เมื่อหาข้อมูลเวลาเปิด-ปิดสถานที่ท่องเที่ยวในอินเดีย บางครั้งฉันก็จะเกิดความสับสนงุนงง เพราะคำตอบที่ได้คือ เปิดเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และปิดเมื่อพระอาทิตย์ตก

การกำหนดเวลาลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างหนึ่งของอินเดียอย่างชัดเจน นั่นคือ ‘ไฟฟ้า’ โดยในจำนวนประชากร 1.2 พันล้านคนของอินเดีย มีคนถึง 400 ล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ รัฐบาลอินเดียยังไม่สามารถสร้างและขยาย Power Grid หรือโครงข่ายระบบไฟฟ้าหลักให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ด้วยต้องอาศัยงบประมาณและพลังงานสูงลิบ

อย่าว่ากระนั้นเลย เพราะแม้แต่บ้านคนในใจกลางกรุงนิวเดลียังต้องติดเครื่องปั่นไฟน้ำมันดีเซลทุกบ้าน เพราะมีโอกาสที่จะไฟตกไฟดับได้ทุกวัน

วันนี้ฉันเลยอยากมาเล่าถึงธุรกิจสัญชาติอินเดียที่น่าสนใจอันหนึ่งซึ่งเข้ามาเติมเต็มความขาดแคลนไฟฟ้าในชนบทห่างไกล นั่นคือ ธุรกิจผลิตและจ่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Micropower) โดยเข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กให้เป็นศูนย์กลางผลิตและจ่ายไฟให้กับชุมชนในพื้นที่ ไฟฟ้าที่ได้จากระบบนี้มีราคาถูกกว่าไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟน้ำมันดีเซล 2 – 3 เท่า และให้พลังงานที่สะอาดกว่าด้วย เพราะใช้ทรัพยากรรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะทรัพยากรหมุนเวียนและอินทรียสารเป็นแหล่งพลังงาน เช่น แสงอาทิตย์ ลม มูลสัตว์ มาผลิตกระแสไฟฟ้า

Micropower

บริษัทเจ้าของธุรกิจข้างต้นนี้ชื่อว่า OMC (Omnigrid Micropower Company) ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 2011 มีธุรกิจ คือ ขายไฟฟ้าราคาถูก (กว่า) ให้กับบริษัทสื่อสารโทรคมนาคม (Telecom) ที่ต้องไปตั้งเสาส่งสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วอินเดียเป็นหลัก เห็นว่าอินเดียขาดแคลนไฟฟ้าอย่างนี้ แต่ชาวอินเดียกว่า 550 ล้านคนมีโทรศัพท์มือถือนะจ๊ะ

ดังนั้น ทั้งเสาส่งสัญญาณและไฟฟ้าไว้ชาร์จแบตมือถือถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ปัจจุบันมีการตั้งเสาส่งสัญญาณในชนบทมากถึงสองแสนกว่าต้น แต่จุดที่น่าสนใจของ OMC ก็คือ บริษัทนี้ใช้โอกาสนี้ขายไฟฟ้าให้กับคนในชุมชนไปพร้อมๆ กันด้วย นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้บริษัทแล้ว ยังเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงไฟฟ้าให้กับชาวอินเดียอีกจำนวนมหาศาล

รูปแบบการขายไฟฟ้าให้ชุมชนของ OMC มีแบบขายกระแสไฟเลยและขายผลิตภัณฑ์แปรรูป ในส่วนกระแสไฟ ลูกค้าหลัก คือ องค์กร เช่น โรงงาน โรงเรียน ก็ต่อสายไฟจากโรงไฟฟ้าตรงได้เลย ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปนั้นมุ่งเน้นลูกค้าชาวบ้าน ผลิตภัณฑ์น่าสนใจมาก มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

โมฮัมมัด ฟาฮิม

เริ่มจากอย่างแรกคือ ตะเกียงไฟฟ้า ซึ่งเป็นตะเกียงหลอด LED ที่ให้ไฟสีขาว สว่างต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง ในราคาค่าเช่าเพียง 4 รูปี หรือ 2 บาท ต่อวันเท่านั้น โดย OMC จะส่งตะเกียงให้ลูกค้าตอนเย็นและมารับกลับไปตอนเช้าเพื่อชาร์จแบตเตอร์รี่ก่อนจะนำตะเกียงมาส่งให้ใหม่อีกครั้งตอนเย็น

คุณโมฮัมมัด ฟาฮิม ชาวนาคนหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ว่า เขาเคยใช้ตะเกียงน้ำมันเตาและเคยติดตั้งไฟฟ้าและมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำต่อเดือน 250 รูปี โดยไฟมาเพียง 5 – 6 ชั่วโมงต่อวัน ตอนนี้หันมาใช้ตะเกียงไฟฟ้าแทนแล้ว ได้ไฟนานเท่ากัน สว่างกว่า แล้วก็ประหยัดกว่าด้วย

ผลิตภัณฑ์อีกอย่าง คือ OMC Business-in-a-box ซึ่งมาเป็นแพ็กเกจอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นในการเริ่มต้นธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย มีทั้งตะเกียงพลังแสงอาทิตย์ พาวเวอร์บ็อกซ์ (ที่ชาร์จไฟฟ้าแบบพกพา) ปลั๊กต่อ หลอดไฟ ไฟฉาย และพัดลม เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำธุรกิจทุกอย่าง และเช่นเดียวกัน บริษัทจะมารับอุปกรณ์เหล่านี้กลับไปชาร์จไฟให้รายวัน

OMC Business-in-a-box

อนิล ราช และ โรหิต จันดรา ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร OMC เป็นอดีตคนในวงการโทรคมนาคมที่เห็นโอกาสและความต้องการไฟฟ้าของชาวอินเดียในชนบท ให้สัมภาษณ์ว่า ชาวอินเดียชนบทให้ความสำคัญกับราคามาก ถ้าแพงก็จะไม่ซื้อ ดังนั้นจึงไม่นิยมต่อไฟฟ้าเข้าบ้าน หรือติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพราะมีต้นทุนสูงกว่า 10,000 รูปี หรือประมาณ 5,000 บาท นี่จึงเป็นช่องว่างธุรกิจและโอกาสของ OMC

จันดราบอกว่า ธุรกิจนี้เป็นการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีอายุใช้งาน 20 – 25 ปี มีแผนคืนทุนในเวลา 6 – 7 ปี ในปี 2013 บริษัทได้สร้างโรงไฟฟ้าแล้ว 10 แห่ง โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งส่งไฟฟ้าให้เสาส่งสัญญาณอย่างน้อย 2 เสา และชาวบ้าน 3,000 ครัวเรือนโดยรอบ รวมทั้งมีลูกค้าตะเกียงแสงอาทิตย์ประมาณ 150,000 คน OMC วางแผนขยายธุรกิจผ่านรูปแบบ franchise และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เช่น จักรยานพลังงานไฟฟ้า ตู้เย็นให้เช่า ปั๊มน้ำคุณภาพสูงให้เช่าสำหรับชลประทาน และการถ่ายทอดรายการโทรทัศน์สดผ่านสัญญาณไวไฟ

ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของ OMC ไม่เพียงแต่เตะตาชาวบ้านตาดำๆ อย่างฉัน แต่เป็นที่สนใจขององค์กรและธุรกิจหลายแห่ง โดยในปี 2015 OMC ได้ลงนามกรอบความตกลงร่วมกับ SunEdison ของสหรัฐอเมริกาวางแผนจะพัฒนาโรงงานไฟฟ้าไมโครพาวเวอร์ 5,000 แห่งในชนบทอินเดีย รวมมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) ภายในเวลา 3 – 5 ปี

ต่อมาในปี 2016 มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ได้เข้ามาทำความตกลงกับ OMC โดยสนับสนุนเงินทุน 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 135 ล้านบาท) ในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าและปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ OMC ที่มีอยู่แล้ว 100 แห่งในรัฐอุตตรประเทศ ภายใต้โครงการ Smart Power for Rural Development (SPRD) Initiative ของมูลนิธิ โดยร็อกกี้เฟลเลอร์มีงบประมาณ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนให้หมู่บ้าน 1,000 แห่งเข้าถึงไฟฟ้าและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท

ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2017 บริษัทมิตซุย (Mitsui) ซึ่งเป็นเครือบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นก็ได้เซ็นสัญญาร่วมทุน (Joint Venture: JV) กับ OMC ด้วยเงินทุนประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 300 ล้านบาท) เพื่อขยายธุรกิจไมโครพาวเวอร์ในอินเดีย และมีแผนข้ามไปถึงการลงทุนในประเทศแอฟริกาตะวันออกด้วย ซึ่งโมเดลเช่นนี้น่าจะเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนาอย่างแอฟริกาเช่นกัน

เราได้เห็นแล้วว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไม่จำเป็นต้องเป็นผลงานของภาครัฐเสมอไป โดยรัฐเปิดโอกาสและสนับสนุนให้เอกชนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญกว่าเข้ามาพัฒนาได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยความก้าวหน้าของธุรกิจและผลตอบแทนเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ที่สำคัญกว่าคือ ประชาชนได้ประโยชน์และประเทศชาติพัฒนาก้าวไปข้างหน้า

ด้วยความยิ่งใหญ่ของพื้นที่และจำนวนประชากร การพัฒนาอินเดียจึงทำได้ไม่ง่ายนัก แต่จากธุรกิจ OMC เราได้เห็นแล้วว่า หากทุกหน่วยงานร่วมก้าวไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศร่วมกันได้ อยากจะบอกว่า อินเดียยังมีพื้นที่และภาคส่วนที่รอคอยการพัฒนาอีกมาก ธุรกิจนวัตกรรมดีๆ ของไทยน่าลองไปหาโอกาสที่อินเดียดูเหมือนกันนะคะ

ไฟฟ้า

Writer & Photographer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ