เปิดประตูเข้าไปในร้าน Peace Oriental Teahouse ในช่วงเช้า แสงแดดอบอุ่นกระทบผิวเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อนดูนวลตา ขับบรรยากาศภายในร้านซึ่งตกแต่งอย่างเรียบง่ายและเต็มไปด้วยอุปกรณ์ชงชานานาชนิดให้มีความญี่ปุ่นสูงขึ้นไปอีก แต่คงไม่มีก้อนมวลบรรยากาศใดฉายประกายจากแดนอาทิตย์อุทัยได้เข้มข้นเกินกว่าหญิงสูงวัยร่างเล็กผมสีดอกเลา ที่นั่งอยู่ด้านในสุดของร้านเป็นแน่แท้

นั่นคือ คุณมิตซึเอะ อะอิฮะระ (Mitsue Aihara) วัย 74 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยแบบญี่ปุ่นแท้ๆ ของซากุระโมจิซึ่งวางขายที่นี่เป็นประจำทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

คุณยายมิตซึเอะ : นักทำซากุระโมจิสูตรดั้งเดิม

เมื่อ 4 ปีก่อน UNESCO ขึ้นทะเบียนให้ ‘Washoku’ หรืออาหารญี่ปุ่นเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพราะเป็นอาหารที่เกี่ยวข้องกับทักษะ ความรู้ ขนบธรรมเนียมต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียม การทำ และการกินอย่างลึกซึ้ง แถมยังสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ

ส่วน ‘Wagashi’ ซึ่งหมายถึง ขนมหวานญี่ปุ่น แม้จะเป็นซับเซ็ตเล็กๆ ของอาหารญี่ปุ่นอีกที แต่ก็มีเอกลักษณ์และใช้ทักษะละเมียดละไมไฮโซไม่แพ้กัน คนในชาติยกย่องให้เป็นหนึ่งในงานคราฟต์ระดับประเทศ และเรียกคนทำขนมญี่ปุ่นแบบนี้ว่า ‘ช่างฝีมือ’

เมื่อรู้ว่าจะได้คุยกับยอดฝีมือตัวท็อป เราแอบพกความประหม่าปนความติ่งมาเต็มพิกัด

“อ๊ะ ฉันไม่ได้เป็นช่างฝีมืออะไรนั่นหรอกนะ นี่คืองานอดิเรก” คุณมิตซึเอะเบรกเราดังเอี๊ยดพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนจะเล่าที่มาที่ไป

คุณพ่อของคุณมิตซึเอะเป็นช่างทำขนมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม สมัยก่อนเคยทำร้านของตนเอง แต่ก็เลิกไปตั้งแต่คุณมิตซึเอะยังอายุไม่ถึง 20 ปี สมัยเด็กๆ เธอเคยดูพ่อแม่ทำงานบ้าง แต่ไม่เคยได้ไปเป็นลูกมืออย่างจริงจัง แถมพอแต่งงานยิ่งไม่ได้ทำขนมเลย และเพิ่งกลับเข้าวงการความหวานได้ประมาณ 3 ปี หลังจากลูกชายที่ย้ายมาอยู่ไทยและเปิดร้านอาหารด้วยกันเสียชีวิตไป ด้วยความผูกพันที่อยู่เมืองไทยมานับสิบปีและลูกชายก็รักที่นี่มาก คุณมิตซึเอะจึงตัดสินใจอยู่ต่อ และเริ่มรับทำขนมหวานต่างๆ ตามที่คนรู้จักแนะนำหรือขอร้องมา

ดังนั้น เธอจึงยืนยันอีกรอบว่าไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นช่างฝีมือ เพราะความแตกต่างระหว่างมือโปรกับมือใหม่เห็นชัดมาก ทั้งรูปทรง ความละเอียด ความเนี้ยบ ของขนม รวมไปถึงความตั้งใจตอนทำด้วย

ปัดป้องไปเถอะ เรารู้อยู่แล้วล่ะว่าคนญี่ปุ่นแสนถ่อมตัว

มิตซึเอะ อะอิฮะระ
มิตซึเอะ อะอิฮะระ

“ที่เลือกทำซากุระโมจิ เพราะเป็นขนมที่ฉันชอบ แถมเห็นคนไทยชอบซากุระกันมาก คิดว่าน่าจะถูกใจกันนะ เท่าที่ได้ยินมา เห็นมีหลายคนบอกว่าอร่อย รสหวานกำลังดี ฉันก็ดีใจ” คุณยายพูดไปยิ้มไป ก่อนจะเสริมว่า “นี่คนไทยได้สิทธิพิเศษมากเลยนะ ที่ญี่ปุ่นจะมีขนมซากุระโมจิกินเฉพาะช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ดอกซากุระบาน”

ขนมญี่ปุ่นเป็นขนมสีหวานสวยชิ้นเล็กจิ๋วที่มีความละเอียดอ่อนซ่อนอยู่ในทุกอณูจิต เริ่มจากการเปลี่ยนสีและรูปทรงของขนมไปตามฤดูกาลทั้งสี่ เพื่อสื่อถึงการรับรู้และชื่นชมการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น ในฤดูร้อนมักจะใช้สีฟ้าอ่อนของแม่น้ำ สีเขียวอ่อนหรือเขียวสดใสแบบใบไม้ที่เพิ่งแตกใหม่ หรือการปั้นเป็นรูปดอกไม้ที่บานในเดือนนั้นๆ

การเตรียมวัตถุดิบก็ไม่น้อยหน้า มีของ 2 สิ่งที่คุณยายมิตซึเอะยืนยันว่าต้องใช้ของญี่ปุ่นเท่านั้น!
ชิ้นแรกคือ ‘ใบซากุระจากแถบภูเขาไฟฟูจิ’

มิตซึเอะ อะอิฮะระ

ใบไก่กาหน้าบ้านตามท้องถนนทั่วไปไม่โอเคนะคะ คุณมิตซึเอะบอกว่าต้องเป็นใบของต้นซากุระที่เติบโตอยู่แถวๆ ภูเขาไฟฟูจิเท่านั้นถึงจะงาม ขนาดกำลังดี เนื้อนุ่มกินง่ายและไม่มีไรขนที่ใบให้หงุดหงิดใจ เราเลยสันนิษฐานว่าจะต้องเป็นซากุระพันธุ์โอชิมะซากุระแน่ๆ เพราะนิยมปลูกกันมากแถบเมืองอิสึ จังหวัดชิซึโอะกะ หนึ่งในจุดยอดนิยมในการชมวิวภูเขาไฟชื่อดัง

ได้ใบมาแล้ว จะหิ้วมาเลยก็ไม่ได้ ต้องทำการดองเกลือเพื่อถนอมสีของใบก่อน แถมรสเค็มยังช่วยขับรสหวานของถั่วแดงให้มีมิติขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้น เป็นเหตุผลเดียวกับที่คนญี่ปุ่นโรยเกลือเวลากินแตงโมเพื่อดึงความหวานฉ่ำออกมาให้ได้มากที่สุด แม้จะมีคนญี่ปุ่นบางพื้นที่รับไม่ได้กับการใส่เกลือลงในขนมหวาน แต่บางทฤษฎีก็บอกว่า เกลือช่วยฆ่าแบคทีเรีย จึงเหมาะนำมาถนอมอาหาร เพราะแรกเริ่มเดิมทีชาวเอโดะเขาใช้ใบซากุระห่อขนมโมจิเพื่อกันฝุ่นและกันไม่ให้ขนมแห้ง

สำหรับชิ้นที่สอง เราเชื่อว่าเป็นม้ามืดที่พลิกโพยทุกสำนัก ดักทางกันไม่ถูกแน่ๆ เพราะมันคือ ‘สีผสมอาหาร’

เซียนซากุระโมจิอธิบายว่า เม็ดสีไม่ใช่ปัญหา แต่สีผสมอาหารของไทยมีกลิ่นแรง เอามาใช้ไม่ได้จริงๆ ต้องฝากคนรู้จักหิ้วของญี่ปุ่นซึ่งไม่มีกลิ่นเลยมาให้ทุกครั้งที่มีโอกาส พูดจบก็ควักน้ำปรุงลับสีแดงสดขวดน้อยออกมาให้เราลองดมประกอบคำบรรยาย

ต่อไป ลองมาดูความพิถีพิถันในการทำกันบ้าง

มิตซึเอะ อะอิฮะระ

ไส้ของซากุระโมจิเป็นถั่วแดงบดแบบที่เรียกว่า ‘Koshian’ (โคะฌิอัน) คุณยายอธิบายว่า เราต้องนำถั่วแดงไปต้มให้นุ่มก่อนปลอกเปลือก แล้วจึงใช้มือกดให้เนียนละเอียดผ่านกระชอนรูเล็ก (จุดนี้คุณยายแอบกระซิบเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้ว ไม่อยากพูดเลย แต่ถั่วแดงก็เลือกใช้ของญี่ปุ่นนะ เพราะอร่อยและนิ่มกว่าของไทย) จากนั้นใช้ผ้าขาวบางห่อถั่วแดง รีดน้ำออกก่อนจะนำมาเคี่ยวให้หวานด้วยน้ำตาล ตามธรรมเนียมขนมญี่ปุ่นที่เชื่อกันว่า ขนมที่อร่อยต้องมีรสหวาน

แค่ฟังก็เหนื่อยแล้ว คุณยายเห็นเราทึ่งก็รีบถ่อมตัวบอกว่า ทำไม่ยากหรอก แค่เป็นขั้นตอนใช้ความละเอียดและเวลามากหน่อยเท่านั้นเอง

ศึกที่แท้จริงอยู่ที่การย่างแป้งโมจิที่จะใช้ห่อต่างหาก!

การผสมแป้งไม่ยาก ตัวแป้งสามารถใช้ของที่มีขายทั่วไปในไทย มีกระทะแบนร้อนๆ ไม้พาย น้ำมัน เป็นอันเริ่มต้นได้

มิตซึเอะ อะอิฮะระ

คุณมิตซึเอะทาน้ำมันบางๆ ลงบนกระทะ เทแป้งช้าๆ ปาดฉึบๆ พลิกฉับๆ อย่างคล่องแคล่วแป๊บเดียวได้แป้งทรงวงรีสีชมพูอ่อนสวยซอฟต์ๆ เนียนเรียบเสมอกันมาเป็นตัวอย่างให้พวกเราฮือฮา เธอเชิญชวนให้ทีมงานลองทำบ้าง

แน่นอนว่าแป้ก

ไม่ต้องพูดถึงความเรียบเนียน แป้งขาดตั้งแต่ยังไม่คิดจะกลับด้าน

คุณยายอิดออดด้วยความเขินนิดหน่อย เมื่อเราขอให้ทำให้ดูอีกครั้ง แต่ก็ยอมตักแป้งตวัดไม้พายไปมา แสดงอภินิหารเสกแป้งสวยใสนวลเนียนขึ้นมาอีกหลายแผ่น พร้อมขู่ว่า นี่ครั้งสุดท้ายแล้วนะ

พวกเราไม่ย่อท้อ ลองทำอีกหลายรอบ จนดีขึ้นเรื่อยๆ คุณยายเลยสวมวิญญาณครู คอมเมนต์งานแต่ละชิ้นพร้อมสอนเทคนิคเพิ่มเติม

“จุดที่ต้องระวังไม่แพ้เรื่องน้ำหนักมือในการเกลี่ย ความหนาที่พอเหมาะ ความโค้งมนของวงรี ความเรียบเสมอกัน คือการปาดแป้งให้ขนาดสมดุลกับใบซากุระ เพราะใบไม้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ขนาดไม่เท่ากันซักใบ เราต้องคอยสังเกตจุดนี้ด้วย” คนที่พร่ำบอกว่านี่คืองานอดิเรกชี้ข้อบกพร่องของมือสมัครเล่นออกมาได้อย่างง่ายดาย

“แม้แต่ของที่ฉันทำเองก็เถอะ ถ้าพ่อมาเห็น คงบ่นอุบว่าทำของแบบนี้ออกมาได้ยังไง” แน่ะ จนขนมจะเสร็จอยู่แล้วยังมิวายจะถ่อมตัว

โค้งสุดท้ายก่อนจบคอร์สซากุระโมจิระยะสั้นในวันนี้คือ การประกอบร่างรวมแป้ง ไส้ถั่วแดง และใบซากุระ เข้าด้วยกัน การห่อไส้ถั่วแดงก็ต้องพิถีพิถัน กะขนาดไม่ให้เล็กหรือใหญ่เกินไป ต้องพอให้ดูอวบอ้วนแน่นๆ นูนๆ ออกมาให้เห็นส่วนโค้งเว้าเบาๆ แต่ไม่เกินร่มเงาใต้แป้งสีชมพูพาสเทลอันหนานุ่ม ในขณะที่ฟ้าจรดทราย แต่ปลายแหลมของใบซากุระควรจรดแป้ง หรือเลยออกมาได้นิดหน่อย

มิตซึเอะ อะอิฮะระ
มิตซึเอะ อะอิฮะระ

เมื่อผลงานของศิษย์กับอาจารย์ถูกวางเรียงกัน เราเลยสบช่องอวยอีกรอบว่า นี่ไงล่ะ ความแตกต่างของมืออาชีพกับมือสมัครเล่น คุณยายหัวเราะแต่ยังไม่ยอมแพ้

“หัดแป๊บเดียวก็เป็นแล้ว ไม่ยากๆ ฉันเองก็ทำเป็นงานอดิเรก นี่ยังไม่สวยหรอก อย่าพยายามเรียกว่าช่างฝีมือเลย”

คุณมิตซึเอะบอกว่าไม่ แต่เรายกให้คุณยายเป็นหนึ่งในยอดฝีมือแน่ๆ รูปแบบการสอนทีมงานที่แอบเข้มงวด นี่มันวิถีคราฟต์แมนญี่ปุ่นชัดๆ ไม่อธิบายวิธีการด้วยคำพูด แต่จะทำให้ดูแล้วให้จำไปหัดเอง พอเห็นแววแล้วถึงยอมเผยเคล็ดวิชาออกมาทีละนิด ถ้าไม่ได้เป็นการติดต่อขอสัมภาษณ์ คงต้องไปนั่งคุกเข่าขอให้รับเป็นศิษย์ถึงจะยอมสอนแน่ๆ

ว่าด้วยธรรมเนียมญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น ชวนทำแล้วมีหรือจะไม่ชวนชิม เราเลยได้โอกาสสัมผัสรสหวานละมุนลิ้นที่คุณยายเคี่ยวจากประสบการณ์ และเนื้อแป้งเหนียวนุ่มที่ปาดอย่างประณีตด้วยความถ่อมตัว

ถ้าอร่อยขนาดนี้ วงรีได้สมมาตร ใบซากุระพาดเรียงตัวสวย ยังบอกว่าดีไม่พอ จะต้องเป๊ะปังเบอร์ไหน คุณยายถึงจะยอมรับว่าเป็นมืออาชีพ คุณมิตซึเอะหัวเราะเล็กๆ ให้กับคำตัดพ้อของเรา ก่อนจะตอบทีเล่นทีจริงว่า

“ของสวยๆ งามๆ เห็นแล้วมันก็กินอร่อยขึ้นเนอะ” (หัวเราะ)

มิตซึเอะ อะอิฮะระ

“ความสุขของคนทำขนม ก็อยู่ตรงที่คนกินเห็นว่าสวย รู้สึกว่าน่าอร่อย อยากกินเนี่ยแหละ ก่อนหน้านี้เคยมีลูกค้าเดินมาขอบคุณที่ทำขนมอร่อยๆ ให้กิน ฉันดีใจมากเลย”

แล้วความสนุกของคนทำขนมล่ะ?

“อยู่ที่ความอร่อยน่ะสิ”

มิตซึเอะ อะอิฮะระ
 

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล