“…ในค่ำคืนที่ฟ้านั้นไม่มีดาวอยู่ตรงนี้ ฉันยังคงก้าวไป ยังคงมีรักแท้ เป็นแสงนำไป ในคืนที่หลงทาง นาทีที่ความฝันนั้นพร้อมเป็นเพื่อนตาย เส้นทางนี้ฉันยังมีจุดหมาย ตราบใดที่ปลายท้องฟ้ามีแสงรำไร จะไปจนถึงแสงสุดท้าย…”
เสียงเพลง แสงสุดท้าย ดังกึกก้องไปทั่วประเทศ หลังจาก ตูน Bodyslam ชายผู้วิ่งจากเบตงถึงแม่สาย ก้าวเท้าเข้าเส้นชัย ช่วงหัวค่ำของวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ในสายตาคนจำนวนไม่น้อยแล้ว เพลงนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ของแรงบันดาลใจ ความหวัง และความเสียสละ
แต่ในมุมของทีมเขียนเพลงที่อยู่เบื้องหลังแล้ว นี่คือสิ่งที่เกินฝัน เพราะพวกเขาไม่เคยคิดมาก่อนว่า เพลงลำดับ 6 จากอัลบั้ม ‘คราม’ ซึ่งแทบไม่เคยถูกโปรโมตจริงจังหรือผลิตเป็นมิวสิกวิดีโอ จะเข้ามาอยู่ในใจของผู้คนนับล้านชีวิตเช่นนี้
เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้วที่มีโลโก้สีเขียวเขียนคำว่า Mango Music Making Group ปรากฏบนปกอัลบั้ม
พวกเขาได้ผลิตผลงานสุดคลาสสิกออกมานับไม่ถ้วน ผ่าน 3 ศิลปินร็อกแถวหน้าของเมืองไทย Big Ass, Bodyslam และ Labanoon หลายเพลงถูกเล่นซ้ำไปซ้ำมาไม่ต่ำกว่าร้อยล้านครั้ง และบางเพลงกลายเป็นซาวนด์แทร็กประกอบชีวิตของใครหลายคน
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากขอพาทุกคนไปพบกับสมาชิกทั้ง 7 ของ ‘Mango Team’ โป-สุเมธ โปษยะนุกูล, อ๊อฟ-พูนศักดิ์ จตุระบุล, หมู-อภิชาติ พรมรักษา, กบ-ขจรเดช พรมรักษา, ป้อม-สุรชัย พรพิมานแมน, เหนือ-เหนือวงศ์ ต่ายประยูร และ ตั๊ด-วิรชา ดาวฉาย เพื่อพูดคุยถึงกระบวนการทำงาน ตลอดจนมิตรภาพบนเส้นทางสายดนตรีที่ฟูมฟักมานานกว่า 2 ทศวรรษ
01
วิกฤตสร้างโอกาส
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2540 ณ ออฟฟิศเล็กๆ ในซอยพร้อมศรี สุขุมวิท 39
ชายหนุ่ม 5 คน อ๊อฟ หมู กบ แด๊กซ์ และต้น นั่งประจันหน้ากับ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เจ้าของค่าย Music Bugs เพื่อนำเสนอผลงานเดโม 4 เพลงที่พวกเขาช่วยกันทำขึ้นมา
เมื่อเสียงอินโทรเพลงแรกดัง ทั้ง 5 คนต่างลุ้นระทึก เฝ้ารอปฏิกิริยาของศิลปินรุ่นใหญ่ เพราะที่ผ่านมาค่ายอื่นฟังเพียงเท่านี้ก็ตอบปฏิเสธ แต่สิ่งที่ธเนศทำต่างจากคนอื่น เพราะเขานั่งไล่ฟังทีละเพลงตั้งแต่ต้นจนจบ แถมยังชวนนักแต่งเพลงในค่ายมาร่วมฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อนนำไปสู่การเซ็นสัญญา Big Ass อย่างเป็นทางการ
Big Ass ยื่นข้อเสนอขอทำเพลงเองหมด แต่ด้วยความเป็นมือใหม่ ธเนศจึงตะล่อมว่า ยังมีอีกวิธีคือ เขียนมาแต่โครงโมเลดี้ อย่าเพิ่งใส่เนื้อ เพราะที่นี่มีทีมเขียนเนื้อเพลงมืออาชีพอยู่แล้ว โดยมีเหนือวงศ์เป็นสมาชิกคนสำคัญ
“เราสงสัยว่าเหนือวงศ์เป็นใคร เลยไปสืบประวัติ เคยเขียนเพลงความหวัง ดวงดาว รองเท้า หัวใจ ของ เจ-มณฑล เราก็เลยลองทำตามที่พี่เขาเสนอมา อยากรู้เหมือนกันว่าจะเป็นยังไง ไอ้นี่ก็ส่งมาเลย เพลงเจี๊ยวจ๊าว ฮ่า! จะรอดหรือเปล่า เลยไม่ยอม กูต้องมีส่วนร่วมด้วย เลยไปเขียนด้วยครึ่งหนึ่ง นับจากนั้นจึงสนิทกับเหนือมาตลอด เหมือนเป็น Big Ass คนที่หก” กบย้อนความทรงจำ
ทว่า Not bad อัลบั้มแรกของ Big Ass กลับทำยอดขายได้เพียง 20,000 ตลับ อัลบั้มถัดมาจึงถูกเบรกไว้ก่อน หมู กบ และอ๊อฟ หันมาทำงานเบื้องหลัง โดยเฉพาะกบเข้าไปขอกับธเนศเพื่อร่วมทีมเขียนเนื้อ
แล้วโอกาสก็มาถึง เนื่องจากผลประกอบการของ Music Bugs ไม่ดีเท่าที่ควร ถึงขั้นมีแผนจะปิดบริษัท นักเขียนเพลงต่างทยอยลาออก เหลือเพียง กบ เหนือ และ กวาง-ณัฐภพ พรหมสุนทรสกุล ผู้แต่งเพลง รักเธอประเทศไทย
ครั้งนั้น บริษัทตั้งใจจะผลิตงานของ Labanoon วงดนตรีน้องใหม่จากเวที Hotwave Music Award เป็นการสั่งลา กบได้เขียนเพลง อย่าง ความรู้สึก, หนักใจ, เพ้อ และ อมยิ้ม ส่วนเหนือเขียนเพลงเดียวคือ ยาม ที่เหลือเป็นหน้าที่ของกวาง โดยอ๊อฟกับหมูมาช่วยเรื่องดนตรีและเล่นกีตาร์ในบางเพลง
แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือ อัลบั้มที่ชื่อว่า นมสด กลับมียอดขายทะลุล้านตลับ ยิ่งเพลง ยาม ฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง ส่งผลให้ Music Bugs ฟื้นตัว และนำมาสู่การคืนชีพของทีมเขียนเพลง โดยมีนักแต่งเพลงหน้าใหม่หลายคน อาทิ วิภว์ บูรพาเดชะ, โน้ต-เนติ ผ่องพุทธคุณ และ ป้อม สุรชัย ช่วยกันผลิตร็อกวัยรุ่นดีๆ ออกมา
จุดเปลี่ยนของพวกเขาเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2545 เมื่ออ๊อฟจับมือกับ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย อดีตนักร้องนำวงละอ่อน ทำโปรเจกต์ Bodyslam ขึ้นมา
ความจริงโครงการนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากค่าย แต่ด้วยความที่อ๊อฟคุ้นเคยกับตูนมานาน อยากสนับสนุนให้ทำตามฝัน จึงช่วยกันทำเพลงออกมาถึง 12 เพลง และด้วยเมโลดี้ที่โดดเด่นและไพเราะ ในที่สุดค่ายจึงยินยอม โดยกำหนดเวลาเขียนเนื้อเพลง 2 สัปดาห์ และยังต้องผลิตงานของอีกวงตามแผนเดิมที่บริษัทวางไว้ด้วย
“ตอนกลางวันประชุมวงหนึ่ง ตอนกลางคืนเราก็แอบไปทำ Bodyslam แต่ทำออกมาแล้ว ปรากฏว่างานแอบทำเพราะกว่างานหลักอีก” เหนือวงศ์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
“พอเขาบอกมีเวลาเท่านั้น เราก็เรียกประชุมเลยว่าจะเอาไง ก็แจกเนื้อกันไป พี่ป้อมเขียน ยกโทษ เหนือ เขียนอากาศ ผมเขียน งมงาย โน้ตเขียน สักวันฉันจะดีพอ มีพี่บอยตรัย (ตรัย ภูมิรัตน) เขียน เผื่อไว้ กับ ย้ำ แล้วก็มีพี่วิภว์ด้วย รวมพลังกันหกคน บ้ามาก ตูนกับอ๊อฟก็ไปนอนอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ของผม ตะบี้ตะบันจนเสร็จ” กบฉายภาพการทำงาน
เนื้อเพลงส่วนใหญ่ของ Bodyslam มุ่งเน้นไปยังเรื่องความฝัน ความเชื่อของวัยรุ่นเป็นหลัก โดยตั้งใจอยากให้เป็นเพลงประกอบชีวิตในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกๆ ที่พวกเขากำหนดทิศทางของอัลบั้มอย่างชัดเจน
“ภาพที่เรานึกถึงเวลามองตูนคือ เด็กคนนี้มีอะไรแปลกๆ กว่าคนอื่น มีความบ้าพลัง มีความรักที่แน่วแน่ ซึ่งผมรู้สึกว่าเด็กวัยรุ่นน่าจะเห็นคนนี้เป็นตัวอย่างได้ แต่ทำยังไงจึงจะสื่อสารให้คนได้เห็นบุคลิกของเขาจริงๆ ทำให้รู้สึกได้ว่า ความรักที่ดี ความทุ่มสุดตัวยังมีอยู่ คนฟังต้องได้เห็นจากวงนี้” อ๊อฟในฐานะโปรดิวเซอร์อธิบายแก่นความคิด
“จำได้ว่าตอนที่อ๊อฟมาพรีเซนต์ในห้องประชุม เปิดคำว่า Bodyslam แปลว่าทุ่มสุดตัว ชื่อน่าสนใจมาก แล้วตูนก็สุดจริงๆ สุดทุกทาง เราเลยกำหนดธีมหลักเป็น College Sound แล้วมาคุยกันว่า ในมหาวิทยาลัยมีเรื่องอะไรบ้าง ความรัก ไฟแรง อะไรต่างๆ ก็ประมวลกันมา พูดง่ายๆ คือเราใช้คำว่า College Sound คลุมทุกอย่าง ตั้งแต่การเขียน ไปจนถึงตัวปก ซึ่งถ่ายในโรงหนัง ให้อารมณ์เหมือนหนังเรื่อง American Pie” กบ ผู้ดูแลส่วนของคำร้องเล่าถึงขั้นตอนการทำงาน
แต่ถึงกระบวนการต่างๆ จะผ่านมาได้ด้วยดี กลับยังมีอุปสรรคให้พวกเขาต้องตามแก้อยู่ไม่น้อย เช่น ห้องอัดในบริษัทไม่ว่าง อ๊อฟจึงไปติดต่อฟาติมา สตูดิโอ ขอใช้ในราคาพิเศษ แถมระยะเวลาการทำงานก็จำกัดมาก เนื่องจากมีเวลาบันทึกเสียงเพียง 14 วันเท่านั้น ทั้งหมดจึงต้องเร่งทำทุกอย่างให้เสร็จเร็วที่สุด
“ผมจำได้ว่า อ๊อฟบอกว่าจะไม่ทำสิบสองเพลงอีกแล้ว” ป้อมย้อนความหลัง
“พอทำเยอะมันเหนื่อย ไม่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ เราต้องรีบมาก เอาเงินที่มีอยู่น้อยนิดไปทำให้ได้ แต่ก็ทำให้เราได้ฝึกบริหารจัดการการจบอัลบั้ม ได้เห็นภาพการทำงานแบบครอบคลุมเลย” อ๊อฟช่วยเติมภาพให้สมบูรณ์
นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบ Mango Team แม้ตอนนั้นชื่อนี้จะยังไม่มีอยู่บนโลกก็ตาม พร้อมกับสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นมาถึงทุกวันนี้
02
Dream Team
ผลพวงของอัลบั้ม Bodyslam นอกจากจะเป็นการให้กำเนิดวงร็อกแถวหน้าวงหนึ่งของเมืองไทยอย่างเป็นทางการแล้ว พวกเขายังมีโอกาสได้รู้จักกับโป นักแต่งเพลงฝีมือเยี่ยมอีกคนหนึ่ง
เดิมทีโปทำงานอยู่ที่ Sony Music เคยเขียนเพลงให้อัยย์ วีรานุกุล, โน้ต-ตูน และซาร่า ผุงประเสริฐ เคยออกผลงานของตัวเองมาแล้วชุดหนึ่งชื่อ กล่องแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเป็นคนมิกซ์เพลงคู่ใจ ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์
เวลานั้นป้างกำลังทำอัลบั้มหัวโบราณและมาใช้ห้องอัดฟาติมา เช่นเดียวกับ Bodyslam โดยป้างอัดห้องใหญ่ ส่วนวงจาก Music Bugs อัดห้องเล็ก และทั้งหมดใช้ห้องพักส่วนกลางร่วมกัน
“ความจริงเรียกว่าใช้ห้องร่วมกันไม่ได้ เพราะห้องมันเล็กมาก พอพี่ป้างเปิดประตูออกมา ไม่ที่นั่งเลย เพราะจะมีอาหารจากบ้านหมูเต็มโต๊ะไปหมด พี่ป้างแกเกรงใจเลยบอกออกไปกินข้างนอกกันไหม” โปเล่าภาพในตอนนั้น
กระทั่งวันหนึ่งก็มีเหตุให้พวกเขาต้องสุงสิงกัน หลังจาก Liam Laurence ซาวนด์เอ็นจิเนียประจำฟาติมา ทักอ๊อฟมาว่า อัลบั้มหัวโบราณกับอัลบั้ม Bodyslam มีเพลงชื่อซ้ำกันอยู่เพลงหนึ่ง คือ อากาศ อยากให้ลองคุยกับป้างก่อน จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง ปรากฏว่าป้างไม่ติดใจ เพราะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ พอคุยไปเรื่อยๆ ก็ถูกคอ ถึงขั้นไปสังสรรค์ด้วยกันบ่อยๆ ภายหลังป้างเลยชวนโปไปร่วมแก๊งด้วย ทั้งหมดจึงเริ่มสนิทกัน
ในปีถัดมา Music Bugs อยากให้อ๊อฟเร่งปล่อยอัลบั้มชุดใหม่ของ Bodyslam กบจึงคิดถึงโป อยากชวนมาร่วมทีมด้วย เพราะภาพที่เขาฝันเห็น คือทีมเขียนเพลงแบบแกรมมี่ ซึ่งรวมคนเก่งๆ ที่เขียนเพลงหลากหลายสไตล์ไว้ด้วยกัน เช่น ดี้-นิติพงศ์ ห่อนาค เขียนเพลงโดน, นิ่ม สีฟ้า-กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์ เขียนเพลงรัก หรือ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ เขียนเพลงปรัชญา ซึ่งตามโครงสร้างของทีมนี้ กบเชื่อว่ามีศักยภาพพอ
“ผมคิดว่าการที่อัลบั้มหนึ่งมีลายมือครบแล้วมันเวิร์ก ทีมเรามองหน้ากัน ก็พอได้นี่หว่า เหนือวงศ์เป็นพี่ดี้ พี่โปเป็นพี่เขตต์ พี่ป้อมเป็นพี่นิ่ม ร่างลายแทงไว้แบบไหน แล้วพยายามประกอบร่าง รวมทีมคร่าวๆ” กบอธิบาย
“ไม่รู้ว่าเห็นจากอะไร เพราะตอนนั้นผมเขียนแต่เพลงโน้ต-ตูน มันร็อกยังไง” โปตบท้าย
เพลงแรกที่โปเข้ามาเขียน คือ Bodyslam เกิดมาจากไอเดียของกบที่มองว่า วงดังๆ มักมีชื่อเพลงเป็นชื่อเดียวกับวง เช่น คาราบาว มีเพลง มนต์เพลงคาราบาว เพราะฉะนั้น Bodyslam ก็น่าจะทำได้เหมือนกัน
“จำได้ว่าไปส่งท่อนฮุกที่ร้านแถวศรีนครินทร์ แล้วส่งเนื้อที่บ้านเก่าของอ๊อฟตรงลาดพร้าว 18 ไปส่งด้วยความตื่นเต้น เพราะไม่ได้รู้จักกับตูนเป็นการส่วนตัว เลยตั้งใจเขียนต่อยอดจากชุดแรก พูดเรื่องความเชื่อในความฝัน ยังไม่ถึงระดับความเชื่อในชีวิต เหมือนเด็กอยากทำ แล้วผู้ใหญ่ห้ามไม่ให้ทำ แต่จะทำให้ได้” พี่ใหญ่เล่าถึงก้าวแรกของการร่วมทีม
“ตอนนั้นพี่โปเขียนว่า ‘นี่แหละคือชีวิตที่ต้องการ แค่ได้ทำสิ่งนั้นที่ใจฝัน’ คือเริ่มมีฝันเข้ามาแล้ว เพลงนี้วงจะเล่นทุกคอนเสิร์ตเลย เขาชอบ เหมือนเป็นการเพิ่มแรงอะไรสักอย่างในตัวเอง” กบช่วยเสริม
นอกจากเพลง Bodyslam โปยังเขียนเพลงเปิดอัลบั้มคือ ให้รักคุ้มครอง และ มีแค่เธอก็เกินพอ ขณะที่เหนือเขียนเพลงความซื่อสัตย์ และ หลังฝน ส่วนกบรับเหมาเขียนเพลงที่เหลือ อาทิ ปลายทาง หวั่นไหว และ จันทร์ยังเต็มดวง
Drive โด่งดังไม่แพ้ชุดแรกเลย แต่กลับเป็นอัลบั้มสุดท้ายที่กบ หมู และอ๊อฟ ทำงานร่วมกับค่าย Music Bugs เนื่องจาก Big Ass และ Bodyslam ตัดสินใจย้ายสังกัด โดยเหนือกับป้อมยังเป็นพนักงานประจำอยู่ที่เดิม
แต่ด้วยความรู้สึกที่อยากทำงานร่วมกัน พวกเขาจึงรวมตัวเป็นกลุ่มชื่อว่า ‘Mango Team’
“เราแค่อยากทำงานเหมือนเดิม ย้ายค่ายก็ย้ายไป เลยมานั่งรวมตัวกันที่บ้านผม แล้วไหนๆ เลยคิดว่าควรจะมีชื่อทีมด้วย เพื่อเอาไปใส่ในปก น่าจะเท่ดี พอดีที่บ้านมีต้นมะม่วงพอดี เลยใช้คำว่า Mango เพราะดูเป็นชื่อง่ายๆ แต่ถ้าลองแยกคำว่า Man กับ Go ก็คือกลุ่มผู้ชายที่อยากจะออกไปข้างหน้า แต่ถ้าห่ามๆ หน่อยก็คือ แม่งโก้” อ๊อฟเล่าที่มาที่ไป
03
ความสมดุลที่ลงตัว
Mango Team เปิดตัวอย่างอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 พร้อมกับ Seven อัลบั้มแรกของ Big Ass ในรั้ว Genie Records
สิ่งหนึ่งที่ต่างจากช่วงเป็นทีมเขียนเพลงของ Music Bugs คือ Mango Team วางบทบาทของตัวเองในฐานะของทีมโปรดักชัน ทำงานครอบคลุมตั้งแต่คิดชื่ออัลบั้ม คอนเซปต์ เนื้อร้อง ทำนอง ดูแลการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
อัลบั้มแต่ละชุดมีอ๊อฟเป็นโปรดิวเซอร์ คอยกำหนดทิศทางของงาน มีหมูมาเสริมในส่วนของดนตรี และเมื่อโครงเมโลดี้เสร็จ อ๊อฟก็จะมานั่งเล่าภาพรวมว่า สีของอัลบั้มควรเป็นอย่างไร ดนตรีต้องจัดจ้านแค่ไหน บางครั้งก็โยนไอเดียเป็นชื่อเพลงให้ด้วย โดยแรงบันดาลใจก็มาจากสถานการณ์รอบตัว เช่น ข้าน้อยสมควรตาย เกิดขึ้นช่วงที่นักร้องนำของวง Big Ass โด่งดังเป็นข่าวหน้า 1 หรือ เรือเล็กควรออกจากฝั่ง ของ Bodyslam มาจากภาพยนตร์เรื่อง Life Of Pi
ขณะที่ตัวศิลปินเองก็มีหน้าที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้นักแต่งเพลงคอยดักคำพูดหรือความคิดมากลั่นกรองเป็นเนื้อเพลงอีกที
“อย่าง Big Ass แก่นของวงค่อนข้างชัด วงจึงเขียนเองซะเยอะ แต่ถ้าเป็น Bodyslam ตูนจะมานั่งเล่าว่าจากอัลบั้มที่แล้วถึงอัลบั้มนี้เจออะไรมาบ้าง เขาจะจดเก็บไว้ ทีมเขียนเนื้อก็จะคอยช้อน อันนี้เป็นเพลงได้ ดังนั้น เก้าสิบเปอร์เซ็นต์จึงมาจากตัวศิลปินเลย เรามีทำหน้าที่แค่เอาแก่นความคิดมาขยาย มาถ่ายทอดให้สื่อสารกับคนได้” ป้อมอธิบาย
“ปกติตูนมีไอเดียเยอะ เพียงแต่แรกๆ เขาอาจเรียบเรียงคำไม่ถูก ต้องพยายามจับใจความกันนิดหนึ่ง โดยมีกบเป็นคนถอดรหัสมอร์ส แต่พอชุดหลังๆ เขาค่อนข้างแม่น บางทีมาเป็นชื่อเลย เช่น วิชาตัวเบา พอชื่อชัด ด้วยการที่เราทำงานกันมานาน ความคิดของแต่ละคนก็จะปิ๊งขึ้นมาเลยว่า เพลงต้องเป็นแบบนี้ มันก็ง่ายขึ้น” โปเสริมภาพให้ชัด
“อย่าง Labanoon ชุดที่แล้วก็สนุกมาก เราทำด้วยความคิดถึง เพราะอยู่กับวงตั้งแต่แรก แล้วเขาหายไปไม่รู้กี่ปี ตอนมานั่งคุยว่าจะทำอะไร เล่าเรื่องอะไร เลยคิดว่าควรเล่าเรื่องที่เขาเคยเป็น ไม่ต้องทำอะไรยาก เขียนแบบเดิมๆ แล้วอ๊อฟก็มีคลังชื่อเพลงเยอะมาก เปิดมา ศึกษานารี พลังงานจน โดนหมดเลย” กบเล่าถึงอัลบั้ม N.E.W.S.
เมื่อคอนเซปต์เรียบร้อย กบจึงแจกจ่ายทำนองไปยังนักแต่งเพลง ซึ่งแต่ละคนจะมีสไตล์ของตัวเองชัดเจน อย่าง ป้อมเหมาะกับเพลงภาษาสวยงาม ภาษาดอกไม้ เล่าเรื่องที่เป็นอารมณ์มากๆ แต่ถ้าต้องการเพลงที่เตะก้านคอได้ ก็ต้องเป็นเหนือวงศ์ ส่วนโปรับหน้าที่เพลงที่ต้องการมิติความลึก ดูเข้าใจโลก ขณะที่กบดูแลภาพรวมเป็นหลัก
“พอฟังเมโลดี้จะดมกลิ่นได้ รู้เลยว่าทางนี้ต้องมาที่พี่โป ไอ้เหนือ หรือตาป้อม เมโลดี้จะบอกคาแรกเตอร์บางอย่าง แต่ปกติถ้าเป็น Bodyslam ซิงเกิลแรก ถ้าไม่ใช่ผมก็จะเป็นเหนือสลับกันไป เพราะเราเขียนมาตั้งแต่ day 1 เหมือนอยู่ในชีวิตเขาไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าดูแล้วยาก เขียนไม่ไหวถึงให้เพื่อนเขียนแทน” กบ ในฐานะ Lyrics Producer ตบท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ
หัวใจหลักของการเขียนเพลง คือการผสมผสานความเป็นตัวเองกับตัวตนของศิลปินอย่างไรให้ลงตัว
โปกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีเพลงใดเลยที่เขาไม่ใส่ความเป็นตัวเองลงไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องนำทัศนคติของศิลปินเป็นตัวตั้งก่อน ถึงค่อยนำไอเดียส่วนตัวที่ต้องการสื่อสารเจือลงไป เพื่อให้บทเพลงนั้นกลมกล่อมที่สุด
ส่วนอ๊อฟบอกว่า การทำเพลงต้องสื่อสารกับผู้ฟังได้ ซึ่งบางเรื่องอาจเป็นมุมมองส่วนตัวมากๆ ของศิลปิน หากสื่อสารออกไปตรงๆ คงไม่มีใครเข้าใจ ทีมงานจึงต้องหาวิธีบิดเนื้อหาจนกลายเป็นเพลงที่ทุกคนเข้าถึงได้
“เพลง ข้าน้อยสมควรตาย จุดเริ่มต้นคือ ช่วงที่แด๊กซ์โดนกล่าวหา เราถูกสังคมประณามหนักมาก จนรู้สึกว่าเราผิดขนาดนั้นเหรอ เลยนึกถึงภาพขันที บอกว่าข้าน้อยสมควรตายๆ คือตกลงกูต้องตายใช่ไหม แต่ถ้าเราเขียนออกมาแบบนั้นก็คงไม่น่าฟังแน่ๆ ซึ่งก็ต้องชมทีมงานที่เปลี่ยนสิ่งที่ดูเครียดให้กลายเป็นเพลงน่าฟังได้” โปรดิวเซอร์ประจำทีมกล่าว
“จำได้ว่าตอนนั้นผมโคตรเดือดเลย โดนทีวีด่าทุกวัน อยากด่าคืนบ้าง แต่โชคดีที่พวกเราดึงกันเองได้ เหนือก็พยายามบอกตลอดว่า ต้องผับ ต้องบันเทิง สุดท้ายก็โอเคลองดู ปรากฏว่ารอด ถ้าตอนนั้นเขียนอยู่คนเดียว รับรองเรียบร้อยไปแล้ว” กบช่วยเสริมถึงเพลงเปิดอัลบั้ม Begins
การทำงานแบบไม่มีอีโก้ ไม่หวังเอาชนะ พร้อมรับฟังซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ Mango Team ทำงานอย่างราบรื่น โดยหลังจากแยกย้ายไปเขียนเพลง เมื่อถึงกำหนดส่ง พวกเขาจะนำงานทั้งหมดมารวมกัน เพื่อถกเถียงพูดคุย แม้หลายเพลงที่ออกมาอาจไม่สมบูรณ์ บางเพลงต้องปรับ ต้องแก้ ต้องรื้อใหม่ แต่ทุกคนไม่เคยมีปัญหา เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการ คือผลงานที่ดีและตอบโจทย์ศิลปิน
“เราพยายามหาทางทำให้เพลงพอดีกับศิลปิน เวลาส่งเพลง ก็ต้องมั่นใจมากๆ ว่าน่าจะโอเค บางครั้งต้องบอกไปเลยว่า พี่ว่าดี แต่บางอันก็ต้องยอม เพราะคำธรรมดาคำหนึ่ง ถ้านักร้องเขาเชื่อ อาจกลายเป็นคำวิเศษได้ แต่อย่างเพลงของเหนือวงศ์ บางทีก็ต้องลุ้น เพราะภาษาค่อนข้างแหลมและหวือหวาเกินวง เช่น เพลง อากาศ ของ Bodyslam มันเขียนคำว่า ‘อ่ะ’ มาด้วย ‘อยู่ไหนอะ รัก’ ผมก็สงสัยว่าร้องยังไง เหนือก็ร้องให้ฟัง หน้าตูนลอยมาเลย ไม่ร้องแน่นอน จำได้ว่าผมคุยกับอ๊อฟหลายชั่วโมง คือมันดี สะดุดหู แต่บางครั้งคนร้องก็อาจจะรู้สึกว่า ไหวเหรอ” กบเปิดประเด็น
“คือไม่รู้จะเขียนยังไง อยู่ไหนนะรัก มันก็ไม่ได้” เหนือพูดถึงงานของตัวเอง
ครั้งนั้น แม้ตูนจะอิดออดอยู่พักใหญ่และพยายามเสนอคำอื่นแทน เช่น ‘นะ’ หรือ ‘ล่ะ’ แต่ท้ายที่สุดก็ยอมร้อง ด้วยความเชื่อมั่นที่มีต่อทีมงาน ซึ่งต่อมาเพลงนี้ก็ประสบความสำเร็จ และกลายเป็นหนึ่งในเพลงตำนานของ Bodyslam
เช่นเดียวกับเพลง Sticker ซึ่งคอนเซปต์หลักมาจากตัวนักร้องนำเอง
ตอนนั้นตูนเล่าว่า เขาขับรถตามรถคันหนึ่ง แล้วรู้สึกตลกมาก เพราะตัวรถเป็นสีน้ำเงินแต่ดันติดสติกเกอร์ว่า รถคันนี้สีชมพู เลยสงสัยว่าทำไมเจ้าของรถไม่ซื้อรถสีชมพูไปเลย จากนั้นเขาจึงเกิดไอเดียว่า ถ้าสติกเกอร์แผ่นละ 10 บาทแปะรถได้ ก็น่าจะแปะโลกได้เหมือนกัน
“คอนเซปต์ดีมาก แต่มุมนักเขียนเพลงยากสุดขีดเลย ก็เลยถามเหนือว่าลองดูไหม เพลงนี้จะเล่ายังไง จำได้ว่าตอนมาส่งเนื้อที่บ้านตูน เป็นวันที่ผมตื่นเต้นมาก ตรวจเนื้อพร้อมกัน แจกกันคนละแผ่น เนื้อโคตรดี ผมก็กระโดดกอดไอ้เหนือ กอดเสร็จหันไปมองหน้าตูน เงียบ” กบย้อนวันแรกของเพลงเอกในอัลบั้มคราม
“คือมีความแหลมอยู่ไง ตอนนั้นตูนเขาก้มหน้า รู้สึกว่าจะติดคำว่า เศรษฐกิจไม่ดี” เหนือรีบเสริม
“แต่สุดท้ายเขาก็บอกลองดูพี่ เพราะอย่างน้อยคอนเซปต์มาจากเขา แล้วเรื่องที่เหนือเขียนเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งตอนที่เพลงออกมา ปรากฏว่าคนฮือฮากันมาก อุ๋ย Buddha Bless ชอบมาก ช่วงคอนเสิร์ตใหญ่ที่ราชมังคลาฯ เขารีเควสขอแร็ปเพลงนี้ ทำให้เหนือวงศ์ยังอยู่กับ Nodyslam ต่อไปได้” กบปิดท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ
04
เต็มเติมกันและกัน
สมาชิก Mango Team เกาะกลุ่มทำงานแบบนี้มาพักใหญ่ กระทั่ง พ.ศ. 2550 ก่อนทำอัลบั้ม Save My Life พวกเขาได้รับสมาชิกเพิ่มอีกคน คือ ตั๊ด เพื่อเสริมงานครีเอทีฟและการเขียนเพลง
“ช่วงนั้น a day มีคอลัมน์ผู้ใหญ่วันมะรืน ผมชอบคนเขียนมากชื่อ หลานชาย แล้วรู้สึกตอนนั้นกอล์ฟ F.Hero จะเขียนที่ a day เหมือนกัน เลยถามว่ารู้จักไหม ไม่นานก็มีโทรศัพท์มา บอก ผมตั๊ด หลานชายเอง เลยนัดเจอที่ Prop Bar จำได้เลยว่า กอล์ฟเรียกตั๊ดไปที่ชั้นสอง แล้วไอ้นี่ก็แนะนำตัวด้วยการแร็ป นับตั้งแต่นั้นก็เริ่มติดต่อกัน ส่งเพลงให้เขียน ซึ่งไม่แน่ใจหรอกว่า เขียนได้ไหม แต่เขาเขียนหนังสือได้ประมาณนี้ก็น่าจะมีไอเดียดีๆ” กบเล่าวันแรกที่เจอน้องเล็กของทีม
ตั๊ดเขียนเพลงอย่าง แสงแรก ของ Bodyslam, มหา’ลัยไม่มีสอน ของ Big Ass รวมทั้งยังเป็นกระดูกสันหลังของเพลง เรือเล็กควรออกจากฝั่ง เพลงเปิดในอัลบั้ม dharmajāti
“ตอนที่อ๊อฟบอกชื่อ เรือเล็กควรออกจากฝั่ง เรามาวิเคราะห์กันว่า เรือเล็กเป็นยังไง ซึ่งแต่ละคนมีเรือไม่เหมือนกัน เราเลยจัดประกวด ทุกคนเขียนเพลงเดียวแล้วมาส่ง ตอนมาประกอบกันโคตรมัน ช่วงเริ่มต้นทุกคนจะขึ้นคล้ายๆ กัน ผมกับตั๊ดขึ้นว่า ‘เสียงลมคำราม’ จากนั้นเราก็เอาตรงนั้นมาเติมตรงนี้ แต่เพลงนี้หัวใจหลักอยู่ที่ประโยคของตั๊ดที่ว่า ‘หัวใจคำราม ฟ้าครามไม่สร้างใคร ทะเลจะสร้างคนด้วยอันตราย’ นี่คือเหตุผลของเพลงนี้เลย มาน้อย แต่มาแน่นมาก แล้ววินาทีที่เขียน เขียนบนกระจก เป็นโมเมนต์ที่จำได้ว่าดีมากๆ โมเมนต์หนึ่งในชีวิต เพราะเราทำกันได้”
นอกจากนั้น ตั๊ดยังเป็นที่ปรึกษาประเด็นที่คนเขียนเพลงไม่มั่นใจ อยากได้ความเห็นเพิ่มเติม หรือคนฟันธง
เช่นตอนที่กบเขียนเพลง ฝุ่น ของ Big Ass เขาไม่แน่ใจว่า ประโยค ‘คำว่ารักมันกลายเป็นฝุ่นไปแล้ว’ ดูเชยเกินไปหรือไม่ จึงโทรศัพท์หาตั๊ดกลางดึก ซึ่งเจ้าของนามปากกาหลานชายตอบกลับมาทันทีว่า ‘โดนว่ะพี่’ และสุดท้ายเรื่องนี้ก็เป็นจริง ยืนยันได้จากยอดรับชมใน YouTube ที่สูงกว่า 58 ล้านครั้ง
บทบาทของน้องเล็กคนนี้จึงเป็นเสมือนมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่คอยถ่วงดุลการทำงานของพี่ๆ ไม่ให้ล้าสมัย
อย่างไรก็ดี ด้วยอุตสาหกรรมเพลงที่เปลี่ยนไป วงดนตรีออกอัลบั้มกันน้อยลงไปเรื่อยๆ และเปลี่ยนมาทำซิงเกิลกันแทน สมาชิก Mango Team ยอมรับว่า เรื่องนี้ส่งผลให้การทำงานรวนพอสมควร
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาเติบโตกับการทำอัลบั้มมาตลอด เรียนรู้ว่าผลงานชุดหนึ่งต้องมีแก่นความคิด ต้องผสมเพลงที่หลากหลาย มีจังหวะการปล่อย ซึ่งบางเพลงอาจดี เพียงแต่ยังไม่ใช่จังหวะของมัน ต่างจากระบบซิงเกิล ซึ่งมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือ ต้องโดนเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกลืนไปกับเพลงที่ออกมามหาศาล
“พอเหลือเพลงเดียว เราไม่รู้จะแบ่งกันยังไงเพราะถ้าเป็นสิบเพลงมันจะมีฟังก์ชันของตัวเองอยู่ เช่น เพลงเร็วหนึ่งเพลงช้าหนึ่งเพลงตัวตน เพลงเหงา ทำให้เราเห็นว่าเพลงนี้ต้องคนนี้” กบเปิดประเด็น
“ที่ผ่านมา ผมไม่เคยเขียนเพลงโปรโมตอยู่แล้วด้วย ตกรอบตั้งแต่แรกเลย” ป้อมชงต่อ
“อีกอย่างคือเพลงฮิตพอผ่านไปห้าถึงสิบปี บางทีก็ไม่ฮิตแล้วนะ ต่างจากอัลบั้มที่บางครั้งพอเรารื้อเพลงข้างในกลับมาฟัง อาจดีกว่าเพลงโปรโมตด้วยซ้ำ” โปอธิบายเสริม
“อย่างเพลง แสงสุดท้าย เอ็มวีก็ไม่มี เป็นเพลงสุดท้ายที่ส่งเลย ตอนนั้นบอกตูนว่ามีคอนเซปต์ เรามีแสงแรกแล้ว ทำแสงสุดท้ายด้วยว่าไง สำหรับผมเพลงนี้คลาสสิกมาก ฮุกไม่ซ้ำกันเลย จนนักร้องลืม ส่วนทำนอง จำได้ว่าอ๊อฟกับวง ไปทำอยู่ที่งานกลางแจ้ง ชื่อ ทัวร์ M-150 ค่อยๆ ประกอบร่าง แล้ววันนี้ไปไกลมาก” กบฉายภาพเพลงระดับปรากฏการณ์
“ถ้า Bodyslam ทำเป็นระบบซิงเกิลรับรองว่าจะไม่มีเพลงนี้ออกมาแน่นอน” ป้อมปิดท้าย
แต่แน่นอนว่าไม่มีใครต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้ ท้ายที่สุด Mango Team ก็คงต้องปรับการทำงานของตัวเองให้สอดคล้องกับธุรกิจดนตรี แต่จะปรับได้เพียงใดคงต้องปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป
05
เป็นมากกว่าเพลง
ปัจจุบัน Mango Team ทำงานเพื่อรองรับ 3 วงหลัก คือ Big Ass, Bodyslam และ Labanoon
ส่วนงานจรพอมีอยู่บ้าง อาทิ Ebola อัลบั้ม Enlighten และ 05:59 (five: fifty nine) แต่ไม่บ่อยนัก เพราะทีมไม่ได้หวังรับงานจำนวนมากเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ แต่อยากทำงานด้วยความสุข ความสบายใจมากกว่า
“Mango Team เป็นเหมือนงานบุญ วันหนึ่งที่ผมชอบมาก คือวันส่งเนื้อ เป็นวันที่มีความสุขที่สุดในชีวิต เหมือนเราไม่ได้ทำงาน แต่มาเจอกัน มาแชร์ความรู้สึกกัน ส่วนงานจะได้หรือเปล่าไม่สำคัญ เพราะปกติเราก็ไม่ได้เจอกันบ่อย ปีละ สองสามครั้งเท่านั้นเอง” กบ มือกลอง Big Ass กล่าว
เพราะเป้าหมายในเวลานี้ คือไม่ใช่ความโด่งดัง แต่ต้องการผลักดันและสนับสนุนศิลปินไปยังจุดที่หวังไว้
และถ้าเป็นไปได้ก็อยากสร้างเพลงดีๆ สู่สังคม เช่น ครั้งหนึ่งกบเคยเล่าที่มาของเพลง ‘อกหัก’ ผ่าน Facebok ของตัวเองว่า ได้แรงบันดาลใจจากรอยแผลของหญิงสาวคนหนึ่งที่กรีดแขนตัวเองจนยับเยิน เพราะผิดหวังในความรัก จึงอยากเขียนเพลงที่เตือนสติ และช่วยเยียวยาความเจ็บปวดได้
พวกเขาเชื่อว่า บทเพลงมีอิทธิพลและเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ฟังได้ อย่าง อุ๋ย Buddha Bless แต่ก่อนเป็นเซลล์แมนขายรถ แต่เมื่อฟังเพลง ความเชื่อ ก็ตัดสินใจทิ้งงาน หันมาทำตามฝัน จนประสบความสำเร็จ หรือเพลง แสงสุดท้าย ซึ่งทุกสื่อต่างเปิดกระหน่ำ ในช่วงตูนทำออกวิ่งโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อระดมทุนหาเงินจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ จนส่งผลให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงปลุกพลัง และสร้างความหวังแก่ผู้คนนับไม่ถ้วน
“เรารู้สึกเสมอว่า เนื้อเพลงบางทีอาจมีความหมายกับคนบางคนมาก อย่างวัยรุ่นหลายคนที่อาจไม่มีเวลารับสารดีๆ จากบ้าน พอเขาฟังเพลง ได้ฟังเนื้อหาที่ส่งมาอาจทำให้เป็นคนดีได้ เนื้อเพลงของ Mango จึงไม่ค่อยมีอะไรที่หยาบโลน เป็น Hate Speech หรือ Bully ทั้งที่เราก็รู้ว่าโอกาสฮิตหรือดังง่ายกว่า” โปอธิบาย
“เราไม่อยากเติมสิ่งแย่ๆ ลงไปในเนื้อเพลง ถ้าอันไหนที่สร้างพลังให้คนได้ เราจะพยายามใส่ลงไป เพราะเวลาที่มองกลับมา เราพบว่า Bodyslam ไม่ใช่แค่วงดนตรีวงหนึ่ง แต่อาจเป็นที่พึ่งทางใจให้ใครหลายคนได้ หรือ Labanoon ก็เป็นตัวแทนของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาสู้ชีวิต เราอยากให้เขาฟังแล้วหายคิดถึงบ้าน เช่นเดียว Big Ass เป็นเพลงของคนที่โดนกระทำ และนี่เป็นความคาดหวังที่อยากคนฟังได้อะไรจากเนื้อเพลงของเรา” กบสรุปทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวแห่งมิตรภาพของผู้ชายทั้ง 7 คนที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ด้วยความเชื่อ ความหวัง และศรัทธาที่มีให้กัน เพื่อสร้างความสุขและกำลังใจแก่ผู้ฟังทั่วประเทศตลอดไป