23 กุมภาพันธ์ 2018
1 K

“วันหยุดทำอะไรกันหรอ” เป็นคำถามที่ฉันพบบ่อยครั้งจากผู้คนรอบตัว นึกๆ ดูแล้วกิจกรรมหนึ่งที่ฉันชอบทำในวันหยุดไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในโลก ก็คือการไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เพราะมันสนุกดี ได้เปิดมุมมองใหม่ (แม้จะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ตาม) ใช้สตางค์ไม่เยอะ ไปคนเดียวก็ได้ไปเป็นกลุ่มก็ดี ขึ้นอยู่กับอารมณ์ติสท์ของตัวเองในวันนั้นเป็นหลัก ที่อินเดียนี่ก็เช่นกัน นอกจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาฉันได้ไปเที่ยวชมงาน India Art Fair 2018 ซึ่งเป็นงานอาร์ตแฟร์ศิลปะสไตล์โมเดิร์นและร่วมสมัยชั้นนำในเอเชียใต้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่กรุงนิวเดลี โดยปีนี้จัดต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 10 แล้ว ปีนี้มีอาร์ตแกลเลอรี่กว่า 80 แห่งจากทั่วโลกมาจัดแสดงผลงานของศิลปิน โดยมีนักสะสมศิลปะหรือ collector จากทั่วโลกมาซื้อผลงาน รวมทั้งประชาชนคนทั่วไปที่สนใจก็สามารถซื้อบัตรมาเข้าชมได้ สนนราคาที่คนละ 600 รูปี (หรือประมาณ 300 บาท)

แม้รูปโฉมการตกแต่งสถานที่ปีนี้ไม่น่ารักเท่าเมื่อ 2 ปีก่อนที่เคยมา แต่อาร์ตแกลเลอรี่รวมถึงศิลปินเจ้าของผลงานในปีนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากกว่าเดิม เช่น แกลเลอรี่ระดับไฮเอนด์อย่าง David Zwirner ก็มาจัดแสดงเป็นครั้งแรกโดยได้นำผลงานฟักทองของยาโยอิ คุซามะ มาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้ก็มี DAG (Delhi Art Gallery) และ Chatterjee & Lal แกลเลอรี่แนวหน้าของอินเดีย Grosvenor Gallery จากลอนดอน Mo J Gallery จากเกาหลีใต้ รวมถึงแกลเลอรี่ Latitude 28 ซึ่งแสดงผลงานของศิลปินอินเดียชื่อดัง อาทิ Thota Vaikuntam, Manu Parekh ภาพวาดต้นฉบับของศิลปินแต่ละท่านมีราคาตั้งแต่หลักแสนบาทไปจนถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว ขนาดภาพพิมพ์ซ้ำยังเป็นหลักหมื่นบาทนะ เอามือทาบอกตกใจ!  

India Art Fair

บรรยากาศภายในงาน India Art Fair 2018

India Art Fair

David Zwirner Gallery (New York/London/Hong Kong)

การมาเดินงานอาร์ตแฟร์ครั้งนี้ทำให้ฉันเริ่มมองเห็นศิลปะเป็นมากกว่าของสวยๆ งามๆ เพราะมูลค่าของงานศิลปะแต่ละชิ้นนั้นไม่ใช่น้อยๆ และที่สำคัญมีคนซื้อเสียด้วยสิ เช่นเดียวกับ MCH Group ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ผู้อยู่เบื้องหลังงานแฟร์ระดับโลกอย่าง Art Basel ที่จัดขึ้นที่เมืองบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ เมืองไมแอมี สหรัฐอเมริกา และเกาะฮ่องกง ก็ได้เล็งเห็นเช่นกัน โดยในปี 2558 MCH Group ได้เข้ามาซื้อหุ้นของ India Art Fair ไปในสัดส่วนมากถึงร้อยละ 60.3 เพื่อเริ่มต้นก้าวแรกของธุรกิจตัวใหม่ คืองานแฟร์ศิลปะระดับภูมิภาค (Regional Art Fair) ก้าวของ MCH Group สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดศิลปะในเอเชียใต้ซึ่งมีเศรษฐกิจอินเดียขาขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนได้เติบโตขึ้นมากและกำลังก้าวไปสู่ระดับโลก ขณะเดียวกัน การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของ MCH Group ก็เป็นแม่เหล็กชั้นดีที่ดึงแกลเลอรี่ดังๆ จากนิวยอร์ก ลอนดอน ฮ่องกง มาร่วมจัดแสดง ซึ่งแกลเลอรี่เหล่านี้ก็จะดึงดูด collector ให้มาเลือกซื้อศิลปะในงานนี้อีกต่อหนึ่ง

India Art Fair

บรรยากาศหน้างาน India Art Fair 2018

Neha Kirpal ผู้ก่อตั้ง India Art Fair ซึ่งบัดนี้ถือหุ้นในสัดส่วนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมากระแสศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยเริ่มก่อตัวในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีนิทรรศการศิลปะเกิดขึ้นมากมาย เช่น Kochi-Muziris Biennale, Colombo Art Biennale, Lahore Biennale และ Dhaka Art Summit ขณะเดียวกันศิลปะร่วมสมัยของอินเดียก็เริ่มได้รับความนิยมในระดับโลก โดยไปปรากฏในเวทีอย่าง Guggenheim, Met Breuer, Tate Modern และ Venice Art Biennale เป็นต้น งานนิทรรศการอย่าง India Art Fair จะช่วยให้ศิลปะอินเดียออกสู่สายตาโลกมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยสร้างความตระหนักรู้ด้านศิลปะให้กับประชาชน และเพิ่มจำนวนกลุ่มนักสะสมศิลปะในประเทศ (ซึ่งยังมีจำนวนน้อยมาก) ขณะที่ Jagdip Jagpal ซึ่งเป็น director ของงานนี้เป็นปีแรก อยากให้ผู้เยี่ยมชมงานได้เข้าใจภาพวัฒนธรรมในอินเดียที่กำลังเติบโต ความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ระหว่างอินเดียกับเพื่อนบ้านในเอเชียใต้ ไปจนถึงยุโรปและตะวันออกกลาง และภาพอัตลักษณ์สมัยใหม่แบบโมเดิร์นอินเดีย ขณะเดียวกันก็สร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดศิลปะให้กับนักสะสมในภูมิภาคนี้ด้วย ซึ่งถ้านับฉันเป็นตัวชี้วัดด้วยก็ประสบความสำเร็จอยู่นะคะ

India Art Fair

ตัวอย่างงานศิลปะ

India Art Fair

1,000 Attempts at a Reconciliation ของ Timothy Hyunsoo Lee จาก Sabrina Amrani Gallery มาดริด

ในระหว่างเดินชมผลงานศิลปินคนนั้นคนนี้พร้อมกับตามหาศิลปะและศิลปินไทยเผื่อจะมาที่ India Art Fair กับเขาบ้างซึ่งสุดท้ายแล้วยังไม่พบ แต่อย่างน้อยฉันได้พบกับงานศิลปะที่ใช้ทองคำเปลวจากเมืองไทยของ Timothy Hyunsoo Lee ศิลปินชาวเกาหลีใต้ที่ไปเติบโตในสหรัฐอเมริกา งานของเขามีชื่อว่า 1,000 Attempts at a Reconciliation งานชิ้นนี้เป็นการนำทองคำเปลวจำนวน 1,000 แผ่นมาวางบนพื้นผิวสีน้ำเงินและเข้ากรอบ ซึ่งรูปร่างแผ่นทองก็จะแตกต่างออกกันออกไป เป็นงานที่เกิดจากแรงบันดาลใจจากที่คุณย่าเล่าให้ฟังว่า หากพับนกกระเรียน 1,000 ตัวแล้วจะสมหวัง ทิโมธีบอกว่า ในปีนี้เขาเห็นศิลปินรุ่นใหม่จำนวนมากและตลาดของอินเดียกำลังปรับตัว คนสนใจงานศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น เขาเองยังแปลกใจที่คนอินเดียสนใจงานสไตล์มินิมอลและงานสไตล์นามธรรม (abstract) โดยภาพวาด abstract หลักแสนบาทของเขาก็ขายออกไปแล้วในงานนี้

 

ใครที่สนใจ India Art Fair ก็ลองติดตามกันได้ในปีหน้าช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์นะคะ ส่วนใครที่มาเที่ยวเดลีช่วงอื่น ขอแนะนำ National Gallery of Modern Art (NGMA) ซึ่งจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยสวยๆ ของอินเดีย มีทั้งนิทรรศการหมุนเวียนและนิทรรศการถาวร ที่สำคัญแอร์เย็นเฉียบเลยค่ะ เหมาะกับการเป็นโปรแกรมในหน้าร้อนของเดลีมากๆ

Writer & Photographer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ