ผมเรียกให้ผู้หญิงที่ผมรักแหงนมองนมเมฆ 

เธอตาโต

เมื่อ 10 ปีก่อน พวกเราไปฟัง พี่ชิว (ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ) เลกเชอร์เรื่องเมฆชนิดต่างๆ ในงานมีตติ้งครั้งแรกๆ ของ ‘ชมรมคนรักมวลเมฆ

ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ‘เมฆนม’ จึงกลายเป็นเมฆที่ติดหู ติดตา และติดใจพวกเรามากที่สุด และนับตั้งแต่วันนั้นมาเราสองคนโดยเฉพาะอาบัน ก็ตั้งปณิธานกันว่าสักวันจะต้องเห็นเมฆนมกับตาตัวเองให้ได้

เมฆนมมีชื่อภาษาอังกฤษว่าเมฆแมมมาตัส (Mammatus) หรือเรียกย่อๆ ว่าเมฆแมมม่า (Mamma) ซึ่งหากใครชอบสังเกตเรื่องรากศัพท์ก็จะพบความละม้ายคล้ายคลึงกับคำว่าแมมมอล (Mammal) ที่แปลว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแมมโมแกรม (Mammogram) ที่คุณผู้หญิงต้องไปรีดนมเพื่อตรวจมะเร็ง และคำว่า Mama หม่าม้า มอมมี่ แม่ และอื่นๆ อีกมากมายที่แปลว่าเจ้าของนมที่เด็กอยากดูด

ไม่แน่รากที่ลึกที่สุดจริงๆ ของศัพท์คำนี้ อาจจะมาจากเสียงของเด็กทารกที่ร้องแอ้ๆ อ้าๆ แล้วทำปากเปิดๆ ปิดๆ ไปด้วย จากนั้นเสียง มอ ม้า มันจะออกตามมาเองโดยธรรมชาติ กลายเป็น แม่ๆ มาม่า มอม ฯลฯ (แบบฝึกหัด : ให้นักเรียนทุกคนลองทำตามดู เริ่มจากส่งเสียง ออ อ่าง ก่อน แล้วอ้าปากหุบปากโดยไม่ต้องตั้งใจ เสียงมอม้าจะออกมาเอง) 

นี่น่าจะเป็นเสียงที่สร้างง่ายที่สุด เป็นเสียงแรกแห่งชีวิตมนุษย์ ซึ่งมีไว้ดึงดูดความสนใจคนตัวใหญ่ๆ ให้เอานมมาเสียบปากหนูหน่อย หนูหิว สรุปแล้วคำว่า ‘แม่’ ก็คือคำที่เด็กเอาไว้ใช้เรียกคนมีนมนั่นเอง

ถามว่าทำไมเมฆถึงถูกตั้งชื่อตามนม ลักษณะของท้องฟ้าในยามปกคลุมด้วยเมฆแมมม่าจะเหมือนมีนมห้อยลงมาจากฟ้าเป็นร้อยๆ เต้า แต่ละเต้าเส้นผ่านศูนย์กลางเป็นกิโลเมตร นับเป็นนมที่ใหญ่และเยอะมาก ยิ่งครั้งที่ผมเห็นพร้อมอาบันวันนั้นเป็นเวลายามเย็น แสงอาทิตย์เริ่มสีสวย นมที่เห็นจึงเป็นนมเมฆสีทอง แลอร่าม

เราสองคนยืนดูมันด้วยกันจนเมื่อยคอ

เมฆนมสีทองที่อาบันกับผมยืนชมด้วยกันในยามเย็นวันหนึ่ง
เมฆนมสีทองที่อาบันกับผมยืนชมด้วยกันในยามเย็นวันหนึ่ง

ชายลามกคนแรกที่เห็นเมฆเป็นนมแล้วตั้งชื่อให้มันว่า Mammatus คือคุณ วิลเลียม เคลเมนต์ เลย์ (William Clement Ley) นักอุตุนิยมวิทยารุ่นแรกๆ ผู้ศึกษาเมฆและเขียนตำราชื่อ Cloudland ( ‘แดนเมฆ’ ตีพิมพ์ ค.ศ. 1894) ข้อสังเกตของเขาคือ ในขณะที่เมฆทั่วไปเวลาโตจะอวบฟูขึ้นบนในลักษณะที่เราชินตากัน เมฆแมมม่าเวลาโตจะอวบย้อยลงล่าง คล้ายว่ามีมวลอากาศเย็นบางอย่างดึงให้ท้องเมฆจมลงเป็นหย่อมๆ กลมๆ ซึ่งคุณวิลเลียมเขาเห็นเป็น ‘เต้าๆ’ จึงตั้งชื่อให้ตามนั้น

ชื่อและสัญลักษณ์เมฆแบบต่างๆ จากหนังสือ Cloudland ของคุณ William Clement Ley, 1894
ชื่อและสัญลักษณ์เมฆแบบต่างๆ จากหนังสือ Cloudland ของคุณ William Clement Ley, 1894

การเอานมไปตั้งชื่อสิ่งต่างๆ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เมฆ ไหนๆ วันนี้ก็พูดถึงนมแล้ว พูดเลยไปถึง ‘หัวนม’ ด้วยละกัน

หัวนมในภาษาชีวะใช้ศัพท์ว่าแมมมิลล่า (Mammilla) ซึ่งอาจคุ้นหูใครหลายคนที่ชอบเลี้ยงแคคตัส ในโลกของการเลี้ยงแคคตัสมีไม้อยู่กลุ่มหนึ่งชื่อว่าแมมมิลาเรีย (Mammillaria) เป็นที่นิยมมากทีเดียว คนไทยเรียกแคคตัสพวกนี้สั้นๆ ว่า ‘แมม’ แล้วก็ต่อท้ายด้วยขนนู่นขนนี่ เช่น แมมขนนก แมมขนแกะ แมมขนแมว อะไรก็ว่าไป ทุกๆ ชื่อล้วนสื่อไปในทางน่ารัก แต่คงมีน้อยคนมากที่จะนึกไปถึงขนหัวนม เหตุที่พืชชนิดนี้ได้สมยาหัวนมแต่แรก ก็เพราะหากแหวกขนของมันดูจะเห็นรูปแบบการเติบโตที่เป็นติ่งๆๆๆๆๆ ชูชันเรียงกันมากมาย เหมือนเอามือโดราเอมอนมาแปะหัวนมเข้าไปสัก 500 หัว

น้องแมมชนิดต่างๆ ที่บ้านผม มีทั้งแบบขนยาวขนสั้น อุยมาก อุยน้อย บ้างก็แตกเป็นกอหน้าตาเหมือนก้อนเมฆ
น้องแมมชนิดต่างๆ ที่บ้านผม มีทั้งแบบขนยาวขนสั้น อุยมาก อุยน้อย บ้างก็แตกเป็นกอหน้าตาเหมือนก้อนเมฆ

ชายลามกผู้รับผิดชอบการมองกระบองเพชรใสซื่อบริสุทธิ์ให้กลายเป็นกอหัวนม แล้วตั้งชื่อวิทย์ฐานให้มันจนคนเรียกขานต่อกันมาเป็นหลายร้อยปี ก็หาใช่ใครที่ไหน แต่คือคุณ คาร์ล ลินเนียส (Carl Linnaeus) ผู้ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งอนุกรมวิธานของโลกนั่นเอง

คาร์ล ลินเนียส ผู้นี้โด่งดังมากในวงการจัดจำแนกและตั้งชื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างเป็นระบบ ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ต้องประกอบด้วย 2 คำ อย่างเช่น Homo sapiens (มนุษย์) หรือ Felis catus (แมวเหมียว) ก็เป็นระบบที่เขาคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 และยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งถูกยืมไปใช้ในการจำแนกเมฆชนิดต่างๆ ด้วย ใครอยากเห็นหน้าตาของคุณลินเนียสให้ดูบนแบงก์ร้อยของสวีเดน จะเห็นแกอมยิ้มกรุ้มกริ่มอยู่ คุณลินเนียสภาคภูมิใจในความลามกของตัวเองมาก 

จินตนาการของแกไม่ได้จำกัดอยู่แค่นมอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งมีชีวิตที่แกตั้งชื่อแนวอีโรติกให้มีตั้งแต่เห็ดสกุล Phallus แปลว่าเห็ดลึงค์ วงศ์กล้วยไม้ Orchidaceae ซึ่งรากศัพท์กรีก Orchid แปลว่าอัณฑะ และที่พีกสุดในความคิดผมคือ แกตั้งชื่อให้ดอกไม้ชนิดหนึ่งว่า Clitoria ternatea คำหลังไม่มีอะไรเป็นแค่ชื่อแหล่งที่ค้นพบ (เกาะเตอร์นาเต อินโดนีเซีย) แต่คำแรกนั้นแปลตรงตัวได้อย่างชัดเจนว่า ‘ดอกคลิตอริส’ ดอกไม้นี้ในเมืองไทยเป็นดอกที่พบได้ดื่นดาษมาก คือ ‘ดอกอัญชัน’ นั่นเอง เมื่อรู้ชื่อวิทยาศาสตร์ของมันแล้ว จงไปหารูปมาเพ่งพินิจพิจารณาดูอย่างถ้วนถี่อีกครั้ง แล้วคุณจะมองดอกอัญชันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ดอกอัญชัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ Clitoria ternatea
ดอกอัญชัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ Clitoria ternatea

ตะวันลับฟ้าไปแล้ว เมฆนมก็หายไปแล้ว

ผมมารู้ทีหลังว่า อาบันเข้าใจผิดมาตลอดว่าเมฆนี้ชื่อเมฆนมแมว เลยทำให้รู้สึกว่ามันน่าร้ากกก

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าอาบันรู้จักมันในนามเมฆนมเฉยๆ จะยังชอบมันเท่านี้หรือเปล่า

มนุษย์เราคือนักเชื่อมโยง

บางทีเชื่อมโยงแบบฟุ้งๆ แล้วก็จางหายไปเหมือนไอเมฆ

บางทีเชื่อมโยงแล้วก็หยดลงบนกระดาษ รอคอยให้คนอื่นเก็บไปโยงต่อ

เมฆยังมีนม แล้วทำไมผมจะมีคอลัมน์ไม่ได้


Special thanks to

พี่ชิว ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ – ผู้ชี้นำให้ผมรู้จักเมฆนมตั้งแต่แรก ตลอดจนจุดประกายให้ผมฉุกคิดเรื่องรากศัพท์ของคำว่า Mamma

พี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน – ผู้ให้เกียรติและตื๊อเก่งจนผมได้กลับมาเขียนคอลัมน์อีกรอบ

น้องมารีญา – ผู้เล่าให้ฟังเรื่องแบงก์สวีเดนมีรูปคุณลินเนียส ทำให้ฉุกคิดเรื่องแกขึ้นมา

ขอบคุณอาบัน – ที่อยู่ดูนมเมฆด้วยกัน

ขอบคุณตัวเอง – ที่เปิดใจลองกลับมาเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานเหลือเกิน

Writer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast