“เรามาถูกหลังใช่มั้ย” กรินทร์ ช่างภาพ เอ่ยถามผม ขณะกำลังตั้งลำจอดรถด้านหน้าอาคารเปิดโล่ง ดูดี แยกตัวออกมาจากบ้านหลังโตทรงโมเดิร์นที่มีสระว่ายน้ำกั้นกลางระหว่างอาคารสองชั้นเรียบโก้กับห้องขนาดพอเหมาะ ซึ่งทางเข้า-ออกติดประตูกระจกบานเลื่อนแบบเต็มบาน 

ความสงสัยถูกปลิดทิ้งทันทีที่ ครูมานพ วงศ์น้อย ออกมาต้อนรับพวกเราด้วยรอยยิ้ม ชายวัยกลางคน ผิวสีเข้ม และทะมัดทะแมงในเสื้อเชิ้ตกับกางเกงยีนส์ แทบไม่มีอะไรใกล้เคียงกับภาพครูศิลป์ของแผ่นดิน สาขาเครื่องรัก ตามแบบฉบับที่ผมมักคิดว่าจะต้องมีลักษณะของ ‘พ่อครู แม่ครู’ ผู้มีวิถีสักส่วนเสี้ยวหนึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน 

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ครูมานพพาชมสตูดิโอ พลางชี้แจกันดำเงาวับประดับลวดลายเก๋ไก๋ คล้ายศิลปะตะวันตกใบใหญ่แล้วบอกว่า หากไม่นับผลงานเก่าเก็บจำนวนน้อยนิด หรือชิ้นที่เพิ่งชนะรางวัลการประกวด Lifestyle Lacquerware 2019 มาหมาดๆ นั่นเป็นผลงานโบแดงชิ้นเดียวที่หลงเหลืออยู่ภายในบ้าน เพราะตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา เครื่องรักฝีมือครูล้วนส่งออกสู่ตลาดลูกค้าต่างชาติ อาทิ ฝรั่งเศส เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

รักในวัยเรียน

 “สมัยเด็กๆ ลุงเป็นคนสมองทึบ เรียนหนังสือไม่เก่ง สอบทีไรได้แค่ที่โหล่กับรองโหล่ พอเรียนจบพ่อแม่เลยไม่ส่งเรียนต่อ จึงลองขอพ่อไปสมัครฝึกอบรมทำเครื่องรัก เพราะวิชางานฝีมือเป็นวิชาเดียวที่ลุงได้คะแนนเต็มตลอด แล้วก็เคยเห็นเขาทารัก ติดเปลือกไข่ ดูท่าทางน่าสนุกดี ตอนนั้นอายุสิบสี่ปี เป็นนักเรียนอายุน้อยที่สุดในชั้นเรียนหัตถกรรมเครื่องรักของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่หนึ่งรุ่นแรกๆ” 

ครูมานพย้อนเล่าชีวิตวัยเด็กอย่างย่นย่อเพื่อปะติดปะต่อคำอธิบายว่า เหตุใดเด็กชายลูกชาวนาที่เกิดในชุมชนหนองป่าครั่ง ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งกับแหล่งผลิตหัตถกรรมเครื่องรักแห่งสำคัญเมืองเชียงใหม่ (ชุมชนนันทาราม) จึงเติบโตเป็นผู้ช่ำชองการใช้แปรงทารัก

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

3 เดือนในห้องเรียนบ่มเพาะการงานชีวิต ครูมานพสั่งสมประสบการณ์เข้มข้นโดยมีเซ็นเซชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ถ่ายทอดทักษะขั้นพื้นฐาน เทคนิคพิเศษของเครื่องรักแบบญี่ปุ่น การตกแต่งรักสี ติดเปลือกไข่ รวมถึงประดับเปลือกหอยมุก ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยปูทางสู่การต่อยอดสร้างสรรค์รายละเอียดพิถีพิถัน อันเป็นเอกลักษณ์ของผลงานในเวลาต่อมา

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

หัวใจของหัตถกรรมเครื่องรัก คือการใช้ ‘ยางรัก’ ยางไม้สีดำจากต้นรักเคลือบวัสดุต่างๆ ซึ่งที่พบส่วนมากทางภาคเหนือของไทยจะเป็นภาชนะและข้าวของเครื่องใช้ที่มีโครงสร้างหลักเป็นไม้กับไม้ไผ่สาน เพื่อเสริมความทนทาน ป้องกันน้ำรั่วซึม และเพิ่มความเงางาม โดยเครื่องรักในเชียงใหม่นิยมเรียกกันว่า ‘เครื่องเขิน’ ตามกลุ่มช่างฝีมือชาวไทเขินผู้นำงานหัตถศิลป์แขนงนี้เข้ามาเผยแพร่ในอาณาจักรล้านนาตั้งแต่ยุค ‘เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง’

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

ครูมานพขยายความอีกว่า งานหัตถกรรมเครื่องรักพื้นบ้านนั้น เดิมทีเป็นจำพวกขันโอ ขันดอก ขันโตก หีบผ้าใหม่ หรือบรรดาของใช้ในชีวิตประจำวันที่ถ้าชาวบ้านต้องการยืดอายุการใช้งาน ก็จะหายางรักมาทาจนดำขลับ ก่อนจะพัฒนารูปแบบมาเป็นตลับ แจกัน หรือช้างไม้ ขายเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก รองรับกระแสการท่องเที่ยวที่เริ่มตื่นตัว 

จุดเปลี่ยนอันท้าทาย

หลังฝึกอบรมเสร็จสิ้น ครูมานพก็ลงสนามจริงด้วยการเริ่มต้นอาชีพรับจ้างทารักรายวันให้กับร้านค้าของฝากย่านวัดศรีสุพรรณ ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งผลิตหัตถกรรมเครื่องเงินขึ้นชื่อ แต่อดีตเคยยังครึกครื้นด้วยร้านจำหน่ายหัตถกรรมเครื่องรัก ใช้เวลาราว 5 ปีกับการงานที่ ‘ทำไปวันๆ’ ก่อนขยับเป็นช่างทำเครื่องรักมือหนึ่ง ไต่เต้าจนถึงผู้รับเหมาดูแลคนงานประจำโรงงานผลิตเครื่องรักที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ อย่างร้านไทยช็อป ร้านนภาเครื่องเขิน และร้านลายทอง

ขณะชีวิตกำลังเข้าร่องเข้ารอย ครูมานพก็พบกับจุดเปลี่ยนอันท้าทายที่เดินทางมาพร้อมกับนักค้างานฝีมือชาวเบลเยียม เบอร์นาร์ด ผู้เสาะแสวงหาช่างท้องถิ่นที่สามารถรังสรรค์งานตามโจทย์ของลูกค้าชาวยุโรป ผู้หลงใหลหัตถกรรมเครื่องรัก 

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส
มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

 “ก่อนหน้านั้นเบอร์นาร์ดเขาเทียวมาดูเครื่องรักตามร้านที่ลุงดูแลคนงานอยู่หลายครั้ง จนวันหนึ่งเขาขอนัดเจอลุงที่ร้านลายทอง เพื่อเอาแจกันไม้มาให้ลองทารักเนี้ยบๆ แบบญี่ปุ่น พอทำเสร็จก็ปรากฏว่าถูกใจ ส่งงานให้ทำอีกประมาณ สามสี่ชิ้น แล้วเงียบหายไปเกือบสองปี กลับมาคราวนี้พูดไทยได้เลย เขาบอกว่าไปเรียนมาจากกรุงเทพฯ เพราะมีงานอีกหลายชิ้นที่อยากชวนทำ ต่อไปจะได้สื่อสารกันง่ายขึ้น” 

ครูมานพหัวเราะ เมื่อนึกถึงความพยายามของคู่ค้าที่ต่อมาพัฒนาความสัมพันธ์เป็นเพื่อน และเปรียบเสมือนอาจารย์อีกคนหนึ่งในชีวิต ผู้เปิดโลกทัศน์ทางด้านศิลปะที่มีส่วนช่วยยกระดับทักษะและมุมมองการสร้างสรรค์งานของครูให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ผ่านการเรียนรู้ศาสตร์เครื่องรักแบบฝรั่งเศส

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

เครื่องรักสไตล์โมเดิร์น

“ทั้งที่ๆ การงานดูมั่นคงมาก แล้วทำไมครูถึงอยากออกมาทำงานที่ยุ่งยากและดูไม่มีความแน่นอนล่ะครับ” ผมสงสัยในการตัดสินใจวางมือจากแวดวงธุรกิจเครื่องรักที่ครูมานพทุ่มเทมากว่า 20 ปี

 “เพราะลุงรู้ว่าตัวเองเป็นคนชอบทำงาน มากกว่าดูแลเรื่องงบประมาณหรือคุมลูกน้อง อีกอย่างธรรมชาติของลุงคือชอบความท้าทาย ยิ่งยากยิ่งอยากลอง ซึ่งพอทำสำเร็จ เราก็รู้สึกว่ามีความสุขและภาคภูมิใจ”

ทุกรายการสั่งผลิตจากเบอร์นาร์ดถือเป็นประสบการณ์การทำงานที่แปลกใหม่ เพราะล้วนเป็นเครื่องรักแบบตะวันตกที่มีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของวัสดุ รูปทรง รวมถึงการออกแบบตกแต่งลวดลายสไตล์โมเดิร์น อาทิ ทองเหลือง ทองแดง เหล็ก สเตนเลส หรือฝ้าเพดาน ซึ่งนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานตั้งแต่เครื่องประดับจำพวกต่างหู สร้อยคอ กำไล และของใช้ภายในบ้าน กระทั่งชิ้นใหญ่อย่างแผ่นภาพจากวัสดุไม้อัดความสูง 2 เมตร 

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

ครูมานพเล่าว่า อาศัยทักษะความชำนาญอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอให้งานเหล่านี้ออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ต้องศึกษาเทคนิคการทำเครื่องรักฝรั่งเศส ประเทศที่โดดเด่นในการทารักบนวัสดุมากมาย ซึ่งครูมีโอกาสได้เรียนรู้จากตำราของศิลปินชาวฝรั่งเศสที่เบอร์นาร์ดนำมาอธิบายขั้นตอนให้ฟังสม่ำเสมอ

จุดเด่นที่ทำให้ผลงานฝีมือครูมานพเป็นที่ยอมรับของลูกค้าชาวต่างชาติ ทั้งในฝรั่งเศส เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์ เกิดจากหลอมรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนพัฒนาหัตถกรรมเครื่องรักที่มีเอกลักษณ์ในผิวสัมผัสเกลี้ยงเกลา ดำเงางาม ตามแบบฉบับญี่ปุ่น และการออกแบบลวดลายสไตล์โมเดิร์น ประณีต พิถีพิถัน ตามแบบฉบับฝรั่งเศสได้

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

“ปัจจัยที่ทำให้เครื่องรักออกมาเรียบเนียน สวยงาม อย่างแรกคือการกรองยางรัก โดยเทคนิคของลุงจะกรองด้วยเครื่องกรองรักโบราณกับผ้าขาวบางทั้งหมดสิบสามผืน เพื่อให้ได้รักเนื้อเนียน ต่อมาคือการทารักซึ่งมีประมาณสิบห้าขั้นตอน ก่อนขัดเงาด้วยกระดาษทรายเบอร์ละเอียด 600 800 และ1000” 

ครูมานพบอกเคล็ดลับ “แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือจะต้องใช้รักแท้”

รักแท้ หมายถึง ยางรักบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นของหายากในประเทศไทย เนื่องจากเป็นของป่าหวงห้ามตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดของป่าหวงห้าม พ.ศ. 2530 ทำให้มีราคาสูงถึงหลักหมื่นเพราะต้องนำเข้าจากเมียนมา ดังนั้น ผู้ผลิตหัตถกรรมเครื่องรักบางรายจึงเลือกใช้รักผสมหรือเปลี่ยนมาใช้สีอะคริลิก ซึ่งความเงางามและทนทานด้อยกว่าการใช้รักแท้อย่างเห็นได้ชัด

มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส
มานพ วงศ์น้อย ผู้ฉีกภาพช่างรักพื้นบ้าน ทำเครื่องรักด้วยศาสตร์ลูกผสมญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

 “ยิ่งนาน ยิ่งเงางาม ยิ่งมีคุณค่า” ครูมานพเน้นย้ำเสน่ห์ของเครื่องรักที่กาลเวลาไม่อาจทำให้หมองค่า ก่อนเปรยเป้าหมายในปีนี้ให้ฟังว่า กำลังจะทำสตูดิโอหลังใหม่ที่จัดแบ่งพื้นที่ภายในไว้สำหรับทำงาน จัดแสดงผลงาน ช็อปจำหน่ายสินค้าครั้งแรกในบ้านเกิด และเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเยี่ยมชม 

เหนืออื่นใดคือความตั้งใจอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่า เครื่องรักสไตล์โมเดิร์นนั้นสร้างรายได้และใช้งานได้จริงเพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจในการสืบสานศิลปหัตถกรรมแขนงนี้ให้คงอยู่ต่อไป

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ