23 กุมภาพันธ์ 2018
53 K

คุณเก็บภาพคนที่คุณรักไว้ที่ไหน?

ยุคนี้คนส่วนใหญ่อาจตอบว่าในโทรศัพท์มือถือ เมื่อ 20 ปีที่แล้วอาจบอกว่าเก็บในกระเป๋าสตางค์ แต่ถ้าเป็น 100 ปีที่แล้ว บรรพบุรุษของเราอาจเก็บรูปพ่อแม่หรือคนรักไว้ในสร้อยล็อกเก็ตหรือบนเข็มกลัด ใช้ห้อยคอหรือติดแนบกับหัวใจ

เครื่องประดับใส่ภาพคนรักนี้เริ่มได้รับความนิยมในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (สมัยอยุธยาตอนปลาย) พระองค์มีพระธำมรงค์ล็อกเก็ตที่บรรจุพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์เองกับพระมารดา และพระราชทานล็อกเก็ตพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์เองให้บุคคลใกล้ชิดอยู่เสมอ ยุคนั้นล็อกเก็ตจึงเป็นเครื่องประดับของชนชั้นสูงที่แพงมาก ต้องให้ช่างฝีมือบรรจงวาดอย่างพิถีพิถัน

northeastauctions.com

topjewelleryblog.com

พอถึงสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5) ล็อกเก็ตใส่ภาพคนที่รักและเส้นผมพวกเขากลายเป็นไอเท็มสุดป๊อปที่ใครต่อใครล้วนต้องมี ยิ่งสมเด็จพระราชินีทรงสวมสร้อยพระศอล็อกเก็ตใส่พระฉายาลักษณ์เจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี หลังเจ้าชายสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงทรงเป็นผู้นำแฟชั่นให้สาวๆ สวมสร้อยหรือริบบิ้นกำมะหยี่คล้องล็อกเก็ตรูปคนรักตามไปด้วย

ในเมืองไทย เทรนด์การนำภาพถ่ายคนมาทำเครื่องประดับในไทยเริ่มฮิตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ความเจริญจากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาพร้อมแฟชั่นแสนโรแมนติกที่ต้องสั่งทำจากเมืองนอกเท่านั้น

http://black-pool.tumblr.com/post/3443287446/vickipoem-buttons

artofmorning.com

“คุณทวดหม่อยหยุ่น แซ่เหงี่ยว หรือ อาจ ศิลปวาณิช เป็นชาวจีนที่เกิดและเติบโตบนเกาะมอริเชียส ทวีปแอฟริกา และย้ายมาอยู่เมืองไทยค่ะ คุณทวดชอบการถ่ายรูปมาก ศึกษาศาสตร์นี้จนเปิดร้านนางเลิ้งอ๊าร์ตขึ้นมาเป็นร้านถ่ายรูป แล้วใช้ศาสตร์และศิลป์ที่ตัวเองมีบวกกับคอนเนกชันทางเพื่อนค้นคว้าหาวิธีทำล็อกเก็ตหินเป็นร้านแรกของเมืองไทย”

ฟิวล์-ปัญชิกา เสือสง่า ทายาทรุ่นสี่ ของร้านนางเลิ้งอ๊าร์ตที่กำลังฝึกฝนวิชาช่าง วางมือจากการเช็ดภาพเก่า ของประดับ และกล้องถ่ายรูปโบราณ ในตู้กระจกแล้วหันมาเล่าประวัติตระกูลให้ฟัง ร้านถ่ายรูปเก่าแก่ตั้งอยู่บนถนนนางเลิ้งมาตั้งแต่แรกเริ่ม และยังคงเปิดให้บริการถ่ายภาพจนถึงปัจจุบัน แถมด้วยบรรยากาศรุ่นคุณปู่ที่อบอวลเสมือนหยุดเวลา

ถึงจะเปลี่ยนจากฟิล์มมาใช้กล้องดิจิทัลว่องไวเหมือนร้านอื่นๆ แต่บริการทำจี้ภาพถ่าย (portrait pendant) หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ล็อกเก็ตหิน’ ยังคงอยู่ และเป็นศาสตร์ลับประจำครอบครัวที่มีเพียงหนึ่งเดียวในแดนสยาม ปัจจุบันช่างหลักของร้านคือประศาสน์ เสือสง่า ทายาทรุ่นสาม ผู้เป็นคุณลุงของเธอ ส่วนคุณพ่อเป็นช่างถ่ายรูปและผู้ช่วยดูแลร้านนางเลิ้งอ๊าร์ต

ลูกค้าส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างตะวันออกกลางที่อยากเก็บภาพถ่ายพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือคนที่รัก เป็นจี้ที่ระลึก พวกเขาจะมาที่ร้านพร้อมภาพถ่าย บางครั้งเป็นภาพสี บ่อยครั้งเป็นภาพโบราณขาวดำ และบางทีภาพก็ซีดจางหรือเลือนหายไปกว่าครึ่ง

“นี่เป็นรูปสุดท้ายของครอบครัว ถ้าภาพนี้หายไป ก็จะไม่มีภาพเขาอีกแล้ว”

เมื่อลูกค้าบอกความต้องการมาแบบนี้ ชาวนางเลิ้งอ๊าร์ตจะหยิบใบสั่งงานมาให้กรอกรายละเอียดความต้องการ เลือกได้ตั้งแต่ขนาดและรูปทรงจี้ สีพื้นหลัง สีเสื้อผ้า ไปจนถึงเปลี่ยนให้ใส่สูทได้เหมือนภาพถ่าย จากนั้นก็ตกลงราคาและนัดวันรับ ซึ่งต้องรออย่างน้อย 2 เดือนตามคิวลูกค้า ที่ใช้เวลานานขนาดนี้เนื่องจากทุกขั้นตอนต้องทำด้วยมือ กว่าจะได้จี้ภาพเหมือนที่ชัดเจน และทนทานไม่ลบเลือนนับร้อยปี

ช่างรุ่นล่าสุดของร้านชี้โต๊ะไม้หนาหนักหน้าร้านมีแว่นขยายยักษ์ทรงกลมและแม่พิมพ์ไม้สำหรับขึ้นรูปจี้ หญิงสาวบอกว่าเห็นเก่าๆ อย่างนี้ โต๊ะนี้ยังคงใช้งานตามปกติ โดยขั้นตอนแรก ช่างจะตัดและฝนแผ่นทองเหลืองเป็นรูปทรงจี้ที่ลูกค้าต้องการ คนส่วนใหญ่นิยมทรงวงรี แต่จริงๆ จะทำเป็นรูปทรงไหนก็ได้ตามชอบ จากนั้นจะใช้เซรามิกสีขาวเคลือบบนโลหะ แล้วใช้เคมีสูตรลับอัดรูปถ่ายลงไปเป็นโครงขาวดำคร่าวๆ ก่อนจะบดสีแร่พิเศษกับน้ำมัน แล้วใช้พู่กันจีนเล็กจิ๋ววาดภาพให้ชัดเจน ระบายแต่งแต้มสีหน้า เส้นผม เสื้อผ้า ให้คมดั่งภาพเหมือน

“สีที่ใช้เป็นสีแร่ทนไฟ สั่งมาเป็นหีบๆ จากเมืองนอกมาเมื่อหลายสิบปีก่อน ใช้ได้ครั้งต่อครั้งเท่านั้นค่ะ ลงสีเสร็จแล้วเราจะใช้ความร้อนเผาภาพให้ฝังตัวบนจี้ แล้วเคลือบฟิล์มกระจกด้านบนให้ทุกอย่างคงทนถาวร ถ้าแช่น้ำหรือตากแดดไม่เป็นอะไรเลย ห้ามทำตกแตกอย่างเดียว”

จี้ภาพผู้คนหลายสิบคนในตู้กระจกเป็นเครื่องยืนยันผลงานของนางเลิ้งอ๊าร์ต ชิ้นงานที่ลูกค้าไม่ได้มารับเหล่านี้ถูกจัดแสดงเป็นตัวอย่างผลงาน บางชิ้นถูกทำในรุ่นคุณลุงและรุ่นคุณปู่ซุ่น แซ่เหงี่ยว แต่ยังคงชัดเจนวาววับเหมือนความทรงจำใหม่เอี่ยม

“คุณพ่อเคยเล่าว่ามีคนเดินเข้ามา เห็นหน้าคนรู้จักอยู่ในนี้เลยซื้อไป แต่ก่อนคนในตระกูลอาจจะสั่งแล้วไม่ได้มารับ พอลูกหลานโตแล้วมาเห็นก็เลยได้ภาพกลับไป”

หญิงสาวเปิดตู้ หยิบจี้แสนวิจิตรหลายชิ้นมาให้เราดูอย่างทนุถนอม

“ทุกชิ้นเราทำด้วยมือ หนึ่งชิ้นก็รับ ถ้าสิบชิ้นก็ต้องทำมือสิบชิ้น ถ้าเอามาวางเรียงกันจะดูเหมือนกัน แต่พอดูดีเทลดีๆ แต่ละอันมีลายพู่กันที่ไม่เหมือนกันนะคะ เราพยายามที่จะหยอดแววตาลงไปในภาพเพื่อให้เหมือนจริงที่สุดด้วย และถ้าเป็นงานเกี่ยวกับราชวงศ์ เราก็มีเทคนิคลงทองคำตกแต่งให้สวยงามมากขึ้น และจะสลักชื่อนางเลิ้งอ๊าร์ตไว้ด้านหลัง”

นอกจากจี้ภาพถ่าย นางเลิ้งอ๊าร์ตยังสามารทำจี้ภาพวาดหรือภาพอื่นๆ แล้วแต่ลูกค้ากำหนด ในสมัยก่อนที่ร้านจะมีช่างทำกรอบโลหะหรือล็อกเก็ตเพื่อทำเครื่องประดับให้เสร็จสรรพ แต่เมื่อความนิยมน้อยลง จึงเหลือแต่บริการทำจี้ ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อกรอบมาให้ล่วงหน้า หรือนำไปใส่กรอบสร้อย ใส่ล็อกเก็ต ติดหัวแหวน และทำเป็นเข็มกลัดเองได้ในภายหลัง โดยแบบสุดท้ายนี่ล่ะที่ได้รับความนิยมที่สุด

“สมัยก่อนเครื่องประดับแบบนี้บูมมาก มีคนไปตั้งร้านมากมาย แต่ปัจจุบันร้านดั้งเดิมจริงๆ ก็ปิดไปหมดแล้ว หรือเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมแทน เพราะว่าศาสตร์นี้ต้องใช้แรงงาน ใช้ฝีมือเยอะค่ะ เราก็เพิ่งออกจากงานบริษัทมาฝึกฝนได้ไม่นานมานี้ เพราะอยากพัฒนาธุรกิจครอบครัวตัวเอง อีกอย่างหนึ่งก็รู้สึกว่าของเรามัน unique เนอะ เราเป็นครีเอทีฟมาก่อน มีคนอีกร้อยคนที่เป็นครีเอทีฟเหมือนกัน แต่ถ้าเราเป็นช่างที่นี้ เราแทบจะเป็นคนเดียวของประเทศค่ะ แทบจะเหลือคนสุดท้ายแล้ว”

ทายาทหญิงของตระกูลกล่าวยิ้มๆ จากคุณทวด คุณปู่ คุณลุง ถึงตัวเธอ นางเลิ้งอ๊าร์ตยังคงบรรจงถ่ายทอดภาพถ่ายลงบนจี้ทำมือ แปรงพู่กันปาดรูปเล็กๆ ลงบนพื้นเซรามิก เติมความรักและความคิดถึงใครสักคนลงบนงานชิ้นแล้วชิ้นเล่า

“ช่วงเวลาทำงานที่คุณลุงชอบที่สุดคือตอนที่ลูกค้ามารับของ เขาจะลงมาให้ลูกค้าเช็กของที่เราทำว่าดีมั้ย ชอบมั้ย คุณลุงบอกว่ารู้สึกดีที่คนดูแล้วรู้สึกว่าคนที่เขารักเหมือนมีชีวิตอยู่ในรูปที่เขาทำ บางรูปเป็นรูปพ่อแม่เขา รูปสุดท้ายในชีวิตของเขาแล้ว

“รูปถ่ายมีระยะเวลาของมัน ถึงเวลานึงจะสลายหายไป แต่ทำเป็นแบบนี้ มันก็จะอยู่กับเขาได้ตลอดไป”

นางเลิ้งอ๊าร์ต

เปิดวันจันทร์ – เสาร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.
nangloengarts.com

อ้างอิง
https://www.theribboninmyjournal.com/the-secret-life-of-antiques-lockets

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan