แมนต้า-พริมา สิงหะผลิน เป็นแชมป์ MasterChef Junior Thailand Season 2 

เด็กหญิงวัย 14 ตรงหน้ามีความน่าสนใจที่เราคาดไม่ถึงคือ เธอไม่เคยเรียนทำอาหารมาก่อน พกมาเพียงพื้นฐานเข้าครัวทำอาหารแบบ Home Cooked ที่ควงตะหลิวโชว์ลีลาเมนูไข่คน ตั้งแต่มือน้อยๆ ยังเอื้อมไม่ถึงเคาน์เตอร์ครัว

เธอยังติดใจรายการ MasterChef Australia จนเฝ้ารอให้มาฉายที่ประเทศไทย จากความคิดกลายเป็นความจริง แมนต้าลงสมัครเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขัน และระหว่างเข้าแข่งขันเธอได้เป็นจานอาหารที่ดีที่สุดอยู่หลายครั้ง

จนคว้ารางวัลมาครองได้สำเร็จ เธอ และ แม่เดือน-ดนยา สิงหะผลิน กระซิบว่า วันประกาศผลยังล่องเรือเที่ยวอยู่ที่ประเทศอิยิปต์ ซึ่งประสบการณ์และการท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้จานอาหารของแมนต้าโดดเด้ง

เด็กหญิงพริมามักจะหยิบความทรงจำบางส่วนจากการเดินทาง บ้างวัตถุดิบ บ้างเรื่องราว ใส่ลงไปในจาน จนกลายเป็นเสน่ห์ประจำตัวของเชฟแมนต้า ที่สำคัญ เธอบอกว่าอาหารแต่ละจานจะอร่อยต้องมีบาลานซ์ของรสชาติ

ตอนนี้เธอมี Chef’s Table เป็นของตัวเอง มีทั้งคอร์สอาหารจากรายการ MasterChef Thailand และคอร์สอาหารที่เป็น ‘แมนต้า’ อย่างแท้จริง รสชาติจะอร่อยขนาดไหน ให้เรื่องราวของเธอเติมความกลมกล่อมให้จานของคุณ

Home Cooked

“ส่วนใหญ่ทำอาหารกินเองที่บ้านค่ะ บางทีหนูทำ แต่แม่ไม่ทำ” 

“เพราะว่า…” ลูกสาวกำลังจะตอบ แต่คุณแม่สวนพร้อมเสียงหัวเราะว่า “แม่ทำแล้วเขาบอกไม่อร่อย”

Scramble Egg เป็นเมนูแรกของแมนต้าวัย 5 ขวบ เธอได้เสน่ห์ปลายจวักจากคุณยาย ตำราอาหารและยูทูบ เด็กหญิงพริมาเริ่มสนใจการเข้าครัวปรุงอาหาร-อบขนม เมื่อ 2 – 3 ปีก่อน เพราะความสูงของเธอก้าวกระโดดจนพอจะหยิบจับอุปกรณ์ครัวและเปิดปิดเตาแก๊สด้วยตนเอง ประจวบกับเธอค้นเจอตำราอาหารคาวและหวานของคุณยาย

“หนูเจอหนังสือของคุณยายแล้วอยากทำตาม” เธอลุกจากเก้าอี้และกลับมาพร้อมปฏิทินเล่มเก่า 

“มันเป็นปฏิทินค่ะ มีสูตรอาหารคาว หวานของคุณยายที่ทำกินเองที่บ้าน หนูชอบกินขนมหวานก็เลยเลือกทำขนมหวานเยอะหน่อย หนูใช้สูตรขนมคุณยายทำขนมขายด้วยค่ะ เป็นเค้กแบบนี้” เธอชี้ไปที่สูตรเค้กราชปะแตน

แมนต้าบอกว่าเธอถนัดขนมฝรั่งมากกว่าขนมไทย ส่วนอาหารไทยเธอยกให้คั่วกลิ้งรสเผ็ดร้อนเป็นจานโปรด เพราะเคยได้ลิ้มตอนไปดำน้ำที่หลีเป๊ะแล้วติดใจ ถึงขนาดเลือกทำเมนูคั่วกลิ้งไปแข่งขันรอบออดิชันในรายการ MasterChef Junior Thailand Season 2 จนผ่านเข้ารอบ แถมอาหารจานหลักรอบฟินาเล่เธอก็ทำรีซอสโตคั่วกลิ้ง

“ตอนนี้แมนต้าหรือคุณแม่ทำอาหารอร่อยกว่ากัน” เราถามย้ำความมั่นใจ

“หนู” เธอตอบเสียงดังฟังชัด เรียกเสียงหัวเราะจากเราจนตาหยี

MasterChef Junior

“หนูไม่คิดว่าจะได้เป็นมาสเตอร์เชฟ หนูแค่อยากแข่ง เพราะตอนเด็กชอบดู MasterChef Australia

รายการ MasterChef Australia มีส่วนสร้างความผูกพันระหว่างแมนต้ากับการปรุงอาหาร จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากสวมผ้ากันเปื้อนควงตะหลิว เฝ้ารอให้รายการแข่งขันทำอาหารเวียนมาฉายที่ประเทศไทย

“หนูชอบดูเวลาที่เขาทำอาหารออกมาแล้วมันสวย ซึ่งมันมีโจทย์ที่หลากหลาย หนูจะลุ้นว่าโจทย์นั้นคืออะไร เคยมีครั้งหนึ่งที่ MasterChef Australia ให้โจทย์เป็นสมุนไพรไทย ตะไคร้ พริก กระเทียม หนูได้ลองทำตามด้วย”

 แมนต้าใช้สมุนไพรไทยที่ให้ตามโจทย์ทำเป็นต้มยำแห้ง ที่เธอบอกว่าน้ำจะข้นกว่าต้มยำปกตินิดหน่อย เด็กหญิงตรงหน้าไม่ได้อธิบายถึงรสชาติของจานนั้น แต่เรามั่นใจว่าความคิดสร้างสรรค์ที่เธอใส่ลงไปต้องอร่อยแน่นอน

หลังจากพลาดการแข่งขัน MasterChef Junior Thailand Season 1 เพราะติดภารกิจท่องเที่ยว เด็กหญิงพริมาวัย 13 ที่มีความมุ่งมั่นตั้งแต่ตัวจิ๋วที่อยากเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันในรายการทำอาหารระดับโลก เธอกลับมาอีกครั้งใน MasterChef Junior Thailand Season 2 และจานอร่อยที่พาเธอผ่านฉลุยรอบออดิชันคือ สปาเกตตี้คั่วกลิ้ง

หลังจากชิมลางเมนูแรกด้วยอาหารใต้จานโปรด ความกลัวก็เริ่มเข้ามาเยือนว่าที่ ‘แชมป์’

“ตอนเข้าไปในรายการ รอบแรกที่หนูชนะแล้วต้องขึ้นไปนั่งข้างบน หนูเห็นเพื่อนเขาทำหลายอย่างที่หนูไม่เคยรู้จัก อย่างวิธีการทำให้ซุปข้น ที่ใช้เนยผสมกับแป้งแล้วใส่ลงในซุป ถ้าเป็นหนูคงต้มจนกว่าน้ำจะระเหยหมดแล้วซุปจะข้น 

“หนูไม่รู้จักโมเลกูลาร์ ไม่รู้จักสเฟียร์ เพราะหนูทำอาหารเองที่บ้าน ดูจากยูทูบ นั่นทำให้หนูรู้สึกกลัว”

แมนต้าเริ่มต้นทำอาหารจาก Home Cooked และเธอไม่เคยเรียนทำอาหารมาก่อน เทคนิคเด็ดดวงทั้งหลายเธอแทบไม่คุ้น จนเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการที่ใฝ่ฝัน บวกกับทักษะฝีมือของเพื่อนเข้าแข่งขันในรายการ ยิ่งทำให้แมนต้าพยายามอย่างหนัก เรียนรู้ที่จะทำความรู้จักกับเทคนิคและอุปกรณ์ครัวเพื่อฝึกฝนสำหรับใช้ในทุกรอบการแข่งขัน

The Finale Menu

Japan Via Iceland, Southern Thailand To Europe และ English Afternoon Tea เป็น 3 จานในรอบแข่งขันฟินนาเล่ที่พาแมนต้าคว้าแชมป์ MasterChef Junior Thailand Season 2 มาครอง เราถามเธอถึงแรงบันดาลใจของทั้งสามเมนู เธอว่าตั้งต้นจากบันทึกการเดินทางที่เธอได้ไปเยือนและถ่ายทอดผ่านเมนูอาหารและวัตถุดิบที่เลือกใช้

“หนูทำ Japan Via Iceland เป็นเมนูสตาร์ทเตอร์ เริ่มจากหนูไปเที่ยวไอซ์แลนด์แล้วได้กินอาหารญี่ปุ่น เขาทำผัดถั่วแระญี่ปุ่น แล้วมันอร่อย ซึ่งปกติแค่ลวกและโรยเกลือ หนูเลยลองกลับมาทำที่บ้าน แล้วใส่องค์ประกอบแบบญี่ปุ่นเข้าไป พวก Scallop, Wasabi Pea Puree, Ponzu Espuma มี Chorizo Crumb ให้กรอบๆ แล้วก็มี Oba Oil”

รสชาติของจานนั้นแมนต้าต้องการให้เผ็ดนิด จาก Wasabi Pea Puree เปรี้ยวจาก Ponzu Espuma และเค็มหน่อยจาก Chorizo Crumb ส่วนของหวานแมนต้าตั้งใจพาเราท่องประเทศอังกฤษด้วย English Afternoon Tea

“Sticky Toffee Pudding หนูปรับสูตรของ กอร์ดอน แรมซี่ (Gordon Ramsay), แมร์รี่ เบอร์รี่ (Mary Berry) และ เจมส์ มาร์ติน (James Martin) มาเป็นสูตรของหนูเอง ซึ่งปกติ Sticky Toffee Pudding จะเสิร์ฟกับคาราเมลซอส แต่หนูเปลี่ยนมาเป็นไอศกรีมอินฟิวส์กับขิง แล้วทำเป็นคาราเมลริงส์ด้านบน แล้วก็มี Strawberry Compote กับ Earl Grey Crumble ด้วย” แมนต้าเล่าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เราถามแมนต้าว่าองค์ประกอบแต่ละอย่างที่ใส่ลงไป เธอคิดมาอย่างดีแล้วใช่หรือเปล่า

“หนูคิดมาดีแล้วค่ะ ทุกองค์ประกอบจะทำให้จานมีรสชาติเพิ่มขึ้น หนูว่าในหนึ่งจานควรมีหลายเท็กเจอร์และหลายรสชาติ ให้มันไปในทางเดียวกัน แต่ไม่ใช่เยอะจน Overpower แล้วคนกินไม่รู้ว่าจะโฟกัสกับรสชาติไหน 

“หนูว่ามันควรมีบาลานซ์ อย่างของหวานที่มี Strawberry Compote จะออกเปรี้ยวหน่อย ช่วยตัดเลี่ยนจากไอศกรีมและคาราเมล หนูว่ามันน่าจะเข้ากันได้ พอชิมแล้วหนูรู้ว่ารสชาติมันอร่อย หนูก็มีความมั่นใจมากขึ้น” เธอตอบ

 ทั้งสามจานไม่ใช่แค่เมนูอาหารที่พาเธอคว้าแชมป์ แต่สิ่งที่เราเห็นจากวิธีคิดเบื้องหลังและแววตาใสแจ๋วทว่าจริงจังของเธอ คือพัฒนาการ ฝีมือ และเทคนิคที่แพรวพราวของเด็กหญิงอายุเพียง 14 ปี ที่ตั้งใจและมุ่งมั่นต่างหาก

Chef’s Table

หลังจบรายการ MasterChef Junior Thailand Season 2 มีหลายคนอยากลองลิ้มรสฝีมือของแมนต้า ซึ่งก่อนหน้านี้เชฟตัวน้อยเคยทำ Chef’s Table ให้เพื่อนคุณแม่ทานอยู่บ้าง แต่ Chef’s Table คราวนี้ คุณจะได้ชิมเรื่องราวผ่านจานอาหารที่เธอออกเดินทางท่องเที่ยว และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากรายการแข่งขันทำอาหารชื่อดังของประเทศไทย

“หนูมีทั้งหมดสามเมนูค่ะ เมนูแรกเป็นเมนูที่ทำตอนแข่งฟินนาเล่ เมนูที่สองเป็นเจอร์นีย์ของมาสเตอร์เชฟค่ะ เป็นเมนูที่หนูได้เป็นจานอาหารที่ดีที่สุด ส่วนเมนูที่สาม หนูอยากทำเมนูที่คิดขึ้นมาเอง ไม่ได้อยากให้เป็นแค่เมนูที่มาจากมาสเตอร์เชฟอย่างเดียว ซึ่งหนูชอบอาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว รสชาติของมื้อนั้นก็จะเป็นญี่ปุ่นที่ทวิสต์มาอีกทีค่ะ”

กระซิบว่าแมนต้าชอบอาหารญี่ปุ่นมาก โดยเฉพาะสารพัดเส้น 

“หนูเลยตั้งชื่อหมาว่าอูด้ง” เธอยิ้ม

แมนต้าชวนเราไปยังห้องครัวที่เธอใช้ปรุงอาหารและสาธิตหนึ่งในจานอร่อยจาก Manta’s TOKYO Sensation เป็นแซลมอนซูวีย์กับพอนสึ โอบะออยล์ เห็ดผัด โอบะเทมปุระ และซุปมิโสะสาเก รสชาติเข้ากัน แถมเผ็ดนิดได้ใจ

ระหว่างชิมจานอร่อยของลูกสาว เราถามแม่เดือนว่าแมนต้าฉายแววทำอาหารตั้งแต่ตอนไหน

“ตอนสองปีที่แล้วเขาอยากทำขนมขาย เราก็โอเค ถ้าอยากทำ ต้องทำจริง ไม่ใช่ทำสามเดือนแล้วมาบอกว่าไม่เอาแล้ว ซึ่งเราไม่ได้หมายความว่าต้องทำยอดขายให้เยอะ ขอแค่ทำต่อเนื่อง เขามีพื้นฐานอยู่แล้ว เราอยากให้เขารักษาเอาไว้

เพราะถ้าตัดสินใจทำอะไรแล้วต้องคอนเนกตรงนั้น อย่าทิ้ง ไม่อย่างนั้นจะเป็นคนจับจด ต้องมีความรับผิดชอบ 

“แต่ก่อนหน้านั้นเขาชอบสัตว์นะ อยากเป็น Marine Biologist เวลาไปเที่ยวเราจะพาเขาไปสถานที่ที่มีสัตว์ กับอีกอันคือการทำอาหาร ตอนไปอิตาลีก็ไปคอร์สทำพาสต้า ซึ่งทุกทริปเราจะแทรกเรื่องพวกนี้ให้เขาตลอด” 

“เชฟ เป็นหนึ่งในความฝันวัยเด็กของแมนต้าหรือเปล่า” เราเปลี่ยนมาโยนคำถามใส่ฝั่งลูกสาว

“ไม่ค่ะ” เธอหัวเราะร่าก่อนจะเฉลย “ตอนเด็กอยากเป็น Marine Biologist สัตว์แพทย์ ไม่ก็นักวิทยาศาสตร์”

ส่วนตอนนี้เธอบอกว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Scientist)

แม่เดือนไม่อยากให้เธอทิ้งทักษะการทำอาหารที่มี เพราะสิ่งที่เธอทำมันต่อยอดได้ในสิ่งที่เธออยากเป็น

Manta’s Journey

อาหารของแมนต้ามักสัมพันธ์กับประสบการณ์การเดินทาง เพราะมีเชฟคนโปรดเป็น เฮสตัน บลูเมนธาล (Heston Blumenthal)

“หนูเคยไปทานร้านอาหารของเขาที่อังกฤษ อาหารของเขาจะครีเอทีฟ เขามีแผนที่ให้ เป็นเหมือนเจอร์นีย์ แล้วตอนเช้าจะเสิร์ฟอาหารเช้าที่แปลกหน่อย เขาให้ดื่มชาที่ครึ่งหนึ่งเย็น ครึ่งหนึ่งร้อน มันเจ๋งแต่ก็ยังอร่อย

“Chef’s Table ของหนูหลายอันก็มีแรงบันดาลใจจาก เฮสตัน บลูเมนธาล หนูปรับส่วนที่ชอบมาเป็นสไตล์ของตัวเอง อย่างเมนูฟินนาเล่ก็อินสไปร์จากการเดินทาง เพราะหนูไปเที่ยวมาเยอะ หนูชอบอาหารที่มีประสบการณ์อยู่ในนั้น เวลากินมันจะสนุกกว่า แล้วก็ทำให้เรามีส่วนร่วมกับการกินอาหารด้วย” แมนต้าเล่าพร้อมรอยยิ้ม

และการเดินทางก็เปิดลิ้นให้แมนต้าได้ลองชิมหลากหลายเมนูที่ไม่เคยลิ้มมาก่อนในชีวิต

“แมนต้าชิมอาหารมาเยอะมั้ย” เราสงสัยเด็กวัย 14 ตรงหน้า

“เยอะะะ” เธอลากเสียง “เวลาไปเที่ยวก็ชิมค่ะ ตอนไปอียิปต์มีอาหารหลายอย่างที่หนูลองชิม แล้วก็มีบางอย่างที่หนูชอบ มันคือฟาลาเฟล เป็นก้อนกลมๆ หน้าตาดูไม่ค่อยอร่อย แต่จริงๆ อร่อย บางอย่างหนูก็กลับมาทำเองที่บ้าน อย่างซุป เพราะมีบางรอบที่หนูลงไปดำน้ำไม่ได้ เลยมีเวลาว่างบนเรือเลยขอเขาเข้าไปดูในครัวว่าทำอาหารกันยังไง”

“หลังจากทำอาหารมากขึ้น แมนต้าเริ่มสนใจวิธีการทำอาหารมากขึ้นด้วยหรือเปล่า”

“ใช่ค่ะ บางทีก็ลองแกะสูตรดู บางทีใกล้เคียง บางทีก็ไม่ใกล้” หัวเราะ “สนุกดีค่ะ เวลาได้ชิมและทายว่ามีอะไรบ้าง และหนูคิดว่าการได้ไป MasterChef Junior Thailand Season 2 ทำให้หนูกินได้หลากหลายขึ้น หนูกล้าชิมและชอบอะไรเพิ่มขึ้น มันทำให้หนูมีไอเดียในการทำอาหาร อย่างเมื่อก่อนหนูไม่กินปลาร้า เพราะมันเหม็น แต่ตอนนี้หนูชอบส้มตำปูปลาร้า 

“ต้มแซ่บหนูก็ไม่ค่อยชอบ มันใสแล้วก็ดูเปรี้ยว หนูชอบอะไรที่ข้นนิดหนึ่ง มีครั้งหนึ่งแม่ให้หนูไปเรียนทำซุปกับป้าที่เขาเข็นรถขายแถวหน้าบ้าน เพราะแม่กินแล้วมันอร่อย ตอนเรียนเขาให้ลองปรุง หนูก็ชิมดู มันก็อร่อย”

จากการฟังคำตอบ การชิมดูเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของเชฟ และแมนต้าก็กำลังเป็นแบบนั้น 

“ขั้นตอนไหนของการทำอาหารที่ชอบที่สุด” เราถาม

“หนูชอบตอนทดลอง” เธอตอบทันที “เพราะหนูไม่รู้ว่ามันจะกลายเป็นอะไร หนูยังต้องคิดอยู่ว่าจะเอาอันนี้ออกหรือเอาอันนั้นใส่เพิ่ม บางทีการทดลองก็ทำให้หนูเจอวิธีการทำอาหารแบบใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน”

“แล้วแมนต้าเรียนรู้อะไรจากการทดลองแต่ละครั้ง” 

“หนูได้รู้ว่าถ้าคิดอะไรให้เป็นแพลน บางทีมันก็ยังไม่เป็นไปตามแพลน เช่น อาหารแบบนี้ถ้ากินด้วยกันแล้วจะอร่อย แต่ก็ยังไม่อร่อย เพราะอาหารไปกลบรสชาติของอีกอันหนึ่ง หนูเลยไม่คาดหวังว่ามันจะอร่อยในครั้งแรกที่ทำ ต้องทดลองและพัฒนาต่อ เพื่อหาความบาลานซ์ของรสชาติให้กับอาหารแต่ละจาน” เธอเรียนรู้ที่จะผิดหวัง

“สำหรับแมนต้า คุณสมบัติของเชฟที่ดีต้องเป็นอย่างไร” 

“ควรมีความอดทนค่ะ อดทนที่จะทดลองไปเรื่อยๆ และต้องมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาด้วย”

“ตอนนี้เราเรียกแมนต้าว่า เชฟ ได้แล้วใช่มั้ย”

“ค่ะ” เด็กหญิงตรงหน้ายิ้มเขิน 

เราไม่อาจแน่ใจว่าเด็กหญิงพริมาที่เขินม้วนกับคำเรียกแทนตัวว่า เชฟ จะเดินทางสายนี้ต่อในอนาคตหรือเปล่า แต่ภาพที่เราเห็นผ่านคำตอบของเธอ คำว่า เชฟ มันอยู่ในตัวเธอตั้งแต่บทสนทนาแรกจนถึงบทสนทนาสุดท้าย

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ