่สามารถหาชิ้นส่วนจากบริษัทมาเปลี่ยนให้ได้ การหาอะไหล่เพื่อใช้ซ่อมกล้องนั้นจึงต้องใช้วิธีหาซื้อกล้องรุ่นเดียวกันที่เสียแล้ว เพื่อเอาไว้ใช้ดึงเอาอะไหล่ข้างในออกมาเปลี่ยน แล้วบางครั้งก็ไม่สามารถหากล้องเสียๆ มาใช้เป็นอะไหล่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการสั่งอะไหล่จากต่างประเทศมาเพื่อใช้ซ่อมด้วย นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การซ่อมกล้องเก่านั้นใช้เวลานานและมีราคาที่สูง

 

วิธีป้องกันกล้องเสียที่ดีที่สุดคือหยิบออกมาใช้บ้าง

ลูกค้ามากกว่าครึ่งที่เอากล้องมาซ่อมมักจะเกิดจากสาเหตุที่ไม่ได้หยิบกล้องมาใช้งานนานๆ อาการยอดฮิตของกล้องก็คือ กลไกติดขัด ขึ้นชัตเตอร์ไม่ได้ เลื่อนฟิล์มไม่ได้ ส่วนอาการยอดฮิตของเลนส์ก็คือ กระบอกเลนส์ติด ขยับไม่ได้หรือฝืด เลนส์ขึ้นราขึ้นฝ้า ซึ่งพอช่างตุ๋ยได้แกะออกมาดูแล้วก็พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุดก็คือเฟืองหรือชิ้นส่วนโลหะด้านในกล้องขึ้นสนิมจากอากาศที่ร้อนและชื้นของบ้านเรา ซึ่งสิ่งที่ช่างตุ๋ยได้อยากฝากให้กับทุกคนที่เจอปัญหาเรื่องกล้องก็คือ

“ถ้าเจ้าของกล้องไม่ไปฝืนดันฝืนเลื่อนให้มันขยับจะซ่อมง่ายกว่า เพราะมันไม่มีอะไรเสียหาย แค่เฟืองมันติด แต่ถ้าเจ้าของกล้องพยายามใช้แรงดันหรือเลื่อนให้มันขยับมันอาจจะทำให้เฟืองด้านในรูดได้ ถ้าแย่กว่านั้นก็มีชิ้นส่วนที่หัก แล้วก็อาจจะตามมาด้วยการซ่อมแบบเปลี่ยนอะไหล่เยอะ หรือบางทีก็อาจจะหาอะไหล่มาซ่อมไม่ได้เลย  ส่วนวิธีป้องกันไม่ให้กล้องเสียที่ดีที่สุดก็คือ หยิบมาใช้บ่อยๆ” ช่างตุ๋ยอธิบายก่อนจะบอกถึงเทคนิคในการป้องกันกล้องเสีย

“กล้องที่ใช้บ่อยๆ ใช้เป็นประจำมักจะไม่ค่อยเป็นอะไร กล้องที่ไม่ค่อยได้ใช้มักจะเสีย แม้จะซ่อมไปแล้วแต่ถ้าวางทิ้งไว้ปีนึงมันก็จะเสียอีก อย่างแย่ๆ เดือนสองเดือนก็ต้องหยิบออกมายิงเล่นๆ แบบไม่ใส่ฟิล์มบ้างก็ยังดี เพื่อให้กลไกด้านในมันได้ขยับหมุนเปลี่ยนตำแหน่งบ้าง อากาศร้อนชื้นแบบบ้านเราถ้าวางไว้เฉยๆ ก็มีโอกาสที่กลไกจะติดสูง สนิมจะขึ้นตรงไหนก็ได้ หรือเลนส์ก็มีโอกาสขึ้นราได้ถ้าวางทิ้งไว้เฉยๆ”

กล้องฟิล์ม

 

ความสุขในการเป็นช่างซ่อมกล้อง

ช่างตุ๋ยเริ่มประกอบกล้องของผมกลับเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่งเป็นสัญญาณว่าการซ่อมแซมใกล้จะเสร็จแล้ว ผมเห็นแววตาที่คล้ายเด็กอยู่ในนั้น เลยถามถึงความสุขของการเป็นช่างซ่อมกล้อง

“เราเป็นช่างน่ะนะ เราก็ชอบแก้ปัญหา การซ่อมกล้องก็เหมือนการต่อจิ๊กซอว์ เราต้องค่อยๆ คิดว่าส่วนไหนที่เสีย พอคิดได้ก็ไปตรวจสอบที่จุดนั้น ถ้าไม่เจอก็ไปหาที่จุดอื่น ค่อยๆ ไล่ไปทีละจุดๆ จนเจอจุดที่มันติดก็แก้ไข พอแก้แล้วมันหายก็รู้สึกเหมือนต่อจิ๊กซอว์สำเร็จน่ะ แล้วการทำของที่เสียให้มันกลับมาใช้ได้อีกครั้งมันไม่ได้เป็นความสุขของผมแต่เพียงคนเดียวนะ” ช่างตุ๋ยไม่พูดเปล่าๆ แต่หยิบกล้องของผมที่แกซ่อมไปด้วยตลอดบทสนทนาคืนกลับมาให้ ผมหยิบขึ้นมาลองใช้งานดู และพบว่าเครื่องวัดแสงในกล้องของผมกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่งพร้อมๆ กับรอยยิ้มบนหน้าผมและบนหน้าของช่างตุ๋ยเช่นกัน

ช่างตุ๋ย - อนุรักษ์ อินทชัย ช่างตุ๋ย - อนุรักษ์ อินทชัย
Facebook |  The eye focus Camera cafe

คำแนะนำของช่างซ่อมกล้องเพื่อการใช้กล้องฟิล์มได้อย่างยาวนาน

เวลาที่เจอกล้องติดขัด ขึ้นชัตเตอร์ไม่ได้หรือเลื่อนฟิล์มไม่ได้ ช่างตุ๋ยแนะนำให้อย่าพยายามฝืนหรือใช้แรงผลัก กด เพื่อให้มันใช้ได้ เพราะมีโอกาสที่จะทำให้กล้องพังมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก ทางที่ดีอย่าไปแตะต้องอะไรเพิ่มหรือพยายามแก้ไขอะไรด้วยตัวเองแล้วรีบพามาหาช่างจะดีที่สุด

หรือผู้ที่อยากซื้อกล้องฟิล์มมือสองนั้น ถึงแม้ว่าเราจะได้เลือกซื้อกล้องที่ทำงานได้มาแล้วก็ตาม หลังการซื้อมาแล้วก็ยังไม่ควรนำออกไปใช้งาน แต่ควรเอามาให้ช่างได้ตรวจและซ่อมให้สมบูรณ์ก่อนค่อยเอาไปใช้งาน เพียงเท่านี้กล้องที่ซื้อก็จะสามารถใช้งานได้อีกยาวนาน

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan