วันหนึ่ง คุณจิรณรงค์แห่ง The Cloud ส่งข้อความมาหาผม บอกว่าอยากให้ช่วยไปคุยกับโปรดิวเซอร์และผู้กำกับสเปเชียลเอฟเฟกต์ของ มาสค์ไรเดอร์ หรือ คาเมนไรเดอร์ ให้หน่อย ตอนแรกผมนึกสงสัยเล็กน้อยว่าทำไมคุณถนัดหมีแกถึงชวนผม แต่มานึกขึ้นได้ว่าหมีรู้ดีว่าผมชื่นชอบเหล่าฮีโร่โทคุซัทสึซีรีส์ (โทคุซัทสึ มีความหมายว่า Live Action) อันเล่าเรื่องของชายใส่หน้ากาก แปลงร่างและขี่มอเตอร์ไซค์ปราบอธรรม ที่เรียกว่า ‘มาสค์ไรเดอร์’ กลุ่มนี้มาก และในวงเล็บว่าชอบเหล่าไรเดอร์จากยุคโชวะ ซึ่งเป็นยุคแรกมากเป็นพิเศษ (ตามประสาคนแก่ ก็ต้องอวดอ้างว่าเป็นยุคคลาสสิกอะไรทำนองนั้น)

สรุปว่าผมเลยตอบตกลงทั้งที่ยังไม่รู้รายละเอียด แค่นึกอยากเอาโปสเตอร์ มาสค์ไรเดอร์อมาซอนส์ หรือ คาเมนไรเดอร์ ที่ผมชื่นชอบมากที่สุดไปขอลายเซ็นก็เท่านั้น

คล้อยหลังจากนั้นไม่กี่วันผมพบกับ ก้อง ทรงกลด ในงานแต่งงาน (ไม่ใช่ทั้งของผม ไม่ใช่ทั้งของก้อง) เราคุยเรื่องนี้กันอีกครั้ง แต่คราวนี้เราใช้คำว่า ‘ไอ้มดเอ็กซ์-ไอ้มดแดง’ แทนคำว่า ‘มาส์คไรเดอร์’ หรือแม้แต่ ‘คาเมนไรเดอร์’ อย่างที่ควรจะเป็น ถ้าคุณอายุอานามใกล้ๆ กับเรา คุณก็คงทราบดีว่าบ้านเราเรียกซีรีส์ชายใส่หน้ากากแปลงร่างชุดนี้ว่าอย่างนี้ ไอ้มดเอ็กซ์-ไอ้มดแดง (เผลอๆ ก็มีไอ้มดเขียวด้วยซ้ำ) มายาวนานแล้วและคงไม่เปลี่ยนง่ายๆ

ผมถามก้องว่า อยากให้คุยประเด็นอะไรเป็นพิเศษ ก้องตอบว่าแล้วแต่พี่เลย ได้ฟังอย่างนี้ผมก็ทั้งรู้สึกสบายใจและหนักใจ

สบายใจเพราะถามอะไรก็ได้ สองบรรณาธิการมอบความไว้วางใจให้ แต่หนักใจก็เพราะสงสัยว่า แล้วจะถามอะไร ที่รับปากไปก็เพราะแค่อยากเอาโปสเตอร์มาส์คไรเดอร์อมาซอนส์ไปขอลายเซ็นตามประสาอดีตยุวชนไรเดอร์ที่ดีของคุณลุง ทาจิบานะ โทเบ เท่านั้นเอง (ทาจิบานา โทเบ เป็นตัวละครที่แสดงโดย โคบายาชิ อะคิจิ ผู้เปรียบเสมือนเพื่อนคู่กายของเหล่าไรเดอร์ยุคแรก)

นับตั้งแต่ที่ อาจารย์โชทาโร อิชิโนโมริ แห่งบริษัท โทเอะ แอนิเมชัน จำกัด สร้าง มาสค์ไรเดอร์ ออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1971 ก็เป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้วที่ มาสค์ไรเดอร์ หรือ คาเมนไรเดอร์ ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าอย่างไร ก็ครองใจผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งเด็กในร่างผู้ใหญ่ทั่วโลก กลายเป็นหนึ่งในไอคอนหลักของวัฒนธรรมป๊อบร่วมกระแสที่ส่งตรงมาจากเกาะญี่ปุ่น มีอิทธิพล มีบทบาทในวิถีชีวิตของผู้คนร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเราที่แทบจะเรียกว่าเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเหล่ามาสค์ไรเดอร์

กว่า 50 ปีที่ มาสค์ไรเดอร์ ครองใจพวกเรา เหล่าฮีโร่ใส่หน้ากากถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง (แต่ก็มีหยุดไปพักใหญ่ๆ ในตอนที่อาจาย์อิชิโนโมริเสียชีวิต) ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เปลี่ยนผ่านจากรัชศกโชวะ มาเป็นเฮเซ และเรวะในปัจจุบัน นับรวมได้ 36 ตัว เป็น 36 ฮีโร่ในยุคสมัยที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนเดิมคือ พวกเขาเหล่าไรเดอร์ล้วนต่อสู้ภายใต้หน้ากาก

‘สิ่งที่อยู่ภายใต้หน้ากาก’ จึงเป็นสิ่งที่ผมจะไปคุยกับเขา รุ่นพี่ยุวชนไรเดอร์แห่งบริษัทโทเอะ แอนิเมชัน จำกัด 2 คน ได้แก่ รุ่นพี่ ชิราคุระ ชินอิจิโร่ โปรดิวเซอร์ ของ มาสค์ไรเดอร์ และรุ่นพี่ บุตสึดะ ฮิโรชิ ผู้กำกับสเปเชียลเอฟเฟกต์ ทั้งคู่ทำงานกับ มาส์คไรเดอร์ มาอย่างยาวนานและได้ร่วมงานกับอาจารย์อิชิโนโมริตั้งแต่ช่วงปลายยุคโชวะ

การต่อสู้เพื่อเอาชนะ ก้าวข้าม และละทิ้งตัวเอง ของ Masked Rider

ในโอกาสที่ทั้งคู่เดินทางมาโปรโมตภาพยนตร์มาสค์ไรเดอร์รอบพิเศษ Build NEW WORLD Masked Rider Grease และ MASKED RIDER ZI-O The Movie : Over Quartzer ผมเลยไปพบกับพวกเขาเพื่อถามว่าอะไรอยู่ใต้หน้ากากเหล่านั้น แม้มีเวลาจำกัด แต่คำตอบที่ผมได้รับนั้นลึกซึ้งเกินกว่าที่คาดหวังไว้มาก ลึกซึ้งเกินกว่าการสร้างฮีโร่ออกมาสู้กับเหล่าร้ายในฐานะซีรีส์ที่มีไว้ให้เด็กดู ลึกซึ้งในระดับที่ไปถึงเรื่องการค้นหาตัวตน ก้าวข้าม และละทิ้งตัวตนเพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ ยอมรับว่าระหว่างที่เราคุยกันอยู่ ผมก็เกิดอาการจุกๆ น้ำตารื้นปริ่มอยู่เหมือนกัน

ก่อนที่น้ำตาจะไหลออกมาจริงๆ เมื่อนึกขึ้นได้ว่า วันนั้นผมดันลืมเอาโปสเตอร์ มาส์คไรเดอร์อมาซอนส์ ไปด้วย 

การต่อสู้เพื่อเอาชนะ ก้าวข้าม และละทิ้งตัวเอง ของ Masked Rider

คุณชอบมาสค์ไรเดอร์ตัวไหน

ชิราคุระ : ผมเป็นโปรดิวเซอร์ผมก็ต้องชอบไรเดอร์ตัวใหม่สุดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ผมก็ขอตอบว่าชอบ Zero One

บุตสึดะ : ในฐานะที่ผมทำงานมานาน ผมชอบ Decade เพราะเป็นไรเดอร์ที่ออกมาฉลองตอนครบสิบปีของ มาส์คไรเดอร์ ในยุคเฮเซพอดี และตัวมันเองก็สามารถรวมพลังของไรเดอร์ทั้งสิบตัวก่อนหน้า Decade จึงเป็นไรเดอร์ที่แข็งแกร่งที่สุดในยุคนั้น

การทำงานมันทำให้ความชอบ มาสค์ไรเดอร์ ที่เคยดูตอนเป็นเด็กน้อยลงหรือเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

ชิราคุระ : ผมเริ่มทำงานตั้งแต่ มาสค์ไรเดอร์ Shin ซึ่งเป็นยุคปลายโชวะแล้ว ตอนนั้นอาจารย์อิชิโนโมริยังมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาใครจะทำอะไรถ้าอาจารย์โอเคก็ทำได้ หรือแม้แต่สงสัยอะไรก็ไปถามอาจารย์ได้เลย แต่หลังจากอาจารย์จากไปแล้ว ก็ไม่มีใครให้ถาม ดังนั้นเวลาที่ผมหรือพวกเราสงสัยอะไร เราทำได้แค่กลับไปดูซีรีส์ มาสค์ไรเดอร์ ในยุคโชวะ เพื่อหาว่าสิ่งที่เป็น Essence จริงๆ ของ มาสค์ไรเดอร์ ว่ามันคืออะไร เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าพอมาทำงานแล้วทำให้ความชอบ มาสค์ไรเดอร์ น้อยลงไปไหม คำตอบคือไม่เลย แต่มันกลับทำให้ผมเข้าใจ มาสค์ไรเดอร์ ลึกซึ้งมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

บุตสึดะ : ผมเป็นแฟน มาสค์ไรเดอร์ มาตั้งแต่แรก แต่มาเริ่มทำงานตั้งแต่ มาสค์ไรเดอร์ Black ถ้าคุณลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่า มาสค์ไรเดอร์ ยุคโชวะไม่ค่อยมีใครมีอาวุธหรือใช้อาวุธสักเท่าไหร่ แต่พอเข้าสู่ยุคเฮเซจะเห็นว่า มาสค์ไรเดอร์เริ่มมีอาวุธและองค์ประกอบต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม แถมยังมีการใช้ CG เข้ามาช่วยสร้างภาพตอนเปลี่ยนร่างอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะฉะนั้นเด็กที่โตมากับไรเดอร์ยุคเฮเซเขาก็มองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนที่โตมากับไรเดอร์ยุคโชวะอย่างผม มันก็คิดถึงไรเดอร์ที่เรียบง่ายอยู่เหมือนกัน อยากทำไรเดอร์ที่มัน Simple อีกสักครั้ง ถ้าถามว่าความชอบเปลี่ยนไปบ้างไหม ก็ไม่นะครับ เพราะแต่ละยุคมันก็มีความดีของมัน

Essence ของมาสค์ไรเดอร์ที่ว่า ยังใช่ ‘ชายผู้ใส่หน้ากากขี่มอเตอร์ไซค์ออกปราบอธรรม’ เหมือนเมื่อวันแรกเริ่มสมัยอาจารย์อิชิโนโมริหรือเปล่า

ชิราคุระ : ที่คุณว่ามานั่นไม่ผิดนะครับ นั่นก็เป็นแกนหลักของ มาสค์ไรเดอร์ แต่ในการทำงานของผม ผมก็มีกฎเหล็กสำหรับไรเดอร์ทุกตัวสามข้อ นั่นคือ หนึ่ง ตัวไรเดอร์และศัตรูต้องต่อสู้ด้วยพลังชนิดเดียวกัน

ถ้าคุณยังจำได้มาสค์ไรเดอร์ถูกสร้างขึ้นโดยองค์การช็อคเกอร์และเคยเป็นส่วนหนึ่งขององค์การนี้มาก่อน ดังนั้นไรเดอร์จึงหันมาต่อสู้กับพวกเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ไรเดอร์ทุกตัวเผชิญหน้า นั่นคือการสู้กับสิ่งที่คุณเป็น สอง ในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า ‘親殺し’ หรือ ‘Oya-koroshi’ ซึ่งตีความได้ว่าเหนือกว่าหรือเอาชนะพ่อแม่ตัวเอง หมายความว่ามาสค์ไรเดอร์ทุกตัวจะต้องก้าวข้ามหรือเหนือกว่าผู้ให้กำเนิดของตัวเองให้ได้ และสามคือสุดท้ายแล้วไรเดอร์ต้องเสียสละตัวเอง ถ้าดูตามเรื่อง เมื่อมาสค์ไรเดอร์กำจัดวายร้ายจากองค์การช็อคเกอร์ได้หมดแล้ว แต่ยังเหลือช็อคเกอร์ตัวสุดท้ายคือตัวมาสค์ไรเดอร์เอง เพราะฉะนั้นก็ต้องเสียสละตัวเองด้วย นี่คือกฎเหล็กสามข้อที่มาสค์ไรเดอร์ไม่ว่าตัวไหนต้องมีเหมือนกันทั้งหมด

การต่อสู้เพื่อเอาชนะ ก้าวข้าม และละทิ้งตัวเอง ของ Masked Rider

น่าสนใจว่าหลังจากเข้าสู่ยุคเฮเซแล้ว การแปลงร่าง หรือ ‘เฮนชิน’ ของมาสค์ไรเดอร์เริ่มใช้เวลามากขึ้น อาจเพราะมีการนำเทคโนโลยีด้านภาพ สเปเชียลเอฟเฟกต์ที่พัฒนามากขึ้นมาใช้ หรือแม้แต่มีจุดประสงค์เพื่อขายสินค้า พวกเข็มขัด หน้ากาก ของเล่น ฯลฯ ตกลงมันเป็นเพราะอะไรกันแน่

บุตสึดะ : สมัยก่อนฉากแปลงร่างมันเรียบง่ายอย่างที่ว่าจริงๆ นั่นแหละครับ มีแค่เข็มขัดหมุนๆ มีแสง แล้วก็แปลงร่างเรียบร้อย แค่นั้นเด็กๆ ก็อยากได้เข็มขัดมาใส่กันแล้ว แต่หลังจากที่เทคโนโลยี CG หรือสเปเชียลเอฟเฟกต์มันพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จะทำแค่นั้นผมก็คิดว่ามันคงไม่พอ อย่างน้อยก็น่าจะใส่เอฟเฟกต์เรื่องเสียงตอนเข็มขัดมันหมุนสักหน่อย แล้วพอเราเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ มันก็พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ของมันเอง เพราะเรากลับมาถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราชอบมาสค์ไรเดอร์ คำตอบก็คือเราชอบตอนที่มันแปลงร่าง ดังนั้นการทำให้ช่วงเวลาของการแปลงร่างมันมีลูกเล่นใหม่ๆ เข้ามาเซอร์ไพรส์อยู่เสมอ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ มาสค์ไรเดอร์ ยังสนุกและสดใหม่อยู่

มีความรู้สึกว่านับจาก มาสค์ไรเดอร์ Decade เป็นต้นมา การดีไซน์คาแรกเตอร์ของมาสค์ไรเดอร์มีความเป็นตัวการ์ตูนแฟนตาซีมากขึ้น ลดความเป็นชายผู้สวมเกราะลงไป มันเป็นความตั้งใจหรืออย่างไร

ชิราคุระ : จริงๆ ไม่ได้เริ่มที่ Decade หรอกครับ ผมคิดว่ามันค่อยๆ เปลี่ยนไปตั้งแต่ มาสค์ไรเดอร์ Den-O มากกว่า เหตุผลคือเราเซ็ตให้ตอนที่ Den-O จะแปลงร่าง สิ่งที่เปลี่ยนไม่ใช่แค่ชุดเกราะเท่านั้น แต่นิสัยก็เปลี่ยนตามด้วย ดังนั้นการดีไซน์การแปลงร่างของ Den-O จึงต้องสร้างอิมแพ็คให้ชัดเจน เพราะ Den-O จะทำอะไรที่ในชีวิตปกติไม่ทำก็ได้ เพราะเขาเปลี่ยนไปแล้ว หลังจากที่เราได้ลองทำกับ Den-O แล้ว เรารู้สึกว่ามันสนุก มันทำให้การแปลงร่างดูมีความหมายมากๆ มีความเป็นไปได้เต็มไปหมด จะทำอะไรก็ได้ จะดูเป็นการ์ตูนมากขึ้น แฟนตาซีมากขึ้น หรือข้ามไปยังมิติอื่นก็ได้ ผมคิดว่าทั้งหมดน่าจะได้อิทธิพลมาจากเส้นเรื่องของ Den-O มากกว่าเป็นความตั้งใจของใครคนใดคนหนึ่ง

บุตสึดะ : ตอนเราทำ Den-O เราตั้งใจทำให้การแปลงร่างกลายเป็นฟอร์แมตที่ชัดเจน คือจริงๆ ก่อนหน้ามันก็มีฟอร์แมตอยู่นะครับ แต่ Den-O ทำให้ฟอร์แมตเหล่านั้นเห็นได้ชัดเจนและคนจดจำ ทั้งคำพูดตอนแปลงร่าง ท่าทาง ซึ่งมันเข้าใจง่าย เด็กๆ ทำตามได้ไม่ยาก พอหลังจากนั้น คนดูโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ก็เริ่มคาดหวังว่าปีหน้ามาสค์ไรเดอร์ตัวต่อไปจะพูดว่าอะไร ทำท่าอะไร มันเป็นการรอคอยที่สนุกสำหรับพวกเขา เป็นความคาดหวังที่เราต้องรับมันมา ผมคิดว่ามันคงกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ยากแล้วล่ะ เพราะผู้ชมคาดหวังกิมมิกต่างๆ เหล่านี้

การต่อสู้เพื่อเอาชนะ ก้าวข้าม และละทิ้งตัวเอง ของ Masked Rider

เป็นที่รู้กันดีว่ามาสค์ไรเดอร์ยุคโชวะซึ่งเป็นยุคคลาสสิกนั้น พัฒนาและออกแบบมาจากแมลงและสัตว์ต่างๆ อาทิ ตั๊กแตน กิ้งก่า ปลาปิรันยา ผึ้ง ด้วง แมลงปอ ฯลฯ แต่นับตั้งแต่ยุคเฮเซเรื่อยมาจนถึงยุคเรวะ มาสค์ไรเดอร์พัฒนาคอนเซปต์จากสิ่งอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ใช่แมลง เช่น พ่อมด รถยนต์ กระสวยอวกาศ ผลไม้ เดินทางกลับมาจากความตาย หรือแม้แต่คาแรกเตอร์แบบ SD (Super Deformed) หลักคิดในการพัฒนาคอนเซปต์ให้กลายมาเป็นมาสค์ไรเดอร์ยุคหลังโชวะนี้คืออะไร

ชิราคุระ : ขอเล่าให้ฟังก่อนว่า ที่อาจารย์อิชิโนโมริออกแบบมาสค์ไรเดอร์ขึ้นมาจากแมลงต่างๆ ก็เพราะอยากให้เด็กๆ ได้ประหลาดใจกัน เพราะถ้าไปถามเด็กว่าชอบสัตว์อะไร คำตอบส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นสิงโต สุนัข ยีราฟ หมี อะไรแบบนี้ แต่ถ้ามีฮีโร่ที่มาจากแมลงปอ ฮีโร่ที่เป็นกิ้งก่าผสมกับปลาปิรันยา เด็กๆ ก็จะเซอร์ไพรส์ โอเค ด้วงสำหรับ มาสค์ไรเดอร์ Stronger นั้นอาจจะไม่เซอร์ไพรส์มาก เพราะเด็กๆ ก็ชอบด้วงกันไม่ใช่น้อย แต่หลักคิดก็คือการทำให้ผู้ชมได้ประหลาดใจกับที่มาหรือคอนเซปต์ของไรเดอร์ที่ผิดคาดหรือเดาไม่ได้

บุตสึดะ : การคาดเดาไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ของ มาสค์ไรเดอร์ ก็จริง แต่อย่างหนึ่งที่ผมบอกคุณได้นั่นคือ มาสค์ไรเดอร์ Zero One ซึ่งเป็นตัวแรกในยุคเรวะ จะมี Motif Elements ที่พาคุณกลับไปหาตั๊กแตนตัวเดิม ซึ่งผมคงบอกได้แค่นี้ ที่เหลือยังอุบไว้ก่อน

3 ปีที่แล้ว มีการรีบูตมาสค์ไรเดอร์จากยุคโชวะตัวหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องกันว่าเป็นผลงานการออกแบบที่คลาสสิกมากตัวหนึ่งของอาจารย์อิชิโนโมรินั่นคือ มาสค์ไรเดอร์ อมาซอนส์ ให้ออกมาเป็นซีรีส์ที่เข้มข้น มีความเป็นผู้ใหญ่ และก้าวข้ามไปเล่าเรื่องซอมบี้ได้อย่างน่าสนใจ แถมยังรีดีไซน์ตัว อมาซอนส์ ไรเดอร์ ได้แบบที่แฟนรุ่นเก่าไม่ข้ดข้องหรือทักท้วง ตัวซีรีส์ก็ได้รับความนิยมพอสมควรถึงขนาดสร้างได้ 2 ซีซั่น ทั้งหมดที่เล่ามานี้ ที่มาของซีรีส์ชุดนี้เกิดจากอะไร เป็นความพยายามในการรักษาฐานแฟน มาสค์ไรเดอร์ รุ่นแรกหรือเปล่า

ชิราคุระ : เหตุผลแรกที่เรารีบูต มาสค์ไรเดอร์ อมาซอนส์ ก็คือ เรารู้กันดีว่า มาสค์ไรเดอร์ อายุจะครบห้าสิบปีอยู่แล้ว แฟนๆ รุ่นแรกก็แก่ขึ้นตามลำดับ พวกเขาคงไม่สนุกสนานไปกับไรเดอร์รุ่นใหม่ๆ เราจึงอยากให้แฟนๆ ยุคเก่ายังสนุกไปกับเราได้ ส่วนเหตุผลต่อมาก็คือ เราเคยย้อนกลับไปดูไรเดอร์รุ่นแรกๆ กัน แล้วเราก็พบว่าทุกตัวมีการออกแบบที่น่าทึ่งและคลาสสิกไร้กาลเวลา โดยเฉพาะ อมาซอนส์ Rider Man และ V3 เราก็อยากให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดไม่ทันได้สัมผัสกับงานออกแบบอันสุดยอดของอาจารย์อิชิโนโมริด้วยเหมือนกัน นั่นคือเหตุผลที่เราตัดสินใจทำซีรีส์ อมาซอนส์ และก็ยังมีเหตุผลส่วนตัวของเราสองคนอีก นั่นคือเราคิดถึง มาสค์ไรเดอร์ ในยุคนั้น อยากทำงานกับไรเดอร์ในยุคนั้น ในอนาคตก็อาจจะมีการสร้าง มาสค์ไรเดอร์ ซีรีส์ที่สื่อสารกับแฟนๆ ยุคแรกอีก แต่คงไม่ใช่การรีบูต Stronger หรือตัวอื่นอีกแล้ว คงต้องรอดูกันต่อไป

การต่อสู้เพื่อเอาชนะ ก้าวข้าม และละทิ้งตัวเอง ของ Masked Rider

โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งความหลากหลาย ผู้คนร่วมสมัยให้ความสำคัญกับความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเรื่องสิทธิความเท่าเทียม LGBT ในฐานะผู้ผลิตซีรีส์สำหรับคนร่วมสมัย เป็นไปได้ไหมที่วันหนึ่ง มาสค์ไรเดอร์ จะมีไรเดอร์ที่เป็นหญิง เป็นเกย์ เลสเบี้ยน หรือแม้แต่ลดความเป็นซีรีส์ของผู้ชายให้น้อยลง

ชิราคุระ : แต่ถ้าพูดถึงใน มาสค์ไรเดอร์ เราเคยมีไรเดอร์ที่เป็นผู้หญิงอยู่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับความนิยม ซึ่งเราก็เสียใจนะที่มันไม่ดัง และกลายเป็นความหลังอันเจ็บปวดของพวกเราเลย หลายคนก็ไม่อยากไปรื้อฟื้นอีก แต่การเพิ่มบทบาทของผู้หญิงหรือแม้แต่เพศทางเลือก เป็นสิ่งที่ผมอยากทำมาก ซึ่งในอนาคตเราก็จะพยายามนำเสนอออกมา แต่คงแยก Segment ออกไปเลย เป็น มาสค์ไรเดอร์ ที่เป็นผู้หญิงหรือเพศอื่นๆ ไปอีกชุดหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวข้อง มาส์คไรเดอร์ เดิมอีก ผมอยากเห็นนะ คิดว่าคงต้องทำ แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะเวลาเราไปฉายต่างประเทศ ในบางประเทศก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องนี้อยู่

ความท้าทายของการสร้าง มาสค์ไรเดอร์ ในอนาคตคืออะไร จะรักษาความนิยมที่สร้างมากว่า 50 ปีให้สืบต่อไปได้ยังไง

ชิราคุระ : คุณอาจคิดว่าซีรีส์ มาสค์ไรเดอร์ ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ยากสำหรับพวกเราก็คือ เวลาเห็นงานที่เราทำมันประสบความสำเร็จ ต่อให้เราอยากสานต่อมันมากสักแค่ไหน เพราะรู้ว่าทำแล้วเวิร์กแน่ๆ เราก็ต้องทิ้งมันไป อย่าง มาสค์ไรเดอร์ Fourze มันประสบความสำเร็จ คนชอบ เราก็ดีใจ แต่เมื่อถึงเวลาที่ไรเดอร์ตัวใหม่จะต้องมา เราก็ต้องทิ้ง Fourze ไปให้ได้ ต้องไม่ยึดติดกับมัน แล้วหาสิ่งใหม่มาแทนที่ เอกลักษณ์ของ มาสค์ไรเดอร์ คือความแปลกใหม่คาดเดาไม่ได้ คุณอย่าลืมเรื่องนี้ ดังนั้นความยากและท้าทายก็คือเราจะนำเสนอไรเดอร์ในรูปแบบไหน ทำยังไงให้คุณชอบมันให้ได้ โดยที่คุณเองก็ไม่อาลัยอาวรณ์กับไรเดอร์เก่าๆ

บุตสึดะ : สำหรับผม ความยากมันในการทำสเปเชียลเอฟเฟกต์ต่าง ๆ อยู่ที่มันเป็นซีรีส์รายสัปดาห์ มันมีข้อจำกัดในการจัดการงบประมาณต่างๆ โดยเฉพาะการแปลงร่าง การต่อสู้ ซึ่งการใช้ CG มันถูกกว่า แต่ไม่มีเสน่ห์เลย ดังนั้นความฝันของผมคืออยากทำให้ฉากแปลงร่างหรือฉากต่อสู้ต่างๆ เป็น Live Action มากขึ้น ลดการใช้ CG ให้น้อยลง ใช้เอฟเฟกต์เท่าที่จำเป็น เพื่อให้มันมีรสชาติขึ้น ทำให้มันเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่นมาถ่ายฉากแปลงร่างที่ไทย แล้วกลับไปทำ CG ที่ญี่ปุ่น แต่รู้ไหมว่าทำแบบนั้นใช้เงินเท่าไหร่ และจะออกอากาศทันทุกสัปดาห์ไหมก็ไม่รู้

การต่อสู้เพื่อเอาชนะ ก้าวข้าม และละทิ้งตัวเอง ของ Masked Rider

สุดท้าย คุณชอบท่าเฮนชิน (ท่าแปลงร่าง) ของใคร

ชิราคุระ : หมายเลขสองครับ มันเร็วดี คุณรู้หรือเปล่าว่าหมายเลขสองป็นไรเดอร์ตัวแรกที่มีท่าแปลงร่าง หมายเลขหนึ่งมาก่อนก็จริงแต่ตอนแรกยังไม่มีท่าแปลงร่าง ทีนี้พอคนชอบ หมายเลขหนึ่งก็เลยต้องมีท่าแปลงร่างที่ใช้เวลานานกว่าหมายเลขสอง

บุตสึดะ : ผมชอบของ V3 เพราะมันรวมความเท่ของหมายเลขหนึ่งและสองไว้ด้วยกัน เท่ที่สุดแล้ว

Writer

Avatar

จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู