ใกล้เทศกาลตรุษจีนกันแล้ว ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มกราคม สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนแล้ว วันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ผมเลยคิดว่าอยากจะพาทุกท่านไปชมวัดจีนในเมืองไทยสักวัดหนึ่ง ดังนั้น ผมจึงขอเลือกวัดจีนที่น่าจะเป็นที่รู้จักที่สุดวัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ใช่ครับ ผมจะพาไปชม ‘วัดมังกรกมลาวาส’ ครับ

วัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นที่รู้จักที่สุดวัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

วัดมังกรกมลาวาส หรือที่เราชอบเรียกว่า ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ (หรือจะออกเสียงว่า ‘วัดเหล่งเหน่ยหยี่’ ก็ได้ แล้วแต่สำเนียง) ถ้าเรียกเป็นภาษาจีนกลางก็จะออกเสียงว่า ‘หลงเหลียนซื่อ’ สร้างขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลือกชัยภูมิสร้างวัดบนเนื้อที่ 4 ไร่ 18 ตารางวา โดยให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2414 ใช้ระยะเวลาในการสร้างทั้งสิ้น 8 ปี เมื่อสร้างเสร็จจึงได้อาราธนา พระอาจารย์สกเห็ง มาเป็นเจ้าอาวาส และเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกของประเทศไทย

วัดมังกรกมลาวาสใช้ผังแบบวัดจีน มีรูปแบบศิลปกรรมแบบจีนตอนใต้ ประกอบด้วยอาคารหลักคืออุโบสถตั้งอยู่ตรงกลาง ด้านหน้ามีวิหารจตุโลกบาล ด้านหลังเป็นวิหารบูรพาจารย์ ส่วนด้านซ้ายขวาก็มีวิหารอื่นๆ อีกหลายหลัง

เมื่อเดินเข้ามาจากถนนเจริญกรุง เราจะเจอกับทางเข้าหลักที่มุ่งไปยังพื้นที่ด้านใน แต่ก่อนเดินเข้าไป แหงนดูข้างบนสักนิดหนึ่ง มีป้ายจารึกชื่อวัด 2 ป้าย ป้ายแนวนอนเป็นภาษาไทย เขียนว่า ‘ทรงพระราชทานนาม วัดมังกรกมลาวาส’ พร้อมดอกบัวขนาบซ้ายขวา โดยผู้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ส่วนป้ายแนวตั้งเป็นภาษาจีน ซึ่งเป็นป้ายที่มีความสำคัญเพราะเป็นลายมือของพระอาจารย์สกเห็งผู้สร้างวัดแห่งนี้ ขนาบข้างมีป้ายแขวนคำกลอนคู่ภาษาจีน ฝั่งขวามีความหมายว่า มังกรบินร่อนลงแผ่นดิน ฝั่งซ้ายมีความหมายว่า ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา

ป้ายกลอนคู่นี้สร้างขึ้นในปีรัชศกกวางสู ปีที่ 5 ปีเถาะ หรือตรงกับ พ.ศ. 2422 บริเวณทางเข้ามีสิงโตอยู่ 2 ตัว ข้างหนึ่งเป็นตัวผู้ อีกข้างหนึ่งเป็นตัวเมีย วิธีสังเกตเพศของสิงโตนั้นไม่ยาก ถ้าตัวไหนมีลูกสิงโตนั่นคือสิงโตตัวเมีย ส่วนสิงโตตัวผู้จะมีลูกบอลอยู่ใต้อุ้งเท้าครับ

วัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นที่รู้จักที่สุดวัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
วัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นที่รู้จักที่สุดวัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

พอผ่านประตูเข้ามาก็เจอกับวิหารท้าวจตุโลกบาล หรือ ‘ซี่ไต่เทียนอ๊วง’ ประกอบด้วยเจ้าแห่งคนธรรพ์ ท้าวธตรฐถือพิณ เจ้าแห่งกุมภัณฑ์ ท้าววิรุฬหกถือร่ม เจ้าแห่งนาค ท้าววิรูปักษ์ถือดาบและงู และเจ้าแห่งยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณถือเจดีย์ ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปตามวัดจีนต่างๆ ส่วนตรงกลางด้านหน้าเป็นรูปพระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือพระศรีอริยเมตไตรยเวอร์ชันพระอ้วนตามที่นิยมในวัดจีน (พระอ้วนในวัดจีนไม่ใช่พระสังกัจจายน์นะครับ อย่าสับสน) ส่วนด้านหลังเป็นรูปพระเวทโพธิสัตว์ หรือสกันทะโพธิสัตว์ หันหน้าเข้าหาอุโบสถ

อุโบสถของวัดมังกรกมลาวาสประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน 3 องค์ ประกอบด้วย ‘พระศรีศากยมุนี’ อยู่ตรงกลาง ฝั่งขวาเป็น ‘พระอมิตาภพุทธเจ้า’ พระธยานิพุทธเจ้าผู้สถิตอยู่ในดินแดนสุขาวดี (และเป็นที่มาของการพูด “อามิตาพุทธ” ที่พระถังซำจั๋งชอบพูดนั่นเองครับ) ส่วนฝั่งซ้ายเป็น ‘พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า’ พระพุทธเจ้าแห่งการแพทย์ โดยมี 18 อรหันต์ตั้งขนาบทั้งสองข้าง 

และเนื่องจากเป็นอุโบสถจึงมีใบเสมาด้วยนะครับ ใบเสมาของวัดแห่งนี้ฝังอยู่ในกำแพงด้านนอกอุโบสถ บนใบเสมามีข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาจีน ภาษาไทยมีข้อความเขียนว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ ๑๗ มี.ค. ๒๔๙๔” ส่วนภาษาจีน 4 ตัวมีความหมายว่า พระราชทานหินเสมา ซึ่งน่าจะมีความหมายเดียวกันกับข้อความภาษาไทยนั่นเอง

วัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นที่รู้จักที่สุดวัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

พอชมอุโบสถเสร็จ เราเดินไปทางขวาครับ วิหารหลังแรกคือวิหารที่ประทับของสารพัดเทพเจ้า ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่คนมาแก้ชงกัน เพราะเป็นสถานที่ประดิษฐาน ‘ไท่ส่วยเอี๊ย’ เทพผู้คุ้มครองชะตาชีวิต อย่างไรก็ดี ยังมีเทพเจ้าอื่นๆ เช่น ปึงเถ่ากงม่า ไฉ่สิ่งเอี๊ย (เทพเจ้าโชคลาภ) ฮั่วท้อหรือฮัวโต๋ (หมอเทวดา) ซึ่งถ้าใครมาในช่วงที่คนมาไหว้กันเยอะๆ บริเวณตรงนี้จะมีคนแน่นสักหน่อย แล้วก็มีของไหว้วางอยู่เต็มโต๊ะ

ส่วนถัดมาจริงๆ ยังมีวิหารอีกหลายหลัง ไม่ว่าจะเป็นวิหารพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ วิหารเจ้าแม่กวนอิม จุดสำคัญที่อยากให้ไปชมคือวิหารที่อยู่ด้านหลังอุโบสถพอดี เป็นวิหารบูรพาจารย์ สถานที่ประดิษฐานรูปของพระอาจารย์สกเห็งหรือพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร ปฐมบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งวัดแห่งนี้ และอีกจุดหนึ่งที่อยากให้ชมคือตู้ไม้คู่หนึ่งที่อยู่ด้านหน้าวิหารบูรพาจารย์ ภายในตู้เป็นที่เก็บพระพุทธรูปโบราณสมัยรัตนโกสินทร์นับสิบองค์ มีทั้งพระพุทธรูปครองจีวรปกติ พระพุทธรูปครองจีวรลายดอก และพระพุทธรูปทรงเครื่อง เรียกว่าถ้าคุณดูศิลปะจีนจนเบื่อแล้ว อยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ลองมาดูพระพุทธรูปที่นี่ได้นะครับ

วัดนี้อาจจะดูแคบ แต่จริงๆ แล้วตัววัดกว้างพอดูเหมือนกัน แต่ถ้าช่วงที่คนมากันเยอะๆ โดยเฉพาะช่วงที่เขามาแก้ปีชงกันก็อาจจะแน่นสักหน่อย ดังนั้น ถ้าคุณไม่ได้อยากมาแก้ชง แต่อยากมาชมความงามของวัดนี้จริงๆ ก็แนะนำให้มาช่วงอื่นของปีนะครับ วัดมังกรกมลาวาสพร้อมต้อนรับทุกๆ ท่านเสมอ


เกร็ดแถมท้าย

  1. การเดินทางไปยังวัดมังกรกมลาวาสถือว่าง่ายมากๆ จะนั่งรถเมล์ก็ได้หลายสาย เช่น 1 21 35 หรือนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไปขึ้นที่สถานีวัดมังกรแล้วเดินมาแค่นิดเดียวเท่านั้น แต่ถ้าขับรถส่วนตัวมาอาจจะหาที่จอดรถยากสักหน่อยนะครับ
  2. จริงๆ แล้ว คำว่า ‘ยี่’ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว หรือ ‘ซื่อ’ ในภาษาจีนกลางมีความหมายว่า ‘วัด’ เวลาเรียกวัดเล่งเน่ยยี่หรือวัดหลงเหลียนซื่อ ก็เหมือนเราออกคำว่าวัดซ้ำซ้อน จึงคิดว่าน่าจะเรียกเล่งเน่ยยี่หรือหลงเหลียนซื่อมากกว่า 
  3. จริงๆ ในกรุงเทพฯ เรามีวัดจีนเยอะอยู่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นวัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่) วัดทิพยวารีวิหาร (กัมโล่วยี่) วัดโพธิ์แมนคุณาราม (โพวมึ้งป่ออึงยี่) หรือในต่างจังหวัดก็มีนะครับ เช่น วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) หรือวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์หรือเล่งเน่ยยี่ 2 ครับ อนึ่ง ผมเคยเขียนเรื่องวัดโพธ์แมนคุณารามไว้ใน The Cloud แล้วครับ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ครับผม
  4. อย่าสับสนระหว่างวัดจีนกับศาลเจ้านะครับ แม้ดูภายนอกจะคล้ายกัน แต่ประธานของอารามต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าเป็นวัดจีน จะมีพระพุทธรูปเป็นประธาน ถ้าเป็นศาลเจ้าก็จะเป็นเจ้าต่างๆ เช่น ปึงเถ่ากง โจวซือกง กวนอู เป็นต้น
  5. ส่วนถ้าใครอยากอ่านเรื่องของวัดมังกรกมลาวาสเพิ่มเติม รอบนี้ขอแนะนำหนังสือเล่มเดียวเลยครับรอบนี้ กับหนังสือรายงานวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบวัดจีนในกรุงเทพฯ ของ อรศิริ ปาณินท์ เล่มนี้มีเรื่องราวของวัดจีนอีกหลายวัดเลยครับ เรียกว่าอ่านหนึ่งได้อีกหลายครับ

ขอบคุณ อาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการด้านพุทธศาสนามหายานและวัฒนธรรมจีน ที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ