คุณรู้จักแบรนด์สินค้าแต่งบ้านชื่อ Good Earth (กู้ดเอิร์ธ) ไหมคะ

ถ้าคุณรู้จัก ฉันคิดว่าคุณคงมีหรือเคยมีความเกี่ยวข้องบางอย่างกับอินเดียเป็นแน่แท้ เพราะ Good Earth เป็นแบรนด์ยอดนิยมในกลุ่มชาวอินเดียผู้มีรายได้ และเป็นที่รู้จักอย่างดีของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอินเดีย

Design House สัญชาติอินเดียเจ้านี้ ออกแบบ ผลิต และจำหน่าย ของตกแต่งบ้านและไลฟ์สไตล์ภายใต้แบรนด์ชื่อเดียวกัน สินค้าประกอบไปด้วยเครื่องนอน ปลอกหมอน ผ้าคลุมเตียง ชุดชากาแฟ จานชาม และยังขยายสายงานไปยังเสื้อผ้า เครื่องประดับ ซึ่ง Good Earth วางตัวในฐานะแบรนด์หรู ข้าวของแต่ละชิ้นราคาไม่ใช่น้อย

Good Earth

Good Earth

Good Earth

Good Earth

Good Earth

ของมีระดับก็ต้องมาพร้อมความโดดเด่น นอกจากจะใช้วัสดุมูลค่าสูง เช่น การใช้ทองคำ 24K และการผสมสีที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติตกแต่งจานชามแล้ว Good Earth ยังสร้างความแตกต่างโดยการผนวกศาสตร์และศิลป์จากงานฝีมือดั้งเดิมของอินเดียกับข้าวของเครื่องใช้สมัยใหม่ ผ่านการปรับการจัดวางลวดลายต่างๆ ให้ดูทันสมัย น่ารัก สดใส และที่สำคัญคุณภาพได้มาตรฐานนานาชาติ บางคอลเลกชันมีกลิ่นอายของ Nordic Design ด้วยโทนสีธรรมชาติและการหยิบความสวยงามรอบตัว เช่น ใบไม้ ดอกไม้ นกน้อย และวัฒนธรรมอินเดียที่ตกทอดมาหลายร้อยปีมารังสรรค์เป็นชิ้นงาน บางคอลเลกชันก็สีสันแสบทรวง การตัดกันของคู่สีสะท้อนถึงความแตกต่างอย่างสุดขั้วที่ดำรงอยู่ในดินแดนภารตะแห่งนี้

ผู้จัดการร้านเล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจว่า ทุกวันนี้มีของเลียนแบบกู้ดเอิร์ธออกมาเต็มไปหมด แต่สีที่เกิดจากวิธีผสมเฉพาะตัวนั้นเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีทางเลียนแบบได้

Good Earth

ภาพร้าน Good Earth สาขามุมไบ

Anita Lal ผู้ก่อตั้ง Good Earth ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นหัวหน้าทีมงานครีเอทีฟ เป็นแม่บ้านคนหนึ่งที่จบการศึกษาด้านจิตวิทยา แต่มีใจรักสีสันและศิลปะ ด้วยความอัดอั้นตันใจที่อินเดียเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่มีถ้วยชามสวยๆ ดีๆ ให้เลือกซื้อ ทำให้ Anita ร้องขอสามีให้ช่วยเปิดร้านให้เธอหน่อย จากวันนั้น วันที่ Good Earth สาขาแรกเปิดตัวขึ้นที่มุมไบ สตรีผู้ซึ่งไม่มีหัวทางธุรกิจเลยอย่าง Anita ก็ได้ใช้ใจรักฝ่าฟันมรสุมทางธุรกิจ จนวันนี้มีร้าน Good Earth ทั่วอินเดียแล้ว 12 สาขา มีสาขานอกประเทศที่ตุรกี (อิสตันบูล) และสิงคโปร์ ปัจจุบัน Good Earth ได้พัฒนาร้านค้าออนไลน์ขึ้นซึ่งเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลก

เรื่องราวของ Good Earth นั้นน่าศึกษา Anita เลือกหยิบจับศิลปะวัฒนธรรมอินเดียแบบโบราณมาถ่ายทอดในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ แต่ยังคงเทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิมที่ทำด้วยมือตั้งแต่ต้นจนจบสายงานการผลิต และที่สำคัญใช้แต่วัตถุดิบจากธรรมชาติเท่านั้น อาทิ งานด้านผ้า ไม่ว่าจะเป็นผ้าปูที่นอน ผ้าม่าน ปลอกหมอน Good Earth ร่วมมือกับช่างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค Block Print ของรัฐราชาสถานที่อยู่ในวงการกว่า 40 ปี ถักทอขึ้น งาน Block Print ที่ว่านี้ คือ งานที่ต้องอาศัยช่างฝีมือแกะสลักแม่พิมพ์ไม้ให้เป็นลาย ก่อนจะใช้สีย้อมธรรมชาติจากพืชทาพิมพ์แล้วกดไล่เป็นแนวไปบนผ้าฝ้ายออร์แกนิกให้เกิดเป็นลวดลายทั้งผืน สิ่งเหล่านี้สร้างความเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ให้กับผ้าแต่ละชิ้น เพราะจะมีสีสัน รอยต่อของลาย แตกต่างกันไป

Good Earth Good Earth Good Earth

อีกงานที่เป็นที่ภูมิใจของ Anita คือ การชุบชีวิตภาชนะที่ทำจาก Kansa (โลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bell Metal) ซึ่งศาสตร์ด้านอายุรเวชของอินเดียสอนว่า คนเราควรกินและดื่มอาหารจากภาชนะที่มีคุณสมบัติสร้างความเป็นด่างให้กับอาหาร อย่างเช่น Kansa เพราะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง โดย Kansa มีคุณสมบัติฆ่าแบคทีเรีย ช่วยกระตุ้นให้โลหิตไหลเวียน สร้างความแข็งแรงของกระดูก ปัจจุบัน ชุดเหยือกน้ำ Kansa ของ Good Earth ได้รับความนิยมมาก

Good Earth

Simran Lal และ Anita Lal สองสาวผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Good Earth

ไม่เพียงแต่ Good Earth จะมีส่วนช่วยรักษาภูมิปัญญาบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไปแล้ว ยังช่วยสร้างงานให้ชุมชนในชนบทของอินเดีย แรงงานฝีมือที่ครั้งหนึ่งค่อยๆ หายไปจากสังคมเพราะการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ได้กลับมามีที่ยืน แถมยังมีงานล้นมืออีกด้วย เข้ากันพอดีกับแคมเปญ Make in India ของท่านนายกรัฐมนตรีโมดี โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2559 รัฐบาลอินเดียจัดงาน Make in India Week ขึ้นที่มุมไบ โดยในงาน Simran Lal (ลูกสาวของ Anita) ซึ่งเป็น CEO คนปัจจุบันของ Good Earth ได้ขึ้นเสวนาบนเวที India Design Forum (IDF) 2016 เพื่อแบ่งปันเรื่องราวพร้อมกระตุ้นและส่งเสริมให้ธุรกิจทั้งหลายหันมา Make in India โดยมี Good Earth เป็นตัวอย่างของความสำเร็จ และที่กิ๊บเก๋ไปกว่านั้น Good Earth ยังได้รับเกียรติให้จัดห้องพักรับรองให้กับนายกโมดีด้วย ฉันขอยกให้เป็นห้องรับรองที่น่าใช้ที่สุดในอินเดียเลยค่ะ

Good Earth

ห้องรับรองแบบ Good Earth

นอกจากนี้ Good Earth ยังได้สร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับวัฒนธรรมอินเดีย โดยย้อนไปอีกนิดเมื่อเดือนตุลาคม 2558 Good Earth ได้จับมือกับวิกตอเรียและอัลเบิร์ตมิวเซียม ซึ่งเป็นมิวเซียมด้านศิลปะและดีไซน์ชื่อก้องโลก จัดนิทรรศการฉลองครบรอบ 20 ปี Good Earth ไกลถึงสหราชอาณาจักร และสนับสนุนการจัดนิทรรศการ The Fabric of India อวดโฉมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ระดับโลก พร้อมกับวางขายสินค้าของตัวเองใน V&A Shop ว่ากันว่านี่เป็นการปูทางไปสู่ก้าวใหม่ของ Good Earth สาขาลอนดอน และ Good Earth Pop Up Store ในห้าง Selfridges อีกด้วย

จากธุรกิจครอบครัว ที่อยู่มาได้ด้วยเงินหนุนจากสามีนักธุรกิจของ Amita วันนี้ Good Earth สร้างกำไร และขยายอาณาจักรไปทั่วโลกผ่านระบบ e-commerce หลังจากนำระบบออนไลน์มาใช้เป็นเวลา 18 เดือน พบว่ารายได้จากต่างประเทศเข้ามามากถึงร้อยละ 65 ของรายได้ทางออนไลน์ทั้งหมด โดยมีผู้ชมเว็บไซต์จาก 40 – 50 ประเทศ ต่อวัน

Good Earth Good Earth Good Earth

ความสำเร็จของ Good Earth นับได้ว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกภาคส่วนในอินเดียจริงๆ บริษัทมีรายได้ เจ้าของได้ทำในสิ่งที่รัก ชุมชนมีงาน วัฒนธรรมได้รับการสืบสาน ตรงกับแคมเปญรัฐบาล และยังชูเชิดความเป็นอินเดียสู่สังคมโลกอย่างภาคภูมิ Simran Lal ได้ให้สัมภาษณ์ในงาน Make in India Week ว่า สิ่งสำคัญของก้าวต่อไปของ Good Earth คือการนำการออกแบบจากชนบทและชุมชนชนบทนั้นร่วมเดินทางไปด้วย คือต้องมุ่งพัฒนาศักยภาพช่างฝีมือ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราลดคุณค่างานฝีมือ เราก็จะยากจนเมื่อนั้น ต้องมองว่างานฝีมือคือความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นของคนอีกนับล้าน

ทุกวันนี้ฉันได้เห็นงานสร้างสรรค์บนภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยมากมาย รู้สึกภูมิใจเช่นเดียวกันขอให้กำลังใจดีไซน์และช่างฝีมือชาวไทยทุกท่าน Good Earth เขายังฝ่าฟันมาถึง 20 ปี ของเราดี ก็ต้องไปให้ไกลได้เช่นกัน

Good Earth

ภาพ: instagram.com/goodearthindia และ www.goodearth.in

Save

Writer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ