ฉัย.. ฉัย.. (Chai Chai)

เสียงตะโกนของชัยวลาห์ (Chai Wallah) ที่ในภาษาฮินดีแปลว่าคนขายชาหรือคนต้มชา ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหัวขบวนไปท้ายขบวนรถไฟ มันคือหนึ่งในเสน่ห์ของการเดินทางด้วยรถไฟในประเทศอินเดียซึ่งไม่เหมือนที่ไหนในโลก ชอบที่สุดก็ตรงเวลาตื่นเช้ามา จะมีแสงแดดอมส้มของวันใหม่ลอดเข้ามาทางช่องหน้าต่าง เพื่อส่งสัญญาณว่าเช้าอีกวันของการผจญภัยในประเทศที่ผู้คนเหนือความคาดเดาได้เริ่มขึ้นแล้ว 

กระทั่งเมื่อรถไฟหยุดจอดที่ชานชาลา ณ สถานีระหว่างทางแห่งใดแห่งหนึ่ง ชัยวลาห์อีกคนพร้อมด้วยอุปกรณ์ขายชาเครื่องเทศที่นั่งๆ นอนๆ รออยู่ที่พื้นชานชาลาของสถานีระหว่างทางมานานแล้ว ก็จะก้าวเท้าขึ้นมาบนขบวนรถไฟที่กำลังหยุดจอดอย่างเร่งรีบ เพราะเขามีเวลาเดินขายชาเพียง 10 นาทีเท่านั้น และต้องพาตัวเองออกไปจากรถไฟให้ทันก่อนที่รถไฟจะออกตัวอีกครั้ง เขาส่งเสียงตะโกนแบบเดียวกับชัยวลาห์คนก่อนหน้าที่เพิ่งเดินลงจากรถไฟไป

 ฉัย.. ฉัย..

มันคือเสียงสววรค์ของบรรยากาศการดื่มชาบนรถไฟที่บอกว่าการเดินทางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว 

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย
ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

เมล็ดชาจีนข้ามแดนในลังไม้กับการทดลองปลูกชาบนเทือกเขาหิมาลัยในอินเดีย

ประวัติศาสตร์ชาอินเดียเริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งในเวลานั้นอินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่ายุคบริติชราช ซึ่งก่อนหน้าในสมัยนั้น อังกฤษได้จัดตั้งบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ขึ้นมา เพื่อทำธุรกิจการค้ากับดินแดนต่างๆ ในทวีปเอเชีย 

ขณะที่อังกฤษทำการค้ากับประเทศจีน อังกฤษมีโอกาสได้ทดลองชาจีนหลายชนิดที่บรรจุใส่ลังไม้ และขนส่งเข้ามายังประเทศอินเดีย จนถึงจุดหนึ่ง อังกฤษก็เริ่มมีความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชาจีนที่ตัวเองได้ทดลองชิมให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นไปอีก อังกฤษเลยวางแผนว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมเราไม่เอาชาจีนเข้ามาปลูกที่อินเดียล่ะ เพราะอุณหภูมิและลักษณะภูมิประเทศของอินเดียในบางภูมิภาคเองก็เหมาะกับการปลูกชา 

คิดได้แบบนั้น อังกฤษเลยสั่งนำเข้าเมล็ดชามาจากประเทศจีน เพื่อทดลองปลูกตามไหล่เทือกเขาหิมาลัย ทั้งที่เมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) ในรัฐเบงกอลตะวันตกและทางรัฐอัสสัม ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย 

ปรากฏว่าการทดลองปลูกเมล็ดชาจีนที่อังกฤษสั่งนำเข้ามานั้นได้ผลดีเกินคาด อังกฤษเลยคิดขยายโครงการปลูกชาเป็นเรื่องเป็นราว ขณะที่ทางจีนเองก็ยกเลิกการส่งเมล็ดชาให้อังกฤษทันที เพราะกลัวว่าอังกฤษจะมาแย่งตลาด

จากวันนั้นมา อังกฤษเลยต้องทำงานอย่างหนักในการพัฒนาสายพันธุ์ชาจากประเทศจีนที่ตัวเองพอมีอยู่บ้างแล้ว รวมไปถึงการพัฒนาสายพันธุ์ชาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในอาณาเขตพื้นที่ใกล้กับชายแดนเนปาล

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

Masala Chai สูตรลับชาเครื่องเทศจากครัวมหาราชา สู่เสน่ห์มัดใจบ้านๆ ในหม้อต้มชาของสามัญชน

มั่นใจว่าใครก็ตามที่เคยไปอินเดีย จะต้องมีสักครั้งล่ะ ที่คุณเคยเอาตัวเองเข้าไปนั่งอยู่ในบรรยากาศของการดื่มชาเครื่องเทศจากรถเข็นขายชาตามข้างทาง ซึ่งขณะยกแก้วชาขึ้นดื่มนั้น คุณก็อาจนึกลังเลในความไม่ถูกสุขลักษณะในกรรมวิธีการปรุงชาของคนขายชาเครื่องเทศ ที่กำลังกวักน้ำประปาสีขุ่นจากกะละมังใบเดิมและใบเดียวที่มีอยู่ทั้งร้าน ขึ้นมาล้างแก้วหลายสิบใบที่แช่รวมกันไว้ โดยไม่คิดจะใช้น้ำยาล้างแก้วอยู่บ้าง 

แต่ขณะเดียวกัน เสน่ห์ในวิถีชีวิตตามท้องถนนของประเทศอินเดีย กลิ่นหอมจากเครื่องเทศที่ลอยขึ้นมาแตะจมูก เสียงบีบแตรของรถยนต์ รถสามล้อ รถประจำทางตามท้องถนน ที่แม้คนขับจะต่างชั้นวรรณะ แต่นิสัยที่ทุกคนเป็นเหมือนกัน คือการบีบแตรต่อเนื่องยาวนานหลายนาทีด้วยความเคยชิน มันคือสัญชาตญาณการบีบแตรที่อยู่ในสายเลือด! และบทสนทนาระหว่างนักเดินทางจากทั่วโลกที่กำลังนั่งดื่มชาร่วมกัน ก็สะกดคุณไว้เสียจนคุณมองข้ามรายละเอียดของความไม่ถูกสุขลักษณะเหล่านั้นไปได้

ชาเครื่องเทศในอินเดียนั้น ไปนั่งกิน 10 ที่ รสชาติก็ไม่เหมือนกันสักที่ แถมสูตรการต้มชาเครื่องเทศของชัยวลาห์แต่ละคนยังเป็นความลับขั้นสุดยอดที่เขาไม่ค่อยเปิดเผยให้ใครรู้กัน เวลาไปถาม เขาก็จะบอกแค่ส่วนผสมหลักๆ แต่ไอ้เคล็ดลับเฉพาะตัวเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีใครเขาบอกกันหรอก สูตรใครก็สูตรมัน

จากประสบการณ์การนั่งดื่มชาเครื่องเทศบนถนนหลายๆ สายในอินเดีย ซึ่งเจ้าที่ฉันชอบที่สุดอยู่ที่ตลาดนัดในเมืองไจปูร์ (Jaipur) ฉันพบว่าสิ่งที่นักเดินทางจำนวนมากคิดตรงกันในเรื่องของวัฒนธรรมการดื่มชาเครื่องเทศ อันนอกจากความรื่นรมย์ที่ได้จากรสชาติชา และบรรยากาศตรงหน้าที่วัวสามสี่ตัวและรถยนต์กำลังเบียดตัวแย่งพื้นที่กันอยู่บนท้องถนน ส่วนสัญญาณจราจรที่ติดตั้งไว้ก็มีไว้เป็นพร็อพเฉยๆ โดยที่น้อยคนจะปฏิบัติตาม วิถีการนั่งดื่มชาตามข้างทางในอินเดียเองยังช่วยละลายพฤติกรรมความคาดหวังในความสะดวกสบายของการใช้ชีวิต มันทำให้เราเป็นคนที่ใช้ชีวิตง่ายขึ้น

วัฒนธรรมการดื่มชาใส่เครื่องเทศในประเทศอินเดียเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปีก่อน โดยมหาราชาได้สั่งให้พ่อครัวไปคิดค้นสูตรการปรุงชาอายุรเวทที่ต้องมีส่วนผสมของชาดำและเครื่องเทศ เพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรในการทำความสะอาดลำไส้และระบบทางเดินอาหารภายในร่างกาย 

พอได้โจทย์มา พ่อครัวหนวดงามก็ลองผิดลองถูกต้มชาทิ้งไปหลายหม้อ จนค้นพบสูตรลับชาอายุรเวทที่มีส่วนผสมของชาดำ นมวัว กานพลู ลูกจันทน์เทศ และกระวานเทศ กลายมาเป็นชาเครื่องเทศถ้วยโปรดของมหาราชา มหาราชาได้กำชับกับพ่อครัวว่า ห้ามแพร่งพรายสูตรลับชาอายุรเวทนี้ออกไปให้คนภายนอกรู้เด็ดขาด 

แต่ก็นะ ความลับไม่มีในโลก วันดีคืนดี สูตรการต้มชาก็หลุดออกไปถึงหูของกลุ่มวรรณะชั้นสูงและนักการเมือง แพร่สะพัดต่อไปยังสามัญชนตามบ้านเรือน นำไปสู่สูตรลับการปรุงชาจากครัวของมหาราชาที่ถูกพลิกแพลง และต่อยอดให้เป็นสูตรพิเศษในการปรุงชาเครื่องเทศของครอบครัวชาวอินเดียที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น กระทั่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ บางบ้านใส่สมุนไพรและเครื่องเทศเป็นสิบๆ ชนิดเลยก็มี บางบ้านเลือกใส่แค่ไม่กี่อย่าง แต่พอต้มออกมาแล้ว เฮ้ย มันใช่เลย!

เทคนิคสำคัญในการต้มชาเครื่องเทศ คือระยะเวลาการต้มที่ทำให้ชาเครื่องเทศ ซึ่งแม้จะใช้ส่วนผสมเดียวกัน แต่ก็กลับได้รสชาติ ความเข้มข้นที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงการเลือกใส่ส่วนผสมใดก่อนหลังในการต้มก็มีผลกับรสชาติเช่นกัน ส่วนวัฒนธรรมการดื่มชาเครื่องเทศในแต่ละภาคของอินเดียนั้นไม่เหมือนกันเลย 

อย่างภาคเหนือกับภาคใต้นี่เห็นความต่างชัดเจน คนอินเดียทางภาคใต้จะนิยมดื่มกาแฟมากกว่าชา กาแฟที่ดื่มจะเป็นกาแฟฟิลเตอร์ (กาแฟแบบมีตัวกรอง) เน้นกาแฟเข้ม ใส่นมเยอะๆ

ส่วนถ้าเป็นชาเครื่องเทศใส่นม เขาจะเน้นชาดำที่มีกลิ่นหอมอะโรมา ต้มผสมกระวาน นม และน้ำตาล ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ดูจะไม่ได้หวือหวาอะไรเลย เมื่อเทียบกับการปรุงชาเครื่องเทศของคนอินเดียทางภาคเหนือ ที่ในชาหนึ่งถ้วยนั้นจะประกอบด้วยส่วนผสมหลักๆ คือชาดำ นม (มีทั้งนมวัวและนมแพะ) ขิงสด กระวานเทศ อบเชย กานพลู และพริกไทยดำ บางสูตรยังใส่ตะไคร้ ดอกจันทน์เทศ ลูกจันทน์ และหญ้าฝรั่นด้วย

นิสัยการดื่มชาเครื่องเทศของคนอินเดีย ต้องเรียกว่ากินกันแทนน้ำ อย่างน้อยต้องมี 2 แก้วต่อวัน หรือเวลาถ้ามีคนมาหาที่บ้าน เจ้าของบ้านก็จะเตรียมชาเครื่องเทศไว้รับรองตามธรรมเนียม 

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย
ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

ชัยวลาห์ คนขายชาเครื่องเทศ ที่มากับเสียงตะโกน ‘ฉัย ฉัย’

นอกจากการตกแต่งรถเข็นขายชาและดิสเพลย์ของร้านขายชาตามข้างทาง หน้าสถานีรถไฟ ในโรงแรมห้าดาว หรือแม้แต่ปากทางเข้าอาศรมให้น่าสนใจ ซึ่งถือเป็นแรงดึงดูดหนึ่งในการเรียกลูกค้าแล้ว ภาชนะที่ใช้ในการต้มชาและบรรจุชายังมีส่วนสำคัญที่ทำให้บุคลิกของร้านขายชาแต่ละร้านมีความต่างกัน 

ถ้าเป็นยุคของมหาราชา เขาจะใช้แก้วและหม้อต้มทองเหลือง ที่หากมีใครแอบใส่ยาพิษไว้ผิวของทองเหลืองที่เคลือบไว้จะฟ้องทันทีด้วยการเปลี่ยนเป็นสีดำ ทุกวันนี้ นอกจากแก้วใส่ชาเครื่องเทศที่ทำจากวัสดุแก้วแล้ว บางร้านยังใช้ถ้วยใบจิ๋วหน้าตาน่ารักที่ทำมาจากดินเผา

บางครั้งเวลาไปชื้อชาเครื่องเทศตามร้านเล็กๆ ในชนบทของอินเดีย ฉันก็มักจะขอซื้อถ้วยดินเผาจากเจ้าของร้านมาเก็บเอาไว้ ส่วนพระเอกผู้ดำเนินเรื่องของชาเครื่องเทศแก้วนั้นๆ ฉันขอยกให้กับชัยวลาห์ หรือคนขายชา

ชัย (Chai) แปลว่า ชา 

วลาห์ (Wallah) แปลว่า คนขาย หรือคนต้มชา

ชัยวลาห์มี 2 แบบ แบบแรกคือ คนขายชาเครื่องเทศที่มักสวมรองเท้าแตะคีบ เดินถือกาชาอะลูมิเนียมออกมาจากบ้านมาตั้งแต่เช้ามืด พร้อมถ้วยพลาสติกหรือถ้วยกระดาษหลายสิบใบ เพื่อไปซื้อชาเครื่องเทศที่ต้มแล้วจากร้านต้มชารายใหญ่ตามแหล่งชุมชน นำไปเดินขายต่อในพื้นที่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวร้าน พอขายหมดเมื่อไหร่ เขาก็จะวิ่งกลับไปเติมชาที่ร้านเดิม ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้ทั้งวัน

แบบที่สองคือ ชัยวลาห์ที่ทำหน้าที่ยืนต้มชาเพียงอย่างเดียว ชัยวลาห์กลุ่มนี้จะมีรถเข็นสี่ล้อหรือร้านขายชาเครื่องเทศขนาดเล็กตั้งอยู่ตามแหล่งชุมชน เพื่อขายชาให้ลูกค้าทั่วไป รวมทั้งขายให้ชัยวลาห์ที่มาซื้อไปขายต่อ

ขณะที่ในเมืองใหญ่ๆ ของอินเดียจะมีธุรกิจร้านต้มชาเครื่องเทศขนาดใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการต้มชา ใช้คนทำงานหลายสิบคนในครัวขนาดกลาง ทุกวัน จะมีรถขนส่งจากร้านขายชาขนาดเล็กมารับชาจากที่นี่ไปขายต่อ วันละหลายถัง

ไม่ว่าจะชัยวลาห์รูปแบบไหนก็ตาม สิ่งที่ชัยวลาห์ทุกคนเหมือนกัน คือพวกเขาทำมาหากินด้วยอาชีพหลักอาชีพเดียว คือการขายชาเครื่องเทศ พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับชาเครื่องเทศตั้งแต่ตี 4 ไปจนหลังพระอาทิตย์ตก ฉะนั้น ชัยวลาห์ผู้ต้มชาแต่ละเจ้าจะมีสูตรพิเศษในการต้มชาเครื่องเทศที่ไม่เหมือนใคร มันคือจุดขายในรสชาติที่จะดึงดูดลูกค้าให้อยู่กับเขาไปได้ตลอด 

ขณะที่ชัยวลาห์ซึ่งเป็นคนเดินออกไปขายก็ต้องรู้จักครีเอตลีลาในการนำเสนอ ไม่ว่าจะลูกคอและน้ำเสียงที่ใช้ตะโกนเรียกลูกค้า “ฉัย.. ฉัย..” หรือการที่ชัยวลาห์บางคนใช้วิธีเทชาเสิร์ฟลูกค้าด้วยระดับการเทที่อยู่สูงเหนือศีรษะ คล้ายๆ กับท่าทางของการชงชาชัก ถามว่าลีลาเหล่านี้มันทำให้ชาอร่อยขึ้นไหม เปล่าเลย แต่มันเป็นวิธีที่แขกใช้เรียกแขก ซึ่งก็ดูจะได้ผลดีเสียด้วย เทหกเทพลาด ลูกค้าก็หัวเราะชอบใจกัน

3 ร้านชาเครื่องเทศต่างบุคลิกในกรุงเทพฯ และการตีความหมายของวัฒนธรรมการดื่มชาที่ไม่เหมือนกัน

 ไม่ว่าจะกำลังใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนของโลกก็ตาม การดื่มชาเครื่องเทศมักทำให้ฉันคิดถึงอินเดียเสมอ คิดถึงบทสนทนากับคนแปลกหน้าระหว่างทาง ที่แม้เราจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย เสื้อผ้าที่เลือกใส่ไม่เหมือนกัน หนังสือที่หยิบอ่านก็คนละแนว ความต่างของอายุก็มีตั้งแต่รุ่นลูกไปจนรุ่นปู่ย่า อาชีพที่ทำก็ต่างกัน บางคนเป็นนักธุรกิจเจ้าของแบรนด์แฟชั่น ขณะที่อีกคนซึ่งนั่งอยู่หัวโต๊ะคือศิลปินตกอับที่กำลังถามตัวเองว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิต

แต่ความมหัศจรรย์คือ ในช่วงเวลาของการนั่งดื่มชาเครื่องเทศบนโต๊ะน้ำชาเดียวกันในอินเดียนั้น ชาเครื่องเทศกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนนั่งคุยกันอย่างเข้าใจ และเปิดใจได้โดยไม่มีกำแพง

ก็อย่างที่ฉันบอกในช่วงต้นล่ะ บรรยากาศของการดื่มชาเครื่องเทศมันช่วยละลายพฤติกรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ

คุณสมบัติของชาเครื่องเทศที่มักจะทำให้ฉันเผลอดื่มจนหมดกา คือมวลต้องแน่น สีต้องเข้ม ความเผ็ดร้อนในรสชาติเองก็นำมาซึ่งความรู้สึกของคำว่า ‘เดาทางยาก’ ก็เหมือนกับการคบหาใครสักคนล่ะ ความแปรปรวน ความพลุ่งพล่าน ในอารมณ์และจิตใจที่ใครคนนั้นส่งมาหาเรา ซึ่งเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเขาที่สุด เปรียบได้กับส่วนผสมของเครื่องเทศที่อยู่ในชานมหนึ่งแก้วที่ให้คุณสมบัติเผ็ดร้อน จนเราเกิดความสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชาแก้วนี้กันแน่ ในความเข้มข้นและเผ็ดร้อนที่เกิดขึ้นนั้น มันต้องผ่านอะไรมาบ้างในกระบวนการการต้ม

It’s Happened to be A Fox Princess and A Spider

 นมัสเตเพื่อนเก่า ชาเครื่องเทศของนักเดินทาง คนกินเครื่องเทศเป็นคนน่ารัก
ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

ฉันรู้จักพี่แจะ ดีไซเนอร์และเจ้าของร้าน It’s Happened to be A Closet มาหลายปี ตั้งแต่สาขาแรกที่สยามสแควร์ ผ่านมา 20 ปีจนวันนี้กับสาขาใหม่ล่าสุดในรูปแบบของร้านอาหารอิตาเลียนที่ชื่อ It’s Happened to be A Fox Princess and A Spider บนชั้น 4 เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว 

ส่วนสาขาที่ฉันชอบไปนั่งดื่มชาเครื่องเทศที่สุด คือร้านจิ๋วๆ ขนาดหนึ่งห้องแถวที่ท่าเตียน A pink Rabbit+bob ซึ่งเน้นขายเครื่องดื่มกับเค้กเป็นหลัก และมีอาหารจานด่วนผสมด้วยเครื่องเทศที่ฉันติดใจมากคือ Masala Lamb อยู่ในเมนูด้วย

เวลานักท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าไปกินร้านนี้ พอเห็นเมนูอะไรก็ตามที่มีคำว่า Masala พวกเขาจะสั่งทันที เพราะสำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่แล้ว อาหารที่ผสมด้วยเครื่องเทศเป็นอาหารที่เข้าถึงง่าย กลิ่นเครื่องเทศคือกลิ่นของการเดินทาง มันคือเรื่องราวของประวัติศาสตร์

“สังเกตสิ ร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนที่ชอบกินเครื่องเทศเป็นคนน่ารัก เป็นคนโอเพ่น”

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

จริง ฉันเห็นด้วยกับพี่แจะ ฉันเองก็สังเกตมาหลายทีแล้วว่าคนชอบเครื่องเทศจะเป็นคนเปิดกว้าง ชอบเรียนรู้ ชอบค้นหาประสบการณ์ชีวิต ไม่ว่าประสบการณ์นั้นจะต้องแลกมาด้วยความสะดวกสบายหรือความยากลำบากก็ตาม

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

พี่แจะเป็นดีไซเนอร์ที่รักการกินและการเดินทาง ประเทศอะไรที่เป็นแขกๆ นี่พี่แจะจะอินมาก เมื่อไหร่มีเวลา พี่แจะจะต้องหาโอกาสให้ตัวเองได้ไปเดินทาง เพราะการเดินทางไม่ใช่แค่เรื่องของประสบการณ์หรือการเติมพลังให้กับชีวิต 

แต่ในมุมของดีไซเนอร์ที่ทำเรื่องของการออกแบบเสื้อผ้า ทุกเส้นทางในช่วงระหว่างการเดินทางยังเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และสิ่งที่ตามมาแน่ๆ คือเรื่องของการกิน มันคือการตระเวนกินอย่างจริงจังจนได้พบความลับที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ

การเดินทางในประเทศอินเดียเองก็ทำให้พี่แจะรู้จักกับชาเครื่องเทศบ้านๆ ที่ต้มกันอยู่ตามข้างทาง สำหรับพี่แจะ ชาเครื่องเทศคือ ‘เพื่อนเก่า’ และคนที่จะมีโอกาสได้เจอเพื่อนเก่าที่ชื่อ Masala ก็มักจะเป็นคนน่ารัก

“พี่ชอบหนัง The Lunchbox มากเลย ตอนดูก็คิดไปว่าตัวเองเป็นนางเอกในเรื่อง นั่งดูไปก็สังเกตว่าอาหารอินเดียมันก็ไม่น่าจะทำยากนะ เพราะดูวิถีชาวบ้านที่อินเดียสิ มีแค่เตาเล็กๆ ก๊อกแก๊ก กับเครื่องเทศสักสิบยี่สิบอย่าง เขาก็ทำอาหารได้แล้ว พี่เลยตามหาเชฟที่เป็นคนอินเดียจริงๆ มาสอนเราทำจริงจัง”

อุ๊ย นี่ฉันหลงคิดมาตั้งนานว่าฉันเป็นคนเดียวที่ดูหนัง The Lunchbox แล้วมักจินตนาการไปว่าตัวเองเป็นนางเอก

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย
ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

“พี่ทำอาหารอิตาเลียนขายอยู่แล้ว ส่วนอาหารไทย จะหากินที่ไหนก็มีให้เลือกเยอะไปหมด พอเวลาจะมีปาร์ตี้ที่เพื่อนมาบ้าน พี่ก็เลยไม่เคยเสิร์ฟอาหารฝรั่งหรืออาหารไทยเลย แต่จะเสิร์ฟอาหารอินเดีย เอาเชฟอินเดียมาทำที่บ้าน พี่ถึงขั้นซื้อเตาใหญ่ที่ใช้ทำโรตีมาไว้ที่บ้านจริงจังเลยนะ 

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ติดไฟทำโรตี ไฟแทบไหม้บ้าน และด้วยความที่เราเป็นคนชอบชาเครื่องเทศ ก็เลยให้เชฟคนนี้เป็นคนจัดการเรื่องส่วนผสม แต่เราเป็นคนปรับรสชาติ มันคือ Collaboration ระหว่างเรากับเชฟ จนทำให้เราได้เจอรสชาติของเพื่อนเก่าในแบบของเรา 

“พี่เป็นคนไม่กินเครื่องดื่มเย็น เป็นคนที่ยิ่งร้อนยิ่งกินเครื่องดื่มร้อน เครื่องดื่มร้อนในแบบเราจะต้องออกแนว Conservative เราชอบของออริจินอล ไม่ชอบความฟิวชันที่บางทีมันทำให้อาหารกลายเป็นความ Confusion อยากกินแกงเขียวหวานต้องได้กินแกงเขียวหวาน อยากกินชาเครื่องเทศต้องได้กินเครื่องเทศแบบเน้นๆ ไม่ต้องมาผสมอะไรพิสดาร”

ชาเครื่องเทศของ It’s Happened to be A Fox Princess and A Spider มีความหนักในรสชาติเครื่องเทศ ความเผ็ดร้อนมาจากขิงสดเป็นตัวนำ โดยการต้มชาหนึ่งหม้อจะผสมด้วยชาดำ นม เครื่องเทศ รวมแบบป่น เมล็ดกระวาน ขิงสด 35 กรัมนำมาทุบ โดยระยะเวลาการต้มจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 6 นาที

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

“ชามันมีช่วง Blooming ของมันได้แค่ห้านาทีเท่านั้นล่ะ ต้มนานกว่านี้มันจะด้าน รสชาติมันจะแก่และขม เกินจุดของความอร่อย”

นอกจากรสชาติชาแล้ว วิธีการนำเสนอเองก็สำคัญ เวลาจะเปิดร้านสาขาใหม่ที่มีชาเครื่องเทศอยู่ในเมนู ภารกิจแรกที่พี่แจะจะต้องทำ คือการตามหากาทองเหลืองต่างรูปทรงและขนาดมาเตรียมไว้ให้พร้อม 

พี่แจะว่า แม้ชาอินเดียจะไม่ใช่เมนูไฮไลต์สำหรับลูกค้าทั่วไปเท่ากับชาฝรั่งเศส แต่ยังไงพรีเซนเทชันก็ยังต้องมีความสำคัญ พอได้กาทองเหลืองมา พี่แจะจะเอาไปจัดเรียงไว้ให้เห็นตั้งแต่หน้าร้าน มันเป็นเรื่องของบรรยากาศและความสุนทรีย์

บทสนทนาของเราจบลงกับมื้ออาหารที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของเครื่องเทศ ทั้งสตูว์เนื้อและ Masala Lamb (แกะหมักเคอร์คูมิน นำไปย่าง) ตัดสลับกับเสียงของปลายมีดและส้อมกระทบโดนจานกระเบื้องสั่งทำพิเศษให้เข้ากับคอนเซปต์ร้าน และเรื่องเล่าของเพื่อนเก่าอย่างชาเครื่องเทศที่ถูกยกเสิร์ฟมาในตอนท้าย พร้อมด้วยหมู่มวลสิงสาราสัตว์และไดโนเสาร์ ที่ประทับใจขั้นสุด คือสูตรต้มชาเครื่องเทศพร้อมด้วยส่วนผสม แพ็กรวมไว้ในหีบห่อของกระดาษสีน้ำตาลเป็นอย่างดี ที่พี่แจะหยอดใส่กระเป๋าให้ฉันพกกลับไปต้มที่บ้าน

เอาล่ะ คืนนี้ครัวเล็กๆ ในบ้านของฉันจะอบอวลไปด้วยกลิ่นเครื่องเทศ และแน่นอน ได้เวลา ดูหนัง The Lunchbox รอบที่ 4

ที่ตั้ง : ชั้น 4 เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว

โทร : 08 8088 5032

Facebook : It’s Happened to be A Fox Princess and A Spider

Royal Rasoi

ชาแก้วนี้ของคนใจร้อน ร้านขนมสีลูกกวาดของชาวอินเดียจากรัฐปัญจาบ
ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

“ชาสูตรอินเดีย ใบชาก็ของอินเดีย คนทำก็คนอินเดีย”

คุณอานนท์ เจ้าของร้าน บอกฉันด้วยคำอธิบายอย่างกระชับที่สุดเมื่อฉันถามถึงสูตรการต้มชาของร้าน Royal Rasoi ที่ให้สีเข้ม รสชาติแบบกลางๆ เป็นรสชาติที่ดื่มง่ายสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งไม่ว่าจะเคยดื่มชาเครื่องเทศมาแล้ว หรืออาจไม่เคยดื่มมาก่อนเลยก็ตาม

“ความเข้มข้นของชาเครื่องเทศ มันแล้วแต่ว่าใช้ใบชากี่ช้อน ปริมาณนมแค่ไหน ใช้เวลาต้มเท่าไหร่ มือคนทำหนักเบาขนาดไหน”

คุณอานนท์อธิบายต่อ เมื่อฉันบอกว่าคำอธิบายแรกนั้นดูจะสั้นไปหน่อย ซึ่งฉันเดาเอาเองจากบุคลิกของคุณอานนท์ว่า โดยธรรมชาติแล้ว น่าจะเป็นคนพูดน้อยโดยเฉพาะกับคนแปลกหน้า หรือไม่ การเป็นคนอินเดียที่เติบโตมากับเรื่องของการดื่มชาเครื่องเทศตั้งแต่เด็กๆ ความเคยชินในการดื่ม ก็อาจทำให้เขาไม่ได้รู้สึกว่าชาเครื่องเทศ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก มันก็แค่ชา 

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

ขณะที่คนต่างวัฒนธรรมอย่างเราจะมองว่าชาเครื่องเทศไม่ใช่แค่เรื่องของชา แต่มันคือศิลปะ คือวัฒนธรรม คือประวัติศาสตร์ของมนุษย์โลกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล กับเส้นทางการค้าสายเครื่องเทศ (Spice Route) ที่เชื่อมโยงระหว่างโลกฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก

“เอาจริงๆ รสชาติที่ร้านกับเวลาที่ผมกินเองที่บ้าน รสชาติจะไม่เหมือนกันนะ รสชาติแบบที่ร้าน แม้ลูกค้าจะชอบกัน แต่ไม่ใช่สเปกที่ตัวผมเองชอบดื่ม ผมชอบรสชาอ่อนๆ ใส่นมน้อยๆ ช่วงไหนถ้าเป็นหวัด ผมจะเน้นใส่ขิงสดลงไปเยอะๆ ส่วนแฟนผมจะกินชาแบบไม่ใส่ขิงเลย เขาไม่ขอบขิง”

ด้านหน้าของ Royal Rasoi จะมีขนมหวานอินเดียสีสันจัดจ้าน บ้างก็แลดูเหมือนสีลูกกวาด ถูกวางเรียงไว้อย่างสวยงามและน่ากินสุดๆ ในตู้กระจก ซึ่งพอยืนดูแล้วก็นึกกลัวเหมือนกันว่าถ้าสั่งมากินนี่น้ำตาลจะขึ้นไหม

แต่คุณอานนท์ว่าขนมที่เห็นทั้งหมดนี้ ครึ่งหนึ่งทำจากธัญพืชและแป้งถั่วเหลือง ขณะที่อีกครึ่งทำจากนมวัวสด ไม่มีการลักไก่ด้วยการผสมแป้งเพื่อลดต้นทุน 

สำหรับความหวานของขนมถ้าเทียบกับขนมไทยแล้ว ขนมอินเดียที่เห็นอยู่นี้จะมีความหวานน้อยกว่าทองหยิบทองหยอด ขนมอินเดีย 1 ถาดใช้นมวัวสด 20 ลิตรในการทำ การกินขนม 1 ชิ้นจะให้คุณค่าทางอาหารเท่ากับดื่มนมวัวสด 1 แก้วครึ่ง และขนมแต่ละชนิดเองก็เหมาะกับเทศกาลและวันสำคัญทางศาสนาที่ต่างกันไป เช่น ขนมโมทกะกับขนมลาดู จะนิยมใช้ถวายพระพิฆเนศ

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย
ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

เวลาเดินเข้าร้านเค้ก เราจะสั่งเค้กมากินคู่กับกาแฟ แต่เวลาเดินเข้าร้านขนมอินเดีย เขาจะไม่สั่งขนมมากินคู่กับชาเครื่องเทศกัน แต่ถ้าจะสั่งเครื่องดื่มสักชนิดมากินกับขนม เขาจะสั่ง Lassi (เครื่องดื่มโยเกิร์ตผสมผลไม้)

“คนอินเดียที่เป็นลูกค้าเราดื่มชากันหนักครับ บางทีเข้ามาดื่มชา เช็กบิลเสร็จเดินออกไปแล้ว พอไปเจอเพื่อน เขาก็พากันกลับมานั่งดื่มอีก มันเป็นความเคยชิน นั่งคุยกันก็ต้องมีแก้วชาถืออยู่ในมือ”

 Royal Rasoi ดำเนินธุรกิจร้านอาหารมา 55 ปีแล้วตั้งแต่รุ่นคุณปู่ของคนอานนท์ซึ่งเป็นชาวปัญจาบ โดยสาขาที่พาหุรัดเปิดมา 6 ปี เน้นในส่วนของขนม

วิธีการต้มชาเครื่องเทศของที่นี่ เขาจะคอยต้มนมผสมน้ำและติดไฟอุ่นไว้ตลอด เพื่อเตรียมพร้อมเสมอในการต้มชา เพราะโดยธรรมชาติของลูกค้าร้านนี้ จะใช้เวลาเข้ามานั่งดื่มชาไม่นานและก็รีบไปทำงานต่อ ฉะนั้น การบริการของร้านต้องไว โดยเฉพาะวันอาทิตย์เป็นวันที่ลูกค้าแน่นมาก

“แทนที่จะเอานมเก็บไว้ในตู้เย็น เราก็จะคอยเอาไปตั้งบนเตาและอุ่นเตรียมไว้ทั้งวัน พอลูกค้าสั่งชา เราก็จะใส่ใบชา เครื่องเทศผง อบเชย เมล็ดกระวาน ลงไปต้มจนเดือด ห้านาทีก็ยกเสิร์ฟได้แล้ว” 

ที่ตั้ง : ซอยข้าง India Emporium พาหุรัด 

โทร : 0 2224 7984 

Facebook : Royal Rasoi 

Himalaya Restaurant

หิมาลัยในกรุงเทพฯ ความเผ็ดต่างมิติที่หลับตาจิบแล้วพลันคิดถึงเสียงโอม
ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

จิบแรกของชาเครื่องเทศเผ็ดร้อนที่ร้าน Himalaya Restaurant ทำให้ฉันนึกถึงช่วงเวลาของการเดินทางบนเทือกเขาหิมาลัย ที่ในทุก 5 นาที 10 นาทีจะต้องมีชาวบ้านหรือกลุ่มคนใช้แรงงานแบกสัมภาระหนักหลายสิบกิโลกรัมขึ้นหลัง เดินโน้มตัว 45 องศาไปตามระนาบของภูเขา มันคือจังหวะการเดินที่เชื่องช้า มีกลิ่นธูป มีเสียงกระดิ่งและเสียงโอมลอยมาแต่ไกล 

เมืองดาร์จีลิ่งบนเทือกเขาหิมาลัยเป็นเมืองที่ฉันไปบ่อยมาก ที่นั่นจะมีร้านชาเครื่องเทศเจ้าประจำอยู่ร้านหนึ่งที่ฉันชอบไปนั่ง เพื่อให้ตัวเองได้เห็นวิถีของชาวเขาที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ด้านนอกร้าน

มันคือช่วงเวลาที่ทุกโสตประสาทของฉันได้ทำงานไปพร้อมๆ กัน อย่างไม่รีบร้อน

“เราไม่ได้เน้นขายของอย่างเดียว แต่อยากให้ความรู้ลูกค้ากลับไปด้วย เพราะเราเองมาจากหิมาลัย เราเข้าใจพื้นที่ในแถบนี้ดี”

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย
ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

พี่ธันวา ชนเผ่าพื้นเมืองเนวา (Newah) จากกาฐมาณฑุ บอกฉันขณะเหลือบสายตาไปคอยดูแลลูกค้าอยู่ห่างๆ พี่ธันวาเป็นคนใส่ใจลูกค้ามาก ลูกค้าส่วนใหญ่เวลามาที่ร้าน ก็ตั้งใจมานั่งคุยกับพี่ธันวานี่ล่ะ ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกินหรือการท่องเที่ยว 

พี่ธันวาเป็นชาวเนปาลแท้ๆ ที่เดินทางเข้ามาจากประเทศเนปาล เขาเล่าเรื่องครอบครัวให้ฉันฟังว่า สมัยยังไม่เกิด พ่อของพี่ธันวามีความมุ่งมั่นอยากจะบวชเป็นพระมาก ขนาดเคยหนีออกจากบ้านไปใช้ชีวิตอยู่ที่วัดนานหลายเดือน พ่อไม่เคยนึกอยากแต่งงานเลย แต่สุดท้ายก็ถูกคลุมถุงชนให้ต้องแต่งงานกับแม่ เมื่อพ่อไม่มีโอกาสที่จะบวช พ่อก็เลยปฏิญาณว่าวันหนึ่งถ้ามีลูกชาย จะส่งไปบวชแทน

“เราบวชที่เนปาลตั้งแต่เจ็ดขวบ เป็นการบวชตามประเพณีแบบพุทธ ซึ่งพ่อเราอยากให้บวชยาวเลยด้วยซ้ำ แต่ไอ้ช่วงตอนบวชที่วัดเราฉี่ราดประจำ แม่ชีเลยรำคาญไม่อยากให้มาอยู่ที่วัด เราก็เลยได้สึกออกมา

“จากนั้นพออายุสิบสาม กำลังเรียนหนังสืออยู่ พ่อบอกให้เราไปบวชอีก เป็นการบอกล่วงหน้าแค่สองวันด้วยนะ พอไปบวช เราก็อยู่กับอาจารย์ของพ่อซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ที่วัดนั้น 

“ช่วงนั้นจะมีท่านทูตไทยแวะมาที่วัดอยู่เรื่อยๆ พอท่านทูตเห็นเราบ่อยๆ ก็เอ่ยปากกับสมเด็จพระสังฆราชว่า อยากให้เณรไปเมืองไทยไหม จะดำเนินการให้ ปรากฏพอพ่อเรารู้เรื่องก็เลยสนับสนุน ส่วนเราเองก็ไม่รู้เรื่องหรอก เขาบอกให้ไปก็ไป”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ธันวาได้รู้จักเมืองไทย และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มานานกว่า 30 ปีแล้ว

ท่องกรุงเทพฯ ไปลิ้มสูตรลับจากครัวมหาราชา ดื่มชาเครื่องเทศ 3 รสใน 3 ร้านชา 3 บุคลิก, ชาอินเดีย

ฉันหยิบแก้วชาเครื่องเทศที่เหลือน้ำชาเพียงครึ่งแก้วขึ้นมาจิบ รสชาติความเผ็ดร้อนยังคงเข้มข้นเท่าเดิมกับขณะเมื่อเต็มแก้ว ฉันบอกไม่ถูกเหมือนกันว่าความเผ็ดที่ได้รับรู้นี้มันมาจากอะไร แต่ไม่ใช่จากแค่ขิงสดแน่ๆ

“รสชาติวันนี้ผมยังไม่พอใจนะ จริงๆ กลิ่นมันต้องดีกว่านี้ เราขาด Timur (พริกไทยเนปาล) เพราะช่วง COVID-19 การขนส่งเข้ามามันลำบาก”

พูดจบ พี่ธันว่ายกชาขึ้นจิบอีกครั้ง เขาทำหน้าครุ่นคิด ส่ายหน้าให้กับตัวเอง พูดย้ำอีกครั้ง “มันต้องอร่อยกว่านี้”

ฉันพยายามถามเอาคำตอบจากพี่ธันวาในเรื่องส่วนผสมของการต้มชา พี่ธันวาดูอึกอักที่จะตอบ ก็คงเหมือนชัยวลาห์เจ้าของสูตรชาอินเดียที่ประเทศอินเดียนั่นล่ะ ไปคุยเล่นๆ ได้ แต่ถ้าหวังจะมาขอจดสูตรเป็นจริงเป็นจัง ไม่มีใครเขาบอกกันหรอก 

พี่ธันวาบอกเพียงว่า รสชาติความเผ็ดที่ฉันรับรู้นั้น เป็นความเผ็ดต่างมิติที่มาจากเครื่องเทศอินเดียหลายๆ ตัว ประกอบรวมกับเครื่องเทศจากเนปาล อย่างตัวใบชาเอง พี่ธันวาใช้ชาแบรนด์เมจิจากจังหวัดเมจิ ซึ่งจังหวัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเนปาล ติดกับเมืองดาร์จีลิ่ง

ความทรงจำในวัยเด็กเป็นสิ่งที่เรามักจะผูกพัน เวลาหันกลับไปมองชีวิตวัยเด็ก หลายคนจะนั่งยิ้มกับช่วงเวลาดีๆ ของอดีตอันน่าจดจำ มันบริสุทธิ์ มันสดใส

เรื่องของวัฒนธรรมการดื่มชาเครื่องเทศก็เช่นกัน ภาพแรกในวัยเด็กที่พี่ธันวานึกถึง คือภาพของชาวบ้านนั่งเบียดตัวกันในร้านขายชาข้างทางกับสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ และแก้วชาเครื่องเทศร้อนๆ ที่ทุกคนถือกุมอยู่ในมือ

“แต่เดิม เผ่าเนวาของเราไม่มีประเพณีการกินชาในบ้าน เราได้รับอิทธิพลการดื่มชามาจากนอกเมืองกาฐมาณฑุ ตอนเด็กๆ เวลาจะกินชาต้องไปกินนอกบ้าน ทุกๆ พื้นที่ในกาฐมาณฑุจะมีร้านชาตั้งอยู่ เป็นร้านชาเล็กๆ ในโครงสร้างของบ้านเก่า มีโต๊ะแค่ไม่กี่โต๊ะ

“ชีวิตวัยเด็กของเรา ตื่นเช้ามาก็เดินไปที่ร้านชาซึ่งอยู่ใกล้บ้านที่สุด ซื้อชาเครื่องเทศกินกับขนม จะเจอเพื่อนๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกันมานั่งดื่มชาอัดตัวกันอยู่ในนั้น ยิ่งช่วงอากาศหนาวจัด การมีแก้วชาร้อนถืออยู่ในมือทำให้เรารู้สึกอุ่น นี่คือภาพฝังใจของเรามาตั้งแต่เด็ก ภาพนี้ไม่เคยหายไปไหน”

วิธีการเสิร์ฟชาเครื่องเทศร้านนี้ เขาจะเสิร์ฟชาโดยใส่แก้วไว้ในหูหิ้วสเตนเลส ยกมาเป็นพวงแก้วชา 4 หลุม แต่ถ้ามาเป็นกลุ่มแบบ 4 – 5 คน ก็จะเสิร์ฟในรูปแบบของกาชาทรงสูงสีแดงลายดอกไม้ ซึ่งเป็นกาชารูปแบบเดียวกับที่ผู้คนบนเทือกขาหิมาลัยต้องมีไว้ติดบ้าน

ที่ตั้ง : ถนนราชปรารภ (ลง Airport Link ราชปรารภ เดินย้อนขึ้นมาทางตึกใบหยก เลี้ยวเข้าทางราชปรารภซอย 2 เดินต่อไปเลี้ยวขวาตามทาง ร้านตั้งอยู่ทางด้านหลังของธนาคารกสิกรไทย) 

โทร : 0 2060 4778 , 08 9923 8144 Facebook : Himalaya Restaurant Bangkok

Writer & Photographer

Avatar

พัทริกา ลิปตพัลลภ

นักเขียนและนักเดินทาง เจ้าของหนังสือชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก ที่ชาตินี้ยังคงใช้เวลาเดินทางไปกลับอินเดียอยู่บ่อยๆ จนเป็นเหมือนบ้านที่สอง