21 พฤศจิกายน 2019
8 K

‘แค่ต่างวัย และไม่ได้มาจากต่างดาว’ คือสโลแกนของเพจ ‘มนุษย์ต่างวัย’ ของ ประสาน อิงคนันท์ ที่เรารู้จักเขาผ่านรายการ คนค้นฅน และ กบนอกกะลา

เขาคือผู้คร่ำหวอดในแวดวงรายการโทรทัศน์ โดยเฉพาะรายการที่เกี่ยวกับเรื่องของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นรายการ ลุยไม่รู้โรย หรือ The Senior รุ่นใหญ่หัวใจไร้ขีดจำกัด ด้วยความถนัดและประสบการณ์ที่สั่งสมมา ประประสานตัดสินใจสร้างเพจเฟซบุ๊กขึ้น โดยถ่ายทอดเรื่องราวของผู้สูงอายุ เพื่อปรับทัศนคติไม่ใช่แค่ที่ผู้สูงอายุมีต่อตัวเอง แต่มุมมองที่คนอื่นมีต่อพวกเขาด้วย

ประสาน อิงคนันท์ ‘มนุษย์ต่างวัย’ เพจที่อยากให้สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัย

‘มนุษย์ต่างวัย’ จึงนำเสนอเรื่องราวของผู้สูงอายุในมุมมองที่เราอาจไม่เคยสัมผัส ตั้งแต่ผู้สูงอายุเจ๋งๆ ที่ไม่ได้รำไทเก๊กหรือเต้นลีลาศเวลาว่าง ไปจนถึงความหมายเบื้องหลังการส่งไลน์สวัสดีวันจันทร์ที่ลูกหลานเก็บกลับมาล้อทุกครั้งที่ได้รับ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุและความคิดที่แตกต่างระหว่างวัย เหมือนอย่างที่ประสานบอกไว้ว่า สังคมสูงอายุไม่ใช่เรื่องของพวกเขาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน

หลังจากการคุยกับประสานในวันนั้น เราได้เรียนรู้อะไรอีกเยอะ แม้จะยังมีบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำของญาติผู้ใหญ่บางคน แต่อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าสุดท้ายเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกอย่างของเขาหรอก แค่เรียนรู้ว่านั่นคือความแตกต่าง ความแตกต่างที่เกิดจากประสบการณ์และยุคสมัยที่โตมา แค่นั้นก็ทำให้ ‘มนุษย์ต่างวัย’ ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจแล้ว

‘มนุษย์ต่างวัย’ เพจที่อยากให้สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัย

ประสานให้ต่างวัยเข้าใจกัน

ตั้งแต่สมัยที่ทำรายการโทรทัศน์ ประสานก็เหมือนคนอื่นๆ ที่เคยคิดว่าเรื่องสูงอายุไม่สนุก

“เหมือนมีชุดความคิดว่าคนแก่ต้องทำอะไร ต้องเต้นลีลาศ เล่นเปตอง เล่นอังกะลุง หรือรำไทเก๊ก  ตอนทำรายการทีวีแรกๆ ก็มองกรอบนี้นะ แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับพบว่า กรอบทัศนคตินี้เป็นสิ่งที่เรานั้นล้วนคิดไปเอง ถึงแม้ว่าจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้สูงอายุบางกลุ่มที่ทำตามนี้จริงๆ แต่มันก็มีบางกลุ่มที่เชื่อในความสามารถและสมรรถภาพของตัวเองว่าเขายังแข็งแรงนะ มันเป็นเรื่องที่สังคมโลกตีกรอบทัศนคติที่มองผู้สูงอายุ”

“เราเลยทำรีเสิร์ชว่าเวลาสังคมไทยพูดถึงผู้สูงอายุเราพูดถึงอะไร แล้วส่วนใหญ่คือพูดถึงเรื่องคนแก่เงินออมสุขภาพ เราว่าเนื้อหาเหล่านี้ไม่ค่อยสนุก ไม่เซ็กซี่ ทั้งๆ ที่มีประเด็นอะไรพูดตั้งเยอะ ถ้าเราทำสังคมสูงอายุให้น่าสนใจ ลุ่มลึก เชื่อมโยงสังคมและคน มันก็น่าจะสนุกขึ้น”

เพราะผ่านการทำรายการประเด็นผู้สูงอายุ ทำให้ประสานมีประสบการณ์และมีมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เขาอยากให้คนอื่นรับรู้ถึงแง่มุมที่แตกต่างเกี่ยวกับผู้สูงอายุ อยากให้ประเด็นผู้สูงอายุเป็นเรื่องของคนทุกวัย รวมถึงอยากจูนทัศนคติของคนวัยอื่นกับวัยสูงอายุให้เข้าใจกันและกัน

“อย่างคลิปที่ทำเรื่องการส่งไลน์สวัสดีวันจันทร์ในไลน์ ‘ทำไมคนแก่ต้องสวัสดีวันจันทร์?’ คำตอบที่ได้คือ ที่ส่งบ่อยๆ เพราะอยากให้เพื่อนรู้ว่า ‘กูยังไม่ตาย’ คนที่เข้ามาดูคลิปก็เหมือนจูนทัศนคติของเขา เข้าใจถึงเหตุผลของการกระทำ แค่นี้ก็ตอบโจทย์ของเพจแล้ว

“เหมือนเราพูดถึงเรื่องโลกร้อน บางทีเรารู้ว่าโลกมันร้อนแต่เราสัมผัสไม่ถึง แตะต้องไม่เจอ เราก็เลยมาคิดดูว่าอะไรที่เชื่อมโยงผู้สูงอายุให้เป็นสังคมของคนทุกวัยได้ เลยจับประเด็นเรื่องของทัศนคติ ก็คือทัศนคติของผู้สูงอายุที่มีต่อตัวเองว่าจะใช้ชีวิตยังไง อีกทัศนคตินึงคือทัศนคติของคนทั่วไปว่าเขามีทัศนคติต่อผู้สูงอายุยังไง”

‘มนุษย์ต่างวัย’ เพจที่อยากให้สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัย

เพจคนแก่ที่เล่าเรื่องไม่แก่

ตอนแรกประสานก็ไม่ได้สนใจประเด็นผู้สูงอายุหรอก เพราะคิดว่าเรื่องนี้มันไม่สนุกเหมือนที่เราคิดกัน

ประสานเอาข้อมูลเชิงวิชาการมาทำให้น่าสนุกและจับต้องได้ โดยมองหาขอบเขตของคอนเทนท์ว่าทำได้แค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัย เรื่องช่องว่างระหว่างวัย เรื่องความสัมพันธ์ของวัย ทัศนคติมุมมองที่มีต่อวัย 

“แต่เพจเกี่ยวกับผู้สูงอายุก็มีเยอะ ทำไม ‘มนุษย์ต่างวัย’ จึงแตกต่างจากอันอื่น”

“ไม่บอกว่าต่างกันยังไง แต่เราเลือกจะทำแบบไหนมากกว่า หนึ่ง เรามีความถนัดเรื่องวีดีโอ โครงสร้างหลักจะเล่าผ่านวีดีโอ สอง เราเปิดเพจเพื่อให้เป็นมีเดียที่มีมีกลิ่นของการขับเคลื่อนทางสังคม ที่จะขยับให้คนมีความเข้าใจในสังคมสูงวัยมากขึ้น สาม งานที่เราทำไม่ได้คิดเล่นๆ อย่างเดียว เราเอามาจากงานวิจัยหลายๆ อัน เช่น เขาพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมสูงวัย รูปแบบสังคมจะเปลี่ยนไปยังไง เราก็เอางานวิจัยวิชาการมาถอดรูป อย่างที่เราทำรีวิวบ้านพักผู้สูงอายุ มันเป็นเทรนช่วงนี้นะ คุณต้องทำยังไง คุณรับได้แค่ไหนถ้าต้องไปอยู่หรือต้องพาพ่อแม่ไปอยู่ อีกหน่อยมันอาจจะมีคลิปที่วันนึงต้องส่งพ่อแม่ไปบ้านคนแก่จริงๆ  คุณคิดว่ายอมรับได้ไหม บาปไหม โดยตัวลักษณะเพจน่าจะต่างที่เรื่องนี้ เพราะเราต้องการทำเป็นเพจระยะยาว ยอดไลก์อาจจะไม่มาก ไม่ใช่เพจแมส แม้ว่าเราจะทำให้มันสนุกแต่ไม่ได้เป็นคลิปแค่เรียกยอดไลค์หรือวิว อยากให้คิดตาม”

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ‘มนุษย์ต่างวัย’ สร้างขึ้นเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวัยดีขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น ‘คลิปอาม่าขายข้าวกล่อง’ เป็นเรื่องราวของอาม่าที่เคยทำข้าวกล่องให้หลานไปโรงเรียน พอวันที่ร้านเรียนจบ ชีวิตส่วนนี้ของอาม่าก็หายไปด้วย สิ่งที่หลานคนนี้ทำคือใช้ความรู้ที่ตัวเองมีทำแบรนด์ข้าวกล่องให้อาม่า เชื่อมความสัมพันธ์ของสองวัย และทำให้อาม่าได้มีชีวิตส่วนนั้นอีกครั้ง

“เราอยากให้คนรุ่นลูกตระหนักได้ว่าเขาสามารถชวนคุณพ่อคุณแม่ไปทำกิจกรรมได้ตั้งหลายอย่าง เช่น ลูกชายอายุ 21 ปี จะชวนพ่ออายุ 67 ปีไปถ่ายแบบก็ได้” 

ประสาน อิงคนันท์

ตุ๊กตาจำลอง

‘มนุษย์ต่างวัย’ เติบโตมาเรื่อยๆ จนอายุ 7 เดือนแล้ว จากมีเดียที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทัศนคติของผู้สูงวัยและคนรอบตัว กลายมาเป็นตุ๊กตาจำลองของคนกลุ่มอายุประมาณ 35 ขึ้นไป

“คนอายุ 35 หรือ 40 บางคนจะเริ่มคิดว่าเขาจะแก่ไปเป็นแบบไหน เช่น เขาดูวีดีโอเราเสร็จอาจจะคิดว่าอยากแข็งแรง อยากเฟี้ยว นั่นคือการสร้างภาพให้คนกลุ่มนี้เห็น อย่างคลิปโสดสตรอง ที่เป็นเรื่องคนโสดอายุหกสิบแต่ใช้ชีวิตแบบมีความสุข  หรือรีวิวบ้านพักผู้สูงอายุ กลุ่มคนดูคือ pre-older ไม่ใช่ผู้สูงอายุ เพราะสังคมมันเปลี่ยน มีคนโสดไม่แต่งงานเยอะมากขึ้น เขามองถึงรูปแบบของสังคมว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน แสดงว่าเขาวาดภาพสังคมในอนาคตที่เขาจะไปอยู่

“หรืออย่างคลิปอาม่าข้าวกล่องก็มีคนแท็กพี่น้องว่าปู่ย่าตายายที่บ้านเราก็ทำได้นะ กลายเป็นว่าตัวเนื้อหามันสร้างประสบการณ์ระหว่างคน เชื่อมโยงกับคนได้ แม้เพจจะอายุไม่กี่เดือน แต่ดีใจที่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายที่เราต้องการว่า สังคมสูงวัยมันคือสังคมของคนทุกวัยนะ”

ประสาน อิงคนันท์
‘มนุษย์ต่างวัย’ เพจที่อยากให้สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัย

เราไม่สามารถลบใครออกไปจากสังคม

จริงๆ แล้ว ‘มนุษย์ต่างวัย’ ไม่ได้ต้องการให้เข้าใจคนแก่เพียงอย่างเดียว แต่อยากให้เข้าใจความหลากหลายของสังคมและต้องมองคุณค่าของกันและกันให้ออก

“อย่างคุณบอกว่าเขาเป็นไดโนเสาร์ แต่คุณไม่สามารถลบออกไปได้ บางทีคุณอาจจะคิดไม่ตรงกับเขา นับวันพื้นที่ของผู้สูงอายุถูกลืม กลายเป็นกลุ่มคนที่คุณไม่มอง สนใจแต่คนรุ่นเดียวกัน ลืมนึกถึงคนรุ่นเก่า ผู้สูงอายุต้องการพื้นที่ของพวกเขาในทุกๆ เรื่อง อย่างอาหาร คนแก่กินไม่เหมือนเรานะ เรื่องของใช้ด้วย หรือแม้กระทั่งเรื่องผี เราก็มีภาพจำเกี่ยวกับเรื่องผีไม่เหมือนกัน ผีออกจากตุ่มหรือช่องแอร์ ผีผมยาวๆ ชุดขาว (หัวเราะ)  

“ในอนาคตเราอาจจะชวนให้บริษัทต่างๆ มอบสิทธิพิเศษให้พนักงานที่ต้องพาพ่อแมไปหาหมอ เพราะอีกหน่อยคนแก่จะเยอะขึ้น คนวัยเราก็จะมีภาระเพิ่มอีกอย่าง เช่น พาพ่อไปหาหมอทุกวันพุธ ถ้าลาบ่อยก็โดนไล่ออก หรือคนวัยมีครอบครัวก็ต้องเลี้ยงลูกเล็ก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของวัยเหมือนกันนะ พอวัยเปลี่ยน สถานะบางอย่างก็เปลี่ยน หน้าที่ก็เปลี่ยน ซึ่งสังคมยังไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับตรงนี้”

ประสาน อิงคนันท์ ‘มนุษย์ต่างวัย’ เพจที่อยากให้สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัย

ก่อนจะจบบทสัมภาษณ์ในวันนั้น ประสานยกคำพูดของ เป๋า – กมลศักดิ์ สุนทานนท์  หรือ เป๋า วงนั่งเล่น ที่ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก

“ที่สุดแล้ว สูงวัยหรือไม่สูงวัยมันเป็นเรื่องของศิลปะการใช้ชีวิต อายุสามสิบก็มีความสุขแบบสามสิบ อายุหกสิบก็มีความสุขแบบหกสิบ หัวใจที่จะมีความสุขตอนแก่คือต้องทำความเข้าใจความสุขในแต่ละช่วงวัยที่มันเกิดขึ้น ความสุขอาจจะเปลี่ยนไปตามช่วงวัย มันคือเรื่องของศิลปะการมองเห็นชีวิตว่าคุณจะมีความสุขแบบไหน”

Writer

Avatar

ดลชนก ชูประยูร

เด็กรัฐศาสตร์ที่ชีวิตขับเคลื่อนด้วยของกิน หลงรักแสงแดดและเงาตกกระทบ เชื่อว่าทุกคนสามารถมีความสุขได้ด้วยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง

Photographer

Avatar

ธัชชา ศุภกิจเจริญ

นักเรียนกราฟิคดีไซน์ชื่อฟ้า ผู้ฝึกงานถ่ายภาพกับบริษัทก้อนเมฆ หลงรักกล้องฟิล์ม และออกเดินทางเพื่อสะสมเรื่องราวลงกลักฟิล์มม้วนใหม่เสมอๆ