เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดินแดนภารตะมีเทศกาลเฉลิมฉลองใหญ่งานหนึ่งชื่อว่า ‘เทศกาลโฮลี’ (Holi Festival) ซึ่งเป็นเทศกาลที่ผู้คนออกมา ‘ป้ายสี’ หรือ ‘สาดสี’ บนร่างกายและใบหน้าของกันและกัน เทศกาลนี้เป็นเทศกาลตามความเชื่อของศาสนาฮินดูก็จริง แต่ได้รับความนิยมทั่วประเทศ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงในต่างประเทศที่มีชุมชนคนอินเดียอาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น มอริเชียส อังกฤษ อเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ มาเลเซีย ฯลฯ ก็นิยมฉลองกัน

ชาวอินเดียเองยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเทศกาลโฮลีนี้มีมาช้านานเท่าไหร่ แต่มีการกล่าวถึงเทศกาลโฮลีในบทกลอนจากคัมภีร์ปุราณะซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาฮินดูตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 4 แล้ว

ปีนี้โฮลีจัดขึ้นติดกับวันมาฆบูชาที่บ้านเราพอดี คือวันที่ 1 – 2 มีนาคม โดยตามปฏิทินทางสุริยคติของชาวฮินดูนั้นเทศกาลโฮลีจะจัดขึ้นในช่วงพระจันทร์เต็มดวงสุดท้ายของฤดูหนาว ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม การเฉลิมฉลองจัดขึ้นเพื่อบอกลาฤดูหนาวและต้อนรับการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิที่สดใส ซึ่งหมายถึงโอกาสแห่งการเริ่มต้นใหม่

คนอินเดียจะฉลองเทศกาลนี้พร้อมกับครอบครัว เพื่อนฝูง กันอย่างอบอุ่น บ้างก็ออกมาเล่นสาดสีกับผู้คนข้างนอก คนที่อยู่ไกลบ้านก็จะกลับเดินทางกลับไปฉลองเทศกาลนี้กับที่บ้าน คล้ายคลึงกับเทศกาลสงกรานต์ของบ้านเรา

Holi Festival

เทศกาลโฮลีที่ Dwarkadheesh Temple เมืองมธุรา รัฐอุตตรประเทศ

เทศกาลโฮลี

เทศกาลโฮลีที่เมืองมธุรา รัฐอุตตรประเทศ

เทศกาลโฮลีที่ถูกจัดขึ้นทั่วอินเดียเน้นความรื่นเริงบันเทิงใจล้วนๆ ด้วยการละเล่นสาดสี และมีกิจกรรมประกอบซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ เทศกาลโฮลีทางภาคเหนือซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูและผู้นับถือพระกฤษณะ (พระกฤษณะเป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ) จะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่กว่าที่อื่น เช่น เทศกาลโฮลีของเมืองมธุรา (Mathura) ที่รัฐอุตตรประเทศ (Uttra Pradesh) นั้นมีทั้งพิธีทางศาสนาและการเล่นสนุกสนาน ผู้คนเรือนล้านร่วมกันฉลองเทศกาล ภาพงานโฮลีสวยๆ ของช่างภาพมืออาชีพจำนวนมากก็ถ่ายทำกันที่รัฐนี้แหละ

ส่วนโฮลีของรัฐราชสถาน (Rajasthan) นั้น เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐของมหาราชา ราชวงศ์แล้ว ก็ไม่ทำให้เราผิดหวังเรื่องความงดงามของสีสันตระการตาและการคงขนบประเพณีดั้งเดิม โดยมีความโดดเด่นคือการจัดเทศกาลที่ป้อมปราการและพระราชวังต่างๆ อย่างงดงาม แต่ถ้าถามคนอินเดีย เขาจะแนะนำให้ไปเล่นโฮลีที่เมืองพุชการ์ (Pushkar) อุทัยปุระ (Udaipur) และชัยปุระ (Jaipur)

เทศกาลโฮลี

ชาวอินเดียร่วมฉลองเทศกาลโฮลีที่เมืองวรินดาวัน รัฐอุตตรประเทศ

อินเดีย

หนีฝุ่นละอองจากกรุงนิวเดลีไปเจอฝุ่นสีชมพูที่เมืองวรินดาวัน

เทศกาลโฮลี

ใบหน้าเปื้อนยิ้มของสาวสาวนักเต้นระบำแบบราชสถาน

ปีนี้ฉันได้มีโอกาสไปร่วมเล่นโฮลีแบบเอ็กซ์คลูซีฟกลางลานกว้างและสวนสวยในพระราชวังซิตี้พาเลซแห่งเมืองชัยปุระ จัดโดยตระกูลของมหาราชาแห่งชัยปุระผู้เป็นเจ้าของพระราชวังซิตี้พาเลซและพระราชวังป้อมปราการอีกมาก โดยในคืนวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเป็นคืนแรกของเทศกาลเราร่วมพิธีกรรมเรียกว่า ‘โฮลีกะดาเฮิน’ (Holika Dahan) หรือพิธีเผาหุ่นนางปีศาจโฮลีกะตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยก่อกองไฟขึ้นและสวดภาวนาขอให้พลังลบและสิ่งไม่ดีทั้งหลายออกจากตัวไปให้ไฟเผาให้สิ้น โดยทำทีปัดเป่าเศษผงเศษต่างๆ จากตัวเข้ากองไฟเป็นสัญลักษณ์ว่าเผาสิ่งไม่ดีออกไป

นอกจากกองไฟในพระราชวังซิตี้พาเลซแล้ว ค่ำคืนนี้เรายังเห็นการก่อกองไฟตามสี่แยกและหัวมุมถนนหลายแห่งในเมืองชัยปุระ บ้างก็มีคนอยู่รอบๆ บ้างก็มีแต่กองไฟลุกโชติช่วง เห็นแล้วก็หวั่นใจกลัวว่าเพลิงจะลามไปติดบ้านช่องเสียจริงๆ แต่คนท้องถิ่นเขายืนยันว่าไม่ต้องกลัว มันปลอดภัย

พระราชวังซิตี้พาเลซ

ย้อนยุคไปกับทางเข้าร่วมงาน Holika Dahan Night ที่พระราชวังซิตี้พาเลซเมืองชัยปุระ

พระราชวังซิตี้พาเลซ

งาน Holika Dahan Night ที่พระราชวังซิตี้พาเลซเมืองชัยปุระ

วันต่อมาซึ่งเป็นวันที่ 2 ของเทศกาล จะเป็นเวลาแห่งสีสันและความสนุกสนาน และเป็นวันหยุดราชการของอินเดีย ช่วงเช้าคนก็จะออกไปลุยป้ายสีและสาดสีใส่กัน สีก็มีทั้งแบบแห้งและแบบน้ำ มิน่าช่วงก่อนวันโฮลีเห็นร้านค้าแขวนปืนฉีดน้ำขายเต็มไปหมด นึกว่าจะมีสงกรานต์ซะแล้ว ส่วนงานโฮลีที่พระราชวังซิตี้พาเลซของเรามีเดรสโค้ดเป็นชุดสีขาวล้วนประหนึ่งพร้อมเป็นผ้าใบให้รังสรรค์งานศิลปะเต็มที่

ก่อนลุยโฮลี วันนี้ฉันเตรียมตัวตามคำแนะนำที่ค้นเจอทุกประการ เริ่มจากเลือกชุดแขนยาวขายาวเพื่อปกปิดร่างกายไม่ให้ถูกผงสีโดยตรง (ดีเลย กันแดดได้ดีด้วย) ชโลมน้ำมันตามผิวที่พ้นเสื้อผ้าและเส้นผม และทาเล็บ เพื่อกันการโดนเคมีจากผงสีและทำให้ล้างออกได้ง่ายด้วย ไม่งั้นสีจะติดตัวอยู่นานหลายวัน และของทุกอย่างที่ติดตัวนั้นต้องพร้อมทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า รองเท้า แว่นกันแดด

เทศกาลโฮลี

บรรยากาศงานเล่นสาดสีในพระราชวังซิตี้พาเลซ

กลีบดอกไม้

สิ่งที่น่ารักน่าเอ็นดูของที่งานนี้ที่ต่างจากที่อื่น คือการใช้กลีบดอกไม้เล่นโฮลี เห็นแล้วสดใสสมเป็นการต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่มาถึง

ในลานกว้างภายในพระราชวังมีการจัดเตรียมผงสีที่เรียกว่า กูลัล (Gulal) ซึ่งมีสีสันจัดจ้านตั้งแต่สีแดง สีเขียวนีออน สีเหลือง สีส้ม สีชมพูช็อกกิ้งพิงก์ ใส่มาในถาดทองเหลืองแบบอินเดียโบราณ กระสอบกลีบดอกไม้สีขาว สีเหลือง สีน้ำตาลแดง จำนวนมาก ก้าวเข้างานปุ๊บก็ถูกต้อนรับโดยคุณป้าชาวอินเดียที่เอาผงสีแดงมาป้ายหน้าผากกับสองแก้มปั๊บ วิธีป้ายสีนี้เป็นวิธีที่หลายครอบครัวทำกัน เขาไม่สาดกูลัลใส่กันแบบจังๆ เปรียบได้กับงานสงกรานต์ที่มีการประพรมน้ำพองาม ก่อนจะพัฒนามาเป็นมหกรรมปีนฉีดน้ำและเทโครมๆ เฉกเช่นเดียวกันกับการสาดซัดกูลัลใส่กันอย่างหนักหน่วงในชั่วโมงต่อมา

สัมผัสของกูลัลเหมือนแป้งทำขนมและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เหมือนแป้งฝุ่น กูลัลของแท้และดั้งเดิมนั้นทำจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ได้มาจากการบดดอกไม้ใบไม้แห้งซึ่งมีประโยชน์ทางอายุรเวช โดยเชื่อว่าจะป้องกันอาการหวัดหรือไวรัสช่วงเปลี่ยนฤดู แต่ภายหลังเริ่มมีการใช้สีสังเคราะห์มากขึ้นซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย พอทุกวันนี้กระแสออร์แกนิกกลับมาอีกครั้ง กูลัลธรรมชาติจึงถูกนำมาขายมากขึ้น

กูลัล

กูลัลในพระราชวัง

กูลัล

กูลัลตามท้องถนน

โฮลี

กูลัลบนใบหน้าสวย ๆ

ไฮไลต์ที่ขาดไม่ได้เลยอีก 2 อย่างของความบันเทิงแบบโฮลีคือ กลุ่มวงดนตรีตีกลองที่โผล่มาช่วยสร้างสีสันและบรรยากาศสนุกสนาน ใครชอบใจใครก็ให้เงินรางวัลกันไป และเครื่องดื่มผสม ‘บัง’ (Bhang) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สกัดมาจากใบกัญชา เป็นการผสมน้ำนมอัลมอนด์กับบัง ดื่มเพื่อสร้างความตื่นตัว สนุกสนาน คึกคัก ถ้าเห็นใครเต้นแรง หัวเราะหนัก ในเทศกาลโฮลี สันนิษฐานได้เลยว่าดื่มบังเข้าไปแล้ว งานนี้มีผู้หวังดีสอนว่าบังจะถูกดูดซึมทางกระเพาะอาหาร อาการ ‘เมาบัง’ จึงจะเกิดขึ้น 30 นาทีให้หลัง ดังนั้น อย่าชะล่าใจไปว่าฉันโอเคแล้วดื่มเอาๆ เพราะคุณอาจจะกลายเป็นคนบ้าได้

หลังจากเล่นสาดสีกันสนุกสนานแล้ว ชาวอินเดียก็จะแยกย้ายกันไปอาบน้ำแต่งตัวแล้วไปพบเจอญาติมิตร เพื่อนฝูง เพื่อทานข้าว ทานขนม ซึ่งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวนี้เป็นสิ่งที่สังคมอินเดียให้ความสำคัญสูงสุดจริงๆ เห็นได้จากทุกเทศกาล และอย่างที่บอก วันที่ 2 ของเทศกาลเป็นวันหยุดราชการ ร้านรวงทุกอย่างปิดทำการทั้งหมด เพื่อให้คนเล่นสนุกได้อย่างเต็มที่ ถ้าจะมาเที่ยวอินเดียช่วงนี้ต้องวางแผนเที่ยวดีๆ นะคะ

วงดนตรี

นักดนตรีสไตล์ราชสถานสร้างบรรยากาศ

Google Doodle

Google Doodle สำหรับเทศกาลโฮลี 2018

นับวันโฮลีจะเป็นที่รู้จักของคนในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้ Google ก็จัดทำ Google Doodles เป็นรูปนักดนตรีตีกลองและคนเต้นระบำฉลองเทศกาลโฮลี สำหรับใช้ในอินเดีย สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ และเอสโทเนียด้วย โดย Doodles นี้เลือกใช้สีที่สะท้อนความหมายต่างๆ ได้แก่ สีแดง สื่อถึงความรักและความอุดมสมบูรณ์, สีเหลือง คือสีขมิ้นที่เป็นสมุนไพรรักษาโรคภัยต่างๆ, สีน้ำเงิน เป็นตัวแทนของพระกฤษณะ และ สีเขียว เป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิและการเริ่มต้นใหม่

ระยะหลังที่กรุงเทพฯ ก็มีการจัดเทศกาลโฮลีเหมือนกัน นำโดยสมาคมวิศวะฮินดูปาริชาติ (Vishva Hindu Parishad: VHP) นับเป็นการส่งเสริมความใกล้ชิดระหว่างประชาชนไทย-อินเดียที่ประสบความสำเร็จมากทีเดียว

ภาพ : ปโยธร ศิริโยธา

ที่มาของเทศกาลโฮลี

ที่มาของเทศกาลโฮลีมีหลายตำนาน หลายเรื่องเล่า แต่ที่คนส่วนใหญ่เล่าให้ฟังคือ ตำนานปีศาจ ‘หิรัญยกศิปุ’ (Hiranyakashipu) เรื่องมีอยู่ว่า หิรัญยกศิปุได้ขอพรจากพระพรหมให้ตนเป็นอมตะ แต่พระพรหมบอกว่าให้ไม่ได้ เจ้าปีศาจฉลาดแกมโกงผู้นี้จึงรังสรรค์คำขอใหม่ว่า งั้นขอให้ข้าถูกฆ่าไม่ตายไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืน นอกบ้านหรือในบ้าน บนพื้นดินหรือในอากาศ โดยมนุษย์หรือสัตว์ โดยอาวุธหรือมือ ซึ่งพระพรหมก็ยอมประทานพรให้

ต่อมาปีศาจตนนี้เหิมเกริมสั่งห้ามมิให้ชาวบ้านบูชาพระเจ้าองค์อื่นนอกจากตน แต่คนที่ขัดคืนคำสั่งกลับเป็นลูกชายตนเองชื่อว่า ประหลาด (Prahlada) เพราะประหลาดนับถือพระวิษณุอย่างยิ่ง ภายหลังหิรัญยกศิปุจึงมอบหมายให้นางโฮลีกะ (Holika) ซึ่งเป็นน้องสาวที่ได้รับพรฆ่าไม่ตายเหมือนกัน จับประหลาดนั่งตักเข้ากองไฟไปหมายจะให้ตายเสีย แต่ประหลาดสวดมนต์ขอพรพระวิษณุ จึงไม่ตาย ส่วนนางโฮลีกะถูกเผาไหม้ตายไปในกองเพลิงแทน จึงเป็นที่มาของพิธีกรรม โฮลีกะดาเฮิน ที่เล่าข้างต้น ส่วนพระวิษณุก็ได้อวตารมาเป็นนรสิงห์ ครึ่งคนครึ่งสิงโต จับหิรัญยกศิปุมานั่งบนตักตน ในเวลาโพล้เพล้ กลางประตู และใช้กรงเล็บจัดการสังหาร จึงเป็นบทสรุปของธรรมะย่อมชนะอธรรมตามศาสนาฮินดูนั่นเอง

Writer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ