เร็วๆ นี้สื่อหลายสำนักทั่วโลกรายงานข่าวว่า ศาลฎีกาอินเดียมีคำตัดสินให้การรักร่วมเพศมิใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายอินเดียอีกต่อไป สร้างความยินดีให้กับคนข้ามเพศทั่วประเทศ Google และ Facebook อินเดียต่างขึ้นโลโก้สีรุ้งฉลองโอกาสดังกล่าว นับเป็นอีกก้าวสำคัญด้านความเท่าเทียมทางเพศในประวัติศาสตร์อินเดียและโลก

การรักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมายของหลายสังคม หลายวัฒนธรรม บ้างเคยผิด บ้างไม่ผิดแล้ว บ้างยังผิดอยู่ สำหรับอินเดีย มาตราที่ 337 ของประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย มรดกที่อังกฤษ เจ้าอาณานิคม ทิ้งไว้เมื่อ 157 ปีก่อน กำหนดให้การรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรม โดยระบุว่า “การร่วมประเวณีกับผู้ชาย ผู้หญิงและสัตว์อย่างผิดธรรมชาติ” เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยมีโทษจำคุก 10 ปี นอกจากนี้ อินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมโลกอันเก่าแก่ยังมีกฎสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ที่ไม่ยอมรับคนข้ามเพศสืบต่อมานับพันปีแล้วด้วย

อินเดียยกเลิกกฎหมายห้ามรักร่วมเพศ

ความยินดีที่เกิดขึ้นหลังศาลฎีกาอินเดียเผยการตัดสินเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา

อินเดียยกเลิกกฎหมายห้ามรักร่วมเพศ

Google ขึ้นรูปธงสีรุ้งใต้แถบค้นหา

อินเดียยกเลิกกฎหมายห้ามรักร่วมเพศ

Facebook เปลี่ยนไอคอนเป็นสีรุ้ง

‘ฮิจร่า’ (Hijrah) ถูกกล่าวถึงในตำราโบราณของอินเดียมาตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาเป็นชายแต่รักความเป็นหญิง ซึ่งน่าจะเทียบได้กับกะเทยในสังคมไทย ภาพเด่นของฮิจร่าคือชายที่แต่งกายเป็นหญิง แต่งหน้าทาปาก และมีจริตจะก้านแบบผู้หญิง ด้วยความเคร่งครัดของสังคมทำให้คนเหล่านี้หนีหรือถูกขับไล่ออกจากสังคมมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การถูกกีดกันให้เป็นคนชายขอบส่งผลให้ฮิจร่าจำนวนไม่น้อยประกอบอาชีพโสเภณี หรือเดินขอเงินจากผู้คนตามสี่แยกไฟแดงและบนรถไฟ มีผู้นำที่เรียกว่า ‘กูรู’ ซึ่งคนที่เคยไปอินเดียก็อาจเคยพบเห็น

ฮิจร่านับเป็นประเภทหนึ่งของคนข้ามเพศ หรือ LGBTQ ในสังคมอินเดียที่ยังเป็นสังคมชายเป็นใหญ่และไม่เปิดรับการเป็นคนข้ามเพศมากนัก สำมะโนประชากรอินเดียปี 2011 ประเมินว่ามีคนข้ามเพศในอินเดียประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติจากคนที่มาลงทะเบียนกับภาครัฐ ดังนั้น จำนวนจริงจึงน่าจะมากกว่านี้มาก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าอินเดียมีประชากรถึง 1,200 ล้านคน

ชาวอินเดียข้ามเพศส่วนใหญ่ด้อยโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ รวมถึงถูกรังแกทั้งทางร่างกายและจิตใจ แม้แต่นักสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องสิทธิให้กลุ่มคนข้ามเพศก็พลอยติดร่างแหไปด้วย แต่ระยะหลังเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทางบวกมากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมเมืองและกลุ่มคนที่มีการศึกษาและฐานะทางการเงิน

อินเดียยกเลิกกฎหมายห้ามรักร่วมเพศ

ฮิจร่ายิ้มรับคำตัดสินของศาลฎีกาอินเดีย

ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบาย กรณีการยกเลิกกฎหมายที่เพิ่งเกิดขึ้นก็มีเส้นทางที่ไม่ง่าย เพราะพยายามแก้ไขกันมาตั้งแต่ปี 2001 จนในที่สุดเมื่อปี 2009 ศาลสูงของกรุงนิวเดลีมีคำตัดสินว่า มาตรา 337 ละเมิดสิทธิต่อชีวิตและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึงละเมิดหลักการความเท่าเทียมซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่วาย ในปี 2013 ศาลฎีกาอินเดีย ซึ่งมีอำนาจเหนือศาลระดับรัฐ ประกาศไม่รับคำตัดสิน โดยได้แรงสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ต่อต้านคนข้ามเพศ ทั้งนักการเมือง นักศาสนา และผู้คนในสังคม ซึ่งนับเป็นการก้าวถอยหลังเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมอินเดีย

แต่ต่อมาในปี 2014 ศาลฎีกาอินเดียมีคำตัดสินยอมรับคนข้ามเพศเป็นเพศที่สามด้วยเหตุผลทางด้านสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรโควตาด้านการงานและการศึกษาให้กับคนที่แปลงเพศอย่างฮิจร่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น เช่น รัฐเกรละและรัฐทมิฬนาฑู รัฐตอนใต้ของประเทศ ที่ผลักดันนโยบายสวัสดิการสำหรับคนข้ามเพศ ในรัฐทมิฬนาฑู คนข้ามเพศสามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงในโรงพยาบาลของรัฐได้ฟรี และรัฐเกรละประกาศการดูแลคนข้ามเพศเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านการศึกษา

อินเดียยกเลิกกฎหมายห้ามรักร่วมเพศ

ชาวอินเดียถือป้ายฉลองคำตัดสินของศาลฎีกาบริเวณด้านหน้าที่ทำการศาล

ด้านเศรษฐกิจและสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ใครจะคาดคิดว่าในอินเดียจะมีโชว์ Drag Queen กับเขาด้วย ซึ่ง Drag Queen หมายถึงกลุ่มคนที่กายเป็นชาย แต่มีความสามารถแต่งตัวเป็นผู้หญิงได้อย่างสวยงาม มีที่มาจาก Dressed Resembling A Girl และมีจุดประสงค์เพื่อการแสดงหรือความบันเทิงโดยเฉพาะ โดย Kitty Su ไนต์คลับและผับหรูชื่อดังซึ่งมีสาขาใน 3 เมืองเศรษฐกิจของอินเดียอย่างมุมไบ เดลี และจันดิการ์ เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์จัดโชว์ Drag Queen จนได้กระแสตอบรับล้นหลาม ครั้งหนึ่ง Kitty Su เชิญคนดังระดับโลกอย่าง Violet Chachki มาแสดง ก็มีผู้ชมถึง 1,900 คน  

Keshav Suri ทายาทเครือโรงแรมหรู The Lalit ผู้ก่อตั้ง Kitty Su กล่าวว่า วันนี้เราละเลยอำนาจเงินสีชมพูไม่ได้อีกต่อไป เงินสีชมพู คืออำนาจซื้อของกลุ่มคนข้ามเพศ แม้แต่ชาวอินเดียที่อยู่ในสังคมอนุรักษนิยมก็เริ่มสนใจธุรกิจสีชมพูมากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง ภาพยนตร์ การท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านค้า นิตยสาร Forbes India และบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก Out Now Consulting ประเมินไว้ในปี 2009 ว่า มีคนข้ามเพศถึง 4 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรอินเดียทั้งหมด หรือ 30 ล้านคน รวมคนที่เปิดเผยและปกปิดตัวตน ซึ่งคนเหล่านี้มีศักยภาพในการจับจ่ายสูง เพราะมีรายได้และไม่มีลูก

อินเดียยกเลิกกฎหมายห้ามรักร่วมเพศ

Keshav Suri (ซ้าย) ผู้ก่อตั้ง Kitty Su และแกนนำนักเคลื่อนไหวการคัดค้านมาตรา 377 และการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับกลุ่มคนข้ามเพศ

ในสังคมอนุรักษนิยมเช่นอินเดียที่คนส่วนใหญ่ยังต่อต้านคนข้ามเพศ ยังคงต้องใช้เวลาอีกมากเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในชุมชนให้เปิดรับ แต่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายซึ่งนับเป็นมุมมองระดับรัฐ รวมถึงก้าวเล็กๆ ทางธุรกิจซึ่งเป็นมุมมองจากภาคเอกชน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและทัศนคติต่อคนข้ามเพศในสังคมอินเดียทีละน้อย การคืนสิทธิที่จะเลือกเป็นและจะเลือกรักให้ชุมชนคนข้ามเพศซึ่งเคยเป็นคนชายขอบ ก็อาจจะนำไปสู่การคืนสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ให้คนชายขอบในมิติอื่นของสังคมอินเดียในอนาคตต่อไป

Writer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ