ธุรกิจ : บริษัท พี.เค.แอล.โอเวอร์ซีส์ จำกัด

ประเภทธุรกิจ : ผลิตรูปหล่อและเฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองทำมือ

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2529

อายุ : 35 ปี

ผู้ก่อตั้ง : คุณประเสริฐ ลิมป์จันทรา และ คุณกัลยา ลิมป์จันทรา บริษัท พี.เค.แอล.โอเวอร์ซีส์ จำกัด (พ.ศ. 2529)

ทายาทรุ่นสอง : คุณคัฌฑธ์มาส ลิมป์จันทรา Masaya Furniture (พ.ศ. 2558)

หากใครเดินผ่านแถว Warehouse 30 และ The River City Bangkok อยู่บ่อยๆ คงเคยเห็นรูปหล่อทองเหลืองตัวน้อยใหญ่ตั้งเรียงรายบริเวณโค้งหน้าสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสกันบ้าง 

แต่เดิม เราคิดเองเออเองว่ารูปหล่อหล่านี้เป็นผลงานทองเหลืองของชาวตะวันตกที่หลงใหลของเก่าซึ่งอาศัยอยู่แถบนั้น จึงขอสารภาพตามตรงว่า เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงว่าผลงานเหล่านั้นทำขึ้นโดยช่างฝีมือชาวไทยจากโรงงาน Asia Collection ซึ่งดำเนินกิจการโดย คุณพ่อปุ๊ย-ประเสริฐ ลิมป์จันทรา และ คุณแม่แหวว-กัลยา ลิมป์จันทรา มากว่า 35 ปี และส่งออกสินค้าไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ก็รู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย

แม้ปัจจุบัน Asia Collection จะยังคงดำเนินกิจการได้อย่างไม่ติดขัด แถมยังมีออเดอร์เข้ามาไม่ขาดสาย เพราะยืนหนึ่งเรื่องคุณภาพมาตั้งแต่ครั้งอดีต ทายาทรุ่นสองอย่าง จา-คัฌฑธ์มาส ลิมป์จันทรา ออกตัวว่าธุรกิจรุ่นพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องใช้แผนการตลาดแบบใดก็อยู่ได้

Masaya เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองทันสมัย ต่อยอดจากโรงงานรูปหล่อทองเหลือง 35 ปีของครอบครัว

แต่อีกมุมหนึ่ง เธอและครอบครัวก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความนิยมทองเหลืองของคนรุ่นใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศไม่ได้มากเท่าเดิมอีกต่อไป และเชื่อว่าธุรกิจจะยืนยาวได้เป็นร้อยปีต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองอายุ 6 ปีนาม Masaya Furniture ที่คุณแม่แหววเป็นผู้ริเริ่มและเธอเป็นผู้สานต่อ จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อทำให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงในโลกสมัยใหม่ 

การ ‘ปรับ’ ธุรกิจครอบครัวของเธอให้ดูสนุกขึ้นอีกเป็นกองจะเป็นอย่างไร จาและคุณแม่ได้ให้คำตอบด้านล่างนี้แล้ว

Masaya เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองทันสมัย ต่อยอดจากโรงงานรูปหล่อทองเหลือง 35 ปีของครอบครัว

โรงงานหล่อทองเหลืองที่ยืนหนึ่งทุกเรื่องตั้งแต่อดีต

ย้อนกลับไป 35 ปีก่อน ในยุคที่การหล่อพระยังเฟื่องฟู กิจการทองเหลืองของครอบครัวนี้เริ่มต้นจากคุณพ่อปุ๊ยและพี่ชาย ผู้ก่อตั้งโรงงานรับหล่อพระด้วยช่างฝีมือที่ฝึกกันมา แต่ด้วยสายตาเหยี่ยวของคุณแม่และคุณพ่อ จึงจับทุกกระแสความนิยมมาพัฒนาโรงงานอยู่เรื่อยๆ จากการหล่อพระทั่วไปในช่วงแรกก็เริ่มหันมาทำรูปหล่อแนวอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจนกลายเป็นโรงงานทองเหลืองชั้นนำที่ผลิตรูปหล่อที่แตกต่างและมีคุณภาพ

“เราหล่อพระได้สักพักก็หันมาทำรูปหล่ออย่างเทพพนม เทวดาดีดพิณ และพระอภัยมณี ฯลฯ เพราะช่วงนั้นคนนิยมมาก พอคนเริ่มเบื่อ ก็หันมาทำรูปหล่อสไตล์จีนและญี่ปุ่น แล้วจึงเปลี่ยนมาทำรูปหล่อแบบยุโรปเกือบทั้งหมด ซึ่งถือเป็นโรงงานแรกๆ ที่ทำรูปหล่อยุโรปออกมาขาย” คุณแม่เล่าอย่างออกรส 

ความยืนหนึ่งที่ว่าไม่ได้หยุดอยู่ที่การเป็นโรงงานแรกที่ทำรูปหล่อสไตล์ยุโรปเท่านั้น หลังจากเปิดโรงงานขายส่งให้ร้านต่างๆ ในกรุงเทพฯ และลูกค้าชาวต่างชาติเมื่อ พ.ศ. 2529 แต่กลับถูกร้านรวงในกรุงเทพฯ คัดลอกผลงานไปทำพิมพ์ของตนเอง และจ้างให้อีกโรงงานผลิตให้เพื่อลดต้นทุน ใน พ.ศ. 2533 คุณแม่จึงตัดสินใจผลิตสินค้าในนาม Asia Collection ขึ้นเอง และเปิดโชว์รูมริมแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นโชว์รูมแรกๆ ในสมัยนั้นอีกเช่นกัน

Masaya เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองทันสมัย ต่อยอดจากโรงงานรูปหล่อทองเหลือง 35 ปีของครอบครัว
Masaya เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองทันสมัย ต่อยอดจากโรงงานรูปหล่อทองเหลือง 35 ปีของครอบครัว

“สมัยก่อนไม่ค่อยมีใครเปิดโชว์รูม พอเราเปิดก็ยิ่งดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติที่เดินผ่านไปผ่านมา ด้วยคุณภาพที่ดีมากๆ และด้วยแบบรูปหล่อที่ไม่ค่อยเหมือนร้านอื่น เราจึงได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนช่วงต้มยำกุ้ง โรงงานเราก็ยิ่งขายดี เพราะฐานลูกค้าเราคือพ่อค้าคนกลางชาวต่างชาติ” คุณแม่เล่าถึงยุคทองของ Asia Collection ก่อนขยายความว่าคำว่า ‘ขายดี’ ที่ว่า หมายถึงช่วงนั้นโรงงานต้องทำรูปหล่อส่งออกกว่า 12 – 20 ตู้คอนเทนเนอร์ทีเดียว 

“แต่ช่วงที่ซบเซาก็มีนะ อย่างช่วงที่จีนเริ่มเปิดโรงงานของตัวเอง ออเดอร์เราก็ลดน้อยลงมากๆ เพราะค่าแรงเขาถูก ลูกค้าบางกลุ่มเลยไปสั่งผลิตที่จีน บางกลุ่มก็สั่งรูปหล่อของเราไป แต่ส่งกลับไปที่จีนเพื่อคัดลอกพิมพ์ ตอนแรกเราก็ตกใจว่าของเราไปอยู่ที่จีนได้ยังไง แต่สุดท้ายลูกค้าก็กลับมาหาเราอยู่ดีเพราะคุณภาพนั้นต่างกัน”

ขณะที่โรงงานจีนมักใส่เหล็กเข้าไปจำนวนมากเพื่อลดต้นทุน รูปหล่อที่ได้จึงเปราะ เป็นสนิมง่าย แถมเคาะแล้วไม่กังวานไพเราะ กลับกัน ผลผลิตจาก Asia Collection นั้นประณีต เพราะเทคนิควิธีเฉพาะทาง และการใช้ทองเหลืองเกรดดีที่มีทองแดงเป็นส่วนผสม ช่วยให้ผลผลิตที่ได้แข็งแรงทนทาน 

ด้วยเหตุผลทั้งมวลเหล่านี้ ไม่แปลกใจหาก Asia Collection จะมีคู่ค้ามากกว่า 30 ประเทศ 

Masaya เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองทันสมัย ต่อยอดจากโรงงานรูปหล่อทองเหลือง 35 ปีของครอบครัว

โรงงานทองเหลืองที่ใส่ใจลูกค้าทุกกระบวนการ

นอกจากคุณภาพที่ยืนหนึ่ง ผลงานที่แตกต่าง อีกสิ่งสำคัญที่คุณแม่เน้นย้ำว่า Asia Collection ไม่เหมือนใคร คือการบริการหลังขายที่ดีเลิศจนลูกค้ายอมรับ 

“เราอยู่ได้ยืนยาวขนาดนี้ เพราะเราดูแลเอาใจใส่ลูกค้าดีมาก เราแจ้งลูกค้าตลอดว่าตอนนี้ของผลิตถึงกระบวนการไหนแล้ว ไม่ใช่ว่าเงียบหายไปเลย เพราะการผลิตรูปหล่อแต่ละชิ้นใช้เวลานานหลายเดือน เวลาส่งของก็ต้องติดตามว่าของถึงหรือยัง ถ้าเขาเจอปัญหา เราก็ต้องคอยแนะนำหรือหาทางแก้ ถ้าสินค้าเสียหายเพราะเราแพ็กไม่ดีก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าวัตถุดิบขึ้นราคา เราก็จำเป็นต้องประคองราคาเดิมไปก่อน ห้ามขึ้นราคาลูกค้ากะทันหัน แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าหกเดือน ไม่อย่างนั้นลูกค้าจะเดือดร้อน

“นอกจากนั้น เราจะต้องไม่ขายให้ลูกค้ามั่วซั่ว เช่น เราขายให้ลูกค้าหลายๆ คนจากอเมริกาได้เพราะอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ แต่เราจะขายให้ลูกค้าจากประเทศเบลเยียมซึ่งเป็นประเทศเล็กหลายคนไม่ได้ ไม่อย่างนั้นลูกค้าจะไปตัดราคากันเอง” คุณแม่อธิบายถึงหัวใจสำคัญอีกข้อหนึ่งของ Asia Collection ซึ่งแม้จะทำให้เหนื่อยขึ้นแต่ก็คุ้มค่า จนทำให้โรงงานยืนยาวถึง 35 ปี ขณะที่โรงงานอื่นปิดตัวลงไปทุกปีๆ 

และแน่นอนว่า เมื่อลูกสาวคนรองอย่างจาเข้ามาดูแล หัวใจสำคัญข้อนี้ยังคงอยู่ในหลักการบริหารไม่จางหาย

โรงงานทองเหลืองกับความหลงใหลประวัติศาสตร์ศิลป์ของลูกสาว

ช่วงเวลาที่ Asia Collection เติบใหญ่จากการผลิตรูปหล่อแบบยุโรปออกมาขายไม่ขาดสาย คือความทรงจำที่ลูกสาวคนที่สองอย่างจาจำได้ และเพราะรูปหล่อแบบเรอเนซองส์ที่เรียงรายในโชว์รูม รวมทั้งแคตตาล็อกแบบหล่อที่คุณแม่เก็บสะสมนั่นเอง ล้วนเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้จาหลงใหลศิลปะ

“เวลาป๊าทำรูปหล่อใหม่ๆ ออกมา เราชอบไปหาอ่านประวัติของรูปหล่อเหล่านั้น ช่วงแรกที่ไปเรียนต่อเลยเลือกเรียนด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่ภายหลังก็เปลี่ยนมาเรียนด้านโฆษณาและดิจิตอลอาร์ต” ลูกสาวคนกลางเล่า และอาจเพราะเหตุผลเดียวกันนี้เองที่ทำให้เธอกลับมารับช่วงต่อกิจการ

“ป๊าจะพูดอ้อมๆ ว่า ถ้าเขาไม่ทำก็คงไม่มีใครทำแล้ว เราเลยซึมซับตั้งแต่เด็กว่าต้องกลับมาทำแทนเขา อีกใจหนึ่งก็รู้ว่าการมีโรงงานเป็นของตัวเอง มันเปิดโอกาสให้เราทำอะไรได้หลายอย่าง เราควรรับโอกาสนั้นมา แล้วสานต่อให้มันเดินต่อไปได้” 

Masaya เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองทันสมัย ต่อยอดจากโรงงานรูปหล่อทองเหลือง 35 ปีของครอบครัว

แม้จะยังไม่เห็นลู่ทางที่เธอจะเข้ามาพัฒนาธุรกิจครอบครัวในช่วงแรก เพราะ Asia Collection ยังไปได้ดีไม่มีขัด แต่เมื่อคุณแม่เปิดแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองนาม Masaya Furniture เมื่อ พ.ศ. 2558 เพราะเห็นโอกาสจากการที่ลูกค้าสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ทองเหลือง และเห็นว่าเฟอร์นิเจอร์น่าจะไปได้ดีกว่างานหล่อรูปหล่อในอนาคต จาจึงมั่นใจว่านี่แหละคือแบรนด์ที่เธอจะกลับมาต่อยอด

“ม้าได้พี่ อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา มาเป็นดีไซเนอร์ให้แบรนด์จากการแนะนำของเพื่อนๆ แล้วเขาก็เอางานมาให้เราดูว่าม้ากำลังทำแบบนี้อยู่นะ ด้วยเราชอบเรื่องการตกแต่งภายในอยู่แล้ว เลยคิดว่าถ้าได้เข้ามาทำก็น่าจะสนุกดี” ลูกสาวคนกลางออกปากรับคำและเข้ามาเรียนรู้ในฐานะพนักงานคนหนึ่ง ด้วยการตอบอีเมลและศึกษากระบวนการทำรูปหล่อทองเหลืองทันที

“ภาษาอังกฤษเราแข็งแรงที่สุดในออฟฟิศ สิ่งแรกที่ทำจึงเป็นการตอบอีเมลลูกค้า แต่เราก็เจอคำถามเกี่ยวกับกระบวนการทำที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อยากคอยถามคนอื่นแล้ว เราจึงไปเรียนรู้กระบวนการทำทั้งหมดที่โรงงานเองเลย” การลงลึกถึงขั้นตอนในครั้งนั้นเองที่ทำให้เธอตระหนักว่า กว่าจะได้รูปหล่อ 1 ชิ้นนั้นละเอียดอ่อนมากจริงๆ

ทายาทรุ่นสองโรงงานรูปหล่อทองเหลืองที่พาธุรกิจครอบครัวเดินไปพร้อมยุคใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์และดีไซน์ทันสมัย
ทายาทรุ่นสองโรงงานรูปหล่อทองเหลืองที่พาธุรกิจครอบครัวเดินไปพร้อมยุคใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์และดีไซน์ทันสมัย

ขั้นแรกคือช่างหล่อจะต้องหล่อแบบขี้ผึ้งขึ้นเพื่อสร้างพิมพ์ซิลิโคน จากนั้นต้องเทขี้ผึ้งอีกรอบก่อนโบกปูนเพื่อให้ขี้ผึ้งเซ็ตตัว แล้วจึงเททองเหลืองลงพิมพ์ได้ ทองเหลืองที่ร้อนระอุก็จะแทนที่ขี้ผึ้งที่หลอมละลาย เมื่อชิ้นส่วนทองเหลืองแต่ละชิ้นเรียบร้อย จึงถอดออกมาเพื่อประกอบเข้าด้วยกัน แล้วขัดเงา ทำสี และขัดเงาอีกครั้ง 

“การเข้าใจกระบวนการเหล่านี้สำคัญมากสำหรับการเจรจาซื้อขาย เพราะลูกค้าชาวต่างชาติจะมีคำถามเกี่ยวกับสินค้าตลอด ในแต่ละครั้งที่อธิบาย เราก็บอกไม่เหมือนกันสักครั้ง เพราะกระบวนการเหล่านี้ละเอียดและซับซ้อนมาก นอกจากนั้น หากเราเข้าใจมุมมองช่าง เราจะพอมองภาพออกว่าดีไซน์ที่ลูกค้าต้องการนั้นเป็นไปได้มากขนาดไหน” เธออธิบายถึงการฝึกงานเมื่อ 4 ปีก่อนให้ฟัง

ทายาทรุ่นสองโรงงานรูปหล่อทองเหลืองที่พาธุรกิจครอบครัวเดินไปพร้อมยุคใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์และดีไซน์ทันสมัย

โรงงานทองเหลืองยุค 5G

กับหลายธุรกิจครอบครัว การเข้ามาของทายาทรุ่นใหม่มักเป็นการเปลี่ยนระบบภายในและจัดการสิ่งต่างๆ ให้ดูทันสมัยขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะประเภทธุรกิจที่เอื้อให้ทำ แต่กับ Masaya และ Asia Collection ที่เป็นธุรกิจที่ดำเนินด้วยงานฝีมืออันประณีต การเข้ามาดูแลกิจการของจาจึงไม่ใช่การพลิกโฉมโรงงานครั้งใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน แต่เป็นการ ‘ปรับ’ รูปแบบการขายให้ทันสมัยกับโลกยุค 5G 

“ช่วงที่เราเข้ามาดูแล คุณแม่เริ่มก่อตั้ง Masaya Furniture ได้สองปี ตอนนั้นคุณแม่อาศัยการไปงานแฟร์ที่ฝรั่งเศส เพื่อให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์มากขึ้น ซึ่งก็ช่วยได้จริงๆ และทุกวันนี้เรายังคงไปออกงานแฟร์อยู่ เพราะนี่คืองานใหญ่ที่จะทำให้คนรู้จักแบรนด์เราได้มากขึ้น

“แต่เราก็มองว่าเฟอร์นิเจอร์บนโลกใบนี้มีหลายร้อยแบรนด์ การขายในโชว์รูมที่ไม่ได้อยู่ในห้างจะทำให้คนรู้จักแบรนด์เรายากมาก และที่สำคัญ คนรุ่นนี้ซื้อของผ่านออนไลน์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราต้องทำจึงคือ การทำให้ช่องทางการขายออนไลน์ของเราดีขึ้นกว่านี้” 

จาเริ่มจากนำสินค้าทั้งหมดที่มีไปถ่ายภาพ เพื่อให้การเจรจาซื้อขายผ่านอีเมลระหว่างแบรนด์กับลูกค้าง่ายขึ้น อีกทั้งขยายช่องทางการขายไปยังเว็บไซต์รวมงานดีไซน์ที่ชาวต่างชาตินิยม ซึ่งก็ได้ผลตอบรับดีเกินคาด ล่าสุดจากำลังพัฒนาเว็บไซต์ของแบรนด์ เพื่อให้ลูกค้าต่างชาติเข้าถึงได้ง่ายกว่าเก่า และกำลังจะพัฒนาช่องทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมให้แข็งแรง เพื่อรองรับแนวทางในอนาคตที่อยากทำให้คนไทยรู้จักธุรกิจครอบครัวทั้งสองขามากขึ้น

โรงงานทองเหลืองฉบับคนรุ่นใหม่

นอกจากจาจะ ‘ปรับ’ รูปแบบการขายให้ซื้อขายได้คล่องมือแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่มีผลต่อทิศทางของ Masaya Furniture ไม่น้อย คือการปรับดีไซน์ของเฟอร์นิเจอร์ให้ดูสนุก ลุกนั่งสบาย สไตล์คนเจนเนอเรชันนี้มากขึ้น

จาวิเคราะห์ว่า “คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมทองเหลืองเท่าไหร่ ไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างชาติ เราจึงต้องปรับให้เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองของเราร่วมสมัย เพื่อให้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น” 

ทายาทรุ่นสองโรงงานรูปหล่อทองเหลืองที่พาธุรกิจครอบครัวเดินไปพร้อมยุคใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์และดีไซน์ทันสมัย

การเข้ามาปรับดีไซน์ของเธอ หมายรวมถึงการปรับวัสดุบางส่วนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย อย่างแทนที่จะใช้หินอ่อนท็อปขาโต๊ะทองเหลืองแบบที่แม่แหววชอบ ก็ใช้กระจกใสที่ดูร่วมสมัย ทั้งยังทำให้เห็นขาทองเหลืองได้ด้วย

นอกจากนั้น การปรับที่ว่ายังหมายรวมถึงการทำให้เฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ไม่เพียงสวยงามเท่านั้น แต่ต้องใช้ได้จริง แทนที่จะทำม้านั่งหุ้มเบาะที่อาจไม่เหมาะกับการวางนอกบ้านเท่าไหร่ เธอก็เพิ่มม้านั่งทองเหลืองทั้งชิ้นเพื่อให้ใช้งานได้จริง หรืออย่างเก้าอี้คอลเลกชัน Ink อันโด่งดังฝีมืออภิวัฒน์ เธอก็เสนอให้ทำพนักโค้งรับสรีระเพื่อให้นั่งได้สบายกว่าเก่า

นอกจากนั้น จายังอธิบายการปรับและพัฒนาครั้งนี้ว่า “เราจะเป็นคนมองเทรนด์ว่าช่วงนี้สินค้าอะไรที่ขายดีบ้าง เพื่อเสนอให้ดีไซเนอร์ผลิตสินค้าประเภทนั้นให้หลากหลายขึ้น จะได้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น ช่วงโควิด-19 ของใช้เล็กๆ น้อยๆ ในบ้านมักขายดี เราก็อาจพัฒนาของประเภทเดียวกันออกมามากขึ้น 

ทายาทรุ่นสองโรงงานรูปหล่อทองเหลืองที่พาธุรกิจครอบครัวเดินไปพร้อมยุคใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์และดีไซน์ทันสมัย

“หลายครั้ง เราจะคาดการณ์จากประสบการณ์การใช้งานและฐานลูกค้าว่า คนประเทศนี้ รูปร่างแบบนี้ จะอยากได้อะไร เช่น โต๊ะคอนโซลของเรานั้นเตี้ย ซึ่งอาจไม่เหมาะกับลูกค้าตะวันตกที่รูปร่างสูงใหญ่ เราก็ทำให้ขาโต๊ะสูงขึ้นหน่อยไหม จะได้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น” 

แม้ในวันแรกๆ ที่ Masaya Furniture ถือกำเนิด ลูกค้าไทยและต่างชาติจะยังไม่ค่อยรู้จักแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองแบรนด์นี้มากนัก แต่ด้วยสไตล์การออกแบบเฉพาะของอภิวัฒน์ การเข้ามาดูแลช่องทางการขายและแนวทางดีไซน์โดยจา รวมถึงเทคนิควิธีการหล่อทองเหลืองเฉพาะทางที่ทำให้ได้เส้นสายพลิ้วไหวดูธรรมชาติ แตกต่างจากแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตด้วยรังสรรค์ขึ้นจากเครื่องจักรสมัยใหม่ 

ไม่นาน Masaya Furniture ก็เป็นที่รู้จักว่าเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองร่วมสมัยที่ส่งออกกว่า 12 ประเทศ เช่น เบลเยียม สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร กรีซ และอิตาลี 

ทายาทรุ่นสองโรงงานรูปหล่อทองเหลืองที่พาธุรกิจครอบครัวเดินไปพร้อมยุคใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์และดีไซน์ทันสมัย
ทายาทรุ่นสองโรงงานรูปหล่อทองเหลืองที่พาธุรกิจครอบครัวเดินไปพร้อมยุคใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์และดีไซน์ทันสมัย

โรงงานทองเหลืองของคน 2 รุ่น

ในมุมของเรา ความยากของการทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองคงไม่พ้น ‘ทำยังไงให้คนรุ่นใหม่กลับมาสนใจ’ แต่ทายาทผู้สานต่อกลับยืนยันว่าประเด็นนี้ไม่ยากเท่าไหร่ เนื่องจาก Masaya Furniture มีฐานลูกค้าชาวต่างชาติอยู่พอสมควร สิ่งที่ยากจริงๆ คือ ‘ทำยังไงให้ดำเนินธุรกิจครอบครัวบนความคิดที่แตกต่างระหว่างคนสองรุ่นได้’ 

“ด้วยความที่ป๊าทำ Asia Collection แล้วมันเวิร์กมาตลอดสามสิบห้าปี เขาไม่ค่อยอยากลองสิ่งใหม่ๆ ส่วนม้าก็ชอบสไตล์เก่าๆ ที่อาจไม่เข้ากับยุคสมัย เราจึงเห็นไม่ตรงกันแทบทุกครั้งที่จะทำโปรเจกต์ใหม่ๆ” ทายาทเล่าพลางหัวเราะ

 “บางอย่างป๊ามองว่าถ้าทำแบบที่เราต้องการ ทองเหลืองอาจจะรับน้ำหนักไม่ได้ ซึ่งบางครั้งมันก็ใช่ แต่อีกทางหนึ่ง ถ้าเราไม่ลอง เราก็ไม่รู้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นยังไง ทางแก้คือต้องรับฟังซึ่งกันและกัน เขาก็ต้องเปิดใจให้เรา เราก็ต้องเปิดใจให้เขา และเราต้องลองทำเพื่อจะได้รู้ไปเลยว่ามันเวิร์กหรือไม่ ไม่อย่างนั้นก็จะเถียงกันอย่างเดียว แต่ไม่ได้เดินหน้าต่อ” ลูกสาวบอกถึงปัญหาใหญ่ ก่อนตอบคำถามที่เราสงสัยว่า การเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวครั้งนี้ทำให้เธอกดดันบ้างไหม

“เรายังกังวลอยู่ตลอดว่าถ้าต้องเข้ามาดูแลเต็มตัว แต่ไม่ได้มีความรู้ช่างเท่าป๊าแล้วจะทำได้ไหม แต่ลึกๆ ก็มั่นใจพอสมควรว่าความรู้ที่เรามีอยู่ก็น่าจะสานต่อได้ และเราต้องทำให้ทั้งสองแบรนด์มันไปได้ไกลกว่านี้ ทั้งในแง่การส่งออกที่ส่งออกได้หลายประเทศยิ่งขึ้น และการสร้างความรับรู้ในประเทศไทย 

“เป้าหมายตอนนี้ คือเราไม่ได้อยากให้คนไทยมาซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือรูปหล่อนะ อยากให้คนไทยเปิดใจมากขึ้นว่าทองเหลืองทำได้มากกว่าการหล่อพระหรือรูปหล่อต่างๆ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเขาได้” ทายาทรุ่นสองทิ้งท้ายความตั้งใจ

ทายาทรุ่นสองโรงงานรูปหล่อทองเหลืองที่พาธุรกิจครอบครัวเดินไปพร้อมยุคใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์และดีไซน์ทันสมัย

Masaya

ที่ตั้ง : 59, 61, ,63 ,65 ซอยเจริญกรุง 30 เขตบางรัก กรุงเทพฯ (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ​ : เปิดบริการ เวลา 09.00 – 17.00 น.

Facebook : Masaya Furniture

Website : Masaya Furniture

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน