เราเชื่อว่าหลายคนคงเคยตกหลุมรักความธรรมดาของกลิ่นกระดาษ
แต่ถ้ากระดาษธรรมดาถูกออกแบบเป็นพิเศษด้วยรูปทรงดอกไม้อ่อนช้อย แถมมีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยอันเป็นเอกลักษณ์ ช่วยบำบัดความเครียดและผ่อนคลายสบายอารมณ์ให้คนเมืองและหนุ่มสาวชาวออฟฟิศได้

เรากำลังพูดถึง Malapinn (มาลาภิญญ์) แบรนด์กระดาษกระจายกลิ่นพร้อมกลิ่นบำบัดจากธรรมชาติ ของ ยุ-คัทรินทร์ ประยุกต์วิทยาฐาน และ โจ-สิรินทร์ ยงพัฒนาสิน สองสาวต่างวัยที่ต่างคนต่างมีแบรนด์เป็นของตัวเอง แต่ความบังเอิญพาเธอมาเจอกันและเป็นเพื่อนทางธุรกิจที่ทำงานเสมือนครอบครัว พวกเธอทำมาลาภิญญ์ด้วยแนวคิด ‘สวยรูป จูบหอม’ งดงามด้วยรูปลักษณ์และส่งกลิ่นหอมพร้อมฟังก์ชัน สวยทั้งที ต้องสวยแบบมีคุณภาพ

ถ้าคุณกำลังสงสัยว่านักออกแบบกลิ่นมาเจอกับนักออกแบบกระดาษแล้วก่อร่างกลายเป็นมาลาภิญญ์ได้อย่างไร เรามีโอกาสชวนทั้งสองคนมานั่งล้อมวงคุยกัน นี่คือบทสนทนาว่าด้วยกลิ่น กระดาษ และการส่งต่อความสุข
เปิดประสาทสัมผัสของคุณให้พร้อม เพราะแต่ละกลิ่นน่าสนใจจนอดจินตนาการตามไม่ได้
เดอ ลา บัว – ชมภิญญ์
‘บุพเพสันนิวาส’ ยุใช้คำนี้ในการอธิบายถึงการพบกันของทั้งสองคน
ก่อนชะตาจะลิขิตให้เธอเจอกัน โจกำลังทำแบรนด์ De La Bua (เดอ ลา บัว) แบรนด์ผลิตภัณฑ์สบู่ที่ห่อหุ้มแพ็กเกจด้วยงานคราฟต์กระดาษ เธอมีความถนัดด้านการออกแบบและมีความคิดไม่เหมือนใคร ส่วนยุมีแบรนด์ Chommpinn (ชมภิญญ์) แบรนด์ประทินผิวจากสารสกัดธรรมชาติที่ดูแลคุณตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับฝัน
ทั้งคู่เจอกันที่งานประกวดผลงานระดับประเทศและพูดคุยสนิทสนมกันเรื่อยมา

“มาลาแปลว่าดอกไม้ ส่วนภิญญ์แปลว่ายิ่งๆ ขึ้นไป รวมกันเป็นมาลาภิญญ์ ดอกไม้ที่ไม่ใช่ดอกไม้ธรรมดา
“มาลาภิญญ์เกิดจากความบังเอิญ เราสองคนเริ่มจากความเป็นพี่น้อง มีความเอื้อเฟื้อให้กัน เราไม่ได้ตั้งต้นทำธุรกิจจากเรื่องผลประโยชน์ และเราเชื่อว่าโลกของการทำธุรกิจยุคปัจจุบัน แทนที่จะคิดแข่งขันกัน เราควรช่วยกันแล้วเอาสิ่งที่ดีของแต่ละคนออกมาดีกว่า” ยุ พี่สาวของแบรนด์กระดาษกระจายกลิ่นเปิดบทสนทนา
ประสบการณ์ชีวิตห่างกัน 7 ปีไม่เป็นอุปสรรค เพราะพวกเธอถือความจริงใจเป็นแกนหลักในการทำงาน
นี่คือจุดเริ่มต้นของมาลาภิญญ์
นิพพูตา – มาลาภิญญ์
สองคู่หูเปิดตัวคอลเลกชันแรกด้วย ‘อุบะ’ กระดาษกระจายกลิ่นที่มาจากความรู้สึกของโจที่อยากดึงความเป็นไทยออกมาให้ดูคลาสสิก ขณะเดียวกันก็คงคุณค่าของงานคราฟต์เอาไว้ เลยออกมาเป็นอุบะจำปาและอุบะกุหลาบ
มาควบคู่กับกลิ่นบำบัด ‘นิพพูตา-มาลาภิญญ์’ เธอถอดคำว่านิพพูตามาจากนิพพาน แปลว่า เย็นใจ
น้ำมันหอมระเหยนิพพูตาทุกขวดอยู่ในความดูแลของยุ กลิ่นอารมณ์ดี ถูกเบลนด์เป็นกลิ่นแรก ตามด้วยกลิ่นสุข กลิ่นสบาย กลิ่นเพลิน และกลิ่นสยามเมโมรี แรงบันดาลใจจากความเป็นไทยและอารมณ์เพลินใจของคนรอบตัว
พืชสมุนไพรที่มาลาภิญญ์เลือกใช้ล้วนมีสรรพคุณช่วยปรับคลื่นสมองและบางกลิ่นบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ อย่างกลิ่นสยามเมโมรี มีแรงบันดาลใจจากลูกประคบไทย ประกอบด้วยไพล ตะไคร้ ขมิ้น มาพร้อมสรรพคุณ 3 ข้อ หนึ่ง ช่วยเรื่องล้างสารพิษในร่างกาย สอง ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และสาม ช่วยต้านความเศร้า ลดความเครียด

กลิ่นบำบัดทำงานด้วยการเข้าไปช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทบริเวณโพรงจมูกให้สร้างสารสื่อประสาทและปรับสารเคมีในสมอง คอยคลายเส้นขมุกขมัวจากอารมณ์หงุดหงิด โมโหโกรธา ให้เป็นเส้นตรง จนเราเกิดความสงบ
อนาคต มาลาภิญญ์กำลังจะทำคอลเลกชันกลิ่นบำบัดความเครียด มีกลิ่นชูใจ กลิ่นอิ่มใจ ถ้าได้ดมจะรู้สึกอยากให้อภัยตัวเอง และกลิ่นยาใจ กลิ่นที่มอบสัมผัสอบอุ่นเหมือนกำลังกอดกับใครสักคนและทำให้คนสูดความหอมนึกถึงสีฟ้าอมเขียว ใครจะนึกว่ากลิ่นช่วยสร้างภาพในจินตนาการและเยียวยาจิตใจคนเราได้อย่างน่าประหลาด
กลิ่น – พลังงาน – สารเคมีในสมอง
‘น้ำหอมและน้ำมันหอมระเหยไม่เหมือนกัน’
ยอมรับแต่โดยดี ว่าหลายคนก็เคยสับสนเหมือนกับเรา
“น้ำหอมเป็นสิ่งสังเคราะห์ขึ้นมาเลียนแบบธรรมชาติ มีกลิ่นหอมแต่ไม่มีสรรพคุณด้านการบำบัด ส่วนน้ำมันหอมระเหยได้จากพืช ด้วยวิธีกลั่นหรือบีบ จะมีโมเลกุลเล็ก ทำให้ระเหยและเข้าไปทำงานกับก้านสมองได้ดีกว่า
“เราว่าพืชทุกชนิดเขาเกิดขึ้นมาเพื่อเยียวยาและน้ำมันหอมระเหยก็เป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานที่ถูกถ่ายทอดจากธรรมชาติมาถึงเรา แน่นอนว่าสังเคราะห์ไม่ได้” ยุเล่าขยายความ เพิ่มความเข้าใจให้เราฟังอย่างเป็นกันเอง

ยุเล่าว่ากลิ่นและน้ำมันหอมระเหยแบ่งเป็นศาสตร์และศิลป์ มี Chemical Compound (สารประกอบ) เป็นการอธิบายทางวิทยาศาสตร์ และ Spiritual (จิตวิญญาณ) เธอเชื่อว่าสรรพสิ่งมีจิตวิญญาณในการเยียวยาต่างกัน
“เราลองยกตัวอย่างดูนะ เคยได้ยินเรื่องคนตะวันออกกลางชอบไม้กฤษณาไหม” เราพยักหน้าเป็นคำตอบ
“ถ้าเล่าตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ไม้กฤษณามีกลิ่นเฉพาะตัวที่ทำให้แมลงทะเลทรายไม่มารบกวน คนส่วนมากไม่ค่อยทราบกัน ส่วนทาง Spiritual เชื่อว่าไม้กฤษณาเป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารกับจิตวิญญาณ เราเลยต้องค้นหาวัตถุดิบที่มีทั้ง Chemical Compound และ Spiritual มาเบลนด์เข้าด้วยกัน” ผู้หลงใหลความหอมอธิบาย

ศาสตร์ – กลิ่นหอม
ด้วยความสงสัย เราจึงถามว่ากลิ่นแบบไหนที่จะผ่านเข้ารอบมาอยู่ในคอลเลกชันของมาลาภิญญ์
“มาจากโจทย์ว่าเราต้องการแบบไหน เราคัดเลือกวัตถุดิบน้ำมันหอมระเหยเหมือนวัตถุดิบอาหาร ต้องศึกษาข้อมูลทางวิชาการ เช่น ลาเวนเดอร์ ถ้าปลูกแปลงเดียวกันคนละเวลา คุณสมบัติก็ต่างกัน ซึ่งเราใส่ใจตรงนี้
“เราว่าเอกลักษณ์ของนิพพูตา คือการมีน้ำมันหอมระเหยของไทยรวมอยู่ด้วยทุกตัว เพราะเรารู้สึกว่าทุกอย่างต้องมาจากราก รากจากความเป็นไทย รากจากตัวตนของหลายประเทศ มาหลอมรวมกันจนเป็นมาลาภิญญ์”
แทนที่จะแบ่งลำดับกลิ่นเป็น Notes แบบน้ำหอม นิพพูตาไม่เป็นเช่นนั้น ยุเน้นลำดับและกระบวนการในการปรุงกลิ่น เป็นทักษะสำคัญต้องอาศัยจินตนาการร่วมกับวิทยาศาสตร์เพื่อผสมผสานกลิ่นให้ออกมามีเอกลักษณ์
“พอเราดมน้ำมันหอมระเหยเข้าไป ร่างกายจะขับออกภายในสี่สิบแปดชั่วโมง ไม่มีสารตกค้าง แบบนั้นถึงเรียกว่าการบำบัด และแบรนด์ของเราพยายามให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เราเลยเลือกใช้กระดาษแทนเครื่องกระจายกลิ่นเพราะพกพาง่าย ทำความสะอาดก็ง่าย อย่างดอกไม้กระจายกลิ่นของมาลาภิญญ์ ถ้าอยากลบกลิ่นเดิม แค่เอาไปตากแดด กลิ่นก็จะหาย เติมกลิ่นใหม่ได้ทันที เราอยากให้มีความปลอดภัยตั้งแต่คนทำ คนใช้ และสิ่งแวดล้อม”

ศิลป์ – กระดาษ
“เราเป็นคนชอบสะสมความสุขของคนอื่น เราชอบกินความรู้สึก” โจหัวเราะให้กับภาษาของตัวเองและขยายความว่า “เราชอบความรู้สึกเวลาให้ของคนอื่น แล้วเขาตอบมาว่า ‘น่ารักมากเลย’ ‘เจ๋งอะ’ เราจะรู้สึกดีมาก”
โจพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นและเรารับรู้ได้ถึงความรู้สึกนั้น
หญิงสาวตรงหน้าชอบห่อของขวัญให้เพื่อนมาตั้งแต่เด็ก เธอเติบโตพร้อมกับความหลงใหลงานกระดาษ

“เราชอบกระดาษอยู่แล้ว พอจะรู้ว่ากระดาษแบบไหนเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ทั้งรูปทรง ความหนา ความบาง และเรารู้ว่ากระดาษมีความสามารถในการกระจายกลิ่น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะเอามาใช้กับน้ำมันหอมระเหย เราเลยพยายามหาสารสกัดที่ตรึงกลิ่นได้ เลยเข้าไปปรับเปลี่ยนเรื่องเส้นใยกระดาษ จนทำให้เก็บกลิ่นได้นานและดีขึ้น”
เธอเลือกใช้เส้นใยธรรมชาติ ใยไผ่บ้าง ใยกล้วยบ้าง ปรากฏว่าซับกลิ่นได้ดีเยี่ยมกว่ากระดาษปอนด์ทั่วไป และในคอลเลกชันดอกบานไม่รู้โรย เธอเลือกออกแบบเส้นใยขึ้นมาใหม่ เพื่อเพิ่มความคงทนเรื่องการรักษากลิ่นหอม
ศิลป์ของกระดาษมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราคิดซะอีก

ตำรับ – มาลาภิญญ์
ความใส่ใจและใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นเอกลักษณ์ของมาลาภิญญ์ ทั้งน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากธรรมชาติ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้มีความเข้มข้นมากในระดับที่ละลายหมึกสารเคมีได้ เธอยังเลือกใช้สีกินได้จากพืชและดอกไม้ในการย้อมกระดาษกระจายกลิ่น เพื่อป้องกันการเกิดสารระเหยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สีชมพูจากครั่ง สีเขียวจากใบพริกและใบตำลึง สีม่วงจากดอกอัญชัน ที่กลายเป็นกลีบของดอกบานไม่รู้โรยพุ่มจิ๋วกาลเวลาจะนำพาความสวยงามของธรรมชาติให้ปรากฏ ด้วยการปลี่ยนดอกไม้สีม่วงเข้มให้เป็นสีชมพูอ่อน

‘ดมเป็นยา’ เป็นสินค้าใหม่แกะกล่องของมาลาภิญญ์ มีเกลือหิมาลายันเป็นพระเอก ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียตัวร้าย ผสานกับน้ำมันหอมระเหยกลิ่นอารมณ์ดี จะดมแทนยาดมก็ได้ บอกเลยอารมณ์ดีสมชื่อ!
การ์ดทำมือจากกระดาษเหลือใช้จากบรรจุภัณฑ์คือสินค้าอีกประเภทขายดีไม่แพ้กัน พวกเธอพลิกขยะเป็นโอกาส กลายเป็นคอลเลกชัน Little Garden มีแนวคิดสนุกจากแผ่นทดสอบกลิ่นน้ำหอม โจลงมือออกแบบอย่างสวยงาม และหวังว่าลูกค้าจะเก็บไว้แทนการทิ้งลงถังขยะ เป็นที่คั่นหนังสือก็ดี เพิ่มกลิ่นยวนใจในกระเป๋าสตางค์ก็ได้
ก่อนจบบทสนทนาเราถามถึงความสุขในการทำงานของทั้งสองคนเป็นคำถามสุดท้าย
“ความสุขของเราคือการเห็นคนที่ได้ใช้ของของเราเขามีความสุข” โจพูดขึ้นทันที
เราเชื่อแล้วว่าเธอชอบดื่มด่ำกับความรู้สึกดี (ของคนอื่น)
“การที่ลูกค้าใช้สินค้าของเราแล้วชีวิตเขาดีขึ้น เหมือนเราเข้าไปเติมเต็มส่วนที่ขาด สิ่งนั้นเป็นความสุขของคนทำด้วย พอลูกค้ามีความสุข ตัวเขาก็จะแบ่งปันพลังงานความสุขไปให้เพื่อนและคนในครอบครัวด้วยเหมือนกัน”
เราเชื่อว่านอกจากกระดาษจะกระจายกลิ่นแล้ว ยังกระจายความสุขได้ด้วย
