“If I have seen further it is by standing on the shoulders of giants” (Newton, 1675)

เมื่อพูดถึงนักชีววิทยาทางทะเล (Marine Biologist) หลายคนอาจจะนึกถึงการดำน้ำ ปลาดาว และหาดทราย แต่ทราบกันไหมครับว่าการจะมาเป็นนักชีววิทยาทางทะเล เราต้องเรียนอะไร ผมจะเล่าประสบการณ์การเรียนชีววิทยาทางทะเลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ฟังว่า กว่าโลกเราจะผลิตนักชีววิทยาทางทะเลได้ 1 คน ต้องผ่านประสบการณ์อะไรกันมาบ้าง

ผมมีโอกาสได้มาศึกษาระดับปริญญาโทสาขาชีววิทยาทางทะเล (Marine Biology) ที่ Scripps Institution of Oceanography (SIO) เมืองลา ฮอยยา (La Jolla) แซนดิเอโก (San Diego) รัฐแคลิฟอเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก 

คนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้จักสถาบันนี้สักเท่าไร SIO ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1903 และมีบทบาทสำคัญกับโลกของเราในหลากหลายมิติ ตั้งแต่เป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้สำคัญทางการศึกษาทะเลของโลก เป็นหนึ่งในสถาบันที่พัฒนาเทคโนโลยีใต้ทะเล อยู่เบื้องหลังการชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ของอเมริกา ไปจนถึงเป็นสถาบันวิจัยแห่งแรกของโลกที่ค้นพบและเตือนภัยเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศและสภาวะโลกร้อน 

การมาศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่ SIO นักเรียนทุกคนที่สมัครมาเรียนจะต้องมีงานวิจัยในฝันที่ติดตัวมาอย่างน้อย 3 โครงการ และตามหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่ซ่อนตัวอยู่ในสถาบันแห่งนี้ 

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
Hubb’s Hall ตึกในสถานีวิจัยสำหรับนักชีววิทยาทางทะเล ที่ SIO

ปีที่หนึ่ง รากฐานสำคัญของนักชีววิทยาทางทะเล 

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
Vaughan Hall ห้องเรียนริมทะเลที่มีเสียงเครื่องบินรบบินผ่านเป็นระยะๆ และมีกระดานเซิร์ฟบอร์ดวางอยู่หลังห้อง พร้อมให้นักเรียนออกไปเซิร์ฟหลังเรียนเสร็จ

ในปีที่หนึ่ง นักเรียนในสาขาชีววิทยาทางทะเลต้องเรียนวิชาบังคับ 3 ตัว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเข้าใจกลไกการทำงานของทะเลและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยข้อดีของสถาบันนี้คือ นักเรียนทุกคนจะได้เรียนกับนักชีววิทยาทางทะเลและนักสมุทรศาสตร์ชั้นนำของโลก ซึ่งส่วนมากเป็นคนที่เขียนตำรา ทำวิจัย ให้คนทั่วโลกอ้างอิง หรือเป็นคนคิดค้นทฤษฎีต่างๆ 

วิชาทั้งสามประกอบไปด้วย

1. สมุทรศาสตร์ฟิสิกส์ (Physical Oceanography) เป็นวิชาที่ว่าด้วยการเข้าใจการเกิดคลื่นและการไหลเวียนของมวลน้ำในท้องทะเล ซึ่งต้องเข้าใจตั้งแต่การหมุนของโลกและดวงจันทร์ ความแตกต่างของอุณหภูมิและแรงกดอากาศในชั้นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดลมทะเล ซึ่งจะส่งผลต่อการไหลของน้ำ เป็นต้น 

ในวิชานี้ นักเรียนที่เรียนถือว่าโชคดีมาก เพราะจะได้เรียนกับ ศาสตราจารย์ ดร.ลินน์ ทาลลีย์ (Lynne Talley) นักสมุทรศาสตร์ชื่อดังของโลกและผู้เขียนหนังสือ Descriptive Physical Oceanography ไม่ต้องบอกเลยครับว่ายากขนาดไหน เพื่อนที่เรียนด้วยกันถึงขั้นปาดน้ำตาเมื่อเดินออกจากห้องสอบ เพราะทำแคลคูลัสขั้นสูงที่เอาไปใช้อธิบายการไหลของน้ำไม่ได้ (แต่สุดท้ายก็กอดคอผ่านมาด้วยกัน) 

ในระหว่างเรียน เราต้องทำปฏิบัติการเพื่อจำลองสิ่งที่เรากำลังเรียน เราจำลองทุกอย่างลงไปอยู่ในอ่าง Tank Experiment โดยถังน้ำนี้จำลองการหมุนของโลก เมื่อเราหยดสีลงไปในน้ำ เราจะเห็นการไหลของสีดังกล่าว ซึ่งเป็นการจำลองการไหลของของไหลในโลก (น้ำและอากาศ) เช่น การเกิดลมหรือการเกิดคลื่น

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ถังจำลองการหมุนตัวของโลกเพื่อศึกษาการเกิดคลื่นและลมในทะเล

2. สมุทรศาสตร์เคมี (Chemical Oceanography) วิชาสารเคมีในทะเล ช่วงแรกๆ เราต้องเรียนเกี่ยวกับความเค็มอยู่หลายวันเลยครับ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าใจน้ำทะเลซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของโลก ได้ดึงความรู้ในวิชาเคมีที่เรียนมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลายมาใช้ เช่น ต้องเข้าใจเรื่องกรด-เบส เพื่อเข้าใจการแตกตัวของไอออนในทะเล ต้องเข้าใจความรู้เรื่องธาตุกันมันตรังสี (Isotope) เพื่อใช้ติดตามการไหลของมวลน้ำในโลก และยังต้องเข้าใจถึงวัฏจักรชีวธรณีเคมี (Biogeochemical Cycle) เป็นต้น วิชานี้เราจะไปเรียนปฏิบัติการบนเรือพร้อมกับวิชาถัดไป นั่นคือ

3. สมุทรศาสตร์ชีววิทยา (Biological Oceanography) วิชานี้นักเรียนทุกคนต่างเฝ้ารอ เพราะเป็นวิชาที่จะได้เรียนเกี่ยวกับนิเวศวิทยาทางทะเลและบทบาทกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเล ตั้งแต่แบคทีเรีย แพลงก์ตอน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไปจนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังในท้องทะเล ความเด็ดของวิชานี้คือ มีการออกภาคสนามเยอะมากครับ เราจะได้ไปเดินศึกษาสิ่งมีชีวิตตั้งแต่หาดหิน (Rocky Shore) พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) รวมถึงการออกเรือเพื่อไปศึกษาสิ่งชีวิตในมหาสมุทรแปซิฟิกครับ

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ออกภาคสนามครั้งที่ 1 เดินสำรวจและศึกษาสิ่งมีชีวิตในบริเวณหาดหินตอนน้ำลง ณ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำที่ เมือง La Jolla 
นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ออกภาคสนามครั้งที่ 2 เพื่อสำรวจสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ที่ Mission Bay เมือง San diego

ประสบการณ์ภาคสนาม การออกเรือไปมหาสมุทรแปซิฟิกครั้งแรก

ตี 4 ตรง เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้น ผมรีบตื่นขึ้นมาอาบน้ำ หยิบเสื้อกันลมสีน้ำเงินพร้อมกระเป๋ากันน้ำมารอเพื่อนข้างใต้หอพัก เพื่อจะเดินทางไปท่าเรือทางตอนใต้ของเมืองแซนดิเอโก ซึ่งเป็นฐานทัพของ US Navy เราไปถึงท่าเรือกันเวลาตี 4 ครึ่ง ซึ่งเป็นเวลาที่นัดเช็กชื่อก่อนเรือจะออกในเวลาตี 5 ตรง เรือที่ออกภาคสนามชื่อว่า Research Vessel (R/V) Robert Gordon Sproul เป็นเรือลำเล็กสุดของสถาบัน แต่ใหญ่พอที่จะบรรจุคนได้ถึง 50 คนเลยครับ เมื่อเรือของเราแล่นออกน่านน้ำของรัฐแคลิฟอร์เนีย ผ่านหมอกหนาๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในหนังเรื่อง ไททานิก 

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
สภาพหมอกช่วงออกเดินทางจากฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกา เพื่อไปสำรวจสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรแปซิฟิก

ทุกคนออกมารวมกับบริเวณท้ายเรือ เพื่ออบรมเรื่องการป้องกันภัยบนเรือ เช่น หากเรือไฟไหม้หรือหากมีคนตกน้ำเราต้องทำอย่างไร จากนั้นทุกคนก็แยกย้ายไปกินกาแฟ อาหารว่าง และพูดคุยกันพร้อมชมพระอาทิตย์ขึ้น ในบางครั้งเราจะพบว่ามีโลมาว่ายน้ำมาทักทายเรา แมวน้ำนอนบิดขี้เกียจอยู่ที่ทุ่นกลางทะเล หรือฝูงนกนางนวลที่บินมาเกาะบนเรือของเราครับ

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ฝูงโลมาที่ว่ายมาทักทายระหว่างเรือกำลังจะวิ่งออกจากปากอ่าว

เมื่อถึงจุดที่ 1 เราวัดคุณภาพน้ำทะเลด้วยสิ่งที่เรียกว่า CTD ซึ่งวัดความเค็มของน้ำทะเล ความเป็นกรด-ด่าง อุณหภูมิ พร้อมเก็บตัวอย่างนำทะเลในแต่ละความลึกขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนได้เห็นว่าในทะเลนั้นมีน้ำอยู่หลายระดับเนื่องจากความเค็มไม่เท่ากัน ส่งผลให้ความหนาแน่นของน้ำทะเลในแต่ละชั้นแตกต่างกัน และทำให้อุณหภูมิในแต่ละระดับความลึกแตกต่างกันด้วย ปัจจัยที่กล่าวมามีผลต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลทั้งหมด ข้อมูลที่ได้ออกจากจากเครื่องวัดจะเป็นกราฟที่เหมือนในตำราเป๊ะๆ เลยครับ

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เครื่อง CTD ตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลที่เราจะหย่อนมันลงไปในทะเลในความลึกต่างๆ
นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
จากนั้นเราสามารถมาอ่านผลบนหน้าจอระหว่างเครื่องกำลังถูกส่งลงไปเก็บข้อมูลใต้ท้องทะเล

เมื่อเรือแล่นออกห่างจากชายฝั่งไปอีก เราไปจับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลลึกกัน โดยเริ่มจับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นท้องทะเลก่อนครับ ใช้สิ่งที่เรียกว่าอวนลากแผ่นตะเฆ่ (Otter Board Trawl) และนี่คือสิ่งที่ได้มาครับ 

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ลูกเรือช่วยกันเอาอวนลงไปในทะเล เพื่อจะจับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก 750 เมตร
พอลากอวนขึ้นมา เราก็จะได้ฝูงสัตว์จำนวนมหาศาลมาให้ศึกษากันครับ
นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ปูทูน่าสีแดงที่พบบ่อยในเวลาลากอวนทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิกฟิกเหนือ ถ้าเราลากอวนที่น้ำลึกหน่อย เราก็จะได้เจ้าพวกนี้ครับ
นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ฟองน้ำทะเลน้ำลึกหายากที่ยังไม่ทราบชนิดและอาจเป็นชนิดใหม่ของโลก
นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ปลาคิเมียราที่อาศัยในน้ำลึกได้ถึง 2,600 เมตร

เมื่อได้สัตว์จากท้องทะเลมา เราก็จะมาศึกษากันครับว่ามีสัตว์กี่ชนิด สัตว์แต่ละชนิดปรับตัวอย่างไร หลายครั้งก็จะมีนักวิจัยไปเก็บข้อมูลเพื่อเอาไปทำวิจัยต่อครับ

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เมื่อจับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดขึ้นมา เราก็จะเอามาศึกษาต่อครับว่าแต่ละตัวมีความพิเศษอย่างไร

เมื่อพระอาทิตย์เลื่อนมาตั้งฉากกับท้องทะเล เราก็รับประทานอาหารกลางวันที่เจ้าหน้าที่บนเรือเตรียมไว้ให้ ช่วงบ่ายเราพักกันอยู่บนเรือ ผมและเพื่อนๆ ยืนคุยกันถึงแผนการในอนาคตหลังจากเรียนจบ บางทีเราก็จะเอากล้องส่องทางไกลมาส่องดูวาฬสีเทา (Gray Whale) ที่มักจะโผล่ขึ้นมาทักทายกันบ่อยๆ

ในช่วงเย็นหลังพระอาทิตย์ตก เราเริ่มจับปลาน้ำลึกมาศึกษาครับ เนื่องจากปลาน้ำลึกว่ายขึ้นมาหากินอาหารจากแหล่งน้ำลึกหลังพระอาทิตย์ตก เราจะต้องเตรียมสิ่งที่เรียกว่า IKMT (Isaacs-Kidd Midwater Trawl Net) ซึ่งเป็นอวนที่จะใช้จับปลาที่กำลังว่ายอยู่ในมวลน้ำครับ 

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
อวดชนิดพิเศษ IKMT ที่ใช้สำหรับจับปลาทะเลน้ำลึกที่ออกหากินเวลากลางคืนครับ
นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
สัตว์น้ำลึกปรับตัวได้หลายรูปแบบ นี่คือปลาน้ำลึกชนิดหนึ่งที่จับได้ตอนกลางคืน ข้อมูลของปลาเหล่านี้มีน้อยมากเนื่องจากศึกษาได้ยาก

เมื่อทำทุกอย่างเสร็จ เราก็เดินทางกลับชายฝั่งเวลาประมาณเกือบเที่ยงคืน เป็นอันจบการศึกษาภาคสนามครับ

นี่คือหนึ่งในประสบการณ์ที่ได้หลังจากการออกภาคสนาม หลังจากเรียน 3 วิชานี้จบ นักเรียนทุกคนก็ไปเลือกเรียนวิชาที่ตัวเองจำเป็นต้องใช้สำหรับการทำงานวิจัยในปีที่ 2 ได้เลย เช่น ชีววิทยาของปลา (Biology of Fishes) สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเล (Marine Invertebrates) ชีววิทยาน้ำลึก (Deepsea Biology) ชีววิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเล (Marine Mammal Biology) และอื่นๆ อีกมากมายครับ

ปีที่ 2 เมื่อความรู้เบ่งบานและถึงเวลาออกผล 

เมื่อถึงปีที่ 2 นักเรียนทุกคนเริ่มทำวิจัยตามหัวข้อที่เราสนใจ ผมทำวิจัยเรื่องการส่งเสียงคุยกันของปลาใต้ทะเลครับ หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า จริงๆ แล้วใต้ท้องทะเลนั้นเสียงดังมากๆ โดยเฉพาะบริเวณแนวปะการัง เพราะสัตว์ต่างๆใต้น้ำคุยกันผ่านทางคลื่นเสียงเยอะมากครับ แต่โชคไม่ดีเท่าไร เจ้าปลาของผมไม่ยอมคุยกันในบ่อทดลอง ทำให้ผมต้องเปลี่ยนหัวข้อวิจัยหลังจากนั้น 3 เดือน สุดท้ายผมจึงมาปักหลักศึกษาวิวัฒนาการของพฤติกรรมของปลาตัวนี้ครับ

ปลา Sarcastic Fringehead ขณะกำลังต่อสู้กัน

นี่คือปลา ไม่ใช่ปีศาจใต้ท้องทะเลครับ มันคือปลาที่ชื่อว่า Sarcastic Fringehead พบได้แค่ที่แคลิฟอเนียร์กับเม็กซิโกเท่านั้น ตอนที่ผมเริ่มศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับปลาตัวนี้แทบจะเป็นศูนย์ครับ คำถามสำหรับงานวิจัยของผมนั้นมีแค่ว่า ทำไมปลาชนิดนี้ถึงแสดงพฤติกรรมแบบนี้ และประวัติวิวัฒนาการของพฤติกรรม (Evolutionary History) เป็นอย่างไร 

ผมศึกษาชีววิทยาเปรียบเทียบระหว่างพฤติกรรมของเจ้าปลาตัวนี้กับญาติๆ ของมัน ซึ่งพอยิ่งศึกษาก็ยิ่งมีคำถามประหลาดๆ มากมายโผล่ขึ้นมา เช่น ผมมาค้นพบว่าญาติของปลากลุ่มนี้ดันไปโผล่ในอีกซีกหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก (ที่ประเทศญี่ปุ่น) เอ๊ะ แล้วบรรพบุรุษของมันจะว่ายข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างขวางไปได้อย่างไร และผมได้บังเอิญค้นพบว่า ปากของเจ้าปลาตัวนี้มันสะท้อนแสงยูวีและเรืองแสงฟลูออเรสเซนต์ได้ด้วยครับ ซึ่งใครจะไปรู้ วันหนึ่งเราอาจจะเอาคุณสมบัตินี้มาใช้ประดิษฐ์เสื้อกันแสงยูวีก็ได้

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ปากของปลา Sarcastic Fringehead สะท้อนแสงยูวีและเรืองแสงฟลูออเรสเซนต์ได้

เล่ามาทั้งหมด ดูเป็นคำถามที่ไม่ค่อยจะมีประโยชน์สักเท่าไรใช่ไหมครับ แต่ใครจะไปคิดว่า วันหนึ่งงานวิจัยของผมเรื่องกลายเป็นที่สนใจของคนในโลกออนไลน์ และสุดท้ายผมได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสารคดีชื่อดังทางช่อง NHK ของประเทศญี่ปุ่น และมีสารคดีชั้นนำติดต่อมาเพื่อถ่ายทำเพิ่มเติมครับ 

ท้ายที่สุด หลังจากผมทำวิจัยจบภายในปีที่ 2 ผมก็สอบผ่านไปได้ด้วยดี พร้อมได้ปริญญาโทมาครอบครองครับ แต่ใบปริญญาก็ไม่ได้ทำให้ผมภูมิใจเท่ากับเหตุการณ์ที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
สารคดีที่ผมและทีมงานถ่ายทำสารคดีของประเทศญี่ปุ่นช่วยกันถ่ายทำและฉายทางช่อง NHK ทั่วประเทศญี่ปุ่น

ปิดท้ายความภูมิใจของการเป็นนักชีววิทยาทางทะเล 

หน้าร้อนปี 2015 ผมทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยดูแลห้องเก็บตัวอย่างสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเล (Marine Vertebrate Collection) ในห้องเก็บตัวอย่างที่ SIO นี้ เรามีปลาอยู่ในขวดโหลมากกว่า 2 ล้านตัว 

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ห้องเก็บตัวอย่างปลาและสัตว์มีประดูกสันหลังในทะเลที่ SIO

เนื่องจากเป็นช่วงหน้าร้อน อาจารย์และคนดูแลห้องเก็บตัวอย่างก็ไปพักร้อนกันหมด มีแต่ผมที่นั่งทำงานอยู่ จนกระทั่ง 17.00 น. เสียงโทรศัพท์ในห้องทำงานก็ดังขึ้น

ผม : สวัสดีครับ ห้องเก็บตัวอย่างสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเล ณ สคริปป์ ครับ
เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนชายหาด : สวัสดีครับ ตอนนี้ชายหาดที่บริเวณใกล้กับสถานีวิจัยมีสัตว์ประหลาดนอนเกยตื้นอยู่ ผมคิดว่าเป็นปลาแต่ไม่ทราบว่าคือตัวอะไรครับ สนใจมาเก็บตัวอย่างไหมครับ

ผม (หัวใจเต้น 180 รอบต่อนาที) : ได้ครับ! ให้ไปเจอที่ไหนครับ

เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนชายหาด : มาเจอกันที่ชายหาดตรง Scripps Pier (สะพานของ SIO) ครับ

ผมเตรียมถุงมือ ถาดสังกะสี และที่หนีบตัวอย่าง พร้อมวิ่งออกจากห้องไปยังชาดหาด เพื่อไปเจอคุณตำรวจ เมื่อเจอกัน คุณตำรวจพาผมนั่งรถกอล์ฟวิ่งขนานชายฝั่งไปยังที่เกิดเหตุ 

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
รถของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนชายฝั่งที่มาจากรอรับที่ Scripps Pier

เนื่องจากเป็นช่วงหน้าร้อน คนมานอนตากแดดกันเยอะมาก เมื่อคุณตำรวจพามาถึงที่ ผมเห็นคนกลุ่มหนึ่งน่าจะประมาณ 40 – 50 คน กำลังยืนรุมอะไรบางอย่างอยู่ 

คุณตำรวจเดินนำหน้า โดยผมเดินตามข้างหลัง คนแถวนั้นเริ่มเปิดทางให้ผมและคุณตำรวจเดินเข้าไป เมื่อเดินเข้าไปถึง ผมก็พบกับเจ้าปลารูปร่างอ้วนตัวนี้นอนตายอยู่กลางชายหาด ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากที่กำลังรายล้อม มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย มีคนถามผมว่านี้คือปลาอะไร มีพิษไหม ตายหรือยัง ฯลฯ ผมได้แต่ทยอยตอบทีละคำถาม ระหว่างตอบก็ค่อยๆ หยิบถุงมือยางมาใส่ที่ละข้าง พร้อมอุ้มเจ้าปลายักษ์ตัวนี้ใส่ถาดเหล็ก และคำพูดสุดท้ายที่ผมได้ยินเป็นเสียงของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า

Mom, who is this guy? 

แม่ของเด็กคนนั้นตอบว่า He is a Marine biologist. 

เด็กผู้หญิงอุทาน Wow, He is super cool !

ผมเดินหันหลังกลับไปยังรถพร้อมผู้คนที่กำลังตื้นเต้นกับเจ้าปลาตัวนี้ยืนรวมกันอยู่ด้านหลัง

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ปลาปริศนาที่เกยตื้นที่ชายหาด แท้จริงแล้วคือปลากลุ่มเดียวกับปลากบ (Frogfish)

ในขณะที่พระอาทิตย์กำลังตก ผมนั่งรถกลับห้องเก็บตัวอย่างพร้อมมองชายหาด ทะเล และพระอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า 

นักชีววิทยาทางทะเล เรียนอะไรที่ SIO หนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

วันนั้นผมภูมิใจมาก ไม่ใช่เพราะว่าผมได้ใบปริญญามาเป็นเครื่องยืนยันว่าเราเป็นนักชีววิทยาทางทะเล แต่เพราะผมได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาตอบคำถามให้กับคนสังคม แม้จะเป็นประสบการณ์เล็กๆ แต่ก็เป็นหนึ่งในกำลังใจที่ดีที่สุดในการช่วยผลักดันการทำงานวิทยาศาตร์ต่อไป

บางครั้งนักเรียนที่เรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานในประเทศไทยจะประสบปัญหา เนื่องจากคนส่วนมากไม่เข้าใจ และอาจจะไม่เห็นคุณค่าในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สิ่งหนึ่งที่นักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์ควรภูมิใจ คือเราเป็นคนแรกของโลกที่ทำวิจัยและได้พบสิ่งใหม่ๆ ได้ร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ ผ่านบทความและวารสารวิชาการ ได้ส่งต่อความรู้ดังกล่าวให้กับคนในรุ่นถัดไป เช่นเดียวกับงาของช้างที่เมื่อช้างล้ม ก็ยังมีมูลค่าให้กับผู้คนยุคหลังได้ชื่นชม

และนี่คือประสบการณ์ล้ำค่า ประสบการณ์ที่ซื้อไม่ได้ด้วยเงินที่ผมได้รับจากการมาเรียนปริญญาโท ที่ Scripps Institution of Oceanography ครับ

Writer & Photographer

Avatar

วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์

นักชีววิทยาชาวไทย ผู้สงสัยในธรรมชาติและชอบเรียนรู้เกี่ยวกับชีววิทยาของสิ่งมีชีวิต ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านนิเวศวิทยา วิวัฒนาการ และพฤติกรรมของสัตว์ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา