แต่ไหนแต่ไร เรื่องที่พวกเราชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเดลีชอบทำที่สุดเรื่องหนึ่ง คือการได้บ่นและนินทาเมืองที่เราอยู่ ดูเหมือนว่า ‘ความไม่พอใจ’ ของมนุษย์เรานี้จะมีไปเรื่อยๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองที่แสนจะอุดมสมบูรณ์อย่างกรุงเทพฯ เราก็บ่น หรืออยู่เมืองที่แสนสะอาดอย่างโตเกียว เราก็บ่น แต่เมื่อตั้งสติมอง จริง ๆ แล้วในทุกสิ่งที่เราบ่น ก็จะมีสิ่งที่เราอดชื่นชมไม่ได้ และสิ่งนั้นสำหรับเดลีก็คือ ‘ความเขียว’

อาจจะด้วยความที่ฉันเป็นคนกรุงเทพฯ โตมาแบบไม่ค่อยเห็นต้นไม้ตามถนนหนทางในเมืองมากนัก วันแรกที่ได้เปิดหูเปิดตาในเดลีจึงเกิดอาการ ‘โอ้วโหวว’ กับต้นไม้เขียวครึ้มใหญ่ยักษ์ที่ขนาบอยู่ตามสองข้างของถนนเกือบทุกสายในเมือง ที่เดลีก็มีสวนสาธารณะที่หนาแน่นด้วยต้นไม้ และยังมีพื้นที่ ‘ป่า’ ให้เห็นตามมุมต่างๆ ‘ป่า’ ที่ว่านี้ไม่ใช่สวนสาธารณะ แต่เป็นป่าจริงๆ ที่มีความรกชัฏ เป็นที่อยู่อาศัยของนกและลิง รวมถึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนท้องถิ่นด้วย ถามว่าพื้นที่สีเขียวของเดลีเยอะขนาดไหน ก็ขนาดที่เวลาเครื่องบินไฟลต์ดึกกำลังลดระดับลงจอด เราจะเห็นพื้นที่สีดำไร้แสงไฟหย่อมใหญ่ๆ จำนวนมากจากบนฟ้า ซึ่งท่ามกลางความร้อนระอุของหน้าร้อนอินเดียในเดือนมิถุนายนแบบนี้ ต้นไม้เขียวครึ้มที่แผ่ปกคลุมถนนกับเสียงนกจิ๊บๆ ได้ช่วยลดอุณหภูมิทางกายและทางใจของผู้อาศัยไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

นิวเดลี

นิวเดลี

คนอินเดียบอกว่าที่อินเดียมีต้นไม้เยอะได้แบบนี้ เพราะมีกฎหมายห้ามตัดต้นไม้ ไม่ว่าใคร จะภาครัฐหรือเอกชน หากจะตัดต้นไม้ในที่สาธารณะหรือแม้กระทั่งในบ้านตัวเอง ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 รูปี (ประมาณ 500 – 600 บาท) รวมทั้งต้องจ่ายค่าชดเชยการปลูกต้นไม้ด้วย ดังนั้น ต้นไม้ส่วนใหญ่จึงได้รับสิทธิพิเศษให้อยู่ในที่เดิม ส่วนสิ่งที่มาทีหลังอย่างถนน ตึกรามบ้านช่อง ก็ต้องหลีกทางไป เราจึงได้เห็นต้นไม้ขึ้นโด่ๆ อยู่กลางถนนบ้าง ขวางประตูใหญ่หน้าบ้านบ้าง ก็เป็นความสวยงามตามธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง

นิวเดลี นิวเดลี

เมื่อฟังเช่นนี้ คำถามที่ผุดขึ้นตามธรรมชาติเช่นกันคือ ถ้าตัดต้นไม้ไม่ได้ แล้วอินเดียจะพัฒนาเมืองอย่างไร จริงๆ ก็คือ พัฒนาเมืองได้ โดยขั้นตอนแรก เจ้าของโครงการหรือเจ้าของที่ดินต้องไปขออนุญาตย้ายต้นไม้จากที่หนึ่งไปปลูกอีกที่หนึ่ง หรืออย่างที่สอง เจ้าของโครงการหรือเจ้าของที่ดินต้องไปขออนุญาตตัดต้นไม้ โดยสามารถกรอกแบบฟอร์มพร้อมเตรียมเอกสารสำคัญยื่นให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก็จะดำเนินการให้อนุญาตต่อไป แต่มีกฎว่า หากตัดต้นไม้ 1 ต้น จะต้องปลูกคืน 10 ต้น ในพื้นที่เดิมที่ตัดต้นไม้ไปนี่แหละ ยกเว้นว่าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องหาพื้นที่อื่นไปปลูกชดเชย โดยแบ่งกันรับผิดชอบปลูกต้นไม้ รัฐบาลเดลีปลูก 5 ต้น และคนที่ขออนุญาตตัดปลูก 5 ต้น ทั้งนี้ รัฐบาลเดลีจะคิดค่าชดเชยการตัดต้นไม้ 1 ต้น เป็นเงินจำนวน 34,500 รูปี (ประมาณ 18,000 บาท) เพื่อเป็นค่าปลูกต้นไม้ชดเชยและค่าดูแลต้นไม้ที่ปลูกใหม่ต่อไปอีก 7 ปี จนกว่าต้นไม้จะโตและแข็งแรงพอ โดยหลังจากที่รัฐเห็นว่า คนที่ตัดต้นไม้ปลูกต้นไม้คืน 5 ต้นแล้วจริง ๆ ก็จะคืนเงินมัดจำจำนวน 15,000 รูปี (ประมาณ 8,000 บาท) ให้ ว่าไปก็โหดไม่ใช่เล่นเลยทีเดียวสำหรับกฎนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายเยอะมากจนต้องคิดกันให้ดีก่อนจะตัดต้นไม้สักต้น แต่กฎหมายเขาก็อนุโลมให้ชาวบ้านตัดต้นไม้ได้อยู่เหมือนกัน ถ้าเห็นว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น ต้นไม้ที่โดนลมพัดจะหัก ต้นไม้ที่เป็นโรค หรือต้นไม้ที่ล้มกีดขวางการจราจร และขอเพียงหลังตัดต้นไม้นั้นแล้ว ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมง

นิวเดลี

การดูแลรักษาต้นไม้ของอินเดียนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นอิทธิพลมาจากกฎหมายที่อังกฤษออกไว้สมัยเป็นเจ้าอาณานิคม คือพระราชบัญญัติป่าไม้อินเดีย ปี 2470 (The Indian Forest Act, 1927) และหลังได้รับเอกราช รัฐบาลอินเดียรุ่นต่อๆ มาก็มีการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะกับยุคสมัย โดยรัฐบาลระดับรัฐได้ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในแต่ละรัฐเอง อย่างเดลีก็มีกฎหมายที่บังคับใช้เฉพาะเดลี คือพระราชบัญญัติคุ้มครองต้นไม้เดลี ปี 2537 (Delhi Preservation of Trees Act, 1994) นอกจากรัฐบาลเดลีจะมีหน้าที่พิจารณาอนุมัติการตัดต้นไม้แล้ว ยังจัดทำสำมะโนประชากรต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะอีกด้วย เช่น สวนสาธารณะหลักของเมือง ต้นไม้สองข้างถนน ต้นไม้ที่ปลูกบนเกาะกลางวงเวียน ในสถานที่ราชการ ในโรงเรียน ในตลาด และสวนสาธารณะเล็กๆ ในชุมชน เพื่อเก็บสถิติจำนวนต้นไม้ไว้คำนวณจำนวนต้นไม้ที่ต้องปลูกเพิ่มเติม หรือดูว่ามีการลักลอบตัดต้นไม้ไปหรือเปล่า ส่วนต้นไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น ในบ้านพัก ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ นั้นตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะไม่เข้ามายุ่ง แต่กฎหมายก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ขอเข้ามาตรวจดูได้อยู่ดี นอกจากนี้ รัฐบาลเดลียังมีสถานอนุบาลต้นไม้ไว้เพาะเมล็ดพันธุ์ ปลูกต้นกล้า ไว้แจกจ่ายให้ประชาชนที่ต้องการปลูกต้นไม้ และใช้ในการปลูกต้นไม้ทดแทนต้นที่ได้รับอนุญาตให้โค่นลงไปด้วย

นิวเดลี

เห็นมีกฎเข้มๆ แบบนี้ แต่การปฏิบัติจริงก็ไม่ได้ราบรื่นตามตัวอักษรว่าไว้เสมอไป ต้องยอมรับว่าอินเดียก็เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ แห่ง ที่ยังมีการแอบตัดต้นไม้โดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ หรือให้เงินใต้โต๊ะเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมีอีกความท้าทายของการห้ามตัด ก็คือการรักษาต้นไม้ ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับการดูแล แม้ภายนอกจะดูสูงใหญ่ แต่ภายในลำต้นกลับอ่อนแอกลวงโบ๋ก็มี ซึ่งข้อนี้เดลีเองก็ยังทำได้ไม่ดีนัก หลายพื้นที่ก็ไม่มีการส่งเจ้าพนักงานมาตอนแต่งกิ่งให้เรียบร้อยจนกิ่งก้านสาขามันยาวยื่นอย่างไร้ระเบียบ เวลาฝนฟ้าคะนองลมแรง กิ่งใหญ่ๆ ที่ยื่นออกมาของต้นไม้เหล่านี้ก็หล่นมาบ้าง ต้นไม้ใหญ่ที่ลำต้นเปราะก็โค่นหักกลางต้นเพราะลมพายุบ้าง หลายครั้งก็ทับรถยนต์ที่จอดอยู่แถวนั้นหลังคาบุบ กระจกแตก ไม่ก็พานล้มลากสายไฟลงมาด้วย ทำให้ไฟฟ้าดับ ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนได้เหมือนกัน

นิวเดลี

เรื่องนี้ทำให้ฉันตระหนักว่า ความเป็นเมือง มันไม่ใช่ภาวะธรรมชาติ การจะอยู่ด้วยกันระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นกับต้นไม้ซึ่งเป็นส่ิงมีชีวิตตามธรรมชาติ จึงต้องการการวางแผนและความรับผิดชอบ อย่างน้อยก็ดีใจที่เห็นว่ารัฐบาลเดลีชุดปัจจุบันได้ออกมาผลักดันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ จัดทำสำมะโนประชากรต้นไม้อย่างจริงจัง ทำให้เราเห็นต้นไม้มีเลขทะเบียนและได้รับการดูแลรักษาโรคบ้างเป็นระยะ ปัจจุบัน มีรายงานสรุปให้เห็นว่าตอนนี้ในเขตเทศบาลเดลีซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองมีต้นไม้ประมาณ 35,000 ต้น โดยส่วนใหญ่อยู่สองข้างทางถนนและในสวนสาธารณะ อยากรู้ขึ้นมาเหมือนกันว่าตามถนนในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ เรามีต้นไม้กี่ต้น ในแต่ละปีมันเพิ่มหรือลดลงกี่ต้นกันนะ

Writer & Photographer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ