31 ปีก่อนเขาคือนายกองค์การนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมือง

30 ปีก่อนเขาคือผู้สื่อข่าวสายการเมืองประจำหนังสือพิมพ์หัวที่ตีพิมพ์ภาพข่าวการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ขณะที่สื่อโทรทัศน์ในประเทศถูกควบคุมการเสนอข่าว และไม่รายงานการสูญเสียชีวิตของประชาชน

20 ปีก่อนเขาคือคนที่เล็งเห็นพลังการเปลี่ยนแปลงของสื่อโลกใหม่ในยุคแรกเริ่มของอินเทอร์เน็ต และเตือนหนังสือพิมพ์ไทยให้เตรียมรับมือกับ New Media ทว่าไม่มีใครเชื่อ

‘เขา’ ที่ว่าจึงเป็นคนแรกที่เรานึกถึงในโมงยามที่ประเทศกำลังตั้งคำถามเรื่องจรรยาบรรณสื่อ การเสพสื่อ การอยู่ในยุคที่สื่อเก่าถูก Disrupt อย่างสิ้นเชิง ใครมีสมาร์ทโฟนก็สร้างข่าวได้ หรือพื้นที่สื่อที่ไม่ต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล จดทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษร เพียงสมัครแอคเคานต์เว็บไซต์ไม่ก็แอปพลิเคชัน และมี IO, Fake News, Propaganda เป็นโรคแทรกซ้อน

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญสื่อและชาวทวิตภพที่เชื่อว่าจะมีวิจัยวิธีสื่อสารม็อบราษฎร

‘เขา’ ที่ว่า คือ อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อีกหนึ่งนักวิชาการที่ถ้าใครจะพูดเรื่องสื่อต้องนึกถึง

“ได้ครับ” เป็นข้อความที่ได้รับแทบจะทันทีหลังตัวหนังสือ read ปรากฏ เมื่อเราส่งข้อความหาเพื่อชวนมานั่งคุยกัน

สองวันหลังจากนั้นซึ่งคือวันที่ 21 ตุลาคม เราจึงนั่งอยู่ในห้องทำงานเหนือตึกสูงใจกลางมหาวิทยาลัย ตรงหน้ารองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่กำลังไถ Smart Phone และมี Smart Watch คาดข้อมือ

คิดยังไงกับปรากฏการณ์ทัวร์ลงดาราเรื่องการ Call Out ที่สร้าง Cancel Culture ปลดบิลบอร์ด

ต้องเข้าใจวัฒนธรรมของบ้านเราว่า การเรียนการสอนของเราไม่ได้สอนมาให้มีพื้นฐานประชาธิปไตย เราถูกสอนให้ฟังว่าครูบอกอะไร เรื่องอำนาจนิยมหรือประชาธิปไตยที่ต้องฟังความคิดเห็นหลากหลายไม่ได้ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก เพราะงั้นไม่แปลก เด็กที่เรียกร้องวันนี้เขาก็เติบโตมาจากตรงนั้น 

ถ้าเราเรียกร้องให้คนที่ไม่แสดงจุดยืนมาแสดงจุดยืน เราต้องพร้อมด้วยว่าเขาอาจจะแสดงจุดยืนอีกฝั่งหนึ่งก็ได้ และต้องยอมรับ คุณจะเห็นด้วยกับศิลปินหรืออินฟลูเอนเซอร์หรือไม่ก็ตาม แต่ต้องไม่บอกว่าเขาต้องทำแบบที่ตัวเองต้องการ เพราะนั่นหมายถึงคุณกำลังใช้อำนาจนิยมผ่านสื่อออนไลน์เหมือนที่คุณก็ไม่ชอบหรือเปล่า 

ในขณะที่คุณบอกว่าคุณไม่ชอบที่ผู้มีอำนาจใช้พลังมาบีบให้คิดและเชื่อคล้อยตามกันหมด แต่คุณกำลังใช้อำนาจอีกทางหนึ่งทางเทคโนโลยี บีบให้ใครคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคิดและเชื่อแบบเดียวกับคุณหรือเปล่า การใช้อำนาจสื่อในมือมาเรียกร้องบีบเมนให้พูดก็เหมือนกับที่รัฐใช้อำนาจปิดสื่อ มันอาจจะเกินไปหรือเปล่า ต้องย้อนกลับไปดูว่าพื้นฐานความคิดเรื่องประชาธิปไตยของคุณคืออะไร อะไรคือประชาธิปไตยที่เราต้องการ ความต้องการประชาธิปไตยเราเท่ากันมั้ย

ถ้าเขาไม่ได้อยากออกเสียง หรือที่คนเรียกว่าเป็น Ignorance

ก็ต้องเป็นสิทธิ์ของเขา การที่จะยอมพูดหรือไม่พูดมันเป็นสิทธิ์เหมือนกัน เหมือนการเลือกตั้งอะ คุณมีสิทธิ์ที่จะโหวตหรือโนโหวต มันเป็นเรื่องของคุณ มันไม่ควรจะเกิดจากการบังคับว่าคุณต้องโหวต แต่คุณก็จะเจอกฎทางสังคม

กลับกัน ถ้าพวกเขาออกมาพูด 

ไม่ใช่ลูกชุบใช่มั้ย (หัวเราะ)

ไม่ใช่ค่ะ (หัวเราะ) มันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงรึเปล่า

ต้องยอมรับว่ามันจะมีพลังในการสื่อสาร แต่จะทำให้คนเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ถึงขั้นร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ไม่ใช่ว่าดาราคนนี้พูดอย่างนี้ออกมาแล้วทุกคนจะพร้อมเชื่อ เสียงมันดังขึ้น กว้างขึ้น คนอาจจะได้ยินแล้ว เอ๊ะ มันเกิดอะไรขึ้น 

เราจะอยู่ยังไงให้เท่าทันยุคที่สเตตัสเดียวกลายเป็นวาระแห่งชาติ

มันเป็นกระแสที่ขึ้นลงเร็ว และชีวิตจริงคนไม่ได้อยู่แค่ในออนไลน์ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเด็กรุ่นนี้เขาจำลองและเชื่อมโลกออนไลน์มาอยู่ออฟไลน์ให้เห็นมากขึ้น แม้กระทั่งการบริหารการจัดการม็อบคราวนี้ก็ต่างจากการบริหารจัดการม็อบในครั้งก่อนๆ มากกกกก (เน้นเสียง) 

เอาแค่การย้ายจุดชุมนุม เมื่อก่อนจะชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ คุณต้องบอกล่วงหน้า แล้วสื่อที่บอกตอนนั้นคือที่ไหน วิทยุ ทีวี ไม่ได้ เพราะเป็นของทหาร คุณต้องหยิบประเด็นเพื่อการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งคือหนังสือพิมพ์ 

แต่วันนี้ไม่ใช่ โอ้โห เกิดอะไรขึ้นคุณพร้อมที่จะย้ายภายในครึ่งชั่วโมง (หัวเราะ) คุณแกงเขาได้หมดเลย อยู่ๆ ไม่เอาแล้ว เลิก อ้าว ฉิบหาย ไวมาก คุณมี Agility คุณเปลี่ยนอะไรต่างๆ จริงๆ 

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญสื่อและชาวทวิตภพที่เชื่อว่าจะมีวิจัยวิธีสื่อสารม็อบราษฎร
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญสื่อและชาวทวิตภพที่เชื่อว่าจะมีวิจัยวิธีสื่อสารม็อบราษฎร

True Information เป็นของ Luxury ในศตวรรษที่ 21 จริงรึเปล่า

ปัจจุบันข้อเท็จจริง ความจริงแท้ หายากขึ้น ในโลกของดิจิทัลมันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะหยิบมุมไหนมาเล่า การเลือกเล่า เลือกตัดทอน ก็ทำให้ความจริงนั้นเหลื่อมไปด้วยเหมือนกัน ความจริงนั้นอาจจะสัมพันธ์กับคนเล่า คนรับสารด้วย เช่นผมเล่าจากมุมหนึ่งที่เกิดขึ้น ถามว่าเป็นความจริงมั้ย มันคือความจริงในมุมนั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเล่าด้วยอะไร มุมมองไหน 

แสดงว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่สิ่ง Luxury ที่สุด

ข้อมูลที่หลากหลายต่างหาก และต้องมาคิดวิเคราะห์เอง เหมือนประวัติศาสตร์ในอดีต เรื่องเล่าสมัยกรุงศรีฯ แตก มีหลายเรื่อง สมมติว่าเป็นเรื่องจริง วันที่กรุงศรีฯ แตก คนที่อยู่ตรงนั้นก็มีเรื่องเล่าชุดหนึ่ง มุมมองของพม่าที่ตีเมืองก็เรื่องเล่าอีกชุดหนึ่ง หรือคนที่หนีรอดมาได้ก็มีเรื่องเล่าอีกชุดหนึ่ง แล้วอะไรคือความจริงแท้ 

ถ้าคุณอยากรู้เหตุการณ์นั้น คุณต้องดูหลายๆ อย่างแล้วประมวลเองว่าอะไรที่ไม่ใช่ สังเคราะห์ว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับจุดยืนคุณอีก ถ้าจุดยืนคือคนพม่าโดยมีเรื่องชาตินิยมมาเกี่ยวข้อง หรือมุมมองตอนนี้ที่มองไปยังเหตุการณ์นั้น คุณก็จะเลือกเล่าอีกแบบหนึ่ง

ในฐานะของสื่อมวลชน จะทำยังไงให้สิ่งนี้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด 

คุณก็ต้องรายงานข้อเท็จจริงให้หลากหลายมุมมองมากที่สุดและไม่ใส่ความคิดเห็น ถ้าฟังสื่อที่ถามแค่ฝ่ายเดียวแล้วบอกว่าเขาโกหก รู้ได้ยังไงว่าโกหก 

วันหนึ่งข้างหน้าคนเสพสื่อจะได้ความเห็นที่หลากหลาย ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่าจะเชื่ออะไร 

แอคหลุม อวตาร เทียบเท่ากับอะไรในยุคก่อนหน้าโซเชียลมีเดีย

ข่าวลือ สมัยก่อนก็แค่ปากต่อปาก แต่ตอนนี้มันถูกส่งต่อในแชท วงในแจ้งว่า เพื่อนของเพื่อน เป็นญาติที่ทำงาน

แล้ว IO คืออะไร

คือการปฏิบัติการข่าวสารทางการทหาร ซึ่งมีทั้งรุกและรับ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยข่าวลวง ไปบอกให้ชาวบ้านกลัวว่าทหารจะมา การหลอกศัตรูว่าแม่ทัพตายแล้ว ปล่อยข่าวเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามสับสน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่มันเพิ่งย้ายมาอยู่บนออนไลน์ ถ้ามองในแง่ของการเมือง ทุกประเทศก็ใช้เครื่องมือนี้มาตลอด สำคัญคือเราจะรู้เท่าทันมากน้อยแค่ไหน ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญสื่อและชาวทวิตภพที่เชื่อว่าจะมีวิจัยวิธีสื่อสารม็อบราษฎร
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญสื่อและชาวทวิตภพที่เชื่อว่าจะมีวิจัยวิธีสื่อสารม็อบราษฎร

มันรับบทเป็นผู้ร้ายจริงรึเปล่า

ขึ้นอยู่กับว่า IO เป็นตัวร้ายของใคร เพราะ IO ถูกใช้ได้จากทุกฝ่าย

ยุคหนึ่งบ้านเรามีปัญหาโรคเอดส์ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จนต้อง ‘พยายาม’ ยัดสิ่งนี้ในวิชาสุขศึกษา ถ้ายุคนี้ที่ Fake News เป็นปัญหา เราควรมีวิธีรับมือในหลักสูตรการศึกษามั้ย

ใช่ ในต่างประเทศมีวิชาการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) อย่างในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งสอนกันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลและสอนกันมาหลายสิบปีแล้ว ครูที่นั่นจะเปิดวิดีโอโฆษณาขนมให้เด็กดู จากนั้นถามเด็กๆ ว่า คิดอย่างไร

ฟังดีๆ นะ เขาถามเด็กว่า ‘คิดอย่างไร’ ไม่ได้บอกว่าโฆษณากำลังโฆษณาอะไร ระบบการศึกษาทำให้เด็กคิดเองตั้งแต่อนุบาล มีเด็กคนหนึ่งตอบว่าอยากกิน และมีเด็กอีกคนยกมือขึ้นมาบอกว่าอย่ากิน กินแล้วฟันหลอ ครูถามต่อว่า ทำไมถึงคิดว่าฟันหลอ เพื่อนอีกคนแย้งว่า ในโฆษณาไม่เห็นมีใครฟันหลอ 

สิ่งนี้สะท้อนว่าเด็กออสเตรเลียเรียนรู้ตั้งแต่อนุบาลว่าโฆษณาไม่ได้บอกความจริงทุกอย่าง ครูเองก็ไม่ได้มีหน้าที่บอกเด็กว่าอย่ากินลูกกวาดลูกอมนะ ฟันจะผุ แต่ครูกระตุ้นให้เด็กคิดและคุยกันเองตั้งแต่อนุบาล

หลังจากคลาสนั้น ผมไปดูงานอีกคลาสซึ่งเป็นระดับไฮสคูล ครูตัดภาพข่าวมาคุยพร้อมถามความคิดเห็นว่าทำไมแต่ละสื่อพาดหัวข่าวแบบนี้ นักข่าวต้องการบอกอะไร ให้นักเรียนลองแยกข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นในเนื้อข่าวออกมา อะไรที่สื่ออยากเล่า อะไรที่สื่อไม่อยากเล่า

เด็กจึงเกิดกระบวนการถกเถียง (Discuss) Critical Thinking จึงถูกสอนแต่เด็ก ผมจึงไม่แปลกใจว่าสมัยที่ผมเรียน ป.โท ที่นั่น ทำไมทุกคนยกมือแย่งกันแสดงความคิดเห็น เขาไม่สนใจว่าเพื่อนจะมีความคิดเห็นยังไง แต่เขาอยากจะบอกว่าเขามีความคิดเห็นแบบนี้ ต่างคนต่างฟังและถกเถียงโต้แย้ง

ทวีตหนึ่งของคุณบอกไว้ เชื่อว่าจะมีหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารของม็อบราษฎร 

มีแน่นอน เพราะม็อบมีทั้งการสื่อสารภายในกับการสื่อสารต่อสาธารณชน การปะทะกับ IO ในขณะที่กระบวนการ IO ก็ยังพยายามที่จะใช้วาทกรรมรูปแบบเดิมๆ 

ในออนไลน์คุณจะเห็นลักษณะของการกวน มี Meme ต่างๆ และพยายามสร้าง Engagement กับผู้เข้าร่วม ก่อนหน้านั้นสองวันบอกว่าให้โหวตกันว่าจะพักหรือไปต่อ โคตร Engage เลย แล้วแป๊บเดียว ไม่กี่นาที ก็โหวตกัน เห้ย มันขนาดนี้แล้วหรอ หรือเมื่อวานซืนที่บอกว่าห้าโมงสี่สิบห้าให้ไปรวมกันตามที่ต่างๆ แล้วเพจก็บอกว่าให้คนชูสามนิ้วถ่ายรูปโพสต์ มันคือการดึงเอาคนที่ร่วมชุมนุมมาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี บางส่วน 

ผมมองว่ามันเป็นการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) กันมากกว่ายุคเก่า ยุคก่อนๆ ม็อบ Top-down มาก จัดชุดแกนนำกี่คนๆ บอกว่าซ้ายทุกคนต้องซ้าย ขวาทุกคนต้องขวา หยุดเจ็ดวัน ทุกคนเลิกเจ็ดวัน วันนี้ไม่ใช่ แต่ม็อบยุคนี้ ต่อให้ Node ใหญ่หยุด ฉันไม่หยุด เพราะคุณบอกเขาว่า ทุกคนคือแกนนำ เข้าใจปะ (หัวเราะ)

เมื่อเราถึงยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ รายงาน Fact ได้และได้ดี อะไรทำให้สื่อต่างจากเขา

ผมว่าไม่แปลกที่ตอนนี้ทุกคนจะรายงานข้อเท็จจริง (Fact) ได้และทำได้ดี ซึ่งสร้างความหลากหลายทางการรับข้อมูลข่าวสาร แต่หน้าที่ของนักสื่อสารมวลชนคือการรายงานข่าวรอบด้านที่สุด ไม่ใช่การรายงานข่าวมุมเดียว นี่คือข้อแตกต่าง 

สมมติว่าคุณอยู่ในที่ชุมนุม คนทั่วไปทำได้แค่รายงานสถานการณ์ แต่นักสื่อสารมวลชนสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวที่เป็นข้อมูลสำคัญทั้งหมด อย่างการสัมภาษณ์ตำรวจ รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี สื่อต้องไม่เลือกที่จะถามแค่ฝ่ายรัฐหรือแค่ฝ่ายผู้ชุมนุม สื่อต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองไม่ว่าของฝ่ายไหน นี่คือสิ่งที่บ่งชี้ความเป็นมืออาชีพของนักสื่อสารมวลชน ซึ่งเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายกว่าคนธรรมดาที่มีแค่สื่อในมือ

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญสื่อและชาวทวิตภพที่เชื่อว่าจะมีวิจัยวิธีสื่อสารม็อบราษฎร

ในยุคที่เทคโนโลยีทำให้ข่าวสารเดินทางเร็ว มันสั่นสะเทือนจริยธรรมสื่อมั้ย

สั่นคลอน ทุกวันเราตั้งคำถามกับเนื้อหาบน New Media ว่าอะไรที่เรียกว่า ‘ข่าว’ คุณค่าข่าวต่างออกไปจากเดิมตามนิยามของคุณค่าข่าว ความสนใจในข่าวของประชาชนก็ต่างไปจากเดิม ผมชอบยกตัวอย่างเรื่อง ‘แมวอโศก’ แมวจรจัดธรรมดาที่สถานีรถไฟฟ้าอโศก ถ้าเป็นสื่อแบบเดิมเรื่องนี้ไม่มีทางเป็นข่าว แมวจรจัดตัวหนึ่งจะเป็นข่าวได้ยังไง แต่คนที่เป็นทาสแมว ซึ่งใช้บริการรถไฟฟ้าเห็นทุกวันมองว่าน่ารัก ถ่ายรูปอัปลง Pantip.com ก็กลายเป็นข่าวของคนที่สนใจเรื่องนี้ ข่าวกลายเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นตามความสนใจ (Interest) ของยุคนี้และเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) มากขึ้น 

ไม่ต่างจากข่าวลุงพล

ข่าวลุงพลชัดในความหมายของกลุ่มมวลชน (Mass) แบบนั้น เหมือนเพื่อนบ้านที่อยากรู้ว่าบ้านข้างๆ เป็นยังไง ไม่ใช่ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อผู้รับสาร แต่ฐานในเรื่องเรตติ้งขึ้นมาก ทาร์เก็ตเขาชัด เขาได้เต็ม ขณะที่ชนชั้นกลางคนเมืองเอียนและเบื่อ ยิ่งเขามาจับเรื่องม็อบ เขายิงยาวเลย เพราะเขาไวและเก่งเรื่องการนำเสนอแบบนี้ เรตติ้งเป็นตัวบอก

ถูกแล้วหรอ ที่สื่อทำข่าวจากเรตติ้ง

อยู่ที่มุมมอง เขามองในแง่ธุรกิจก็เรื่องหนึ่ง แต่เมื่อมองผลกระทบต่อสังคม ข่าวแบบนี้ต้องกลับไปถามตัวเองว่าเหมาะสมหรือไม่

และกระทบจรรยาบรรณสื่อ

กระทบสิ ข่าวมีอยู่สองประเภท ข่าวที่ประชาชนควรรู้กับข่าวที่ประชาชนสนใจ ต้องวางสมดุลระหว่างสองอย่างนี้ บางเรื่องประชาชนไม่สนใจ แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนควรรู้ ก็ควรนำเสนอไม่ใช่หรือ

เรื่องที่ประชาชนควรรู้อาจเป็นเรื่องยากที่จะนำเสนอ แต่ทักษะด้านการเล่าเรื่อง (Storytelling) จะเป็นโจทย์ใหม่ของนักสื่อสารมวลชน ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทำให้เราโยนรูปแบบการเขียนข่าวยุคเดิมทิ้งไปได้เลย 

แล้วสื่อต้องปรับตัวให้ทันมั้ย 

สื่อกลุ่มไหน สื่อในความหมายของแต่ละคนต่างกัน คุณพูดว่าสื่อกับนักสื่อสารมวลชนยุคเก่า เขาจะมีความหมายแบบหนึ่ง อย่างเรื่องการเข้ามา Take Action ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเพื่อช่วยเหลือนักข่าวประชาไทที่ถูกคุมตัวระหว่างไลฟ์ในม็อบราษฎรเมื่อวันก่อน เกิดจากการปรับตัวที่ต้องการให้สื่อปราศจากการแทรกแซงของทางราชการและการเมือง จึงต้องมีองค์กรอิสระควบคุมกันเอง โดยตอนนี้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจึงพยายามขยายเป็นสภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติด้วย จากเดิมมีสมาชิกแค่หนังสือพิมพ์ เพื่อครอบคลุมสื่อทั้งวิทยุ ทีวี ออนไลน์ และตามภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ขณะที่เมื่อห้าปีก่อนกรอบความหมายสื่อสารมวลชนยังมีความหมายเดิมว่า Traditional Media อยู่

อย่างไรก็ตาม กรณีของประชาไท เมื่อได้รับป้ายนักข่าวจากสมาคมนักข่าว ยังไงองค์กรก็ต้องรับผิดชอบช่วยเหลือและควบคุม

แล้ว The Cloud มองตัวเองเป็นอะไร

เป็นนิตยสาร

คุณมองตัวเองเป็นสื่อมวลชนไหม นี่ไง ความหลากหลายเริ่มมีแล้ว พอพูดคำว่าสื่อ มันไม่สามารถพูดกว้างๆ แบบเดิมแล้ว วันนี้คำว่าสื่อของแต่ละคนมีลักษณะย่อยลงไป ถ้าคุณพูดคำนี้กับคนที่ทำ Traditional Media เขาจะไม่จัดพวกคุณเป็นสื่อมวลชนตามความหมายของเขา เขาอาจจะบอกว่าคุณเป็นสื่อออนไลน์ เป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม แต่ในความหมายของเราที่เราทำสื่อ ฉันก็เป็นสื่อมวลชน 

ยุคหนึ่งสื่อทางเลือกคือสื่อที่ไม่สามารถนำเสนอในสื่อกระแสหลัก อยู่ใต้ดิน อย่างสมัยก่อนที่เรียกว่าประชาไทเป็นสื่อทางเลือก เพราะไม่มีทางนำเสนอข่าวเหล่านั้นผ่านสื่อกระแสหลักได้ แต่วันนี้คำว่าสื่อทางเลือกมีความหมายอีกแบบ เป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม เปิดกว้างมากขึ้น 

บทบาทของสื่อมวลชนแบบเดิมมีอิทธิพลน้อยลง พลังน้อยลง ทั้งด้วยตัวมันเองและด้วยจำนวนคนเสพสื่อที่ลดลง เมื่อมีสื่อทางเลือกเฉพาะกลุ่มเยอะขึ้นๆ ผมก็ไม่จำเป็นต้องอ่านสื่อหลัก เพราะมันไม่ตอบโจทย์ผม ผมชอบแทงบอล ผมก็อ่านเว็บบอล นี่คือข่าวของผม ผมสนใจอันนี้ ถามว่าคนทำเว็บไก่ชนหรือคนทำเว็บพนันออนไลน์คือสื่อไหม

เขาผลิตคอนเทนต์ แต่เป็นคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มเขา มันขึ้นอยู่กับว่าเราจัดความหมายยังไง ถ้าผมจัดตามความหมายแบบเดิม กลุ่มนี้ไม่ใช่ แต่ถ้าเกิดผมจัดตามความหมายแบบใหม่ เขาก็คือผู้ผลิตเนื้อหา เป็น Content Creator

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญสื่อและชาวทวิตภพที่เชื่อว่าจะมีวิจัยวิธีสื่อสารม็อบราษฎร

นิยามนี้ทำให้ไม่ต้องรับภาระเรื่องจริยธรรมเหรอ

ถูก แต่ Content Creator จำเป็นต้องมีจริยธรรมไหม (ยิ้ม) จริยธรรมหรือจรรยาบรรณของแต่ละกลุ่มต้องคุยกันเอง แล้วผมเชื่อว่าการคุมกันเองดีกว่าถูกคุมด้วยกฎหมายโดยรัฐ ดูก่อนว่าผลประโยชน์ของประชาชนหรือผู้เสพสื่อเป็นหลัก หรือรายได้เป็นหลัก สมดุลมันอยู่ตรงไหน ก็คุยกัน อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

วันหนึ่งผู้บริโภคบอก ไม่เอา มึงรีวิวอันนี้เยอะเหลือเกิน เบื่อแล้ว เราก็ต้องปรับตัว ต้องเพิ่มเรื่องจริยธรรมตรงนี้ เราไม่สามารถบอกให้ทุกคนปรับ แล้วปรับเหมือนกันหมด เพราะความหลากหลายเป็นปัญหาความท้าทายเชิงจริยธรรมที่ซับซ้อนกว่าเดิมเยอะ 

จริยธรรมสื่อคือความรับผิดชอบต่อข่าวสารที่เรานำเสนอต่อผู้รับสาร สื่อเปลี่ยนความคิดหรือความเชื่อของคนได้ มันแตกต่างจากสินค้าประเภทสบู่ ยาสีฟัน เพราะฉะนั้น คุณต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ 

สมัยก่อน รูปหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เป็นรูปศพเกลื่อน เห็นชัดเจน บางเล่มก็เป็นภาพโป๊ พอวางที่แผงด้วยกันมันย้อนแย้งมากจนสงสัยว่าดูแล้วมึงเกิดอารมณ์ได้ยังไงวะ (หัวเราะ) แต่สมัยนั้นคนชอบมาก ขายดีมาก ต่อมาเริ่มมีคนตั้งคำถามว่า มันอุจาดไปไหม มันดูไม่เหมาะไหม ตัวสื่อเองก็ต้องปรับ เริ่มทำภาพเบลอ แต่ถึงเบลอแล้วคนก็ยังด่าอยู่ ก็เลยเอารูปออก เขาก็ต้องเรียนรู้เอง

มันไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยสื่อทางเดียว

ถูกต้อง พลังของผู้บริโภคและสังคมเป็นคนเรียกร้องด้วยว่ามันควรเป็นยังไง หลายๆ สื่อออนไลน์ทำคอนเทนต์ทางการตลาด คุณทำได้ ถ้าประชาชนยอมรับได้และแยกแยะได้ แต่เมื่อประชาชนรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว อันไหนคือรีวิวแท้ อันไหนคือคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง คนทำต้องมานั่งคุยกันว่าจะทำยังไง 

อย่างเรื่องเด็ก เมื่อก่อนลงรูปหน้าเด็กได้ เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลย ผลที่เกิดขึ้นนอกจากจรรยาบรรณสื่อก็รวมไปถึงกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก

ในมุมมองของคุณ สื่อควรวางตัวแบบไหนในสถานการณ์ความขัดแย้ง

ความหลากหลายอย่างที่บอก และความแฟร์ ควรเป็นจุดยืนของสื่อในสภาวะความขัดแย้ง

ตอนนี้ถือว่าทั้งข่าวสารและการรับรู้ข่าวสารถึงขั้นอยู่ในภาวะวิกฤตรึยัง

มันวิกฤตมานานแล้ว เพียงแต่จะอยู่ยังไงต่อไปมากกว่า ปัญหาสำคัญคือ ในมุมมองของคนทำคอนเทนต์ คนทำสื่อ จะสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นมั้ย ขณะเดียวกัน ทำยังไงที่จะทำให้คนเสพสื่อเติบโตโดยเรียนรู้เรื่องของการคัดกรองข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น สร้างเรื่องการคิดวิเคราะห์ให้คนในสังคมมากขึ้น ยอมรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เสพสื่อจากมุมมองที่หลากหลายได้มากขึ้น

สัญญาณไหนที่บอกว่าวิกฤตแล้ว

ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นเยอะแยะ เป็นผลพวงจากสื่อเองที่เป็นผู้ปลุกเร้า ก่อนจะมีสื่อโซเชียลก็มีวิกฤต แค่พลังน้อยกว่า เอาง่ายๆ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หนังสือพิมพ์ดาวสยามก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยคิดเชื่ออะไรแบบเดียวกัน แต่ในตอนนั้นต้องเป็นคนที่อ่านออก เขียนได้ หรือได้ฟังมาจากที่คนอื่นเล่า แต่มาวันนี้ คุณเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลาย

การใช้วิธีแอนะล็อกจัดการสื่อดิจิทัลแก้ปัญหาได้จริงมั้ย

มันแก้ไม่ได้ตั้งแต่ฐานคิดแล้ว สมัยก่อน สิ่งที่รัฐต้องการคือความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงหมายถึงเสรีภาพของรัฐในการบริหารประเทศ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเงียบ การเมืองนิ่ง ทุกคนต้องเชื่อฉัน ฟังฉัน ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นอย่างนี้ทุกรัฐบาลไม่ว่าใครจะเข้ามาก็ตาม

ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่ของโลกก็คิดแบบนี้ คิดว่าสื่อมีหน้าที่เป็นเหมือนแค่กระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ของรัฐ สื่อไม่ควรจะตั้งคำถาม แย้ง หรือทำให้เสถียรภาพของความเป็นรัฐสั่นคลอน จึงไม่แปลกที่ในอดีต เวลามีปัญหาขึ้นมาไม่ว่าจะยุคไหนๆ สื่อไหนที่ทำให้อำนาจของรัฐไม่โอเคหรือตั้งคำถามกับรัฐ ก็จะต้องโดนปิด วิทยุ ทีวี เขาคุมได้อยู่แล้ว ถ้ารายการไม่โอเคก็ถอดรายการนั้นออก หนังสือพิมพ์ไม่โอเคก็ปิดหนังสือพิมพ์

วันนี้พอใช้วิธีเดียวกันกับสื่อดิจิทัล คุณปิดไป พอเปิดทวิตเตอร์ก็เจออีกแล้ว อย่าลืมว่าสมัยก่อนการเปิดสื่อต้องลงทุนเป็นร้อยล้านพันล้าน แต่วันนี้ผมมีมือถือเครื่องเดียว ผมเปิดเพจได้ภายในไม่กี่นาที จะทำช่องทีวีก็สมัคร YouTube Channel แป๊บเดียวเอง แล้วคุณใช้กรอบแบบเดิมปิด ฐานคิดที่คิดว่าสื่อมันมีอยู่จำกัดแล้วไม่สามารถขยาย อย่างที่ไปไล่ปิดฟ้าเดียวกัน แล้วดูสิ ตอนนี้ขายดีไปเลย

ใช้ระบบคิดแบบ 0.4 มาบริหารจัดการสื่อยุค 4.0 อืม… มันคงทำได้หรอกนะ (ถอนหายใจ)

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญสื่อและชาวทวิตภพที่เชื่อว่าจะมีวิจัยวิธีสื่อสารม็อบราษฎร

Writer

Avatar

ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

นักเรียนวรรณคดีที่มักเรื่องอาหาร ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเดินทาง และเด็กจิ๋ว มีความฝันสามัญว่าอยากมีเวลาทำอาหารรสที่ชอบด้วยตัวเอง ตัวอยู่กรุงเทพฯ อัมพวา หรือเมืองกาญจน์ แต่ใจและภาพอินสตาแกรมอยู่ทุกที่ที่ไปเที่ยว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ