ลงรถไฟฟ้าสถานี World Cup Station เดินทะลุผ่านสนามกีฬารูปร่างคล้ายว่าวโบราณของเกาหลี สู่ถนนระยะทางราว 10 นาที ไม่ไกลพอเรียกเหงื่อในวันที่อากาศหลักสิบองศา

ฉันตั้งใจมาประเทศเกาหลีเพื่อที่นี่ ‘มุนฮวาบีชุกกีจี’ (문화비축기지)

สาวเท้าให้เร็วขึ้น ก้าวเข้า Oil Tank Culture Park ขนาด 22 สนามฟุตบอล (140,022 ตารางเมตร) ทอดสายตาผ่านลานกว้างใหญ่เบื้องหน้า พื้นที่เปิดรอบๆ เป็นถนนทอดยาวเพื่อเชื่อมแท็งก์น้ำมันเปลือยเปล่าทั้งหกเข้าไว้ด้วยกัน ฉากหลังห้อมล้อมด้วยภูเขา Maebongsan ใบไม้กำลังผลิแล้ว  โอ้… นี่ถ้ามีโอปป้าหนุ่มสักคนเดินจับมือมาด้วยกัน ฉันคงคิดว่าตัวเองเป็นนางเอกซีรีส์สักเรื่อง

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan
Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

1 ใน 6 แท็งก์ถูกเก็บรักษาไว้ในรูปแบบเดิมอย่างสมบูรณ์ ส่วนที่เหลือก็ปรับเปลี่ยนเป็นเรือนกระจก เวทีกลางแจ้งที่ด้านล่างซ่อนเวทีในร่มไว้อีกหนึ่ง ห้องมืดที่ตั้งใจไม่ให้แสงลอดผ่านถูกเตรียมไว้สำหรับการแสดงและจัดนิทรรศการ ส่วนแท็งก์ด้านขวาเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่บรรจุเรื่องราวอดีตล้ำค่าเอาไว้แทนน้ำมันนับพันลิตร

และแท็งก์ซ้ายมือสุดถูกสร้างใหม่ขึ้นมาจากวัสดุเหลือใช้ที่ไม่ตั้งใจทิ้ง จากการรื้อแท็งก์หมายเลข 1 และ 2 เพื่อเป็นคาเฟ่และเวิร์กกิ้งสเปซ ที่ใครก็เข้ามาใช้งานได้

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปสวยหรือทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งเช็กอินใหม่ ความเจ๋งของโครงการนี้คือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้พื้นที่เดิมอย่างเคารพอดีตและคุ้มค่า

Choi Hyun-sil, Director of the Parks Development Division

สารภาพว่าอิจฉาผู้คนที่นี่ หลังได้คุยกับคุณ Choi Hyun-sil, Director of the Parks Development Division ประจำ Seoul Metropolitan Government หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ฟื้นคืนพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งตั้งใจออกแบบโดยฟังเสียงประชาชนผู้ใช้งานจริงว่าพวกเขาต้องการอะไรที่สุด

สถาปัตยกรรมที่รื้อฟื้นอดีตของโซล

40 ปีที่แล้ว หลังจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลก (Oil Crisis) ในช่วง ค.ศ. 1973 หลายประเทศหาวิธีปรับตัวเข้ากับสถานการณ์วิกฤตนั้น Mapo Oil Depot จึงถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1976 เพื่อเป็นคลังเก็บน้ำมันรองรับความต้องการของประชาชนเกาหลี

18 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมจัดฟุตบอลโลก 2002 (2002 FIFA World Cup Korea/Japan) นั่นนับเป็นการแข่งขันครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย และเพื่อรองรับการจัดการแข่งขัน โซลเวิลด์คัพสเตเดียมหรือที่ชาวเกาหลีใต้เรียกว่าสนาม Sangham ก็ถูกสร้างขึ้น 

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

ไม่เพียงสนามกีฬาแห่งนี้ พื้นที่โดยรอบก็ถูกปรับปรุงพัฒนาให้พร้อมต้อนรับแฟนบอลที่หลั่งไหลเข้ามาด้วย เมื่อมีความจำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาเวิลด์คัพขึ้นที่เขตมาโพ เพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกใน ค.ศ. 2002 สิ่งก่อสร้างอันตรายอย่างแท็งก์นํ้ามันจึงต้องถูกปิดตัวลง ทั้งยังถูกจัดเป็นสิ่งก่อสร้างอันตรายระดับ 1 มีการควบคุมไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้ และแล้วที่แห่งนี้ก็ถูกปิดร้างอย่างสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000

3 ปีที่แล้ว Mapo Oil Depot แห่งนี้ได้รับการชุบชีวิตอีกครั้งเป็น Oil Tank Culture Park หลังถูกปิดไว้สิบกว่าปี ที่นี่เป็นอีกหนึ่งในผลงานที่น่าสนใจของ Seoul Metropolitan Government ในการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งที่หลงเหลือจากร่องรอยของยุคอุตสาหกรรมให้กลายเป็น Culture Park ใจกลางเมืองที่กลมกลืนไปกับพื้นที่โดยรอบ แต่ก็บอกเล่าอดีตของตัวมันเองอย่างแจ่มชัด

พื้นที่ของประชาชนที่ฟังเสียงประชาชน

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนไป Oil Tank Culture Park ฉันมีนัดหมายคุยกับ คุณ Choi Hyun-sil, Director of the Parks Development Division ถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของโปรเจกต์นี้

ขึ้นลิฟต์ไปอย่างตื่นเต้น นี่เป็นครั้งแรกที่สื่อไทย ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมออฟฟิศ Seoul Metropolitan Government 

คุณ Choi Hyun-sil รอต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เธอแปลกใจเล็กน้อยว่าทำไมเราถึงสนใจที่นี่นัก ระหว่างเดินเข้าไปยังห้องทำงานของเธอ คุณ Hyun-sil ชวนเราคุยเรื่องต้นไม้น้อยใหญ่รายทาง ชวนให้นึกถึงบรรยากาศในออฟฟิศตัวเองเสียไม่ได้

Choi Hyun-sil, Director of the Parks Development Division

อธิบายอย่างรวบรัด นครพิเศษโซลเป็นเขตปกครองตัวเอง หากจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะใดๆ จะอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาลกรุงโซลอย่าง Seoul Metropolitan Government หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลงานก่อสร้างของกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีโดยตรง ถ้าใครเคยถ่ายรูปคู่กับป้าย I Seoul U แลนด์มาร์กที่อยู่คู่สวนสาธาณะทั่วโซล นั่นแหละคือหนึ่งในโปรเจกต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของพวกเขา

“ย้อนกลับไปในปี 1995 กรุงโซลได้มีการเลือกตั้งครั้งแรก และเนื่องจากประชาชนมีความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมและอยากให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น จึงได้มีการบังคับใช้แผนขยายพื้นที่สีเขียวห้าปี และอีกหลายนโยบายเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างจริงจัง ทำให้หลายโครงการได้รับการผลักดัน เช่น สวนยออีโด กําแพงหินวังด็อกซู และการยับยั้งการสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกที่บุกรุกพื้นที่ภูเขานัมซาน” เธอเริ่มเล่าภาพรวมการทำงานของ Seoul Metropolitan Government ในส่วนที่เธอรับผิดชอบให้ฟัง

ในฐานะเมกะซิตี้ที่มีประชาชนมากกว่าสิบล้านคนอาศัยอยู่นั้น ทําให้มีข้อจํากัดด้านพื้นที่ที่จะสร้างสวนสาธารณะขึ้นใหม่ให้แก่ประชาชน จากข้อจํากัดที่ว่าทาง Seoul Metropolitan Government จึงสรรหาพื้นที่อื่นๆ เช่น ที่ทิ้งขยะ สนามเด็กเล่นร้าง หรือสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลือจากยุคอุตสาหกรรม จากนั้นตรวจสอบเพื่อดูความเป็นไปได้ในการใช้สอย แล้วสร้าง Creative Park ขึ้นจากพื้นที่เหล่านี้ ตัวอย่างที่โดดเด่นก็อย่างเช่น สวนเวิลด์คัพ (สวนฮานึล), North Seoul Dream Forest, Seoullo 7017 และ Oil Tank Culture Park หมุดหมายที่เราตั้งใจมาเยือนเป็นพิเศษ

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan
Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

เธอเล่าว่า กระบวนการแตกต่างกันไปตามแต่ละโครงการ แต่การวางแผนให้สมบูรณ์ตั้งแต่ขั้นแรกเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยของ Oil Tank Culture Park เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ร่วมกันวางแผน กําหนดวิธีการบริหารจัดการให้เหมาะสมที่สุด ไปจนถึงการหารือเกี่ยวกับการใช้งานและให้ประชาชนเสนอไอเดียเพื่อวางแผนการใช้งานที่ทุกคนต้องการจริงๆ ร่วมกัน

“ก่อนลงตัวที่ Culture Park เราก็คิดทำหลายอย่าง ทั้ง Video Complex, Dream Science Museum และ Animation Center แต่เนื่องจาก Oil Tank Culture Park เป็นโครงการที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ของสิ่งก่อสร้างนั้นไว้ให้มากที่สุด เราจึงให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน มีการจัดประชุมปรึกษาหารือ เกี่ยวกับการดีไซน์ยี่สิบสี่ครั้ง และการประชุมปฏิบัติการสี่สิบเอ็ดครั้ง โดยมีประชาชนเข้าร่วมหนึ่งพันหนึ่งร้อยยี่สิบหกคน เพื่อรวบรวมไอเดียและจัดเตรียมวิธีการดําเนินการ

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

“จากนั้นเราจึงจัดอีเวนต์ที่ประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วม เช่น International Design Competition เวิร์กช็อปโดยผู้เชี่ยวชาญ และหารือ ถกเถียง ไปจนนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ณ สถานที่จริง จึงทําให้โครงการนี้สะท้อนความคิดเห็นจากภาคประชาชนได้อย่างชัดเจน และมีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทีมวางแผนเมือง เพื่อให้คําปรึกษาด้านวางแผน รวมถึงคณะกรรมการธรรมาภิบาลเข้ามาดูแลโดยเฉพาะ”

คุณ Hyun-sil ยังบอกอีกว่า Oil Tank Culture Park  ถือเป็นโครงการแรกที่ใช้ความคิดเห็นของประชาชนนำและประยุกต์เข้ากับระบบการฟื้นฟูเมือง

“แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ถึงสองเท่าและวิธีการยุ่งยากกว่า แต่การสร้างสวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นชีวิตพื้นที่เมืองโดยการนําเอาสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลืออยู่ในช่วงยุคอุตสาหกรรมมาฟื้นฟู ทําให้เราได้นําเสนอสิ่งใหม่ผ่านการสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วยการเคารพต่ออดีตของกรุงโซลเองและเพิ่มไอเดียใหม่ๆ เข้าไป รวมทั้งการใส่ใจประชาชนเป็นหลัก และไม่ลืมคิดอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย”

เมื่อทั้งผู้เชี่ยวชาญและประชาชนต่างก็ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ถังน้ำมันเก่าเก็บเหมาะจะกลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ จึงจัดให้มีการประกวดออกแบบระดับนานาชาติ โดยเลือกผลงาน ‘Time read from the ground’ ของ Heo Seo-Goo จาก Wondoshi Architects Group และดำเนินการก่อสร้างตามแผนที่ได้วางไว้

รวมระยะเวลาดำเนินการเพียง 4 ปี ตั้งแต่กระบวนการแรกเมื่อ ค.ศ. 2013 Oil Tank Culture Park ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 2017

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

การกลับมาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

พื้นที่แห่งนี้ใส่ความตั้งใจอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนทั่วทุกตารางเมตร เห็นได้จากภายใน Oil Tank Culture Park แต่ละแท็งก์ ได้รับการออกแบบให้ใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Enegry) ที่ผลิตโดยใช้ปั๊มความร้อนพลังงานความร้อนใต้พื้นดิน (Geothermal Heat Pump) เพื่อทำความร้อนและความเย็นให้รองรับการปรับอุณหภูมิให้ใช้งานได้ทุกฤดู

อบอุ่นขึ้นในฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อนก็ทำให้อากาศอยู่ในภาวะน่าสบาย

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

ส่วนน้ำที่ใช้ในห้องสุขาและใช้รดน้ำต้นไม้ก็นำน้ำเหลือใช้จากอุตสหกรรมการผลิตและน้ำฝนมารีไซเคิลใช้ใหม่ภายในสวนโดยไม่รบกวนน้ำผลิตใหม่

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

ตึกและแท็งก์ทั้งหกได้รับการรับรองว่าเป็นอาคารสีเขียว G-SEED (Green Standard for Energy and Environmental Design) โดย KITC และได้รับการการันตีว่าเป็นตึกที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (First-grade Energy Efficient Building) โดย KBet ของเกาหลีเอง

แทนที่น้ำมันด้วยวัฒนธรรม เสียงดนตรี และศิลปะ

ถังที่เคยว่างเปล่าถูกเติมเต็มด้วยวัฒนธรรม เสียงดนตรี และศิลปะ ลานวงกลมกว้างใหญ่ จุดกลางที่เชื่อมถนนภายในสวนไปยังถังน้ำมัน 6 ถัง ยังคงใช้พื้นคอนกรีตเดิมตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นสถานที่เก็บน้ำมันอยู่ และช่วงสุดสัปดาห์ที่นี่จะแปลงร่างเป็นพื้นที่ตลาดนัด หมุนเวียนไปเป็นตลาดออร์แกนิกบ้าง ตลาดนัดสำหรับดีไซเนอร์หน้าใหม่บ้าง หรือบางครั้งก็ลานจัดคอนเสิร์ตตามโอกาส ซึ่งเขาแพลนกิจกรรมระยะยาวต่อปีไว้ให้หมดแล้ว คุณ Hyun-sil กระซิบบอกมาว่าการเปิดตลาดนัดนี้ยังอยู่ในแผนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่นอีกด้วย

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

ส่วนแท็งก์ทรงสูง 15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 15 – 40 เมตร และอาคารดั้งเดิม ก็ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

T1 Glass Pavilion เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่ถอดโครงสร้างภายนอกออกไปจนหมด เหลือไว้แต่ผนังคอนกรีต ด้านชิดภูเขาและหลังคากรุกระจกโดยรอบ เผยให้เห็นผาหินที่เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด ช่องแสงจากด้านบนช่วยให้พื้นที่สว่าง เงาพาดเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาขับเน้นให้พื้นที่มีมิติอย่างประหลาด และถ้าเดินลงไปใต้ดินจะเห็นพื้นผิวถนนจริงก่อนก่อสร้าง

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

T2 Performance Hall เวทีกลางแจ้งที่ถอดผนังโดยรอบออก ยกให้หุบเขาหินทำหน้าที่แทน เหลือไว้เพียงด้านหน้าให้เป็นฉากหลังเวที ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องขยายเสียงธรรมชาติ ดังสะท้อนแบบที่ลำโพงไฟฟ้าไม่มีความจำเป็น พื้นสโลปและก่ออิฐเพิ่มเป็นที่นั่งเสริมเข้ามาได้อย่างแนบเนียนและน่ารัก ส่วนด้านล่างของ T2 นั้นดัดแปลงให้เป็นเวทีในร่มที่จุได้ถึง 200 คน จุดเด่นของเวทีในร่มนี้คือพื้นไม้ที่กลายเป็นเวทีหรือที่นั่งก็ได้

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

T3 Original Tank แท็งก์เดียวที่เก็บรักษาสภาพเดิมคงไว้ เมื่อเดินขึ้นเนินเขาเล็กๆ จะเห็นภาพถังน้ำมันที่กำลังถูกสนิมกัดกร่อน ซึ่งสะท้อนอดีตและเก็บปัจจุบันไปบรรจุไว้เช่นเดียวกัน

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

T4 Culture Complex ความพิเศษของแท็งก์นี้คือการเก็บโครงสร้างภายในของถังน้ำมันเดิมเอาไว้  โถงขนาดใหญ่จึงเต็มไปด้วยเสาเหล็กนับสิบและล้อมรอบไปด้วยผนังเหล็ก ตัวโครงสร้างเดิมของ T4 ถูกออกแบบมาให้แสงจากดวงอาทิตย์เล็ดลอดเข้ามาอย่างไร ก็เก็บเอาไว้อย่างนั้น บวกกับเสียงกึกก้องสะท้อนกลับอย่างทรงพลัง ทำให้ถูกเลือกเป็นที่จัดการแสดงและนิทรรศการเกี่ยวกับแสงไฟอยู่บ่อยครั้ง

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan
Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan
Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

T5 Story Hall พิพิธภัณฑ์ถาวรบันทึกเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของที่นี่ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างถังเก็บน้ำมัน รวมไปถึงขั้นตอนการรื้อถอนและโยกย้ายวัสดุต่างๆ ในการปรับปรุงถังน้ำมันเหล่านี้ ผ่านภาพและวิดีโอ 360 องศา พร้อมสัมผัสโครงสร้างทั้งภายใน ภายนอก ผนังหิน และผาหิน ที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี 

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan
Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

T6 Information Exchange Center แท็งก์นี้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาใหม่จากวัสดุที่รื้อถอนจาก T1 และ T2 ทุกชิ้น มีแค่ส่วนฐานเท่านั้นที่เป็นของ T6 ตั้งแต่แรก ผนังภายนอกมาจากแผ่นเหล็กที่เคยห่อหุ้ม T2 เอาไว้ ส่วนภายในมาจาก T1 แล้วประกอบเข้าด้วยกัน พื้นที่ใช้สอยแบ่งเป็นเป็นคาเฟ่ เวิร์กกิ้งสเปซ และห้องประชุม ทำหน้าที่เป็น Community Center ให้ผู้คนมารวมตัวกันและพบปะเพื่อนใหม่ๆ

Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan
Oil Tank Culture Park, มุนฮวาบีชุกกีจี, Maebongsan

ว่าจะมาเดินสำรวจคร่าวๆ แต่ก็เผลอใช้เวลาเดินออกแท็งก์นู้น เข้าแท็งก์นี้ จนตะวันลับขอบฟ้า จากพื้นที่นับหมื่นตารางเมตรที่ปิดกั้นการเข้าถึงมากว่า 40 ปี วันนี้กลายเป็นสถานที่ที่ดึงดูดผู้คนนับหลายแสน เป็นแบบอย่างของการจัดการพื้นที่เมืองอย่างชาญฉลาด รวมถึงการฟื้นฟูเมืองอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่คนต้นทางยันปลายน้ำ

และถ้ายังเดินไม่เหนื่อย ฝั่งตรงข้ามคือความสำเร็จในการเปลี่ยน Nanji Landfill (ลานทิ้งขยะนันจิ) ให้กลายเป็น Pyeonghwa Park (สวนสาธารณะพยองฮวา), Noeul Park (สวนสาธารณะโนอึล), Haneul Park (สวนสาธารณะฮานึล), Nanjicheon Park (สวนสาธารณะนันจิชอน) และ Sangam Digital Media City (DMC) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศนี้เขาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนขนาดไหน

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล