“อยากไปดูแรดที่อัสสัมอะ”

ความในใจที่ฉันประกาศออกไปและโชคดีมีคนตอบรับ ทำให้ฉันได้มายืนสูดอากาศบริสุทธิ์บนรถจี๊ปบุโรทั่งที่กำลังวิ่งกระท่อนกระแท่นเข้าไปในคาซิรังกา (Kaziranga) อุทยานแห่งชาติพื้นที่ 860 ตารางกิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ที่องค์กรยูเนสโกยกย่องให้เป็นมรดกโลกเพราะว่ามีพื้นที่ป่าที่ยังคงความบริสุทธิ์ปราศจากการรุกรานของมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำสายสำคัญในภูมิภาคเอเชียใต้ และยังเป็นที่อยู่อาศัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกสำหรับสัตว์ป่า รวมถึงแรดอินเดีย หรือแรดนอเดียว

Kaziranga
Kaziranga

แรดนอเดียวมีขนาดตัวโตพอๆ กับแรดขาวแอฟริกา แต่มีเพียงนอเดียว จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Greater One-horned Rhino มีหนังหนาที่พับกันเป็นทบ มองดุคล้ายชุดเกราะนักรบโบราณขนาดตัวสูง 5.75 – 6.5 ฟุต มีน้ำหนัก 1,800 – 2,700 กิโลกรัม ขนาดความยาวนอประมาณ 8 – 25 นิ้ว  

ฉันรู้สึกว่ามันแปลกดีที่มีสัตว์ชนิดเดียวกันแต่อยู่คนละมุมโลกแบบนี้ คงเป็นเส้นทางการหาอาหารและเอาชีวิตรอดในอดีตกาลที่พาให้ยักษ์ใหญ่แห่งป่าเติบโตกันคนละเส้นทาง ในอดีตแรดพันธุ์นี้พบได้ตามเชิงเขาหิมาลัย ไล่ตามระนาบเดียวกันมาตั้งแต่ประเทศปากีสถาน อินเดีย เนปาล ไปถึงเมียนมา แต่เนื่องจากที่อยู่อาศัยของแรดถูกมนุษย์รบกวนทำให้ปัจจุบันประชากรแรดอินเดียหลงเหลืออยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ในรัฐอัสสัมกับรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียและประเทศเนปาลเท่านั้น

แรด

จริงๆ แล้วฉันอยากจะมานั่งช้างแต่เช้ามืดเพื่อแฝงตัวเข้าไปในฝูงสัตว์มากกว่านั่งเที่ยวชมด้วยรถจี๊ปแบบนี้ แต่เมื่อคืนดีปัก (Deepak) ไกด์ท้องถิ่นมาแจ้งผลที่น่าเศร้า หลังจากที่พยายามจองตั๋วนั่งช้างซึ่งตามระเบียบเปิดให้จองเวลา 19.00 น. ของคืนก่อนหน้าเท่านั้น

“เราพยายามแล้วจริงๆ เมื่อวานฝรั่งกลุ่มนั้นก็ไม่ได้ตั๋วนั่งช้างเหมือนกัน มันเต็มเร็วมากเพราะเป็นช่วงหยุดยาว” ไกด์ดีปักพยายามอธิบาย “แต่เราไปนั่งรถจี๊ปได้นะครับ ไม่ต้องจองด้วย” ก็คงต้องเช่นนั้น เพราะเราไม่มีทางอื่นนี่นา

ซาฟารี
ซาฟารี

การท่องเที่ยวอุทยานคาซิรังกามี 2 รูปแบบ คือการนั่งช้าง และการนั่งรถจี๊ป โดยสัตว์จำพวกแรด กวาง ช้าง จะออกมาหาอาหารในบริเวณเดียวกัน ดังนั้นหากนั่งช้างเราก็จะสามารถเข้าไปอย่างไม่แปลกแยกและได้อยู่ใกล้ชิดกับฝูงสัตว์ ส่วนรถจี๊ปนั้นไปได้ระยะไกลกว่า แต่ต้องวิ่งในเส้นทางที่กำหนดไว้เท่านั้น การใกล้ชิดกับสัตว์จึงต้องพึ่งดวงมากกว่า  

การเที่ยวซาฟารีที่อินเดียเป็นที่นิยมมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2017 คาซิรังกาต้อนรับนักท่องเที่ยวอินเดียถึง 170,000 คน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7,843 คน มากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว และไม่ใช่แค่ที่นี่ ยังรวมถึงอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง อันที่จริงอินเดียมีอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถึง 130 แห่ง เป็นหนึ่งในประเทศบนโลกนี้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่า แต่ก็ลดน้อยลงอย่างมากจนน่าใจหายเมื่อเทียบกับจำนวนสัตว์ป่าและผืนป่าเมื่อร้อยปีที่แล้ว

ปัจจุบัน อินเดียมีประชากรเสือในธรรมชาติเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเสือในธรรมชาติของทั้งโลกที่มีอยู่ประมาณ 3,900 ตัว (สถิติปี 2017) และมีประชากรแรดนอเดียวนับเป็น 2 ใน 3 ของประชากรแรดนอเดียวทั่วโลกที่มีอยู่ประมาณ 3,500 ตัว (สถิติปี 2018) นอกจากนี้ อินเดียยังมีเสือดาวลายหิมะ (Snow Leopard ซึ่งต้องไปดูไกลถึงแคว้นลาดักห์) ช้างอินเดีย ควายป่า นกหายาก รวมถึงพันธุ์ไม้ป่าให้ชมและศึกษาอีกมาก

ส่วนค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวซาฟารีในอินเดียก็ค่อนข้างย่อมเยาทีเดียว ดูได้จากอัตราค่าบริการต่าง ๆ ของอุทยานแห่งชาติคาซิรังกา เช่น ค่านั่งช้างคนละ 1,250 รูปี (ประมาณ 625 บาท) ค่ารถจี๊ปชมอุทยาน (นั่งได้ 4 คน) คันละ 1,950 รูปี (ประมาณ 975 บาท) ส่วนค่าเข้าอุทยานก็เพียงคนละ 650 รูปี (ประมาณ 325 บาท) เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น อัตราค่าเข้าชมอุทยานสำหรับชาวอินเดียคนละ 100 รูปี เท่านั้นเอง

กวาง
ต้นไม้

ส่วนคุณภาพนักท่องเที่ยวอินเดียก็หลากหลายมาก มีทั้งกลุ่มที่ดูเป็นนักท่องป่าจริงจังที่หอบหิ้วอุปกรณ์มากมายทั้งกล้องส่องทางไกลอย่างดีและกล้องถ่ายภาพคุณภาพสูง คนเหล่านี้แต่งกายทะมัดทะแมงและให้เกียรติธรรมชาติด้วยการทำตัวสงบเสงี่ยม พูดเบา เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังให้กระทบชีวิตสัตว์น้อยที่สุด กับกลุ่มนักท่องเที่ยวสายเฮฮาที่มากันเป็นครอบครัวลูกเล็กเด็กแดง ไปถึงไหนเสียงดังถึงนั่น แถมยังตะโกนปรบมือเรียกแรดให้หันมาเพื่อถ่ายรูป (มันใช่หรอ?)

บ่อยครั้งที่ฉันได้ยินคนท้องถิ่นบ่นไม่พอใจนักท่องเที่ยวที่ไม่เกรงใจใครเหล่านี้ หากไม่มีใครทำอะไรสักอย่างเพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้มาเยือนแล้วละก็ ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของอินเดียก็คงค่อยๆ ถูกบ่อนทำลายไปอย่างน่าเสียดาย

ก่อนหน้าที่เราจะไปอัสสัมสักหนึ่งอาทิตย์ ก็มีข่าวว่า ‘ซูดาน’ แรดขาวเหนือ เพศผู้ ตัวสุดท้ายแห่งทวีปแอฟริกาได้จากโลกนี้ไป ตอกย้ำว่าความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ได้ทำให้เพื่อนร่วมโลกอีกสายพันธุ์หนึ่งหายจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ ปัญหาการล่าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายก็เป็นปัญหาระดับชาติของอินเดียเช่นกัน

ย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ประชากรแรดนอเดียวที่คาซิรังกานี้ก็อยู่ในภาวะวิกฤตเพราะถูกล่าเพื่อเอานอและเพื่อเกมกีฬา โดยมีจำนวนเหลือเพียง 200 ตัวเท่านั้น แต่ภายหลังมีการอนุรักษ์อย่างจริงจังจนทำให้ประชากรแรดกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ส่วนจุดเริ่มต้นก็น่าสนใจ

ในปี 1904 บารอนเนสคูร์ซอน (Baroness Mary Victoria Leiter Curzon) ภริยาของลอร์ดคูร์ซอน (Lord Curzon) อุปราชแห่งอินเดีย (Viceroy of India) เดินทางมาบริเวณคาซิรังกาซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นที่อยู่อาศัยของแรดนอเดียว แต่กลายเป็นว่าเธอไม่พบแรดแม้เพียงตัวเดียว เธอจึงขอร้องสามีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอินเดียในขณะนั้นให้ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่ออนุรักษ์แรดเหล่านี้ จึงนำไปสู่การกำหนดอาณาเขตพื้นที่คาซิรังกาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและค่อยๆ พัฒนาเป็นอุทยานแห่งชาติในภายหลัง จากนั้นประชากรแรดก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยในปี 1966 พบแรดอินเดียประมาณ 366 ตัว และในปี 2018 มีจำนวน 2,413 ตัวแล้ว

“นั่นมูลแรด” “นี่คือหญ้าช้าง อาหารโปรดของแรด”

“ส่วนนี่คือรอยเท้าแรด” เสียงบรรยายของคุณไกด์ไล่มาไม่ขาดสายเมื่อรถจี๊ปแล่นเข้าป่าลึกขึ้นเรื่อยๆ พวกเราพยายามสนุกไปกับสิ่งที่เจอ แต่ลึกๆ แล้วทุกคนก็คิดเหมือนกัน

“เมื่อไหร่จะเจอแรดตัวจริงฟระ” ไกด์คงเห็นหน้าจ๋อยๆ ของเรา จึงเล่าต่อไปว่า “แรดพวกนี้เขามีเขตการหาอาหารไกลมาก โดยจะเดินทางไปเรื่อยๆ ข้ามจากโซนหนึ่งของอุทยานไปอีกโซนหนึ่งได้ เราไม่เจอที่โซนนี้ เดี๋ยวจะพาไปอีกโซนนะครับ”

Kaziranga
Kaziranga

รถจี๊ปยังคงเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตามเส้นทางลูกรัง เราทอดสายตาไปกับทุ่งหญ้าและบึงน้ำกว้าง สายลมเอื่อยๆ หอบเอากลิ่นดินกลิ่นหญ้าและสัตว์น้อยใหญ่มาทักทายเราประปราย เช่น กวางบึง นกเหยี่ยว ควายป่าเอเชีย นกกระสาคอดำ นกกระเต็น  

“ที่นี่ก็มีเสือด้วยนะ” ดีปักเริ่มหาเรื่องมาให้กำลังใจ นอกจากแรดแล้วคาซิรังกาได้รับการจัดให้เป็นแหล่งสงวนพันธุ์เสือเมื่อปี 2006 โดยมีลักษณะป่าเป็นเอกลักษณ์เหมาะแก่การขยายพันธุ์ของเสือที่มีอยู่ไม่กี่แห่งนอกทวีปแอฟริกา ที่นี่มีทั้งเสือโคร่งเบงกอล เสือลายเมฆ เสือดาว

ฉันถามคุณไกด์ไปว่าเขาเคยเห็นเสือจากรถจี๊ปบ้างไหม เขาบอกว่า “การเที่ยวซาฟารีมันเป็นดวงนะ ผมพาคนเข้าเที่ยวซาฟารีมา 17 ปี ตัวผมเองยังเจอเสือไม่เกิน 20 ครั้งเลย แต่รู้ไหมปีที่แล้วมีคู่รักชาวเนเธอแลนด์ที่มาอินเดียเป็นครั้งแรกและมาเที่ยวอุทยานนี้โดยรถจี๊ป ได้เจอเสือโคร่งระยะประชิดเฉยเลย”

ฮือ ฟังแล้วอยากจะเร่งทำบุญให้ดวงดีขึ้นมาเดี๋ยวนั้น

เมื่อปี 2016 ที่คาซิรังกานี้ได้ต้อนรับดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ด้วยนะ ภาพเคต มิดเดิลตัน ให้นมลูกแรดและนั่งรถจี๊ปท่องซาฟารีทำให้ฉันรู้สึกว่า อุทยานคาซิรังกานี้ไม่ธรรมดา เราจะต้องมาให้ได้ หลังจากนั่งรถไปสักครึ่งทาง สวรรค์ก็ให้กำลังใจคนมุมานะ ในที่สุดพวกเราก็ได้เห็นแรดตัวจริงที่ยืนอยู่แสนไกลคนละฝั่งแม่น้ำ

Kaziranga

“ตัวเล็กไปหน่อย แต่เอาเหอะ ตัวจริง” ฉันให้กำลังใจตัวเอง และเชื่อหรือไม่ว่าหลังจากเจอแรดตัวที่หนึ่ง ก็มีแรดตัวที่สอง สาม สี่ ตามมาเรื่อยๆ แต่จากระยะไกลๆ  ความตื่นเต้นของคนดูแรดอย่างเราก็ลดลงไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

คนเรานี่หนา สิ่งใดที่มีมากเราก็ให้คุณค่าน้อย เมื่อสิ่งใดลดน้อยจนเกือบจะหายไปนั่นแหละเราถึงรู้สึกเดือดร้อนและให้คุณค่ามัน เหมือนกับที่นายหรรษ วรรธน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดียกล่าวไว้ในวันเสือโลกว่า “เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เราเคยมีเสือมากถึงเกือบ 1 แสนตัวในอินเดีย แต่วันนี้ เรามาแสดงความยินดีกันว่าเรามีเสือไม่กี่พันตัว”

แม้ว่าประชากรเสือและแรดในอินเดียจะเพิ่มขึ้นในระยะหลัง แต่ทางการก็ยังคงต้องต่อสู้กับสาเหตุที่ประชากรเสือและแรดในอินเดียลดลงต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการถูกบุกรุกป่าที่อยู่อาศัย หรือ การลักลอบฆ่าเอาหนังและเอานอ ทุกวันนี้นอแรดมีมูลค่าสูงกว่าทองคำเสียอีก นอแรด 1 กิโลกรัมอาจมีราคาตั้งแต่ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 8 แสนบาท หรือ สูงถึง 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2 ล้านบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้ขายสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล โดยตลาดรับซื้อใหญ่อยู่ที่เมืองจีนและเวียดนาม

คนที่นั่นยังมีความเชื่อในการใช้นอแรดเป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณ เชื่อว่านอแรดเป็นยาอายุวัฒนะ รักษาโรคได้ตั้งแต่มะเร็งไปจนถึงการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ​ ฉันชักสงสัยว่าเมื่อนอแรดเป็นเส้นใยเคราตินที่อัดตัวกันจนแน่นแบบเดียวกับที่พบในเล็บและผมของคน แล้วมันจะรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างไรกันหนอ หรือเราจะลองกินเล็บและผมแทนดูบ้าง

นอกจากนี้ ธุรกิจค้านอแรดยังมีความซับซ้อนโดยเกี่ยวพันกับอาชญากรรมรูปแบบอื่น ทั้งยาเสพติด อาวุธสงคราม และขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งล้วนเป็นช่องทางหาเงินสดจากตลาดมืดที่ติดตามต้นตอได้ยาก ทุกวันนี้สิ่งที่เจ้าหน้าที่อุทยานคาซิรังกาทำ คือลาดตระเวนและพิทักษ์แรดจากเหล่านายพราน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ยากจนและไร้การศึกษา เข้ามาเสี่ยงชีวิตหาเงินเลี้ยงตัว ปรากฏการณ์เหล่านี้เหมือนเป็นลูกโซ่ที่หากจะแก้ก็ต้องทำกันทั้งระบบ

แต่ฉันก็คิดว่าอุทยานแห่งนี้มีระบบจัดการคนมาเที่ยวได้ดีทีเดียวเมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศ โดยมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน (แบบที่ฉันอดนั่งช้าง) และมีกฎเหล็กห้ามนักท่องเที่ยวลงจากรถจี๊ปโดยเด็ดขาด จะปวดท้องเข้าห้องน้ำอย่างไรก็ทำไม่ได้ และอุทยานก็ดูสะอาด ไม่มีขยะให้รกหูรกตาเท่าไหร่นัก คิดไปคิดมาเวลา 2 ชั่วโมงบนรถจี๊ปกลางป่าก็กำลังจะหมดลง รถจี๊ปของเรากำลังมุ่งตรงไปสู่ทางออกอุทยาน โดยที่เรายังไม่ได้เห็นแรดแบบตัวโตๆ กับเขาสักที

แต่เดี๋ยวก่อน นั่น นั่น ในระยะร้อยเมตรด้านหน้ามีร่างยักษ์สีดำร่างหนึ่งกำลังโผล่มาจากท้องทุ่งทางซ้าย กรี๊ด ฉันรีบคว้ากล้องมาจับนาทีทองแห่งคาซิรังกา

Kaziranga

และก่อนที่คนขับรถจะเข้าใจว่าดีปักต้องการให้รถวิ่งต่อไปข้างหน้า ร่างนั้นก็ผลุบหายเข้าไปในดงป่าด้านขวาด้วยความเร็วแสง เหลือแต่ก้นกลมๆ ให้ผู้ที่อยู่ข้างหลังมองตามด้วยสายตาละห้อย แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่ทำให้ซาฟารีครั้งแรกในอินเดียของฉันปิดฉากอย่างสมบูรณ์

“ขอบคุณที่มาให้เห็นใกล้ๆ นะ”

หาข้อมูลคาซิรังกาเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

Writer & Photographer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ