ตอนที่ได้พบกับ พินิตย์ พันธประวัติ ธนบัตรในมือของฉันสั่นไปหมด

อาการสั่นเกิดขึ้นเมื่อพินิตย์บอกกับฉันว่า ภาพอันวิจิตรละเอียดงดงามบนธนบัตรไม่ได้เกิดจากการวาดเส้น แต่เป็นการแกะสลักด้วยมือลงบนแม่พิมพ์โลหะ!

น่าเสียดายที่ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์บนเงินตราไม่อาจอธิบายรายละเอียดใดได้มากกว่านี้ เนื่องจากกระบวนการทำธนบัตรเป็นความลับทางราชการ หวังว่าคุณจะเข้าใจ เพราะงานศิลปะเหล่านี้มิได้มีค่าเพียงแค่ทางจิตใจ แต่มีค่าเป็นเงินเป็นทอง (ในความหมายนัยตรง)

แต่จะเสียดายไปทำไม ในเมื่อยังมีงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ซึ่งพินิตย์สร้างสรรค์ไว้ให้ดูชมอีกมากมาย ในตอนนี้หลายงานจัดแสดงอยู่ร่วมกับผลงานของศิลปินอื่นในหลากสถานที่ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงซีคอน บางแค ทุกภาพล้วนเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9

ในวันที่พินิตย์เกษียณอายุราชการออกจากตำแหน่งผู้สร้างสรรค์ศิลปะบนธนบัตร ฉันจึงคิดว่าคงเหมาะสมมากกว่าหากจะชักชวนมารู้จักเขาในตำแหน่ง ‘ศิลปิน’ ผู้ทำงานอยู่กับพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดชีวิต

ตั้งแต่เด็ก พินิตย์ทำความรู้จักในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านทางการวาดรูปมาตลอด เขาตั้งข้อสังเกตว่า “คนทำงานศิลปะส่วนใหญ่ จะต้องเคยเขียนรูปในหลวงอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง” พินิตย์เป็นคนต่างจังหวัดที่เติบโตมากับการเห็นข่าวพระองค์เสด็จฯ ไปเยือนที่ทุรกันดารและทรงงานอยู่ตลอด ได้เห็นว่ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงมีพระราชดำริตั้งโครงการต่างๆ เพื่อความผาสุกของประชาชน ทำให้เขาประทับใจ และอยากทำงานเกี่ยวกับพระองค์เสมอมา

หลังจากที่จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง พินิตย์ก็สอบเข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นโอกาสให้ได้ทำงานเกี่ยวกับการเขียนภาพในหลวงอีก จึงกลายเป็นว่า ทั้งก่อนหน้าและตลอดช่วง 35 ปี ในธนาคารแห่งประเทศไทย ชีวิตของชายคนนี้อุทิศให้กับเพียงสิ่งเดียว คือการสร้างงานศิลปะเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ รวมกว่า 40 – 50 ภาพ

เบื่อบ้างไหม ฉันถามเขาตรงๆ พินิตย์ตอบปฏิเสธในทันที

“ไม่เคยเบื่อเลย เป็นความปลื้มและประทับใจมากกว่า ในเวลาที่ทำแต่ละภาพ เราต้องพยายามปรับให้พระบรมรูปของพระองค์งดงามเหนือจริง แต่ก็ต้องดูแล้วเหมือนด้วย เพื่อให้สมพระเกียรติของพระองค์”

หากผลงานของศิลปินผู้นี้บังเอิญผ่านเข้ามาในสายตา อาจชวนสงสัยว่าภาพเหล่านี้แตกต่างจากพระบรมฉายาลักษณ์อื่นของพระองค์อย่างไร แต่หากขยับเข้าไปมองดูใกล้ๆ หรือลองใช้แว่นขยายส่องถ้ามีโอกาส จะพบว่าความพิเศษของงานศิลปะที่พินิตย์สร้างสรรค์อยู่ที่เทคนิคการแกะสลักภาพพิมพ์โลหะ (Steel Engraving หรือ Intaglio) ล้วนๆ

พินิตย์เล่าที่มาที่ไปของการใช้เทคนิคดังกล่าวว่าเป็นเทคนิคชั้นสูงที่ใช้ทำธนบัตรทั่วโลก และเขาคิดว่าไม่มีที่ไหนเลยนอกจากในหน่วยงานผลิตธนบัตรที่จะมีการเรียนการสอนเทคนิคนี้ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยก็ตาม ในอดีตเมื่อกว่า 500 ปีที่แล้ว จะเห็นศิลปะรูปแบบนี้ได้ตามสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น ภาพประกอบหนังสือและแม้แต่โน้ตดนตรี แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้ไม่นิยมลงทุนทำกันแล้ว ศิลปินที่เหลืออยู่จึงเป็นกลุ่มที่ฝังตัวอยู่ตามโรงพิมพ์ธนบัตรทั่วโลกเท่านั้นเอง

สาเหตุที่ธนบัตรหลายที่ยังยึดขนบการผลิตด้วยการแกะสลักภาพพิมพ์โลหะ เช่นธนบัตรของสหรัฐอเมริกา เพราะความละเอียดอ่อนที่ทำให้มันปลอมแปลงยาก พินิตย์อธิบายเปรียบเทียบว่า หากจะให้เขียน ก ไก่ ซ้ำ 2 ตัว แม้แต่ลายมือของตัวเอง เรายังลอกได้ไม่เหมือนเป๊ะด้วยซ้ำ งานแกะสลักก็คล้ายคลึงกัน

โดยคร่าวๆ กระบวนการแกะสลักภาพพิมพ์โลหะคือ เริ่มจากการลอกลายรูปต้นแบบ โดยจะลอกมาเพียงเค้าโครง เช่น เส้นขอบเป็นอย่างไร ตา จมูก ปาก อยู่ตรงไหน แบ่งแสงเงาเป็นชั้นๆ แล้วจึงนำแบบที่ลอกลายนั้นไปเขียนลงบนแม่พิมพ์ ก่อนจะใช้อุปกรณ์พิเศษแกะแม่พิมพ์เหล็กพิเศษ (ที่ไม่อาจเปิดเผยได้ว่าพิเศษอย่างไร ลึกลับจริงๆ!) เมื่อได้โครงแล้ว จึงใส่รายละเอียดตามลงไป ขั้นตอนนอกจากนี้ลองไปจินตนาการต่อดูเอง ใบ้ให้ว่า ตรงที่เป็นร่องแกะลงไปในแผ่นเหล็กคือตรงที่สัมผัสหมึก ต่างจากภาพพิมพ์อื่นๆ ที่แกะตรงไหนออก ตรงนั้นจะไม่โดนหมึก

ศาสตร์อันละเอียดอ่อนและลึกลับนี้ พินิตย์สืบทอดมาจากศิลปินไทยรุ่นแรก 2 ท่าน คือ อ.ประชุม เพ็ชรดี และ อ.บุญยืน ทองทับ โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า ในสมัยก่อน ไทยจ้างต่างชาติทำเทคนิคนี้ให้ธนบัตรและแสตมป์ของเรามาตลอด จนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีโครงการอยากใช้ฝีมือคนไทยกันเอง จึงส่ง อ.ประชุม และ อ.บุญยืน ไปศึกษาดูงานของต่างประเทศเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะกลับมาทำงาน เมื่อพินิตย์เข้ามารับช่วงต่อ ก็มาเรียนรู้กับอาจารย์ทั้งสองโดยตรง

“ผมเรียนพื้นฐานจากอาจารย์ 2 ท่าน แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มแกะเอง จนพอได้แล้ว ทางธนาคารก็ส่งผมไปต่างประเทศ ทั้งยุโรปและเอเชีย เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมในการทำงาน”

ตั้งแต่วันที่เริ่มหัดเขียนเส้นลงบนแผ่นโลหะ ไปจนถึงวันที่แกะสลักออกมาเป็นภาพ รวมแล้วเขาศึกษาอยู่เป็นเวลากว่า 10 ปี จนกระทั่งสร้างสรรค์ลวดลายบนธนบัตรด้วยตนเองได้ในที่สุด

“แม้แต่รูปที่อยู่บนธนบัตรก็เป็นศิลปะ ซึ่งผมว่าเป็นศิลปะที่เชิดหน้าชูตาของประเทศเหมือนกันนะ ชาติไหนๆ เขาก็มีธนบัตร แล้วบนธนบัตรก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง อย่างของไทยก็จะมีลายไทย สอดแทรกความเป็นไทยอยู่ตลอด เป็นความภูมิใจว่า ธนบัตรเราก็สวยงามสู้ต่างประเทศได้”

งานของพินิตย์ไม่ใช่แค่การเขียนลายธนบัตรสำหรับใช้งานและธนบัตรที่ระลึกเท่านั้น เพราะส่วนหนึ่งของค่าจ้าง คือการจ้างให้ ‘ฝึกฝน’ เทคนิคอันแสนยากให้ช่ำชอง ดังนั้น ระหว่างช่วงว่างที่ไม่มีการออกธนบัตรอะไร พินิตย์ก็จะทำผลงานส่วนตัวของตนเองเป็นการฝึกปรือฝีมือ ทำให้พินิตย์มีงานศิลปะอื่นๆ นอกเหนือจากงานที่ปรากฏบนธนบัตรสะสมอยู่จำนวนมาก

“จริงๆ เป็นเป้าหมายในชีวิตผมอยู่แล้วว่าเมื่อผมเกษียณ ผมจะเอางานที่ทำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ” ในขณะที่พินิตย์เป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย เขาจึงทำงานส่วนตัวควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการฝึกทักษะและเป็นการทำตามเป้าหมายดังกล่าว แน่นอนว่าในช่วงที่ทำงานอยู่ การจะนำงานออกมาแสดงนั้นไม่เหมาะสม เขาจึงมองว่าการเกษียณน่าจะเป็นจังหวะที่ดี “งานแบบนี้ ชิ้นหนึ่งใช้เวลาประมาณ 5 – 6 เดือน ถ้าเพิ่งมาเริ่มคิดจะทำงานตอนเกษียณ ผมว่า 90 น่ะ กว่าจะได้แสดงงาน”

หลังจากการทำงานสะสมกันมาอย่างยาวนาน พินิตย์ก็ได้แสดงนิทรรศการเดี่ยวไปแล้วครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2558 ภายใต้ชื่อ ‘ภาพพิมพ์ใจหทัยทวยราษฎร์’ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล และเขาก็หวังว่าตนจะรวบรวมงานได้มากพอจัดนิทรรศการภาคต่อภายในปีหน้า

สำหรับผลงานศิลปะ พินิตย์จะทำงานได้เป็นอิสระกว่าตอนทำธนบัตร เขาจึงลองใช้เทคนิคกรดกัดภาพพิมพ์โลหะ (Etching) ที่นิยมกันมากกว่า และใช้เวลาน้อยกว่า มาผสมผสานกับเทคนิคเดิม เพื่อให้ผลิตงานได้เร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามคงรูปแบบของความเป็นภาพพิมพ์แกะสลักไว้ด้วย

พินิตย์มองว่าเสน่ห์ของการทำงานศิลปะประเภทนี้ คือความวิริยะอุตสาหะที่ทุ่มเทลงไปในแต่ละชิ้นงาน ด้วยความที่เป็นศิลปะซึ่งเกิดจากเส้นกับจุดที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้ต้องใช้ทั้งฝีมือที่ละเอียดอ่อน และความสร้างสรรค์ในการจัดวางเส้น ทำให้ผลงานชิ้นหนึ่งใช้ทั้งเวลาและความใส่ใจมากเมื่อเทียบกับเทคนิคศิลปะแบบอื่น

“มันไม่เหมือนงานวาดเส้นที่ถ้าเราเขียนหนักไปเราก็ลบได้ แต่เทคนี้เราต้องค่อยๆ เบาๆ ไปก่อน แล้วค่อยใส่น้ำหนักเข้าไปด้วยการแกะซ้ำลงไปที่เดิม จุดทุกจุดเราก็ต้องแกะทีละจุด ไล่ไปทีละจุด ทีละเส้น ต้องใจเย็น มือเบา และพยายามไม่ให้ผิดพลาดเลย”

แค่ฟังก็รู้สึกชื่นชมในความอุตสาหะแล้ว

ในปัจจุบัน โรงงานผลิตธนบัตรของบางประเทศก็เริ่มหันมาใช้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่แทนการแกะสลักแบบเก่าแล้ว พินิตย์เอ่ยด้วยน้ำเสียงเสียดายว่า เทคนิคการแกะสลักภาพพิมพ์โลหะนี้อาจเริ่มเลือนหายไปแล้วก็ได้ แต่แม้เช่นนั้น ในฐานะกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อแสดงความรักต่อพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ ภาพพิมพ์โลหะเหล่านี้ก็จะยังสะท้อนความรู้สึกเหล่านั้นให้ก้องไกลไปเป็นนิรันดร์

สำหรับช่วงนี้ ไปชมผลงานของพินิตย์ได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ซีคอนบางแค ซีคอนสแควร์ และ 333 Bababa Gallery

หรือจะลองหยิบธนบัตรขึ้นมาเอาแว่นขยายส่องดูก็ได้นะ

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan