“มารียองสยาม แบรนด์ที่อยากทำให้คนคนหนึ่งเป็นที่รัก”

แพท-ทยิดา อุนบูรณะวรรณ หญิงสาวผู้ตกหลุมรักบาติกจากงานทีสิสบอกกับเราแบบนั้น เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ชอบสะสมผ้าพื้นเมืองโบราณ และมีร้านตัดเสื้อผ้าตั้งแต่สมัยอาม่า แพทซึมซับบรรยากาศเหล่านั้นและผูกพันกับผืนผ้ามานาน 

รู้ตัวอีกที สตูดิโอบาติกเล็ก ๆ ภายในครอบครัวก็เกิดขึ้น มีทีมงานคือคุณป้าและพี่สาว บรรยากาศอบอุ่นนี้ส่งผ่านผลงานกระเป๋าและเสื้อผ้าโทนสีพาสเทลอุ่น ๆ แซมด้วยดอกไม้สุดแสนน่ารัก คือเอกลักษณ์ที่มองปุ๊บรู้ปั๊บว่ามาจาก ‘Marionsiam

Marionsiam ผ้าบาติกฉบับโมเดิร์น จ.อยุธยา วาดลายจากจิตรกรรมฝาผนังและย้อมสีเปลือกมะพร้าว

เบื้องหลังการพาบาติกเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น เต็มไปด้วยความสนุก ความเหน็ดเหนื่อย การค้นพบตัวตน เห็นคุณค่าของดีชุมชน ไปพร้อม ๆ กับเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้ทำเป็นพิเศษ แต่เป็นหนึ่งในสิ่งธรรมดาที่แบรนด์ทำอยู่เสมอ

ระยะเวลาเพียง 2 ปี นับตั้งแต่เธอเริ่มทำทีสิสในวันนั้น ผ่านการประกวด Talent Thai & Designers’ Room จนมีสิทธิ์พาแบรนด์ไปเดินแฟชั่นโชว์ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และรับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวด Creative Textiles Award 2020 ประจำปี 2563 ภายใต้การถอดแบบแนวคิด BCG Economy Model จนมาถึงวันนี้ แพทมองว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

‘เป็นแค่จุดเริ่มต้น’ 

มารียองสยาม

“แบรนด์นี้โตไปกับเรา เป็นพอร์ตโฟลิโอของเรา มันมีความหมายกับเรามาก”

บัณฑิตเอกแฟชั่นดีไซน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาบัณฑิตคณะบริหารธุรกิจส่วนตัว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เอ่ย หลังจากทำแบรนด์มารียองสยามมาแล้ว 2 ปี แพทภูมิใจและพอใจกับการค่อย ๆ เติบโตของแบรนด์ 

เพราะทุกครั้งที่เธอตื่นมาทำงานผ้า เปรียบเสมือนการพักผ่อน

Marionsiam ผ้าบาติกฉบับโมเดิร์น จ.อยุธยา วาดลายจากจิตรกรรมฝาผนังและย้อมสีเปลือกมะพร้าว

“ปกติเราทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วย เทียวไปเทียวมาที่สตูฯ อยุธยา ไปครั้งหนึ่งอยู่เป็นอาทิตย์ ช่วงที่ไปทำผ้าเหมือนเป็นช่วงที่ได้พัก หรือส่วนใหญ่เวลาเราอยากพัก จะชอบวาดรูป สเก็ตช์รูปลงกระดาษ พอต้องไปทำผ้ายาว ๆ เหมือนเป็นช่วงฟื้นฟูเหมือนกันนะ เราต้องมีสมาธิอยู่บนผ้าตลอดเวลา แล้วไม่มีใครมากวนเราเลย เพราะว่ามันเป็นที่ของเรา เราทำได้ตลอดเวลา 

“เราทำเช้าถึงเย็นแบบไม่ต้องไปไหนเลยก็ได้ เคยทำผ้านานที่สุดแบบไม่พักเลย 8 ชั่วโมง เราว่าเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย” ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการเจองานที่เหมือนการพักผ่อนไปในตัว แต่แพทค้นเจอ และทำมันออกมาได้ดีตามที่เธอปรารถนา

ก่อนจะกลายมาเป็นบาติกหนึ่งผืน ผ่านหลากหลายขั้นตอน เริ่มจากเลือกผ้า ขึงผ้า วาดลาย เขียนเทียน ลงสี เคลือบสี ซักทำความสะอาด แล้วนำไปตัดเย็บ แต่ละขั้นตอนของการลงมือทำ ก็เปรียบเสมือนก้าวการเติบโตของมารียองสยามด้วยเช่นกัน

Marionsiam ผ้าบาติกฉบับโมเดิร์น จ.อยุธยา วาดลายจากจิตรกรรมฝาผนังและย้อมสีเปลือกมะพร้าว

เลือกผ้า – เลือกอาชีพ

ผ้าที่เหมาะแก่การนำมาทำบาติก ควรเป็นผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งมารียองก็เลือกผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ แต่เป็นผ้าเส้นใยธรรมชาติที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะทุกการผลิตเสื้อผ้า โรงงานต้องสต็อกผ้าไว้จำนวนมาก เพื่อรองรับการผลิต หลังจากผลิตตามความต้องการของตลาดและแฟชั่น ยังมีผ้าเหลือค้างสต็อกเยอะมาก เพื่อรอปลายทางคือทำลายทิ้ง

“ผ้าที่เหลืออยู่เยอะกว่าที่เราคิดไว้มาก มันมีเยอะมากพอที่จะให้เราไปเลือกได้แบบสบาย ๆ”  ถ้าจินตนาการตามเธอเล่าคงเห็นภูเขาผ้ากองโต แพทตระหนักเรื่องผ้าที่เหลือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความสนใจบาติก

“ตอนเรียนจบต้องทำทีสิสแฟชั่นโชว์ เราเลยเลือกทำบาติก จริง ๆ เราชอบไปเดินงานโอทอปมาก สนใจพวกผ้าไทย ผ้าทอมาตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านชอบเก็บ เราก็เลยสนใจผ้าไทยไปด้วย แล้วก็รู้สึกว่าเทคนิคบาติกคล้ายสิ่งที่เราชอบ นั่นคือดรออิ้ง มันเป็นเทคนิคเด็กมากเลย เราเคยทำตั้งแต่สมัยเด็กแล้ว เวลาไปเดินห้าง ตามบูทเล็ก ๆ เพนต์ผ้าบาติกไว้ให้แล้วเราไประบายสีอย่างเดียว มันอยู่ในบูทปูนปลาสเตอร์ เราก็เลยทำมาตั้งแต่เด็ก เรารู้อยู่แล้วว่าบาติกคืออะไร แค่ไม่เคยทำจริงจัง” สาวเจ้าย้อนความหลัง

Marionsiam ผ้าบาติกฉบับโมเดิร์น จ.อยุธยา วาดลายจากจิตรกรรมฝาผนังและย้อมสีเปลือกมะพร้าว
Marionsiam ผ้าบาติกฉบับโมเดิร์น จ.อยุธยา วาดลายจากจิตรกรรมฝาผนังและย้อมสีเปลือกมะพร้าว

จากความสนใจ สู่การตัดสินใจลงมือทำ 

“เพิ่งคิดว่าจะทำบาติกตอนช่วงทำเล่มทีสิส เพราะรู้สึกว่าเราน่าจะต่อยอดบาติกได้ เราทำ Businesswear เป็นบาติก เป็นเสื้อผ้าที่ใส่ไปทำงานในเมืองได้จริง ๆ และตอนนั้นไม่ค่อยมีใครทำ เพราะคนก็ยังรู้สึกว่าเป็นเสื้อผ้าสำหรับชายหาด ต้องอยู่ทะเลถึงจะใส่ เรามาคิดได้ตอนเอาชุดออกมาโชว์แล้วอาจารย์เห็น กรรมการเห็น ทุกคนเห็น ดีไซเนอร์เขาก็แปลกใจว่ามีแบบนี้ด้วยหรอ เราว่าบาติกในแบบของเรามันคงไปต่อได้เลยลองดู ที่บ้านก็บอกว่า ‘ไม่มีอะไรจะเสีย ลองทำเลย’” แพทเล่า

วาดลาย เขียนเทียน – วาดแรงบันดาลใจ เขียนตัวตน

ถ้าพูดถึง Marionsiam ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวเรา คือภาพของบาติกสีละมุนอ่อนหวาน แฝงความสดใสด้วยลวดลายดอกไม้ ดอกไม้ และดอกไม้ ประดับเต็มผืนผ้า ชวนให้คิดว่าศิลปินต้องได้แรงบันดาลใจมาจากดอกไม้เป็นแน่ 

“ไม่เลย” เธอกล่าวกลั้วเสียงหัวเราะ ก่อนจะเฉลยที่มาสุดเซอร์ไพรส์

“จริง ๆ แล้วมาจากงานภาพเขียนฝาผนัง งานสถาปัตยกรรม เวลาไปที่ไหนเราชอบถ่ายรูปเก็บไว้ เราเป็นคนชอบดูตึก ชอบงานดีเทลเล็ก ๆ บนภาพเขียนฝาผนัง พอดูอันนั้นเสร็จ จะเอามาตัดทอนอีกที บางทีก็ชอบแค่ดอกเล็ก ๆ จุดเล็ก ๆ ที่อยู่บนผนังใหญ่ ๆ เราก็เลือกเอาตรงนั้นมาพัฒนา จนกลายมาเป็นดอกไม้อย่างที่ทุกคนเห็น ทั้งที่จริง ๆ แรงบันดาลใจของแพทไม่ได้มาจากดอกไม้เลย”

สถาปัตยกรรมกับศิลปะสมัยโรโกโกและเรเนสซองส์ต่างหาก ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกผืนผ้า แต่เจ้าตัวก็เล่าปนขำว่าไม่รู้ทำไม ถึงออกมาเป็นดอกไม้ทุกที แต่ความบังเอิญนั้นก็นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์และเสน่ห์ของมารียองสยามที่ยากจะเลียนแบบ 

Marionsiam ผ้าบาติกฉบับโมเดิร์น จ.อยุธยา วาดลายจากจิตรกรรมฝาผนังและย้อมสีเปลือกมะพร้าว
Marionsiam ผ้าบาติกฉบับโมเดิร์น จ.อยุธยา วาดลายจากจิตรกรรมฝาผนังและย้อมสีเปลือกมะพร้าว

ไม่ว่าจะลายอะไร แพทก็สนุกทุกครั้งที่ได้ลงมือร่าง โดยเฉพาะหนึ่งขั้นตอนสำคัญ

“แพทชอบตอนเขียนเทียน ชอบดูเวลาที่มันขึ้นมาเป็นลายเส้นเทียน เวลาเขียนไป เทียนจะค่อย ๆ ไหลออกมาจากจันติ้ง (Tjunting) ค่อย ๆ ไหลออกมาเป็นสาย เราชอบดูตอนนั้นมากที่สุดเลย” แพทตอบ เมื่อเราถามว่าเธอชอบขั้นตอนไหนที่สุด

บาติกเป็นความลงตัวของชีวิตแพท เพราะผสานความชอบดรออิ้ง สีน้ำ และงานคราฟต์เอาไว้ได้ในเวลาเดียวกัน

ลงสี – ลงใจ

“ความสนุกอีกอย่างก่อนลงสี คือการผสมสีเอง” เธอเกริ่นด้วยรอยยิ้ม

“เราลองเทสต์สีไปเรื่อย ๆ มีสมุดเล่มหนึ่งเราทำสวอชขึ้นมาเลย เขียนบอกว่าสีไหนผสมสีไหนได้สีไหน จากแม่สีแบบไหน โทนสีก็เลยจะเป็นประมาณนี้ทั้งหมด เหมือนอารมณ์คนวาดสีน้ำ นักวาดรูปจะมีชาร์ตสี ถาดสี เป็นพาเลตของตัวเอง อันนี้เหมือนกัน เสื้อผ้า กระเป๋าที่ออกมาก็เลยออกมาในทางเดียวกัน” ถ้าให้นิยาม เราขอเรียกพาเลตชุดนี้ว่า ‘สีโทนละมุน บางเบา อบอุ่น’

Marionsiam ผ้าบาติกฉบับโมเดิร์น จ.อยุธยา วาดลายจากจิตรกรรมฝาผนังและย้อมสีเปลือกมะพร้าว
Marionsiam ผ้าบาติกฉบับโมเดิร์น จ.อยุธยา วาดลายจากจิตรกรรมฝาผนังและย้อมสีเปลือกมะพร้าว

Marionsiam เลือกใช้สีธรรมชาติด้วย ตอนนี้มี 2 สี สีฟ้าจากครามสกลนคร และสีชมพูอ่อนจากเปลือกมะพร้าว

“เราใช้เปลือกมะพร้าว เพราะเป็นของเหลือใช้จริง ๆ จากร้านกาแฟแถวบ้านที่ไปซื้อบ่อย ๆ เขาทำกาแฟมะพร้าวแล้วเปลือกไม่ได้เอาไปทำอะไรต่อ ก็เลยขอมาลองดู พอเวิร์กเลยเลือกมาทำ ทุกวันนี้บอกเขาว่าให้เก็บเปลือกมะพร้าวไว้ให้เลยนะ เดี๋ยวไปเอา” เธอเล่าด้วยความสนุกในฐานะลูกค้าประจำเปลือกมะพร้าว พอได้เปลือกมา ก็ต้องต้มให้ออกสี ปล่อยให้เย็นแล้วจึงนำไปหมัก 

เชื่อหรือไม่ว่า จากกระบวนทั้งหมด เปลือกมะพร้าวสีน้ำตาลกลายเป็นสีชมพูทันที

“สีย้อมธรรมชาติ เราว่าไม่จำเป็นต้องขวนขวายทำเพื่อจะรักโลก มันเป็นสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว หาวัตถุดิบง่ายด้วย แล้วทำไมถึงจะไม่ทำล่ะ” แพทย้ำความตั้งใจ เรื่องสิ่งแวดล้อมควรเป็นเรื่องที่ต้องนึกถึงและทำอยู่เสมอจนกลายเป็นความธรรมดา

“เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำให้เรื่องนี้เด่นขึ้นมา เราทำให้มันเป็นเรื่องปกติ จริง ๆ ทำแบรนด์มา 2 ปีแล้ว ตั้งแต่ได้ที่สองงานประกวด หลังจากนั้นก็ใช้ผ้าเหลือทิ้งและสีธรรมชาติมาโดยตลอด แต่ไม่ได้โปรโมต เพราะเราแค่อยากทำให้มันเป็นเรื่องปกติทั่วไป”

แบรนด์เครื่องแต่งกายจาก ผ้าบาติก ที่ใส่ได้จริงจากเทคนิคบาติกริมเล และแนวคิดโมเดิร์นคราฟต์ของดีไซเนอร์รุ่นใหม่
แบรนด์เครื่องแต่งกายจาก ผ้าบาติก ที่ใส่ได้จริงจากเทคนิคบาติกริมเล และแนวคิดโมเดิร์นคราฟต์ของดีไซเนอร์รุ่นใหม่

การลงสีธรรมชาติบนผ้าจากเส้นใยธรรมชาติไปด้วยกันได้ดี แต่ทุกอย่างย่อมมีอุปสรรค 

“การลงสีในบางสภาพอากาศเป็นปัญหามาก อย่างตอนนี้อากาศชื้น ทำงานยากที่สุดแล้ว สิ่งยากที่สุดคือลม พอลมมา เทียนจะแห้งเร็วมาก ต้องเขียนไวมาก บนผ้าที่กระพือตลอดเวลา โหดมากเวลาลงสี ยิ่งรายละเอียดที่เยอะมาก ๆ ต้องใช้สมาธิมาก จะจิ้มสีลงไปให้ถูกช่อง บางทีจิ้มไม่ถูก ออกนอกเส้นบ้าง ด้วยความเป็นบาติก พอสีจิ้มออกข้างนอกนิดหนึ่ง ถ้าพลาดก็คือพลาดเลย”

การลงสีหน้าลมยากพอ ๆ กับการลงพื้นที่หน้าพายุ แพทเล่าย้อนถึงประสบการณ์สนุก ๆ ให้เราฟัง ตอนช่วงทำทีสิส เธอขึ้นเหนือล่องใต้จนกลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน แพทไปเรียนรู้เทคนิคบาติกกับครูช่างที่จังหวัดเชียงใหม่และกระบี่

“เราโทรไปคุยกับเขาว่าอยากลองทำบาติก ตอนแรกเขาไม่เชื่อว่าจะทำจริง ๆ คิดว่ามาเล่น ๆ หรือเปล่า ไปทุกที่เป็นแบบนี้ทุกที่ เราก็แสดงให้เขาเห็นอย่างชัดเจนว่า เราตั้งใจมาทำจริง ๆ เขาถึงยอมสอน” แล้วต้องแสดงออกยังไง – เราถาม

“โอ้โห หนักมาก” เธอตอบทันที  “เราไปตอนมีพายุปาบึกที่แรงมาก ทั้งเครื่องบินมีไม่ถึง 10 คน ตอนอยู่ห้องพักหน้าต่างสั่นแรงมากเพราะลมพายุ เราก็แสดงเจตนาชัดเจนว่าเรามาทำจริง ๆ นะ ตั้งใจมาก ถ้ามาเล่น ๆ คงกลับแล้ว มันลำบากนิดหน่อย แต่สนุกดีค่ะ เป็นประสบการณ์ที่ดี เราไปอยู่กับเขา เขาทำแบบไหนเราก็ทำแบบนั้น เขากินอะไรเราก็กินด้วย” 

ความตั้งใจและจริงใจของแพทแสดงออกผ่านการกระทำ ถ้าไม่ตั้งใจมาจริง ๆ เจอพายุปาบึกก็คงตีตั๋วกลับบ้านแล้ว

“ไปอยู่ครั้งหนึ่งก็ประมาณหนึ่งอาทิตย์ อยู่กับเขาตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น จนเขาเลิกงาน ตอนนั้นเรารู้สึกว่าลำบากมาก ตอนอยู่กระบี่ รถก็ไม่มี เราไปอยู่กับพี่ ๆ ช่างทำผ้า เราอยู่โรงแรมคนเดียวยาว ๆ ไม่รู้จักใครเลย ตอนเช้าไปทำผ้าพร้อมเขา เขาก็ขับรถมาส่ง ตอนเย็นหาร้านข้าวกินเอง ร้านไกลมาก ขับรถก็ไม่เป็น ต้องวิ่งไป 6 กิโลเพื่อซื้อข้าวกลับที่พัก แต่ก็สนุกดีนะคะ”

เพราะตอนนั้นยังไม่มีคนทำบาติกที่กรุงเทพฯ เธอเลยจำเป็นต้องขึ้นเหนือ-ล่องใต้อยู่ครึ่งปีก่อนกลายมาเป็นแบรนด์

แบรนด์เครื่องแต่งกายจาก ผ้าบาติก ที่ใส่ได้จริงจากเทคนิคบาติกริมเล และแนวคิดโมเดิร์นคราฟต์ของดีไซเนอร์รุ่นใหม่

หลายคนรวมถึงเราคงอยากรู้ ว่ามีแวบหนึ่งที่รู้สึกเหนื่อยบ้างไหม

“รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาเลยค่ะ” แพทหัวเราะ ก่อนจะเล่าต่อ “จริง ๆ เตรียมใจตั้งแต่แรกแล้วว่าเหนื่อยแน่เลย เพราะตอนที่บอกอาจารย์ว่าจะทำธีสิสเป็นบาติกชุมชน อาจารย์ก็บอก โห เหนื่อยนะ เพราะว่าปกติ เพื่อนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทำพวกทุนทางวัฒนธรรม พวกงานคราฟต์  เพราะเวลาและพื้นที่จำกัด ส่วนใหญ่เขาจะไปทางแฟชั่นกัน ของเรามันเป็นบาติก ต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างกว้างในการขึงเฟรมต่าง ๆ ก็เลยลำบาก ตอนแรกไม่แน่ใจว่าจะลำบากขนาดนั้น แต่พอเริ่มทำไปก็ลำบากจริงด้วย มันเหนื่อยแต่ก็สนุก ยิ่งพอชินมือไปแล้ว ทุกอย่างเริ่มลงตัว เริ่มมีสตูฯ เป็นของตัวเองแล้ว เป็นโฮมสตูดิโออยู่ที่บ้านที่อยุธยา พอเรามีตรงนี้ก็สบายขึ้นมากเลย”

เมื่อวันนั้นลงตัว แพทจึงทำเรื่อยมาจนถึงวันนี้ และจะเรื่อยไปอีกในอนาคต  

ตัดเย็บ – ตัดแต่งคราฟต์ไทยใส่ในชีวิตประจำวัน

ทุกความทุ่มเทและความตั้งใจแสดงออกมาให้เห็นผ่านทุกสินค้าของ Marionsiam ทั้งกระเป๋าและเสื้อผ้า ในลวดลายดอกไม้เทคนิคบาติก แต่แพทไม่เคยคิดจะหยุดอยู่แค่นั้น เธอใช้เทคนิคอื่น ๆ ที่เคยเรียนรู้มาผสมผสานในแบบฉบับของเธอ

“เราชอบทุกอย่างที่เป็นคราฟต์ เคยทำกระดาษสา เบญจรงค์ เซรามิก เคยใช้อีพอกซีมาปั้นกระดุมแทนเซรามิก เราพยายามหาเทคนิคหลายอย่างที่รวมกันได้ ไม่ใช่แค่บาติกอย่างเดียว จริง ๆ แล้วบาติกคือพื้นผิวเรียบ ๆ แต่พื้นฐานเราไม่ได้ชอบให้มันเรียบ เวลาซื้อผ้าจะดูให้มีเท็กซ์เจอร์ เพราะชอบจับผ้า พอมาทำบาติกก็เลยพยายามหาเทคนิคอื่น ๆ มาเสริมและทำให้งานมีมิติมากขึ้น”

แบรนด์เครื่องแต่งกายจาก ผ้าบาติก ที่ใส่ได้จริงจากเทคนิคบาติกริมเล และแนวคิดโมเดิร์นคราฟต์ของดีไซเนอร์รุ่นใหม่
แบรนด์เครื่องแต่งกายจาก ผ้าบาติก ที่ใส่ได้จริงจากเทคนิคบาติกริมเล และแนวคิดโมเดิร์นคราฟต์ของดีไซเนอร์รุ่นใหม่

กระดาษสา เบญจรงค์ เซรามิก บาติก เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แพทเคยค้นเจอ หญิงสาวที่รักงานคราฟต์ สนุกและตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อพบเทคนิคใหม่ และยังคงตามหาต่อไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดหย่อน ขับเคลื่อนด้วยความรักในเสน่ห์ของงานคราฟต์

“จริง ๆ แล้วคราฟต์ไทยมีเอกลักษณ์เยอะมาก เยอะกว่าหลาย ๆ ประเทศ สวย เนี้ยบ ประณีต ซึ่งเรามองว่าคราฟต์มี 2 แบบ คือ Traditinal Craft กับ Modern Craft  อันหลังจะเป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เราว่าถ้ามีโมเดิร์นคราฟต์เยอะ ๆ มีคนเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาความเป็น Traditional ก็จะขยายได้เยอะขึ้นด้วย” แพทเชื่อว่าถ้าจะให้ภูมิปัญาคงอยู่ต่อไปและได้รับการต่อยอดก็ควรบอกต่อ

“มันอาจจะต้องมีการสานต่อ เราเข้าใจว่าพอเป็นเทคนิคก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้าน เหมือนเวลาได้ยินว่า บ้านนี้ช่างทอเก่งมาก เขาก็จะทำกันอยู่ในครัวเรือน ไม่เอาออกมาให้คนอื่นเห็นว่าทำยังไง เหมือนเป็นสูตรลับเฉพาะครอบครัว เราว่าที่มันหายไปเพราะบางคนในบ้านอาจจะไม่อยากทำแล้ว ในขณะที่คนอื่นอยากทำ แต่ด้วยความเป็นสูตรลับก็เลยบอกกันไม่ได้”

แพทเห็นเสน่ห์ของคราฟต์ไทยตั้งแต่เด็กจนโต และอยากให้คนที่สนใจลองสัมผัสมุมมองแบบที่เธอเห็นในฉบับของ Marionsiam ด้วยเช่นกัน

เราเชื่อว่าแบรนด์เล็ก ๆ แบรนด์นี้จะกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์อันเป็นที่รักของใครสักคนอย่างแน่นอน

แบรนด์เครื่องแต่งกายจาก ผ้าบาติก ที่ใส่ได้จริงจากเทคนิคบาติกริมเล และแนวคิดโมเดิร์นคราฟต์ของดีไซเนอร์รุ่นใหม่

Marionsiam

โทรศัพท์ : 09 3756 3396

เว็บไซต์ : www.marionsiam.com

Facebook : Marionsiam

Instagram : Marionsiam

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

กษิดิศ พันธารีย์

ช่างภาพอิสระที่คลั่งไคล้ญี่ปุ่น ฟุตบอล หนังสือ คาเฟ่ และ ลาเต้เย็น