ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ใคร ๆ ก็คุ้นหูคุ้นตากันดีในสื่อสากล แต่ถ้าว่ากันเรื่องธรรมชาติวิทยา ก็ออกจะชวนตื่นเต้นตาโตอยู่ไม่น้อย ด้วยความเป็นทวีปโดดเดี่ยวเหงา ๆ ในซีกโลกใต้ที่แผ่นดินเคลื่อนตัวแยกห่างไกลมานานหลายล้านปี ทำให้สิงสาราสัตว์ พืชพรรณบนทวีปมีวิวัฒนาการเป็นของตัวเอง

แถมมีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์จนต้องคว้ากล้องออกมาถ่ายกันแทบไม่ทัน

Bennetts wallaby  : Triabunna, Tasmania 
Bennetts wallaby (Notamacropus rufogriseus)
พบเจอกันโดยบังเอิญในเช้าวันหนึ่งที่ Triabunna, Tasmania 

น่าตื่นเต้นทบทวีเมื่อผู้เขียนมีโอกาสเยี่ยมเยือนเกาะแทสเมเนีย (Tasmania) ที่แม้แต่คนออสเตรเลียยังบอกว่าช่างห่างไกลเหลือเกิน โดยเกาะดังกล่าวมีสถานะเป็นรัฐ (State) ภายใต้เครือรัฐออสเตรเลีย เมืองหลวงคือ โฮบาร์ต (Hobart) เป็นเกาะที่รุ่มรวยด้วยธรรมชาติอันน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งไปกว่าแผ่นดินใหญ่ออสเตรเลียเสียอีก แต่เนื่องจากเป็นทริปทำงาน เส้นทางที่เจ้าบ้านผู้จัดงานพาไปชมจึงเป็นอุทยานแห่งชาติ เดินง่าย จบในวันเดียว (เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมงานเหนื่อยจนสลบเหมือดไปก่อนงานจะเริ่ม) เส้นทางที่ผู้เขียนไปเยือน คือ Maria Island (ออกเสียงว่า มา-ราย ตามคนท้องถิ่น) ที่นี่เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ห่างจากโฮบาร์ตไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ การเดินทางก็ง่ายดาย มีเรือข้ามฟากให้บริการหลายรอบต่อวัน โดยขึ้นเรือจากท่าเรือเมือง Triabunna ห่างไปเพียง 16 กิโลเมตร ใช้เวลา 45 นาทีโดยประมาณ

เดินศึกษาธรรมชาติบน Maria Island ออสเตรเลีย เจอจิ้งโจ้ ห่านดินกินหญ้า และวอมแบตตัวตะมุตะมิ
แผนที่แสดงตำแหน่งของ Tasmania และ Maria Island
ภาพ : http://exploringtheearth.com/2014/11/30/mariaisland 

การตั้งชุมชนบนเกาะมีมานานกว่า 35,000 ปี ชาวอะบอริจินในเกาะนี้มีชื่อว่า Puthikwilayti และ เกาะนี้มีชื่อภาษาพื้นเมืองว่า wukaluwikiwayna ส่วนชาวยุโรปเป็นผู้มาทีหลัง โดยใช้พื้นที่เกาะแห่งนี้เป็นสถานที่เนรเทศนักโทษในปี 1825 (เทียบได้กับเกาะตะรุเตาหรือเกาะเต่าในสมัยก่อน)

Maria Island อยู่ห่างจากเกาะแทสเมเนียไม่มาก จึงมีนักโทษว่ายน้ำหนีไปขึ้นฝั่งบนเกาะแทสเมเนียสำเร็จอยู่เป็นประจำ ปลายยุค 1800 จึงถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำเกษตรและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ แต่สุดท้ายก็สู้ราคาสินค้าที่ผลิตบนเกาะแทสเมเนียไม่ได้ (เพราะต้องบวกค่าขนส่งขึ้นฝั่งเข้าไปอีก) กิจกรรมต่าง ๆ ค่อย ๆ เลิกราในทศวรรษ 1960 เกาะแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งประสบความสำเร็จในปี 1971 ทำให้เกาะมารายเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาตินับแต่นั้นมา

กิจกรรมศึกษาธรรมชาติบนเกาะมีมากมาย ทั้งปีนเขา แคมป์ปิ้ง พายคายัค ดำน้ำดูปะการัง เดินชมธรรมชาติแบบสั้น ๆ ในกรณีที่มีเวลาเพียงวันเดียว แถมเป็นฤดูหนาว จึงเหลือเพียงการเดินเส้นทางระยะสั้นเท่านั้นที่ทำได้ ผู้เขียนพร้อมเพื่อนร่วมทางตกลงกันว่าจะเดินเท่าที่ไหว ไม่ฝืนสังขาร และแวะเพียงไม่กี่จุด ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราสนุกสนานและมีความทรงจำดี ๆ กับเกาะมารายได้แบบไม่รู้ลืม

ณ ขณะที่เรือใกล้เทียบท่า Darlington, Maria Island ท่าเรือแห่งเดียวของเกาะ
ณ ขณะที่เรือใกล้เทียบท่า Darlington, Maria Island ท่าเรือแห่งเดียวของเกาะ

เริ่มกันที่ Darlington จุดนี้เป็นท่าเรือหลักของเกาะ กลุ่มอาคารทั้งเก่าและใหม่ล้วนกระจุกตัวอยู่ที่นี่ มีทั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้องน้ำ บ้านพัก รวมถึงซากอาคารเก่ายุคร้อยกว่าปีก่อน คณะทัวร์เฉพาะกิจของเราเดินเลี้ยวไปทางขวา จากท่าเรือ Darlington เลาะเลียบชายฝั่ง ระหว่างทางเจอเจ้าถิ่นที่ไม่กลัวผู้มาเยือนเลยแม้แต่นิด ให้ความรู้สึกถึงการเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่างแท้จริง พอเราขึ้นจากเรือปุ๊บ ก็พบนก Australian pied cormorant (Phalacrocorax varius) นกชายฝั่งท้องถิ่นแถบออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มองไกล ๆ ตกใจนึกว่าเพนกวิน จนกระทั่งฝูงสยายปีกจึงแก้ไขความเข้าใจผิดไปได้

เดินศึกษาธรรมชาติบน Maria Island ออสเตรเลีย เจอจิ้งโจ้ ห่านดินกินหญ้า และวอมแบตตัวตะมุตะมิ

เดินออกจากท่าเรือ Darlington ได้ไม่นานก็เจอกับ Tasmanian Pademelon (Thylogale billardierii) สัตว์ตระกูลเดียวกับจิงโจ้และวัลลาบี (Wallaby) พบเฉพาะในแทสเมเนียเท่านั้น เป็นสัตว์ขี้อาย ชอบหลบหลืบตามสุมทุมพุ่นไม้ และกระโดดหนีอย่างไวเมื่อพอเจอคณะของพวกเรา

เดินศึกษาธรรมชาติบน Maria Island ออสเตรเลีย เจอจิ้งโจ้ ห่านดินกินหญ้า และวอมแบตตัวตะมุตะมิ
เดินศึกษาธรรมชาติบน Maria Island ออสเตรเลีย เจอจิ้งโจ้ ห่านดินกินหญ้า และวอมแบตตัวตะมุตะมิ

เดินไปอีกเล็กน้อยก็จ๊ะเอ๋กับ Common Wombat (Vombastus ursinus) สัตว์ท้องถิ่นขวัญใจชาวออสซี ด้วยรูปลักษณ์ต้วมเตี้ยมตะมุตะมิ ไม่วิ่งหนีคน วอมแบตเป็นสัตว์มีถุงหน้าท้อง (Marsupial) นับเป็นญาติใกล้ชิดกับโคอาลา และเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่มีพฤติกรรมการขุดโพรงดินเพื่ออยู่อาศัย

แม้เจ้าวอมแบตจะดูเฉื่อยชิลล์ในภาวะปกติ แต่เมื่อมีภัย มันก็วิ่งได้เร็วถึง 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง อีกเรื่องที่น่าสนใจ คืออุจจาระของวอมแบตมีรูปทรงลูกบาศก์ แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทำไมวอมแบตผลิตอุจจาระออกมาเป็นรูปทรงนั้น แต่ค่อนข้างแน่ชัดว่ามันมีประโยชน์แง่ใช้สอย เนื่องจากวอมแบตใช้อุจจาระในการบอกอาณาเขตและดึงดูดเพศตรงข้าม รูปทรงดังกล่าวทำให้อุจจาระไม่กลิ้งหายหรืออยู่ผิดที่ผิดทางจากที่ควรจะเป็น ด้วยความสำคัญเช่นนั้น ทำให้วอมแบตผลิตอุจจาระออกมาจำนวนมากจนกองเกลื่อนไปทั่วทุ่งหญ้า เรียกได้ว่าเดินไปทางไหนก็เหยียบโดนแน่นอน โชคดีที่อาหารหลักของพวกมันคือหญ้า ทำให้อุจจาระเกาะเป็นก้อน ไม่เหลวหรือเหนียวจนติดรองเท้ากลับมาด้วย

เดินศึกษาธรรมชาติบน Maria Island ออสเตรเลีย เจอจิ้งโจ้ ห่านดินกินหญ้า และวอมแบตตัวตะมุตะมิ

  เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติของ Maria Island สัญจรได้ทั้งคนเดินและจักรยาน โดยจักรยานนำมาเองจากบ้านหรือเช่าจากท่าเรือ แล้วนำลงเรือเฟอร์รี่มาเองจากฝั่งแทสเมเนียก็ได้ การปั่นจักรยานเป็นทางเลือกที่ดี หากต้องแข่งกับเวลาและมีความแข็งแรงมากพอ เพราะภูมิประเทศบนเกาะมารายเต็มไปด้วยเนินเขาน้อยใหญ่ วิธีนี้เป็นทางเลือกที่ค่อนข้างท้าทาย คณะของผู้เขียนจึงเลือกเดินไปเท่าที่ทำได้ดีกว่า

เดินศึกษาธรรมชาติบน Maria Island ออสเตรเลีย เจอจิ้งโจ้ ห่านดินกินหญ้า และวอมแบตตัวตะมุตะมิ

เดินจาก Darlington อย่างช้า ๆ ไม่เร่งรีบ ราว ๆ 1 ชั่วโมง ในที่สุดเราก็มาพักเที่ยงกันที่ The Painted Cliffs ประติมากรรมธรรมชาติจากหินทรายและออกไซด์ธาตุเหล็ก ผลงานสร้างสรรคจ์ากการกัดเซาะโดยน้ำทะเล น้ำฝน คลื่นลม และกาลเวลา ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะและเป็นหนึ่งในจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวหลัก ระยะทางเดินราว 2 กิโลเมตรเศษจาก Darlington

เดินศึกษาธรรมชาติบน Maria Island ออสเตรเลีย เจอจิ้งโจ้ ห่านดินกินหญ้า และวอมแบตตัวตะมุตะมิ
มุมมองจากบนหน้าผา เห็นเกาะแทสเมเนียอยู่ไม่ไกล พร้อมทะเลใสสีครามเข้มเห็นไปถึงโขดหินด้านล่าง
มองกลับไปอีกทาง เห็นเวิ้งอ่าวโค้ง หาดทรายสีขาว (Rutherford Beach) และเนินทุ่งหญ้าที่เดินข้ามผ่านมา
มองกลับไปอีกทาง เห็นเวิ้งอ่าวโค้ง หาดทรายสีขาว (Rutherford Beach) และเนินทุ่งหญ้าที่เดินข้ามผ่านมา
เดินศึกษาธรรมชาติบน Maria Island ออสเตรเลีย เจอจิ้งโจ้ ห่านดินกินหญ้า และวอมแบตตัวตะมุตะมิ
Maria Island ยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณดึกดําบรรพ์จําพวกเฟิร์นที่เติบโตอัดแน่นกินบริเวณเป็นทุ่งกว้าง
เดินย้อนเส้นทางกลับมายัง Darlington เพื่อไปสํารวจฝั่งเหนือของเกาะ
เดินย้อนเส้นทางกลับมายัง Darlington เพื่อไปสํารวจฝั่งเหนือของเกาะ
ห่านดินกินหญ้าของแท้ Cape Barren goose (Cereopsis novaehollandiae) ห่านหายากขนาดใหญ่พบเจอเฉพาะบางบริเวณชายฝั่งทางใต้ของออสเตรเลียและบางส่วนของชายฝั่งแทสเมเนีย แต่พบเจอเกลื่อนกลาดบน Maria Island
ห่านดินกินหญ้าของแท้ Cape Barren goose (Cereopsis novaehollandiae) ห่านหายากขนาดใหญ่พบเจอเฉพาะบางบริเวณชายฝั่งทางใต้ของออสเตรเลียและบางส่วนของชายฝั่งแทสเมเนีย แต่พบเจอเกลื่อนกลาดบน Maria Island
Ile du Nord เกาะหินแกรนิตเล็ก ๆ ทางทิศเหนือของ Maria Island
Ile du Nord เกาะหินแกรนิตเล็ก ๆ ทางทิศเหนือของ Maria Island
เป็นเขตอุทยานแห่งชาติที่มีความสําคัญในด้านการอนุรักษพันธุ์สัตว์ และไม่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์

จาก Darlington ราว ๆ ครึ่งชั่วโมงแบบเดินเร็ว ๆ ผู้เขียนพบกับ The Fossil Cliffs หน้าผาหินปูนทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ เป็นบริเวณที่มีการพบซากฟอสซิลดึกดําบรรพ์อายุประมาณ 100 ล้านปีของสัตว์ทะเลจําพวกหอย เพรียง และปะการัง ในอดีตหินปูนในบริเวณนี้เคยถูกสกัดและลำเลียงไปผลิตเป็นปูนซีเมนต์ในช่วงปี 1920 จึงมีร่องรอยรางของรถรางขนส่งในบริเวณใกล้เคียงอยู่ด้วย

Maria Island ออสเตรเลีย : บันทึกความทรงจํา 1 วัน เดินสำรวจอุทยานแห่งชาติบนเกาะมาราย เมืองแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย

ทุ่งหญ้ากว้างเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ ในจำนวนนี้ดูเหมือนว่าจิงโจ้ Forester Kangaroo (Macropus giganteus) ดูโดดเด่นกว่าผู้อาศัยสายพันธุ์อื่น ช่วงบ่ายแก่ ๆ เป็นเวลาอาหารพอดี เราโชคดีได้เฝ้าสังเกตการณ์จากระยะไกล เห็นจิงโจ้ฝูงใหญ่นอนเอกเขนกสลับกับเล็มหญ้าบนพื้น แม้ดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่รู้กันโดยทั่วว่า อันที่จริงแล้วจิงโจ้เป็นสัตว์ค่อนข้างอันตราย หากอยู่ใกล้ ๆ เกิดโชคร้ายโดนจิงโจ้หมายหัว คุณอาจโดนฟาดแข้ง ฟาดหางใส่ก็เป็นได้ การชมจากระยะไกลจึงปลอดยภัยกว่าสำหรับคนและจิงโจ้

Maria Island ออสเตรเลีย : บันทึกความทรงจํา 1 วัน เดินสำรวจอุทยานแห่งชาติบนเกาะมาราย เมืองแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย

ในบริเวณทุ่งหญ้าเดียวกันนั้นเอง ผู้เขียนพบบ้านของวอมแบตเข้าโดยบังเอิญ ซึ่งจะขุดโพรงดินเพื่ออยู่อาศัยไว้ใต้พุ่มไม้ และพรางตัวจากศัตรูตามธรรมชาติ โพรงแรกเห็นเจ้าบ้านนั่งเฝ้าอยู่ด้านหน้าราวกับกำลังระวังภัย ส่วนโพรงที่สอง เจ้าบ้านดูวุ่นวายอยู่กับภารกิจในโพรงที่ไม่แน่ใจว่าคืออะไร

Maria Island ออสเตรเลีย : บันทึกความทรงจํา 1 วัน เดินสำรวจอุทยานแห่งชาติบนเกาะมาราย เมืองแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย

ทริปนี้จบลงในช่วงเวลาโพล้เพล้ ผู้เขียนเดินทางกลับฝั่งแทสเมเนียพร้อมเพื่อน ๆ ทุกคนตื่นเต้น สนุกสนานกับประสบการณ์ที่พบเจอ หวังว่าทริปถัดไปในออสเตรเลียจะมีเรื่องสนุกอีกมากรอเราอยู่

ข้อควรรู้ 

  • การเดินทางจาก Hobart มายัง Triabunna เพื่อลงเรือเฟอร์รี่มา Maria Island มีเพียงวิธีเดียว คือ ขับรถส่วนตัว โดยมากนักท่องเที่ยวมักเช่ารถขับมาจากสนามบิน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
  • นอกจากนั่งเรือเฟอร์รี่แล้ว วิธีเดินทางที่ทำได้ คือเครื่องบินเล็กส่วนบุคคล โดยต้องทำเรื่องแจ้งทางอุทยานฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน
  • Maria Island เป็นเขตอนุรักษ์ จึงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ร้านค้า และถังขยะ ควรพกเสบียง น้ำจืด และอุปกรณ์กันหนาว/ฝน/แดด ไปพร้อมกัน ควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง และ เก็บขยะทุกชิ้นด้วยตนเองเมื่อออกจากเกาะ

ข้อมูลอ้างอิง : parks.tas.gov.au/explore-our-parks/maria-island-national-park

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ศุจีภรณ์ ตันติพงษ์

นักศึกษาไทยใน Sydney, Australia นักเดินทางมือสมัครเล่น ในมือถือกล้องกลางวันมองพื้น กลางคืนมองดาว มีความอยากรู้ อยากเห็น เป็นแพสชันหลักของชีวิต