ช่วงปลายปีที่แล้ว หลายคนที่มีแผนจะเดินทางมาอินเดียอาจสงสัยว่าทำไมหาเงินสกุลรูปีแลกยากจัง เหตุที่เงินรูปีหายากนั้นเป็นผลสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลอินเดียออกนโยบายยกเลิกธนบัตรหรือที่เรียกกันในอินเดียว่า ‘Demonetisation’ เมื่อคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นั่นเอง

ในคืนนั้น ขณะที่ชาวโลกกำลังงุนงงเรื่องผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ฝั่งอินเดียก็กำลังตระหนกไปกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศ ณ เวลา 2 ทุ่มฉันเปิดดูข่าวโทรทัศน์พอดีทันเห็นใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กำลังประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรชนิด 500 และ 1,000 รูปี โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป พร้อมย้ำว่าไม่ต้องห่วง ทุกคนที่ถือธนบัตรรุ่นเก่าอยู่ยังสามารถนำไปแลกเงินรุ่นใหม่และฝากเข้าบัญชีธนาคารได้ โดยให้เวลาอีก 2 เดือนไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2559

รัฐบาลอ้างว่าดำเนินนโยบายนี้เพื่อกวาดล้างเงินผิดกฎหมาย ทั้งเงินปลอม เงินใต้ดิน เงินที่ได้มาจากการหนีภาษี ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่อยู่กับอินเดียมาหลายยุคสมัย เนื่องจากสังคมอินเดียใช้เงินสดเป็นหลัก แม้กระทั่งวิธีออมเงินก็ยังเป็นการเก็บเงินสดไว้ที่บ้าน จึงไม่แปลกที่จะมีช่องโหว่ให้การกระทำที่ผิดกฎหมายได้ง่าย เช่น หนีภาษี ฟอกเงิน ตลอดจนเอาไปใช้สนับสนุนการก่อการร้าย

เงินรูปี

แต่การแก้ปัญหาเงินนอกระบบด้วยการยกเลิกธนบัตร 500 และ 1,000 รูปีอย่างหักดิบข้ามคืนแบบนี้สิแปลก โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าธนบัตรทั้งสองแบบนี้มีคนใช้มากที่สุดมากถึงร้อยละ 86 ของธนบัตรที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจอินเดีย ประเทศอื่นๆ เขาให้เวลาเปลี่ยนธนบัตรเป็นปี ส่วนอินเดียกลับกำหนดไว้แค่ภายใน 60 วัน แถมยังมาพร้อมมาตรการรองรับที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข เช่น ให้แลกเงินได้แต่ไม่เกิน 4,500 รูปีต่อคนต่อวัน ให้ฝากเงินเข้าธนาคารได้แต่ถอนออกได้ไม่เกิน 20,000 รูปีต่อคนต่อสัปดาห์ ให้ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้แต่ไม่เกินครั้งละ 2,000 รูปีต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังเพิ่มกฎและเงื่อนไขไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายผู้ที่ฝากเงินสดเข้าธนาคารเกิน 250,000 รูปีจะถูกขึ้นรายชื่อเพื่อตรวจสอบ โดยมีความเสี่ยงว่าอาจจะต้องจ่ายค่าปรับหากพิสูจน์แล้วว่าโกงภาษีจริง

เงินรูปี

ด้วยมาตรการรองรับที่่ไม่พร้อม ไม่แปลกใจเลยที่ในเดือนแรกหลังประกาศนโยบายอินเดียจะตกอยู่ในสภาวะวิกฤตขั้นสุด มองไปทางไหนก็เห็นฝูงชนจำนวนมากอัดออกันอยู่หน้าธนาคารทั่วประเทศ คิวแถวกดเงินจากตู้เอทีเอ็มยาวเป็นกิโลเมตร คนที่มีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตก็โชคดีไปเพราะทำธุรกรรมผ่านบัตรได้ แต่ยังมีคนอีกหลายร้อยล้านคนในประเทศที่ไม่มีแม้กระทั่งบัญชีธนาคาร ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมใช้เวลาวันละ 4 – 5 ชั่วโมงต่อแถวเพื่อแลกและถอนเงิน ซึ่งบ่อยครั้งก็ล้มเหลวเพราะเงินสดหมดธนาคารเสียก่อน เมื่อคนไม่มีเงิน กิจการร้านค้าต่างๆ ก็ซบเซาลงตามไป ส่งผลกระทบหนักต่อระบบเศรษฐกิจอินเดีย โดยธนาคารโลกออกมาลดระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจอินเดีย (GDP) จากร้อยละ 7.6 ลงเหลือเพียงร้อยละ 7 และที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือมีรายงานข่าวว่ามีชาวอินเดียจำนวนหนึ่งเลือกที่จะปลิดชีพตัวเองเพราะไม่สามารถจัดการปัญหาหนี้สินเนื่องจากเงินสดขาดมือได้

ทั้งที่ลำบาก ทั้งที่ได้รับผลกระทบ แต่แปลกที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ทั้งรวยและจนต่างสนับสนุนนโยบายนี้ เขาเหล่านี้พร้อมยอมเดือดร้อนสั้นๆ เพื่อประโยชน์ของประเทศในระยะยาว พวกเขาเชื่อว่านโยบายนี้จะกำจัดเจ้าของเงินผิดกฎหมายทั้งหลายที่เอาเปรียบสังคม เชื่อว่าต่อไปอินเดียจะมีความโปร่งใสในการทำธุรกิจ มีการบริหารที่ปราศจากการคอร์รัปชัน ความเห็นของคนเหล่านี้ไม่ได้แค่ลอยอยู่ในอากาศ แต่ได้สะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในผลการเลือกตั้ง ส.ส. ท้องถิ่นใน 5 รัฐของอินเดียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอนแรกหลายฝ่ายก็ลุ้นกันว่าพรรค BJP ของนายกโมดีจะพ่ายแพ้เพราะนโยบายหักดิบก่อนเลือกตั้งหรือไม่ แต่ผลกลายเป็นว่าพรรค BJP ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยเฉพาะในรัฐอุตตรประเทศซึ่งมีประชากรกว่า 200 ล้านคน ตอนนี้บอกเลยว่าพรรค BJP มาแรงมากและอาจได้เป็นรัฐบาลต่อเป็นสมัยที่ 2 

อินเดีย

อินเดีย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือนโยบายยกเลิกธนบัตรครั้งนี้ยังนำไปสู่ปรากฏการณ์ใหม่ที่พลิกโฉมสังคมอินเดียไปสู่สังคมปลอดเงินสด หรือ Cashless Society ตามแผนของนายโมดี โดยคนอินเดียที่ไม่รู้จักการใช้บัตรเครดิต ไม่มีบัญชีธนาคาร ก็ถูกบังคับกลายๆ ให้เริ่มมีบัตรมีบัญชีเพื่อเอาตัวรอดให้ผ่านวิกฤต ที่เห็นชัดเจน คือการเข้ามาของธุรกิจกระเป๋าสตางค์ออนไลน์อย่าง Paytm ซึ่งเป็นระบบประเภทเดียวกับ PayPal ของสหรัฐฯ ที่มีการผูกบัญชีธนาคารกับระบบออนไลน์ในการทำธุรกรรมต่างๆ พ่อค้าแผงลอย ช่องเก็บค่าผ่านทาง ไปจนถึงศาสนสถานวัดโบสถ์ ได้หันมาใช้ Paytm เป็นสื่อกลางกันหมด ซึ่งบริษัท Paytm ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่โมดีออกนโยบายยกเลิกธนบัตรเป็นต้นมา มีผู้สมัครใช้งาน Paytm เพิ่มขึ้นกว่า 20 ล้านบัญชี การใช้งานสูงขึ้นถึง 5 เท่า ขณะที่มูลค่าการทำธุรกรรมผ่าน Paytm เพิ่มมากขึ้นถึง 200 เปอร์เซ็นต์

พอดีกับที่ปัจจุบันอินเดียกำลังพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลในประเทศ อินเดียมีพัฒนาการธุรกิจ e-commerce ดีมาก แซงประเทศไทยไปหลายช่วงตัว ในอินเดียนอกจากจะมีตลาดออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon แล้วยังมีแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Flipkart และ Snapdeal ซึ่งใช้งานง่ายมาก นอกจากนี้ ยังสามารถโอนเงิน ชำระค่าสาธารณูปโภค ทางออนไลน์อย่างสะดวกสบาย ประเด็นติดแค่เพียงจะทำอย่างไรให้คนอินเดียจำนวนมากที่ไม่มีความรู้เรื่องดิจิทัลหันมาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างดิจิทัลเหล่านี้ ซึ่งยุทธศาสตร์หักดิบปราบเงินเถื่อนข้างต้นตอบโจทย์ลงตัว โดยช่วยเปิดโลกทัศน์ด้านดิจิทัลให้กับประชาชนซึ่งจะนำไปสู่การดึงธุรกรรมต่างๆ เข้ามาอยู่ในระบบที่ตรวจสอบได้ต่อไป เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกเป็นฝูง

อินเดีย

อินเดีย

เมื่อมองภาพรวมจะเห็นว่ารัฐบาลอินเดียกำลังปฏิรูปประเทศ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมขนานใหญ่อย่างมียุทธศาสตร์ นโยบายแต่ละอย่างสอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยมีความมุ่งหมายคือการไปสู่การเป็น ‘New India’ หรือ ‘อินเดียใหม่’ ที่มีเศรษฐกิจเติบโต มีการค้าการลงทุนจำนวนมาก มีประชาชนคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยพลังที่มีช่องทางมีเครื่องมือในการลงมือขับเคลื่อนประเทศไปกับรัฐบาล โดยกำหนดเส้นตายใน ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นปีที่ครบ 75 ปีการได้รับเอกราชจากอังกฤษ ตอนนี้พูดเลยว่า พัฒนาการประเทศอินเดียมีสีสันและน่าติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับไทยซึ่งอยู่ระหว่างปฏิรูปประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เราจะละเลยอินเดียอย่างที่เป็นมาได้อีกหรือไม่ หรือมีโอกาสอะไรในอินเดียที่ไทยต้องรีบคว้าไว้ก่อนจะสายเกินไป

Writer & Photographer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ