หมายเหตุ – คอลัมน์เมฆนมหายไปนาน เพราะผู้เขียนมัวแต่ติดพันงานอื่นเยอะแยะมากมายก่ายกองสารพัดสารพันอิรุงตุงตุ้มมะรุมตุมนังไปหมด แม้กระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่มีเวลาและจังหวะสมาธิพอที่จะละเมียดเขียนตอนใหม่ ด้วยฉะนี้แล้วจึงขอหยิบยืมผลงานเก่าของตัวเองที่เคยตีพิมพ์ในเว็บ Open Online เมื่อปี 2007 มาเผยแพร่ใหม่อีกครั้งก็แล้วกัน หวังว่าสาธุชนจะยังได้รับสาระบันเทิงจากเรื่องนี้อยู่ และถ้าชอบ ขอแนะนำให้ไปฟังเรื่องไคเมร่าต่อได้ในรายการ WiTcast ep 10.2 นะขอรับ

เป็นไปได้มั้ยครับ ที่ใครคนสักคนหนึ่งจะเป็นพ่อของหลานตัวเอง? หรือเป็นป้าของลูกตัวเอง? (ตอนเขียนบทความนี้ ผมยังไม่เคยดู Game of Thrones)

แล้วลองนึกภาพดูสิครับ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดว่า ครึ่งหนึ่งของสเปิร์มในอัณฑะ (หรือไข่ในรังไข่) ของคุณ ไม่ได้เป็นของตัวคุณเอง แต่กลับเป็นของพี่ชายคุณหรือน้องสาวคุณเอามาฝากไว้?

ทั้งหลายที่ว่ามา ถ้าเป็นในคนก็คงจินตนาการได้ยากโขอยู่… แต่ถ้าเป็นในตัวมาร์โมเส็ทแล้วล่ะก็ ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ 

‘มาร์โมเส็ท’ (Marmoset) เป็นลิงตัวเล็ก ๆ ประเภทหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนแถวอเมริกาใต้ (หรือแถวตลาดจตุจักรก็หาได้เหมือนกัน) ดูผิวเผินพวกมันก็หน้าตาเหมือนลิงธรรมดา ไม่ได้มีอะไรแปลกประหลาดมาก ทว่าเมื่อเจาะลึกลงไปถึงระดับเซลล์ มาร์โมเส็ทกลับแฝงไว้ซึ่งความพิศดารอันน่าอัศจรรย์ยิ่ง

มาร์โมเส็ท กับพันธุกรรมไคเมร่า เมื่อลิงหนึ่งตัวมีหลายตัวตนในร่างเดียว

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมปกติทั่วไป เริ่มต้นชีวิตด้วยเซลล์เดียว จากนั้นจึงค่อย ๆ แบ่งตัวจาก 1 เป็น 2 เซลล์ จาก 2 เป็น 4 เซลล์ เป็น 16 เป็น 32 ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง สมมติว่าถ้าเป็นคน เมื่อโตเต็มที่ก็จะมีเซลล์รวมทั้งหมดถึงประมาณ 100,000,000,000,000 (100 ล้านล้าน) เซลล์ เป็นตัวเลขที่เยอะกว่าจำนวนดวงดาวทั้งหมดในกาแล็กซี่ของเราซะอีก! (กาแล็กซี่ทางช้างเผือกมีดาวประมาณ 2 แสนล้านดวง) แต่ไม่ว่าจะมีเซลล์เยอะแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วบรรดาเซลล์พวกนี้ทุก ๆ เซลล์ก็จะยังมีรหัสดีเอ็นเอที่เหมือนกันทั้งหมด จะไม่ให้เหมือนได้ยังไงล่ะครับ ในเมื่อมันต่างก็ก็อปปี้ ๆ ต่อ ๆๆๆ กันมาจากเซลล์เริ่มต้นเซลล์เดียวกัน ซึ่งก็คือเจ้าเม็ดเซลล์ดั้งเดิมที่ได้มาจากการรวมตัวกัน ระหว่างไข่ของแม่กับสเปิร์มของพ่อนั่นเอง

เช่นนี้แล้วก็หมายความว่า หากคุณไปก่ออาชญากรรมที่ไหนสักแห่งแล้วเผลอทิ้งร่องรอยเอาไว้ มันไม่สำคัญหรอกว่าเซลล์ที่คุณได้ทำหล่นเอาไว้จะเป็นเซลล์ผิวหนัง เซลล์ลำไส้เล็ก เซลล์สมอง เซลล์หัวใจ เซลล์รากขนจมูก เซลล์เยื่อบุทวารหนัก หรือเซลล์ส้นเท้าอะไรก็แล้วแต่ ทุก ๆ เซลล์ล้วนมีรหัสดีเอ็นเอเหมือนกันทั้งหมด บรรจุรหัสพันธุกรรมฉบับเดียวกันเอาไว้ทั้งหมด ตำรวจนำเซลล์ชนิดไหนก็ได้ไปใช้ในการระบุตัวตนของคุณ หรือจะให้เว่อร์ยิ่งขึ้น ขอเพียงคุณฮัดชิ่วใส่กระดาษสักแผ่น หรือแค่เช็ดตูดด้วยทิชชูสักใบ (เอาแบบสาก ๆ นะ) นักวิทยาศาสตร์ก็เก็บเอาเศษเซลล์พวกนี้ไปโคลนนิ่งออกมาเป็นคุณคนใหม่ได้ทั้งคน โดยไม่ยากเย็นแต่อย่างใด (ในทางทฤษฎี)

สรุป เซลล์ทุกเซลล์มีรหัสดีเอ็นเอเหมือนกันหมด และรหัสดีเอ็นเอชุดนั้น ไม่ว่าจะมาจากเซลล์ไหน มันก็คือ ‘ตัวตน’ เพียงหนึ่งเดียวทางพันธุกรรมของคุณ สรุปให้ง่ายขึ้นอีก สมมติรหัสพันธุกรรมของคุณเขียนว่า ‘ฮุมบารีฮุนบุนบาเล’ คุณไปดูที่เซลล์ไหนในตัวคุณ มันก็จะเขียน ‘ฮุมบารีฮุนบุนบาเล’ เหมือนกันหมด ในขณะที่ถ้าคุณไปดูของคุณป้าสมจิตข้างบ้าน ของแกก็จะเขียนเหมือนกันหมดทุกเซลล์เช่นกัน แต่อาจจะเขียนต่างไปจากคุณ คือเป็น ‘ฮุมบารูฮันบันบารัม’ แทน โดยปกติในสัตว์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในคนหรือในชนิดไหน ๆ เรื่องราวก็จะเป็นประมาณนี้ทั้งสิ้น แต่ที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏว่าในมาร์โมเส็ท มันไม่ใช่แฮะ

ในลิงมาร์โมเส็ท คุณแม่มักจะให้กำเนิดลูกแฝด 2 เสมอ แฝดในที่นี้ไม่ใช่แฝดแบบที่หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ แต่เป็นแฝดแบบคนละไข่กัน ก็คือเป็นเสมือนพี่น้องที่แค่เกิดมาร่วมครรภ์ในเวลาเดียวกันเฉย ๆ เรื่องแปลกไม่ได้อยู่ตรงนี้หรอกครับ เพราะว่าขนาดในคน แฝดคู่ไม่เหมือน หรือ Unidentical Twins (เรียกอีกอย่างว่า Fraternal Twins) ก็มีให้เห็นอยู่ถมไป ทว่าในมาร์โมเส็ทนั้น มันจะมีปรากฏการณ์ที่พิเศษมาก ๆ อย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นก็คือในวันที่ 18 – 20 หลังจากตัวอ่อนคู่แฝดทั้งสองได้รับการปฏิสนธิ รกของพวกมันจะค่อย ๆ เริ่มเติบโตมาผสานรวมกัน จนเกิดเป็นท่อที่เชื่อมโยงตัวอ่อนทั้งสอง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเซลล์ระหว่างกันและกันได้ เซลล์จากแฝดพี่อาจโยกย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ฝั่งตัวอ่อนน้อง ขณะเดียวกัน เซลล์แฝดน้องก็อาจจะอพยพข้ามไปปะปนอยู่กับเซลล์ของตัวอ่อนพี่ได้! 

โอวว นึกภาพอะไรดีล่ะครับ นึกถึงนาฬิกาทรายที่ตั้งเอาไว้แนวนอนก็แล้วกัน ในกระเปาะแก้วฝั่งหนึ่งมีทรายสีขาว ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมีทรายสีดำอยู่ เทกลับไปกลับมาสัก 2 – 3 รอบ ฝั่งดำก็จะได้ทรายสีขาวไปปนอยู่ปริมาณหนึ่ง ส่วนฝั่งขาวก็จะได้ทรายสีดำเข้ามาแทรกด้วยเช่นเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวอ่อนพี่น้องมาร์โมเส็ทก็เป็นประมาณนี้แหละครับ และหลังจากช่วงแลกเปลี่ยนเซลล์ผ่านไป ตัวอ่อนแต่ละตัวยังคงต้องแบ่งเซลล์ต่ออีกหลายรอบ คุณลองจินตนาการดูก็แล้วกันว่า พอโตขึ้นมา ตัวตนทางพันธุกรรมของพวกมันจะออกมาเป็นยังไง

ผลลัพธ์ที่ได้ หากคุณนำมาร์โมเส็ทโตเต็มที่มาสักตัวหนึ่ง เจาะเลือดหรือถอนขนมันออกมาตรวจดู คุณจะไม่ได้พบแค่เซลล์ที่บรรจุพันธุกรรมของตัวมันเองเพียงอย่างเดียว แต่จะพบเซลล์ที่บรรจุรหัสพันธุกรรมพี่น้องฝาแฝดของมันผสมผสานอยู่ด้วย! เท่ากับว่ามาร์โมเส็ทตัวนั้นเป็นทั้งตัวมันเองและทั้งพี่น้องของมันด้วยในเวลาเดียวกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มาร์โมเส็ทมีตัวตนในระดับพันธุกรรมถึง 2 ตัวตนในร่างเดียว! ในทางวิทยาศาสตร์ เราเรียกสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษแบบนี้ว่า Genetic Chimera หรือ ไคเมร่าพันธุกรรม

ไคเมร่า มาจากชื่อสัตว์ประหลาดในตำนานกรีก ซึ่งมีลักษณะผสมผสานระหว่างสัตว์หลาย ๆ ชนิด มีหัว 3 หัว หัวหนึ่งเป็นสิงโต อีกหัวหนึ่งเป็นมังกร ส่วนอีกหัวหนึ่งเป็นแพะ ในทางพันธุกรรม ภายนอกสัตว์ที่เป็นไคเมร่าจะมีหน้าตาเหมือนสัตว์ปกติธรรมดาทั่วไปนี่แหละ มีแต่ในระดับเซลล์เท่านั้นที่เป็นส่วนผสมระหว่างสัตว์มากกว่า 1 ตัวเข้าด้วยกัน

มาร์โมเส็ท กับพันธุกรรมไคเมร่า เมื่อลิงหนึ่งตัวมีหลายตัวตนในร่างเดียว

ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน แวดวงวิทย์รู้มานานแล้วล่ะครับว่า มาร์โมเส็ทเป็นไคเมร่าในเลือด หมายถึงว่าเม็ดเลือดมันมีปนเปทั้งที่เป็นเซลล์ของตัวเองและเซลล์ที่ได้มาจากพี่น้องฝาแฝดด้วย แต่เมื่อปี 2007 เพิ่งมีการค้นพบว่า ระบบอื่น ๆ ในร่างกายของมันก็เป็นแบบนั้นด้วยเหมือนกัน ผลการวิจัยโดยทีมของ ดร. คอรินน่า รอสส์ (Corinna Ross) แห่งมหาวิทยาลัยเนบราสก้า สาขาลินคอล์น (University of Nebraska at Lincoln) ระบุว่า มาร์โมเส็ทเป็นไคเมร่าแทบจะทั้งตัวเลยก็ว่าได้ แต่จะเป็นมากเป็นน้อยนั้นแล้วแต่อวัยวะ ยกตัวอย่างเช่น ในม้ามหรือในตับ อาจจะประกอบไปด้วยเซลล์ที่มาจากฝาแฝดถึงประมาณ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ถ้าเป็นอวัยวะอย่างผิวหนังหรือสมอง อาจจะพบเซลล์ของฝาแฝดปะปนอยู่แค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ปรากฏการณ์ไคเมร่าในมาร์โมเส็ทที่พบนั้น ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ตับ ไต ไส้พุง ปอด ม้าม เลือด หัวใจ ผิวหนัง หรือสมองเท่านั้น แต่ยังแพร่ขยายเกินเลยไปจนถึงระดับเซลล์สืบพันธุ์ด้วย! นั่นหมายความว่าอย่างไรครับ ถ้าว่ากันตามนี้ก็คือ มาร์โมเส็ทตัวผู้ตัวหนึ่งที่คุณเห็นกำลังเดิน ๆ ชิลล์ ๆ อยู่บนต้นไม้เนี่ย ไม่เพียงแต่มีสเปิร์มของตัวเองอยู่ในอัณฑะของมันเท่านั้น แต่ยังคอยพกพาสเปิร์มของพี่ชาย (หรือน้องชาย) ของมันอีกจำนวนหนึ่งติดตัวไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา!

เท่ากับว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มาร์โมเส็ทหนุ่มตัวนี้ไปมีเมียมีลูก ลูกที่เกิดมาอาจจะมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง (ตามผลวิจัยค้นพบว่าเป็นประมาณ 1 ใน 3) ที่จะได้รับสืบทอดพันธุกรรมของพี่น้องฝาแฝดของมันไปแทน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เด็ก ๆ อาจถือกำเนิดมาจากสเปิร์มของคุณลุง แทนที่จะเกิดมาจากสเปิร์มของพ่อแท้ ๆ ของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่คุณแม่ก็ไม่ได้เคยไปมีชู้กับพี่ชายของสามีมาก่อน จากมุมมองของคุณพ่อ ลูกที่เกิดมาอาจจะไม่ใช่ลูก แต่อาจจะเป็นหลานของตัวเอง มาร์โมเส็ท 2 ตัว อาจจะเป็นทั้งพี่น้องกัน และเป็นลูกพี่ลูกน้องกันด้วยในเวลาเดียวกัน

เอาเถอะ ประเดี๋ยวไว้ค่อยมางงเรื่องครอบครัวมาร์โมเส็ทกันต่อละกันนะครับ ตอนนี้ขอเปลี่ยนเรื่องไปดูในคนมั่งดีกว่า ว่าหากเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาบ้าง มันจะเป็นยังไง

ปรากฏว่าในคนเราเนี่ย ก็มีปรากฏการณ์ไคเมร่าเกิดขึ้นบ้างเหมือนกันครับ แต่ว่า นานน้านนจะพบเป็นข่าวขึ้นมาสักที ไม่ได้เกิดเป็นอาจิณเหมือนอย่างในมาร์โมเส็ท

เรื่องแรก ลิเดีย แฟร์ชาลด์ (Lydia Fairchild) คุณแม่ลูก 3 ประสบปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง ก็เลยไปสมัครขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากหน่วยงานรัฐ ตามกฎคาดว่า ยิ่งมีบุตรธิดาจำนวนมากเท่าไหร่ ก็น่าจะยิ่งมีสิทธิในการขอรับเงินได้มากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการโกง (เผื่อประเดี๋ยวไปเอาลูกใครไม่รู้มาอ้าง) เจ้าหน้าที่ก็จะต้องมีการขอตรวจดีเอ็นเอดูให้เรียบร้อยเสียก่อนว่าเป็นแม่กับลูกกันจริงหรือเปล่า ไม่อย่างงั้นก็จะอนุมัติให้ไม่ได้ ตรงจุดนี้ คุณลิเดียแกก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็เข้ารับการตรวจไปตามเรื่อง แต่ปรากฏว่าผลตรวจที่ออกมามันช่างน่าเซอร์ไพรซ์นัก

ผลดีเอ็นเอระบุว่า เด็ก ๆ เหล่านั้นเป็นพี่น้องกันจริง และเป็นลูกของสามีคุณลิเดียจริง แต่กลับไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของตัวแกเอง… คุณลิเดียแกก็เถียงบอก มันจะไม่ใช่ได้ยังไงฟะ ก็คลอดออกมาจากท้องตัวเองชัด ๆ แล้วจะให้เป็นลูกคนอื่นไปได้ยังไง!?

อย่างไรก็ตาม ทางการเขาก็ไม่สนล่ะครับ ถือว่าว่ากันตามผลดีเอ็นเอเป็นหลัก คุณลิเดียเลยโดนข้อหาต้องสงสัย ว่าไปลักพาตัวลูกคนอื่นมาแอบอ้าง ซึ่งในกรณีนี้รัฐมีสิทธิที่จะจัดการยึดตัวเด็ก ๆ ไปดูแลแทนได้ คุณลิเดียแกเจอแบบนี้เข้าก็ฉุนกึก รีบไปค้นหาหลักฐานรูปถ่ายตอนท้อง สูติบัตร ใบรับรองจากหมอสูติฯ ต่าง ๆ นานาเอามายืนยัน แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีใครยอมรับฟัง ขนาดทนายเองก็ไม่มีเจ้าไหนยอมรับทำคดีความ เพราะในชั้นศาลแล้ว หลักฐานดีเอ็นเอถือว่าเป็นเสมือนสิ่งศักสิทธิ์ จะไปเถียงยังไงก็ไม่มีทางชนะได้

ในที่สุด ด้วยความอับจนปัญญา ลิเดียจึงเริ่มคิดวางแผนจะพาลูกหนี แต่ทว่าพอดี๊พอดี เรื่องทั้งหมดกลับได้รับการคลี่คลายซะก่อนด้วยความฟลุ๊กแบบสุด ๆ คือในระหว่างช่วงที่ชุลมุนวุ่นวายอยู่นั้นเอง คุณลิเดียแกก็เกิดท้องขึ้นมาอีกรอบ (ยังอุตส่าห์มีอารมณ์อีกนะ) และในการตั้งครรภ์ครั้งนี้เอง ทางรัฐได้จ้างเจ้าหน้าที่ศาลให้มาติดตามบันทึกรายละเอียดทุกอย่าง คือถึงขั้นเข้าไปรอในห้องทำคลอดด้วย แล้วพอเด็กเด้งออกมาปุ๊บ ก็รีบเก็บตัวอย่างเซลล์นำไปตรวจดีเอ็นเอในทันที ผลการตรวจสอบออกมาปรากฏว่า ในทางพันธุกรรม เด็กคนนี้ก็ยังไม่ใช่ลูกแท้ ๆ ของลิเดียอยู่ดี! 

ฟังดูบ้าดีแท้ มันจะไม่ใช่ได้ยังไง ก็คลอดกันให้ดูเห็น ๆ! จากเหตุการณ์ที่เกิด ทำให้ทางศาลเริ่มฉุกคิดขึ้นมามากขึ้น อืมม ในเมื่อเป็นแบบนี้ ก็แสดงว่าที่ผ่านที่ผ่านมาเธออาจจะไม่ได้โกหก แต่ถ้าอย่างนั้นแล้ว มันจะอธิบายได้ว่ายังไงกันล่ะ หรือว่าคุณลิเดียแกอาจจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมอะไรบางอย่าง ที่ทำให้คลอดลูกออกมาเป็นลูกคนอื่นได้ ทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยมีใครคาดถึงมาก่อน

ความผิดปกติที่ว่าก็คือปรากฏการณ์ไคเมร่านั่นแหละครับ ต่อมา มีทนายใจดีและหัวไวคนหนึ่งรับคดีนี้ไปทำ แล้วก็ไปค้นจนเจอเรื่องไคเมร่าในคนเข้า ก็เลยได้พาลิเดียไปตรวจสอบ แล้วก็ยืนยันพบว่าเธอเป็นมนุษย์ไคเมร่าจริง ๆ อย่างที่สงสัย ศาลรับพิจารณาแล้วก็เลยตัดสินให้เรื่องทั้งหมดได้รับการยกฟ้องไปในที่สุด ถือได้ว่าจบลงแบบ Happy Ending นี่โชคยังดีที่ว่าลิเดียเป็นผู้หญิง เลยมีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเด็กคลอดออกมาจากตัวเธอจริง ๆ 

ถ้าเกิดสมติว่ากลับกัน ลูกตรวจดีเอ็นเอออกมาแล้วไม่ตรงกับฝ่ายชายขึ้นมาล่ะก็ เรื่องคงวุ่นวายกว่านี้เยอะ ฝ่ายคุณพ่อคงสงสัยทันทีว่าเมียตัวเองต้องไปมีชู้มาแน่ ๆ กว่าจะสืบสาวให้รู้เรื่องได้ว่าสามีเป็นมนุษย์ไคเมร่า มีหวังคงได้หย่าร้างกันไปเรียบร้อยแล้ว (แต่ในคดีฆ่าข่มขืน ไม่แน่ผู้ชายที่เป็นไคเมร่าอาจจะได้รับประโยชน์ เพราะรหัสดีเอ็นเอในสเปิร์มจากที่เกิดเหตุอาจจะสืบมาไม่ถึงตัวฆาตกรตัวจริง)

ไคเมร่าในคนเกิดขึ้นได้ยังไงครับ? สันนิษฐานกันว่า อย่างกรณีของลิเดียนี่ จริง ๆ แล้วตอนอยู่ในท้องแม่ เธออาจจะเคยมีฝาแฝดที่เป็นน้องสาวอยู่อีกคนหนึ่ง (แฝดคนละไข่ เหมือนอย่างในมาร์โมเส็ท) แต่จากนั้นตัวอ่อนของทั้ง 2 คน เกิดการผสมผสานรวมตัวกันกลายเป็นคนคนเดียว ซึ่งก็คือลิเดีย ส่วนน้องสาวของเธอถูกดูดกลืนหายเข้าไปเหลือแค่เป็นเซลล์กระจัดกระจายอยู่ในตัวลิเดียอีกทีหนึ่ง เซลล์ไข่ในรังไข่ของลิเดีย ที่ได้รับการปฏิสนธิจนให้กำเนิดเป็นลูกของเธอออกมา 4 คนนั้น จริง ๆ แล้ว ก็อาจจะมาจากเซลล์ของน้องสาวฝาแฝดเธอที่ไม่มีโอกาสลืมตามาดูโลกผู้นั้นนั่นเอง

ไคเมร่าเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ค่อนข้างน้อยในมนุษย์ แต่ก็ไม่แน่นะครับ จริง ๆ แล้วมันอาจจะเกิดบ่อยกว่าที่มีรายงานกันก็เป็นได้ เพราะคนเราอยู่ดี ๆ นั่งอยู่เฉย ๆ จะไปรู้ได้ยังไงว่าตัวเองเป็นไคเมร่า ก็มีแต่ต้องเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาก่อนเหมือนคุณลิเดียนั่นแหละ ถึงจะมีโอกาสได้รู้ 

อย่างไรก็ตาม ไคเมร่าที่แสดงออกในลักษณะภายนอก ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันนะ อย่างเช่นบางคน ตาสองข้างสีไม่เหมือนกัน พอไปตรวจถึงได้รู้ว่าเป็นไคเมร่า ผู้ชายอีกรายหนึ่ง ตอนแรกคิดว่าตัวเองเป็นทองแดง (มีไข่ข้างเดียว) พอไปให้หมอตรวจดู ปรากฏพบว่าข้างในท้องอีกข้างหนึ่งมีรังไข่ของผู้หญิงซ่อนอยู่ สันนิษฐานว่าเจริญมาจากเซลล์ของน้องสาวฝาแฝดที่เคยอยู่ด้วยกันในท้องแม่ แต่ไม่มีโอกาสได้เกิด (ฟังดูหลอนพิลึก)

ผู้หญิงอีกคนชื่อ คุณแม็คเคย์ ไปตรวจเลือดเพื่อจะบริจาคแล้วบังเอิญเจอว่าตัวเองเป็นคนมีเลือด 2 กรุ๊ป คือทั้ง A และ O ปนกัน หมอที่มีความรู้เรื่องไคเมร่าจึงถามคุณแม็คเคย์ว่ามีฝาแฝดหรือเปล่า คุณแม็คเคย์ตกใจมาก และตอบกลับไปว่า เคยมีน้องชายแฝด แต่เขาตายไปแล้วตั้งแต่ตอนอายุ 3 เดือน 

ไม่แน่นะครับ บางทีตัวคุณเอง ก็อาจจะเป็นไคเมร่าด้วยก็ได้ ต่อให้ตอนนี้คุณไม่มีพี่น้องฝาแฝด แต่ใครจะไปรู้ ไม่แน่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายคุณอาจจะประกอบขึ้นมาจากเซลล์ของเขาก็เป็นได้… ไม่แน่ ฝาแฝดที่ไม่มีตัวตน อาจจะแฝงเร้นอยู่ในตัวคุณเอง 

เอาล่ะ สุดท้ายนี้กลับมาว่าเรื่องมาร์โมเส็ทกันต่ออีกสักนิดเถอะครับ

มาร์โมเส็ท จริง ๆ แล้วไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เรื่องไคเมร่าเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่ยังได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะสัตว์สังคมที่มีความรักใคร่ปรองดองกันดีมาก ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกตัวผู้นี่ ถือได้ว่านิสัยดีมาก ๆ เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ สามีมาร์โมเส็ทจะช่วยเมียตัวเองเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด คอยอุ้มดูแลให้ลูกขี่หลังตลอด ผิดกับพ่อหมา พ่อแมว หรือแม้แต่พ่อลิงอื่น ๆ ซึ่งพอฟันเสร็จแล้วก็มักจะชิ่งอย่างเดียว แล้วไม่ใช่เพียงแค่พ่อเท่านั้น แม้แต่บรรดาญาติ ๆ ป้า ๆ น้า ๆ อา ๆ ลุง ๆ ปู่ย่าตายายมาร์โมเส็ททั้งหลาย พอมีใครมีลูกมีหลานที ก็มักจะมาช่วยกันเลี้ยงช่วยกันอุ้มตลอด เรียกได้ว่าเป็นระบบเครือญาติแบบแน่นแฟ้นมาก ๆ

คุณคอรินน่า รอสส์ เชื่อว่าเอกลักษณ์เรื่องระบบครอบครัวใหญ่ ซึ่งมีสมาชิกคอยช่วยกันเลี้ยงดูเด็กแบบในมาร์โมเส็ทนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความเป็นไคเมร่าของพวกมันนั่นแหละ สาเหตุเนื่องมาจาก พอเป็นไคเมร่าปุ๊บ ก็เท่ากับว่าแต่ละตัวล้วนมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันมากกว่าปกติ อย่างพี่น้องกัน ธรรมดาแชร์ยีนร่วมกันแค่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่พอเป็นไคเมร่า เซลล์ของฉันส่วนหนึ่งก็เป็นของเธอ เซลล์ของเธอส่วนหนึ่งก็เป็นของฉัน มันทำให้ยิ่งกลายเป็นญาติสนิทกันเข้าไปใหญ่ เลยระดับพี่น้องปกติไปอีก แถมถ้าเกิดพี่มีลูก ลูกที่เกิดมาก็อาจจะเป็นลูกของน้องก็ได้ ส่วนลูกที่เกิดกับน้องก็อาจจะเป็นลูกทางพันธุกรรมของพี่ก็ได้เหมือนกัน กลายเป็นว่าใครก็ตามมีลูก ก็ยิ่งช่วย ๆ กันเลี้ยงนั่นแหละดีที่สุด สังคมมันก็เลยออกมาในสภาพแบบว่า ไม่ค่อยมีการแบ่งแยกครอบครัวกันเท่าไหร่ ใครมีอะไรก็ช่วยเหลือกันไปนั่นแหละ จะยังไงก็ญาติ ๆ กันทั้งนั้น เพราะเนื่องมาจากปรากฏการณ์ไคเมร่านั่นเอง

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจครับ บางครั้งการถ่ายเทเซลล์ระหว่างคู่ฝาแฝดที่เกิดขึ้นในท้องแม่ อาจเกิดแค่ในทิศทางเดียว ยกตัวอย่างเช่น เซลล์จากตัวอ่อนมาร์โมเส็ท A อาจจะอพยพข้ามไปปนกับตัวอ่อนมาร์โมเส็ท B แต่ในทางกลับกัน เซลล์จากตัวอ่อนมาร์โมเส็ท B ไม่ได้อพยพข้ามมาปนกับตัวอ่อนของมาร์โมเส็ท A เมื่อการถ่ายเทเกิดขึ้นด้านเดียวแบบนี้ ก็จะก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ลูกมาร์โมเส็ทตัวหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นไคเมร่า ในขณะที่พี่น้องฝาแฝดของมันอีกตัวหนึ่ง เติบโตขึ้นมาเป็นสัตว์ที่ทุกเซลล์ล้วนมีพันธุกรรมฉบับเดียวเหมือนกันหมดตามปกติ 

ทีมวิจัยทีมเดิมใช้โอกาสนี้ตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อลูกตัวหนึ่งเป็นไคเมร่า แต่อีกตัวหนึ่งไม่ได้เป็น พ่อของมันจะแยกแยะความแตกต่างได้หรือไม่ และจะรักตัวใดตัวหนึ่งมากกว่าอีกตัวหรือไม่

ผลการทดลองออกมาปรากฏว่า โดยเฉลี่ยแล้ว พ่อมาร์โมเส็ทให้เวลากับการอุ้มลูกที่เป็นไคเมร่า มากกว่าลูกที่มีพันธุกรรมปกติถึง 2 เท่า! ทำไมคุณพ่อถึงลำเอียง รักลูกที่เป็นไคเมร่ามากกว่า? คุณคอรินน่า อธิบายบอกว่า ในสัตว์พวกลิง มีหลักฐานว่าพ่อแม่สามารถจดจำลูกของตัวเอง โดยอาศัยแยกแยะจากกลิ่น ไม่แน่ ทารกมาร์โมเส็ทที่เป็นไคเมร่าอาจจะได้เปรียบตรงที่เซลล์ผิวหนังของมันประกอบขึ้นมาจากทั้งเซลล์ของมันเอง และเซลล์ของน้อง (หรือพี่) พอพ่อมาดมเข้า ก็เลยอาจจะได้ความรู้สึกเหมือนกับว่า เป็นลูก 2 ตัว ทั้งตัวพี่และก็ตัวน้องอยู่ในตัวเดียวกัน เปรียบเสมือนเป็นลูกยกกำลังสอง ซึ่งมีกลิ่นยวนใจชวนให้พ่อรักมากกว่าปกติ ทำนองนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้

เคยได้ยินคำกล่าวว่า การค้นพบที่น่าสนใจ บางครั้งก็นำมาซึ่งคำถามเสียมากกว่าคำตอบซะอีก ผมว่ากรณีไคเมร่าในมาร์โมเส็ทนี่เข้าข่ายนั้นเป๊ะ ๆ เลยครับ มันช่างชวนให้ขบคิดซะเหลือเกิน ว่าในโลกของมาร์โมเส็ทนี่ คำว่า ‘ตัวตน’ คืออะไรกันแน่ การเป็นพ่อแม่ลูก เป็นลุงป้าน้าอาหลานเหลนโหลนกันนี่ ตกลงหมายถึงอะไร? และแม้กระทั่ง

แท้จริงแล้ว ความรักคืออะไร

Writer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast