หมายเหตุ : บทความนี้ใช้ ChatGPT ช่วยเขียนบางส่วน
“ลืมเล่าเลยว่า ช่วงนี้ที่ต่างประเทศคุยกันเยอะคือเรื่อง Layoff ค่ะ 55”
มาย-มนมัย รอดเพชร ส่งข้อความมาตอน 4 ทุ่มกว่า เวลาประเทศไทย หลังสัมภาษณ์เสร็จไม่นาน
ทุกยุคทุกสมัย จะมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ได้รับโอกาสทำงานในเอเจนซี่โฆษณาต่างประเทศ มายเป็นเหมือนตัวแทนของคนยุคนี้ที่ได้ทำงานความคิดสร้างสรรค์ในยุคเปลี่ยนผ่าน ทั้งเรื่องโควิด-19 ทัศนคติต่ออาชีพที่เปลี่ยนไป และเป้าหมายของคนยุค Global Citizen ที่ไม่ยึดโยงกับประเทศบ้านเกิดอีกต่อไป
มายเรียนสายศิลปะ แต่ทำงานในแวดวงโฆษณา เริ่มจากงานสาย Copywriter และ Graphic Desinger ที่ Creative Juice\Bangkok, TBWA\Thailand, Ogilvy & Mather และ BBDO Bangkok ช่วงที่ 2 บินมาเรียนต่อที่นิวยอร์กและเริ่มทำงานเป็นฟรีแลนซ์ที่ Saatchi & Saatchi Wellness และ Apple ก่อนจะมาทำงานประจำที่ VMLY&R ในตำแหน่ง Creative Director (CD)
กับที่ล่าสุด มายทำงานมาได้ 2 ปี ด้วยทักษะด้านครีเอทีฟและความเข้าใจในการทำงานเล่าเรื่อง ทำให้เธอมีโอกาสได้นำทีมแคมเปญที่ทรงพลังหลายชิ้น
อีกไม่กี่วันมายจะมาเล่าประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศให้ครีเอทีฟรุ่นน้องฟัง ในงานชื่อว่า BAD TALK งานสัมมนารวมนักคิดผู้ไปคว้ารางวัลระดับโลกและได้ไปทำงานถึงต่างแดน จัดโดยสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก (B.A.D) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่ TCDC Bangkok
ก่อนถึงวันงาน เรามีโอกาสพิเศษได้คุยกับมายในค่ำคืนก่อนหลับใหลเวลาไทย เช้าตรู่ก่อนเริ่มงานเวลานิวยอร์ก ถามถึงเบื้องหลังชีวิต งาน และเรื่องใหญ่ ๆ ที่วงการโฆษณานิวยอร์กกำลังคุยกันอยู่ ณ ตอนนี้
ปัญญา ประดิษฐ์ โฆษณา
อันที่จริงในแคมเปญหรืองานด้านความคิดสร้างสรรค์ก็มีการใช้ AI ช่วยสร้างงานมานาน ส่วนมากจะเป็นการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี ประมวลผลข้อมูลออกมาเป็นรูปภาพ
ความแตกต่างของงาน AI วันนั้นกับวันนี้คือ คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานในบริษัทเทคโนโลยีก็ใช้งาน AI ได้ง่าย ฟรี และสนุก ทั้งยังมีให้เลือกหลากหลายโปรแกรมอย่าง ChatGPT ระบบแชตบอตที่ให้คำตอบคนด้วยข้อมูล Midjourney การสร้างสรรค์ภาพผ่านคีย์เวิร์ด เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างเล็ก ๆ เท่านั้น
คนโฆษณานิวยอร์กพยายามเอา AI เข้ามาอยู่ในงานเสมอ ทั้งการใช้งานจริงและฝึกคนทำงานให้คุ้นชินกับมัน หัวหน้าของมายที่ VMLY&R เพิ่งลองใช้ 2 โปรแกรมด้านบนทำพรีเซนเทชันใช้งานภายในบริษัท “เขาไม่ใช้เราแล้ว” CD มือต้น ๆ ของออฟฟิศเล่าขำ ๆ
แม้คนโฆษณาจะกลัวตกงาน แต่เป็นเพราะปัจจัยอื่น ๆ มากกว่า AI มายเชื่อว่า AI ดีในแบบหนึ่ง แต่ยังตอบคำถามทุกอย่างไม่ได้ สิ่งที่ขาดหายไปคือความเป็นมนุษย์ ในอีก 5 – 7 ปีหรือเร็วกว่านั้น เราอาจเห็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีอารมณ์ ดึงความเป็นคนออกมาได้มากขึ้น
“มายเคยเห็นคนในอินเทอร์เน็ตลองให้ ChatGPT คิดสโลแกนของ Nike ระบบใช้วิธีสลับคำไปมา AI เป็นตัวตั้งต้นไอเดียที่ดีประมาณหนึ่ง นำไปต่อยอดได้เลย อย่างตอนที่หัวหน้าทำพรีเซนเทชัน เขาเป็นคนต่างชาติ เขียนคำสั่งได้ลึก ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นสคริปต์ที่ยาวมาก ๆ เขียนเป็นเรื่องเป็นราว
“เคยมีทนายใช้แชตเขียนคำร้องเพื่อไปฟ้องทนายอีกฝั่ง เพราะสิ่งที่ทนายเขียนไม่ดีเท่ากับสิ่งที่ AI เขียนมาให้ ใช้คำได้ดีกว่า ดึงข้อมูลออกมาได้ดีกว่า ถามว่าน่ากลัวมั้ย ก็น่ากลัวนะ ช่วงนี้มันเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่สิ่งที่ทำให้เรายังอยู่ได้ ก็คือความเป็นคน ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจ” มายเล่า
จุดเด่นหนึ่งของการทำงานสายโฆษณาในสหรัฐฯ คือได้รับรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ขับเคลื่อนโดยแบรนด์ก่อนคนอื่น เทคโนโลยีอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด วันหนึ่ง Google อาจส่งโจทย์ให้เอเจนซี่ทำงานโปรโมตคุณสมบัติใหม่ที่จะเปิดตัวครั้งแรกเดือนหน้า โดยที่ยังไม่ได้บอกใครบนโลกใบนี้เลย แต่มาบอกคนโฆษณาก่อนเพื่อให้คิดงานมานำเสนอ
ไม่มีข้อมูลอ้างอิงให้หาเพิ่ม มีเพียงไหวพริบและปัญญาที่คนโฆษณาจะใช้เป็นอาวุธในการนำเสนอสิ่งใหม่ต่อโลก
ปัญญา ประดิษฐ์ ชีวิต
เราถามมายว่า วงการโฆษณาไทยและสหรัฐฯ แตกต่างเรื่องไหนมากที่สุด – คำตอบคือเรื่องงานและชีวิต
เนื้องานของโฆษณาไทยสนุกกว่ามาก เพราะความเป็นท้องถิ่นที่แตกต่างของไทยมีสีสัน ข้อมูลอินไซต์ของไทยในแต่ละแคมเปญก็หลากหลายกว่า คนโฆษณาไทยย่อมรู้ลึกว่าช่วงนี้คนนิยมพูดประโยคอะไร รถติดแยกไหน ศิลปินที่กำลังดังในบางย่านคือใคร เรื่องเหล่านี้ครีเอทีฟหยิบมาใช้คิดงานได้หมด มองมุมไหนก็สนุก
เมื่อต้องทำงานในเอเจนซี่สำนักงานใหญ่ โจทย์จากลูกค้ามาในลักษณะ Global ก็อปปี้เดียวใช้ทุกประเทศ ครีเอทีฟไทยไม่สามารถงัดอินไซต์ที่เป็นจุดเด่นของเรามาใช้ได้เลย งานก็สนุกน้อยลง แคมเปญเคลื่อนตัวได้ช้า โปรเจกต์หนึ่งทำไปเลย 1 ปีเต็ม ๆ
“ตอนนี้มายทำงานให้เครือข่ายโทรศัพท์เจ้าหนึ่ง แคมเปญหนึ่งใช้กับทั้งประเทศ แล้วประเทศมันใหญ่ ขายลูกค้าทีหนึ่งต้องบินไปขาย พอเราเป็น Global Agency คนทำงานจะกระจายตัวอยู่ตามรัฐต่าง ๆ ทำงานจากคนละเมืองเพื่อไปขายลูกค้าที่อยู่อีกรัฐ มายรู้สึกว่างานเคลื่อนตัวช้า สนุกน้อยกว่า แต่ขนาดใหญ่กว่า เหมือนเราถอยหลังจากการทำงานแบบลงลึกไปถึง Local Insight มาเจองานที่สเกลใหญ่มากกว่า”
เรื่องชีวิต เอเจนซี่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของพนักงาน คนผิวขาว ผิวสี เอเชียน ยุโรป แอฟริกา ทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน ประเด็นด้าน Work-life Balance ค่อนข้างชัดเจนว่าดีกว่า อาจเป็นเพราะวัยที่ทำให้มายเริ่มมองเรื่องอื่นในชีวิต มากกว่าการทำงานเช้าจรดค่ำจรดเช้าวนเวียนทุกวันเหมือนเมื่อก่อน
“ช่วงที่ทำงานดึกก็มี เช่น เตรียม Pitching หรือส่งมอบงานช่วงก่อนสิ้นปี ตี 1 – ตี 2 ก็มี แต่มันนาน ๆ ที ซึ่งพอเกิดขึ้น ทุกคนรู้ว่าการทำงานแบบนี้ไม่โอเค มีการจัดประชุมที่เรียกว่า Retrospective นั่งย้อนดูว่าเราทำอะไรได้ดีบ้างในโปรเจกต์ที่ผ่านมา สิ่งที่เราควรจะต้องปรับปรุงคืออะไร เพื่อที่จะตกลงกับลูกค้าว่าเราจะทำงานแบบนี้นะ
“เดิมประชุมทุกวันจันทร์และวันพุธ เปลี่ยนมาเป็นทุกวันจันทร์กับวันพฤหัสบดีดีมั้ย ระหว่างสัปดาห์จะได้มีเวลาคิดและทำงานให้ดีขึ้น ไม่รีบถีบงานที่ไม่มีคุณภาพออกไป เรามีช่วงเวลาแบบนั้นเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างคือไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เลิกงาน 5 โมงเย็นเราก็ออกไปใช้ชีวิตด้านอื่น” CD สาวไทยในนิวยอร์กเล่า ปัจจุบันมายใช้ชีวิตด้านอื่นด้วยการรับงาน Data Visualization ให้สหประชาชาติสำนักงานใหญ่ด้วย
มายไม่ใช่ครีเอทีฟเด็ก ๆ ผ่านโลกมาไม่น้อย เธอรู้ว่าการเคี่ยวกรำทำงานหนักเป็นเรื่องจำเป็นในบางช่วงชีวิต เคล็ดลับของการมีชีวิตคนโฆษณาที่ดี คือการใช้ชีวิตให้เป็น และตระหนักไว้ว่าทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ เรียนรู้แต่ละด้านแล้วนำมาปรับใช้กับบริบทของตัวเอง
“คนโฆษณามีชีวิตที่ดีได้ มันแล้วแต่ว่าเป้าหมายของแต่ละคนเป็นอย่างไรด้วย
“เทรนด์ในการทำงานสมัยนี้กับสมัยก่อนค่อนข้างแตกต่าง เพื่อนเราที่เป็น CD ที่ไทยก็เล่าให้ฟังว่า การดีลกับเด็กไม่ได้มีเฉพาะเรื่องงานอย่างเดียว ต้องคิดเรื่องสุขภาพจิตของพนักงานด้วย การทำงานจะต้องมีเวลาพัก มีเวลาให้ไปเที่ยว ไม่งั้นเขาจะไม่ทำงาน ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ดีสำหรับเรานะ ถ้าเราจะทำงานที่สนุก สื่อสารได้ ก็ต้องออกไปใช้ชีวิตเพื่อให้รู้ว่าจะต้องกลับมาสื่อสารอย่างไร มันก็เป็นอีกทางหนึ่ง
“แต่เราก็สนุกในช่วงเวลาที่ได้ทำงานดึก ๆ กับเพื่อนเหมือนกัน ตอนที่ยังไหวเราก็รู้สึกสนุก ตอนที่ พี่เป็ด-ชนัษฐพล เธียรศรี (Deputy Chief Creative Officer ของ TBWA\Thailand) ยังโหมงานกับเราอยู่ถึงค่ำ บางคนเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ยังทำอยู่ทุกวัน เขาก็มีความสุขของเขา เราเคารพในการทำงานหนักของคนโฆษณารุ่นเก่า แล้วก็เคารพในความ Work-life Balance ของคนรุ่นใหม่เหมือนกัน เรารู้สึกว่าน่าจะหาตรงกลางได้
“สังคมโฆษณาเป็นสังคมที่สนุกนะ เพราะคนมันสนุก หลากหลาย ไลฟ์สไตล์ของคนอาชีพนี้พยายามหาสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตตลอดเวลา อยู่ที่เราจะใช้ชีวิตกับมันอย่างไร”
ชีวิต ประดิษฐ์ ความฝัน
มายย้ายประเทศปี 2017 แต่งงานปี 2022 งานของมายที่ประเทศไทยเต็มไปด้วยคนโฆษณาที่เธอรัก ผูกพัน ตัวตนบางส่วนของมายฝังรากอยู่ที่นี่
ในขณะเดียวกัน การมาทำงานที่ต่างประเทศก็มอบสิ่งที่มีคุณค่าให้ชีวิต ทั้งการทำงานแบบใหม่ ความกล้าที่จะทดลองงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ได้ใช้ชีวิตที่หลากหลาย ได้เห็นแคมเปญโฆษณาแบบไม่ต้องมองหน้าจอ แต่ลงไปเจอบนท้องถนนจริง ๆ
ครีเอทีฟไทยบางคนเคยเล่าให้เราฟังว่า เด็กสมัยนี้มาสมัครงานเอเจนซี่เพราะหวังว่าจะได้ไปทำงานในต่างประเทศ มากกว่าจะหลงใหลเรื่องความคิดสร้างสรรค์ มายบอกว่าอย่าเพิ่งรีบตัดสินคน มายเองก็มาทำงานด้วยความฝันอยากโบยบินไปนอกบ้านเกิดเช่นกัน
“พี่เป็ด หัวหน้ามายเคยบอกว่า เขาดีใจที่ได้ยินแบบนี้ เพราะเขาก็อยากสร้างคนโฆษณาไทยไปให้โลกเห็น ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในตลาดโลก เรารู้สึกว่าคนไทยคิดงานสนุก มีลูกเล่น เราพยายามจะทำอย่างนั้นกับงานที่นี่เหมือนกัน ยากหน่อย แต่บางงานหัวหน้าที่ VMLY&R ก็บอกว่าเป็นมุมคิดใหม่ที่เขาไม่เคยได้ยิน เขาทำแต่แคมเปญใหญ่ เราชอบจับคำเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเล่น เป็นมุมที่เขามองข้าม
“ถ้าความอยากมากพอ ทุกคนมาต่างประเทศได้อยู่แล้ว มีความพยายามกับสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันขึ้นมาอีก ลองมองงานที่สากลมากขึ้น เรียนภาษามากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจงานคนอื่นมากขี้น ทุกวันนี้เราก็ยังเรียนอยู่ เพราะรู้สึกว่าเท่าไหร่มันก็ไม่พอ พอไปคุยกับหัวหน้าที่เขาเสพงานเยอะ เขาก็รู้เยอะกว่าเราจริง ๆ”
ถ้าให้จบบทความนี้เหมือนรายการโทรทัศน์ อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากมาทำงานต่างประเทศ – มายบอกว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการขวนขวาย พยายาม คือการรู้ว่าจังหวะชีวิตของเราเป็นแบบไหน
“เรามาเรียนที่ต่างประเทศในอายุใกล้ 30 ในขณะที่คนอื่นถามว่าจะมาเรียนทำไม อายุเท่านี้แล้ว เป็น CD ที่ไทยก็สบายดี เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เป้าหมายของเรา ไม่ใช่จังหวะของเราในตอนนั้น เรารู้สึกว่าอยากเริ่มใหม่ ไม่รังเกียจถ้าต้องเริ่มชีวิตช้ากว่าคนอื่นตั้งแต่ศูนย์
“เราหยุด 2 ปีเพื่อเริ่มใหม่ ตอนสมัครงานหลังเรียนจบ หางานยาก เราสมัครแม้กระทั่งฝึกงาน ยอมไปฝึกเพื่อให้ตัวเองเข้าไปก่อน ถามตัวเองทุกวันว่ากูมาทำไมวะ เห็นเพื่อนทุกคนในเฟซบุ๊กไปเป็นกรรมการเทศกาลที่นู่นที่นี่ พอผ่านช่วงนั้นมาได้ เรารู้สึกว่า อย่าเปรียบ Pacing ตัวเองกับใคร อยู่ในจังหวะของเราดีที่สุด
“อย่าเร่งเพื่อให้ใครยอมรับ ถ้าอยากมา เดี๋ยวก็ได้มา ถ้าอยากทำ เดี๋ยวก็ได้ทำ ถ้าเราพยายามมากพอ”
ภาพ : มนมัย รอดเพชร
ฟังมายในงาน BAD TALK วันที่ 18 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 – 18.00 น. ที่ TCDC Bangkok ซื้อบัตรและสำรองที่นั่งได้ที่ https://forms.gle/GQLeqRDrYMskZv3A9 (มีรอบเดียว หมดแล้วหมดเลย 150 ที่นั่งเท่านั้น)