ใครเป็นแฟนคลับผ้าย้อมครามหรืองานคราฟต์ คงเคยได้ยินชื่อหรือลองใช้สินค้าแบรนด์ Mann Craft ของ แมน-ปราชญ์ นิยมค้า สมาชิกกลุ่มสกลเฮ็ด ผู้มีส่วนสำคัญในการปลุกปั้นผ้าครามแห่งเมืองสกลนครให้โด่งดัง และปักหมุดเมืองสกลเป็น Indigo City ของเมืองไทย

สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร

เทียวไปเทียวมาสกลนครหลายรอบ พบปะนักเล่นแร่แปรสีธรรมชาติคนนี้หลายหน สิ่งที่เราเห็นความต่างจากสารพัดแบรนด์ผ้าครามเต็มเมือง คือวิสัยทัศน์ของแมนที่ไปไกลกว่าการสร้างกำไรหลายขุม หลังจากรับบทพ่อค้ามาเกินสิบปี ศึกษาการย้อมสีและการทำงานคราฟต์อย่างลึกซึ้งและกว้างขวางจนตกผลึก จนแบรนด์ของเขาเป็นหนึ่งในแบรนด์ชื่อดังติดอันดับของจังหวัด แมนพบสิ่งใหม่ที่เติมเต็มจิตวิญญาณของเขา 

สิ่งนี้ยิ่งใหญ่กว่าแค่การทำงานที่รักที่บ้าน การเก็บรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิม หรือทำให้คนภายนอกได้รู้จักและรักสกลนคร 

แมนอยากแบ่งปันสิ่งที่เขาเรียนรู้ สิ่งที่เขาคิดฝันว่าควรจะมีในบ้านเกิดได้เสียที 

นั่นคือที่มาของ ‘สวนแมน’ หรือ ‘Man Gardens’ Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน 

สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร
สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร

1. ตกผลึกเป็นสวน

ขับรถออกนอกตัวเมือง ผ่านเรือกสวนมาสัก 15 นาทีจนใกล้วัดอัมพวัน อดีตสวนผลไม้เก่าร่มรื่นขนาด 9 ไร่ 3 งาน แปลงโฉมเป็นศูนย์การเรียนรู้จัดกิจกรรมที่เต็มไปด้วยผลหมากรากไม้สารพัด ทั้งที่มีอยู่เดิมและปลูกเพิ่มใหม่เป็นพืชที่ให้แต่ละเฉดสีสเปกตรัม แมนซื้อสวนผลไม้นี้เพราะชอบต้นไม้หลากหลายครบครัน เขาบอกอย่างภาคภูมิว่า ไม่ว่าจะต้องการสีอะไร เขามีวัตถุดิบทั้งหมดครบเรียบร้อยแล้ว

“แต่ก่อนผมมีโรงย้อมส่วนตัว มีสวนที่ปลูกวัตถุดิบอยู่แล้ว ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะอย่างนี้ แต่พอครบปีที่ 10 ของแมนคราฟต์ เราก็เริ่มตกผลึกอะไรหลาย ๆ อย่าง ธุรกิจเราไม่ได้หวือหวา แต่เราแฮปปี้แล้วว่ามันพอเลี้ยงตัวได้ ถ้าเราเปิดพื้นที่เป็นที่ทำกิจกรรมเรียนรู้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์แบรนด์ เราว่าสิ่งที่ทำมีความยากง่ายสนุกแค่ไหน พอลูกค้ามา เราไม่ต้องอธิบายไงฮะ เขาก็จะได้เรียนรู้ไปตามประสบการณ์ที่ทำเอง” 

สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร

การเป็นนักออกแบบควบคู่เจ้าของแบรนด์คราฟต์ ทำให้แมนได้เดินทางเป็นวิทยากรสอนในหลายจังหวัด จนตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเขาถึงไม่เปิดบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ทั้งคนในพื้นที่และคนภายนอกจะได้มาเรียนรู้ได้อย่างสม่ำเสมอ ครอบครัวโดยเฉพาะเด็ก ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง จะได้มีตัวเลือกเที่ยวเล่นใกล้ชิดธรรมชาติ นอกจากไปห้างสรรพสินค้า 

นอกจากนี้แมนยังได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปยุโรป เช่น การไปดูงานที่อังกฤษกับบริติชเคาน์ซิล หรือไปงานเทศกาล MIDA (Mostra Internazionale dell’Artigianato di Firenze) Florence International Crafts Fair ที่อิตาลี 

“ช่วงระยะหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ผมโชคดีมีโอกาสไปเป็นวิทยากรต่างประเทศบ่อย ไปแล้วก็หาทางไปสวน Botanical Garden บ้าง ไปพิพิธภัณฑ์บ้าง แล้วก็เห็นว่าลักษณะบรรยากาศ ทั้งพิพิธภัณฑ์ ทั้งสวน คนออกมาเที่ยวเดินดู ปูเสื่อนั่งกินอะไรต่าง ๆ เป็นชีวิตที่ดี คนต่างประเทศเขาชอบไปใช้เวลาเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดที่สวนสาธารณะ หรือว่าสวนพฤกษาศาสตร์ ไปนั่งพักผ่อนใจ ไปใช้ชีวิตกับธรรมชาติ เราก็คิดว่าบ้านเรามีธรรมชาติเยอะ แต่คนกลับไม่ได้ใช้พื้นที่ใน Public Space ผมคิดว่าบ้านเราก็น่าจะทำได้ สิ่งที่เราทำอยู่มันดึงคนให้มาใกล้ชิดธรรมชาติ แล้วก็ใกล้ชิดกับงานหัตถกรรมได้ 

“อย่างงานเทศกาลคราฟต์ที่ฟลอเรนซ์ ทั้ง Gucci ทั้ง Ferragamo ก็มาจัดงานในย่านเมืองเก่า เราดูแล้วก็เปิดหูเปิดตาได้แนวคิด จากที่เคยเห็นแต่งานกาชาด งานเมืองทองฯ เราเห็นเลยว่าเขาจัดงานให้คนเมืองมีส่วนร่วม เอาร้านเล็ก ๆ เอาคนที่มีศักยภาพมาจัดเวิร์กชอปร่วมกัน มีอาหาร มีคลิป มีนิทาน มีหุ่นกระบอก ทุกอย่างเชื่อมโยงกันไปหมด เที่ยงคืนแล้วฝรั่งที่ฟลอเรนซ์ยังไม่นอน ยังนั่งกินข้าวกันอยู่เลย ผมก็รู้สึกว่า เออ แปลกดี อยากให้บ้านเมืองเรามีลักษณะเดียวกันบ้าง เมืองเล็กมันจัดการกันได้ง่าย คนเล็ก ๆ รวมกัน เชื่อมโยงกันได้ง่าย”

“สกลช่วงหน้าหนาวก็อากาศดี อย่างน้อยก็ได้สัก 5 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม-กุมภาพันธ์ นอกนั้นร้อนก็ไม่เป็นไร ค่อยหากิจกรรมอย่างอื่น เราก็จัดโซนต่าง ๆ ไว้ให้คนมาใช้ชีวิต มาเรียนรู้กันตลอดทั้งปี”

สวนแมนเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งอิสระและหมู่คณะ อย่างกลุ่มนักเรียนนักศึกษา กรุ๊ปทัวร์ท่องเที่ยว ไปจนถึงกลุ่มชาวต่างชาติอย่าง WCC (World Crafts Council) ที่มาศึกษาดูงานในเมืองไทย โดยทั้งหมดติดต่อนัดหมายไว้ก่อนเดินทางทั้งสิ้น เพื่อการจัดกิจกรรมที่สนุกสนานคล่องตัว

2. ในสวนศรี 

อาคารหลักของที่นี่คือศาลารับแขกทรงสิมอีสานที่ใช้ย้อมผ้าครามและ Eco Print เป็นหลักในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือทำกิจกรรมเวิร์กชอปอื่น ๆ ซึ่งต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น เพราะต้องใช้เวลาเตรียมวัตถุดิบจากธรรมชาติให้พร้อมและเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการย้อมเสื้อ ผ้าพันคอทอมือ หรือผ้าเช็ดหน้าทอมือ แมนเล่าว่าเขารับนักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรมย้อมครามพร้อม ๆ กันได้สูงสุดราว 30 คน เพราะหม้อครามที่เลี้ยงไว้ต้องใช้เวลาหมัก และให้สีได้จำกัดต่อหม้อ 

สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร
สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร
สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร

ส่วนพื้นที่ด้านข้างเป็นศาลาต้มย้อม คือพื้นที่ต้มเส้นฝ้ายแล้วย้อมสีสันโดยใช้ความร้อน นอกจากนี้ในช่วงหน้าหนาวหรือวันที่อากาศดี แมนก็จัดกิจกรรมกลางแจ้งตามสุมทุมพุ่มไม้ต่าง ๆ 

เดินลึกเข้ามาในสวนจะพบสระบัวแดง แมนตั้งใจทำกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับบัว เช่น ย้อมบัว โดยเอาใบ ก้าน และดอกมาย้อมสี ซึ่งจะได้เฉดต่างกันไปตามชนิดของบัว หรือทำอาหารที่เกี่ยวกับบัว 

บรรยากาศรอบสระสวยหวานน่าพายเรือเล่น และชวนให้นึกถึงภาพวาดอิมเพรสชันนิสม์ของ Monet เมื่อทักเจ้าตัว แมนยิ้มกว้างแล้วบอกว่าเขาชอบโมเนต์มาก จนปลูกต้นหลิวรอบสระไว้แล้ว แต่คงต้องรออีกหลายปีกว่าจะเติบใหญ่ให้รูปทรงแบบในจิตรกรรม เพิ่มความท้องถิ่นด้วยพุ่มพนมสวรรค์ที่เมื่อออกดอกจะแดงพรึ่บล้อมสระน้ำ 

สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร

“ผมชอบงานศิลปะ ชอบเพนต์ ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำงานผ้าด้วยซ้ำ Mann Craft เริ่มจากทำของตกแต่งบ้านและงานศิลปะ พอมาจับงานผ้าเต็มตัว เราก็คิดว่างานของเรามันเป็นงานศิลปะที่นุ่งห่มได้ เป็น Wearable Art ไม่ได้คิดว่าผ้าใช้แค่ห่มหรือสวมใส่เพื่อความอบอุ่น แต่มันคือศิลปะชิ้นหนึ่ง เพราะเราตั้งใจทำให้เป็นอย่างงั้น 

“ผมก็เลยคิดต่อว่าสวนมันน่าจะสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างให้แก่ศิลปิน ศิลปินบางท่านก็มีสวน สร้างสวนมาเพื่อใช้สร้างผลงาน เราอยู่กับสวน กับวัตถุดิบตลอด ได้เห็นการเติบโต เห็นแสงเห็นสี เห็นอะไรต่าง ๆ มันอาจจะทำให้เราพัฒนางานได้ ยิ่งเราชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการหรือสาขาเดียวกันมา แล้วเขาชวนคนอื่นมาต่อ มันอาจจะเห็นอะไรบางอย่างที่แปลกออกไป เป็นการพัฒนางานหัตถกรรมหรือศิลปะที่เขาทำอยู่ได้”

ทุกวันนี้แมนขลุกตัวอยู่ที่สวนทุกวัน โดยวันจันทร์-ศุกร์ เน้นพัฒนา ศึกษาทดลองงานสำหรับแบรนด์ Mann Craft และวันเสาร์-อาทิตย์ ทุ่มเทกับการจัดกิจกรรมสำหรับคนอื่น ๆ 

สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ
สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ

“ผมสนใจเรื่องสีกับเส้นใยโดยเฉพาะ ไม่ใช่เฉพาะสีย้อมนะ ผมอยากให้คนมาที่นี่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัตถุดิบ จากอะไรก็ตามที่เราปลูกอยู่ ให้เขาเห็นว่าพืชชนิดนี้ไม่ได้แค่ย้อมผ้าได้ อาจจะนำมาทำอาหาร ทำเป็นสีเพนต์วาดรูป ทำเป็นคอสเมติกอะไรต่าง ๆ ต่อยอดได้ ซึ่งเราก็จะทำกิจกรรมเวิร์กชอปเป็นช่วง ๆ ตลอดทั้งปี”

ลึกเข้าไปเป็นนาข้าวเล็ก ๆ ประมาณ 2 งาน แมนปลูกข้าวหอมมะลินิลเพื่อทำงานทดลองเกี่ยวกับข้าว เช่น ทำข้าวเป็นกระดาษ ใช้ย้อมสี หรือเอาซังข้าวมาเพาะเห็ด เมื่อข้าวสุกแล้วก็ชวนเพื่อนมาเกี่ยวร่วมกัน

เขาแบ่งระบบการปลูกพืชต่าง ๆ ตามแรงบันดาลใจหลายที่ โดยเฉพาะ Royal Botanic Gardens, Kew (สวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว) ที่ทำให้คนไปเที่ยวได้ความรู้ ไม่ใช่แค่เพลิดเพลินกับความสวยงาม ซึ่งในอนาคตจะมี QR Code ให้คนสแกนเพื่ออ่านข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของต้นไม้แต่ละชนิด และใช้โซนต้นไม้เป็นหลักแบ่งฐานกิจกรรม โดยทดลองเอาส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้มาสกัดสารพัดสี เช่น โซนคราม โซนฝ้าย โซนพืชตระกูลส้ม ฯลฯ 

3. เล่นแร่แปรธาตุ

“งานคราฟต์คือวิทยาศาสตร์ แล้วก็เรื่องของจิตวิญญาณภายใน การย้อมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ค่า pH กรด ด่าง อุณหภูมิ ระยะเวลา ทุกอย่างพิสูจน์ได้ แต่บางทีก็สัมพันธ์กับช่วงวัน เวลา ฤดูกาลด้วย มันท้าทายมาก ๆ ครับ ดังนั้นต้องมีการศึกษาวิจัย ผมชอบอ่านเปเปอร์วิจัยแล้วมาทดลองว่ามันใช่ไหม ผสมผสานไปเรื่อย ๆ ทำให้เราเรียนรู้ได้เร็ว เวลาผมสอนก็สอนแบบวิทยาศาสตร์ มีการตวงวัดเพื่อให้เขาเข้าใจได้ง่ายกว่าที่จะกะเอาเฉย ๆ”

แมนอธิบายขณะเดินพาชมสวน การวิจัยสีของที่นี่มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งชนิดและสายพันธุ์ของพืช ส่วนประกอบต่างๆ ของต้น ไปจนถึงฤดูกาล และตัวแปรในการย้อมสีอย่างมอร์แดนต์หรือสารช่วยย้อมเคมี โดยช่างย้อมทุกคนมีหน้าที่ทำสวน ปลูกสิ่งต่าง ๆ ในสวนแมนควบคู่ไปด้วย 

สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ
สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ

เริ่มจากสีเด่นของแบรนด์อย่างสีคราม สีแห่งท้องฟ้าละผืนน้ำที่สร้างความสงบ อุ่นใจ และใช้ได้ทุกฤดูกาล ในโซนคราม ต้นที่ปลูกในสวนแมนนับเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของที่ใช้ทั้งหมดเท่านั้น โดยจะใช้ผลิต Signature Collection อย่างเดียว โดยสกัดเป็นหมึกครามธรรมชาติหรือย้อมผ้าแบบพิเศษ เนื่องจากการปลูกครามและทำเนื้อครามมีกระบวนการมาก จึงใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่จากเครือข่ายเกษตรกร มีครามทั้ง 2 สายพันธุ์ คือครามฝักงอกับครามฝักตรง ซึ่งให้เฉดสีแทบไม่ต่างกัน

ครามฝักตรงหรือครามเตี้ยคืออินดิโกเฟรา ทิงโทเรีย (Indigofera Tinctoria) นิยมปลูกบนภูพาน มีความสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนครามตระกูล Indigofera suffruticosa คือครามฝักงอหรือครามใหญ่ เหมาะกับปลูกทั่วไป สูงได้ถึง 1.5 – 2 เมตร อายุยืน 3 – 5 ปี และเก็บเกี่ยวได้เรื่อย ๆ ทั้งทนน้ำท่วมและทนแล้ง 

นอกจากนี้เขายังปลูกพืชที่ให้สีอินดิโก้อื่นเพื่อการศึกษา ทั้งเบือกและห้อม เบือกเป็นไม้เลื้อยให้สีน้ำเงินอมเทา ขึ้นตามลำธาร เพราะชอบความชื้นและแดดรำไร พบได้ตามภาคใต้ไปจนถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย ใช้ย้อมสดได้ง่ายเพียงผสมน้ำหรือน้ำด่าง แต่เนื่องจากเลี้ยงยาก ต่างจากครามที่ชอบแดด ปลูกได้ทีละมาก ๆ จึงไม่นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรม

ส่วนห้อมเป็นพืชสีน้ำเงินประจำเมืองแพร่ เนื้อห้อมแพงกว่า เพราะว่าปลูกได้น้อยกว่ามาก และต้องใช้กระบวนการหมักนานกว่า ห้อมชอบที่ร่มชื้น จึงมักขึ้นภูมิประเทศหุบเขาอย่างเมืองเหนือ 

แมนบอกว่าปัจจุบันราคาเนื้อครามโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 80 – 150 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาเท่าเดิมตั้งแต่ที่เขาเริ่มทำครามเมื่อ 12 ปีที่แล้ว แต่ผู้ผลิตบางกลุ่มที่ผลิตแบบประณีต ก็อาจได้ราคาถึง 250 – 350 ต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้อห้อม ราคาอยู่ที่ 350 – 500 กว่าบาท ต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว

สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ
สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ

ต่อไปจะเป็นรายชื่อสารพัดสีพอสังเขปให้อ่านกันเพลิน ๆ 

ผลมะเกลือสดใช้ย้อมสีดำสีน้ำตาล แต่ใบสดเอามาย้อมได้โทนสีเขียวอมเทา

ใบฝ้าย ได้โทนสีน้ำตาลอ่อน ๆ แต่ถ้าผสมกับตัวแปรอย่างอื่นก็จะได้อีกโทนสี

อินทนิลน้ำ ต้นไม้ประจำจังหวัดสกลนคร ใบหมักโคลนแล้วย้อมได้สีเทา

ดอกดาวกระจาย ใช้ย้อมสีส้ม แทนการใช้แค่คำแสดหรือคำเงาะ 

ฝักคูน ให้โทนสีเปลือกไม้น้ำตาลกะปิ

ใบเพกา อีสานเรียกว่าใบลิ้นฟ้า ย้อมได้สีโทนเหลือง แต่ถ้าหมักโคลนได้สีเขียว 

ต้นสมอ ใบใช้ย้อมสีเหลือง แต่ที่อินเดียนิยมใช้ผลย้อมสีดำ โดยทั่วไปคนไทยนิยมใช้แก่นขนุนย้อมสีเหลือง แต่แมนไม่อยากปลูกไม้ใหญ่เพื่อตัดเอาแก่น เลยพยายามใช้ส่วนประกอบอื่นแทน แถมเจ้าใบสมอที่ให้สีเหลือง ถ้าเจอกับน้ำสนิม จะเกิดโทนดำ

ถัดมาเป็นกลุ่มสารผสมสี 

อ้อยดำ ปลูกไว้ใส่หม้อครามเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์น้ำตาล

มะขามเปรี้ยว ปลูกไว้ใช้ย้อมครั่ง เช่นเดียวกับพืชตระกูลส้ม มะนาว มะกรูด ไปจนถึงมะเฟือง ซึ่งใช้ช่วยย้อมและทำเครื่องดื่มด้วย

รอบ ๆ สวนยังปลูกกล้วย มะละกอ และบักต้องหรือกระท้อน เพื่อเอาผลมาเสิร์ฟคนมาเวิร์กชอป ให้เอร็ดอร่อย ตัวกระท้อนหมักเป็นน้ำส้มสายชูสำหรับการย้อมเหมือนกัน เพื่อให้เกิด Zero Waste ใช้สิ่งต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากวัตถุดิบจากพืช โคลนที่อยู่ในสระบัวมีสารสนิมตามธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบหมักเพื่อให้ได้สีย้อมตุ่น ๆ ส่วนน้ำด่าง ได้มาจากขี้เถ้าตาลและขี้เถ้ามะพร้าว เรียกได้ว่าทุกส่วนของสวนคือส่วนผสมของการสกัดสีจากธรรมชาติจริง ๆ 

สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ
สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ

4. อนาคตงานคราฟต์

แม้จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการเผยแพร่ความรู้เรื่องสีธรรมชาติ แมนยืนยันว่าเขาไม่ได้มีปัญหากับสีสังเคราะห์ ซึ่งบางทีอาจจะปลอดภัยกว่าธรรมชาติด้วยซ้ำถ้ามีการจัดการที่ดี 

“ถ้าเราไปในป่า ไปไปถากเปลือกไม้ขุดรากมาตามใจ แล้วเอามาใช้ย้อมสีเพื่อประโยชน์ของธุรกิจเรา มันทำลายธรรมชาตินะฮะ ต่างจากถ้าเราปลูกขึ้นเอง อย่างสวนแมน เรามีวัตถุดิบอะไรก็ใช้อันนั้น แล้วมันก็หมุนเวียนได้ ไม่ได้เป็นการเบียดเบียนธรรมชาติหรือว่าไปทำร้ายธรรมชาติ 

“การย้อมสีธรรมชาติต้องใช้มอร์แดนต์หรือสารช่วยย้อมเคมี ซึ่งถ้าเป็นคราม อาจจะต้องใช้ปูนมาช่วยให้ตกตะกอน เราต้องมีวิธีการบำบัดน้ำเสียให้เหมาะสม เช่น เราปล่อยลงนาข้าวเราได้ เพราะมันเหมาะสมกับสภาพน้ำ แต่ถ้าเราไปทิ้งตามพื้นที่ที่ไม่เหมาะ ก็ไปทำลายอีก”

สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ

แมนเชื่อว่าผู้บริโภคมีสิทธิ์รับรู้ว่าผ้าที่เขาซื้อนั้นย้อมครามธรรมชาติ ครามสังเคราะห์ หรือครามทั้งสองแบบผสมกัน เพราะแต่ละแบบมีตัวเลือกราคาต่างกันออกไป แต่ผู้ประกอบการควรสร้างมาตรฐานและชี้แจงให้ชัดเจน ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับทั้งฝ่ายทั้งผู้ผลิตแล้วก็ลูกค้า

“สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกับผู้บริโภค ให้คนทั่วไปรับรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่คืออะไร ทำไมมันยาก ทำไมมันต้องราคาเท่านี้ หรือว่าทำไมคุณภาพแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน ศูนย์ครามที่ ม.ราชภัฏสกลนคร มีข้อมูลกลุ่มผู้ผลิตย้อมครามไม่ต่ำกว่า 500 ราย สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ถ้าเข้าใจกันแล้ว ของมันจะไปได้เรื่อย ๆ ทั้งตลาด ที่สำคัญคือต้องไม่โจมตีกัน ถ้าครามเคมีก็บอกไปเลยว่าเคมี ลูกค้าเขาจะตัดสินใจเองว่าฉันชอบอะไร เหมือนเราซื้อผักอินทรีย์ เขาควรรู้ว่ามันเป็นผักออร์แกนิกจริงใช่ไหม หรือใช้เคมีแต่ปลอดภัยนะ บอกลูกค้าไป ลูกค้าเขาฉลาด เขาก็เลือกซื้อเลือกตัดสินใจเอง”

สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ
สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ

เมื่อถามถึงความเห็นเรื่องอนาคตของงานคราฟต์ไทย เจ้าของแบรนด์ Mann Craft ที่ยืนระยะมานานมองว่า แต่ละแบรนด์ต้องหาจุดยืนของตัวเองให้เจอ เช่น สกลนครที่เด่นเรื่องย้อมคราม อาจทำเทคนิคต่างกันอย่างมัดหมี่ไหมย้อมคราม เทคนิคยกมุกลายต่าง ๆ กัน โดยแต่ละแบรนด์ควรเคารพกัน และไปให้สุดในทางของแต่ละคน ส่วนตัวแมนเองก็จะลงลึกเรื่องงานทดลอง งานผสมผสานประยุกต์ไปเรื่อย ๆ เช่น ทดลองย้อมครามกับกระดาษแบบต่าง ๆ ไปจนถึงทำเฟอร์นิเจอร์ย้อมคราม 

“งานคราฟต์มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่ไปต่อได้เรื่อย ๆ คือเราทำครามแล้วก็ไม่ได้หยุดแค่ผ้า มันก็เริ่มมากระดาษ ได้ลองกับ Fab Cafe 3D Print มี Laser Cut มีอะไรต่าง ๆ ผมคิดว่าครามเป็นอมตะ มันเปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบของปัจจุบัน เราก็เลยมีอะไรให้เล่นเยอะฮะ”

“วงการงานคราฟต์ต่างประเทศเขาสนใจเรื่องวิชาการค่อนข้างมาก มีเสวนา มี Symposium เป็นทางการ หรือว่าทดลองกับวัสดุใหม่ ๆ อย่างบ้านเราทำฝ้ายปั่นมือทุกกระบวนการ แต่เขาจะมุ่งเน้นไปที่อย่างอื่นแล้ว อย่างเทคโนโลยี เครื่องจักรที่มาช่วยได้ หรือเอาครามมาทำเป็นสบู่ เป็นไอศกรีม หรือสีผสมอาหาร คือไม่ใช่แค่สีย้อมสำหรับเครื่องนุ่งห่มแล้ว เห็นแบบนี้ผมเลยอยากผลักดันให้คนเห็น คือเราอยากสร้างแนวคิด เราทำเองได้ไม่หมดหรอก เราทำที่เราทำได้ บางคนมาเห็นแล้วใครเก็บไอเดียไปก็ไปต่อยอดเอา” 

4. สกล – สากล

สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร
สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร

ปัจจุบันสวนแมนตั้งใจจัดกิจกรรมใหญ่ปีละ 3 ครั้งในแต่ละฤดูกาล จุดเด่นของพื้นที่สวนธรรมชาติ คือการมีวัตถุดิบพร้อมให้ใช้งานตลอดปี เก็บมาย้อมสีหรือทำกิจกรรมได้ตลอด

ในช่วงหน้าหนาว ช่วงวันหยุดรัฐธรรมนูญเดือนธันวาคมที่ดอกไม้ผลิบาน สวนแมนจะแขวนตุงไว้รอบ ๆ พร้อมชวนป้า ๆ แม่ ๆ ที่ทอผ้าเข็นฝ้ายให้มาทำกิจกรรม และเปิด Craft Market ลักษณะคล้าย ๆ งานแฟร์แบบสกลเฮ็ด แต่เนื่องจากมีผู้จัดงานเจ้าเดียว จึงอาจมีขนาดเล็กแต่บริหารได้คล่องตัวมากกว่า โดยแมนชวนเพื่อน ๆ ชุมชนชาวบ้านสกลนคร รวมถึงหน่วยงานมหาวิทยาลัยที่รู้จักกันมาเปิดร้านขายของ ตั้งแต่ผ้า งานศิลปะ เครื่องสาน เครื่องปั้น ร้านกาแฟดริป ร้านอาหาร เวิร์กชอปย้อมสีธรรมชาติแบบต่าง ๆ ไปจนถึงเสวนางานคราฟต์ที่ครั้งล่าสุดได้ กรกต อารมย์ดี ดีไซเนอร์ไม้ไผ่ส่งออกทั่วโลกจากเพชรบุรีมาบรรยาย 

ส่วนช่วงสงกรานต์เป็นฤดูร้อน Craft Market คล้ายคลึงกัน จะมาด้วยธีม Folk Craft สีสันสดใส แล้วฤดูฝนที่จัดกิจกรรมกลางแจ้งไม่ได้ แต่มีวัตถุดิบงอกงามแยะ แมนตั้งใจจะจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับอาหารตามฤดูทดแทน

“ผมว่าเราต้องรวมพลัง สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน และต่อผู้บริโภค เลยอยากให้ที่นี่เป็น Creative Crafts Center ให้ทุกคนมา งานคราฟต์ที่เราทำก็มีจุดมุ่งหมายที่ดี เราจัดทุกอย่างเป็นหมวดหมู่ แบ่งเป็นกลุ่มให้ความรู้คนไปต่อยอดเองได้ ผมชอบองค์ความรู้ และเราไม่ได้หวงเลย ถ้ามีเสวนาแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นบ่อย ๆ มันจะกระตุ้นความคิดทั้งคนทำงานเองแล้วก็ผู้บริโภค ดีไซเนอร์ นักสร้างสรรค์ทุกแขนงก็มาทดลองค้นคว้าได้ เด็ก ๆ ก็มาเรียนรู้ได้ แล้วก็เปิดให้คนมาขายของ ซึ่งผลลัพธ์ของการขาย ก็เป็นส่วนของแต่ละแบรนด์แล้วที่จะต้องจัดการของตัวเอง”

“เราได้รวมเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ทำงานสร้างสรรค์ พอแต่ละคนทำงานโดดเดี่ยวมันก็ไม่มีไฟ ไม่มีพลังนะ เพราะสกลไม่ใช่จังหวัดใหญ่ ในแง่ธุรกิจพอเจ้าเล็ก ๆ รวมตัวกันแล้วพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า แม่ ๆ ลงจากภูมาเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อมา Connect กัน น้องบางคนมาออกงานก็ทำอาหารหรือกาแฟเมนูใหม่ขึ้นมา มันทำให้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของเราสนุกขึ้น”

สวนแมน : Creative Crafts Center ศูนย์การเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติระดับสากลในสกลนคร

นอกจากนี้ปัจจุบันสวนแมนยังมี Sunday Market ตลาดเล็ก ๆ วันอาทิตย์ที่ทำให้ธุรกิจคราฟต์ขนาดย่อมและสวนคึกคักในวันหยุด 

คนที่มาเที่ยวสวนแมนมีทุกวัย ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า มาถึงวัยทำงาน วัยรุ่น โดยเฉพาะครอบครัวที่พาเด็ก ๆ มาวิ่งเล่นสนุก ตรงกับความตั้งใจของแมนที่อยากให้สวนแมนกลายเป็นที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัด และเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งภาคอีสาน เพื่อแสดงให้คนเห็นว่างานหัตถกรรมสร้างอาชีพที่มั่นคงเลี้ยงตนเองได้จริง 

ภายใน 3 – 4 ปี เมื่อผลหมากรากไม้ในสวนโตเต็มที่ แมนมองว่า Man Gardens น่าจะแสดงศักยภาพได้เต็มที่ มีเวลาจัดการระบบวิจัย ทดลอง รวมถึงจัดการของเสียหรือของเหลือใช้มาทำให้เกิดมูลค่าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และจัดกิจกรรมได้หลากหลาย อาจถึงขั้นเปิด Artist Residency 

“ที่นี่เป็น Creative Crafts Center ของสากล ไม่จำกัดเพศ วัย หรือเชื้อชาติ ไม่ใช่แค่ของสกล เพราะความเป็นสกลแท้จริงก็ไม่มี ความเป็นหลาย ๆ อย่างมันก็ไม่มี ทุกอย่างมันก็หลอมรวมกันอย่างที่เราทราบ ผมคิดว่าคราฟต์กับธรรมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิต หลายคนพูดว่าเราทำเพื่อชุมชน แต่พูดในเชิงเห็นแก่ตัวเลยนะ มันมาจากตัวเราเอง เราทำเพราะเราอยากจะทำ เรามีความสุขที่จะทำ แล้วพอเราโอเคกับสิ่งที่เราอยู่ที่เราทำ ไม่ได้กระเสือกกระสนทำสิ่งอื่นที่ฝืนความเป็นตัวเรา ฝืนชีวิตของเรา พอเราทำได้แล้วเราก็ทำให้คนอื่น แล้วก็ค่อย ๆ แบ่ง ค่อย ๆ ดึงเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยใจ เป็นการรวมตัวที่หนาแน่น แล้วก็มีชีวิตชีวา”

“พอเราเห็นคนแฮปปี้ คนมีรอยยิ้ม มันพอใจมากนะ บางคนมานั่งฟังเพลง Folk บางคนมานั่งพักชิลล์ ๆ เฉย ๆ นั่งเล่นกดมือถือ หรือว่านอนเฉย ๆ ก็ได้ ถ้าพื้นที่นี้ทำให้คนมารู้สึกสบาย ปลอดภัย แล้วก็มีความสุข แค่นั้นก็รู้สึกว่าใช่แล้ว ผมไม่หวงเลยนะถ้ามีคนเอาไอเดียประมาณนี้ไปทำในหลาย ๆ จังหวัด ผลสุดท้ายประโยชน์มันเกิดขึ้นกับผู้บริโภคเอง ยิ่งทำก็จะยิ่งเปลี่ยนทัศนคติของคนที่เสพงานคราฟต์ งานหัตถกรรม ง่าย ๆ ก็คือเป็นผลดีกับพวกเราทุกคนไป”

สวนแมน Man Gardens : Creative Crafts Center แห่งภาคอีสาน ก้าวใหญ่ของ Mann Craft ที่สร้างพื้นที่ให้คนสัมผัสงานคราฟต์และธรรมชาติ

สวนแมน Man Gardens

ที่ตั้ง : ถนนรพช. สน. 3137 (นาคำ-นาเวง) ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : วันศุกร์ – อาทิตย์ 10.00 – 16.00 น. 

โทรศัพท์ : 08 1055 6301

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/manncraftworkshop

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographers

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ

Avatar

จิราภรณ์ ล้อมหามงคล

ช่างภาพฟรีแลนซ์ตัวไม่เล็กจากแดนอีสาน ผู้ชื่นชอบในประวัติศาสตร์