เรายังอึ้งอยู่หลังจากที่เจ้าหน้าที่สถานีบอกว่ารถไฟดีเลย์หลายชั่วโมง คืนเงินให้เรา และให้เราหารถไปเอง ไม่มีบริการขนถ่ายใดๆ สภาพเราตอนนี้เหมือนคนเลิกกับแฟนแล้วขนของออกจากบ้านมาก กระเป๋าลาก 1 ใบ กระเป๋ากล้องอีก 1 ใบ เป้สะพายหลังอีก 1 ใบ พร้อมถุง KFC อีก 1 ถุง คือสัมภาระที่ลดสมรรถนะในการเดินกลางแดดบ่ายของเดือนเมษายนได้เป็นอย่างดี
ตอนนั้นมืดแปดด้านมาก จากนักท่องเที่ยวที่มีแผนการครบ กลายเป็นคนอ้างว้างกลางดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดตัวเอง ซวยมากกว่านั้นคือคนแถวๆ นี้ก็ดันพูดภาษาอังกฤษกันไม่ค่อยได้อีก
คนเดียวที่จะช่วยเราได้ตอนนี้คือ ‘พี่บอล’ เพื่อนรุ่นพี่ที่ชอบรถไฟมาเลเซียและรถไฟไทย เขาต้องช่วยเราได้แน่ๆ ว่าปั๊บก็คอลไปหาทันที
ปลายสายเอ่ยคำว่า สมน้ำหน้า ออกมาเป็นการต้อนรับ หลังจากเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟังแรมในหัวพี่บอลก็ประมวลอย่างไวว่องได้ความว่า ที่เกอมัสมีรถบัสอยู่ แต่ราคาแพงมาก จะเช็กเมืองใกล้ๆ ให้ ลองเดินถามใครไปก่อน น่าจะช่วยได้ ขอบคุณสวรรค์ที่ยังพอทำอะไรได้อยู่
ระหว่างนั้นสายตาไปเห็นคน 2 คนเดินตามมา ผู้ชายตัวใหญ่ๆ คนหนึ่งและหญิงวัยกลางคนค่อนไปทางวัยทองคนหนึ่ง ซึ่งระลึกชาติได้ว่าเขาคือคนที่เดินตัดหน้าลงรถไฟมาก่อนหน้าเรานี่นา เอาล่ะ เจอคนที่ต้องลงเรือลำเดียวกันแล้ว
ลืมความโกรธที่เขาตัดหน้าเราลงรถไฟจนเกือบชนไปก่อน รีบเข้าไปคุยกับเขาทันทีและได้ความว่าจะไปสิงคโปร์ คืนตั๋วไปเรียบร้อยเหมือนกัน และกำลังจะเดินไปที่ที่น่าจะเป็นป้ายรถเมล์ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่สถานี เรา 3 คนตัดสินใจเดินคลำทางไปทางเดียวกันจนพบสถานที่หนึ่งซึ่งมองเห็นปราดเดียวก็รู้ว่านี่คือท่ารถเมล์แน่นอน
แต่…ไม่มีรถสักคัน ในป้ายมีสิ่งมีชีวิตที่เป็นหญิงวัยกลางคนนั่งอยู่ เราขอเรียกป้าคนนี้ว่า ‘ป้าอินเดีย’ ซึ่งอนุมานได้จากส่าหรีที่เธอใส่
เดชะบุญ ป้าอินเดียพูดภาษาอังกฤษได้ดีระดับเทพ
ป้าอินเดียบอกว่า รถไปยะโฮร์ไม่รู้ว่าจะมีไหม แต่เดี๋ยวจะพาไปที่ขายตั๋ว ว่าแล้วป้าก็สะบัดส่าหรีเดินนำไปโดยไว ป้าอินเดียเดินนำไปเรื่อยๆ บนเส้นทางที่คุ้นตาพิลึก
ใช่ครับ วนกลับมาที่เดิมตรงหน้าสถานีรถไฟนั่นเอง ตรงนี้เป็นตึกแถวเก่าๆ ข้างปั๊มมีผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ที่หน้าเคาน์เตอร์ขายตั๋วรถเมล์แต่เธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ป้าอินเดียจึงพูดคุยกับสาวขายตั๋วได้ความว่าที่นี่ไม่มีรถไปยะโฮร์ เราและแม่ลูกชาวมาเลย์จะต้องหารถบัสไปเมืองเซอกามัต (Segamat) ซึ่งห่างจากที่นี่ไป 1 ชั่วโมง ที่นั่นมีสถานีรถบัสอยู่หลายสาย ประจวบเหมาะพอดีที่พี่บอลโทรกลับมาบอกว่า รถเที่ยวสุดท้ายจะออกจาก เซอกามัตเวลา 1 ทุ่ม แต่รอบที่จะทันข้ามไปสิงคโปร์ด้วยรถไฟต้องเป็นรอบ 6 โมงเท่านั้น และตอนนี้นาฬิกาข้อมือของเราบอกเวลา 4 โมง 45 นาที…ว่าแต่จะไปเซอกามัตยังไง
เหมือนไม่รอคำตอบ รถบัสสีเหลืองแดงคล้ายรถเวียนในธรรมศาสตร์รังสิตก็มาจอดสนิทอยู่ตรงหน้าแบบงงๆ พร้อมป้ายหน้ารถที่เขียนภาษาอังกฤษว่า ‘Segamat’
อยากส่งเสียงกรีดร้องด้วยความดีใจออกมามาก ณ จุดจุดนี้เรารอดตายแล้ว
ป้าอินเดียบอกให้คนซวย 2018 ทั้งสามขึ้นรถคันนี้โดยด่วนก่อนที่จะตกรถบัสซ้ำซ้อนซ้ำซาก นี่อยากจะก้มลงกราบงามๆ 1 ครั้งไม่แบมือ อยากจารึกป้าไว้ใน Hall of Fame ของชีวิตจริงๆ
รางไปรถ
17.40 น. ตามเวลาท้องถิ่นมาเลเซีย
รถเมล์วิ่งปุเลงๆ เลียบทางรถไฟไปเรื่อยๆ อย่างเย็นใจราวกับ 3 คนบนรถไม่มีความรีบใดๆ ระหว่างทางคือชนบทจริงๆ ถนนสายหลักสองเลนสายนี้วิ่งผ่านสวนของชาวบ้าน นานๆ ทีจะมีหมู่บ้านใหญ่ๆ โผล่มาให้เห็นเป็นระยะๆ แสงแดดเริ่มเป็นสีทอง กระวนกระวายไปตอนนี้คงไม่ช่วยอะไร ไอ้ครั้นจะไปบอกลุงคนขับให้เหยียบมากกว่านี้ได้ไหม ก็กลัวลุงจะโมโหลุกให้มาขับเอง ซึ่งก็ขับไม่เป็น เลยแก้เซ็งโดยการหยิบ KFC ที่ซื้อมาจากเกอมัสยัดเข้าปากไปด้วย เพราะวิเคราะห์แล้วว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พึงทำได้ในตอนนี้
นอกจากรถไฟหวานเย็นก็มีรถเมล์ท้องถิ่นนี่แหละที่หวานเย็นสุดๆ ระหว่างทางลุงคนขับก็จอดไปเรื่อยๆ มีคนขึ้นบ้างลงบ้างสลับกันไป แม่ลูกชาวมาเลย์ที่ยอมตกลงปลงใจไปต่อรถบัสด้วยก็แยกกันนั่ง ดูคุณแม่ชิลล์เหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นแค่ฝันไป ส่วนคุณลูกนั้นนั่งเกร็งเหงื่อกาฬแตกซ่าน ซึ่งไม่รู้ว่ากำลังลุ้นว่าจะไม่ทันรถหรือว่าปวดท้องหนัก
บ้านเรือนเริ่มหนาตาขึ้น Google Maps บอกว่า นี่แหละเซอกามัต
เมืองนี้ถือว่าใหญ่กว่าเกอมัสเยอะ สถานีรถไฟเซอกามัตอยู่ตรงข้ามกับท่ารถบัส (aka บขส.) แค่ไม่กี่สิบก้าว เรามองสถานีรถไฟอย่างตาละห้อย ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะต้องอดนั่งทางรถไฟช่วงนี้จริงๆ ความรู้สึกโกรธระคนเสียใจผสมผิดหวังนิดๆ ก่อให้เกิดน้ำน้อยๆ คลอที่เบ้าตา
หยุดดราม่า! เอาตัวให้รอดก่อน นี่ไม่ใช่เวลาเสียใจ รีบไปซื้อตั๋วเดี๋ยวก็ไม่ทันด่านวู้ดแลนด์ส (Woodlands) ปิดหรอก!
แต้มบุญยังสูงอยู่ รถรอบ 6 โมงเย็นเหลือที่นั่ง 3 ที่สุดท้ายพอดิบพอดี 3 ชีวิตรู้สึกกระดี๊กระด๊าจนออกนอกหน้า ความเพลียบวกกับพลังงานที่ค่อยๆ หมดไปทำให้เราผล็อยหลับไปแทบจะทันทีที่อยู่บนรถบัส ซึ่งตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นแรงเหวี่ยงหรือไฟหน้ารถที่สวนบนท้องถนนก็ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว
เวลาล่วงเลยมาประมาณ 3 ชั่วโมง เราไล่สายตาไปบน Google Maps พบว่าสถานีขนส่งปลายทางของรถบัสคันนี้อยู่ห่างจากสถานี JB Sentral ราวๆ 7 กม. เมื่อลงจากรถแล้วภารกิจแรกคือวิ่งและวิ่งไปหารถบัสต่อไปสถานีรถไฟให้เร็วที่สุด หรือถ้าไม่คิดอะไรมาก Grab ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี
รถบัสจอดสนิทที่สถานีขนส่ง เราเช็กตารางรถไฟแล้วรู้สึกโล่งสุดๆ ทันรถไฟขบวนสุดท้ายแน่นอน พอลงจากรถปั๊บร่ำลาสองแม่ลูกที่ลงเรือลำเดียวกันมาตั้งแต่เกอมัสก่อนจะวิ่ง 4×100 ไปเรียก Grab ที่ด้านหน้าขนส่ง ความดีงามอีกอย่างหนึ่งของมาเลเซียคือไม่ต้องมาแอ๊บเป็นญาติกับ Grab แบบประเทศไทย อยากจะเรียกต่อหน้าแท็กซี่ก็เรียกได้เลย
ชั่วอึดใจ Grab ก็มาถึง คนขับดูอายุน้อยกว่าเราเสียอีก สิ่งแรกที่บอกเมื่อขึ้นรถเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก
“JB Sentral Station, hurry up PLEASE”
สิ้นเสียง Please พ่อหนุ่มคนขับเหมือนจะเดาใจออกว่าต้องการอะไร Grab พุ่งออกจากขนส่งยิ่งกว่า Fast & Furious รถเมล์สาย 8 ยังต้องอาย พ่อหนุ่มคนขับถามไถ่ว่าทำไมรีบนัก เราก็เล่าสิ เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่รถไฟเทจนมาเจอนายนี่แหละ เขาหัวเราะลั่นแล้วบอกกลับมาว่า “คุณ ใครเขานั่งรถไฟมายะโฮร์กันเล่า”
อ้าว นี่ฉันแปลกหรอ
สถานีรถไฟ JB Sentral สถานีสุดท้ายของประเทศมาเลเซีย
การวิ่งยังไม่จบ เมื่อ Grab มาถึงปุ๊บก็โกยอ้าวปั๊บ เหลือเวลาอีก 30 นาทีรถไฟจะออก เราต้องวิ่งขึ้นบันไดไปชั้นสองเพื่อไปซื้อตั๋วรถไฟซึ่งช่องขายตั๋วกำลังจะปิด ตั๋วรถไฟข้ามไปสิงคโปร์นั้นราคาเพียง 5 ริงกิต ในขณะที่ฝั่งย้อนมาจากสิงคโปร์กลับมาเลเซียสนนราคาไปถึง 5 ดอลลาร์ฯ
ขั้นตอนต่อไปที่ต้องทำคือการลงไปทำพิธีผ่านแดนที่ ตม. ฝั่งมาเลเซีย ด้านล่างมีการแยกแถวสำหรับชาวมาเลเซีย ชาวสิงคโปร์ และชาวต่างชาติ ชั่วเวลาไม่ถึง 10 นาที เราก็ตรวจพาสปอร์ตผ่านออกจากมาเลเซียเรียบร้อย ทางเดินหลังจุดตรวจพาสปอร์ตคือทางที่พาไปหารถไฟที่จอดรออยู่เรียบร้อยแล้ว
รถไฟข้ามเกาะ
รถไฟขบวนนี้มีความยาว 5 ตู้ มีหัวรถจักรประกบด้านหัวและท้ายเพื่อใช้ลากไปลากกลับได้เลยโดยไม่ต้องสับเปลี่ยนที่สถานีทั้งสองฝั่ง เรารีบเข้าไปที่ตู้ติดกับรถจักรที่เห็นมาแต่ไกลด้วยประสบการณ์ว่าเป็นรถนั่งชั้นหนึ่งที่นั่งกว้างและเหยียดขาได้เต็มที่ ตอนนี้รู้สึกโล่งใจสุดๆ ผ่อนคลายสุดๆ อย่างน้อยก็ได้นั่งรถไฟส่วนสุดท้ายข้ามไปสิงคโปร์
รถไฟค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากสถานี JB Sentral วิ่งผ่านความมืดไปบรรจบกับถนนข้ามไปเกาะสิงคโปร์ซึ่งรถไฟและถนนใช้สะพานเดียวกัน การข้ามช่องแคบยะโฮร์ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีเท่านั้น ยังไม่ทันได้หายหอบรถไฟก็มาจอดที่สถานี Woodlands Train Checkpoint หรือ Woodlands CIQ สถานีสุดท้ายจริงๆ ของการเดินทางทริปนี้ และเป็นสถานีสุดท้ายของทางรถไฟในอาเซียนแผ่นดินใหญ่ที่ทอดยาวมาตั้งแต่เชียงใหม่และเวียงจันทน์
คนบนรถรีบลงกันมาอย่างรวดเร็ว เป็นจังหวะเดียวกับที่รถจักรดับเครื่องพักผ่อนเพื่อรอทำงานอีกครั้งในวันถัดไป เจ้าหน้าที่ ตม. กวาดคนเข้าไปในห้องตรวจพาสปอร์ต เราได้ยินกิตติศัพท์ของ ตม. วู้ดแลนด์สว่าโหดยิ่งนัก ใครที่มาด้วยรถไฟแล้วตอบคำถามไม่ได้เป็นอันต้องถูกส่งเข้าห้องมืดกันเสียง่ายๆ
เราต่อคิวเป็นคนท้ายๆ และในที่สุดก็ถึงคิวเรา
สถานีรถไฟวู้ดแลนด์ส (Woodlands Train Checkpoint) สถานีรถไฟเดียวในสิงคโปร์
“สวัสดีตอนเย็นครับ” เราขอเปิดการทักทายก่อนเลย เพื่อแสดงว่าฉันมาอย่างมิตรนะ
“สวัสดีตอนเย็นครับ” ตม. ตอบเรียบๆ พร้อมมองหน้าเราสลับกับพาสปอร์ต “มาสิงคโปร์ทำไมครับ”
“มาเที่ยวครับ 2 วัน กลับวันที่ 16”
“ผ่านมาหลายประเทศนะครับ ไปทำอะไรมา”
“มาเที่ยวครับ นั่งรถไฟมาจากเวียงจันทน์ครับ”
“เพิ่งมาครั้งแรกหรือ แล้วทำไมไม่นั่งเครื่องบินมา จองโรงแรมไว้หรือยัง ไหนมีใบจองไหม” ตม. หนุ่มถามอีกครั้งเมื่อพลิกหน้าพาสปอร์ตแล้วไม่พบการลงตราเข้าสิงคโปร์
เราส่งเอกสารการจองทุกอย่างให้เขาดู เขาก็พินิจพิจารณาสลับกับมองพาสปอร์ตเราไปด้วย
“มีเงินมาเท่าไหร่”
“150 ดอลลาร์ฯ ครับ แล้วก็มีเงินบาทไทยกับเงินริงกิตมาเลย์อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้ขากลับ”
อยู่ๆ บรรยากาศก็มาคุขึ้นมาเสียอย่างนั้น
“150 ดอลลาร์ฯ อยู่ 2 วันพอหรือ แน่ใจนะว่าจะอยู่ในสิงคโปร์ด้วยเงินแค่นี้พอ”
อยู่ๆ ตม. คนที่ 2 ก็เข้ามาถามว่าประเทศอะไร พ่อหนุ่มที่กำลังสอบสวนผมก็บอกว่า ไทยแลนด์ และดูท่ากำลังจะเตรียมตัวพาเราไปไหนสักที่
ให้ตายเถอะ นี่นั่งรถไฟมาจากเวียงจันทน์เพื่อมาสิงคโปร์ ก็จะไม่ให้เข้าประเทศด้วยเหตุผลที่มีเงินแค่ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์เนี่ยนะ
อยู่ๆ เราก็นึกได้ กลัวเราไม่กลับประเทศนักใช่ไหม ได้! ต้องใช้ไม้สุดท้าย
“เดี๋ยวคุณ ผมมีตั๋วรถไฟขากลับเอามายืนยันว่าผมอยู่แค่ 2 วันตามแผนที่ผมบอกคุณ”
พ่อหนุ่ม ตม. 2 คนหันขวับมามองเราเรียงตั๋วรถไฟที่หยิบจากกระเป๋าเป้ทีละใบ ทีละใบ จนเต็มเคาน์เตอร์
“นี่ตั๋วจากลาวมาไทย อันนี้ตั๋วจากไทยไปมาเลย์ อันนี้ตั๋วมา KL มาที่นี่ และนี่ตั๋วจาก JB Sentral ไปตุมปัต (Tumpat) และนี่คือตั๋วจากชายแดนไทยกลับกรุงเทพฯ เรียงตามลำดับทั้งหมด แค่นี้พอไหมครับ”
ตม. คนแรกหยิบตั๋วไปดู พร้อมเอานิ้วไล่ไปตามวันที่บนตั๋ว
ไฟในห้อง ตม. ค่อยๆ ดับทีละดวง ใช่ครับ เราเป็นคนสุดท้ายของค่ำคืนนี้ที่ไม่รู้ว่าจะได้เข้าประเทศหรือไม่ แม้จะมีไม้ตายไพ่ใบสุดท้ายคือตั๋วรถไฟเป็นฟ่อนเลยก็ตาม
เกิดความเงียบขึ้นประมาณ 1 นาที ก่อนจะถูกทำลายด้วยเสียงของพ่อหนุ่ม ตม. คนเดิม
“Welcome to Singapore”
Inbound
23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสิงคโปร์
ชายหนุ่มผู้ผ่านมาแล้ว 3 ประเทศหอบสังขารพร้อมสัมภาระที่เหลืออยู่ 3 ใบเข้ามาเหยียบประเทศที่ 4 โดยสมบูรณ์แบบ การเดินทางจากเวียงจันทน์ยันสิงคโปร์ (เกือบ) สมบูรณ์แล้ว ติดอยู่แค่ต้องเปลี่ยนจากรางมาเป็นรถกับระยะทาง 200 กิโลเมตรสุดท้าย แถมถึงที่หมายล่าช้าไป 3 ชั่วโมง สภาพตอนนี้น่าเวทนายิ่งนักเพราะยังไม่ถึงที่พัก แถมเหลือระยะทางอีกหลายกิโลเมตรกว่าจะไปถึง MRT Chinatown
ตอนนี้เราอยู่บนสุดของแผนที่ประเทศสิงคโปร์ จุดหมายคือเกือบใต้สุดของประเทศสิงคโปร์
และเหลือเวลาอีกเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้นก่อนที่รถไฟฟ้า MRT จะหมด
การวิเคราะห์เส้นทางเกิดขึ้นบนรถเมล์จากสถานี Woodlands CIQ ไปที่สถานี MRT Woodlands ซึ่งเจ้าสองสถานีที่ชื่อเหมือนกันดันอยู่คนละที่กัน นี่ก็ไม่ทราบว่าใช้ไทยแลนด์โมเดลในการตั้งชื่อหรือเปล่า ทำให้นึกถึงสถานีรถไฟมักกะสันกับ Airport Rail Link มักกะสันที่อยู่ห่างกันเกือบ 2 กิโลเมตร ซึ่งแท็กซี่มักจะพาเราไปผิดเสมอ จนถึงขนาดที่ต้องบอกว่า “สถานีรถไฟปู๊นๆ นะพี่ไม่ใช่รถไฟฟ้า”
สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์เดินทางสะดวกและไร้รอยต่อคือบัตร Ezy Link บัตรเดียวใช้งานได้หมดทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ เพียงแค่เราแตะบัตรทุกอย่างก็ง่ายดายโดยไม่ต้องควักเหรียญขึ้นมาจ่ายค่าโดยสาร
รถเมล์วิ่งปรู๊ดเดียวก็มาถึงสถานี MRT Woodlands สายสีแดง เราต้องนั่งต่อไปลงที่สถานีโดบี้ก็อธ (Dhoby Ghaut) และต่อสายสีม่วงไปสถานีไชน่าทาวน์ สิริรวมน่าจะทันขบวนรถเที่ยวสุดท้ายของสายสีม่วงที่นั่นพอดี (ถ้าคำนวณไม่ผิดนะ)
MRT ของสิงคโปร์มีจำนวนตู้ที่ยาวกว่าของไทย และขับปรู๊ดปร๊าดกระชากพอๆ กับ BTS นี่โชคดีที่ส่งอีเมลบอกโฮสเทลก่อนแล้วว่าเราจะไปถึงสาย จึงไม่ต้องกังวลว่าเขาจะตัดบัญชีรายชื่อของเราออกจากที่พัก แต่ขอเรียนตามตรงว่าใจเรากระวนกระวายมากที่ยังไม่ถึงสถานีโดบี้ก็อธเลย ในขณะที่เวลาใกล้เหยียบเที่ยงคืนไปทุกที
MRT สายสีแดงมาจอดที่สถานีโดบี้ก็อธในอีก 10 นาทีจะเที่ยงคืน วินาทีที่ประตูเปิดเราวิ่งหน้าตั้งไปตามลูกศรที่นำทางไปหาชานชาลาสายสีม่วง แต่คุณครับ สถานีนี้ช่างใหญ่โตยิ่งนัก ใหญ่พอๆ กับห้างห้างหนึ่งที่อยู่ใต้ดิน วิ่งเท่าไหร่ก็ไม่ถึงที่หมายสักที จนกระทั่งเห็นบันไดเลื่อนที่เหมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์พุ่งตรงไปถึงชานชาลา บทคนจะรีบบันไดเลื่อนที่ว่าเร็วก็ยังช้า เมื่อถึงชานชาลาปั๊บเราก็ไปยืนรอฝั่งที่จะวิ่งไปไชน่าทาวน์ปุ๊บ
10 นาทีผ่านไปยังไม่มีวี่แววของ MRT สายสีม่วงเข้ามาจอด ในใจตอนนั้นยังมองโลกในแง่ดีว่าดึกแล้ว Headway คงจะห่างน่ะ ไม่มีอะไร แกอะคิดมาก
แต่แล้วก็เหมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ดับวูบไปทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่สถานีมาสะกิดบอกว่า ฝั่งที่เธอยืนน่ะ “รถหมดแล้ว ออกจากสถานีด้วยครับ”
เอาเลยจ้า ซวยให้สุดแล้วหยุดที่ตกรถไฟ
วันที่ 13 เมษายน 2561 00.10 น. ตามเวลาท้องถิ่นสิงคโปร์
สังขาร ณ ตอนนั้นคือนอกจากง่วงมากยังหงุดหงิดมาก เพราะไม่รู้ว่าจะไปไชน่าทาวน์ยังไง รถเมล์ก็ไม่รู้สายไหน สิ่งเดียวที่พึ่งได้คือแท็กซี่ ก็โบกซะเลยก่อนที่จะดึกไปมากกว่านี้
แท็กซี่ที่จอดรับมีคุณลุงชาวจีนแก่ๆ เป็นคนขับ
ระหว่างทางลุงก็ถามไถ่ว่า มาจากไหน มาครั้งที่เท่าไหร่แล้ว จะไปเที่ยวไหนบ้าง ทำไมมาดึกจัง อ้าว ทำไมไม่มาเครื่องบิน มีที่ที่อยากไปแล้วหรือยัง แนะนำให้ไหม
นี่น่าจะเป็นคนสิงคโปร์คนแรกหลังจากเหยียบประเทศที่ทำให้เราไม่รู้สึกขวัญเสีย ลุงแนะนำร้านอาหารอร่อยๆ ตรงย่านไชน่าทาวน์ แล้วก็บอกให้เราไปคลาร์กคีย์ (Clark Quay) ช่วงเย็นๆ เพื่อรับลม (ซึ่งนั่นแทบจะอยู่นอกแผนทั้งหมดเลยก็ว่าได้) เมื่อถึง MRT ไชน่าทาวน์เราก็ขอลงปากซอยโฮสเทลพร้อมจะควักเงินจ่าย
“เท่าไหร่ครับ” ลุงขยับตัวให้เห็นมิเตอร์ค่าโดยสาร
‘9 SGD’
9 ดอลลาร์ฯ…อื้อหือ จากจะหลับนี่ตื่นเลย นั่งแท็กซี่มาแค่ 3 สี่แยก โดนไป 9 ดอลลาร์ฯ ลืมไปเลยว่าเกินเที่ยงคืนจะชาร์จอีก 50 เปอร์เซ็นต์แน่ะ
อย่าเครียด บอกตัวเองไว้ ข้างหน้าตอนนี้คือที่พักคืนนี้ของเราแล้ว ประตูกระจกถูกปิดล็อกไว้ ต้องกดกริ่งเรียกพนักงานแทน เรากดปุ่มไม่นานนักพนักงานโฮสเทลก็ลงมารับในชุดพร้อมนอน แล้วพาเราไปเช็กอิน
เราขอโทษขอโพยเขาที่ทำให้ต้องลำบาก ระหว่างเช็กอินก็ระบายชะตากรรมที่เผชิญวันนี้ให้เขาฟัง ซึ่งพ่อหนุ่มสิงคโปร์คนนี้ก็สนใจที่จะฟังเป็นอย่างมาก เขาคงอยากรู้แหละว่าทำไมเราถึงมาช้าได้ขนาดนี้ เมื่อเช็กอินเรียบร้อยเขาก็บอกทางไปห้องพัก บอกที่อาบน้ำ ที่กินข้าว ก่อนจะแยกย้ายเขาก็เอ่ยกับเราสั้นๆ
Welcome to Singapore la.