คงจะฟังดูน่าเหลือเชื่อถ้าบอกว่ามีสายการบินระดับชาติเลือกใช้ปลาน้ำจืดจากฟาร์มไทยไปเสิร์ฟระหว่างเที่ยวบิน
ยิ่งน่าเหลือเชื่อมากกว่าที่ปลาน้ำจืดชนิดเดียวกันจะมีคุณภาพและรสชาติดีจนได้รับเลือกไปเป็นวัตถุดิบในร้านอาหารและโรงแรมชั้นนำมากมายในประเทศ
และน่าเหลือเชื่อขึ้นไปอีกเมื่อปลาชนิดนี้คือ ‘ปลานิล’ ที่มีภาพจำฝังลึกสำหรับคนไทยว่า ไม่สะอาด อยู่กับดิน กินในโคลน ไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีจนถูกมองข้ามจากผู้บริโภคอยู่เสมอ
แต่สำหรับ ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ ทั้งหมดที่ว่ามาคือเรื่องจริง เกิดขึ้นต่อเนื่อง และไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นผลลัพธ์จากการสั่งสมองค์ความรู้และพัฒนาวิธีเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดไทย (โดยเฉพาะปลานิล) ในทุกมิติมาตลอด 5 ทศวรรษ จนได้รับการยอมรับและมีมาตรฐานรับรองในระดับนานาชาติ
วันนี้เราได้โอกาสนั่งลงในห้องประชุมของมานิตย์ กรุ๊ป เพื่อสนทนากับ อาร์ท-อมร เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการและเจ้าของมานิตย์ กรุ๊ป รุ่นที่ 2 ว่าจากฟาร์มปลาดุกที่พ่อก่อตั้งขึ้นเมื่อ 56 ปีก่อน เขาเรียนรู้ พัฒนา ต่อยอดในทิศทางไหน อย่างไรบ้าง กว่ามานิตย์ กรุ๊ป จะกลายเป็นฟาร์มปลานิลอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยอย่างในปัจจุบัน
รู้จักมานิตย์
อาจเพราะเกิดและเติบโตมากับฟาร์มปลาดุกกับกุ้งที่พ่อและแม่ มานิตย์-วิภา เหลืองนฤมิตชัยก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2511 อมรจึงตั้งใจมาแต่เด็กว่าจะรับช่วงต่อธุรกิจนี้ และเส้นทางชีวิตของเขาหลังจากนั้นก็ทุ่มเทให้กับเป้าหมายที่ว่ามาโดยตลอด
ทันทีที่จบการศึกษาจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2539 เขาก็กระโดดเข้ามาสู่ธุรกิจฟาร์มปลาน้ำจืดของที่บ้านทันที โดยตั้งต้นจากตำแหน่งนักวิชาการ ไปจนถึงขายปลาหน้าร้านด้วยตัวเอง
เมื่อจุดหนึ่งตัดสินใจย้ายฟาร์มจากที่ตั้งเดิมในจังหวัดนครปฐม มาสู่ที่ดินแปลงใหญ่กว่า 2,000 ไร่ในจังหวัดเพชรบุรี และเปลี่ยนจากการเลี้ยงปลาดุกและกุ้ง มาเป็นปลานิลที่รับเอาสายพันธุ์มาจากกรมประมง ด้วยพื้นฐานของการเป็นนักวิชาการสัตว์น้ำ อมรจึงเข้าใจดีว่าการทำธุรกิจฟาร์มปลานิลไม่ใช่แค่เลี้ยงให้โตแล้วขายออกไป แต่หากต้องการแข่งขันในตลาดนั้น องค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งอาหาร สายพันธุ์ มาตรฐานการเลี้ยง ต้องมีคุณภาพสูงพร้อมทั้งเกื้อหนุนกันและกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ซื้ออย่างครบวงจร
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มานิตย์ กรุ๊ป ในมือของอมรที่มีพนักงานเกือบ 300 ชีวิต เริ่มแตกแขนงสายงานออกมา เพื่อช่วยผลักดันคุณภาพด้านต่าง ๆ ให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่
สายพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ (Manit Genetics) : คอยหาองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาพันธุ์ปลาให้มีคุณภาพ เติบโตไว อัตรารอดสูงขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อรายย่อยที่รับเอาลูกปลาไปเลี้ยงต่อ
สายงานส่งเสริมการเลี้ยง (Manit Intertrade) : ดูแลและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงให้มีคุณภาพ เช่น อาหารปลา จุลินทรีย์ และวัคซีน ซึ่งนับเป็นต้นทุนกว่า 80% ของการเลี้ยงปลาน้ำจืด
สายงานฟาร์มเพาะเลี้ยง (Manit Aquaculture) : รับผิดชอบการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อบริโภค ปลาใหญ่ กุ้งใหญ่ให้เข้าสู่ตลาดอุปโภคซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ
ห้องปฏิบัติการและตรวจโรคสัตว์น้ำ (Manit Labratory) : ทำหน้าที่เหมือนฝ่ายวิจัย เป็นฝ่ายสนับสนุนภายในฟาร์ม และบริการหลังการขายให้กับลูกค้า
ซึ่งแม้จะผ่านมาหลายสิบปี แต่ในปัจจุบันมานิตย์ กรุ๊ป ก็ยังเป็นฟาร์มปลาน้ำจืดเพียงไม่กี่แห่งในไทยที่มีระบบการผลิตปลาครบวงจรในมือ
คุณภาพคับจาน มาตรฐานคับบ่อ
เรื่องหนึ่งที่เราชอบในการคุยกับอมร คือเขาปฏิบัติต่อการเลี้ยงปลานิลด้วยความเคารพ ไม่ใช่แค่ในมุมธุรกิจ แต่ในฐานะอาชีพซึ่งได้รับการส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น นั่นเป็นเหตุผลที่เขาพยายามหาวิธีและนวัตกรรมใหม่มาใช้กับงานนี้อย่างเต็มที่ โดยยังคิดถึงผู้คนและชุมชมที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ
ตั้งต้นจากในฟาร์มของตัวเอง เขาและทีมงานมองเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนระยะยาว ด้วยการแบ่งพื้นที่ฟาร์มส่วนหนึ่งสำหรับระบบเก็บน้ำมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน กล่าวคือ น้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาของที่นี่เป็นการหมุนเวียนน้ำเดิมตลอดทั้งปี โดยผ่านวงจรเก็บ ใช้ พักน้ำ และบำบัดอย่างเป็นระบบ จนระบายออกเพียงครั้งเดียวในช่วงต้นฤดูฝนเพื่อปรับความเค็มและรอรับน้ำฝน ซึ่งด้วยความที่เป็นระบบปิด ทำให้ฟาร์มปลานิลมานิตย์ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ น้ำแล้ง รวมถึงปลาหมอคางดำซึ่งระบาดในพื้นที่เพชรบุรีจากช่วงที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับการเลี้ยงปลา อมรเปลี่ยนจากบ่อดินขุดมาใช้บ่อลอยคอนกรีตทั้งหมด เพื่อให้ควบคุมปริมาณอาหารและจุลินทรีย์ที่ใช้ให้คงที่ ตรวจสอบเก็บข้อมูลปลา ไข่ รวมถึงคุณภาพน้ำได้แม่นยำ ไม่เกิดของเหลือจนกลายเป็นขยะและส่งผลต่อระบบนิเวศใกล้เคียง
ทว่าแม้จะมั่นใจว่าปลาและการเพาะเลี้ยงในฟาร์มของตนนั้นดีพอ แต่ปัญหาที่อมรและทีมเล็งเห็นคือภาพจำต่อปลาน้ำจืดของคนไทย ซึ่งถูกมองว่าไม่สะอาด เลี้ยงอย่างปล่อยปละละเลย ใครโยนอะไรลงไปก็กินหมดแม้ว่าจะเป็นซากสัตว์หรือของเสีย ซึ่งความเป็นจริงนั้นต่างไปโดยสิ้นเชิง
“ภาพจำเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล อาจจะมีแค่กรณีเดียวที่เลี้ยงไม่ดีแล้วคนก็พูดกันปากต่อปาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดเหล่านี้ส่งผลต่อผู้บริโภคด้วย ถึงขั้นมีเพื่อนบางคนบอกว่า จะกินปลาอะไรก็ได้ แต่ไม่เอาปลาน้ำจืดเลย” เจ้าของฟาร์มตรงหน้าเราให้ความเห็น
ประกอบกับการที่อมรกำลังหาช่องทางยกระดับความเชื่อมั่นและสิ่งการันตีคุณภาพปลาของตนอยู่ การขอการรับรองในระดับสากลจึงกลายเป็นคำตอบที่ต้องการ จนมานิตย์ กรุ๊ป ได้รับมาตรฐานโรงเพาะพันธุ์ลูกสัตว์น้ำ BAP (Best Aquaculture Practices) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการส่งสินค้า สัตว์น้ำ ไปประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย
โดยอมรอธิบายความสำคัญของเรื่องนี้ไว้ว่า “การมีหน่วยงานมาวางมาตรฐานให้ทำตามและตรวจสอบซ้ำทุกปี เราจะมีทิศทางชัดเจนว่ายังต้องพัฒนาด้านไหนบ้าง เพื่อให้ทัดเทียมระดับสากล อีกแง่หนึ่งยังเป็นการยืนยันกับผู้ซื้อว่ากระบวนการผลิตของเรามีคุณภาพตั้งแต่ต้นจนสุดทาง”
ซึ่งมาตรฐานนี้ยังเป็นสื่อกลาง เป็นประตูที่เปิดไปสู่โอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับฟาร์ม หนึ่งในนั้นคือสายการบินนานาชาติแห่งหนึ่งเลือกใช้ปลานิลของมานิตย์ กรุ๊ป ไปประกอบอาหารและเสิร์ฟระหว่างเที่ยวบิน ยังไม่นับรวมร้านอาหารชั้นนำหลายแห่งที่ก็วางใจนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอีกด้วย นับเป็นเรื่องหนึ่งที่อมรชอบมากจนถึงขั้นพูดอย่างภูมิใจให้เราฟัง
“ปลานิลเป็นปลาที่มีการบริโภคสูงสุดในไทย แต่เราแทบไม่เห็นปลาชนิดนี้ในร้านอาหารติดแอร์เลย ซึ่งในวันนี้เราทำให้เกิดขึ้นจริง แถมยังก้าวไปไกลกว่านั้นอีกด้วย”
สายพันธุ์ระดับซูเปอร์ สู่แพ็กเกจพร้อมทานที่บ้านคุณ
นอกจากการเลี้ยงดูที่ได้มาตรฐาน เราอยากเล่าเจาะลึกถึงอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทำให้มานิตย์ต่างจากฟาร์มปลาน้ำจืดแห่งอื่นในไทยนั่นคือ ‘การปรับปรุงสายพันธุ์’
อธิบายที่มาให้ฟังสั้น ๆ คือเดิมทีสิ่งมีชีวิตชื่อปลานิลมีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกาและแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ส่วนของไทยนั้นกรมประมงรับพระราชทานมาจากศูนย์เพาะเลี้ยงในพระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน และส่งต่อลูกพันธุ์ให้กับเกษตรกรและกลุ่มผู้เพาะเลี้ยง พันธุ์ปลานิลในประเทศไทยจึงผ่านการปรับปรุงมาต่อเนื่องให้เหมาะกับการเลี้ยง จนเรียกได้ว่าเหนือกว่าพันธุ์ในธรรมชาติของประเทศอื่นทั่วโลกโดยสิ้นเชิง
เมื่อ 20 ปีก่อนมานิตย์ กรุ๊ป เองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ไปรับเอาลูกพันธุ์ปลานิลจากกรมประมงมาเลี้ยงต่อเช่นกัน แต่อมรเล็งเห็นว่าหากยังใช้สายพันธุ์เดิมโดยไม่ปรับปรุงเพิ่มเติมจะแข่งขันในตลาดยาก เพราะผู้ขายทุกเจ้าก็ใช้สายพันธุ์เดียวกัน การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปลานิลที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นเป็นพันธุ์เฉพาะของมานิตย์ กรุ๊ป ในชื่อ Super Black และปลาทับทิมในชื่อ Super Red จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น โดยปัจจุบันผ่านไป 17 ปีมีการพัฒนาไปแล้วราว 20 รุ่น
ข้อเด่นของพันธุ์เฉพาะนี้คืออัตราการเติบโตและรอดชีวิต ซึ่งสูงกว่าพันธุ์แรกเริ่มถึง 2 เท่า ทั้งยังให้เนื้อที่แน่นและปริมาณมากขึ้นด้วย อมรอธิบายเพิ่มเติมว่าหากเป็นผู้บริโภคอาจไม่รู้สึกถึงความต่างมากนัก แต่การที่พันธุ์ Super Black ให้ปริมาณเนื้อสูงกว่าเพียง 5 – 6% สร้างความต่างมหาศาลให้กับผู้เลี้ยงและผู้ขาย
นอกจากเป็นผู้ขายปลาเนื้อแล้ว ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทางมานิตย์ภูมิใจนำเสนอ คือปลานิลแล่พร้อมทาน (Fillet) บรรจุในห่อสุญญากาศแช่แข็ง เพียงอุ่นร้อนและปรุงรสเล็กน้อยก็พร้อมอร่อยได้ทันที ซึ่งเป็นความร่วมมือในการผลิตระหว่างฟาร์มกับโรงงานที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ปลานิลได้มาก
ก้าวไปพร้อมทุกคน
เดิมทีในช่วงสุดท้าย เราอยากถามอมรถึงเรื่องอนาคตของฟาร์มปลาในไทย แต่คุยไปคุยมาเรากลับสนใจในวิธีคิดที่อยากส่งต่อองค์ความรู้และอยู่รวมกับชุมชนของเขามากกว่า
“2 – 3 ปีหลังเราทํางานเรื่องการจัดอบรมความรู้ให้พนักงานและคนในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ทั้งการทำเวิร์คช็อปให้โรงเรียนและชุมชนเรื่องการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ การดูแลตัวเองด้วยสมุนไพร การแยกขยะ การทําเกษตรโดยลดสารเคมี ผมคิดว่าเรื่องนี้สําคัญ เพราะถ้าเราอยู่ได้ แต่คนนอกรั้วอยู่ไม่ได้ แปลว่าความยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นจริง” เจ้าของฟาร์มปลาขนาด 2,000 ไร่บอกว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต้องดำเนินไปพร้อมกับการลงทุนในสิ่งแวดล้อมและผู้คน
“ตัวผมคนเดียวไม่อาจแก้ปัญหาทุกจุดในฟาร์มได้ ฉะนั้น คนที่แก้ปัญหาได้จริง ๆ คือหัวหน้างานหรือนักวิชาการที่อยู่ตําแหน่งนั้น เขาจึงต้องมีความรู้ที่จะแก้ไขหรือพัฒนางานตรงหน้าตัวเองได้ ที่เรากล้าลงทุนในการศึกษาของพนักงาน เพราะถ้าเขาไม่มีหรือขาดความรู้บางอย่าง เราและฟาร์มก็ไปข้างหน้าไม่ได้เช่นกัน เราจึงต้องเติมความรู้ให้เขาและตัวเองตลอดเวลา”
เรื่องราวทั้งหมดนำเรามาสู่คำถามสุดท้าย โดยเราขอยกคำถามและคำตอบมาให้ทุกคนได้อ่านไปพร้อมกันว่า อมรอยากให้มานิตย์ กรุ๊ป เติบโตไปในทิศทางไหน
“ต้องดีขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ต้องอยู่บนความเหมาะสมและพอดีกับกับทุกอย่าง เทคโนโลยีที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่คําตอบที่ถูกต้องเสมอไป แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น ทุกมิติของเราจึงต้องเติบโตดีขึ้นโดยยังเหมาะสมกับบริบท ผู้คน ชุมชนและเรื่องรอบตัว”
Website : manitgroup.co.th