เชื่อว่าเมื่อเร็วๆ นี้ คุณผู้อ่านหลายคนคงได้เห็นวิดีโอไวรัลหลายตัวเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกที่ทำร้ายชีวิตของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่อันชวนเศร้าสลดและหดหู่ คลิปเหล่านี้ทำให้ระดับความตระหนักรู้เรื่องการใช้พลาสติกของผู้คนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ยิ่งตระหนักยิ่งทำให้เราค้นพบว่า การใช้ชีวิตแต่ละวันโดยปราศจากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง (Single-use Plastic) ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะมันแทรกซึมอยู่แทบจะทุกอณูของชีวิตประจำวัน แม้จะปฏิเสธไม่รับถุงหิ้ว แต่น้ำเต้าหู้ที่อยากดื่มก็มาในรูปแบบบรรจุขวดพลาสติก เสื้อที่ส่งซักแห้งก็กลับมาโดยมีถุงพลาสติกใสคลุมสวยงาม ป้าร้านน้ำดื่มก็ปักหลอดใส่ขวดน้ำแก้วมาให้ พลาสติกทั้งหมดนี้อยู่กับเราเพียงครู่เดียว ก็กลายเป็นขยะที่วันหนึ่งอาจถูกพัดพาไปกองสุมเป็นภูเขาสิ่งแปลกปลอมในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่

โดยรายงานของ World Economic Forum เรื่องมลพิษจากพลาสติกระบุว่า หากสถานการณ์การใช้พลาสติกแบบนี้ดำเนินต่อไป ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ปริมาณขยะในมหาสมุทรจะมีมากกว่าจำนวนปลาที่แหวกว่าย แค่คิดก็ขนพองสยองเกล้าแล้ว

อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล มีการรายงานว่าอินเดียผลิตขยะพลาสติกวันละประมาณ 15,000 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับน้ำหนักของช้าง 3,000 ตัวรวมกัน ขยะพลาสติกที่เมื่อไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหนถูกเผาทำลาย กลับกลายเป็นมลพิษทางอากาศทับถมอากาศที่ไม่สะอาดอยู่แล้วของเมืองใหญ่ในอินเดียให้เป็นพิษมากขึ้นไปอีก

งดใช้ถุงพลาสติก, พลาสติก, อินเดีย, ขยะพลาสติก

งดใช้ถุงพลาสติก, พลาสติก, อินเดีย, ขยะพลาสติก

ส่วนขยะที่ถูกทิ้งเป็นภูเขาขยะได้กลายเป็นภาระต่อสายตา ภาระต่อผืนดินผืนน้ำและสัตว์ร่วมโลก

ตัวอย่างอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ‘วัว’ พาหนะของพระศิวะอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวอินเดีย เรามักจะเห็นวัวในเขตเมืองคุ้ยเขี่ยหาอาหารจากกองขยะ ซึ่งบางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นโซนพักผ่อนอารมณ์ให้น้องวัวไปนั่งๆ นอนๆ สำนักข่าว BBC รายงานว่า วัวในอินเดียจำนวนมากประสบกับปัญหากินพลาสติกเข้าไปสะสมไว้ในกระเพาะเพราะเจ้าของปล่อยให้มันหากินเองอย่างอิสระ ไม่นานนี้ มีวัวอย่างน้อย 4 ตัวที่ตายในรัฐอันตรประเทศ ทางใต้ของอินเดีย หนึ่งในนั้นมีพลาสติกสะสมในท้องราว 80 กิโลกรัม

งดใช้ถุงพลาสติก, พลาสติก, อินเดีย, ขยะพลาสติก

อันที่จริง ภาครัฐและภาคประชาสังคมของอินเดียพยายามแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจังมานานหลายสิบปี แต่ก็ยังทำได้ไม่เด็ดขาดและล้มเหลวในทางปฏิบัติ เช่น กรุงนิวเดลี ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2009 และปรับเพิ่มความเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ

โดยในปี 2012 รัฐบาลเดลีออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกทุกชนิด ซึ่งรวมถึงแผ่นและฟิล์มพลาสติกที่ใช้ห่อหนังสือ นิตยสาร ฯลฯ ส่วนที่ยังคงอนุญาตอยู่คือ พลาสติกที่ใช้เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ยาและการส่งออก นอกจากกรุงนิวเดลีแล้ว รัฐมหาราษฏระ (ที่มีเมืองหลวงคือ เมืองมุมไบ) รัฐปัญจาบ รัฐราชสถาน ก็ออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกรูปแบบต่างๆ รวมถึงรัฐอื่นๆ ที่เริ่มจากการห้ามใช้พลาสติกในบางเขตที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติ

ล่าสุด อินเดียได้แสดงความพยายามอีกครั้ง ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลกเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียคนดังได้ออกมาประกาศว่า อินเดียจะมุ่งไปสู่ประเทศที่ปราศจากการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งในปี 2022 รวมทั้งประกาศแคมเปญรณรงค์ลดขยะทางทะเล และโครงการอนุสรณ์สถานแห่งชาติปลอดขยะ

งดใช้ถุงพลาสติก, พลาสติก, อินเดีย, ขยะพลาสติก

หลายคนออกมาชื่นชมว่า การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีอินเดียเป็นแรงกระตุ้นทางการเมืองที่สำคัญ เป็นแรงบันดาลใจให้กับโลกและเป็นชนวนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ขณะที่ก็มีคนอีกกลุ่มเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่สูงเกินเอื้อมมาก ซึ่งก็ค่อนข้างจริง เพราะแค่รณรงค์ให้คนทิ้งขยะในที่ที่เตรียมไว้ยังไม่ค่อยจะสำเร็จเลย แต่การคิดและประกาศเป้าหมายก็สิ่งที่จำเป็น มันเป็นการตอกย้ำว่า ‘ปัญหา’ มีอยู่และ ‘รุนแรงขึ้น’ ประชาชนต้อง ‘ตระหนักรู้’ และ ‘ปรับพฤติกรรม’

หากจะมีใครชื่นชมโมดีและอยากดำเนินรอยตามเพิ่มขึ้นมาก็จะเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ ‘อินเดีย’ ที่เป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคนและเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วมากที่สุดของโลก
การควบคุมและปลูกฝังเรื่องขยะพลาสติกอย่างจริงจังน่าจะช่วยลดปริมาณขยะของโลกได้อีกมาก พัฒนาการสำคัญในตอนนี้คือ อินเดียประสบความสำเร็จในการลดการใช้ถุงพลาสติกแล้ว โดยห้างร้านหรู รวมถึงร้านขายของทั่วกรุงนิวเดลีและอีกหลายเมืองได้ (ถูกบังคับให้) ลาขาดจากการใช้ถุงพลาสติก โดยนำถุงที่ผลิตจากวัสดุอื่นๆ มาใช้แทน เช่น ผ้า กระดาษ และกระจูด ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าถุงพลาสติกที่ต้องใช้เวลานานถึง 450 ปี
รวมทั้งมีมาตรการคิดสตางค์ลูกค้าที่ขอถุงด้วยเพื่อลดขยะ (หรือลดต้นทุนของร้านด้วยก็ไม่รู้) ส่วนร้านอาหารต่างๆ รวมถึงแมคโดนัลด์ก็เริ่มใช้กระดาษ จาน ช้อน ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น แป้งข้าวโพด และล่าสุด หากคุณผู้อ่านได้มีโอกาสแวะไปเยือนกรุงนิวเดลีแล้วละก็ จะพบว่าเดี๋ยวนี้ไม่สามารถหาหลอดพลาสติกได้แล้ว เพราะร้านรวงต่างๆ หันมาใช้หลอดดูดน้ำที่ทำจากกระดาษที่มีหน้าตาเหมือนขนมโอโจ้สมัยเด็กของเรากันหมดแล้ว

งดใช้ถุงพลาสติก, พลาสติก, อินเดีย, ขยะพลาสติก งดใช้ถุงพลาสติก, พลาสติก, อินเดีย, ขยะพลาสติก

แน่นอนว่า การออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกย่อมมีผู้เสียประโยชน์ กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกของอินเดียได้ออกมาเรียกร้อง หลังจากรัฐมหาราษฏระประกาศห้ามการใช้พลาสติกทุกชนิดว่าเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรม โดยนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจเสียหายเป็นจำนวนถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้คนกว่า 3 แสนคน ตกงานในชั่วข้ามคืน รวมทั้งเมื่อปี 2012 กลุ่มผู้ประกอบการได้ยื่นฟ้องต่อศาลสูงกรุงนิวเดลีต่อต้านกฎหมายห้ามใช้พลาสติก แต่ศาลสูงก็ปฏิเสธคำร้องดังกล่าว

ย้อนกลับมาเมืองไทยที่รักยิ่ง บ้านเรามีการรณรงค์ให้งดใช้ถุงพลาสติกและหันมาใช้ถุงรักษ์โลกหรือถุงโลกร้อนมานานพอสมควร ล่าสุด ข่าววาฬเกยตื้นเสียชีวิตที่จังหวัดสงขลา ซึ่งผ่าพบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารของวาฬจำนวน 80 ชิ้น หนักถึง 8 กิโลกรัม สร้างความสะเทือนใจและความตระหนักรู้ถึงเรื่องการใช้ถุงพลาสติกของเราไม่ใช่น้อย แต่วันก่อนฉันแวะเข้าไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อชื่อดังหน้าปากซอย พนักงานยังหยิบหยอดยาดมใส่ถุงพลาสติกใบจ้อยส่งให้ลูกค้า ผู้ซึ่งม้วนถุงพลาสติกที่บรรจุยาดมใส่กระเป๋าตัวเองอยู่เลย

Writer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ