เราจะขยายธุรกิจอย่างไรดี…

ผู้ประกอบการบางท่าน เปิดร้านกาแฟ เขยิบไปทำร้านอาหาร แล้วก็ขยายไปทำห้างสรรพสินค้า บางท่าน ทำร้านอาหาร เมื่อประสบความสำเร็จมาก ๆ ก็สร้างคอนโดฯ แล้วปล่อยให้คนเช่า

บางธุรกิจที่ลองทำใหม่ ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด

บางท่านก็ไม่แน่ใจว่าจะขยายธุรกิจไปทางไหนดี

มีบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่ยืนหยัดทำสินค้าหมวดเดิมมายาวนานตลอด 70 ปีโดยไม่เปลี่ยนแปลง เป็นวิธีการขยายธุรกิจที่ดิฉันคิดว่าน่าสนใจมาก เลยขอนำมาฝากค่ะ

สำนักพิมพ์เล็กๆ ในจังหวัดเล็ก ๆ

บริษัท Zenrin เป็นบริษัทที่จัดทำแผนที่ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น สโลแกนของบริษัทนี้คือ ‘เราจะทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายขึ้นด้วยแผนที่’

ท่านคิดว่าบริษัทนี้จะทำกำไรได้อย่างไร และจะอยู่รอดได้อย่างไรในยุคที่ผู้คนต่างใช้ Google Maps ฟรี ๆ กันหมดแล้ว

Zenrin ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1948 โดยเริ่มจากการเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ในจังหวัดโออิตะ จังหวัดเล็กๆ ทางตอนใต้บนเกาะคิวชู

เดิม Zenrin รับพิมพ์หนังสือท่องเที่ยวมาก่อน แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ขายดิบขายดี คือ แผนที่เล็กๆ ที่แนบมาหลังหนังสือท่องเที่ยว

แผนที่ทั่วไปเป็นแผนที่หยาบๆ มีแค่ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ แต่แผนที่ของ Zenrin กลับเป็นแผนที่ที่บอกชื่อตึกทุกตึก และบอกชื่อบ้านทุกบ้านในซอย

บ้านคนญี่ปุ่นแทบทุกบ้านจะติดนามสกุลของเจ้าของบ้านอยู่เพื่อให้บุรุษไปรษณีย์สามารถส่งพัสดุได้ง่ายขึ้น พนักงาน Zenrin ในยุคนั้นก็เดินตามซอกซอยและจดชื่อเจ้าของบ้านทีละบ้าน ทีละบ้าน อย่างใจเย็น จนกลายมาเป็นแผนที่ที่ละเอียดที่สุดในยุคนั้น

แผนที่ Zenrin ได้กลายเป็นที่นิยมในสถานที่ท่องเที่ยว บริษัทอสังหาริมทรัพย์ บริษัทที่ให้บริการเดลิเวอรี่ ตลอดจนหน่วยงานราชการ เนื่องจากมีข้อมูลที่ละเอียด และเริ่มได้รับการไหว้วานให้ไปทำแผนที่ในจังหวัดอื่นๆ บ้าง Zenrin จึงค่อยๆ เปลี่ยนตนเองจากสำนักพิมพ์ กลายเป็นบริษัทที่รับทำแผนที่

นี่คือหน้าตาแผนที่บ้านเวอร์ชันปัจจุบันที่ Zenrin จัดทำ มีชื่อตึก ชื่อบ้านทุกบ้านจริง ๆ

เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามา…

Zenrin กลายเป็นเจ้าแรกในตลาดที่มีความรู้ในการทำแผนที่ และเป็นบริษัทอันดับหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องการทำแผนที่

แต่วันหนึ่ง เมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ คนเริ่มค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น การซื้อหนังสือแผนที่เป็นเล่มๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป

Zenrin ก็ปรับตัวรับมือเป็นอย่างดี ด้วยการนำเสนอข้อมูลให้บริษัทอินเทอร์เน็ตเสียเลย ไม่ว่าจะเป็น Google Maps, Yahoo! JAPAN, Bing Maps, Nifty ทุกค่ายใช้แผนที่ของ Zenrin หมด ร้อยละ 96.6 ของเว็บไซต์ท่องเที่ยวเดินทางนั้น ล้วนใช้แผนที่ของ Zenrin

ทำไมแผนที่ของบริษัทนี้ถึงได้รับการยอมรับจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ขนาดนี้ ?

เพราะ Zenrin…น่ารัก

เวลาคนเสิร์ชหาวิธีเดินทาง หากค้นหาด้วยคำว่า ‘เดิน’ ระบบจะนำทางให้คนเดินไปทางที่มีหลังคา หรือมีขั้นบันไดน้อยที่สุด หากขับรถ ระบบนำทางจะพาคนไปถึงทางเข้าของสถานที่นั้นๆ จริงๆ ไม่ต้องคอยชะเง้อหาทางเลี้ยวเข้า หรือเผลอขับรถสวนทางในถนนที่เดินรถทางเดียว

วิธีการบอกทางยังมีความใส่ใจ

นอกจากนี้ Zenrin ยังนำข้อมูลแผนที่ที่ตนเองมีไปเสนอขายหน่วยงานราชการ และสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับสังคม เช่น

แผนที่ที่ขายให้สำนักงานดับเพลิงจะมีเครื่องหมายกากบาทสีฟ้า แสดงถึงจุดต่อสายยาง จากแผนที่ก็สามารถเห็นความกว้างแคบของถนนแต่ละสายได้ ระบบนำทางในรถดับเพลิงก็จะชี้จุดจอดรถที่เหมาะสมด้วย ที่สำคัญ การมีชื่อบ้านแต่ละบ้านทำให้พนักงานดับเพลิงสามารถเห็นได้อย่างรวดเร็วว่าบ้านที่ประสบภัยอยู่ที่ใด และคิดเส้นทางความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนแผนที่ที่ขายให้หน่วยงานราชการนั้น Zenrin สามารถส่งพนักงานไปช่วยสำรวจบ้านแต่ละหลังว่ามีผู้สูงอายุหรือผู้ทุพพลภาพหรือไม่ หากมีก็ทำเครื่องหมายลงบนแผนที่บ้านนั้น ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์เมื่อทางหน่วยงานส่งผู้ดูแลเข้าไปเยี่ยมเยียน หรือหากเกิดภัยพิบัติ เจ้าหน้าที่สามารถรู้ได้ว่าบ้านหลังใดที่ตนต้องรีบเข้าไปช่วยเหลืออพยพผู้คนก่อน

มารักแผนที่กันเถอะ

นอกจากขายข้อมูลแผนที่ต่างๆ ให้องค์กรแล้ว Zenrin ก็ยังมีสินค้าน่ารักๆ เอาใจผู้บริโภคด้วย เช่น Matimati Series (อ่านว่า มาชิมาชิซีรีส์) เพื่อทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นกับแผนที่ในเมืองนั้นๆ

ในซีรีส์นี้มีแฟ้มพลาสติกใส มาสกิ้งเทป สมุดโน้ต และที่คั่นหนังสือ ความน่ารักคือ แต่ละลายจะเป็นแผนที่ของเมืองต่างๆ โดยมีสัญลักษณ์บอกเอกลักษณ์ประจำเมือง เช่น เมืองคิชิโจจิก็จะมีรูปแมวอยู่บนลายแผนที่ แสดงร้านที่ขายสินค้าน่ารักๆ เกี่ยวกับแมว

ส่วนของนาโกย่า ขึ้นชื่อเรื่องร้านกาแฟที่เสิร์ฟเซ็ตอาหารเช้า ลายแผนที่ก็จะมีรูปถ้วยกาแฟ บอกตำแหน่งร้านกาแฟชื่อดัง

มาสกิ้งเทปที่ดึงออกมาแล้วเป็นรูปแผนที่

ที่คั่นหนังสือที่เป็นลายแผนที่เช่นกัน

สินค้าอีกชนิดหนึ่งของ Zenrin ที่ชวนอมยิ้มมากๆ คือ ‘เซ็ทนักสำรวจเมือง’ (まちたんけんキット) สำหรับให้เด็กๆ ได้ฝึกการใช้แผนที่และฝึกทักษะการเป็นคนช่างสังเกต

โดยปกติ ช่วงปิดเทอมใหญ่เด็กญี่ปุ่นทุกคนต้องทำวิจัยเพื่อนำเสนอหน้าชั้นเรียน (ทำตั้งแต่ประถมถึงมัธยม) Zenrin เห็นเป็นโอกาส จึงขายเซ็ตแผนที่ให้เด็กๆ สำรวจและเก็บข้อมูลในท้องถิ่นของตัวเองง่ายขึ้น

ในเซ็ตนักสำรวจเมืองนี้จะมี ID กับพาสเวิร์ด เพื่อให้เด็กๆ สามารถล็อกอินและเลือกพรินต์แผนที่เมืองที่ตนเองสนใจสำรวจ มีสติกเกอร์สีๆ เผื่อแปะทำเครื่องหมาย มีเชือกและกระดาษรอง เพื่อให้เด็กคล้องคอและจดรายละเอียดได้ง่าย

แผนที่ญี่ปุ่น, แผนที่, Zenrin,ออกแบบแผนที่

จากอุปกรณ์นี้ เด็กๆ สามารถวิจัยหัวข้อ ‘สัตว์ต่างๆ ในบริเวณบ้านฉัน’ หรือ ‘พื้นที่อันตรายในเมืองของฉัน’ ‘ตู้กดน้ำอัตโนมัติในเมืองนี้มีที่ไหนบ้าง’​ ก็สนุกสนานกันไป แถมทำให้เด็กๆ ผูกพันกับแผนที่ตั้งแต่เด็กด้วย

น้องคนนี้ศึกษาระบบการจราจรในเมือง

จากความตั้งใจตั้งแต่สมัยแรก ‘เราจะทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายขึ้นด้วยแผนที่’ Zenrin ยังคงรักษาปณิธานเดิมมาเกือบ 1 ศตวรรษแล้ว ปัจจุบัน สิ่งที่บริษัทกำลังพยายามสร้างอยู่คือ ‘แผนที่บนฟ้า’ เผื่อการขนส่งโดยโดรนในอนาคต โดรนจะได้หลบตึกต่างๆ ได้ทัน

แม้บริษัทจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของลูกค้าที่ไม่ค่อยพกแผนที่ ไม่อยากได้แผนที่เป็นเล่มๆ เหมือนแต่ก่อน แต่บริษัทนี้ก็ไม่เคยถอดใจ ผู้บริหารยังรักและเห็นความสำคัญของแผนที่ และนำแผนที่มาสร้างคุณค่าใหม่ๆ เช่น เครื่องเขียนแฟชั่น แผนที่ที่เหมาะกับโทรศัพท์ ตลอดจนเซ็ตของเล่นเด็ก โดยสินค้าทุกอย่างยังเกี่ยวข้องกับแผนที่ สิ่งที่บริษัทถนัดที่สุด และสั่งสมองค์ความรู้มากว่า 70 ปี

ท่านล่ะคะ ถนัดในการทำอะไร แทนที่จะกระโดดไปทำธุรกิจใหม่ๆ เราอาจลองกลับมาทบทวนคุณค่าของสินค้าที่กำลังทำ และนำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ แบบที่บริษัทแผนที่แห่งหนึ่งทำก็ได้นะคะ ☺

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย