“พี่สาว วันนี้เอาเกลือไหม”

เด็กชายเอติก เพื่อนบ้านตัวน้อยส่งเสียงใสแจ๋วข้ามรั้วมาแต่เช้าตรู่ ไม่ถึงอึดใจก็ได้ยินเสียงปีนบันไดตึงตังขึ้นมาที่ชานหน้าบ้านเรา ใบหน้ากลมที่โผล่มาตรงริมประตูมอมแมมคล้ายลูกแมวตกบ่อโคลน

“เกลือผมไม่เน่าไม่เสีย พี่สาวมีคุกกี้เยอะแยะจะกินทันเหรอ”

เจ้าตัวแสบประจำหมู่บ้านยื่นถุงเกลือสีชมพูขนาดประมาณฝ่ามือมาให้พร้อมรอยยิ้มปะเหลาะ พอได้ทั้งเงินค่าเกลือและคุกกี้ช็อกโกแลตหลายชิ้นจนต้องยกชายเสื้อขึ้นมาห่อ เจ้าตัวก็ยิ้มกว้างตาใสให้ก่อนจะผลุบหายไปอย่างรวดเร็วพร้อมเสียงตึงตังไม่ต่างกับตอนมา

เกลือสีชมพูเข้มขนาดเท่าก้อนกรวดเม็ดเล็กที่เอติกเอามา (บังคับ) ขายให้เราวันละถุงเล็กถุงน้อย เป็นเกลือที่ได้มาจากเหมืองเกลือเก่าแก่อายุพันกว่าปีของชาวเปรูซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อของ ‘เหมืองเกลือมาราส’ (Salinas de Maras, Maras Salt Mines)  และการ ‘ได้มา’ ที่ว่าก็ไม่ใช่การไปรับซื้อและมาขายต่ออีกที แต่ครอบครัวของเอติกเป็นหนึ่งในสามร้อยกว่าครอบครัวชาวอินคาที่ได้รับบ่อเกลือเป็นมรดกตกทอดกันมาหลายรุ่น วันว่างของเอติกจึงเป็นการไปช่วยเก็บเกลือที่เหมืองและเก็บบางส่วนมาขายนักท่องเที่ยวเพื่อหาเงินค่าขนม หรือจริงๆ เก็บมาเพื่อขายเราคนเดียวก็ไม่รู้ได้

เหมืองเกลือมาราส, อินคา
เหมืองเกลือมาราส, อินคา

เหมืองเกลือมาราสตั้งอยู่ในหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินคา ถ้าหยิบแผนที่มากางดูก็จะพบว่าตำแหน่งของมาราสอยู่กึ่งกลางระหว่างมาชูปิกชูอันโด่งดังและเมืองกุสโก (Cusco) พอดี เหมืองเกลือแห่งนี้ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 3,300 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยบ่อน้ำสี่เหลี่ยมขนาดเล็กประมาณ 4,000 – 6,000 บ่อที่ตั้งเรียงรายลดหลั่นเป็นขั้นบันไดตามไหล่เขา แต่ละบ่อมีน้ำขังอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน พื้นที่รอบบ่อน้ำปกคลุมด้วยผลึกเกลือสีขาวหม่น แต่ก็ยังตัดกับพื้นดินสีน้ำตาลเข้มและสีเขียวของต้นไม้โดยรอบได้เป็นอย่างดี

บ่อเกลือทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยเส้นทางเดินของน้ำที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อบังคับน้ำจากตาน้ำธรรมชาติ ให้ไหลผ่านบ่อทั้งหมดจากชั้นสูงสุดไปจนถึงชั้นล่างสุด แต่ละบ่อมีขนาดตั้งแต่ 4 – 10 ตารางเมตร และลึกตั้งแต่ 10 – 30 เซนติเมตร ความแตกต่างของขนาดและความลึกจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตั้งของบ่อว่ามีความชันมากน้อยแค่ไหน

เหมืองเกลือมาราส, อินคา
เหมืองเกลือมาราส, อินคา

นักประวัติศาสตร์และนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าบ่อเกลือชุดแรกน่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วง ค.ศ. 200 – 900 ซึ่งอยู่ระหว่างยุคของชนเผ่าชานาปาตา (Chanapata) และชนเผ่าวาริ (Wari) ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ก่อนชนเผ่าอินคา (Inca) จะเข้ามาครอบครองในช่วง ค.ศ. 1438 – 1533 โดยในยุคแรกน่าจะเป็นเพียงการเอาหินและดินมาสร้างบ่อไม่กี่บ่อเพื่อกักเก็บน้ำเค็มและรอให้น้ำระเหยไปเหลือไว้แต่ผลึกเกลือ แต่เมื่อถึงยุคของชาวอินคาก็มีการขยายเส้นทางน้ำไหลและเพิ่มจำนวนบ่อเกลือจนกลายเป็นเหมืองเกลือขั้นบันไดขนาดใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เหมืองเกลือมาราส, อินคา

ถ้าพิจารณาจากพื้นฐานความเชื่อของชาวอินคาที่นับถือดวงอาทิตย์ในฐานะของผู้ให้กำเนิดเผ่าพันธุ์ ทั้งยังนับถือดวงจันทร์ ดวงดาว โลก และเชื่อว่ามีเทพเจ้าประจำภูเขา แม่น้ำ และต้นไม้ ฯลฯ เกลือที่ได้จากน้ำที่ไหลออกมาจากภูเขาแล้วกลายเป็นผลึกด้วยแสงอาทิตย์จึงเป็นของล้ำค่าทั้งในแง่ของความเชื่อและในแง่ของคุณประโยชน์ โดยเฉพาะในยุคโบราณที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะเอาเกลือมาถนอมอาหารและรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และเมื่อเกลือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากใครมีเกลือในครอบครองเป็นจำนวนมากก็เหมือนมีอำนาจและความมั่งคั่งอยู่ในมือ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ชาวอินคาจะมุ่งพัฒนาระบบเหมืองเกลือมาราสให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนสามารถผลิตเกลือจำนวนมากพอที่จะหล่อเลี้ยงจักรวรรดิอินคาอันยิ่งใหญ่ได้

เหมืองเกลือมาราส, อินคา

กาลครั้งหนึ่ง…

ชาวเปรูมีเรื่องเล่าและตำนานเกี่ยวกับน้ำที่ไหลออกมาจากตาน้ำบนภูเขาแห่งนี้ไว้หลายเวอร์ชัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่าเป็นใครและมีพื้นเพจากไหน เช่นในหนังสือบันทึกเหตุการณ์ของ กัวมัน โปมา (Guaman Poma) ชาวพื้นเมืองที่เกิดในตระกูลสูงศักดิ์ของชาวอินคาและคาดว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงที่สเปนเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ ได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบันทึกว่า ตอนนั้นเมืองมาราสน่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของราชาอินคาที่ 3 โลเก ยูปีกัง (Loque Yupanqui, ค.ศ. 1260 – 1290) แต่ชาวพื้นเมืองมาราสต่อต้านชาวอินคาและไม่ยอมรับราชาคนนี้ ด้วยความโกรธแค้นชาวอินคาจึงอ้อนวอนให้สุริยเทพอินติ (Inti) หรือเทพแห่งดวงอาทิตย์ลงโทษชาวพื้นเมืองมาราส เทพอินติจึงบันดาลให้ฝนตกลงมาเป็นน้ำเค็มเพื่อทำลายพื้นดินจนไม่สามารถเพาะปลูกได้อีก และยังบันดาลให้น้ำในแม่น้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านมีรสเค็มจัดจนเอาไปดื่มไม่ได้ จึงเป็นที่มาของต้นน้ำเค็มที่ไหลออกมาจากภูเขา

หรือจะเป็นเรื่องเล่าของเอติกที่บอกเราว่าน้ำรสเค็มนี้เป็น “น้ำตาของลูกชายเทพเจ้าชื่อเอยาร์ กาชิ” พอเราทำหน้าคิ้วขมวด พ่อนักเล่าก็แบมือขอคุกกี้เป็นกำลังใจก่อน เคี้ยวหมดไป 3 ชิ้นแล้วถึงจะเริ่มเปิดปากเล่าอย่างเสียไม่ได้ว่า

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วตั้งแต่ยังไม่มีอาณาจักรอินคา…

เทพเจ้าวิราโคชา (Viracocha) ซึ่งเป็นเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งในจักรวาลนี้ ได้ส่งคู่หญิงชาย 4 คู่มาบนโลก เพื่อให้ตามหาดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะที่จะสร้างอาณาจักรอินคา หนึ่งในนั้นคือเอยาร์ กาชิ (Ayar Cachi) ซึ่งเป็นคนที่แข็งแรงและมีกำลังมากที่สุดในบรรดาพี่น้องทั้งหมด เขาสามารถใช้หนังสติ๊กยิงหินก้อนเล็กๆ ไปชนภูเขาจนแตกได้ หรือถ้ายิงขึ้นฟ้าก็จะพุ่งไปสูงจนสุดขอบฟ้า ทำให้เกิดฟ้าผ่าและฝนตกลงมาบนพื้นโลกได้

เหมืองเกลือมาราส, อินคา

ความเด่นเกินหน้าของกาชิทำให้พี่ชายทั้งสามคนจึงรู้สึกอิจฉา และคิดว่าถ้าปล่อยเอาไว้กาชิจะต้องเป็นคนแรกที่ทำภารกิจสำเร็จแน่นอน สามพี่น้องจึงร่วมมือกันวางแผนหลอกให้กาชิไปหาอาหารในถ้ำบนภูเขาแห่งหนึ่ง แล้วช่วยกันผลักก้อนหินขนาดใหญ่ปิดปากถ้ำเพื่อขังกาชิไว้ในนั้นและพากันออกเดินทางไปทำภารกิจต่อ ท้ายที่สุดแล้วคนที่ทำสำเร็จคือ เอยาร์ มันโค (Ayar Manco) เขากลายเป็นเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรอินคาที่เมืองกุสโก เมื่อกาชิรู้ว่าพี่ชายได้ขึ้นเป็นราชาก็โกรธแค้นมาก และส่งเสียงดังจนทั้งแผ่นดินและผืนฟ้าสะเทือนเลื่อนลั่น น้ำตาของเขาหลั่งรินออกมาเป็นสายน้ำที่มีรสเค็มจนกลายเป็นต้นกำเนิดของเหมืองเกลือมาราส และเป็นเหตุผลที่คำว่า ‘เกลือ’ ในภาษาท้องถิ่นของเทือกเขาแอนดีสนี้ใช้คำว่า ‘กาชิ’ (Cachi)

“อ้าว แล้วตอนโดนขังทำไมไม่ยิงหนังสติ๊กพังถ้ำออกมา” เราหลุดปากถามไปแบบไม่ทันคิด เอติกมองเราแล้วทำหน้าอ่อนอกอ่อนใจเท่าที่เด็กอายุสิบกว่าจะทำได้

“นี่มันเรื่องจริงไม่ใช่หนังนะพี่ ใครจะยิงหนังสติ๊กพังถ้ำได้”

เหมืองเกลือมาราส, อินคา

ความเป็นมาที่ปวดหัวน้อยกว่านั้นน่าจะเป็นข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าเหมืองเกลือมาราสตั้งอยู่เหนือหมวดหินมาราสในเทือกเขาแอนดีส นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเมื่อประมาณ 110 ล้านปีที่แล้ว พื้นที่บริเวณภาคกลางของประเทศเปรูน่าจะอยู่จมอยู่ใต้มหาสมุทร จนกระทั่งเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกและทำให้เกิดความเค้นขึ้นตามรอยแนวต่อระหว่างเปลือกโลกทั้งสองแผ่น ส่งผลให้มวลหินบริเวณนั้นแปรสภาพและยกตัวขึ้นสูงเป็นแนวยาวกลายเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน น้ำจากมหาสมุทรส่วนหนึ่งจึงถูกขังอยู่ในแผ่นดินที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อน้ำระเหยออกหมดจึงตกผลึกเป็นแร่เกลือหินหรือเฮไลต์ (Halite) และฝังตัวอยู่ใต้ชั้นหินในภูเขาลูกนี้ เมื่อน้ำที่อยู่ใต้ดินไหลผ่านเกลือหินและผุดออกมาเป็นตาน้ำบนภูเขา จึงนำเอาแร่เกลือเหล่านี้ติดออกมาด้วย

เหมืองเกลือมาราส, อินคา

ต่อลมหายใจแห่งวิถีโบราณ

การผลิตเกลือมาราสเริ่มจากการเตรียมบ่อให้พร้อม ซึ่งเจ้าของบ่อจะใช้ไม้ที่มีลักษณะคล้ายฆ้อนขนาดใหญ่ หนักประมาณ 5 – 7 กิโลกรัมตีลงบนพื้นดินเหนียวให้แน่นและได้ระดับ หลังจากนั้นก็ปล่อยน้ำที่ไหลมาตามทางน้ำเข้าบ่อประมาณ 5 เซนติเมตร และรอประมาณ 3 วันเพื่อให้เกลือตกผลึกและมีน้ำระเหยออกไปบ้าง ซึ่งระดับของน้ำและระยะเวลาที่ใช้อาจไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับขนาดและความลึกของบ่อรวมทั้งระดับความแรงของแสงอาทิตย์ด้วย

เมื่อน้ำชุดแรกระเหยออกไป เจ้าของบ่อก็จะปล่อยน้ำลงมาในปริมาณเดิมอีกและทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน จนได้ชั้นเกลือประมาณ 150 กิโลกรัมต่อบ่อแล้วถึงจะกวาดเกลือออก บางบ่อเจ้าของก็อาจจะกวาดผลึกเกลือออกก่อนที่จะเติมน้ำใหม่ทุกครั้ง เทคนิคการทำที่แตกต่างกันนี้มีผลต่อสีและระดับความเค็มของเกลือที่ได้ด้วย

เหมืองเกลือมาราส, อินคา
เหมืองเกลือมาราส, อินคา

สำหรับการเก็บเกลือ เจ้าของบ่อจะรื้อเกลือด้วยการแซะให้เกลือแตกออกจากกัน แล้วจึงใช้แผ่นไม้แบนๆ กวาดเกลือไปกองรวมกันที่มุมใดมุมหนึ่งของบ่อ หลังจากนั้นก็ช้อนเกลือใส่ตะกร้ามีรูเพื่อให้น้ำไหลผ่านและเทเกลือไว้บนพื้นริมบ่อ ปล่อยทิ้งไว้ให้ตากแดดจนแห้งสนิทแล้วค่อยตักเกลือใส่กระสอบ ก่อนจะแบกกระสอบเกลือไปรวบรวมไว้ที่โรงเก็บเกลือที่อยู่ไม่ไกลจากริมเหมือง

เหมืองเกลือมาราส, อินคา

ประเภทของเกลือจากเหมืองมาราส

เหมืองเกลือมาราสสามารถผลิตเกลือได้ทั้งหมด 3 ประเภท อย่างแรกคือ ดอกเกลือทะเล มีลักษณะคล้ายเกล็ดหิมะลอยอยู่เหนือผิวน้ำเมื่อเริ่มเกิดการระเหย ดอกเกลือชนิดนี้จะต้องถูกเก็บก่อนที่จะจมลงก้นบ่อ บางครั้งจะเป็นสีขาวหรือสีม่วงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความชื้น ดอกเกลือมีราคาสูงเพราะเป็นเกลือบริสุทธ์ มีความหวานเจือปนและผลิตได้น้อย

ประเภทที่สองคือ เกลือสีชมพู เนื่องจากมีส่วนผสมของแร่ธาตุหลายชนิด ทั้งแคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม สังกะสี และทองแดง ซึ่งล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งยังมีโซเดียมต่ำทำให้ได้รับการยอมรับว่าดีต่อสุขภาพ เป็นเกลือที่มีราคาแพงที่สุดและได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะตามร้านอาหารชั้นนำ

ประเภทสุดท้ายคือ เกลือที่มีสีคล้ำเกือบน้ำตาล ซึ่งจะไม่นำมารับประทานแต่นำไปใช้ประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรม เช่น ไปผลิตกระจก เยื่อกระดาษ ฯลฯ

ปัจจุบันขั้นตอนการผลิตเกลือในเหมืองมาราสยังใช้เพียงพลังงานธรรมชาติและแรงงานมนุษย์ไม่ต่างกับที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคของชาวอินคา เหตุผลที่ชาวบ้านไม่ใช้สัตว์หรือเครื่องจักรมาทดแทนก็เพราะต้องการรักษาความสะอาดของเกลือและคงสภาพของบ่อเกลือที่มีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไว้ให้ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

เหมืองเกลือมาราส, อินคา

เกลือกับวิถีชีวิตชุมชนมาราสในปัจจุบัน

บ่อเกลือทั้งหมดในเหมืองเป็นของคนในชุมชนมาราส ทุกครัวเรือนจะได้รับสิทธิ์ในการดูแลบ่อเกลือและเก็บผลผลิตโดยคำนึงจากขนาดของครอบครัว หากใครในหมู่บ้านต้องการมีบ่อเกลือเพิ่มก็สามารถไปจับจองบ่อที่ว่างอยู่และขออนุญาตผู้นำชุมชนได้ ซึ่งส่วนใหญ่บ่อที่ว่างจะเป็นบ่อที่อยู่ห่างไกลหรือต่ำลงไปมากจึงทำให้เสียเวลาในการขนเกลือ ข้อเสนอนี้จึงไม่เป็นที่ดึงดูดใจใครมากนัก

ปกติแล้วครอบครัวหนึ่งก็มักจะมีบ่อเกลือที่ดูแลอยู่แล้วมากกว่า 1 บ่อ เช่นบ้านเอติกที่ดูแลอยู่ทั้งหมด 8 บ่อ มีป้ากับแม่เป็นคนคอยดูแลเรื่องเตรียมบ่อ ปล่อยน้ำ ลุงกับพ่อรับหน้าที่กวาดและขนเกลือ ส่วนเด็กๆ ก็คอยช่วยเหลือตามแต่ผู้ใหญ่จะสั่ง ในวันข้างหน้าบ่อเกลือทั้งแปดนี้จะถูกแบ่งให้เป็นมรดกตกทอดไปสู่รุ่นลูก และเจ้าหนูเอติกก็คงจะต้องดูแลบ่อเกลือของตัวเองในอนาคตด้วยเหมือนกัน

 การทำเหมืองเกลือจะทำได้เฉพาะช่วงหน้าร้อนในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เมื่อฝนเริ่มตกก็ต้องหยุดทำ เพราะน้ำฝนจะทำให้น้ำเกลือเจือจางและมีโคลนปะปนลงไปในบ่อ ชาวบ้านจะเอาเวลาในช่วงหน้าฝนไปจัดการกับเกลือที่เก็บตุนไว้ตั้งแต่หน้าร้อนให้พร้อมจำหน่ายได้ เช่น นำไปป่นละเอียด ไปเสริมไอโอดีน ฯลฯ และถึงแม้การปล่อยน้ำลงบ่อ การกวาดและขนเกลือ จะแยกกันทำตามแต่ละครอครัว แต่เกลือของทุกบ้านจะถูกนำเข้าสู่สหกรณ์ชุมชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานและเป็นตัวกลางในการจำหน่าย เงินที่ได้ก็จะถูกนำมาแบ่งตามสัดส่วนของเกลือที่แต่ละบ้านส่งให้สหกรณ์

เหมืองเกลือมาราส, อินคา

งานเหมืองเกลือเป็นงานหนักแต่รายได้น้อยเมื่อเทียบกับราคาที่ถูกส่งออกไปขายจริง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ที่สำคัญ เป็นงานที่ทำลายสุขภาพในระยะยาว จากการนั่งคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้านทำให้ได้รู้ว่าการที่ใครสักคนในหมู่บ้านจะหยุดทำเหมืองเกลือถาวรมักจะไม่ใช่เพราะอายุเยอะจนทำไม่ไหว แต่เพราะโดนสารพัดโรครุมเร้า เนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดกับเกลือที่มีความเข้มข้นสูงเป็นเวลานานหลายสิบปี เช่น โรคผิวหนัง ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้ออักเสบ รวมไปถึงต้อกระจกหรือถึงขั้นตาบอดเพราะตาโดนแสงสะท้อนในบ่อเกลือ แม้แต่คุณลุงที่เรานั่งคุยด้วยในตอนนั้นก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วง เพราะเริ่มมีอาการตาพร่ามัวเป็นระยะจนต้องหยุดเข้าเหมืองไปเป็นเดือนแล้ว

ทางสหกรณ์ก็พยายามให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันและการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อมีอาการ ซึ่งมีชาวบ้านบางกลุ่มที่เปิดใจรับฟังและพยายามจะปรับตัวตาม โดยเฉพาะบ้านที่มีสมาชิกในบ้านได้รับผลกระทบมาก่อน แต่ก็มีหลายกลุ่มที่เคยชินกับการทำงานโดยไม่ใส่เครื่องป้องกันใดๆ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ รองเท้า หน้ากาก หรือแว่นกันแดด

เหมืองเกลือมาราส, อินคา

“แม่บอกว่าปีนี้ถ้ายอมใส่รองเท้าลงบ่อเกลือ ปิดเทอมจะซื้อลูกบอลให้”

เอติกเปรยเบาๆ ให้ฟังในขณะที่กำลังยืนโปรยข้าวสุกให้ลูกเจี๊ยบในกรงอยู่ข้างรั้ว เรานึกเห็นภาพเอติกที่ชอบทำท่าเตะฟ้าโหม่งลม เลี้ยงลูกบอลในจินตนาการและหลบคู่แข่งที่มองไม่เห็นไปด้วยอยู่บ่อยๆ วันดีคืนดีก็วิ่งกระโดดดีใจเหมือนยิงลูกเข้าประตูได้อยูู่คนเดียวเป็นนานสองนาน แล้วก็อดยิ้มตามไม่ได้

“เอาสิ ถ้าสัญญาว่าจะใส่แว่นตาลงบ่อเกลือด้วย ก่อนพี่ไปพี่จะลงขันซื้อบอลให้อีกลูกเลย”

ค่าชมเหมือง

ประมาณ 95 – 100 บาทต่อคน

 

วิธีเดินทาง

  • ซื้อทัวร์จากกุสโก มีทั้งเป็นกลุ่มและแบบส่วนตัว แต่ราคาในแพ็กเกจที่พาไปชมสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ด้วยมักจะยังไม่รวมกับค่าเข้าเหมืองอีก 100 บาท
  • เช่ารถยนต์ขับมาเองจากกุสโก ค่าเช่าตกวันละประมาณ 1,500 – 1,700 บาท ถ้ามากันอย่างน้อย 2 คนแบบนี้คุ้มมากกว่าไปกับทัวร์ เพราะได้ขับเที่ยวเองในหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ด้วย
  • สำหรับคนที่ชอบความตื่นเต้น ไม่ควรพลาดการเช่ามอเตอร์ไซค์วิบาก เพราะถนนเป็นหินเป็นโคลนสมใจ ถ้ากังวลเรื่องหลงทางก็มีบริษัทที่ให้บริการรถมอเตอร์ไซค์เช่าพร้อมไกด์ขับนำทัวร์ด้วย ราคาขึ้นอยู่กับรุ่นของรถและเส้นทางค่ะ
  • ถ้าพักอยู่ในหุบเขาศักดิ์สิทธิ์เหมือนเราจะเดินเท้าไปก็ได้ค่ะ แต่เป็นการเดินไต่เขามาเรื่อยๆ จนถึงความสูงประมาณ 3,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล เหมาะสำหรับคนที่มีเวลาพักอยู่ที่นี่นานพอที่จะปรับตัวได้และอยากจะชมธรรมชาติระหว่างทาง ถ้าตกเย็นแล้วไม่ควรเดินเพราะค่อนข้างเปลี่ยวและมืด ทางลาดชันเป็นระยะ อาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางและไม่ได้รับการช่วยเหลือในทันทีได้