มาร์ก วีนส์ (Mark Wiens) คือนักเดินทาง นักเขียน บล็อกเกอร์ ยูทูเบอร์ และเหนือสิ่งอื่นใดเขาเป็นนักกินผู้ตกหลุมรักอาหารและวัฒนธรรมการกิน โดยเฉพาะอาหารไทย!

มาร์กเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Migrationology.com และ Eatingthaifood.com ที่มีผู้อ่านจากทั่วโลก นอกจากนี้เขายังมีผู้ติดตามใน YouTube 4 ล้านคน ในเพจเฟซบุ๊ก 1.2 ล้านคน และในอินสตาแกรม 7 แสนคน

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมามาร์กทำคลิปวิดีโอแนะนำอาหารไทยอวดชาวโลกไปหลายร้อยคลิป ต่อให้ไม่ใช่ Food Lover แต่เราเชื่อว่าถ้าคุณเล่นอินเทอร์เน็ต คุณจะต้องเคยเห็นคลิปวิดีโอของมาร์กพาไปตะลุยกินอาหารที่แค่เห็นก็น้ำลายสอแล้วแน่ๆ เพราะแต่ละคลิปมียอดวิวหลักแสนไปจนถึงหลายล้าน

คนไทยอย่างเราดูคลิปของมาร์กไป ก็ท้องร้องไปอย่างภาคภูมิใจ

ไม่ใช่แค่อาหารไทย แต่มาร์กสนใจเรื่องวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในอาหาร ทำให้เขาออกเดินทางไปค้นหา สัมผัส และกินอาหารแต่ละจานในแต่ละพื้นที่ของโลก

มาร์กเริ่มต้นเล่าเรื่องราวการกินและการเดินทางของเขาลงบนอินเทอร์เน็ตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันคือแพสชัน และตั้งเป้าหมายไว้ว่าแพสชันของเขาจะต้องเติบโตงอกเงยเป็นเงินที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้

ทุกวันนี้มาร์กมีอาชีพเป็น Full-time Travel Eater ที่มีรายได้จากการทำสิ่งที่เขารัก

และนี่คือบทสนทนากับนักกินผู้โด่งดังในร้านอาหารรสชาติจัดจ้านแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่จะพาคุณไปทำความรู้จักตัวตนและวิธีคิดเบื้องหลังความสำเร็จของเขา

Mark Wiens
Mark Wiens

คุณตกหลุมรักการกินตั้งแต่ตอนไหน

ตั้งแต่เกิดเลยครับ แม่ผมเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่ทำอาหารเก่งมาก ผมเลยได้กินทั้งอาหารอเมริกันและอาหารเอเชียนกลิ่นอายฮาวาย (แม่ผมเป็นคนรัฐฮาวาย) มาตั้งแต่จำความได้

คุณออกเดินทางท่องโลกตั้งแต่ยังเด็กเลย ช่วยเล่าความทรงจำนั้นให้ฟังหน่อย

ครอบครัวของเราอาศัยที่เมืองฟีนิกซ์ (Phoenix) รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา จนผมอายุ 5 ขวบเราก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองชื่ออัลแบร์ตวิลล์ (Albertville) ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 1 ปี เพราะพ่อแม่ผมทำงานกับองค์กรมิชชันนารี และจะต้องเดินทางไปทำงานที่ประเทศคองโกซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในภาษาหลัก

พวกท่านจึงตัดสินใจมาอยู่ที่เมืองเล็กๆ กลางหุบเขาแห่งนี้ก่อนเพื่อเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศส ตอนนั้นผมยังเด็กมากเลยจำอะไรแทบไม่ได้เลย

จากนั้นเราก็ย้ายไปที่ประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา เมืองที่เราอยู่เล็กมากขนาดที่เรียกว่าหมู่บ้านก็ยังได้และอยู่กลางป่า ผมมีความทรงจำที่น่าทึ่งเกี่ยวกับอาหารที่นั่นเยอะมาก (หัวเราะ)

เติบโตขึ้นในเมือง (หมู่บ้าน) กลางป่า ประสบการณ์อาหารอะไรบ้างที่คุณจำได้ไม่ลืม

เพราะอยู่กลางป่า เราเลยหาซื้อได้เฉพาะวัตถุดิบท้องถิ่นสดๆ เท่านั้น พวกอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋องไม่มีขายที่นั่น จริงๆ แล้วไม่มีตลาดด้วยซ้ำ คนท้องถิ่นจะหอบข้าวของมาขายให้ถึงบ้าน ลักษณะคล้ายรถกระบะของสดที่ตระเวนขายไปตามหมู่บ้านในกรุงเทพฯ ต่างกันตรงที่ที่คองโกเขาขายจระเข้กันด้วย

ผมจำได้แม่นเลย ครั้งหนึ่งแม่ผมซื้อจระเข้ทั้งตัวมาไว้สำหรับทำอาหาร 1 เดือน โดยใช้แทบจะทุกส่วนของจระเข้ ความเจ๋งของเนื้อจระเข้คือแต่ละส่วนมีรสชาติต่างกันอย่างสิ้นเชิง บางส่วนรสชาติคล้ายไก่ บางส่วนรสชาติคล้ายปลา และบางส่วนรสชาติคล้ายเนื้อแดง

ตลอดเดือนนั้นครอบครัวเราเลยได้กินอาหารจีนหลายเมนูที่ทำจากเนื้อจระเข้ โอ้! มีครั้งหนึ่งแม่ผมทำสปาเกตตี้จระเข้มีตบอลด้วย (หัวเราะ)

วัตถุดิบอีกอย่างที่ฮิตมากๆ ที่คองโกคือด้วงมะพร้าวแบบที่คนไทยนิยมกินกัน ถือเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่อร่อยมาก

ใช้ชีวิตอยู่ที่แอฟริกาสิบกว่าปี คุณมีเพื่อนชาวแอฟริกันเยอะไหม

ตอนอยู่ประเทศคองโกผมอายุ 6 – 7 ขวบและเรียนโฮมสคูลเลยไม่ได้มีเพื่อนเท่าไหร่ ต่อมาครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองไนโรบี เมืองหลวงของประเทศเคนยา จากเด็กกลางป่าก็ได้มาเป็นเด็กในเมืองอีกครั้ง (ยิ้ม) ผมเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติจนจบมัธยมปลาย และได้พบกับเพื่อนๆ มากมายจากทั่วโลก

เพราะเป็นโรงเรียนนานาชาติ เพื่อนๆ ผมสมัยมัธยมเลยมาจากทั้งแอฟริกา อเมริกา ยุโรป และเอเชีย เพราะทุกคนมาจากต่างวัฒนธรรม ผมเลยได้ลองชิมอาหารและได้พบครอบครัวของเพื่อนๆ จากหลากหลายที่มา

ผมกินอาหารเกาหลีครั้งแรกจากกล่องข้าวที่เพื่อนชาวเกาหลีห่อมาจากบ้าน มันอร่อยมาก (ลากเสียงยาว) จนผมตั้งปณิธานไว้ในใจเลยว่าสักวันหนึ่งผมจะต้องไปกินอาหารเกาหลีต้นตำรับที่ประเทศเกาหลีให้ได้

ตอนนั้นที่เคนยามีร้านอาหารไทยด้วยนะ อาจจะไม่ได้รสชาติไทยจ๋าแต่จำได้ว่ามันอร่อยมาก ผมก็ตั้งปณิธานไว้เช่นกันว่าจะต้องไปกินอาหารไทยแท้ๆ ที่ประเทศไทยให้ได้ ตอนนี้ได้กินแล้วครับ เยอะด้วย (หัวเราะ)

Mark Wiens

คุณเรียนจบสาขา Global Study ฟังชื่อแล้วน่าสนใจมาก มันเป็นสาขาเกี่ยวกับอะไร

ผมกลับมาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกาหลังจบมัธยมปลายที่เคนยา จริงๆ แล้วช่วงเข้ามหาวิทยาลัยผมค่อนข้างเคว้ง ยังไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไรในอนาคต ผมเลยลงเรียนสาขา Global Study ซึ่งเรียนเกี่ยวกับเรื่องราวทั่วๆ ไปในโลก เพราะผมสนใจเรื่องวัฒนธรรม

แต่ผมชอบที่จะเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมผ่านการออกไปสัมผัสด้วยตัวเองมากกว่าจากในหนังสือ

ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยผมทำงานพาร์ตไทม์และเริ่มทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองบน eBay ช่วงนั้นคือปี 2004 – 2005 การขายของออนไลน์กำลังเริ่มบูม และการทำธุรกิจบน eBay ก็สนุก เพราะรูปแบบคล้ายการประมูล คุณต้องมีกลยุทธ์ในการต่อรองราคา มีลูกล่อลูกชนพอสมควร คุณจึงจะชนะและได้ของเจ๋งๆ มา

ผมหาเงินได้มากพอจะส่งตัวเองเรียนมหาวิทยาลัย และเก็บไว้สำหรับท่องเที่ยวทันทีหลังเรียนจบ

และคุณก็ออกท่องเที่ยวทันทีหลังเรียนจบ!

ใช่ครับ ผมไปทวีปอเมริกาใต้ ลงใต้ไปจนถึงประเทศอาร์เจนตินา ปีนเทือกเขาแอนดีส และกินแหลกเลย (หัวเราะ)

หลังจาก Solo Trip ครั้งนั้น ผมเริ่มเขียนบล็อกเพื่อแชร์รูปภาพและเรื่องราวที่ผมไปพบเจอมา Migrationology.com จึงถือกำเนิดขึ้นช่วงปี 2009 เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในยุคที่อินเทอร์เน็ตกำลังเติบโต แต่ผมก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าตัวเองอยากทำอะไรต่อ รู้แค่ว่าอยากไปลองกินอาหารชาติต่างๆ ให้มากที่สุด ผมเลยตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวมากรุงเทพฯ

ทำไมถึงเลือกมาประเทศไทยเป็นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผมชอบอาหารไทยมากและตั๋วเครื่องบินถูกครับ (หัวเราะ)

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปเยอะมากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าออกไปนอกกรุงเทพฯ บางพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเหมือนเดิมนะครับ ยังคงมีเสน่ห์เหมือนเดิม

มุมมองของตัวผมที่มีต่อเรื่องราวรอบตัวก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เพราะครั้งแรกที่มาถึงกรุงเทพฯ ผมเองก็ยังเป็นนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเกอร์ผมยาวที่ยังไม่ได้วางแผนอะไรกับชีวิตเลยเหมือนกัน ถือว่าเติบโตขึ้นทั้งตัวตนข้างในและเมืองที่ผมอาศัยอยู่ (ยิ้ม)

คุณค้นพบอะไรบ้างระหว่างการเดินทางท่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตอนผมอยู่ที่ฟิลิปปินส์ หลังจากเดินทางไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้วประมาณ 6 เดือน เพื่อนสมัยมัธยมปลายที่ผมรู้จักที่เคนยาส่งข้อความจากสหรัฐอเมริกาว่าอยากมาหา ตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังจะไปที่ไหนต่อ ที่เดินทางมาตลอดหลายเดือนก็ไม่ได้วางแผนอะไรทั้งนั้น (หัวเราะ)

ผมเลยบอกเพื่อนว่า ไปเจอกันที่กรุงเทพฯ เพราะเป็นเมืองศูนย์กลาง เดินทางไปสะดวก อีกอาทิตย์ต่อมาผมก็บินกลับมากรุงเทพฯ และพบเพื่อนซึ่งใช้เงินเก็บที่เหลือทั้งหมดซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวมากรุงเทพฯ จริงๆ ตอนนั้นเราถังแตกกันทั้งคู่ (หัวเราะ)

หลายเดือนต่อมาผมหาเงินด้วยการจัด English Camp สำหรับเด็ก และคิดว่าควรหางานประจำทำเพื่อเก็บเงิน สุดท้ายผมเซ็นสัญญาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

ตลอดทั้งปีของการเป็นครู แม้ผมจะสนุกกับการสอนเด็กๆ แค่ไหนก็ตาม สุดท้ายผมก็ค้นพบว่าการนั่งอยู่กับที่ในห้องเรียนไม่ใช่ความสุขในชีวิตที่ผมตามหา

ความสุขของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนสุขกับเสถียรภาพและชีวิตที่เป็นแบบแผน แต่บางคนอย่างเช่นผม ความสุขคือความท้าทาย คือการเดินทาง คือการสำรวจ คือประสบการณ์ที่ต้องออกไปพบเจอด้วยตัวเอง

Mark Wiens

เมื่องานประจำไม่ใช่เส้นทางที่คุณอยากเดิน คุณค้นหาเส้นทางของตัวเองพบได้ยังไง

ระหว่างที่เป็นครู ผมเขียนเรื่องราวต่างๆ ลงไปใน Migrationology.com เยอะมาก เรียกว่าเป็นช่วงฝึกเขียนเลยก็ว่าได้ และผมตั้งเป้าหมายให้ตัวเองไว้ว่าจะต้องหาเงินจากการทำงานบนอินเทอร์เน็ตให้ได้ เพราะผมรู้แล้วว่าความสุขของผมคืออะไร

Migrationology.com โด่งดัง เป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้คุณได้ยังไง

เวลาที่เขียนลงเว็บไซต์ ผมจะคำนึงถึง 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ส่วนแรกคือเนื้อหาที่เป็นมุมมอง ความคิดเห็น ประสบการณ์ ของผมที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่จับต้องได้ อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด เช่น ต้องขึ้นรถประจำทางสายอะไร ลงที่ป้ายไหน มีจุดสังเกตตรงไหนบ้าง รวมถึงทิปส์ที่เป็นประโยชน์แบบเพื่อนบอกต่อให้เพื่อนฟัง การเขียนของผมมันเลยออกมาคล้ายๆ สำนวนพูด เหมือนพูดรัวออกมาแล้วเขียนตาม

ส่วนที่ 2 ท้าทายมากในความคิดของผม นั่นคือการเขียนให้เป็นไปตามหลักของ SEO ทุกวันนี้ SEO ละเอียดและซับซ้อนขึ้นมาก เมื่อ 10 ปีที่แล้ว SEO เป็นเรื่องของคีย์เวิร์ดเสียส่วนใหญ่

ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าคนจะเสิร์ชพบ ทุกบทความในเว็บไซต์ของผมจึงอ้างอิงคีย์เวิร์ดตาม SEO แทบจะทั้งหมด ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องความสำคัญของ SEO นัก ผมเองก็หาความรู้เรื่องนี้เพิ่มเติมจากบล็อกเกอร์ชาวต่างชาติบนอินเทอร์เน็ตเหมือนกัน

นอกจากรูปแบบและวิธีการนำเสนอคอนเทนต์ที่จับต้องได้ ทำให้เข้าถึงคนส่วนใหญ่ง่าย ผมคิดว่าเพราะเว็บไซต์ของผมอยู่ใน High Ranking ของ Google

สมมติว่ามีคนค้นหาคำว่า ‘อาหารไทย’ เขาจะพบเว็บไซต์ของผมบนหน้าแรกๆ ของการค้นหา ซึ่งการที่เว็บจะแสดงอยู่บนหน้าแรกๆ ของการค้นหาได้ ต้องมาจากการทำ SEO ที่เกี่ยวโยงกับคีย์เวิร์ด ‘อาหารไทย’

Mark Wiens
Mark Wiens

ทุกวันนี้อันดับบนหน้าค้นหาของ Google และ Search Engine อื่นๆ มีความสำคัญมาก เพราะการที่เว็บไซต์คุณอยู่อันดับแรกกับอันดับที่ 5 บนหน้าค้นหา ย่อมทำให้จำนวนคนที่คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ต่างกันมหาศาล เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะคลิกเข้าไปดูแค่ 1 – 2 เว็บไซต์แรกเท่านั้น

เมื่อคนเข้ามาอ่านเว็บไซต์มากขึ้น Traffic บนเว็บไซต์ก็มากพอที่ผมจะสามารถขาย Banner โฆษณาบนเว็บไซต์ได้

จากนั้นช่วงที่หมดสัญญาการทำงานประจำเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ผมก็ออก e-Book ชื่อ The Eating Thai Food Guide ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะถือเป็นโปรดักต์ชิ้นแรกที่สามารถสร้างเงินให้ผมได้อย่างจริงๆ จังๆ นอกเหนือจากโฆษณา 

ข้อดีของ e-Book คือมันไม่มีต้นทุนอะไรเลย ไม่มีค่าตีพิมพ์ ไม่มีค่ากระดาษ ไม่มีค่าขนส่ง คุณสามารถขายซ้ำไปได้เรื่อยๆ แทบจะเป็นกำไร 100 เปอร์เซ็นต์เลยก็ว่าได้ ไม่นับต้นทุนเวลาของตัวผมเองนะ (หัวเราะ) ผมใช้เวลารวบรวมข้อมูลและเรียนรู้เรื่องอาหารไทยด้วยตัวเอง 2 – 3 ปี ตั้งแต่วันแรกที่ผมมาถึงประเทศไทย ก่อนจะกลายมาเป็น e-Book เล่มนี้

ในเมื่อคุณมีเว็บไซต์ที่กำลังไปได้ดีอยู่แล้ว ทำไมถึงต้องสร้างแพลตฟอร์มเพิ่มอย่าง YouTube Channel

หลังจากออก e-Book และได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี ผมก็พยายามมองหาความท้าทายใหม่ๆ ให้ตัวเองอีก (ยิ้ม) จริงๆ การทำงานพวกนี้มันอาศัยแรงกระตุ้นในตัวเองเยอะพอสมควร ผมจึงทำโดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน ไม่ได้ทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้เส้นทางสู่เป้าหมายพวกนั้นมาเป็นแรงกระตุ้น

ประกอบกับผมเริ่มคิดว่าในแต่ละบทความควรมีวิดีโอประกอบเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ผู้อ่านสัมผัสบรรยากาศรอบๆ ร้านอาหารซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นร้านข้างถนน มีเรื่องราวมากมายอยู่นอกเหนือโต๊ะอาหาร ได้ยินเสียงความกรอบ ได้เห็นควันลอยฉุยจากอาหาร เพื่อให้ผู้อ่านสัมผัสทั้งสี่มิติ ไม่ใช่แค่ภาพนิ่งและตัวอักษรบรรยาย

Mark Wiens

ตอนที่ผมเริ่มทำ YouTube Channel ตอนนั้นการเล่าเรื่องผ่านวิดีโอยังไม่ได้เป็นที่นิยมอย่างทุกวันนี้ แต่คนในแวดวงออนไลน์คอนเทนต์ก็พอมองออกครับว่าวิดีโอกำลังมา แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เสพคอนเทนต์จากวิดีโอแทนการอ่านไปแล้ว

ตอนนั้นผมมีกล้องถ่ายรูปตัวเล็กๆ ที่ถ่ายวิดีโอได้ มีอินเทอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ แล้วทำไมผมถึงจะไม่เริ่มทำสิ่งที่รู้ว่ามันกำลังจะได้รับความนิยมในอนาคตล่ะ จริงไหม

ผมตั้งเป้าหมายให้ตัวเองเลยเดี๋ยวนั้นว่าจะโพสต์วิดีโอสัปดาห์ละ 2 ตัว จนทุกวันนี้ผ่านมา 7 ปี จำนวน Subscriber เพิ่มขึ้นเป็นหลายล้านคน แต่ผมยังคงทำตามเป้าหมายเดิมที่ตั้งเอาไว้คือโพสต์วิดีโอใหม่สัปดาห์ละ 2 ตัว (ยิ้ม)

เขินไหมกับการต้องออกกล้อง ทำหน้าที่เป็นพิธีกรในวิดีโอที่คนดูเป็นล้านคนทั่วโลก

ผมก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องออกกล้อง เพราะปกติผมไม่ใช่คนที่จะเริ่มต้นพูดคุยในวงสนทนาใหญ่ๆ ผมไม่ได้ชอบพูดต่อหน้าคนเยอะๆ (หัวเราะ) แต่พอถึงจุดที่จะทำวิดีโอ ผมคิดว่ามันน่าสนใจกว่าถ้ามีคนบรรยายเรื่องราวแทนที่จะเป็นแค่ภาพเคลื่อนไหวเฉยๆ

ถ้าอัดวิดีโอแล้วมีคนเยอะแยะจ้องมองอยู่ ผมจะประหม่าและลิ้นพันกันไปหมด แต่ถ้าอัดวิดีโอไปเดินไปตามท้องถนนหรือร้านอาหารที่คนพลุกพล่านนี่สบายมากครับ ไม่ได้รู้สึกเขินขนาดนั้น พูดกับกล้องก็เหมือนพูดกับตัวเอง ถ้าพูดผิดก็คัตแล้วพูดใหม่ หรือค่อยไปตัดต่อวิดีโอเอาทีหลัง (หัวเราะ) แต่คงเพราะทำมาหลายปีจนตอนนี้ชินกล้องด้วย เลยไม่ประหม่าอย่างเมื่อก่อน

เอาจริงๆ ผมเริ่มต้นโดยที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ทั้งถ่ายวิดีโอ ทั้งดำเนินรายการ ทุกอย่างทำไปเรียนรู้ไปด้วยตัวเองทั้งนั้น เชื่อเถอะ ผมทำได้ใครๆ ก็ทำได้ แค่ต้องเริ่มต้นทำเท่านั้น  

Mark Wiens

แอบสังเกตการถ่ายทำวันนี้ เพิ่งเห็นว่าคุณสามารถอัดวิดีโอได้เลยโดยไม่ต้องมีสคริปต์

มันก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ด้วยครับ ถ้าเป็นที่ประเทศไทย ผมมีความรู้พอสมควรในเรื่องของวัตถุดิบและเมนูอาหาร ทำให้ผมสามารถอธิบายลงลึกไปได้ถึงรายละเอียดในแต่ละจาน

เวลาไปประเทศอื่นๆ ลองชิมอาหารจานแปลกเป็นครั้งแรก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวัตถุดิบในจานที่กำลังกินอยู่คืออะไร (หัวเราะ) ผมจะพยายามอธิบายรสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส เปรียบเทียบกับวัตถุดิบหรืออะไรอย่างอื่นที่คนดูน่าจะรู้จักและจินตนาการได้

เวลาอัดวิดีโอผมจะไม่พูดว่า ‘นี่คือจานที่ดีที่สุดที่ผมเคยกิน’ หรือพยายามให้คะแนนอาหารแต่ละจาน เพราะแต่ละคนรับรู้และมีความชอบในรสชาติที่แตกต่างกัน

ผมไม่ได้ทำ Food Review แต่ผมบอกเล่า Food Experience ของตัวเอง ผมไม่จัดอันดับร้านหรือเมนูอาหาร ผมไปร้านที่เสิร์ฟอาหารที่ดี ไม่ใช่ร้านที่เสิร์ฟอาหารที่ดีที่สุด เพราะนั่นเป็นไปไม่ได้ จะรู้ได้ยังไงว่าอะไรคือดีที่สุดในเมื่อการรับรสชาติเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล (ยิ้ม)

คนชอบคิดว่างานที่คุณทำนั้นแสนสบาย จริงๆ แล้วความยากของการเป็นบล็อกเกอร์และยูทูเบอร์คืออะไร

ความยากและความท้าทายหลักๆ ของงานแบบนี้คือส่วนใหญ่มันมักจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ดังนั้น คุณต้องพร้อมที่จะยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยน และทำงานหนักขึ้นหลายเท่าเพื่อวางแผนใหม่ และไปให้ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ มันอาจจะสบายครับถ้าคุณไม่ได้พยายามผลักดันให้ตัวเองต้องไปถึงเป้าหมายขนาดนั้น ไม่มีใครมาบังคับคุณได้ คุณเป็นเจ้านายตัวเอง

ที่สำคัญคือ คุณต้องรักสิ่งที่ทำ เพราะคุณจะต้องใช้เวลาจำนวนมหาศาลไปกับมัน ตั้งแต่เริ่มคิดคอนเทนต์ ถ่ายทำ ตัดต่อซึ่งกินเวลาเป็นวันๆ เมื่อขั้นตอโปรดักชันทั้งหลายเสร็จสมบูรณ์ออกมาเป็นวิดีโอสักตัวแล้ว แต่มันยังไม่จบแค่นั้น ขั้นต่อไปคือมาร์เก็ตติ้งซึ่งสำคัญมากกว่าหรือเท่ากับขั้นตอนโปรดักชันยุ่งยากทั้งหมด   

เพราะต่อให้คุณทำวิดีโอออกมาดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีใครดู ก็เท่ากับว่าคอนเทนต์นั้นก็ไม่ได้ถูกส่งต่อออกไป การหาตลาดหรือกลุ่มคนที่จะดูวิดีโอของเราจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย คุณต้องทำรีเสิร์ช ทำการบ้าน หาข้อมูล เพื่อเจาะไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย

แม้จะเจอกลุ่มเป้าหมายแล้ว แต่อย่าลืมว่าเรามีคู่แข่งมากมาย ดังนั้น วิดีโอของคุณต้องโดดเด่น ดึงความสนใจไม่ว่าจะเป็นภาพทัมบ์เนล ชื่อเฮดไลน์ คำอธิบายแคปชัน จะต้องสะดุดตาภายในเวลาเสี้ยววินาที และทำให้เขาหยุดเพื่อคลิกเข้ามาดูวิดีโอของเราต่อ

การเป็นบล็อกเกอร์หรือยูทูเบอร์ไม่ได้สบายเลย เราทำงานหนักแทบจะตลอดเวลาด้วยซ้ำ มันมีอะไรมากกว่าแค่ผมไปตระเวนกินอาหารแน่ๆ ครับ (ยิ้ม)

Mark Wiens

ทำไมถึงเพิ่มคู่แข่งให้ตัวเองด้วยการอธิบายขั้นตอนรวมถึงอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ไว้ในเว็บไซต์ ให้คนสามารถทำวิดีโอหรือทำบล็อกอย่างที่คุณทำได้

(ยิ้ม) เอาจริงๆ ผมไม่เคยคิดในแง่การเพิ่มคู่แข่งเลยครับ ผมแค่ใส่ข้อมูลที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่อยากออกมาทำงานจากความชอบ จากแพสชันเหมือนกัน

แต่แม้สุดท้ายมันจะเป็นการเพิ่มคู่แข่ง ผมคิดว่าการแข่งขันจะเป็นตัวกระตุ้นให้ทั้งเราและคู่แข่งอยากพัฒนาคุณภาพงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก

เวลาไปประเทศใหม่ๆ คุณมีวิธีเลือกร้านอาหารยังไง

โซเชียลมีเดียทุกวันนี้เชื่อมโลกเข้าหากัน การติดต่อสื่อสารกับคนท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องยาก ร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ปรากฏในวิดีโอและเว็บไซต์ของผมก็มาจากการแนะนำของคนท้องถิ่นทั้งนั้น บางทีผมก็เข้าไปดูตามเว็บไซต์และกลุ่มโซเชียลมีเดียของคนท้องถิ่นที่รักการกินอาหาร

คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเดินทางไปกินอาหารทั่วโลก

การกินคือสิ่งสำคัญอันดับแรกในการดำรงชีวิตของมนุษย์ คนจำนวนมากมีโอกาสได้รื่นรมย์กับรสชาติอาหารในแต่ละมื้อ สามารถเลือกกินสิ่งที่ชอบได้ตามใจต้องการ แต่ในโลกนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสแบบนั้น ขอแค่มีกินเพื่อประทังชีวิตไปในแต่ละวัน พวกเราถือเป็นคนโชคดี เราจึงควรใช้สิ่งนี้อย่างคุ้มค่า

นอกจากนี้ อาหารยังเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่เชื่อมผู้คนเข้าหากันในทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือคนแปลกหน้าก็ตาม

มองลึกลงไปในอาหารแต่ละจาน เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ รากเหง้าประเพณี ที่ทำให้แต่ละวัฒนธรรมดำรงอยู่อย่างปัจจุบัน แม้แต่วัตถุดิบแต่ละชนิดที่ประกอบกันก็บอกเล่าสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

Mark Wiens

วัฒนธรรมการกินที่ไหนในโลกที่ทำให้คุณทึ่ง

เยอะเลยครับ (คิดอึดใจใหญ่) ที่เคนยามีวัฒนธรรมที่น่าทึ่งอันหนึ่งของชนเผ่ามาไซ ซึ่งหัวหน้าเผ่าจะกินไตสดของแพะเพื่อบูชาจิตวิญญาณ ตอนนั้นเขาส่งมาให้ผมกินด้วย ผมลองชิมไปคำหนึ่ง มันยังอุ่นๆ อยู่เลย รสชาติก็ดีครับ แปลกดี (หัวเราะ)

วัฒนธรรมการกินที่ผมชอบพบเห็นได้ทั่วโลก โดยเฉพาะที่แอฟริกาและตะวันออกกลาง คือการล้อมวงกินอาหารในถาดใหญ่ร่วมกัน

อย่างที่เอธิโอเปียเรียกเมนูนี้ว่า อินเจร่า (Injera) มีกับข้าวสารพัดอย่างใส่มาในถาดให้กินกับแผ่นแป้ง ถาดหนึ่งต้องล้อมวงกินกัน 4 – 5 คน และจะลุกออกจากวงได้ก็ต่อเมื่อทุกคนกินอิ่มแล้วเท่านั้น

หรือที่เยเมนเมนูลักษณะนี้ชื่อ Mandi เป็นถาดขนาดใหญ่ปรุงและเสิร์ฟพร้อมไก่บ้าง ลูกแกะทั้งตัวบ้าง และทุกคนต้องล้อมวงกินในถาดเดียวกันด้วยมือ

นี่คือการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันด้วยวัฒนธรรมการกิน ทำให้คนสื่อสารและใกล้กันมากขึ้นโดยมีอาหารเป็นตัวกลาง

ทำไม ‘ไม่เผ็ดไม่กิน’ ถึงเป็นสโลแกนประจำตัวคุณได้

ตอนที่ผมย้ายมาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ ผมอยากกินอาหารไทยให้หลากหลายที่สุด ผมจึงไปกินอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารตามสั่งร้านเดิมทุกวัน และเปลี่ยนเมนูที่สั่งในแต่ละวันให้ไม่ซ้ำกัน ผัดกะเพรา ผัดผงกะหรี่ ผัดพริกแกง ผัดน้ำพริกเผา ผัดพริกหยวก ผัดกะปิ ผัดน้ำมันหอย และอีกเป็นร้อยๆ เมนู มันน่าทึ่งมากที่อาหารไทยสามารถพลิกแพลงไปได้หลากหลายขนาดนี้

ทุกเมนูที่สั่ง ผมจะบอกเจ้าของร้านว่า ‘เอาเผ็ดมากๆ ครับ’ (หัวเราะ) จนเธอจำผมได้ หลังจากนั้น ทุกครั้งไม่ว่าผมจะสั่งเมนูอะไร เธอจะต่อท้ายให้ผมทันทีเวลาตะโกนไปสั่งพ่อครัวว่า ‘ไม่เผ็ดไม่กิน’

มันเป็นวลีที่เท่มาก (หัวเราะ) จนผมเอามาใช้เป็นเหมือนสโลแกนของตัวเองไปเลย

Mark Wiens

รู้ไหมว่าคุณลบภาพจำที่ว่าฝรั่งกินเผ็ดไม่ได้ไปอย่างสิ้นเชิงเลย

ผมมีเพื่อนต่างชาติที่กินเผ็ดได้เยอะมาก (ยิ้ม) จริงๆ ผมกินเผ็ดมาทั้งชีวิต เรียกได้ว่ากินมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ อาหารไทยเด่นที่รสชาติจัดจ้าน ไม่ใช่แค่เผ็ดเฉยๆ แต่กินแล้วรู้สึกดีเพราะมันอร่อยสุดๆ

รู้ไหมว่าการสั่งอาหารที่ร้านตามสั่งมันท้าทายสำหรับฝรั่งมาก เพื่อนผมเคยไปสั่งข้าวผัดกะเพราที่รถเข็นขายส้มตำ (หัวเราะ) เพราะเขาไม่รู้ว่าอาหารอีสานไม่มีผัดกะเพรา ตอนหลังต้องอธิบายว่า ร้านที่มีครกขายส้มตำ ร้านที่มีกระทะขายผัดกะเพรา ร้านที่มีกับข้าวเป็นถาดๆ สามารถสั่งกับราดข้าวได้หลายอย่าง

มันก็มีบางร้านที่ขายอาหารทุกอย่าง เหนือ กลาง อีสาน ใต้ แต่จากที่ผมลองกินมา ร้านแบบนั้นจะไม่เด็ดเท่าร้านที่ขายเฉพาะอย่าง ทิปส์อะไรแบบนี้ผมเขียนอธิบายไว้ใน The Eating Thai Food Guide ซึ่งมันจะช่วยให้ประสบการณ์การกินอาหารไทยของคนที่ไม่รู้เรื่องอาหารไทยรื่นรมย์ขึ้น

คุณคิดว่าทุกวันนี้เทรนด์การกินเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

ในกรุงเทพฯ เมื่อก่อนผมรู้สึกว่าร้านอาหารหรูๆ มักจะไม่ค่อยเสิร์ฟอาหารไทยต้นตำรับหรือพยายามสร้างความแปลกใหม่สักเท่าไหร่ แต่ทุกวันนี้มีร้านอาหารหรูระดับไฮเอนด์และเชฟไทยเก่งๆ หลายคนที่สร้างสรรค์เมนูซึ่งผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับความเป็นสากล หรือนำสูตรอาหารไทยโบราณมาพลิกแพลง โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและนำเสนอออกมาได้สุดยอดมากๆ

ถ้าถามถึงเทรนด์การกิน ผมว่ายุคนี้มันไม่มีรูปแบบการกินไหนที่โดดเด่นกว่ากันเลย เพราะโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการกินที่หลากหลายมากขึ้น จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันไปมาอย่างอิสระบนอินเทอร์เน็ตที่ผสมผสานกันไปทั้งโลก ผมว่าความหลากหลายนี่แหละคือเทรนด์การกินในยุคนี้

แต่อาหารที่ผมชอบที่สุดก็ยังเป็นสตรีทฟู้ดอยู่ดี (ยิ้ม) เพราะมันเต็มไปด้วยมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติ แต่รวมไปถึงบรรยากาศที่มีสเน่ห์

ดูเหมือนว่าในแต่ละวันคุณกินอาหารเยอะมาก คุณมีวิธีดูแลสุขภาพและรูปร่างยังไง

จริงๆ ผมไม่ได้ชอบกินอย่างเดียวนะครับ ผมชอบออกกำลังกายมากเช่นกัน แต่บังเอิญว่า YouTube Channel ของผมพูดเรื่องอาหาร ไม่ได้พูดเรื่องออกกำลังกาย คนส่วนใหญ่เลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วผมออกกำลังกายทุกครั้งที่มีเวลาเลยครับ (หัวเราะ)

ผมชอบและพยายามกินผักให้มากขึ้น ในขณะที่พยายามลดปริมาณข้าวที่กินในแต่ละมื้อด้วย ที่สำคัญคือ ผมไม่กินขนมจุกจิก ขนมหวาน และน้ำอัดลม

อะไรคือแพสชันที่ทำให้คุณยังหลงรักการกินอยู่ แม้จะกินมาแล้วทั่วโลก

ผมมีความสุขและตื่นเต้นทุกครั้งเวลาเดินทางไปเจอวัตถุดิบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตตามสถานที่ต่างๆ ในโลก ได้ลิ้มรสอาหารบางอย่างเป็นครั้งแรก บางอย่างที่คนในพื้นที่นั้นกินกันมาเป็นร้อยๆ ปี แต่เราเพิ่งเดินทางไปค้นพบ

ผมรักการกิน เพราะมันมีมีเรื่องราวมากกว่าแค่อาหาร ในทุกๆ จานมีความงดงามของวัฒนธรรม ประเพณีและผู้คนท้องถิ่นซ่อนอยู่

จุดหมายปลายทางต่อไปของคุณคือที่ไหน

ผม ภรรยา และลูกชาย กำลังจะไปบราซิลครับ (ยิ้ม)

Mark Wiens

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan