ผมเรียกให้ผู้หญิงที่ผมรักแหงนมองนมเมฆ
เธอตาโต
เมื่อ 10 ปีก่อน พวกเราไปฟัง พี่ชิว (ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ) เลกเชอร์เรื่องเมฆชนิดต่างๆ ในงานมีตติ้งครั้งแรกๆ ของ ‘ชมรมคนรักมวลเมฆ’
ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ‘เมฆนม’ จึงกลายเป็นเมฆที่ติดหู ติดตา และติดใจพวกเรามากที่สุด และนับตั้งแต่วันนั้นมาเราสองคนโดยเฉพาะอาบัน ก็ตั้งปณิธานกันว่าสักวันจะต้องเห็นเมฆนมกับตาตัวเองให้ได้
เมฆนมมีชื่อภาษาอังกฤษว่าเมฆแมมมาตัส (Mammatus) หรือเรียกย่อๆ ว่าเมฆแมมม่า (Mamma) ซึ่งหากใครชอบสังเกตเรื่องรากศัพท์ก็จะพบความละม้ายคล้ายคลึงกับคำว่าแมมมอล (Mammal) ที่แปลว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแมมโมแกรม (Mammogram) ที่คุณผู้หญิงต้องไปรีดนมเพื่อตรวจมะเร็ง และคำว่า Mama หม่าม้า มอมมี่ แม่ และอื่นๆ อีกมากมายที่แปลว่าเจ้าของนมที่เด็กอยากดูด
ไม่แน่รากที่ลึกที่สุดจริงๆ ของศัพท์คำนี้ อาจจะมาจากเสียงของเด็กทารกที่ร้องแอ้ๆ อ้าๆ แล้วทำปากเปิดๆ ปิดๆ ไปด้วย จากนั้นเสียง มอ ม้า มันจะออกตามมาเองโดยธรรมชาติ กลายเป็น แม่ๆ มาม่า มอม ฯลฯ (แบบฝึกหัด : ให้นักเรียนทุกคนลองทำตามดู เริ่มจากส่งเสียง ออ อ่าง ก่อน แล้วอ้าปากหุบปากโดยไม่ต้องตั้งใจ เสียงมอม้าจะออกมาเอง)
นี่น่าจะเป็นเสียงที่สร้างง่ายที่สุด เป็นเสียงแรกแห่งชีวิตมนุษย์ ซึ่งมีไว้ดึงดูดความสนใจคนตัวใหญ่ๆ ให้เอานมมาเสียบปากหนูหน่อย หนูหิว สรุปแล้วคำว่า ‘แม่’ ก็คือคำที่เด็กเอาไว้ใช้เรียกคนมีนมนั่นเอง
ถามว่าทำไมเมฆถึงถูกตั้งชื่อตามนม ลักษณะของท้องฟ้าในยามปกคลุมด้วยเมฆแมมม่าจะเหมือนมีนมห้อยลงมาจากฟ้าเป็นร้อยๆ เต้า แต่ละเต้าเส้นผ่านศูนย์กลางเป็นกิโลเมตร นับเป็นนมที่ใหญ่และเยอะมาก ยิ่งครั้งที่ผมเห็นพร้อมอาบันวันนั้นเป็นเวลายามเย็น แสงอาทิตย์เริ่มสีสวย นมที่เห็นจึงเป็นนมเมฆสีทอง แลอร่าม
เราสองคนยืนดูมันด้วยกันจนเมื่อยคอ

ชายลามกคนแรกที่เห็นเมฆเป็นนมแล้วตั้งชื่อให้มันว่า Mammatus คือคุณ วิลเลียม เคลเมนต์ เลย์ (William Clement Ley) นักอุตุนิยมวิทยารุ่นแรกๆ ผู้ศึกษาเมฆและเขียนตำราชื่อ Cloudland ( ‘แดนเมฆ’ ตีพิมพ์ ค.ศ. 1894) ข้อสังเกตของเขาคือ ในขณะที่เมฆทั่วไปเวลาโตจะอวบฟูขึ้นบนในลักษณะที่เราชินตากัน เมฆแมมม่าเวลาโตจะอวบย้อยลงล่าง คล้ายว่ามีมวลอากาศเย็นบางอย่างดึงให้ท้องเมฆจมลงเป็นหย่อมๆ กลมๆ ซึ่งคุณวิลเลียมเขาเห็นเป็น ‘เต้าๆ’ จึงตั้งชื่อให้ตามนั้น

การเอานมไปตั้งชื่อสิ่งต่างๆ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เมฆ ไหนๆ วันนี้ก็พูดถึงนมแล้ว พูดเลยไปถึง ‘หัวนม’ ด้วยละกัน
หัวนมในภาษาชีวะใช้ศัพท์ว่าแมมมิลล่า (Mammilla) ซึ่งอาจคุ้นหูใครหลายคนที่ชอบเลี้ยงแคคตัส ในโลกของการเลี้ยงแคคตัสมีไม้อยู่กลุ่มหนึ่งชื่อว่าแมมมิลาเรีย (Mammillaria) เป็นที่นิยมมากทีเดียว คนไทยเรียกแคคตัสพวกนี้สั้นๆ ว่า ‘แมม’ แล้วก็ต่อท้ายด้วยขนนู่นขนนี่ เช่น แมมขนนก แมมขนแกะ แมมขนแมว อะไรก็ว่าไป ทุกๆ ชื่อล้วนสื่อไปในทางน่ารัก แต่คงมีน้อยคนมากที่จะนึกไปถึงขนหัวนม เหตุที่พืชชนิดนี้ได้สมยาหัวนมแต่แรก ก็เพราะหากแหวกขนของมันดูจะเห็นรูปแบบการเติบโตที่เป็นติ่งๆๆๆๆๆ ชูชันเรียงกันมากมาย เหมือนเอามือโดราเอมอนมาแปะหัวนมเข้าไปสัก 500 หัว

ชายลามกผู้รับผิดชอบการมองกระบองเพชรใสซื่อบริสุทธิ์ให้กลายเป็นกอหัวนม แล้วตั้งชื่อวิทย์ฐานให้มันจนคนเรียกขานต่อกันมาเป็นหลายร้อยปี ก็หาใช่ใครที่ไหน แต่คือคุณ คาร์ล ลินเนียส (Carl Linnaeus) ผู้ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งอนุกรมวิธานของโลกนั่นเอง
คาร์ล ลินเนียส ผู้นี้โด่งดังมากในวงการจัดจำแนกและตั้งชื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างเป็นระบบ ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ต้องประกอบด้วย 2 คำ อย่างเช่น Homo sapiens (มนุษย์) หรือ Felis catus (แมวเหมียว) ก็เป็นระบบที่เขาคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 และยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งถูกยืมไปใช้ในการจำแนกเมฆชนิดต่างๆ ด้วย ใครอยากเห็นหน้าตาของคุณลินเนียสให้ดูบนแบงก์ร้อยของสวีเดน จะเห็นแกอมยิ้มกรุ้มกริ่มอยู่ คุณลินเนียสภาคภูมิใจในความลามกของตัวเองมาก
จินตนาการของแกไม่ได้จำกัดอยู่แค่นมอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งมีชีวิตที่แกตั้งชื่อแนวอีโรติกให้มีตั้งแต่เห็ดสกุล Phallus แปลว่าเห็ดลึงค์ วงศ์กล้วยไม้ Orchidaceae ซึ่งรากศัพท์กรีก Orchid แปลว่าอัณฑะ และที่พีกสุดในความคิดผมคือ แกตั้งชื่อให้ดอกไม้ชนิดหนึ่งว่า Clitoria ternatea คำหลังไม่มีอะไรเป็นแค่ชื่อแหล่งที่ค้นพบ (เกาะเตอร์นาเต อินโดนีเซีย) แต่คำแรกนั้นแปลตรงตัวได้อย่างชัดเจนว่า ‘ดอกคลิตอริส’ ดอกไม้นี้ในเมืองไทยเป็นดอกที่พบได้ดื่นดาษมาก คือ ‘ดอกอัญชัน’ นั่นเอง เมื่อรู้ชื่อวิทยาศาสตร์ของมันแล้ว จงไปหารูปมาเพ่งพินิจพิจารณาดูอย่างถ้วนถี่อีกครั้ง แล้วคุณจะมองดอกอัญชันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ตะวันลับฟ้าไปแล้ว เมฆนมก็หายไปแล้ว
ผมมารู้ทีหลังว่า อาบันเข้าใจผิดมาตลอดว่าเมฆนี้ชื่อเมฆนมแมว เลยทำให้รู้สึกว่ามันน่าร้ากกก
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าอาบันรู้จักมันในนามเมฆนมเฉยๆ จะยังชอบมันเท่านี้หรือเปล่า
มนุษย์เราคือนักเชื่อมโยง
บางทีเชื่อมโยงแบบฟุ้งๆ แล้วก็จางหายไปเหมือนไอเมฆ
บางทีเชื่อมโยงแล้วก็หยดลงบนกระดาษ รอคอยให้คนอื่นเก็บไปโยงต่อ
เมฆยังมีนม แล้วทำไมผมจะมีคอลัมน์ไม่ได้
Special thanks to
พี่ชิว ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ – ผู้ชี้นำให้ผมรู้จักเมฆนมตั้งแต่แรก ตลอดจนจุดประกายให้ผมฉุกคิดเรื่องรากศัพท์ของคำว่า Mamma
พี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน – ผู้ให้เกียรติและตื๊อเก่งจนผมได้กลับมาเขียนคอลัมน์อีกรอบ
น้องมารีญา – ผู้เล่าให้ฟังเรื่องแบงก์สวีเดนมีรูปคุณลินเนียส ทำให้ฉุกคิดเรื่องแกขึ้นมา
ขอบคุณอาบัน – ที่อยู่ดูนมเมฆด้วยกัน
ขอบคุณตัวเอง – ที่เปิดใจลองกลับมาเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานเหลือเกิน